โครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ประเภทประชาชน ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๐ ๑. ความเป็นมา โครงการตอบปัญหาธรรม “ทางก้าวหน้า” (Path of Progress) เกิดขึ้นโดยดำริของพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนและเยาวชนได้มีโอกาสศึกษาหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำธรรมะนั้นมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องดีงาม ซึ่งจะทำให้เป็นทั้งผู้มีความรู้ควบคู่ศีลธรรม สามารถพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป จากดำรินี้ นิสิต นักศึกษา คณะกรรมการชมรมพุทธศาสตร์ ในสถาบันอุดมศึกษาจึงได้รวมตัวกันจัดสอบตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ครั้งที่ ๑ ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยมีเนื้อหาธรรมะที่ศึกษา คือ มงคลชีวิต ๓๘ ประการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ๓๘๒ คน การจัดสอบฯ ได้รับความสนใจจากนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ มากขึ้นทุกปี เพิ่มจากจำนวนร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น และก้าวกระโดดมาเป็นหลักล้าน ในการสอบทางก้าวหน้า ครั้งที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ถึง ๑,๓๕๕,๑๕๔ คน และในปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๙ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน ๔,๗๓๒,๒๙๑ คน จาก ๑๙,๘๓๙ โรงเรียน นอกจากการได้รับความสนใจภายในประเทศแล้ว โครงการฯ ยังได้รับความสนใจในระดับสากลอีกด้วย โดยในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๓ โครงการฯ จากการดำเนินงานของชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ ได้เข้าร่วมเครือข่ายโลก กับองค์กรยูเนสโก (UNESCO) สหประชาชาติ ในการ “สร้างวัฒนธรรมสันติภาพ และความไม่รุนแรง” (Culture of Peace and Non-violence) อีกด้วย ๒. หลักการและเหตุผล เนื่องด้วยในปัจจุบัน สภาพศีลธรรมในสังคมโลกได้เสื่อมถอยลงไปอย่างมาก อันเป็นผลกระทบมาจากความเจริญเติบโตของเทคโนโลยีและการแผ่ขยายของค่านิยมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย การแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ไม่สามารถกระทำให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยปราศจากการพัฒนาศีลธรรมควบคู่ไปด้วย มูลนิธิธรรมกาย ร่วมกับวัดศูนย์สาขาของวัดพระธรรมกายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และชมรมพุทธศาสตร์สากลฯ ได้พิจารณาเห็นว่า โครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ทำให้มีหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ซึ่งส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวลดน้อยลงไป และหมดสิ้นไปในที่สุด ทำให้สังคมทั่วโลกกลับมาสู่สภาวะสันติสุข ก้าวไปสู่สังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป ๓. วัตถุประสงค์ ๑. เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปเกิดความสนใจใฝ่หาความรู้ในพระพุทธศาสนา และสามารถนำพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตและเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก ๒. เพื่อสร้างวัฒนธรรมการใฝ่หาความรู้และการใฝ่ทำความดีตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นแก่วิถีชีวิตของประชาชนทั่วไป อันจะเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีอายุยืนยาวไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานนานนับพันปี ๓. เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบการปลูกฝังศีลธรรมในพระพุทธศาสนา ด้วยการสร้างกิจกรรมที่ผนึกบ้าน วัด โรงเรียน ให้เป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว อันจะส่งผลให้แต่ละท้องถิ่นเกิดทีมงานที่มีศักยภาพในการสร้างคนดีและสร้างครูสอนศีลธรรมที่ดีให้แก่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ศีลธรรมมีความเข้มแข็งในการพัฒนาสังคมให้ถูกต้องทำนองคลองธรรม ๔. ผู้ดำเนินการ ๑. มูลนิธิธรรมกาย ๒. วัดสาขาของวัดพระธรรมกายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ๓. ชมรมพุทธศาสตร์สากลในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ๔. มูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อศีลธรรม ๕. มูลนิธิพัฒนาเยาวชนต้นแบบศีลธรรม ๕. กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย คือ กัลยาณมิตรและสาธุชนทั่วไปภายในประเทศไทย ๖. กำหนดการดำเนินโครงการ ๗ มกราคม – ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ รับสมัคร ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ วันสอบ ณ วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ประกาศผลสอบ ๓ มีนาคม ๒๕๕๐ พิธีมอบโล่เกียรติยศ ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย ประเทศไทย ๗. รางวัลเกียรติยศ รางวัลที่ ๑ ได้รับโล่เกียรติยศ “วชิรเกียรติยศ” ของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล รางวัลที่ ๒ ได้รับประกาศนียบัตร และเงินรางวัล รางวัลที่ ๓ ได้รับประกาศนียบัตร และเงินรางวัล รางวัลชมเชย บัตรขึ้นปฏิบัติธรรม จำนวน ๔๐ รางวัล (๑ รางวัล มีบัตร ๓ ใบ) ๘. คุณสมบัติของผู้สมัคร เป็น กัลยาณมิตร และสาธุชนทั่วไปภายในประเทศไทย ๙. การสมัครสอบ สมัครสอบเป็นทีม (๑ ทีม มีสมาชิก ๓ คน) พร้อมชำระค่าสมัครทีมละ ๖๐๐ บาท ณ ชมรมนักคิดนักเขียนเพื่อสันติภาพโลก เสา M6 สภาธรรมกายสากล ๑๐. หลักสูตร / ข้อสอบที่ใช้ หลักสูตร หนังสือคัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์ ภาคครอบครัวอบอุ่น ข้อสอบ ข้อสอบปรนัย ๑๐๐ ข้อ และอัตนัย ๒ ข้อ นำเอกสารเข้าห้องสอบได้ เวลาสอบ ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที ภาพรวมเนื้อหา หนังสือคัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์ ภาคครอบครัวอบอุ่น ความเป็นมา : หนังสือคัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์ ภาคครอบครัวอบอุ่น เป็นหนังสือที่เรียบเรียงจากเนื้อหาพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ ที่เกี่ยวกับธรรมะอันเป็นหลักการและวิธีการแก้ปัญหาครอบครัว ซึ่งท่านได้เมตตามอบปัญญาอันเป็นแสงสว่างให้แก่สาธุชนมาตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปี การจัดทำหนังสือเล่มนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่เป็นคู่มือการดูแลครอบครัวสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้และแนวทางปฏิบัติแล้วจะได้สามารถจัดการปัญหาครอบครัวที่อบอ้าวให้เป็นครอบครัวที่อบอุ่น และกลายเป็นสถาบันที่สร้างคนดีให้แก่สังคมและวัฒนธรรมชาวพุทธได้อย่างเข้มแข็งนั่นเอง แบ่งเนื้อหาเป็น ๗ หมวด ๑. การสร้างรากฐานครอบครัว ๒. การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ๓. การสร้างความสามัคคีในครอบครัว ๔. การแก้ปัญหาอบายมุข ๕. การสอนลูกให้รู้จักชีวิต ๖. การใช้ชีวิตบั้นปลาย ๗. การเป็นชาวพุทธที่แท้จริง มีหลักธรรมที่ใช้อธิบายเนื้อหาทั้งเล่ม ๒๐ หัวข้อ ๑. ฆราวาสธรรม ๒. กฎแห่งกรรม ๓. คุณสมบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔. หน้าที่พ่อแม่ ๕. หน้าที่สามีภรรยา ๖. คุณสมบัติของแม่พระในบ้าน (โอวาทวันแต่งงานนางวิสาขา) ๗. หลักการเลี้ยงดูบุตร (เคารพ วินัย อดทน) ๘. สังคหวัตถุ ๔ ๙. ธรรมะที่สามีและภรรยาต้องมีเสมอกัน ๑๐. ธรรมะที่ทำให้งาม (ขันติ-โสรัจจะ) ๑๑. ความกตัญญูกตเวที ๑๒. ความสามัคคี ๑๓. การอดออมและการใช้จ่ายทรัพย์อย่างถูกวิธี ๑๔. โทษของอบายมุข ๖ ๑๕. การบริหารเวลา ๑๖. การใช้ปัจจัย ๔ ให้เกิดคุณธรรม ๑๗. เป้าหมายชีวิตที่แท้จริง ๑๘ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ๑๙ การดูแลจิตคนป่วยและคนใกล้ละโลก ๒๐.ประเพณีชาวพุทธ (การสร้างพระประจำตัว, การบวช, การพัฒนาวัดร้างเป็นวัดรุ่ง ฯลฯ)