Jump to content


Photo
* * * * * 1 votes

เรื่องเล่าวันเข้าพรรษา 2556 วันที่ 4 การบวชเป็นภูมิอันยิ่งใหญ่


  • You cannot start a new topic
  • Please log in to reply
No replies to this topic

#1 ทัพพีในหม้อ

ทัพพีในหม้อ
  • Moderators
  • 3,279 posts
  • Gender:Male

Posted 01 August 2013 - 10:31 AM

 
การบวชเป็นภูมิอันยิ่งใหญ่
 
 
luang-phor-dhammajayo-dmctv.jpg
พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
 
        วันนี้วันที่ 4 ของการเข้าพรรษา พรรษานี้ชื่อ พรรษาแห่งการบรรลุธรรม พระเห็นพระ เณรเห็นพระ โยมเห็นพระ เราจะนับกันไปเป็นวัน ๆ ไปเลย เพราะเรามีเวลาจำกัดแค่ 90 วันพระบวชใหม่ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเป้าหมายของการบวช มักจะชอบดูปฏิทินว่า เหลืออีกกี่วันจะออกพรรษา แสดงว่าท่านยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการบวชเท่าไรนักการบวชเป็นภูมิอันยิ่งใหญ่ เฉพาะสำหรับผู้มีบุญเท่านั้น เพราะการเกิดมาเป็นมนุษย์มีวัตถุประสงค์เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคนในโลกไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาและเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม
 
ถ้ายังทำพระนิพพานให้แจ้งไม่ได้ ชีวิตของเราก็จะต้องตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมเรื่อยไป ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ผู้รู้ท่านไปรู้ไปเห็นมาด้วยธรรมจักษุและญาณทัสนะ เห็นว่าในวัฏสงสารมีภัยมาก มีอันตรายมาก แต่ผู้ไม่รู้นี่ ไม่ค่อยจะกลัวกัน หรือผู้ที่สั่งสมอกุศลธรรมล้วน ๆ ก็ไม่ค่อยกลัว ที่ไม่กลัวเพราะไม่รู้ อย่างนี้อันตราย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไม่ทำพระนิพพานให้แจ้ง ชีวิตก็ยังตกอยู่ในอันตรายมาก ทั้งในปัจจุบันและในอบายภัยในอบาย เรามองไม่เห็น เพราะอวิชชาเข้ามาบังคับครอบงำ แล้วตรึงให้ไปติดกับกะโหลกกะลาสารพัด ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ใจก็ยิ่งหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น จึงไม่มีเวลาและอารมณ์ที่จะมาศึกษาความรู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ตรงนี้อันตราย การทำพระนิพพานให้แจ้งจึงมีความสำคัญมากๆ
  
        ครูไม่ใหญ่ต้องตอกย้ำบ่อย ๆ อย่าเบื่อกันนะในคำซ้ำ ๆ ซาก ๆ เหล่านี้เพราะเรามักจะลืมกันอยู่เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นต้องทำพระนิพพานให้แจ้งแต่โอกาสที่จะทำพระนิพพานให้แจ้งในเพศฆราวาสนั้นยาก ถ้าจะแจ้งได้ต้องอุดมไปด้วยศีล สมาธิ(Meditationปัญญา สามอย่างนี้ทำได้ยากในเพศฆราวาสแต่ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้นะ แต่ทำได้ยากกว่า เพราะฆราวาสต้องทำมาหากิน และมีเครื่องกังวลสารพัดไปหมด เพศนักบวชเป็นเพศที่ปลอดกังวลเพราะไม่ต้องทำมาหากิน ทำแต่ศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดขึ้น มีโอกาสทำหยุดทำนิ่งให้ใจใส ๆ จะได้ไปพระนิพพานได้เร็วเข้า วัตถุประสงค์ของการบวชก็เพื่อการนี้
 
 
บวชแล้วต้องปฏิบัติธรรม

       ถ้าบวชแล้วไม่ได้ทำสมาธิ ไม่ได้ฝึกใจให้หยุดนิ่ง การบวชนั้นก็ลำเค็ญทุกข์ทรมาน กว่าจะผ่านแต่ละวันแต่ละคืนต้องดูปฏิทินดูแล้วดูอีก เพราะบวชอย่างไม่มีเป้าหมาย แต่ถ้าบวชอย่างมีเป้าหมายก็ดูปฏิทินเหมือนกัน แต่คิดกันคนละอย่าง จะรู้สึกเสียดายวันเวลาว่า เหลืออีกไม่กี่วันก็จะออกพรรษาแล้วทำอย่างไรเราถึงจะหยุดนิ่งได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ทำอย่างไรถึงจะทำพระนิพพานให้แจ้งได้
 
ถ้าบวชแล้วไม่ปฏิบัติธรรม ไม่ทำสมาธิ มัวใช้เวลาไปคุยกันเรื่องทางโลก หรือทำกิจคล้าย ๆ กับชาวโลกที่เขาทำกันอยู่ อย่างนี้เสียเวลาบวช บวชก็ไม่เกิดประโยชน์ บวชแล้วต้องปฏิบัติธรรม ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้ถูกหลักวิชชาเราต้องปฏิบัติธรรมทุกวัน ให้ได้สุขจากสมาธิ ซึ่งเป็นสุขที่แตกต่างจากความสุขทางโลกที่เราเคยเจอ ต้องนั่งแล้วมีความสุข แม้เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้เรามีกำลังใจอยากจะนั่งต่อไป และจะเริ่มเห็นคุณค่าของการเป็นนักบวชจากการที่ได้สุขจากสมาธิสุขที่เกิดจากสมาธิ เป็นสุขที่ไม่ซ้ำกันเลย เป็นสุขที่ยิ่งใหญ่ เป็นอิสระกว้างขวางใหญ่โตขึ้นไปเรื่อย ๆ ที่ชาวโลกยากจะเข้าใจ
 
แต่ถ้าหากใครยังเข้าไม่ถึงตรงนี้ก็ยากที่จะเข้าใจ สุขเหล่านี้มีอยู่แล้วในตัวของเราทุกระดับทั้งปริมาณและคุณภาพของความสุข มีอยู่ในตัวเรานี่แหละ ไม่ได้อยู่นอกตัวขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปถึงตรงไหน ระดับไหนสุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่งในระดับหนึ่ง ก็ลิ้มรสความสุขความเอร็ดอร่อยระดับนั้น ยิ่งหยุดในหยุดหนักเข้าไปอีก สุขในระดับที่ลึกละเอียดและกว้างขวางกว่าที่ไม่ซ้ำกัน รสชาติก็เอร็ดอร่อยเพิ่มขึ้น มันมีวิตามินเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ มีโอชารสในการนั่ง อร่อยจริง ๆ ยิ่งนั่งแล้วมันสว่างไสว หลับตาแล้วไม่มืดเราจะเห็นคุณค่าของการบวช เราจะหวงแหนวันเวลาที่ผ่านไปในเพศนักบวชมากเลย
 
     ถ้าได้สุขที่เกิดจากสมาธิ ยิ่งเห็นพระในตัว พระเห็นพระ อยากให้เวลาในพรรษายืดไปอีกสักล้านปี ความรู้สึกเราจะเป็นอย่างนั้นเลย เมื่อเราเข้าถึงจุดตรงนั้นเพราะฉะนั้น ใครได้มาบวช ควรจะปีติและภาคภูมิใจว่าเรามีบุญมากได้อยู่ในเพศเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นเพศอันบริสุทธิ์ พระองค์ผ่านชีวิตมาทุกระดับแล้วในสังสารวัฏ แล้วก็สรุปบทเรียนของชีวิตว่า ชีวิตนักบวชเป็นชีวิตที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ชีวิตที่ไม่ใช่นักบวชยังไม่ถูกต้อง ยังไปติดกะโหลกกะลา จะรู้ว่าถูกต้องต่อเมื่อเราได้เข้าถึงองค์พระภายในนั่นแหละจะเข้าใจตรงนี้ได้อย่างดี แล้วจะปลื้ม บุญนี้ก็จะเกิดขึ้นกับเรา กับโยมพ่อโยมแม่ เท่ากับจูงโยมพ่อโยมแม่เข้ามาเป็นญาติของพระพุทธศาสนา
 
 
บุญบวชช่วยพยุงโยมพ่อโยมแม่

        เมื่อเรามาบวช โยมพ่อ โยมแม่ก็จะได้ชื่อว่า เป็นญาติของพระศาสนา คำว่าเป็นญาติของพระพุทธศาสนา นี่สำคัญนะ แม้อดีตยักษิณีที่เคยเป็นมารดาของสามเณรสานุ *ในชาติก่อน ๆ โน้น ยังได้รับการยกย่องจากเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ที่มีบุญมาก รัศมีมาก ทั้ง ๆ ที่ตัวเป็นยักษิณี และเป็นยักษ์ชั้นล่างด้วย ยังได้รับเกียรติยกย่องหลีกทางให้ เวลาจะมาฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งปกติจะต้องเรียงกันตามลำดับรัศมี ตามกำลังบุญ มีรัศมีมากก็จะอยู่ใกล้ ๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รัศมีลดน้อยถอยลงก็อยู่ถัด ๆ ไป

* มหามกุฏราชวิทยาลัย, “เรื่องสานุสามเณร” พระสูตร และอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย
คาถาธรรมบท เล่ม ๔๓, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓) ข้อ ๒๓๖,
หน้า ๒๔๕-๒๕๑.

        เพราะฉะนั้น ถ้าหากบวชเป็นพระเป็นเณรแล้วตั้งใจประพฤติดีปฏิบัติชอบ โยมพ่อโยมแม่ก็จะได้ชื่อว่าเป็นญาติพระศาสนา และจะได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ในการฟังธรรม หรือจะไปไหนมาไหนเขาก็จะเปิดทางให้ จะมีการพูดคุยยกย่องว่า นี่เป็นโยมพ่อโยมแม่ของพระรูปนั้น สามเณรรูปนั้น เพราะฉะนั้นบวชเป็นพระเป็นเณรแล้วอานิสงส์ยังไปถึงท่านเหล่านั้นแล้วบุญที่บวชพระลูกชาย สามเณรลูกชาย ยังช่วยพยุงชีวิตของโยมพ่อโยมแม่ไม่ให้ตกต่ำไปมาก หากท่านพลาดพลั้งไปทำบาปอกุศลโดยที่จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม บุญนี้ก็จะช่วยพยุงท่านทั้งสองเอาไว้ ไม่ให้ไปอบายที่ลึก คือยกให้สูงขึ้น
 
      เพราะฉะนั้น ชีวิตนักบวชจึงเป็นชีวิตที่สูงส่ง เราควรปีติภาคภูมิใจมาบวชแล้วต้องตั้งใจเป็นพระแท้ สามเณรแท้ และตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่เลย
 
 
ดูเฉย ๆ

       เมื่อบวชแล้วควรทำอย่างไร ปฏิบัติให้ได้เข้าถึงพระ ง่วงก็ปล่อยให้หลับเมื่อยก็ขยับ ฟุ้งก็ลืมตา แล้วก็ว่ากันใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ช้าใจก็จะค่อย ๆ ถูกปรับให้เข้าไปอยู่ภายใน จะค่อย ๆ คุ้นกับศูนย์กลางกายไปเรื่อยๆ บางช่วงอาจจะมีแสงสว่างหรือนิมิตเกิดขึ้น คือมีภาพเกิดขึ้นมา ทางซ้ายบ้าง ทางหน้า ทางหลัง ทางล่าง ทางบน จะมาทางไหนก็แล้วแต่ ให้เล่นตัวเอาไว้ ถ้าไม่มาที่ศูนย์กลางกาย ไม่สน เรารักษาใจตรงกลาง พอนิ่งมาใหม่อีกแล้ว ซ้าย ขวา หน้า หลัง ล่าง บน เป็นดวงดาวเล็ก ๆ บ้าง เป็นภาพโน่น ภาพนี่ ภาพอะไรก็แล้วแต่ อย่าไปชำเลืองดู แม้อยากจะดูใจแทบขาด ให้เฉย ๆ นิ่ง ๆ ไว้ถ้าเราเหล่ตาเหลือบไปดู พอไปดูปั๊บ อ้าว หายอีกแล้ว เพราะฉะนั้นให้เล่นตัว ทำเฉย ๆ นิ่ง ๆ ตรงกลาง แม้ตรงกลางมืด ไม่มีอะไรให้ดูก็ตาม เราก็ดูความมืดเอาไว้ ดูเฉย ๆ ทีนี้บางทีภาพมันมากลางท้อง แต่ไม่ใช่ภาพที่เราต้องการ
 
Dhammakaya-Article-3.jpg
 
     เพราะเราต้องการดวงใส ๆ องค์พระใส ๆ แต่ภาพที่เกิดขึ้นสมมติเป็นภาพต้นไม้ภูเขาเลากา เป็นมด เป็นแมว หรือภาพอะไรเกิดขึ้นก็แล้วแต่ ให้ดูเฉย ๆ นิ่ง ๆ ดูไปงั้น ๆ สักแต่ว่าดู ไม่ต้องไปเพ่ง ไปไล่เดี๋ยวภาพนั้นก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แม้เปลี่ยนไปเป็นองค์พระ จะทำด้วยอิฐ ด้วยหิน ด้วยปูน ด้วยทราย ด้วยโลหะอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวเล็ก เดี๋ยวใหญ่เดี๋ยวหันหน้ามาทางเราบ้าง เอียงข้างบ้าง บางทีหกคะเมนตีลังกาบ้าง ก็ให้ดูเฉย ๆ ดูไปงั้น ๆ ไม่ต้องไปคิดอะไร เหมือนนกบินมาในอากาศ เมฆลอยบนท้องฟ้า เราก็ดูไปเรื่อยๆให้ดีใจไว้เถิดว่า การที่ภาพเกิดแสดงว่าสมาธิเราดีขึ้นไปในระดับหนึ่งแล้ว ใจเราละเอียดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นจึงยังไม่ได้ภาพที่ต้องการ สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือ ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้นเดี๋ยวภาพนั้นก็จะเปลี่ยนไป จนกระทั่งใจเราหยุดนิ่งได้สมบูรณ์ เห็นดวงเห็นกาย เห็นองค์พระผุดขึ้นมาทีละองค์ ตอนนี้จะมีความสุขมากเลย แล้วความรู้สึกที่อยากจะแบ่งปันความสุขจะเกิดขึ้นเองเลย


 

ความทุกข์ของผู้ชะล่าใจ


       ใครที่มาถึง ณ จุดตรงนี้ ที่องค์พระผุดขึ้นมาทีละองค์ หรือยังไม่ผุดขึ้นมาก็แล้วแต่ จงหวงแหนสิ่งที่มีคุณค่านี้ให้ยิ่งกว่าชีวิตของเรา เพราะสิ่งนี้จะเป็นที่พึ่งของเรา จะปิดประตูอบาย เปิดประตูสวรรค์ อบายไม่ต้องไปเลย มีแต่สุคติเป็นที่ไป และก็จะมีสุขในปัจจุบันที่ได้เข้าถึงที่ต้องเตือนอย่างนี้ เพราะว่ามีหลาย ๆ ท่าน บุญเก่านำมาให้ถึงจุดที่หยุดนิ่งในระดับที่ผุดขึ้นมาทีละองค์ ก็เลยนึกว่ามันง่าย เกิดความชะล่าใจว่าจะทำเมื่อไรก็ได้ ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นกับผู้มาใหม่ ที่ยังไม่เคยปฏิบัติธรรมเลย ใจยังอินโนเซ้นท์อยู่ เรื่องไม่มากเหมือนผู้มาก่อนที่รู้มากก็เลยยากนาน
 
      แต่ทีนี้ผู้มาใหม่พอได้ถึงตอนนี้ มักจะชะล่าใจว่าจะทำเมื่อไรก็ได้ แล้วก็ทอดธุระไม่ฝึกต่อ ไม่รักษา ไม่หวงแหนเอาไว้ ในที่สุดองค์พระที่เห็นก็เลือนหายไปจากใจ แต่จริงๆ ท่านไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ในกลางกายเหมือนเดิมเป็นแต่เพียงใจของบุคคลนั้นถอยหยาบออกมา เพราะในชีวิตประจำวันมีเรื่องที่ทำให้ใจหยาบอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งตื่น ทั้งหลับ ทั้งฝัน มันก็พร้อมที่จะดึงใจเราออกมาตลอดเวลาพอดึงใจออกมาก็หลุดเลย เพราะมัวแต่ไปเพลินทำอย่างอื่น ซึ่งก็ไม่ได้มีความสุขหรอก แต่พอบุญเก่าสะกิดเตือนใจหรือเมื่อเจอกัลยาณมิตรพูดถึงเรื่องที่ตัวเคยได้ หรือไปสะกิดใจ เออ นี่เธอยังเห็นองค์พระอยู่ไหม ให้รักษาไว้นะ เอาล่ะสิ ตอนนี้พยายามจะมองให้เห็น มันก็ไม่เห็นแล้ว เพราะว่าใจไม่ละเอียดเหมือนเดิม มันปนความหยาบความตั้งใจไปโดยไม่รู้ตัว

        นี่คือความทุกข์สำหรับผู้ที่ชะล่าใจ แล้วก็จะพร่ำเพ้อรำพึงรำพันว่าตอนโน้นเคยได้อย่างนั้นอย่างนี้ เวลานั่งทุกทีก็อยากได้ถึงตรงนั้น อยากมาก ๆ เข้าก็เลยไม่สมอยาก ก็เข้าไม่ถึง ดังนั้น ใครได้ถึง ณ จุดตรงนี้ เห็นองค์พระใส ๆ ขึ้นมาแล้ว จงรู้ไว้เถิดว่าเราเป็นผู้มีบุญ ได้เห็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดในชีวิต ให้รักษาและหวงแหนเอาไว้ยิ่งกว่าชีวิต สิ่งนี้จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกของเราอย่างแท้จริง นอกจากให้ความสุขและความบริสุทธิ์แล้ว ต่อไปเมื่อเราทำให้คล่อง ให้ชำนาญ ให้ผุดขึ้นมาทีละองค์ จนกระทั่งทำได้ตลอดเวลาเลย เราก็มีสิทธิ์ที่จะไปศึกษาวิชชาธรรมกายในขั้นละเอียด ตั้งแต่ขั้นประถม มัธยม อุดม เตรียมอุดม และอุดมศึกษาเรื่อยไปเลย ซึ่งจะทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวความจริงของชีวิตที่ยังเป็นความลับสำหรับตัวเราจะถูกเปิดเผย
 
        เมื่อถึงจุดที่เราได้ไปศึกษาวิชชาธรรมกายแล้ว เราจะอัศจรรย์ใจตัวเราเองว่า คนอย่างเรานี่ก็เข้าถึงได้อย่างเขาเหมือนกันนะ แล้วก็จากความอัศจรรย์ก็จะเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อก่อนเราก็ทึ่งว่าคนอื่นเขาทำได้ แต่พอเราเข้าถึงจริง ๆ แล้ว และทำจนชำนาญก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เหมือนเราหายใจเข้าหายใจออกอย่างนี้แหละ ไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งใจว่า เดี๋ยวฉันจะเข้า เดี๋ยวฉันจะออก เราก็หายใจตามปกติ หรือเราจะดูอะไรก็แล้วแต่เราก็แค่ลืมตาดู เห็นต้นไม้ เห็นภูเขา การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน พอถึง ณ จุดตรงนั้นแล้ว เราได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายในตัวแล้ว เดี๋ยวเราจะ rewind เทปชีวิตก็ได้มันก็เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่เราทำได้สิ่งนี้มีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคน แต่มนุษย์ไม่ค่อยเฉลียวใจเลยว่า เรามีสิ่งที่ดี ๆ ที่น่าอัศจรรย์ใจอยู่ในตัวของเรา เพราะฉะนั้นถึงตรงนี้แล้วต้องหวงแหนรักษาไว้ให้ดี รักษาอารมณ์ดีอารมณ์เดียวอารมณ์สบายให้ได้เรื่อย ๆ หมั่นปฏิบัติบ่อย ๆ แล้วความชำนาญก็จะเกิดขึ้นเอง
17 กรกฎาคม พ.ศ. 2546
จากหนังสือบางสิ่งที่แสวงหา
โดย พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 


สมาชิกเว็บไซต์ทุกท่านที่เข้ามาอ่านกระทู้ สามารถร่สมกิจกรรมสะสมคะแนนเพื่อแลกรับของที่ระลึกจากทางทีมงานได้ฟรีๆ ทำตามนี้เลยครับ ..... ทุกๆ กระทู้ที่สมาชิกตั้งขึ้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางธรรม จะได้รับคะแนนสะสมทันที่ 3 คะแนน ..... ทุกๆ การตอบกระทู้ที่เป็นการตอบแบบมีสาระทางธรรม จะได้รับคะแนนสะสมทันที่ 1 คะแนน และ 0.1 คะแนนสำหรับการเข้ามาอนุโมทนาบุญ ..... อย่าลืมมาร่วมกิจกรรมกันนะครับ