กฏหมายกับกฏแห่งกรรมคุณกลัวอะไรมากกว่ากัน

กฎหมายกับกฎแห่งกรรมมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร คนส่วนใหญ่จะเกรงกลัวกฎหมายหรือกฎแห่งกรรมมากกว่ากัน กฎหมายมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ แล้วกฎแห่งกรรมนั้นเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้หรือไม่ https://dmc.tv/a13694

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ข้อคิดรอบตัว >
[ 18 พ.ค. 2555 ] - [ ผู้อ่าน : 18275 ]
ข้อคิดรอบตัว 
 
 
โดย พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ
เรียบเรียงจากรายการข้อคิดรอบตัว ทาง DMC
 
 
กฎหมายกับกฎแห่งกรรม
 

กฎหมาย กับ กฎแห่งกรรม มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

 
        เจริญพร... กฎหมาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ ตกลงกันและกำหนดขึ้นเป็นระเบียบปฏิบัติของคนในสังคม เช่นกฎหมายประเทศไทย ก็เป็นเรื่องที่ว่าคนไทยตราขึ้นมา รูปแบบการตราก็เช่นว่าเลือก ส.ส. เลือก ส.ว. และสส. สว. ก็ไปออกกำหมายในสภา พอผ่านระเบียบขั้นตอนตามที่ตกลงกันไว้ ก็ออกเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งอันนั้นก็เป็นกฎหมายโดยตรง มีพระราชบัญญัติ แต่กฎหมายบางอย่างก็เช่นว่าให้ ครม.ออกได้ เช่นเป็นพระราชกฤษฎีกา หรือพระราชกำหนด เป็นต้น หรือบางอย่างก็ให้ทางแต่ละกระทรวงออก แล้วเสนอให้ ครม.รับทราบ ก็กลายเป็นกฎกระทรวง บางอย่างก็เป็นระเบียบ ซึ่งแต่ละหน่วยงานสามารถออกได้เอง อันนี้มีศักดิ์และสิทธิ์ของตัวกฎแต่ละอย่างต่างกันไป กฎหมายเมืองไทยก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกฎหมายประเทศอื่น แต่ละประเทศแต่ละสังคมก็มีกฎของตัวเอง นั่นคือกฎหมายโดยย่อๆ ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว
 
กฎหมาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ ตกลงกันและกำหนดขึ้นเป็นระเบียบปฏิบัติของคนในสังคม
กฎหมาย เป็นสิ่งที่มนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ ตกลงกันและกำหนดขึ้นเป็นระเบียบปฏิบัติของคนในสังคม
 
        ส่วนกฎแห่งกรรมนี้ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์แต่ละคนหรือว่ากลุ่มคนแต่ละกลุ่มกำหนดขึ้นได้ แต่ว่าเป็นกฎที่ควบคุมความเป็นไปของพฤติกรรมมนุษย์ ว่าถ้าไปทำอย่างนี้แล้วจะเกิดผลอย่างไร ซึ่งความจริงไม่ได้มีผลเฉพาะมนุษย์อย่างเดียว แต่ต้องบอกว่าควบคุมถึงพฤติกรรมของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดเลย จะเป็นสัตว์ก็ตาม เป็นเทวดา นางฟ้า พรหม ถ้าทำในสิ่งที่ดีก็เป็นกรรมดี ได้รับผลดีตอบสนอง แต่ถ้าไปทำในสิ่งที่ไม่ดีเข้าก็เป็นกรรมชั่ว และมีวิบากร้ายแรงตอบสนองเช่นเดียวกัน
 
        จะเป็นคนชาติไหน ศาสนาใด กฎแห่งกรรมเหมือนกัน และไม่เฉพาะคนเท่านั้น แม้แต่สัตว์ก็ตกอยู่ในกฎแห่งกรรมเดียวกัน พอคลุมถึงสัตว์ด้วยเราก็คงชัดเจนแล้วว่า เรื่องของกฎแห่งกรรมไม่ใช่ความเชื่อ แต่เป็นความจริง ไม่ได้เกี่ยวว่า เราจะนับถือศาสนาพุทธหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้นกฎแห่งกรรมที่พระพุทธศาสนาสอนนั้นเกี่ยวข้องกับคนทุกชาติ ทุกภาษา และทุกความเชื่อ อยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมเดียวกัน เพราะกฎแห่งกรรมนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่า พระองค์ไม่ใช่ผู้บัญญัติขึ้น แต่พระองค์เป็นผู้ที่ตรัสรู้ธรรม คือไปรู้ไปเห็นถึงความจริงว่า กฎแห่งกรรมนั้นมีอยู่จริง ทำอย่างไหนเป็นบุญ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดื่มเหล้าเมายา โกหก ผิดศีลทั้งหลายเป็นบาป พระองค์เห็นความจริงอย่างนี้ก็มาสอนเรา เพื่อเราจะได้หลีกเลี่ยงไม่ทำความชั่วทั้งปวง ตั้งใจทำความดีและทำจิตให้ผ่องใส สุดท้ายเราจะได้พ้นจากกิเลสและเข้าพระนิพพาน
 
กฎแห่งกรรมเป็นกฎที่ควบคุมความเป็นไปของพฤติกรรมมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
กฎแห่งกรรมเป็นกฎที่ควบคุมความเป็นไปของพฤติกรรมมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
 
        เพราะฉะนั้นกฎแห่งกรรมคือ กฎแห่งความจริง ไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อ จะเชื่อหรือไม่เชื่อเราก็ต้องเจอเหมือนกัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่า เราจะเชื่อตอนเป็นหรือจะไปเห็นเอาตอนตาย ถ้าเชื่อตอนเป็น(คือยังมีชีวิตอยู่) ว่าเราเชื่อนะ เราจะได้ไม่ทำบาป แล้วตั้งใจทำบุญ อาจจะยังไม่เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังไม่เห็นว่านรกสวรรค์เป็นอย่างไร เอาเป็นว่าเผื่อเหนียวไว้ก่อน เพราะว่าถ้าเราเชื่อตอนเป็นเราก็ยังพอมีหนทางแก้ไขได้ อะไรที่ไม่ดีเราก็อย่าไปทำ ที่เคยทำมาแล้วก็ลืมๆ ไป แล้วตั้งใจทำความดีไปชดเชย แต่ถ้าเราไปเห็นตอนตาย (ตอนยังมีชีวิตอยู่ไม่ยอมเชื่อ) พอตายปั๊บตกนรกเลย ไปเจอพญายมราชเลย ถึงตอนนั้นจะแก้ตัวก็แก้ไม่ทันซะแล้ว
 
        ฉะนั้น เราต้องรีบแล้ว ว่าจะเชื่อตอนเป็นหรือว่าจะไปเห็นตอนตาย ถ้าให้แนะนำ ก็ให้เชื่อดีกว่านะ และบาปกรรมอกุศลทั้งหลายนั้นก็อย่าไปทำเลย ทำความดีเยอะๆ เราจะได้ไม่ตกนรก ไม่ไปอบาย แล้วก็ไปสวรรค์ ไปสุคติกัน บุญเราเต็มเปี่ยมเมื่อไหร่ ตั้งใจปฏิบัติธรรม หมดกิเลสเมื่อไหร่ละก็จะได้ไปนิพพานกัน เจริญพร
 

คนส่วนใหญ่จะเกรงกลัวกฎหมายหรือกฎแห่งกรรมมากกว่ากัน?

 
        เจริญพร... อันนี้ อาตมาคิดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องถามพวกเราเองแล้วล่ะ ว่าจริงๆ เรากลัวอันไหนมากกว่ากัน ตรงนี้เราจะพบว่า ถ้าในหมู่คนที่ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือยังไม่ค่อยเชื่อว่ากฎแห่งกรรมมีจริงหรือไม่ แต่กฎหมายเค้าสัมผัสได้ ถ้าทำผิดกฎหมายปั๊บเดี๋ยวถูกปรับ บางทีติดคุกก็มี คือได้รับโทษเค้าก็รู้สึกว่าเสียวๆ กฎหมายบัญญัติไว้ว่าห้ามทำนะ คนก็จะเกรงกลัวมากกว่าเรื่องที่ตัวเองยังไม่ค่อยเชื่อนัก แต่ถ้าเกิดเป็นคนที่เขาเข้าใจความจริง มีศรัทธาแล้วละก็เค้าจะกลัวกฎแห่งกรรมมากกว่า ดังเช่นถ้าถามว่าพระอาทิตย์กับไฟในเตา คนกลังความร้อนของอันไหนมากกว่ากัน คนจะรู้สึกว่าไฟในเตานี้น่ากลัวถ้าเอามือแหย่เข้าไปจะไหม้เอาได้ รู้สึกไฟในเตามันร้อน ร้อนกว่าดวงอาทิตย์อีก แต่ความจริงนั้นดวงอาทิตย์ร้อนกว่ามาก ความจริงก็เป็นอย่างนี้
 
        กฎแห่งกรรมก็เป็นเหมือนความร้อนจากดวงอาทิตย์ ร้อนมากกว่ากันเยอะเลย แต่อาจจะยังไกลตัวนิดหนึ่ง ยังสัมผัสไม่ได้ทันที แต่ว่าไฟในเตาจริงๆ มันร้อนไม่เท่ากับไฟดวงอาทิตย์หรอก แต่มันใกล้ตัวกว่า เอามือแหย่เข้าไปปั๊บมันลวก มันพองขึ้นมาทันที มันเห็นผลใกล้ตัว กฎหมายกับกฎแห่งกรรมก็ทำนองคล้ายๆ กัน แต่ว่าเราชาวพุทธทุกคนนั้นรู้หลักนี้แล้ว กฎหมายก็อย่าไปทำผิด ขณะเดียวกันกฎแห่งกรรมตระหนักให้ลึกๆ เอาไว้ว่า แรงนะ น่ากลัวนะ และในความเป็นจริงแล้วน่ากลัวกว่ากฎหมายเยอะเลย เพราะกฎหมายอย่างมากที่สุดที่ทำได้หนักสุดก็คือประหารชีวิต เบาๆ ก็โทษปรับ หนักขึ้นมาก็จำคุก จำคุกนานสุดก็คือจำคุกตลอดชีวิต และหนักกว่านั้นก็คือประหาร ซึ่งในหลายประเทศก็ไม่มีโทษประหาร แต่ประหารก็มีประหารครั้งเดียว อย่างมากก็ตายครั้งเดียว
 
        แต่กฎแห่งกรรมนั้น ตกนรกขนาดขุมตื้นที่สุดถ้าเรียกว่า สัญชีวมหานรก อันนี้คือขุมที่ตื้นที่สุดแล้วนะ มหานรก 8 ขุมนั้น ขุมนี้ขุมแรก เกิดปั๊บตัวใหญ่ทันที ไม่ต้องมาค่อยๆ พญายมหรือว่านายยมบาลป้อนนมให้ค่อยๆ โตแล้วลงโทษนั้น ไม่มี เกิดปุ๊บโตทันทีเค้าเรียกว่าเกิดแบบโอประปาติกะ ตัวใหญ่มาก แล้วนายนิรยบาลคือยมบาลนั้น มาถึงปั๊บจับตรึงแล้วเอาขวาน ปังตอ หรือเลื่อย สับ เลื่อย เฉือนเนื้อเป็นท่อนๆ ถ้าเป็นปังตอก็สับแบบหมูเบค่อนสับบางๆ เฉือนแบบหยิ๊บ แล้วมีดก็คมมาก ทีเดียวไม่ติดกระดูกเลยนะ กระดูกนี้ขาดเลย แค่นึกนี้ยังหวาดเสียวเลย ถ้าเจอจริงๆ จะเป็นไง สัตว์นรกนั้นก็เจ็บปวดทรมานมาก ร้องโอดโอย จะดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด เพราะนายนิรยบาลนั้นแข็งแรงมาก เกิดด้วยอำนาจของกรรมนั้นตรึงไว้ จนกระทั่งทนพิษบาดแผลไม่ไหวก็ตาย พอตายปั๊บก็กลับเป็นขึ้นมาใหม่ด้วยอำนาจของกรรม แล้วก็โดนต่อ ตายเกิด ตายเกิด อยู่อย่างนี้วันละหลายล้านครั้ง น่ากลัวมั๊ยเมื่อเทียบกับกฎหมายบนโลกเราแล้วอันไหนน่ากลัวกว่ากัน กฎแห่งกรรมน่ากลัวกว่ากันเยอะเลย เพราะฉะนั้นนะ อย่าเสี่ยงนะ กฎหมายนี่เหมือนกับของเด็กเล่นไปเลยล่ะเมื่อเจอกฎแห่งกรรมเข้า อย่างเสี่ยงเด็ดขาด ถึงบอกว่า จะเชื่อตอนเป็นหรือว่าจะไปเห็นตอนตาย จะได้ปรับปรุงแก้ไขในขณะยังมีชีวิตอยู่ หรือว่าจะดื้อดึงอวดดีว่าไม่เชื่อๆๆๆ นรกสวรรค์ไม่มี แล้วก็ไปทำในสิ่งที่ผิดๆ เข้า สุดท้ายบาปกรรมมาถึงตายแล้วตกนรกตอนนั้นละก็ จะมาบอกว่ากลัวแล้ว เชื่อแล้ว และจะไม่ทำอีก ถึงตอนนั้นก็สายเกินไปเสียแล้ว รอให้พ้น 500 ปีนรกก่อนแล้วค่อยมาว่ากันอีกที ฉะนั้นอย่าเสี่ยงกันเลย เจริญพร...
 
ในทางกฎหมายนั้นยังมีการอภัยโทษ ลดโทษให้กับนักโทษได้ แล้วในทางกฎแห่งกรรมนั้นมีการลดบาปให้กับคนที่ทำบาปบ้างหรือไม่?
 
        เจริญพร... กฎแห่งกรรมต้องบอกว่า การลดโทษ ไม่มี แต่ว่า ถ้าหากเราทำไปแล้ว และสำนึกผิด พยายามทำความดีมาชดเชย วิบากกรรมนั้นก็จะลดหย่อนลง ถ้าจะเปรียบเหมือนว่าเราทำสิ่งที่ไม่ดี ทำบาปไปแล้วก็เหมือนเราเติมเกลือใส่ไปในน้ำ แต่ถ้าเกิดเรายังสำนึกผิด หยุดการทำบาป ไม่เติมเกลืออีก แต่ว่าสร้างบุญเยอะๆ เหมือนเติมน้ำเยอะๆ น้ำเกลือนั้นก็จะเจือจางลง ความเค็มจะลดลงๆๆ เรื่อยๆ นี่แหละ วิบากกรรมที่ตามมาก็จะทุเลาเบาบางลง แต่บาปที่ทำไปแล้วนั้นไม่ไปไหน ยังอยู่ แต่ฤทธิ์จะอ่อนแรงลง ถ้าเราสร้างบุญเยอะๆ จะรอให้คนอื่นมาอภัยโทษ ไม่มี มีแต่เพียงว่า เราเองต้องสร้างบุญด้วยตัวของเราเอง หยุดสร้างบาปแล้วสร้างบุญเยอะๆ  ให้บุญไปเจือจางให้บาปอ่อนฤทธิ์ลง
 
กฎแห่งกรรมไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษให้ใครได้
กฎแห่งกรรมไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษให้ใครได้
 
        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ. เราต้องพึ่งตัวเราเอง คนอื่นช่วยเราไม่ได้หรอกนะ เราต้องพึ่งตัวเราเอง คือ ละชั่ว ทำดี แล้วทำใจเราเองให้ผ่องใส อย่างนี้ละก็เราพอแก้ไขกันได้ เหมือนตัวอย่างคือ พระเจ้าอชาตศัตรูนั้นไปคบเทวทัต คบคนไม่ดี เจอเขายุส่ง คนไม่ดีบางทีวาทศิลป์ดีนะ พูดแล้วน่าเชื่อ ไปเชื่อเค้าจนสุดท้ายจากเจ้าชายหนุ่มน้อยเป็นคนดี ก็ไปฆ่าพ่อคือพระเจ้าพิมพิสาร หวังจะขึ้นครองบัลลังก์ พอฆ่าพ่อก็เท่ากับทำอนันตริยกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่หนักมาก ชื่อบอกอยู่แล้ว อนันตะ คือ เป็นอนันต์ กรรมที่หนักเป็นอนันต์เลย มีทั้งหมด 5 อย่างคือ 1.ฆ่าพ่อ 2.ฆ่าแม่ 3.ฆ่าพระอรหันต์ 4.ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อเลือด (ไม่มีการฆ่าพระพุทธเจ้า เพราะไม่มีใครสามารถฆ่าพระพุทธเจ้าได้ อย่างหนักที่สุดคือทำให้พระองค์แค่ห้อเลือดนิดเดียว คล้ายๆ กับเป็นช้ำขึ้นมาหน่อยหนึ่งเท่านั้นเอง) 5.ทำสังฆเภท ได้แก่ ยุให้พระทะเลาะกัน ให้สงส์แตกกัน อย่าไปทำเด็ดขาดนะ เป็นอนันตริยกรรมนี่ บางทีโดยตรงไม่โดยอ้อม เราเองไปนั่งโจมตีว่าคนนั้นว่าคนนี้ โจมตีสงส์รูปนั้นรูปนี้ขึ้นมานี้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ วิบากกรรมมาถึงละก็ มันเป็นอนันตริยกรรมได้นะ
 
        พูดไปแล้วพยายามจูงให้คนเชื่อไปตามเรา เกิดทำให้พระท่านเข้าใจผิดขึ้นมาทะเลาะกันแล้วแตกกันปั๊บนี่ เราเสร็จเลย เป็นอนันตริยกรรมเลย ถึงแม้ท่านยังไม่ถึงกับแตกกันแค่ว่าชักบาดหมาง โกรธเคือง ไม่ค่อยถูกกัน ไม่ค่อยชอบใจกัน นั่นก็คือว่าเราเองเริ่มมีความเสี่ยงแล้ว ยังไม่เป็นอนันตริยกรรมแบบสังฆเภท 100 % เริ่มสัก 5 % , 10 % แล้ว เริ่มเสี่ยงแล้ว อย่าทำเด็ดขาด
 
        พระเจ้าอชาตศัตรูไปฆ่าพ่อตามแรงเชียร์ของเทวทัตปั๊บ เท่ากับทำอนันตริยกรรม นั้นคือ ปิดสวรรค์ ปิดนิพพานเลย ชาตินั้นจะทำดีเท่าไหร่ก็ตาม 100 % ตกนรกแน่นอน ไม่มีทางที่จะขึ้นสวรรค์ได้ ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมไปพระนิพพานได้ ในชาตินั้น ชาติต่อไปยังมีสิทธิ แต่ชาตินั้นหมดสิทธิ ตายปั๊บยังไงต้องตกนรกก่อน ตามหลักจะต้องไปอเวจีมหานรก แต่เนื่องจากพระเจ้าอชาตศัตรูภายหลังได้คิด ได้กัลยาณมิตรคือ หมอชีวกโกมารภัจจ์ แนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรูไปกราบพระพุทธเจ้า ฟังธรรมจากพระองค์ แล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต จนกระทั่งพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระองค์ก็เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1 ทำบุญใหญ่ขนาดนั้น แต่ตายแล้วก็ยังตกนรกอยู่ดี แต่ว่าด้วยบุญนี้ทำให้ไม่ต้องไปอเวจีมหานรก แต่ตกลงไปในโลหกุมภีนรก(นรกน้ำทองแดง) ซึ่งก็น่ากลัว แต่เทียบกับอเวจีมหานรกแล้ว ดีกว่ากันเยอะ ถ้ากลับตัวกลับใจได้คิดแล้วตั้งใจทำความดี ก็จะทำให้วิบากกรรมนั้นอ่อนกำลังและเบาลง จะอภัยโทษ ลดหย่อนโทษได้ ต้องพึ่งตัวเองด้วยการทำความดีอย่างนี้ เจริญพร...
 
กฎหมายมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ แล้วกฎแห่งกรรมนั้นเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้หรือไม่?
 
        เจริญพร... ต้องบอกว่ากฎแห่งกรรมนี้ ไม่มีการแก้ไข คงตัวอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านไปเห็นกฎแห่งกรรมเป็นอย่างไร บอกเราว่ากรรม 10 อย่างนี้คือ อกุศลกรรมบถ 10 นี่ ทำแล้วเกิดอกุศลนะ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ อย่างนี้เป็นต้น ปัจจุบันผ่านมา 2 พันกว่าปี ก็ยังคงอย่างนั้นอยู่ จะอีก 2 หมื่น 2 แสน หรือ 2 ล้าน ปี ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น แม้ในยุคพุทธันดรที่แล้ว ยุคพระพุทธเจ้าองค์ก่อนก็เหมือนกัน คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์นั้นเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นกฎแห่งกรรมนั้นก็เป็นกฎเดียวกัน ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีใครมีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงได้ ยกเว้นว่าจะสามารถรื้อกฎได้นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่จะรื้ออย่างไรก็ต้องอีกแบบหนึ่งแล้วล่ะ
 
กฎหมายแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันไป แล้วกฎแห่งกรรมของแต่ละประเทศแต่ละศาสนานั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
 
        เจริญพร... อย่างที่ได้บอกไปบ้างแล้วในตอนต้นนั้น เราต้องดูว่าพระอาทิตย์กับพระจันทร์ที่คนแต่ละประเทศเห็นนั้นดวงเดียวกันรึเปล่า คำตอบก็คือดวงเดียวกัน เพราะฉะนั้นกฎแห่งกรรมของคนทุกชาติ ทุกศาสนานี้คือกฎแห่งกรรมอันเดียวกัน เพราะเป็นกฎที่ควบคุมสรรพสิ่งอยู่ สิ่งมีชีวิตทั้งปวงตกอยู่ในกฎแห่งกรรมอันนี้ ไม่ได้เกี่ยงเลยว่าจะอยู่ชาติไหน ภาษาใด เพราะอย่าว่าแต่คนเลย ขนาดสัตว์เดียรัจฉานก็ยังตกอยู่ในกฎแห่งกรรมอันเดียวกันเลย ทั้งที่มันก็พูดไม่ได้ ไม่รู้เรื่องอะไร ไม่ว่าจะเป็นมด แมลงวัน ยุง มันไม่รู้ สติปัญญามันมีน้อยก็ยังตกอยู่ในกฎแห่งกรรมเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น กฎแห่งกรรมเป็นกฎสากลที่ครอบคลุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล
 
ปัจจุบันเมื่อเราทำผิดอะไรก็ตาม แต่ถ้าหากเราเป็นเด็กหรือเยาวชนก็จะได้รับโทษน้อยลง แล้วทางด้านกฎแห่งกรรมนั้นสามารถลดหย่อนให้กับเด็กที่กระทำความผิดโดยไม่รู้เรื่องอะไรเลยได้หรือไม่?
 
        เจริญพร... ถ้าอาศัยว่าเป็นเด็กเฉยๆ อย่างเดียวนั้น อายุอาจจะยังไม่พอ เอ...ถ้าเป็นเด็กอายุ 18-19 ทำผิดแล้ว กับคนอายุ 30, 40 ปี แล้วจะลดหย่อนผ่อนโทษมั๊ย ตัวกฎแห่งกรรมนี้ไม่ได้มองตรงนั้น แต่มองตรงที่ว่า เจตนา ถ้าเจตนาแรงกล้าก็บาปหนัก ถ้าในแง่กรรมดีเจตนาแรงกล้าบุญเยอะ แต่ถ้าเจตนาเบาบาง ทำแบบบังเอิญโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็จะบาง ถ้าทำกรรมชั่วก็จะบาปน้อย ทำความดีทำแบบไม่ได้ตั้งใจ ทำแบบเสียมิได้ เกรงใจเขา เขามาชวนทำก็ทำไปอย่างนั้น บุญก็ได้แต่ได้นิดหน่อย อยู่ที่ความตั้งใจ อยู่ที่เจตนาว่ามากน้อยแค่ไหน
 
กฎแห่งกรรมนั้นสามารถลดหย่อนให้กับเด็กที่กระทำความผิดโดยไม่รู้เรื่องอะไรเลยได้หรือไม่
กฎแห่งกรรมนั้นสามารถลดหย่อนให้กับเด็กที่กระทำความผิดโดยไม่รู้เรื่องอะไรเลยได้หรือไม่
 
        เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเด็กที่ทำตามเพื่อน ทำแบบไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่ กรรมก็มีสิทธิที่จะเบาหน่อย แต่ถ้าเป็นเด็กที่ร้ายกาจมาก มีการวางแผนอย่างดี ตั้งใจจริง อันนี้ก็หนักไม่แพ้ผู้ใหญ่เหมือนกัน ท่านให้เพ่งดูที่เจตนา ไม่ได้ดูที่อายุ เจริญพร...
 
ทำอย่างไรเราจึงจะรอดพ้นจากกฎแห่งกรรมนี้ ซึ่งเป็นกฎที่ครอบคลุมสรรพสิ่งทั้งหมดไว้?
 
        เจริญพร... ถ้าโดยย่อคือว่าให้ละชั่ว ถามว่าละชั่วทำอย่างไร? อย่างน้อยที่สุดก็คือ ให้รักษาศีล 5 คือ
 
        1. ไม่ฆ่าหรือเบียดสัตว์
 
        2. ไม่ลักทรัพย์
 
        3. ไม่ประพฤติผิดในกาม
 
        4. ไม่พูดปด คำหยาบ ส่อเสียด หรือเพ้อเจ้อ
       
        5. ไม่เสพของมึนเมาทั้งหลาย และไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข
 
อบายมุข 6 มีอะไรบ้าง ?
 
        1. ดื่มน้ำเมา
 
        2. เที่ยวกลางคืน
 
        3. ดูการละเล่นเป็นนิจ เช่น เล่นเกมส์ดึกดื่นจนเสียการงานก็ไม่ได้ แต่ถ้านิดๆ หน่อยๆ พอเป็นการผ่อนคลาย หรือพอให้รู้ว่าเขามีอะไรมาบ้างก็พอได้
 
        4. เล่นการพนัน
 
        5. คบคนชั่วเป็นมิตร
 
        6. เกียจคร้านการทำงาน
 
        6 อย่างนี้เราควรเว้น รักษาศีล 5 บวกกับเว้นอบายมุข 6 อย่างนี้ได้ก็ถือว่าเราละความชั่วได้แล้วในแง่พื้นฐาน ส่วนข้อปลีกย่อยเดี๋ยวค่อยว่ากัน
 
        อันที่ 2 ก็คือทำดี ทำอย่างไร ก็ตั้งใจให้ทาน มีเมตตากรุณากับทุกๆ คน มีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือทุกคนเป็นอย่างดี ถัดมาก็ให้ทำภาวนา ทำใจให้ผ่องใส ทำสมาธิภาวนาให้ใจเราใส อย่างนี้ละก็ถือว่าเราเองให้โปร่งใจและสบายใจได้ในเรื่องกฎแห่งกรรม
 
        วิธีการเช็คว่าอันไหนทำแล้วดีหรือไม่ดีนั้น ให้ดูอย่างนี้ว่า ทำแล้วใจเราใสนั้นคือกรรมดี ถ้าทำแล้วใจเราหมอง ใจขุ่นมัว เศร้าหมองนั้น หน้าตาหมองคล้ำดำเครียดไปด้วย ซึ่งใจมันส่งผลถึงกายนะ อันนั้นแสดงว่าไม่ดี ถ้าเกิดใจใส ผิวพรรณวรรณะก็ผ่องใสไปด้วย อันนี้ดี ถ้าใจใสก็จะไปสวรรค์ ถ้าใครใจหมองก็ต้องไปอบาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์สรุปไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราเองละชั่ว ใจเราเองก็จะไม่หมอง พอทำดี ใจเราเองก็เริ่มสว่างขึ้น พอทำใจให้ผ่องใสโดยตรงเลย ทำสมาธิภาวนาใจใสสว่างนี่ อย่างนี้ละก็เราไปดีแน่นอน สบายใจได้ เจริญพร...
 
        จะเห็นได้ว่ากฎแห่งกรรมนั้นเป็นกฎที่ไม่ละเว้นใครเลย ควบคุมสรรพสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ทั้งคนและสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติศาสนาหรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม ฉะนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงการทำความชั่วทั้งหลาย และที่สำคัญเราก็ควรจะทำใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ สรุปง่ายๆ ก็คือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ใส 3 อย่างนี้ รับรองว่าเราจะปลอดภัยจากกฎแห่งกรรมและกฎหมายบ้านเมืองด้วย

http://goo.gl/kjkPu


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทำไมจีวรพระต้องเป็นสีเหลือง
      ขอไม่นับถือพระสงฆ์
      ข้อคิดธรรมะของพระสุธรรมญาณวิเทศ (สุธรรม สุธมฺโม) จากหนังสือ "หน้าสุดท้าย"
      I can’t respect monks, can I?
      กราบไหว้ทำไม งมงาย !
      Why do people have to pay homage? Ignorant!
      โซเดียม อันตรายใกล้ตัว
      บวชให้สุก
      พลังหญิง
      ตักบาตรใส่บุญ(ตอนที่2)
      ตักบาตรใส่บุญ (ตอนที่1)
      ปัญหามรดก
      ยิ่งใหญ่ในรายละเอียด




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related