ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

มรณานุสสติ


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 2 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 ไชยานุภาพ ปราบหงสาวดี

ไชยานุภาพ ปราบหงสาวดี

    "ความเพียรเครื่องเผากิเลสพึงกระทำเสียแต่วันนี้"

  • Members
  • 2171 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:ราชอาณาจักรสยามประเทศ
  • Interests:ADVANCE MEDITATION

โพสต์เมื่อ 10 May 2006 - 12:54 AM

มรณานุสสติ

มรณานุสสติ คือ การระลึกถึงความตายที่ตนจะต้องประสบอยู่เนืองๆ เพื่อให้เกิดความสังเวชสลดใจ

มรณะ คือ ความตาย มีอยู่ ๔ ประเภท
๑. สมุจเฉทมรณะ ได้แก่ การดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย อันเป็นการตัดวัฏทุกข์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง
๒. ขณิกมรณะ ได้แก่ ความดับไปของสังขารธรรม (ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง) คือ รูปและนามที่เป็นอยู่ตลอดเวลา
๓. สมมุติมรณะ ได้แก่ ความตายที่เรารู้จักกันอยู่โดยทั่วไป สิ่งที่อะไรใช้ไม่ได้โลกสมมุติว่าเป็นการตายทั้งสิ้น รถตาย เรือตาย ต้นไม้ตาย น้ำตาย เหล็กตายฯลฯ
๔. ชีวิตินทริยุปัจเฉทมรณะ ได้แก่ รูปชีวิตและนามชีวิตของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ดับสิ้นลงในภพหนึ่งๆ

มรณะทั้ง๔ ประเภทนี้ สามารถใช้เป็นมรณานุสสติในการเจริญภาวนาได้ มีแต่ประเภทที่ ๔ คือ ชีวิตินทริยุปัจเฉทมรณะ แต่เพียงประการเดียว เพราะเกี่ยวข้องอยู่กับคน สัตว์ สิ่งของโดยทั่วไป และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ส่วนมรณะประเภทที่ ๑ เป็นของพระขีณาสวะเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลทั่วไป ประเภทที่ ๒ ขณิกมรณะ เป็นของลึกซึ้งละเอียด ที่คนธรรมดามองไม่เห็นพิจารณาไม่ได้ เนื่องจากเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาที่สั้นและรวดเร็วมาก สำหรับประเภทที่ ๓ คือ สมมุติมรณะ ก็หาได้ทำให้เกิดความสังเวชสลดใจไม่

ความตายของบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายในภพหนึ่งๆ ที่จะนำมาเจริญมรณานุสสติได้นั้น มีอยู่ ๒ ประการ ได้แก่
กาลมรณะ คือ ตายเพราะสิ้นบุญ หรือสิ้นอายุ หรือสิ้นทั้งบุญทั้งอายุ
อกาลมรณะ คือ ตายก่อนกำหนด คือ ยังไม่สิ้นบุญหรืออายุ แต่ตายเนื่องจากมีกรรมมาตัดรอน เรียกกรรมนั้นว่า "อุปฆาตกรรม" คือ ตายด้วยอุปัทวเหตุต่างๆ การเจริญภาวนาโดยใช้ความตายทั้งสองแบบนี้สามารถนำมาเป็นอารมณ์กรรมฐานได้

วิธีเจริญมรณานุสสติ ผู้เจริญต้องหาที่อันสงบสงัดอยู่ตามลำพัง ก่อนลงมือปฏิบัติกิจภาวนา ต้องมีโยนิโสมนสิการ คือ รู้จักพิจารณาใคร่ครวญโดยแยบคาย ให้รู้สึกสังเวชสลดใจในความตาย ไม่ว่าจะเป็นความตายของบุคคลจำพวกใด คำภาวนาที่ใช้จะเป็นคำบาลี หรือ ภาษาไทย สั้นหรือยาว ได้ตามความพอใจ ข้อสำคัญต้องไม่นึกบริกรรมไปเฉยๆ เหมือนการท่องปากเปล่า ใจย่อมไม่คิดตาม ดังนี้ใช้ไม่ได้ ผิดวิธี เพราะนอกจากจะไม่เกิดปัญญาอันทำให้รู้สึกสังเวชสลดใจแล้ว อาจเกิดโทษ เช่น เกิดความเสียใจเศร้าโศกเมื่อนึกถึงความตายของบุคคลอันเป็นที่รัก เกิดความดีใจ เมื่อนึกถึงความตายของคนที่ตนเกลียดชัง หรือเกิดความสะดุ้งกลัว หวาดหวั่นเมื่อนึกถึงความตายของตนเอง วิธีที่ถูกต้อง คือ ระลึกถึงความตายโดยถ่ายเดียว ไม่เจาะจงว่าเป็นความตายของบุคคลจำพวกใด พึงระลึกถึงความตายโดยอาการทั้ง ๘ ดังต่อไปนี้

๑. วธกปัจจุปปัฏฐาน ให้ระลึกถึงความตายให้เห็นปรากฏประดุจนายเพชฌฆาตถือดาบอยู่ในมือเตรียมฆ่าตน ที่ให้ระลึกดังนี้ เพื่อให้เห็นว่าการเกิดกับการตายนั้นมาพร้อมกัน สัตว์ทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นย่อมมีชราและขณิกมรณะติดตัวมาด้วยทันที อุปมาดังเห็ดตูมที่พึ่งโผล่พ้นจากพื้นดิน ย่อมพาเอาฝุ่นติดบนยอดดอกขึ้นมาด้วย หรือเหมือนก้อนหินที่หักตกลงมาจากชะง่อนเขา ก็พาเอาต้นไม้ กอหญ้าที่ติดอยู่ตกมาด้วย ความเกิดขึ้นเป็นเช่นเดียวกัน พาความแก่ ความตาย ติดตัวมาด้วยพร้อมกัน เมื่อเกิดมาแล้วก็มีแต่บ่ายหน้าไปหาความตายสถานเดียว ดุจพระอาทิตย์เมื่อโผล่พ้นขึ้นจากขอบฟ้าก็บ่ายหน้าสู่อัสดงคตไม่มีถอนถอย ดุจอุทกธาราที่ไหลมาจากหุบเขา ย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำเพียงอย่างเดียว ไม่ไหลทวนกระแสเลยแม้แต่นิดเดียว อายุของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นดังนี้ ไม่มีหวนกลับ มุ่งหน้าสู่ความตายแต่ถ่ายเดียว

***อายุของสัตว์ทั้งหลายเหมือนแม่น้ำสายน้อย ที่ต้องแสงอาทิตย์ในคิมหันตฤดูแผดเผา ก็พลันเหือดหายมลายไปทุกเพลา เหมือนผลไม้ที่มีขั้วอันแห้งเสียแล้ว มีแต่ต้องร่วงหล่นลงจากต้น ร่างกายของเหล่าสัตว์ก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่ออาหารไปหล่อเลี้ยงร่างไม่ทั่วถึง ก็มีแต่เหี่ยวแห้งคร่ำคร่าเฒ่าชะแรแก่ชราลง รูปนามสังขารธรรมทั้งปวงเมื่อถูกความแก่ ความเจ็บ และความตายเข้าเบียดเบียน ดังนี้แล้ว ก็ต้องทุกข์ยากลำบาก สิ้นลมปรานลงกลายเป็นซากศพเปื่อยเน่า เป็นดั่งท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์อันเขาทิ้งถมแผ่นดินแล้ว เป็นดุจภาชนะดินที่ถูกทุบด้วยไม้ค้อนแตกกระจัดกระจาย

๒. สัมปัตติวิปัตติ ให้ระลึกถึงความตาย โดยสมบัติและวิบัติ คือ เมื่อเกิดมาแล้วก็บริบูรณ์ด้วยสิ่งต่างๆ แต่ในที่สุดก็จะต้องถึงความพินาศโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง เมื่อวิบัติเข้าครอบงำแล้ว สิ่งที่งามก็กลายเป็นน่าเกลียด สิ่งที่ดีกลายเป็นชั่ว สิ่งที่สุขกลายเป็นทุกข์ ไม่เคยเศร้าโศกก็ต้องโศกเศร้า

โลกสันนิวาสของเหล่าสัตว์ทั้งปวงนี้ ได้แก่
๒.๑ ชาติทุกข์ ติดตามล่อลวงให้ปวงสัตว์ลุ่มหลง
๒.๒ ชราทุกข์ รัดรึงตรึงตราให้พบกับความวิปริต แปรผันไปสู่ความเสื่อมนานาประการ
๒.๓ พยาธิทุกข์ กระหน่ำย่ำยีให้ป่วยไข้ลำบาก มีทุกขเวทนา เจ็บปวดทั่วสรรพางค์กาย
๒.๔ มรณทุกข์ ครอบงำทำลายล้างชีวิตินทรีย์ให้เสื่อมสูญ ไม่มีว่างเว้นผู้หนึ่งผู้ใดเลย ความตายครอบงำทุกชีวิต โดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ ไม่มีทางหนีพ้นไปได้ ประดุจภูเขาศิลาแท่งทึบใหญ่แท่งหนึ่งสูงเทียมฟ้า กลิ้งมาแล้วเวียนหมุนบดไปโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ บดสรรพสิ่งทั้งปวง โดยไม่เลือกว่าเป็นอะไร ในสงครามแห่งความตายนี้ ไม่มีอาวุธใดจะต่อสู้ จะมีทรัพย์สมบัติ วิชาการ เวทย์มนต์ใดๆ ก็มิอาจต้านทานต่อเสนาใหญ่แห่งพญามัจจุราชได้เลย

๓. อุปสังหรณะ ให้ระลึกถึงความตายของผู้อื่นน้อมมาใส่ตน เมื่อระลึกถึงความตายของผู้อื่น ให้นึกถึงยศถาบรรดาศักดิ์ของเขาว่า แม้มีมากมายเพียงใดก็หนีความตายไม่พ้น แม้ที่สุด พระอรหันตเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังไม่พ้นอาณัติแห่งมรณาสันวิถีไปได้

๔. กายาพหุสาธารณะ ให้ระลึกถึงความตายโดยนัยว่า เมื่อตายลงเป็นซากศพ ร่างนั้นย่อมเป็นที่อยู่แห่งหมู่หนอนถึง ๘O ตระกูล หนอนที่อาศัยอยู่ตามผิวเนื้อก็กัดกินกระดูก อาศัยอยู่ในสมองก็กัดกินสมองฯลฯ หนอนทั้งหมดเหล่านี้ เกิด แก่ และตายอยู่ในร่างกายเรานี่เอง พวกมันถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เป็นดั่งส้วม ดั่งป่าช้าอยู่ในร่างกายของเราตั้งแต่เรายังมีชีวิตอยู่ บางทีมันมีจำนวนมากกำเริบกล้าจนร่างกายทนไม่ได้ถึงกับตายลงก็มี นอกจากเหล่าหนอนแล้ว ยังมีโรคอื่นเกินกว่าร้อยจำพวกเบียดเบียน ส่วนภายนอกร่างกายก็มียุง เหลือบ ริ้น ไร ยังมีอุบัติเหตุอีกนานับประการที่จะทำให้ถึงตายได้ตลอดเวลา

๕. อายุทุพพล ให้ระลึกถึงความตายโดยพิจารณาให้เห็นว่า อายุของเรานั้น หากำลังไม่ได้ อายุยิ่งมากกำลังยิ่งถดถอยลงๆ ชีวิตขึ้นอยู่กับลมหายใจเข้าออก ถ้าหายใจเข้าไปแต่ไม่ออก หรือหายใจออกแต่ไม่เข้า ชีวิตก็มีอันสิ้นสุดลง อิริยาบถทั้ง ๔ ก็เช่นเดียวกัน ต้องมีอาการสม่ำเสมอทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน ถ้าไม่สม่ำเสมอ หนักไปในอิริยาบถใดจนเกินไป อายุขัยก็สั้นลง ธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายก็เช่นเดียวกัน ต้องอยู่ในภาวะสม่ำเสมอ ถ้ามีธาตุใดกำเริบย่อมเกิดเป็นโรคาพาธต่างๆ ได้ แม้เรื่องอาหารก็เช่นเดียวกัน หากบริโภคอย่างพอเหมาะพอควรร่างกายก็ดำรงอยู่ หากมากเกินควร ไฟธาตุย่อยไม่ไหว ร่างกายก็แตกดับลง

๖. อนิมิตตะ ระลึกถึงความตายโดยอนิมิต คือ สภาวะที่กำหนดไม่ได้ ไม่มีเครื่องหมายให้รู้ ซึ่งสิ่งที่ไม่มีนิมิตหมายนั้น มีอยู่ด้วยกัน ๕ ประการ ได้แก่
๖.๑ ชีวิต กำหนดไม่ได้ว่าจักดำรงอยุ่ช้านานเพียงใด บางคนอายุสั้น บางคนอายุยืน
๖.๒ พยาธิ กำหนดไม่ได้ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร เมื่อใด มากน้อยเพียงใด ไม่สามารถล่วงรู้ได้
๖.๓ กาโล เวลาที่จะตาย กำหนดไม่ได้ว่าจะตายวันเวลาใด
๖.๔ เทหนิกเขปนัง สถานที่ที่จะต้องตายและทอดร่างกายไว้ กำหนดไม่ได้ว่าเป็นที่ใด
๖.๕ คติ ภพใหม่ที่จะไปปฏิสนธิเกิดภายหลังตายลงแล้ว กำหนดไม่ได้

๗. อัทธานปริเฉท ระลึกถึงความตายโดยพิจารณาว่า ชีวิตของมนุษย์เป็นของน้อยนัก อายุยืนถึงร้อยปีนั้นมีน้อย โดยมากแล้วอยู่กันไม่ถึงร้อยปีก็ตายหมด จึงไม่ควรประมาท ควรขวนขวายแสวงหาพระนิพพาน เหมือนบุคคลที่มีไฟไหม้อยู่บนศีรษะต้องรีบหาทางดับไฟ

๘. ขณะปริตตะ ระลึกถึงความตายโดยพิจารณาว่า ชีวิตของมนุษย์เป็นของน้อยนัก เพียงชั่วขณะจิต เพราะขณะของจิตนั้นรวดเร็วมาก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใช้เวลาเพียงนิดเดียวไม่สามารถหาความเร็วของสิ่งใดมาเทียบเคียงได้ สมมุติว่านักแม่นธนู ๔ คน ยิงธนูพร้อมกันทั้ง ๔ ทิศ และมีนักวิ่งคนหนึ่งวิ่งออกไปฉวยเอาลูกศรของทุกคนมาได้หมด โดยที่ลูกธนูไม่ตกถึงพื้นดินเลย นักวิ่งที่วิ่งเร็วยิ่งกว่าลมกรด ยังไม่สามารถนำมาเทียบกับความเร็วของขณะจิตได้ จิตนั้นเกิดแล้วดับ คือ ขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ แล้วกลับเข้าสู่ภวังค์ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่ดังนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีการว่างเว้น ดวงหนึ่งดับดวงหนึ่งเกิดหนุนเนื่องกันไปเหมือนกระแสน้ำอันไหลหลั่งไม่ขาดสาย เมื่อจิตดับขณะหนึ่งก็เรียกว่าตายแล้วหนึ่งครั้ง ดับร้อยครั้ง พันครั้ง ก็เหมือนตายร้อยครั้ง พันครั้ง ดังนี้เป็นต้น


#2 Mai D na

Mai D na
  • Members
  • 282 โพสต์

โพสต์เมื่อ 17 August 2006 - 09:20 AM



****************************************

การ ที่ จิต เปลี่ยน เรื่อง คิด ใน ขณะ จิต

หมาย ถึง การ ดับ ของ จิต หรือ การ ตาย หรือ ไม่ ??

****************************************




แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป
แต่..
เ ป้ า ห ม า ย ไ ม่ เ ป ลี่ ย น แ ป ร




#3 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 20 March 2007 - 10:49 AM

สาธุ