จะรูั้ได้อย่างไรว่าสำนักปฏิบัติธรรมที่ไหนดีจริง

ก่อนที่คุณจะเลือกสำนักปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าจะให้ดีควรจะหาความรู้จากพระไตรปิฎกเสียก่อน เพื่อเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติต่อไปในวันข้างหน้า และเป็นหลักในการเลือกสำนักด้วย https://dmc.tv/a12570

บทความธรรมะ Dhamma Articles > หลวงพ่อตอบปัญหา
[ 7 พ.ย. 2554 ] - [ ผู้อ่าน : 18261 ]
 
 
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
 

คำถาม: หลวงพ่อครับ เดี๋ยวนี้มีสำนักปฏิบัติธรรมมากมาย แต่ละแห่งก็ว่าของตัวเองดีทั้งนั้น จะรู้ได้อย่างไรละครับว่าสำนักไหนดีจริง?

 
คำตอบ: ก่อนที่คุณจะเลือกสำนักปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าจะให้ดีควรจะหาความรู้จากพระไตรปิฎกเสียก่อน เพื่อเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติต่อไปในวันข้างหน้า และเป็นหลักในการเลือกสำนักด้วย เพราะว่าพระไตรปิฎกนั้น ได้รวบรวมคำสอนภาคทฤษฎีเอาไว้อย่างเรียบร้อยบริบูรณ์ เมื่อคุณมีความรู้ขั้นพื้นฐานจากพระไตรปิฎกแล้ว จากนั้นคุณจึงค่อยไปเลือกสำนักปฏิบัติ
 
สำนักปฏิบัติธรรมมีมากมาย
สำนักปฏิบัติธรรมมีมากมาย
 
        คราวนี้ ในการเลือกสำนักปฏิบัตินั้น ก็มีวิธีเลือกง่ายๆ ให้ดูเจ้าสำนักเป็นเกณฑ์ว่าเจ้าสำนักนั้นมีความประพฤติ มีข้อปฏิบัติถูกต้องตามพระไตรปิฎกที่คุณเรียนมาหรือไม่ 
 
        ถ้าท่านมีความประพฤติ มีการปฏิบัติเรียบร้อยบริบูรณ์ดีงามสมกับที่คุณได้อ่านมาจากพระไตรปิฎกแล้ว ก็เลือกสำนักนั้นแหละเป็นสำนักที่คุณควรจะมอบกายถวายชีวิต ให้ท่านอบรมเคี่ยวเข็ญกันต่อไป
 
        อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วโอกาสที่เราจะได้เข้าไปสนทนา ได้เข้าไปใกล้ชิดกับเจ้าสำนักต่างๆ บางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน เพราะยิ่งเป็นสำนักใหญ่ เจ้าสำนักท่านก็มีงานมีภาระรับผิดชอบมาก
 
        หลวงพ่อขอแนะนำวิธีเลือกสำนักอีกวิธีหนึ่งคือ ลองศึกษาความประพฤติการปฏิบัติจากลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของท่าน จะเป็นฆราวาสก็ตาม หรือจะเป็นพระภิกษุก็ตามที สังเกตรวมๆ ๖ เรื่องต่อไปนี้ ถ้าเห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ๖ ประการนี้แล้ว ก็มอบกายถวายชีวิตเข้าไปเป็นลูกศิษย์ได้เลย
 
        คุณสมบัติ ๖ ประการ ซึ่งสำนักที่ได้มาตรฐานจริงๆ จะต้องมีคือ
 
        ๑. เจ้าสำนักเอง รวมทั้งลูกศิษย์ในสำนักนั้น ไม่มีนิสัยขอบว่าร้ายหรือโจมตีการปฏิบัติธรรมของสำนักอื่น ถ้าท่านยังมีนิสัยชอบว่าร้ายอยู่ แสดงว่าคุณธรรมของท่านก็ยังไม่พอ แล้วท่านจะมาสอนให้เราได้อย่างไร
 
        ๒. ท่านจะต้องไม่มีนิสัยชอบในลักษณะที่เรียกว่า นักเลง หรือชอบข่มขู่คนอื่น อะไรทำนองนั้น ท่านควรจะมีวิธีการสอนประเภทที่เรียกว่าให้เหตุ ให้ผล ได้ลุ่มลึกไปตามลำดับ ไม่ใช่บังคับให้เชื่อหรือขู่ให้เชื่อ
 
        ๓. สังเกตดูด้วยว่า ศีลของท่าน มารยาทของท่าน งามดีไหม สมกับที่จะมาเป็นพระอาจารย์สอนเราได้หรือยัง การจะดูว่ามารยาทงามหรือไม่งาม ศีลงามหรือไม่งามนั้น เราเทียบจากพระวินัยในพระไตรปิฎกที่เราเรียนมานั่นแหล่ะ อย่าไปถือเอาความถูกใจเราเป็นเกณฑ์ ต้องเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์จึงจะใช้ได้
 
        ๔. อาจจะเจาะลึกไปถึงเรื่องอาหารการขบฉันของท่าน คือ ต้องดูว่าวัดนี้ สำนักนี้ จุกจิกจู้จี้ในเรื่องอาหารบ้างหรือเปล่า หรือบริโภคกันฟุ่มเฟือย สุดโต่งเลย เช่น ต้องสั่งจากภัตตาคารมาประเคน ถ้าอย่างนั้นละ ถอยๆ ออกมาดีกว่า
 
        ๕. ไปดูถึงสถานที่การปฏิบัติธรรมของเขาจริงๆ ว่าออกในลักษณะไหน ถ้าออกในลักษณะโอ่อ่าเกินไป เดี๋ยวจะเกิดนิสัยฟุ้งเฟ้อกลับมา แต่ว่าถ้าซอมซ่อเกินไป ปล่อยให้สกปรกรกรุงรัง อย่างนั้นก็ไม่สมควร เพราะในพระศาสนานี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคร่งครัดในเรื่องของความสะอาด ความมีระเบียบ ตลอดจนกระทั่งความร่มรื่นของสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วย เราจึงต้องดู
 
        ๖. เจ้าสำนักเอง ท่านรักการฝึกสมาธิมากแค่ไหน ถ้าฝึกสมาธิกันแค่วันละชั่วโมงสองชั่วโมง หรือว่าฝึกกันไปตามมีตามเกิด คุณอย่าไปฝากตัวเป็นศิษย์ท่านเลย
 
        ถ้าเป็นสำนักที่ตั้งใจฝึกสมาธิกันอย่างจริงๆ จังๆ ก็ใช้ได้เลยนะ เพราะว่าคนที่ยังไม่ฝึกสมาธิอย่างจริงจัง ย่อมไม่สามารถที่จะรักษาคุณธรรมที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นทั้ง ๕ ประการ
 
        คุณสมบัติประการที่ ๖ นี้จึงเป็นประการสำคัญมากที่สุดเลยที่จะยืนยันว่า สำนักที่เราจะไปปฏิบัตินั้น ต้องมีการฝึกมีการสอน มีการอบรมสมาธิอย่างจริงจัง เจ้าสำนักเองก็ทุ่มเทฝึกสมาธิด้วย เป็นผู้นำในการฝึกเลย แล้วสมาธินั้นก็เป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา
 
        ถ้าคุณไปพบสำนักใดมีคุณธรรม ๖ ประการนี้อยู่ครบบริบูรณ์แล้วละก็ คุณเข้าไปเป็นลูกศิษย์ในสำนักนั้นได้เลย รับรองไม่ผิดหวังแน่นอนนะ
 

คำถาม: วิธีนั่งสมาธิที่หลวงปู่่ หลวงตา แต่ละองค์สอน ทำไมไม่ค่อยเหมือนกันเลยครับ?

 
คำตอบ: เรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับพื้นฐานการฝึกอบรมของเรา กับของหลวงปู่่ หลวงตาท่าน บางทีเราไปถาม “หลวงปู่ นั่งสมาธิทำอย่างไร “ ท่านตอบสั้นๆ ว่า “ก็ปล่อยวางให้หมดซิ” ท่านพูดเหมือนง่ายๆ แต่เราปล่อยวางอย่างท่านว่าได้ไหม ไม่ง่ายนะ จริงๆ ท่านว่าของท่านถูกต้องแล้ว แต่พื้นฐานการฝึกอบรม และประการณ์ของเรามาคนละเส้นทาง เราเลยตามท่านไม่ทัน
 
การนั่งสมาธิมีหลายวิธี
การนั่งสมาธิมีหลายวิธี
 
        เหมือนหลวงพ่อก่อนบวชพบคุณยายอาจารย์ (อุบาสิกาจันทร์ ชนนกยูง) ใหม่ๆ ไปถามวิธีนั่งสมาธิกับท่าน ท่านบอกให้เอาใจไปเก็บไว้กลางท้อง เก็บไว้ตรงศูนย์กลางท้องได้เมื่อไรพระนิพพานอยู่ตรงนั้น
 
        ถามท่านว่าทำไมต้องเอาใจไว้กลางท้องท่านตอบว่า ก็ตรงนั้นเป็นปากทางไปนิพพาน  ประตูพระนิพพานอยู่ตรงนั้น ฟังแล้วยิ่งงงใหญ่ ก็เลยไปถามรุ่นน้องคนหนึ่ง คือท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) องค์นี้แหละ ตอนนั้นท่านยังไม่ได้บวชเป็นนิสิตรุ่นน้อง กำลังเรียนอยู่สถาบันเดียวกัน ถามว่า ทำไมคุณยายบอกอย่างนั้น
 
        ท่านก็ขยายความให้ฟังว่า “พี่เด็จ ลืมหลักฟิสิกส์ที่เรียนมาแล้วหรือ ก็กลางท้องน่ะมันเป็น  CENTER OF GRAVITY” พอได้ยินคำว่า CENTER OF GRAVITY หลวงพ่อก็เข้าใจคำสอนของคุณยายทันที เพราะโดยพื้นฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ถ้าใครใช้คำนี้เราจะนึกภาพออก แล้วท่านก็ขยายความต่อว่า ถ้าเอาใจเข้า CENTER OF GRAVITY ได้เมื่อไร ทางโลกกับทางธรรมจะตรงกัน MOMENTUM หรือแรงเหวี่ยงจะไม่มี ท่านพูดเรื่องของจิตในในเชิงฟิสิกส์ว่า ถ้าใจอยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว อะไรก็ไม่สามารถมาเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยว มาเป็นเครื่องกังวลแก่เราได้
 
        เมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นจริงอย่างท่านว่า เพราะนึกทบทวนดูแล้วก็พบว่าทุกครั้งที่เราโกรธใคร ตอนนั้นใจของเราไม่ได้อยู่กับตัวเลยมันไปอยู่ที่หน้าเจ้าคนที่เราโกรธ อยากจะเหยียบหน้ามันให้เละ ใจเราแล่นไปยังคนที่เราโกรธ ในขณะที่ตัวเรายังไม่ได้ขยับเขยื้อนสักนิด
 
        ทุกครั้งที่ใจหลุดออกจากตัว หลุดจากศูนย์กลางกาย ก็เหมือนทหารถูกลวงให้หลุดออกจากบังเกอร์ในสนามรบ ศัตรูมันล่อเอาไปขย้ำสำเร็จแล้ว ความชั่ว ความไม่ได้เรื่องทั้งหลายก็ล่อเราเอาไปขย้ำในทำนองเดียวกันนี้แหล่ะ ใจมันไปเกาะอยู่ที่รูปสวยๆ เขาจะลากไปย่ำยีอย่างไรก็ได้ แม้ที่สุดทุกครั้งที่เรากลุ้มใจ กลังจะถูกโยกย้าย ใจเราก็ไปเกาะอยู่ที่ผู้บังคับบัญชา แล้วก็คิดไปสารพัด ท่าจะเอาอย่างไรกับเราหนอ ใจเราตามท่านไปทุกฝีก้าวทีเดียวแหล่ะ
 
        ใจของพวกเราหลุดออกจากตัวจนคุ้น พอถูกสั่งให้เอาใจกลับเข้ามาเก็บไว้ในตัว มันจึงรู้สึกว่ายากแสนยาก หลวงปู่หลวงตาเวลาสอนสมาธิ ท่านก็ใช้วิธีที่ท่านคุ้นเคย แล้วก็สังเกตดูเถอะ จะพบว่าวิธีของแต่ละท่านจะแตกต่างจากครูบาอาจารย์ของท่านเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายทุกคนก็จะไปถึงที่เดียวกัน คือพระนิพพาน ต่างแต่ว่าใครจะถึงช้างถึงเร็วต่างกัน เพราะเส้นทางของแต่ละคน คดเคี้ยวมากน้อยต่างๆ กันไป

http://goo.gl/0fKCz

     
Tag : อุบาสิกา  อาจารย์  หลวงพ่อตอบปัญหา  หลวงพ่อ  สมาธิ  สถานที่ปฏิบัติธรรม  วัดพระธรรมกาย  พระราชภาวนาวิสุทธิ์  พระพุทธศาสนา  ปัญหา  ปฏิบัติธรรม  ธัมมชโย  ธรรมกาย  คุณยายอาจารย์  dhamma  

พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทำอย่างไรจึงจะไม่ท้อไม่เหนื่อยในการทำงาน
      สาเหตุที่ทำให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
      "สังคมเปลี่ยนไป" แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตามพระพุทธศาสนามีคำแนะนำอย่างไร ?
      หลักการขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม
      คำสอนของวัดพระธรรมกายถูกต้องตามแนวทางคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาหรือไม่
      อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก
      การสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์มีส่วนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างไร
      ทำไม ? จีวรต้องเป็นสีเหลือง
      เราจะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร ?
      เราจะปลูกฝังให้ลูกหลานทำหน้าที่ชาวพุทธให้สมบูรณ์ได้อย่างไร ?
      เราควรจะเลือกทำงานด้วยทัศนคติอย่างไรที่จะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
      การเกิดขึ้นของนิสัยดี นิสัยชั่วมีที่มาอย่างไร
      การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้เหมาะสมแก่การฝึกสมาธิและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงธรรม




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related