ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
* * * * * 1 คะแนน

ขอความรู้ครับ


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 6 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 usr22569

usr22569
  • Members
  • 6 โพสต์

โพสต์เมื่อ 28 March 2008 - 09:12 PM

มังสะจักษุ ทิพยจักษุ สมันตจักษุ ธรรมจักษุ หมายความว่าไงครับ แล้วต่างกันอย่างไรครับ

#2 เป็นหนึ่ง

เป็นหนึ่ง
  • Members
  • 354 โพสต์

โพสต์เมื่อ 29 March 2008 - 12:19 AM

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ ทีปโป โหติ จกฺขุโท ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ ”

วันเพ็ญเดือนสามเป็นวันพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ วันแห่งความสว่างไสว ที่ชาวพุทธจะได้มาพร้อมใจกันสวดมนต์เพื่อตรึกระลึกนึกถึงพุทธคุณ และย้อนไปถึง วันประวัติศาสตร์ของชาวพุทธ คือ เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีที่แล้ว เมื่อบ่ายวันเพ็ญเดือนมาฆมาส ได้มีเหล่าพระอรหันตสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ได้มาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาโดยมิได้นัดหมาย ทุกองค์ล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพที่ได้รับการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา หลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทาน โอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งเป็นหลักการ อุดมการณ์และวิธีการใน การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งเหล่าภิกษุสงฆ์สาวกก็ได้ยึดหลักใน โอวาทปาฏิโมกข์นี้ มาอย่างเคร่งครัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

หากจะถามว่า พระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่อย่างไรบ้าง ? อาจเป็นคำถามง่ายๆ สำหรับชาวพุทธ เพราะเราทุกคนก็คงตระหนักกันดีอยู่แล้ว และพรรณนาอย่างไรก็คงไม่หมด แม้พระพุทธเจ้าด้วยกัน จะพรรณนาคุณของพระพุทธเจ้า กาลเวลาผ่านไปหนึ่งกัปก็ยังพรรณนาไม่หมด อย่างไรก็ตาม เนื่องในวาระวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ ผู้เขียนน้อมนำเสนอสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงมียิ่งกว่าเราในเรื่องของ “ จักษุ ” ว่า พระพุทธองค์ทรงมีดวงตากี่ประเภท

ตามปกติเราก็ได้สวดสรรเสริญพุทธคุณว่า ...พร้อมเบญจพิธจักษุจรัสวิมลใส เห็นเหตุที่ใกล้ไกล บ่มิหม่นมิหมองมัว... เบญจพิธจักษุ หมายถึง จักษุ ๕ ประการ ได้แก่ มังสจักษุ ทิพยจักษุ สมันตจักษุ ปัญญาจักษุ ธัมมจักษุ




พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่า เป็นโลกวิทู คือ รู้แจ้งทั้งนิพพาน ภพสาม โลกันตร์ แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ทรงแทงตลอดหมด เพราะพระองค์ทรงมีการเห็นที่วิเศษ ตั้งแต่ มังสจักษุ ขนพระเนตรของพระองค์เขียวสนิทเหมือนดอกผักตบ ตรงส่วนไหนที่มีสีเหลือง ก็เหลืองนวล เหมือนทองคำ สวยงามเหมือนดอกกรรณิการ์ เบ้าพระเนตรทั้งสองมีสีแดงงามเหมือนสีปีกแมลงทับ ตรงกลางพระเนตรมีสีดำงามไม่หมองมัว แต่สนิทดีเหมือนสีสมอดำ ตรงไหนขาวก็จะขาวงามเปล่งปลั่ง ขาวนวลเหมือนสีดาวประกายพรึก

ลำพังมังสจักษุ แม้จะมีความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ คือ พระอาทิตย์อัสดงคตไป วันอุโบสถมีในกาฬปักษ์คือ เป็นคืนเดือนมืด แนวป่าทึบ และในคราวอกาลเมฆใหญ่ตั้งขึ้น ถึงอย่างนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงเห็นตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ พระองค์ทรงเห็นได้ขนาดที่ว่า หากมีคนเอาเมล็ดงาเมล็ดหนึ่งทำเป็นเครื่องหมายใส่ลงในเกวียนที่บรรทุกงา พระพุทธองค์ก็สามารถมองเห็นเมล็ดงาที่ทำเครื่องหมายนั้นได้ด้วยพระมังสจักษุ นี่เป็นเพราะว่า พระพุทธองค์ได้สั่งสมบุญ ที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น การถวายประทีปโคมไฟเพื่อบูชาพระรัตนตรัย เป็นต้น



ส่วนการเห็นด้วยทิพยจักษุ ของพระพุทธเจ้า หมายถึงได้จุตูปปาตญาณ ทรงรู้เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เห็นหมู่สัตว์ที่เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณงาม ได้ดี ตกยาก ทรงรู้ว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ ทรงทอดพระเนตร ๑ โลกธาตุ ๑๐ โลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ หรือแม้มีพระประสงค์ จะทอดพระเนตรเท่าใด ก็ทรงเห็นได้ตามพระประสงค์ พระพุทธองค์ทรงมีสมันตจักษุ เห็นได้รอบด้าน เหมือนพวกพรหม เห็นทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตในเวลาเดียวกัน ซึ่งเห็นได้วิเศษกว่าทิพยจักษุ ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น เห็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ทรงรู้อัธยาศัย อนุสัย จริต อธิมุตติของสัตว์ทั้งปวง ย่อมทรงรู้จักหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ทุกอย่างอยู่ในข่าย พระพุทธญาณ เหมือนปลา และเต่าทุกชนิดที่เป็นไปภายในมหาสมุทร



พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมีปัญญาจักษุ คือ ทรงมีพระปัญญามาก ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ทรงบรรลุเวสารัชญาณ ๔ ทรงทศพลญาณ ทรงรู้ว่า บุคคลเหล่านี้เป็นราคจริต จะตรัสบอกอสุภกัมมัฏฐาน และจะตรัสบอกเมตตาภาวนา แก่ผู้มีโทสจริต อีกทั้งทรงแนะนำ ผู้มีโมหจริตให้ดำรงอยู่ใน การเรียนการไต่ถาม ทำให้สาวกของพระองค์ตรัสรู้ธรรมตามนับไม่ถ้วน การรู้ของพระองค์นั้น ก็รู้ได้ด้วยธรรมจักษุ เห็นด้วยตาของธรรมกายพระอรหัต รู้ด้วยญาณทัสสนะของ พระธรรมกายอรหัต ที่รู้ได้ตลอดหมด คือ ทั้งรู้ลึก รู้รอบ รู้กว้าง รู้ไกล รู้ยิ่ง รู้พร้อม ซึ่งโดยรวมก็คือ พระสัพพัญญุตญาณนั่นเอง



ที่ได้พรรณนามาโดยย่อนี้ เราทั้งหลายจะได้รู้ว่า พระบรมศาสดาของเรานั้น ทรงถึงพร้อมด้วยจักษุทั้ง ๕ มีอานุภาพยิ่งใหญ่เหนือสรรพสัตว์ทั้งปวง ทรงมีอานุภาพเป็นอจินไตย อยู่เหนือวิสัยที่เราจะนึกคิดด้นเดาได้ เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ในวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ เรามาควรมาพร้อมใจกัน จุดโคมประทีปที่ลานมหาธรรมกายเจดีย์ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาด้วยกัน เพื่อให้เกิดพลังหมู่ พลังแห่งสันติภายใน ขยายไปสู่ชาวโลก อานิสงส์ในการจุดโคมประทีป เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาครั้งนี้ จะทำให้เราได้เป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยเบญจพิธจักษุ คือได้จักษุทั้ง ๕ ประการ คือมังสจักษุ ทิพยจักษุ สมันตจักษุ ปัญญาจักษุ และธรรมจักษุ ตามพระองค์ไปด้วย เราจะได้ถึงพร้อมด้วย ดวงตาภายนอกและภายใน ไปทุกภพทุกชาติตราบวันถึงที่สุดแห่งธรรม

“เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ดี นิพพานแล้วก็ดี เมื่อจิตเสมอกัน ผลก็ย่อมเท่ากัน ในเพราะเหตุคือความเลื่อมใสแห่งใจ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไปสู่สุคติ” (พุทธพจน์)


ที่มา
http://www.kalyanami...n...76&Itemid=4
I just gotta get out of this prison cell.
Someday I'm gonna be free.

#3 upanya

upanya
  • Members
  • 22 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 29 March 2008 - 11:08 AM

มังสะจักษุ คือ ตาหรือการเห็นของกายหยาบ
ทิพยจักษุคือ ตาหรือการเห็นของกายทิพย์
สมันตจักษุคือ ตาหรือการเห็นของกายพรหม
ธรรมจักษุคือ ตาหรือการเห็นของธรรมกาย
ครับ

#4 เอเลี้ยน

เอเลี้ยน
  • Members
  • 3 โพสต์

โพสต์เมื่อ 29 March 2008 - 12:47 PM

สมันตจักษุคือ ตาหรือการเห็นของกายพรหม
ธรรมจักษุคือ ตาหรือการเห็นของธรรมกาย
มังสะจักษุ คือ ตาหรือการเห็นของกายหยาบ
ทิพยจักษุคือ ตาหรือการเห็นของกายทิพย์




#5 usr21582

usr21582
  • Members
  • 71 โพสต์

โพสต์เมื่อ 29 March 2008 - 01:50 PM

ความเห็นที่ 5 ทำไมถึงเหมือนกับความเห็นที่ 4 เลยครับ แค่สลับบรรทัด กันเท่านั้นเอง ทั้งช่องว่างก็เหมือนกัน

#6 Dd2683

Dd2683
  • Members
  • 2477 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:กรุงเทพ มหานคร
  • Interests:ความรู้ในพระพุทธศาสนา-วิชชาธรรมกาย<br />ผลแห่งการปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 29 March 2008 - 10:59 PM

อนุโมทนา คุณ เป็นหนึ่งและคุณ upanya อย่างยิ่งครับ สาธุ

ที่จริงคำศัพท์เฉพาะ ทั้งในทางโลกและทางธรรม
ทั้งภาษาไทย ภาษาเทศ หรือภาษาธรรม นั้น

สามารถมีหลายนัยยะหรือความหมายได้ นะครับ ขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัย
เช่น รูปประโยคโดยรวม / เหตุเฉพาะกาลอย่างใดอย่างหนึ่ง / ความลุ่มลึกของสภาวธรรม ฯล

คำศัพท์ในทางโลก
เช่น ภาษาอังกฤษ คำว่า full = เต็ม
แต่เมื่อมาอยู่ในรูปประโยค
I’m full.
ในเหตุเฉพาะการณ์ การทานอาหาร ก็แปลความหมายโดยทั่วไปว่า
ฉันอิ่มแล้ว ไม่รับอาหารเพิ่มอีกแล้ว

ไม่ได้แปลความหมายว่า ฉันเต็มแล้ว แต่อย่างใด

หรือคำว่า ความสุข
ก็มีหลายนัยยะ หลายความหมาย หลายระดับความลุ่มลึกและประณีต เป็นต้น

คำศัพท์ในทางธรรม ก็เช่นกันครับ

อย่างคำว่า ทิพยจักษุ นั้น

หมายถึง ตาหรือการเห็นของกายทิพย์ ก็ถูกต้อง

เพราะ เป็นดวงตาหรือจักษุของกายทิพย์ บรรดาเทวดา เทพบุตร เทพธิดา เทพนารี
ที่มีศักยภาพในการมอง การเห็น เหนือกว่า มังสะจักษุ (ดวงตาของมนุษย์ทั่วไป)

หรือ
ทิพยจักษุ หมายถึง จุตูปปาตญาณ ก็ถูก
ในนัยยะ ความเป็น จุตูปปาตญาณ คือ
ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์ในการกำหนดที่จะรู้เรื่องการ จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
อันเป็นไปตามกรรม และเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย
ซึ่งเป็นวิชชา ๑ ในวิชชา ๘

หรือในนัยยะ ทิพพจักขุ หรือ ตาทิพย์ อันเป็น ๑ ในอภิญญา ๕ หรือ อภิญญา ๖ (มีเฉพาะในพระอรหันต์)
ก็ถูกครับ

ฉะนั้น การเรียนรู้ ศึกษาธรรมะ ที่มีคำศัพท์เฉพาะ อยู่มากมาย
โดยส่วนตัวผม
จะไม่ยึดมั่นถือมั่น จำ คำแปล อยู่เพียงนัยยะเดียว ความหมายเดียว

แม้เคยทราบ เคยเห็นการแปลความหมาย ของคำศัพท์ ของบรรดาอรรถกถาจารย์ แตกต่างกันบ้าง
ผมก็ยังไม่บังอาจ ไม่บังควร ไม่สามารถตัดสินว่า
อรรถกถาจารย์ท่านนั้น ท่านนี้แปลผิดความหมาย ไม่ตรงคัมภีร์เล่มนั้น พระสูตรเล่มนี้

ทั้งนี้เพราะ ผมมองว่า

๑ ) ธรรมะ สัจจธรรมแท้จริง
เป็นเรื่องปัตจัตตัง วิญญู หิ ติ
เป็นการเข้าถึงสภาวธรรมนั้น ๆ ด้วยตนเอง
เห็นด้วยตนเอง จึงรู้ด้วยตนเอง


ธรรมะ สัจจธรรมแท้จริง
มิใช่อยู่ที่คำแปลความหมาย การตีความ ด้วยตรรกะ ด้วยสุตะ ด้วยจินตนาการใด ๆ
หรือ จำคำแปลของบรรดารรถกถาจารย์ท่านใดท่านหนึ่งมา

๒ ) รู้ หรือ รับประกันได้อย่างไรว่า คำแปล ที่ทรงจำมา เข้าใจมา นั้น
ถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง

หรือ เป็นคำแปลจากรพะอรหันต์ในกาลก่อนจริง เพราะผมเป็นมนุษย์เกิดยุคหลังพุทธกาล
ไม่ได้ยินได้ฟังจากพุทธโอษฐ์ หรือจากปากพระอรหันต์ ด้วยหูตนเอง

๓ ) คำแปล ที่ผมพอเข้าใจตามได้ คือ สยามภาษา ภาษาไทย
ซึ่งผ่านการแปลมาหลายภาษาแล้ว ทั้ง บาลี มคธ / สันสกฤต / สิงหล / จีน / อังกฤษ ฯล

คิดดูล่ะกันครับว่า

คำแปล ภาษาไทย จะถูกต้องตรงความหมายแท้จริงของ พุทธวจนะดั้งเดิม จากพุทธโอษฐ์
ถูกต้องถึง 100 % หรือไม่

หรือ จะถูกต้องตรงความหมายแท้จริงของ พุทธวจนะดั้งเดิม ที่พระอานนท์เถระ และเหล่าพระอรหันต์
ได้สังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๑
ถูกต้องถึง 100 % หรือไม่

ที่กล่าวอย่างนี้ ไม่ได้เจตนา หมายความว่า
ชวนให้ท่าน เลิกเชื่อ คำแปล ความหมายภาษาธรรมในรูปแบบภาษาไทย ที่เราใช้กันอยู่นะครับ

แต่อยากให้ข้อคิดว่า
การศึกษาพระธรรมวินัย พระไตรปิฎก ไม่ควรยึดติดตำรา/ปริยัติ/ทฤษฎี มากเกินไปเท่านั้นเองครับ

เพราะการยึดมั่นในการแปล คำศัพท์ บางคำ บางประโยค บางพระสูตร
มากเกินไป อาจทำให้เกิดวิวาทะกรรม ในหมู่มนุษย์นักคิด
และนักปฏิบัติที่ยังมีกิเลสอาสวะหมักดองใจ กันได้ง่าย ๆครับ

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกระทู้ ที่ควรศึกษา เช่น

QUOTE
จักขุ ๕

(พระจักษุอันเป็นสมบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า — the Five Eyes of the Blessed One)
๑.มังสจักขุ
ตาเนื้อ คือ ทรงมีพระเนตรอันงาม มีอำนาจ เห็นแจ่มใส ไว และเห็นไกล
— the physical eye which is exceptionally powerful and sensitive

๒.ทิพพจักขุ
ตาทิพย์ คือ ทรงมีพระญาณอันเห็นหมู่สัตว์ผู้เป็นไปต่างๆ กัน ด้วยอำนาจกรรม
— the Divine Eye

๓.ปัญญาจักขุ
ตาปัญญา คือ ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณยิ่งใหญ่ เป็นเหตุให้สามารถตรัสรู้อริยสัจจธรรม เป็นต้น
— the eye of wisdom; Wisdom-Eye

๔.พุทธจักขุ
ตาพระพุทธเจ้า คือ ทรงประกอบด้วยอินทรีย์ปโรปริยัตตญาณ และอาสยานุสยญาณ
เป็นเหตุให้ทรงทราบอัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์ แล้วทรงสั่งสอนแนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ
ยังพุทธกิจให้บริบูรณ์
— the eye of a Buddha; Buddha-Eye

๕.สมันตจักขุ
ตาเห็นรอบ คือ ทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ
— the eye of all-round knowledge; All-seeing Eye; omniscience)

Nd 235. ขุ.ม.๒๙/๕๑/๕๒.


ป.ล. ขอบคุณ ข้อสังเกต ของ คุณ usr21582 ครับ
กระดานสนทนาสาธารณะ ก็เป็นแบบนี้
จึงสมควรที่เพื่อนสมาชิกช่วยดูแล รักษา ระวังบุคคลที่เจตนาไม่สะอาด มาตั้งและตอบกระทู้ เหมือนกันครับ


#7 อยู่กับยาย

อยู่กับยาย
  • Members
  • 138 โพสต์

โพสต์เมื่อ 31 March 2008 - 09:10 AM

สาธุค่ะ