อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมโลก เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายจนบานปลาย ไปสู่ความแตกแยก บางครั้งก็รุนแรง ถึงขั้นเกิดสงครามโลก https://dmc.tv/a21881

บทความธรรมะ Dhamma Articles > หลวงพ่อตอบปัญหา
[ 23 ก.ย. 2559 ] - [ ผู้อ่าน : 18319 ]
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก ?

เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๕
 

          อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมโลก เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายจนบานปลาย ไปสู่ความแตกแยก บางครั้งก็รุนแรง ถึงขั้นเกิดสงครามโลก

     ตอบ ..หลวงพ่อเกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นภาวะที่ขณะนั้นใกล้สงครามโลกครั้งที่ ๒ เต็มที ในช่วงนั้น ถ้าจะว่าไปแล้วประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะคับขัน ถูกอำนาจทางการเมืองโลก รวมทั้ง สภาพเศรษฐกิจสังคมทั่วโลก บีบเข้ามาอย่างแรง แล้วผลที่ตามมาก็คือ ความระส่ำระสายทั้งประเทศไทย และความไม่สงบเรียบร้อยในพระพุทธศาสนาก็เกิดขึ้นเป็นอันมาก แต่พวกเราซึ่งเกิด มาในภายหลังไม่ค่อยจะรู้กัน จะมีก็แต่หลวงปู่ หลวงพ่อ บางรูปในยุคนั้นเท่านั้นเอง สภาพต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างยิ่งในกาลต่อมา

     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดขึ้น ถ้ามองในสายตาของชาวโลก ก็บอกว่าเพราะประเทศนั้นประเทศนี้ เป็นตัวต้นเหตุ ในแง่ของประวัติศาสตร์ ก็มักจะโทษประเทศญี่ปุ่นและประเทศเยอรมัน ว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ทำให้สงครามโลกเกิดขึ้น ผู้คนต้องล้มตายกันมากมาย นี้คือการมองแบบชาวโลก มองในแง่ของประวัติศาสตร์

     แต่ถ้ามองแบบชาวพุทธมอง เราไม่ได้มองอย่างนั้น เรามองว่าขณะนี้มารฝูงใหญ่ ๆ ฝูงหนึ่ง ที่เรียกกันว่า "กิเลสมาร" กำลังอาละวาดด้วยการแทรกเข้าไปอยู่ในใจคน แล้วทำให้คนโลภ โกรธ หลงอย่างหนัก แล้วชักใยให้คนทั้งโลกรบราฆ่าฟันจนล้มหายตายจากกันไป

     และทั้ง ๆ ที่เจ้ามารฝูงนี้ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งรวมเรียกว่า กิเลสมาร เข้าไปชักใยอยู่ในใจคน จนกระทั่งคนฆ่ากันตายเป็นล้าน ๆ คน แต่มนุษย์ที่เหลือก็ยังมองไม่ออกอีกว่า สาเหตุแห่งความตายนั้นมาจากกิเลสของคน หรือมารฝูงหนึ่งที่เรียกว่า "กิเลสมาร"

     ต้นเหตุที่ทำให้คนตาย คือ กิเลสมาร ซึ่งมี ๓ ลักษณะ

          ลักษณะที่ ๑ คือ ความโลภ ความเห็นแก่ได้ ทำให้ตามล้างตามผลาญกัน
          ลักษณะที่ ๒ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ทำให้จองล้างจองผลาญกัน
          ลักษณะที่ ๓ คือ ความหลง ความโง่ ความไม่รู้ตามความเป็นจริง ทำให้จองล้างจองผลาญกัน

     กิเลสมารย่ำยีมนุษย์ถึงขนาดนี้ แต่ว่าคนทั้งโลกในยุคนั้นที่จะรู้อย่างนี้กลับมีไม่กี่คน อย่าว่าแต่ในยุคนั้น แม้ผ่านมาแล้วตั้ง ๔๐ กว่าปี คนที่จะรู้อย่างนี้ นอกจากผู้ที่เป็นชาวพุทธและสนใจพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มีใครรู้

     แล้วท่านที่สนใจประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังในพระพุทธศาสนานั้น เราก็รู้ว่าเอาจริง ๆ เข้าก็มีกันไม่กี่คน อย่าว่าแต่ชาวโลกมีไม่กี่คนเลย

     แม้แต่พระภิกษุที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ที่สนใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังก็มีน้อย อย่าง ที่พวกเราเห็นกันอยู่นี้แหละ เวลาพวกเราเข้ามาบวชแต่ละรุ่น โดยเฉพาะรุ่นที่อบรมธรรมทายาทในภาคฤดูร้อน เข้ามาอบรมคราวละเป็นพันคน แต่เหลือมาบวชประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ คน ถ้าจะว่า ไปก็คือ เหลือมาบวชสัก ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์

          ในจำนวน ๖๐๐-๗๐๐ คน หรือที่บวชมา ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์นี้ เมื่อผ่านการอบรมไปแล้วได้เดือนหนึ่ง ก็สึกไปประมาณเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง ๓๐-๔๐ รูป หรือ ๓-๔ เปอร์เซ็นต์ แล้วที่เหลืออยู่ต่อจนกระทั่งเข้าพรรษาก็อยู่จนตลอดพรรษา พอออกพรรษาแล้ว จาก ๓๐ รูป ก็เหลืออยู่สัก ๑๐ รูป จากผู้เข้าอบรมในภาคฤดูร้อน ๑,๐๐๐ คน พอออกพรรษาเหลืออยู่ ๑๐ รูป ก็เท่ากับเหลืออยู่ ๑ เปอร์เซ็นต์ และ ๑ เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่นี้ถือว่าสูงมากแล้ว นี่ขนาดในวัดของเราซึ่งผู้ที่เข้ามาบวชก็มีความรู้ มีการศึกษาดี ยังเหลือแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้

     แล้วใน ๑ เปอร์เซ็นต์ที่ตั้งใจบวชต่อนี้ ถ้าไม่สนใจปฏิบัติธรรมจริง ๆ ก็จะมองไม่เห็นว่า สภาพ การล้างการผลาญกัน ไม่เฉพาะในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แม้สภาพการรังแกเบียดเบียนกันอยู่ ทุกวันนี้ในโลกมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสงครามในประเทศต่าง ๆ หรือที่ไหน ๆ ก็ตาม "ดังที่เราเห็นแพร่ภาพในโทรทัศน์ เมื่อใดที่มีการล้างการผลาญกัน ถ้ามองให้ลึกจริง ๆ แล้ว ก็พบว่าเกิดด้วยอำนาจกิเลสในตัวของแต่ละคน หรือมารฝูงเดิมนั่นแหละ ที่ก่อให้เกิดการล้างผลาญกัน มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ฝูงเดียวกัน แต่อาละวาดกันอยู่คนละลักษณะ" และแม้ในวันนี้ก็ยังเป็นต้นเหตุ แห่งความเดือดร้อนของคนทั้งโลกอยู่ดี
 

     ถามว่ามารฝูงนี้ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งชื่อว่า "กิเลสมาร" มีมานานแล้วหรือยัง ต้องบอก ว่ามีมาก่อนพุทธกาลแล้ว เมื่อมีโลกเกิด มีมนุษย์เกิด มารฝูงนี้ก็มีมาพร้อม ๆ กันแล้ว แล้วมันก็อยู่ในใจคนเรื่อยมา จะอยู่ในใจใครต่อใครก็ตามที แต่ที่แน่ ๆ มันอยู่ในใจเราด้วย

     เพราะฉะนั้น ถ้าจะว่าไปที่เรามาบวชกันอยู่ทุกวันนี้ ประเด็นสำคัญของเราก็คือ เราบวชเพื่อ มารบกับมารฝูงนี้โดยเฉพาะเลย ถ้าคิดให้ดีหน้าที่หลักของเราคือปราบกิเลสมารพวกนี้

     แล้วเจ้ามารฝูงนี้บางครั้งมันก็ระบาดหนัก ขนาดแพร่เชื้อไปทำให้เกิดกับคนทั้งโลก บางครั้งมันอาจจะซบเซาไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้ไปไหน หลบเข้าไปอยู่ในใจคนแต่ละคนในโลก ไม่เฉพาะแต่ในใจ คน ในใจสัตว์ด้วย

     แม้ในที่สุดคน ๆ นั้นตายไปแล้ว เจ้ามารฝูงนี้ก็ยังไม่ละลด ยังเกาะติดใจคน ๆ นั้นไป ไม่ว่า คน ๆ นั้นจะไปเกิดที่ไหน จะไปตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ก็ตาม มันก็ยังเกาะติดใจของคน ๆ นั้นเหมือนปลิงที่เกาะหลังควาย ดูดเลือดควายอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ

     แล้วตราบใดที่คนนั้นยังไม่รู้จักวิธีปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง หรือรู้แล้วแต่ไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติอริยมรรค มีองค์ ๘ อย่างจริงจัง ยังเข้าไม่ถึงธรรมกาย ก็จะยังไม่สามารถไปมองเห็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ในใจ กิเลส ก็ยังเกาะติดอยู่อย่างนั้น แล้วหาทางทำลายล้างคน ๆ นั้นเรื่อยไป

     แม้ที่สุดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์องค์อื่น ๆ กิเลสมันเกาะเข้าไปข้างในไม่ได้ มันก็แปรสภาพไปจากกิเลสมาร เป็นเทพบุตรมารมาอาละวาดข้างนอก มาทำความเดือดร้อนต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก เหมือนอย่างที่พญามารทำความเดือดร้อนแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายนอก นั่นเอง

     หลวงพ่อได้คิดเรื่องเหล่านี้ เพราะเห็นความผันผวนของโลกมาอย่างชัดเจน คนเราลองได้ผ่าน ความตายมาหลาย ๆ ครั้งเข้า แม้เป็นเด็กก็จะได้ข้อคิด ตั้งแต่จำความได้หลวงพ่อเห็นศพลอยน้ำ มาทุกวันรอบ ๆ บ้าน มีทหารญี่ปุ่นตายบ้าง พวกเชลยศึกยุโรป ไม่ว่าจะเป็นฮอลันดา หรืออังกฤษ ที่มารบในเมืองไทยตายกันเป็นเบือ ชาวอินเดียจำนวนมาก ที่ถูกเกณฑ์มาจากประเทศอินเดีย เพื่อมาทำทางรถไฟสายมรณะจากกาญจนบุรีตัดป่าใหญ่เข้าสู่พม่า ผ่านด่านเจดีย์ ๓ องค์ พวกนี้ก็ตายกันมาก

     เพราะฉะนั้น สงครามโลกก็ตาม ความแตกแยกในสังคมก็ตาม ความวุ่นวายต่าง ๆ ในโลกนี้ ก็ตาม ล้วนมีสาเหตุเบื้องลึกมาจากกิเลสมารทั้งสิ้น

     การที่เราจะกำจัดกิเลสมารได้มีเพียงหนทางเดียว นั่นคือ ต้องอาศัยความเคารพในครูบา-อาจารย์ อาศัยความอดทนที่จะฝึกความละเอียดรอบคอบ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด อาศัย ความอดทนต่อการกระทบกระทั่งในการทำงานเป็นทีม และอาศัยความอดทนในการนั่งสมาธิ ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้าจะทำให้เป็นนิสัย เราต้องทำด้วยความมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ
 

     ดังนั้น หลักการโดยย่อก็คือ การที่เราจะสู้กับกิเลสได้ เราก็ต้องมี ความเคารพ ความอดทน และฝึกตนด้วย ความมีวินัย ไม่ทำตามใจตัวเอง เมื่อเรามีคุณธรรมทั้งสามเป็นพื้นฐาน บารมีอย่างอื่น บุญอย่างอื่นก็จะไหลเข้ามาเอง

     สิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าตัวเองมีบุญบารมีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ก็ให้ดูง่าย ๆ ว่า เวลาเกิดการกระทบกระทั่ง หรือเกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ให้เราสังเกตตัวเราว่า ยังมีความอดทนดีอยู่หรือไม่ ยังมีความเคารพในครูอาจารย์ดีอยู่หรือไม่ ยังรักษาความมีวินัยดีอยู่หรือไม่

     ถ้าเรายังรักษาคุณธรรมทั้งสามนี้ไว้ได้อย่างดี ก็แสดงว่าคุณธรรมได้เพิ่มขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณธรรม ที่จะเห็นได้เด่นชัดเป็นพิเศษ ก็คือ ความอดทนในการรักษาความดี ซึ่งตรงกับ พุทโธวาทที่ว่า ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ซึ่งแปลว่า ขันติเป็นเครื่องเผาผลาญกิเลสอย่างยิ่ง

     เมื่อเราทำได้ดังนี้ ไม่ว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งอย่างไร เกิดความขัดแย้งอย่างไร เราก็จะสามารถรักษาใจให้สุขุมเยือกเย็นไว้ได้ เมื่อกิเลสไม่สามารถออกฤทธิ์ในจิตใจเราได้ ปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์ จะถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยไม่เสียคุณธรรมความดี และสามารถระงับเหตุร้ายทั้งปวงไว้ได้ พลิกจากสถานการณ์ร้ายให้กลายเป็นดีโดยไม่ก่อบาปก่อเวร ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ




พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทำอย่างไรจึงจะไม่ท้อไม่เหนื่อยในการทำงาน
      สาเหตุที่ทำให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
      "สังคมเปลี่ยนไป" แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตามพระพุทธศาสนามีคำแนะนำอย่างไร ?
      หลักการขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม
      คำสอนของวัดพระธรรมกายถูกต้องตามแนวทางคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาหรือไม่
      การสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์มีส่วนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างไร
      ทำไม ? จีวรต้องเป็นสีเหลือง
      เราจะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร ?
      เราจะปลูกฝังให้ลูกหลานทำหน้าที่ชาวพุทธให้สมบูรณ์ได้อย่างไร ?
      เราควรจะเลือกทำงานด้วยทัศนคติอย่างไรที่จะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
      การเกิดขึ้นของนิสัยดี นิสัยชั่วมีที่มาอย่างไร
      การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้เหมาะสมแก่การฝึกสมาธิและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงธรรม




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related