ชวนญาติให้มาทำบุญด้วยกัน แต่เขาไม่ยอมมา แต่ได้ฝากปัจจัยมาทำบุญด้วย เพราะเขาคิดว่า ตัวเองจะมาหรือไม่ อย่างไรก็ได้บุญ จะอธิบายให้เขาเข้าใจได้อย่างไร - หลวงพ่อตอบปัญหา

ฝากปัจจัยมาทำบุญ ต่างกับมาทำบุญด้วยตัวเอง หรือไม่ อย่างไร, ทำบุญแล้ว ต้องอธิษฐานหรือไม่, ทำไม ทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำ https://dmc.tv/a2343

บทความธรรมะ Dhamma Articles > หลวงพ่อตอบปัญหา
[ 13 ส.ค. 2550 ] - [ ผู้อ่าน : 18271 ]
 

 
โดย หลวงพ่อทัตตชีโว (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียง จาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
 
 
คำถาม:หลวงพ่อเจ้าค่ะ ลูกเคยชวนญาติมาทำบุญด้วยกันที่วัด แต่เขาไม่ยอมมาเจ้าค่ะ ได้แต่ฝากปัจจัยมาทำบุญด้วยทุกครั้ง เพราะเขาคิดเอาเองว่า ถึงตัวเขาจะมาหรือไม่มา เขาก็ได้บุญอยู่แล้ว เพราะเงินนั้นเป็นเงินของเขาเจ้าค่ะ ลูกจะอธิบายให้ญาติเข้าใจได้อย่างไรเจ้าคะ
 
คำตอบ:เจริญพร...ความจริง การที่ฝากเงินใครไปทำบุญ ถามว่า “ได้บุญไหม” คำตอบคือ “ได้บุญ” แต่ว่าได้เต็มที่หรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การที่ฝากเงินใคร ฝากของใคร ไปทำบุญ ถามว่า “บุญเกิดขึ้น หรือไม่” ตอบว่า “เกิด”  แต่เกิดมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้
 
1.ของที่เขาเอามาทำบุญ หรือเงินนั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยน้ำพักน้ำแรง หรือ เป็นทรัพย์บริสุทธิ์
2.เจตนาของเขา ต้องการจะทำบุญจริงๆ ไม่มีอย่างอื่นแอบแฝง เป็นเจตนาบริสุทธิ์
3.ตัวเขาก็เป็นคนมีศีล ก็ถือว่า เป็นบุคคลบริสุทธิ์
4.พระที่รับปัจจัยไทยธรรมที่เขาทำมา ก็ตั้งใจอยู่ในศีลในธรรมวินัยอย่างดี เป็นพระที่บริสุทธิ์
 
เมื่อ 4องค์ประกอบดังกล่าวพร้อมแล้ว ก็ถือว่า “ได้บุญ” ตรงนี้ชัดเจนลงไปก่อน แต่ว่าบุญที่เกิดขึ้นนั้น มันเป็นระยะๆ ตั้งแต่
 
1.เกิดเมื่อตอนคิดจะทำ แค่คิดก็เกิดแล้ว แต่เกิดไม่มาก
2.เมื่อลงมือทำ หรือกำลังทำ
3.เมื่อตอนตามระลึกถึง
 
พูดง่ายๆว่า บุญ นั้น เวลาเราทำ ไม่ใช่ว่า บุญจะเกิดแวบเดียวเหมือนฟ้าแลบ เวลาเราทำบุญ บุญจะไหลต่อเนื่องกันไป เหมือนอย่างกับสายน้ำ
 
แต่ว่ามีข้อแม้ กล่าวคือ เมื่อตอนคิดจะทำ พอคิดจะทำเราดีใจแล้วว่า เมื่อก่อนนี้อยากจะทำบุญ ปัจจัยหรือเงินไม่มีก็ไม่ได้ทำ หรือมีเงินมีทอง แต่หาพระที่เหมาะสมจะมารับบุญ รับทานตรงนี้ก็ไม่พบ วันนี้เราเองทรัพย์มี ปัจจัยมี เงินทองมี พระที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างดี ก็มาเป็นเนื้อนาบุญให้ องค์ประกอบมาครบแล้ว วันนี้ก็เลยฝากปัจจัยให้คนอื่นมาทำบุญ อย่างนี้ ได้บุญแล้ว
 
แต่ว่าเนื่องจากไม่ได้มาทำบุญด้วยตัวเอง ไม่ได้เห็นพระ เพราะฝากเขามาทำบุญ ความปลื้มใจ ขณะทำ มันจึงหย่อนไป  เพราะฉะนั้น บุญจึงเกิดแป๊บหนึ่ง เมื่อตอนส่งปัจจัยให้คุณมาทำแทน ที่เกิดแป๊บหนึ่งนั้นเหมือนฟ้าแลบ แล้วจากนั้นก็ไม่ได้มีภาพแห่งการทำบุญประทับอยู่ในใจ นึกภาพของพระก็ไม่ออก นึกภาพว่า ปัจจัยนั้นเอาไปทำอะไร ก็นึกก็ไม่ออก
 
แต่ว่าถ้ามาทำบุญด้วยตัวเอง ตั้งแต่ออกจากบ้านมา ใจก็นึกว่า “มาทำบุญ” ใจก็เป็นบุญเป็นกุศลตลอดระยะทางที่มา จากบ้านมาถึงวัด สมมุติว่า 1ชั่วโมง ใจนั้นเป็นบุญเป็นกุศลต่อเนื่องกันมาทั้งชั่วโมง อย่างนี้ บุญเกิดต่อเนื่องไหลเป็นสาย (ถ้าอยู่ที่บ้านตัวเอง ช่วงเวลาแป๊บหนึ่งที่บุญเกิดขึ้น ขณะที่ฝากปัจจัยให้มาทำบุญ พอหลังจากวินาทีนั้นแล้วมีเรื่องอื่นเข้ามาแทรกให้วุ่นวายไปหมด จึงได้บุญแค่เหมือนฟ้าแลบแป๊บเดียว)
 
พอถึงเวลาถวายปัจจัยด้วยมือตัวเอง ก็จะเห็นว่า พระรูปนี้ พระกลุ่มนี้ พระวัดนี้ ช่างมีจริยาวัตรงดงามดีเหลือเกิน ทั้งหมู่ ทั้งคณะ ทั้งวัด งามพร้อมกันหมดทั้งวัด แถมท่านยังเทศน์ให้ฟังเสียอีก แล้วท่านก็บอกด้วยว่า ทรัพย์นี้จะเอาไปทำอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น ท่านพรรณนา ท่านบรรยายสรรพคุณให้เสร็จ
 
สิ่งเหล่านี้ที่เราได้เห็น เสียงที่ท่านบอกเรา มันฝังเข้าไปอยู่ในใจ แล้วมันยังติดไปอีกนานแสนนาน เมื่อเป็นอย่างนี้ นึกถึงเมื่อไหร่ บุญก็เกิดขึ้นใหม่ เป็นสายขึ้นอีกแล้ว ภาพพระงามๆก็เกิด วัดงามๆ ก็เกิด สิ่งที่จะเอาไปสร้างก็รู้ มี Model ให้ดูเสียอีก มันประทับอยู่ในใจนาน ยิ่งกว่านั้น ผ่านจากวันนั้นแล้ว วันหลังกลับมาเยี่ยมก็นึกออกว่า วันนั้น เรามาทำบุญ สร้างสิ่งนั้น สิ่งนี้ เช่น เอามาสร้างเป็นอาคารเรียนของพระภิกษุสามเณร พอเห็น บุญเกิดต่อเนื่องทันที เกิดใหม่ขึ้นอีกแล้ว จากบุญที่เราเคยทำครั้งนั้น
 
แต่ว่า ถ้าตัวเองแค่ฝากมา ที่จะไหลเป็นสายต่อเนื่องนั้นไม่มีหรอก มันมีแวบเดียวเหมือนฟ้าแลบตอนที่ฝากเขามาทำบุญนั้น มันเลยน่าเสียดาย เพราะฉะนั้น วันหลังล่ะก็เวลาเขาจะฝากเงินมาทำบุญทำทาน ถ้าดูแล้วเขาก็พอมีเวลาว่างนะ คว้าข้อมือดึงขึ้นรถมาเลย ให้มาทำด้วยตัวเอง เขาจะได้บุญตั้งแต่คิดจะทำ ลงมือทำ และเมื่อตามระลึกถึง แหม...บุญสายนี้ไหลยาวเหยียดอย่างกับแม่น้ำเจ้าพระยานั่นแน่ะ แต่ถ้าไม่อย่างนั้น ฝากเขามาทำบุญ ก็จะได้บุญเหมือนได้น้ำค้างหยดไม่กี่หยด มันต่างกันเยอะ ไปคว้าข้อมือมาให้ได้นะ
 
แต่ว่าถ้าเขาไม่ว่างจริงๆ งั้นก็รับมาเถอะ มาทำแทนเขา แล้วก็ถ้าจะให้ดีนะ ถ่ายภาพ อัดเสียง ที่พระให้พร ภาพที่พระท่านรับปัจจัยเอาไปให้เขาดู ก็พอจะช่วยกันไปได้แหละคุณโยม ก็พอจะทำให้เขาได้บุญเพิ่มขึ้นอีกหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เท่าตัวเองมาทำบุญด้วยตนเอง
 
คำถาม:กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ขอเรียนถามหลวงพ่อว่า บางคนคิดว่า การทำบุญนั้นไม่ต้องอธิษฐาน เพราะถ้าอธิษฐานแล้วเชื่อว่า เป็นการโลภ หรือเป็นการหวังผลตอบแทนครั ไม่ทราบว่า จะแก้ความเข้าใจผิดตรงนี้ได้อย่างไรครับ
 
คำตอบ:หลวงพ่อก็เคยได้ยินอย่างนี้มานานแล้วเมื่อตอนเด็กๆ เขาว่า ทำบุญแล้วอธิษฐานรู้สึกว่า เป็นความโลภชนิดหนึ่ง เพราะหวังผลตอบแทน ตอนนั้น หลวงพ่อก็เชื่อเขานะ เพราะว่าเป็นผู้ใหญ่พูด
 
จนกระทั่ง มาเข้าวัดเต็มตัว โดยเฉพาะมาเจอคุณยายอาจารย์ของเรา คุณยายอาจารย์ตอบปัญหาเรื่องนี้ให้กับหลวงพ่อชัดเจนว่า ในทางโลกนั้น เวลาเขาจะสร้างบ้าน ยิ่งบ้านใหญ่เท่าไหร่ล่ะก็ ต้องมีพิมพ์เขียวนะ ถ้าไม่มีพิมพ์เขียวล่ะก็ ถึงเวลาไปสร้าง ประเดี๋ยวเถอะ สร้างไปรื้อไปทุบไปกว่าจะสร้างเสร็จยุ่งเลย แต่ว่าถ้ามีพิมพ์เขียวเสร็จเรียบร้อย จะสร้างบ้านรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ กว้างยาวเท่านั้นเท่านี้ มีกี่ห้องมีห้องน้ำห้องนอนเท่าไหร่ ว่าไป กำหนดไว้ชัดเจน ถึงเวลาก็สร้างตามนั้น โอกาสผิดพลาดยาก แต่ว่าโอกาสจะได้ผลดี และประหยัดเยอะ
 
สร้างบ้านต้องมีแผนฉันใด การทำบุญต้องมีแผนฉันนั้นเหมือนกัน ทำไม...ก็เพราะว่า เมื่อเราทำบุญแล้ว บุญนั้นย่อมเกิดแน่นอน แต่ว่า เมื่อบุญเกิดแล้ว เมื่อบุญจะส่งผล ถ้าไม่กำหนดทิศทางให้ดี อาจเป็นอันตรายกับตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่น เราทำทานไป ผลแห่งการทำทานนั้น จะทำให้ผู้ที่ทำทานนั้น วันใดวันหนึ่งก็จะรวยขึ้นมาได้ เมื่อรวยขึ้นมาแล้ว แต่ไม่ได้ตั้งผังไว้ให้ดี ว่ารวยแล้วจะใช้ทรัพย์ไปทำอะไร เพราะฉะนั้นบางคนถ้าพอรวยแล้วตกอยู่ในความประมาท เอาทรัพย์นั้นไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เอาไปเล่นพนันฟุตบอล อย่างนี้เรียกว่า หาบุญได้ ใช้บุญไม่เป็น ใช้บุญไปหานรกเสียด้วย ตรงนี้ต้องระวัง
 
แต่ว่า เมื่อเราทำบุญทำทาน เรารู้แล้วว่า วันหนึ่งจะรวย ตั้งผังไว้เลยว่า ถ้าเรารวยเมื่อไหร่ ขอให้เรานั้นสามารถใช้ทรัพย์ในทางที่ถูกที่ควร ตั้งแต่เอาทรัพย์นั้นไปใช้สร้างฐานะให้ยิ่งขึ้นไป เอาทรัพย์นั้นไปบำรุงพระศาสนา เอาทรัพย์นั้นไปตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ เลี้ยงดูท่านให้ดี หรือเอาทรัพย์นั้นไปทำในสิ่งที่ถูกที่ควรอย่างไรต่อไปอีก
 
พูดง่ายๆ คือ เอาคำอธิษฐานนั้นเป็นแผนงานระยะยาว ที่จะประกอบความดีต่อไป เอาบุญที่ทำได้นั้นมาเป็นงบประมาณ เมื่อมีทั้งแผน มีทั้งงบประมาณ โอกาสจะพลาดมันยากเสียแล้ว เมื่อเราทำบุญเราอธิษฐานเป็นเรื่องของการสร้าง Project (โครงการ) ไว้รอข้างหน้าแล้ว ตอนนั้น ใจกำลังเป็นบุญ Project นี้ดีแน่นอนเลย ให้อธิษฐานเข้าไป อย่ากลัว ไม่พลาดแน่
 
แต่มีหรือไม่ที่เขาอธิษฐานกันผิดๆ จะเล่าตัวอย่างให้ฟัง กล่าวคือ มีผู้หญิงคนหนึ่ง ได้อธิษฐานผิดๆ ทำบุญทำทานกี่ครั้งๆ ก็อธิษฐานว่า “ด้วยอำนาจบุญทานนี้ ให้เกิดมาสวย สตรีใดๆในโลกสู้ไม่ได้ คิดจะเป็น Miss Universe แม้ชายใดได้เห็นให้งงงันไปหมด” เจ้ากรรม...ถึงเวลาเข้า เธอก็สวยจริง ใครๆได้เห็นเธอ เขาก็งงงันไปหมด มีอยู่วันหนึ่ง ทหารทั้งกองทัพ ทั้งกองร้อยไปซ้อมรบกลับมา ไปเจอเธอเข้า มันงงงันกันหมด เลยมันแย่งเธอกัน พระราชาจึงต้องตั้งเธอคนนั้นไว้ในตำแหน่งของกลาง คือ กลายเป็นโสเภณีประจำเมืองไป
 
นี่ก็เป็นเรื่องของการอธิษฐานผิดๆ คือ อธิษฐานด้วยอำนาจของกิเลส พอถึงเวลามันก็ส่งผลออกมาเสียๆหายๆ อย่างนี้
 
แต่ว่าถ้าจะอธิษฐานให้ถูก ยกตัวอย่างของมหาอุบาสิกาวิสาขา ในชาติอดีต เมื่อทำบุญทำทานแล้ว ท่านก็อธิษฐานว่า “ด้วยอำนาจทานที่ข้าพเจ้าทำนี้ ข้าพเจ้าจะบังเกิดในภพชาติใดๆ ขอให้สมบัติเกิดขึ้นมาไหลมาเทมาอย่างคลื่นในมหาสมุทร แล้วให้เอาทรัพย์นั้นมาบำรุงพระสงฆ์องค์เจ้าทั้งแผ่นดิน ใครมาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ให้เลี้ยงให้ได้หมด มามากเท่าใด มาเป็นร้อย เป็นล้าน ขอให้เลี้ยงได้หมด พระสงฆ์องค์เจ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมมีมากเท่าไหร่ เลี้ยงให้ได้หมด”
 
นี่ยกตัวอย่างนะ อย่างนี้ตั้ง Project ตั้ง program ดีเหลือเกิน ท่านทำของท่านมาในทำนองนี้ เพราะฉะนั้นในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าของเรา ท่านจึงได้มาบังเกิดเป็นมหาอุบาสิกา ที่บำรุงพระ บำรุงผู้มีศีลมีธรรม อย่างดีเยี่ยม
 
การอธิษฐานมีความสำคัญอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “การอธิษฐานนั้น เป็นหนึ่งในบารมีทั้ง10 ของพระองค์” เพราะช่วยให้พระองค์ท่านสามารถบำเพ็ญบารมี หรือสร้างความดีอย่างรัดกุม ไม่มีผิดไม่มีพลาด
 
คุณโยม...นับแต่นี้ไป อธิษฐานทุกครั้งนะ แต่อย่าไปอธิษฐานผิดๆนะ ให้หล่อๆ รวยๆ แล้วมีแม่บ้านเยอะๆ...ไม่เอานะ แต่ถ้าขอหล่อๆ ขอแข็งแรง หากได้ลักษณะมหาบุรุษยิ่งดี ไม่ว่าสตรีไม่ว่าชายใดได้เห็น ให้ออกบวชตามข้าพเจ้าให้หมดเลย อย่างนี้...ดีจริงๆ
 
คำถาม:ขอกราบเรียนถามหลวงพ่ออีกคำถามนะครับ ทำไมเวลาทำบุญต้องกรวดน้ำด้วยครับ ไม่ทราบว่า ธรรมเนียมการกรวดน้ำมีที่มาที่ไปอย่างไรครับ แล้วถ้าลืมกรวดน้ำจะมีผลอย่างไรบ้างครับ
 
คำตอบ:คุณโยม...ประเพณีกรวดน้ำนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาลทีเดียว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนให้พระเจ้าพิมพิสาร ผู้สร้างวัดแรกในพระพุทธศาสนา ให้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติของพระองค์ท่านในอดีต เป็นญาติในอดีตชาติ ซึ่งเมื่อละโลกไปแล้ว ญาติเหล่านั้นไปเกิดเป็นเปรต แล้วก็มารอรับส่วนบุญอยู่เป็นพุทธันดรเลย
 
เนื่องจากว่า พระเจ้าพิมพิสารระลึกชาติไม่ได้ พระองค์ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ญาติของพระองค์เองในอดีตชาติ มาเป็นเปรต มาเป็นอะไรไม่รู้ ไม่รู้ว่า เขามารอรับส่วนบุญส่วนกุศลเป็นพุทธันดรแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อท่านทำบุญแล้ว ท่านก็เลยไม่ได้อุทิศส่วนกุศลให้ ญาติที่เป็นเปรตก็เลยยังเป็นเปรตต่อไป
 
ทีนี้ ญาติเหล่านั้นเป็นทุกข์หนัก ก็เลยปรากฏตัวให้เห็นว่าตัวเองเป็นเปรต ส่งเสียงร้องโหยหวนอยู่ในวัง พระเจ้าพิมพิสารเห็นเข้า รีบไปกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เพราะสาเหตุใดกัน เปรตจึงมาร้องลั่นอยู่เต็มวัง
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเล่าเรื่องหนหลังให้ฟังว่า เปรตเหล่านั้น คือ ญาติในอดีตชาติของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อในอดีตชาติพระองค์ทำบุญทำทานตั้งโรงทาน เลี้ยงพระเลี้ยงมหาชน แต่ว่าญาติเหล่านี้ไม่มีกุศลศรัทธา จึงมายักยอกเอาของที่จะถวายสงฆ์นั้น ไปใช้เป็นของตัวเอง ไปกินเป็นของตัวเอง ละโลกไปแล้วจากชาตินั้น จึงต้องมาเกิดเป็นเปรต
 
แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแนะ ให้พระเจ้าพิมพิสารทำบุญเลี้ยงพระ แล้วก็หลังจากนั้น ก็กรวดน้ำอุทิศบุญส่งให้กับเปรตเหล่านั้น พวกเปรตเหล่านั้น พอได้รับอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเท่านั้น ก็กลายสภาพไปเป็นเทวดา ไปเป็นนางฟ้า ทันทีด้วยอำนาจบุญ
 
ทีนี้ถามว่า “ถ้าทำบุญแล้วไม่อุทิศส่วนกุศล ตัวเองจะได้บุญหรือไม่” ก็ต้องบอกว่า “จะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล หรือไม่กรวดน้ำ ถึงอย่างไร เราก็ได้บุญของเราอยู่แล้ว” นี้เป็นส่วนที่เราต้องได้แน่ๆเลย อันนี้ต้องเข้าใจให้ชัดเจน
 
แต่ถ้ากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแล้วมันดีอย่างไร...ดีตรงที่ว่า เรากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ใคร ก็จะทำให้ผู้นั้นพลอยได้รับส่วนบุญส่วนกุศลนี้ แล้วก็พลอยเป็นสุข เช่นเดียวกับเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร แต่ปัญหาก็คือ เวลาเราอุทิศส่วนกุศลอย่างที่ว่านั้น ด้วยการกรวดน้ำนั้น ทำอุปมาในใจว่า “สายน้ำที่เรารินลงไปนั้น อุปมาว่าเหมือนสายบุญ”
 
ทีนี้ เมื่อเราอุปมาในใจไปอย่างนั้นแล้ว ถามว่า “บุญเราไม่พร่องไม่หกไปหมดหรือ” กว่าจะทำบุญได้ มันก็ยากนะ ยุคนี้ก็ยุคเศรษฐกิจรัดตัวอยู่ กว่าจะได้เงินมาทำบุญนี่ก็ยาก แล้วเที่ยวอุทิศให้ใครต่อใคร แล้วบุญของเราจะไม่หมดไปหรือ ก็ตอบได้บอกว่า “ไม่หมดหรอก” 
 
ที่ว่า “บุญของเราไม่หมด” ลองฟังอุปมานี้ กล่าวคือ ถามตัวเองดูก็ได้ว่า ถ้าเราปลูกกล้วยไม้มาสักกระถางหนึ่ง เจ้ากล้วยไม้นี้พอถึงเวลาเข้า ก็ออกดอกสวย กลิ่นก็หอม ครั้นเราจะเอาไว้ดมคนเดียวหอมๆ ดูคนเดียวสวยๆ เอาไว้ในห้องนอนของเราเพียงลำพัง กับการที่เอาไปตั้งไว้กลางห้องรับแขก แล้วก็ชักชวนพรรคพวกเพื่อนฝูง ญาติสนิทมิตรสหายมาดูกล้วยไม้สวยๆของเรานี้ แล้วมาช่วยกันดมความหอมนี้ พอชวนเขามาเสียเต็มบ้านเลยตั้ง 10คน 20คน
 
ถามว่า “พอคนที่เราชักชวน เขามาแล้ว เขาเห็นความสวยของกล้วยไม้ เขาชื่นใจไหม” ตอบได้ว่า “ชื่นใจ 10คน 20คน ก็ชื่นใจด้วยกันทั้งนั้น พอได้กลิ่นเข้า มันก็หอมด้วยกันทั้งนั้น” ถามต่อไปว่า “ญาติทั้ง 10คน 20คนนั้น เมื่อมาดมกล้วยไม้ของเราแล้ว จะทำให้กล้วยไม้ของเราลดความสวยลงไปหรือไม่”  ตอบได้ว่า “ไม่” 
 
บุญที่เราอุทิศให้กับใครต่อใครนั้น ญาติกี่โกฏิกี่กัปของเรา...มันก็แปลกนะ บุญของเราจะไม่พร่องไป เมื่อผู้ที่เราอุทิศบุญให้ได้รับบุญที่เราอุทิศส่วนกุศลให้เท่านั้น...ชื่นใจขึ้นมา ความทุกข์มันคลาย พอความทุกข์มันคลาย จึงนึกได้ถึงความดี นึกถึงบุญในอดีตที่ตัวสร้างไว้ได้ พอนึกได้เท่านั้น บุญเก่าจะมาบรรจบกับบุญใหม่ที่ได้รับอุทิศส่วนกุศลไปให้
 
จากตัวอย่างของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อญาติของพระองค์ได้รับบุญที่พระองค์อุทิศไปให้ เมื่อบุญเก่ามาบรรจบกับบุญใหม่ที่ได้รับอุทิศส่วนกุศลไปให้ ดังที่กล่าวมาแล้ว สภาพเปรตจึงหลุดไปเลย เกิดใหม่กลายเป็นเทวดานางฟ้าไปในทันที
 
เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลเป็นเรื่องของคนใจใหญ่ คนมีจิตใจเมตตากรุณา เพราะฉะนั้นปู่ย่าตาทวดถึงไม่ยอมพลาดเลย ไหนๆก็ได้บุญใหญ่แล้ว ทำไมไม่ทำใจให้มันใหญ่เพิ่มไปอีก ว่าแล้วก็คว้าขันน้ำขันเบ้อเร่อ กรวดน้ำกันไปเชียวแหละ
 
ทำบุญทุกครั้ง กรวดน้ำให้ได้ทุกครั้ง แต่ก็ถ้าบางทีหาน้ำไม่ได้ ให้ทำใจให้นิ่ง ให้ใส ยิ่งสว่าง ทั้งใส ทั้งสว่าง จนกระทั่งเห็นสายบุญด้วยล่ะก็ ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องใช้น้ำเลย สายบุญนี้ให้ตรงดิ่งไปหาผู้ที่เราต้องการให้ถึง อย่างนั้น ไม่ต้องใช้น้ำในคนโท ในขันแล้ว น้ำใจที่งามๆส่งถึงเลย อย่างนี้ก็ใช้ได้อีกเหมือนกัน ถ้าส่งบุญถึงเลย เหมือนต่อเทียน ต่อไฟ ถึงเลย มันดีจริงๆ...ทำไปเถอะนะ...ทำไป

http://goo.gl/RgA4X

     
Tag : เปรต  เทวดา  อุบาสิกา  อาจารย์  หลวงพ่อตอบปัญหา  หลวงพ่อ  ศรัทธา  ภพชาติ  พระพุทธเจ้า  พระพุทธศาสนา  พนัน  ปัญหา  ปัจจัย  ปฏิบัติธรรม  บุญ  บารมี  นรก  ทุกข์  ทำทาน  คุณยายอาจารย์  

พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทำอย่างไรจึงจะไม่ท้อไม่เหนื่อยในการทำงาน
      สาเหตุที่ทำให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
      "สังคมเปลี่ยนไป" แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตามพระพุทธศาสนามีคำแนะนำอย่างไร ?
      หลักการขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม
      คำสอนของวัดพระธรรมกายถูกต้องตามแนวทางคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาหรือไม่
      อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก
      การสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์มีส่วนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างไร
      ทำไม ? จีวรต้องเป็นสีเหลือง
      เราจะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร ?
      เราจะปลูกฝังให้ลูกหลานทำหน้าที่ชาวพุทธให้สมบูรณ์ได้อย่างไร ?
      เราควรจะเลือกทำงานด้วยทัศนคติอย่างไรที่จะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
      การเกิดขึ้นของนิสัยดี นิสัยชั่วมีที่มาอย่างไร
      การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้เหมาะสมแก่การฝึกสมาธิและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงธรรม




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related