พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 10 "ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” https://dmc.tv/a22057

บทความธรรมะ Dhamma Articles > เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
[ 28 ก.ค. 2564 ] - [ ผู้อ่าน : 18290 ]
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ
พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาล ที่ 10
 
 


พระราชสมภพ

     เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เมื่อเวลา 17.45 น.
       
       พระองค์ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์บรมขัตติยราชกุมาร” เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
       

       ขณะเมื่อทรงพระราชสมภพนั้น ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยพระประสูติกาลต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัส แซ่ซ้องในพระบุญญาธิการ ดังที่ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้บรรยายถึงบรรยากาศก่อนเวลาพระราชสมภพ ตราบจนถึงนาทีอันเป็นมงคลฤกษ์เสด็จพระราชสมภพว่า
       
       “...วันนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า ฝนไม่ได้ตกมานาน นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา 17 นาฬิกา กับ 45 นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยปรายละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้ อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุกๆ ดวง นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ ซึ่งพร้อมที่จะบอกแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ว่า พระราชโอรส หรือพระราชธิดา กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่าพระราชโอรส ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโฮ่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว...ดวงใจทุกดวงมีความสุข...”
       
       นับแต่นั้นมา ประชาชนชาวไทยต่างเฝ้าติดตามข่าวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ด้วยความจงรักภักดี และต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัสยิ่งขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญวัย มีพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เพียบพร้อมด้วยพระราชจริยวัตรและพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา
 
      มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
 

การศึกษา

     เมื่อทรงเจริญวัยพระชนมมายุได้ 4 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาลที่ 1 ณ โรงเรียนจิตรลดา เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2499 ขณะนั้นโรงเรียนนี้ยังตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต ต่อมาในปีพุทธศักราช 2500 จึงย้ายไปอยู่สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ได้ทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯไปศึกษาต่อในโรงเรียนคิงส์ มิด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช 2509 ต่อจากนั้นเสด็จฯไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2509
 

     ตั้งแต่ยังทรงเยาว์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัยและความสะอาดเรียบร้อย ไม่ทรงนิยมการฝ่าฝืนหรือละเมิดระเบียบข้อบังคับต่างๆ มีความสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพ และขณะที่ประทับอยู่ในประเทศไทยได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนที่ตั้งในกองทหารหน่วยต่างๆหลายแห่ง
 

 

     โดยที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามกุฎราชกุมาร ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการทหารเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงดำริเห็นว่า การศึกษาวิชาทหารในประเทศออสเตรเลียมีหลักสูตรการสอนกว้างขวางและมีการฝึกอย่างเข้มงวด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2513 ในขั้นแรกทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนคิงส์สกูล ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร

     ต่อจากนั้นทรงเข้าศึกษาที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ซึ่งทรงใช้เวลาในการทดสอบและฝึกอย่างหนักถึง 5 สัปดาห์ ทรงเข้าศึกษาและทรงเข้าประจำเหล่านักเรียนนายร้อยที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน ตั้งแต่ภาคแรกแห่งปีการศึกษาพุทธศักราช 2515 จนทรงจบการศึกษาในปีพุทธศักราช 2518
 

     ในการศึกษาทุกระดับชั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงปฏิบัติตามระเบียบของสถานศึกษาเหมือนอย่างนักเรียนทั่วไปและเมื่อทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างเข้มงวด ก็ได้ทรงปฏิบัติตามกฎระเบียบโดยสมบูรณ์ในระหว่างเวลาที่ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนคิงส์สกูล ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ ทรงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าบ้านแมคอาเทอร์เฮาส์และได้ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างดีเด่น โดยเฉพาะในการฝึกทหาร

พุทธศักราช 2499-พุทธศักราช 2509 - ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่พระนั่งอุดร พระราชวังดุสิต และโรงเรียนจิตรลดา

มกราคม-กันยายน พุทธศักราช 2509 - ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์ มิด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ

พุทธศักราช 2509-พุทธศักราช 2513 - ทรงเข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตีท แคว้นซอมเมอร์เซทประเทศอังกฤษ

พุทธศักราช 2513-พุทธศักราช 2514 - ทรงเข้าศึกษาเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์สคูล ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

พุทธศักราช 2515-พุทธศักราช 2519 - ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา และทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (การศึกษาด้านการทหาร) คณะการศึกษาด้านการทหาร มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

พุทธศักราช 2520-พุทธศักราช 2521 - ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 56

พุทธศักราช 2527-พุทธศักราช 2530 - ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กรุงเทพฯ ประเทศไทย

มกราคม-ธันวาคม พุทธศักราช 2533 - ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร / ที่มาข้อมูล : หนังสือ 62 พรรษามหาวชิราลงกรณ

พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย


      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ไม่มีพระราชพิธีสถาปนาองค์รัชทายาทหรือมงกุฎราชกุมาร เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงมีพระราชโอรส การสืบราชสมบัติในรัชกาลที่ 7 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน จึงเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อพุทธศักราช 2467 พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ว่างเว้นมาเป็นเวลาถึง 78 ปี บัดนี้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าชิราลงกรณ ได้มีพระชนมายุ 20 พรรษาบริบูรณ์ ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายจึงกำหนดให้มีการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2515 ทางราชการได้กำหนดให้มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ในครั้งนี้ได้กำหนดพระราชพิธีอกกเป็น 3 อันดับ คือ
 

      พระราชพิธีอันดับแรกได้แก่ การจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามาภิไธย รวมทั้งพระราชสัญจรคือตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีนี้จัดทำขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เวลา 1 นาฬิกา 56 นาที

     พระราชพิธีอันดับที่สอง ได้แก่ พระราชพิธีเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งจัดทำ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกัน ในวันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 เวลา 15 นาฬิกา ในเวลา 16 นาฬิกา 30 นาที เป็นพระราชพิธีทักษิณานุปทาน ถวายสักการะ พระสยามเทวาธิราช และสดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระบรมราชบูรพการี พระราชพิธีนี้จัด ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

    พระราชพิธีอันดับที่สาม คือ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีนี้จะจัดขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมพระราชวังดุสิต ในวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 พระราชพิธีนี้จะเริ่มตั้งแต่เวลา 12 นาฬิกา 23 นาที เป็นต้นไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังขทักษิณาวรรตพระราชทานแต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพแตวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารบก ทหารเรือ ยิงปืนใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 21 นัด ขณะเดียวกันตามวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรรัวระฆังพร้อมกัน 3 ลา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 พระราชทานน้ำพระมหาสังข์แล้วจะได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏพระนามาภิไธย พระราชลัญจกร พระแสงดาบ และเครื่องราชอิสริยยศ ตามลำดับ

     พระราชพิธีนี้จัดขึ้นท่ามกลางมหาสมาคมอันประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน และคณะทูตานุทูต นอกจากนั้นในวันเดียวกันนี้ เวลา 15 นาฬิกา 30 นาที สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งพราหมณ์ได้ทิธีไว้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

     หลังจากวันสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ 29 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 เวลา 07:00 นาฬิกา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปยังพลับพลาพิธี ณ ท้องสนามหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงบาตรร่วมกับประชาชน ในโอกาสนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ ต่อมาในเวลา 16 นาฬิกา 30 นาที ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร ณ ศาลาสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตในตอนค่ำเวลา 18 นาฬิกา 30 นาที คณะรัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาตถวาย ณ ทำเนียบรัฐบาล

     ในโอกาสพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทางราชการจะได้จัดงานเฉลิมฉลอง คือ มีการตกแต่งพระนครเช่นเดียวกับวันเฉลิมพระชนมพรรษารวม 3 วัน ระหว่างวันที่ 27-29 ธันวาคม ทั้งนี้จะมีงานมหรสพฉลอง ณ ท้องสนามหลวง เช่นเดียวกับวันขึ้นปีใหม่และหน่วยราชการต่างๆ ก็จะได้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

      เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า จอมพลถนอม กิตติขจรหัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าสภาบริการคณะปฏิวัติได้ประชุมปรึกษาลงมติให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานให้ทรางสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ตามโบราณขัตติยราชประเพณี ทรงพระราชดำริพิจารณาแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” โดยอนุโลมตามขัตติยราชประเพณีที่เคยมีมาแล้ว และเมื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดการพระราชพิธีต่อไปนี้ / ที่มาข้อมูล : หนังสือ 62 พรรษามหาวชิราลงกรณ

ทรงผนวช
 

       สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.00 น. ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาลผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช / ที่มาข้อมูล : หนังสือ 62 พรรษามหาวชิราลงการณ
 
 
 
 

ทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

     สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับทราบวาระพิเศษเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ตามที่ ครม.แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นองค์พระรัชทายาทไว้แล้ว เตรียมกราบบังคมทูลเชิญขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป

     วันที่ 29 พ.ย.2559 ที่อาคารรัฐสภา เมื่อเวลา 11.00 น.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดประชุมครั้งที่ 76/2559 เป็นนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาระเบียบวาระตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรัฐมนตรี

     โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุม สนช.เพื่อพิจารณาวาระสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ในการรับทราบวาระเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ตามที่คณะรัฐมนตรีส่งให้ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ระบุไว้ในมาตรา 23 ว่ากรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยสืบราชสันตติวงศ์แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

    นายพรเพชร กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไป สนช.จะได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 2 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 23

     บทบัญญัติของหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ระบุว่า ให้บทบัญญัติของหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 ยังคงใช้บังคับต่อไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งมาตรา 23 ในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติไว้ว่า

     "ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ"

    ต่อจากนั้น นายพรเพชรได้ขอให้สมาชิก สนช.น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่

     “ในโอกาสอันเป็นมหามงคล ผมขอให้สมาชิกทุกท่านโปรดยืนขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระ หม่อมถวายพระพรชัยแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่” นายพรเพชรกล่าวให้สมาชิกสนช.ถวายพระพรพร้อมกัน จากนั้นสมาชิก สนช.พร้อมใจกันเปล่งเสียงว่า “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” ก่อนที่นายพรเพชรจะสั่งปิดการประชุมในเวลา 11.25 น.





พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      เพลงวันสงกรานต์
      สารมุทิตา จากคณะกรรมการที่ปรึกษา มูลนิธิมาลาลา เซเกรา ศรีลังกา เนื่องในวาระอายุวัฒนมงคล 80 ปี หลวงพ่อธัมมชโย
      สารมุทิตา จากประธานสหพันธ์พุทธนานาชาติ อินเดีย เนื่องในวาระอายุวัฒนมงคล 80 ปี หลวงพ่อธัมมชโย
      สารมุทิตา จากสมเด็จสังฆนายกบังคลาเทศ องค์ที่ 29 แห่งบังคลาเทศ เนื่องในวาระอายุวัฒนมงคล 80 ปี หลวงพ่อธัมมชโย
      สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง ประกาศผลสอบบาลีสนามหลวง ประจำปี 2567
      คำขวัญวันเด็ก 2567 รวมคำขวัญวันเด็กทุกปี
      โอวาทหลวงพ่อธัมมชโย เนื่องในวันเข้าพรรษา
      พระประวัติ "สมเด็จพระสังฆราช” องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
      โทษภัยของบุหรี่ ทำไมต้องมีกิจกรรมเทเหล้าเผาบุหรี่
      วัดพระธรรมกาย เชิญชวนประชาชน ร่วมสวดธรรมจักร ถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช ในเวลา 19.00 น. พร้อมกันทั่วโลก
      โครงการธัมมจักกัปปวัตตนสูตร [ประวัติความเป็นมาของโครงการ]
      วันสงกรานต์ 2567 ประเพณีวันสงกรานต์ ประวัติความเป็นมาวันสงกรานต์
      สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง ประกาศผลสอบบาลีสนามหลวง ประจำปี 2566




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related
เพลงวันสงกรานต์
   เพลงวันสงกรานต์ รูปภาพวันสงกรานต์สวยๆ การ์ดวันสงกรานต์ ประว..
(07 มี.ค. 2557)    ชม 18,497 ครั้ง
สารมุทิตา จากคณะกรรมการที่ปรึกษา มูลนิธิมาลาลา เซเกรา ศรีลังกา เนื่องในวาระอายุวัฒนมงคล 80 ปี หลวงพ่อธัมมชโย
  สารมุทิตา จากคณะกรรมการที่ปรึกษา มูลนิธิมาลาลา เซเกรา ศรีลัง..
(19 เม.ย. 2567)    ชม 0 ครั้ง