ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

พระในบ้าน


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 Thaikeramos

Thaikeramos
  • Members
  • 12 โพสต์

โพสต์เมื่อ 14 August 2009 - 12:32 PM

หนังสือ “พระในบ้าน” ฉบับนี้ มีความสำคัญต่อท่านผู้อ่านทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะหมายถึง พ่อแม่ผู้ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับพวกเรามากที่สุด เป็นผู้ให้กำเนิดชีวิต ให้ที่อยู่อาศัย และเลี้ยงดูพวกเราจนเติบใหญ่ พระพุทธเจ้าทรงถือว่า พ่อแม่เป็นพระของลูกที่ลูกๆ ทุกคนจะได้เคารพกราบไหว้ท่านเป็นประจำ เมื่อทุกท่านได้อ่าน “พระในบ้าน” จนจบเล่ม ท่านจะรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของผู้เป็นพ่อและแม่อย่างที่สุด ท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยเป็นพ่อเป็นแม่นั้น อาจยังไม่ทราบว่าพ่อแม่รักลูกเพียงใด ลูกที่ดีต้องกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ ต้องไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจผิดหวัง หมั่นดูแลเอาใจใส่ท่านทั้งสองให้มาก กลับจากนอกบ้านก็ควรซื้อสิ่งของมาฝากท่านบ้าง ไม่ควรปล่อยให้ท่าน อยู่อย่างเดียวดาย หากลูกคนใดประพฤติตัวดี ทำให้พ่อแม่ปลาบปลื้ม และภูมิใจนำพาชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกุล ลูกผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า “ลูกกตัญญู” คนโบราณได้กล่าวไว้ว่า ผู้ที่กตัญญูพ่อแม่นั้น ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ แต่หากลูกคนใดทำให้พ่อแม่ต้องหลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจ ลูกคนนั้นสมควรได้ชื่อว่า “ลูกอกตัญญู” ดังนั้น เมื่อทุกท่านได้อ่าน “พระในบ้าน” จบเล่มแล้วจงเร่งรีบไปหาท่านผู้เป็นพ่อแม่ และรีบตอบแทนพระคุณท่านให้มากที่สุดเท่าที่ผู้เป็นลูกพึงกระทำอย่ามัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะพวกเราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าท่านจะจากพวกเราไปเมื่อใด หากถึงวันนั้นอาจสายเกินไป “จงกตัญญูเมื่อพ่อแม่มีชีวิตอยู่ ดีกว่ามาเซ่นไหว้มากมายเมื่อท่านตายแล้ว” กุศลธรรมมูลนิธิได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เมื่อปี พ.ศ. 2543 ยอดพิมพ์ 15,000 เล่ม ได้มีการแจกจ่ายหมดไปในเวลาอันสั้น และก็ท่านผู้ที่อ่านแล้วเรียกร้องต้องการมาขอไปแจกให้ญาติมิตรจำนวนมากจึงได้จัดให้มีการพิมพ์ครั้งที่สอง อีก 12,000 เล่ม หวังว่าจะเป็นประโยชน์แต่ท่านผู้อ่านทุกท่าน

นายโสภณ เจริญพิทักษ์ชัย
ประธานกรรมการกุศลธรรมมูลนิธิ
12 สิงหาคม 2544

**********************
“แม่” คือพระพรหม คือพระผู้ประเสริฐ ลูกขอเทิดบูชา เป็นราศรี “แม่” สอนสั่ง ฟูมฟัก ให้รักดี สร้างชีวี ชี้อนาคต ให้งดงาม เปรียบ “ร่มโพธิ์ใหญ่” เหนือใจลูก ให้รู้ผิด รู้ถูก ครบองค์สาม ให้คิดดี ทำดี พูดดีตาม ให้พบความ มงคล กุศลธรรม
**********************
รักใดเล่า รักแน่ เท่าแม่รัก ผูกสมัคร ลูกมั่น มิหวั่นไหว ห่วงใดเล่า เท่าห่วง ดังดวงใจ ที่แม่ให้ กับลูก อยู่ทุกครา ยามลูกชื่น แม่ขม ตรมหลายเท่า ยามลูกเศร้า แม่โศก วิโยคกว่า ยามลูกหาย แม่ห่วง คอยดวงตา ยามลูกมา แม่หมด ลดห่วงใยฯ
*********************** คนเราจะรู้ว่าใครดีไม่ดีก็ต่อเมื่อได้ เห็นน้ำใจกันก่อน น้ำใจย่อมมีค่าสูงและมี พลังมากกว่าน้ำใดๆ ในโลก “พระในบ้าน” ปรารถนาเหลือเกิน จะได้เห็นน้ำใจจากลูกๆ ที่ท่านอุตส่าห์เลี้ยงดูอุ้มชูมาแต่น้อยคุ้มใหญ่ แต่ความปรารถนาของพ่อแม่จะสำเร็จ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับน้ำใจของเราผู้เป็นลูกเท่านั้น
************************* ************************* พ่อแม่นั้นอุตส่าห์เลี้ยงเรามาก็เพื่อประสงค์ว่า ยามมีกิจ หวังให้เจ้า เฝ้ารับใช้ ยามป่วยไข้ หวังให้เจ้า เฝ้ารักษา ยามถึงคราว ล่วงลับ ดับชีวา หวังให้เจ้า ปิดตา เวลาตายฯ การเลี้ยงน้ำใจพ่อแม่คือ การทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้ท่านเกิด ความเบิกบานใจ ไม่ทุกข์กังวล เดือดร้อนหรือไม่สบายใจ เพราะการกระทำของเรา เพราะเราเป็นต้นเหตุ
*************************
พระในบ้าน
โดย พระธรรมกิตติวงศ์
(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9 ราชบัญฑิต)
“พระ” หมายถึงผู้ประเสริฐ ผู้ยอดเยี่ยม เพราะเป็นผู้มีคุณสมบัติดีอยู่ในตัว และประกอบความดีต่อผู้อื่น โดยมิได้มุ่งหวังการตอบแทน ทำด้วยดวงใจอันเปี่ยมล้นด้วยความรักความปรารถนาดีและความสงสารเป็นมูลฐาน หากผู้ใดทำได้ดังนี้ ไม่ว่าผู้นั้นจะครองเพศแบบไหน วัยไหนโลกย่อมแซ่ซ้อง สรรเสริญผู้นั้นว่าเป็น “พระ” ในสายตาของเขา และพร้อมที่จะยกมือทั้งสองขึ้นไหว้บูชา หรือยอมก้มศีรษะพร้อมทั้งกายหมอบราบกราบกรานด้วยความเต็มใจมิได้ตะขิดตะขวงหรือลังเลสักนิด เพราะมาเห็นว่าผู้นั้น คือเนื้อนาบุญอันหาได้ยากของเขาอย่างแท้จริง “ความเป็นพระ” อย่างที่ว่ามานั้น มิใช่จะมีเฉพราะกับนักบวชในศาสนาใดศาสนาหนึ่งตามความเข้าใจของคนทั่วไปเท่านั้น ความจริงเราท่านทุกคนต่างก็เคย ประสบพระหรือมีพระผู้ประกอบด้วยคุณความดีดังกล่าวมาแล้วทุกคนและมิได้พบที่ในป่าถ้ำลำเนาเขาหรือแดนบุญสถานนักบวชอื่นใดเลย หากพบกันอยู่ที่บ้าน มีอยู่ในบ้านของเรานั้นเองมิพักต้องไปหาที่อื่นเสียให้ยากเลย เพราะพระดังกล่าวนี้หาได้ในบ้าน จึงเรียกในที่นี้ว่า “พระในบ้าน” หากจะบอกในตอนต้นนี้เสียเลยว่า “พระในบ้าน” นั้นคือ “พ่อ” กับ “แม่” ก็คงจะทำให้คลายสงสัยไปได้เปลาะหนึ่งเพราะบางทีอาจเกิดความแคลงใจขึ้นมาเมื่อได้ยินคำนี้เข้า ว่าเหตุใดพระจึงไปอยู่ในบ้าน ดุออกจะขัดๆ หูอยู่ ด้วยตามปกติเรามักจะเห็นพระท่านอยู่แต่ในวัดหรืออยู่ในถ้ำในเขาเท่านั้น แม้หากจะเข้าบ้านบ้างในบางคราว ก็อยู่ชั่วระยะเวลามีกิจเสร็จแล้วท่านจะกลับวัดอย่างเดิม และก็คงไม่มีใครกล้าคัดค้านหรือปฏิเสธว่า “พ่อแม่” ไม่ได้เป็น “พระ” หากว่าผู้นั้นเป็นคนดีมีความคิดและยุติธรรมทั้งมองโลกในแง่ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เหตุที่ท่านทั้งสองได้นามว่าเป็นพระนั้น เพราะท่านมี “ความเป็นพระ” คือคุณธรรมความดีอยู่ในตัว และได้ปฏิบัติภารกิจอันเป็นหน้าที่ของตัวอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ทั้งในด้านจิตใจก็เปี่ยมล้นด้วยความรัก ความปรารถนาดี และความสงสาร อันเป็นเหตุชักจูงให้ท่านได้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ ยอมเป็น “ผู้ให้” อยู่ตลอดมา แน่แล้ว พ่อแม่ คือ พระในบ้าน ตามปกติเรามักจะแสวงหาพระ ไปกราบไว้พระกันตามวัดตามถ้ำ ตามป่า หรือแม้อยู่บนยอดเขาก็ยอมไปกันด้วยความมุ่งมั่นว่าจะเป็นมงคลแก่ตัว แม้จะต้องไปค้างอ้างแรมกัน หรือใช้เวลาเดินทางไปเป็นวันๆ เราก็ยังทนหอบหิ้วสังขารไปจนกระทั่งถึงท่านจนได้ พอได้เห็นท่านได้กราบไหว้บูชาท่านแล้วก็กลับ เท่านี้เกิดความอิ่มเอิบใจหายเหน็ดเหนื่อย โอกาสหน้าก็แวะเวียนไปหาท่านบ่อยๆ เล่าทุกข์สุขให้ท่านฟังให้ท่านช่วยแก้ปัญหาชีวิตซึ่งมันคับอกคับใจให้ เป็นต้น “พระนอกบ้าน” ที่ว่ามานี้เราไปหาได้ บูชาได้ แลัทำได้บ่อยๆเสียด้วยซ้ำไป แต่ในเราทั้งหลายนี้ จะมีสักกี่คนเล่าที่นึกถึง “พระในบ้าน” กัน พระในบ้านที่ใจจดใจจ่อรอท่าที่บรรดา “ลูก” จะมาหามากราบไหว้บูชา หรืออย่างน้อยๆมาให้เห็นหน้าก็ดีใจถมไปแล้ว โดยมากเราต่างก็มักจะเอื้อบำรุงอุดหนุนกันแต่พระนอกบ้าน หรือดั้นด้นไปเช่าพระนอกบ้าน ซึ่งปราศจากลมหายใจเข้ามาไว้ในบ้านด้วยราคาแพงๆ ทำที่ประดิษบานไว้ด้วยห้องหรูๆ ราคาแพงลิบแต่พระในบ้านซึ่งยังมีลทหายใจอยู่ เรากลับปล่อยให้อดอยากปากแห้ง ปล่อยให้ใจแล้งอับเฉา และเศร้าใจอยู่ตามลำพัง เพราะปราศจากน้ำใจลูกๆนั้น อาจยิ่งกว่า “ข้าวคอยฝน” อย่างที่เราชอบเปรียบกันเสียอีก ท่านคงจะมิใช่เป็นผู้หนึ่งในจำนวน “โดยมาก” นั้น! ตำแหน่งพ่อแม่ คนเก่าเล่ากันมาให้รู้ว่า พ่อแม่นั้นมีพระคุณมหาศาลยากที่จะพรรณาให้หมดสิ้นได้ ถึงกับเปรียบเทียบไว้ว่า แม้จะเอาท้องฟ้าอันหาขอบเขตมิได้สมมุติเป้นแผ่นกระดาษ เอายอดเขาพระสุเมรุ อันเป็นยอดหนึ่งของเขาหิมาลัยสมมุติเป็นปากกา เอาน้ำในมหาสมุทรทุกแห่งในโลกสมมุติเป้นน้ำหมึก จดจารึกพระคุณของท่านทั้งสองว่ามีต่อลูกอย่างนั้นๆ และจารึกว่าท่านได้ทำอย่างไรกับลูกบ้าง จนกระทั่งท้องฟ้าเต็มไปด้วยอักษรจนยอดพระสุเมรุสึกหรอไปจนสิ้น และน้ำในมหาสมุทร ถูกใช้จดจารึกจนแห้งขอดไปเท่านี้ก็ยังจดพรรณนาพระคุณของพ่อแม่ได้ไม่หมดสิ้น และการที่จะทดแทนพระคุณของท่านทั้งสองให้หมดสิ้นนั้น ก็ยากนักหนาถึงกับยกเปรียบไว้ว่า หากลูกจะยกพ่อไว้บนบ่าซ้าย ยกแม่ไว้บนบ่าขวาของตน ประคับประคองให้ท่านทั้งสองอยู่บนบ่านั้นแหละ ให้ท่านอาบน้ำ ให้ท่านกินท่านนอน และจนกระทั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่บนบ่าของลูกนั้นเองแม้ลูกจะทำอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งพ่อแม่หมดลมหายใจไป ก็ยังไม่อาจจะทดแทนข้าวป้อนน้ำนม และอุปการคุณที่ท่านได้ทำไว้ต่อลูกเลย ตัวอย่างทั้งสองนี้ท่านยกมากล่าวไว้เพื่อแสดงให้เห็นเพียงว่าพระคุณของท่านมีมากมายจนไม่อาจจะทำตอบแทนชดใช้ให้หมดสิ้นไปด้วยการกระทำเล็กๆ น้อยๆ หรือเป็นครั้งคราวเท่านั้น มิใช่จะหมายความว่า จะต้องให้ลูกทำใหญ่โต ปานดังเปรียบตามที่บางคนเข้าใจแล้วเอะอะโวยวายเอาว่า ใครกันจะสามารถยกเขาพระสุเมรุมาเขียน และลูกคนใดเล่า จะแบกพ่อแบกแม่ไว้ได้เป็นสิบเป็นร้อยปี หรือพ่อแม่คนใดเล่าจะทนทุกข์ทรมานกินนอนบนบ่าลูกได้ไม่รำคาญ ไม่สงสารลูกบ้างหรืออย่างไรกัน อะไรทำนองนี้ เรื่องนี้ต้องเข้าใจเจตนารมณ์ของคนเล่า เพราะคำเปรียบก็ต้องเป็นคำเปรียบ อยู่วันยังค่ำ คือ ต้องนึกเอาไปเปรียบอย่างนี้จะถือเป็นจริงจังใหญ่โตอย่างนั้นไม่ได้ ต้องตีความหมายหรือเข้าใจเจตนารมณ์ของผู้คิดเปรียบเท่านั้น เพราะเหตุใดหรือท่านจึงเปรียบพ่อแม่หรือ “พระในบ้าน” เสียใหญ่โตปานนั้น ก็เพราะท่านเป็น “บุพการีชน” คือ ผู้ทำให้ก่อนได้สะสมบุญคุณแก่ลูกมาตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์จนกระทั่งตายจากกันไป หรือกระทั่งทำให้ไม่ไหว อันนับกันว่าเป็นบุคคล ที่หาได้ยากนัก เพราะตามปกติคนเรามักจะมีความเห็นแก่ตัวใจไม่กว้างพอที่จะยอมเสียสละเอื้ออารีต่อผู้อื่น แต่พ่อแม่ท่านทำได้และทำได้อย่างดีเสียด้วย และเป็นบุญวาสนาของลูกอย่างหนึ่งคือ ลูกเป็น “ผู้รับ” ความรักความปรารถนาดี และความเอื้อเฟื้อที่พ่อแม่ “ให้” นั้นทั้งหมด ด้วยเหตุดังกล่าวมานี่เอง ตำแหน่ง “พระในบ้าน” จึงเป็นตำแหน่งที่สมควรอย่างยิ่งแล้วสำหรับเป็นของขวัญอันบริสุทธิ์ จะมีใครเหมาะกับตำแหน่ง “พระ” เท่าพ่อแม่อีกเล่า และพ่อแม่นั้น ยังเป็นพระยิ่งกว่าพระใดๆ ในโลก ประเสริฐกว่าพระใดๆ ในโลกเท่าที่ลูกจะพึงมีและพึงหาได้ ทั้งนี้ เพราะพ่อแม่เป็นศูนย์รวมความเป็น “พระ” ไว้ในตัวมากมาย คือ เป็นหลายพระนั่นเอง ตำแหน่งพระของพ่อแม่คือ - พ่อแม่เป็นพระพรหม - พ่อแม่เป็นพระเทพ - พ่อแม่เป็นพระอาจารย์ - พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ พ่อแม่เป็นพระพรหม “พระพรหม” ตามความรู้สึกของเราทั่วไปก็คือพระเจ้า ผู้สร้างโลกตามคติของศาสนาพราหมณ์ ส่วนตามคติของศาสนาพุทธ พระพรหมก็คือผู้ประกอบด้วยรูปฌาน หรืออรูปฌาน แล้วจุติจากอัตภาพมนุษย์ไปเกิดเป็นพรหมมีที่อยู่ของ ตัวเองเป็นสัดส่วนเรียกว่า “พรหมโลก” แต่ความหมายที่แท้จริงที่เรียกว่า “พรหมวิหารธรรม” ครบถ้วนบริบูรณ์คือ หมายถึง คนเราธรรมดาๆนี้เองจะอยู่ในวัยไหนมีเพศพรรณ หรือตระกูลใดก็แล้วแต่ มีสิทธิที่จะเป็นพรหมด้วยกันทั้งนั้น และเป็นได้ทั้งๆที่อยู่ในโลกอลู่รวมกับชาวโลกอื่นๆนี่แหละ เพียงแต่มีข้อแม้ว่าต้องมรพรหมวิหารธรรมครบถ้วนเท่านั้น อันพรหมวิหารธรรมนั้นมี 4 ประการคือ 1. เมตตา ความจริงใจ ความรัก ความปราถนาดีต่อผู้อื่น ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ดูได้จากสีหน้าที่บ่งบอกคือ ยิ้มแย้มแจ่มใส และดูจากการกระทำที่มุ่งหวังให้ผู้อื่นดีๆยิ่งขึ้นไป 2. กรุณา ความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ ต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ยามผู้อื่นมีความลำบากก็ทนอยู่ไม่ได้ต้องแสดงออกมาด้วยการเข้าช่วยเหลือเจือจุนด้วยความเต็มใจเสมอ ในทำนองสุขก็สุขด้วย ทุกข์ก็ทุกข์ด้วย นั่นเทียว 3. มุทิตา ความชื่นชมยินดีในความสำเร็จสมหวังของผู้อื่น ไม่แสดงความอิจฉาริษยาด้วยการทนดูทนเห็นคนที่เขาได้ดีกว่าตัวไม่ได้ ดูได้จากการไปแสดงไมตรีจิตต่อบุคคลอื่น หรือชื่นชมต่อความสำเร็จของผู้อื่นโดยไม่ต้องบังคับใจ 4. อุเบกขา ความวางเฉยในเมื่อไม่อาจจะช่วยเหลือเขาได้ ไม่ทับถมซ้ำเติมเมื่อผู้อื่นผิดพลาดหรือได้รับความวิบัติไม่แสดงอาการสมน้ำหน้าเมื่อเขาพลาด เป็นต้น ผู้ใดมีคุณธรรม 4 ประการนี้ในหัวใจและแสดงออกมาให้ปรากฎได้ ผู้นั้นท่านเรียกว่า “พรหม” ทั้งนั้น พ่อแม่หรือพระในบ้านของเราเป็นบุคคลแรกที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมทั้งหมดนี้ โดยเฉพาะมีต่อเราผู้เป็นลูกท่านทั้งคู่จึงควรจะได้รับการขนานนามว่าเป็น “พระพรหม” ของลูกอย่างแท้จริง คุณธรรมนี้มีประจำอยู่ในจิตใจของพ่อแม่ แต่ท่านได้แสดงออกไม่พร้อมกันทีเดียวโดยมากก็แสดงออกทั้งหมดแต่ต่างกรรมต่างวาระกัน แต่เพราะท่านแสดงออกบ่อยครั้ง จนบางทีลูกๆ เกิดความรู้สึกเคยชินจนมองข้ามความสำคัญหรือไม่เห็นความสำคัญไปเสีย แล้วมาบ่นว่าท่านไม่เห็นมีอย่างที่ว่ามาสักหน่อยเลย ลองทบทวนดูให้ละเอียดดูเถิดจะเห็นได้ชัด มีปริศนาอันหนึ่งที่คนเก่าเขาทำไว้ จะเพื่อสอนใจคนรุ่นหลัง หรือให้คนรุ่งหลังคิด เพื่อทดสอบปัญญาก็ไม่ทราบได้คือเวลาท่านเขียนหรือปั้นภาพเป็นรูป “พระพรหม” ท่านจะทำให้พระพรหมมี 4 หน้าทุกครั้งไป ที่ว่าเป็นปริศนานั้นก็เพราะเหตุใดท่านจึงทำเป็นรูปพรหม 4 หน้า จะทำหน้าเดียวเหมือนเทวดาพวกอื่นๆ มิได้หรือข้อนี้ต้องมีความหมายแน่ๆ และท่านก็ตีความและเล่าต่อกันมาเรื่อยๆ คือที่ทำเป็น 4 หน้านั้นเพราะว่าผู้จะเป็นพรหมนั้นต้องแสดงได้ 4 หน้า หรือต้องแสดงสีหน้าได้ 4 สีหน้า คือสีหน้าเมตตา สีหน้า กรุณา สีหน้ามุทิตา และสีหน้าอุเบกขา แสดงได้เพียงสีหน้าเดียว ยังไม่เป็นพรหมแท้ ข้อนี้ก็น่าคิดอยู่ แต่ความหมายดังกล่าวมานี้ดูชักจะลางเลือนไปทุกขณะแล้วเวลานี้ เพราะว่าเรามักจะคิดตีความ “พระพรหม” ว่าเป็นเทพเจ้าพวกหนึ่งที่อยู่บนสวรรค์ไปเสียทำให้มองข้ามพระพรหมที่แท้จริงคือพ่อแม่ไป พอมองข้ามก็เลยมองไม่เห็น เมื่อไม่เห็นก็ไม่รู้ความสำคัญของพระพรหมในบ้าน พระพรหมในบ้านก็เลยเกือบจะ หรือหมดความหมายไปด้วยประการฉะนี้ คนที่โบราณท่านเขียนหรือปั้นพระพรหม 4 หน้าไว้นั้น ท่านคงไม่ได้หมายถึงเทพเจ้าหรือผู้วิเศษที่ไหนท่านคงจะบอกให้ทราบถึงพระพรหมจริงๆ ของมนุษย์ และมีอยู่ในโลกที่เราเห็นๆ กันอยู่ คือ พ่อแม่นี้เอง เพราะผู้จะแสดงสีหน้าได้ครบทั้ง 4 นี้ได้ ก็เห็นมีแต่พ่อกับแม่เท่านั้นที่แสดงได้คล่อง และไม่ต้องบังคับใจเท่าไรนักท่านแสดงออกในโอกาสต่างๆ กัน มากบ้าง น้อยบ้างตามเหตุการณ์ บางครั้งท่านก็นำหน้าเมตตาออกมาแสดง บางคราวก็นำหน้ามุทิตาออกอวด บางขณะท่านก็ทำทีตีสีหน้าอุเบกขาวางเฉยเสีย นานๆ จึงจะแสดง “หน้าพิเศษ” หรือ “หน้าจริง” สักครั้งหนึ่ง หน้าที่ว่านั้นคือ “หน้ายักษ์” นั่นไง แต่หน้านี้ถือเป็นหน้าประจำไม่ได้ เพราะนานๆ จึงจะได้เห็นกันสักครั้ง! เรามีพระพรหมนั่งอยู่ที่บ้านตั้ง 2 องค์ ลองๆ สังเกตสีหน้าท่านบ้างเป็นไร หรือเมื่อท่านเป็นพระพรหมของลูกๆ อยู่ก็ลองนึกย้อนหลังดูทีหรือว่าเคยแสดงหน้าไหนให้ลูกเห็นบ่อยๆ หรือเคยแสดง “หน้าพิเศษ” ให้ลูกเห็นบ้างไหม? พรหมลิขิต มีคำกล่าวและเชื่อถือกันมาแต่โบราณแล้วว่าทุกคนเกิดมาตามอำนาจ “พรหมลิขิต” ชีวิตจะดีจะเลวหรือสมหวังผิดหวังอย่างไร แล้วแต่พระพรหมท่านจะลิขิตให้เป็นไป เราจะไปฝืนพระพรหมท่านไม่ได้ เพราะท่านขีดให้เราเดินมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกเลยทีเดียว เพราะเชื่อถือหรือกระพือข่าวบอกเล่ากันสืบๆ มา คำนี้ก็เลยติดปากคนทั่วไปและทำทีว่าจะยึดถือกันเป็นจริงเป็นจังเสียด้วยซ้ำ แม้ในดงผ้าเหลืองเอง ความคิดความยึดถือเช่นนี้ก็ยังระบาดเข้าไปถึง! เพราะเชื่อและถือกันมาอย่างนี้ ทุกคนจึงฝากชีวิตไว้กับความปรานีของ พระพรหม ผู้เป็นเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ตามที่เชื่อถือกันแล้วแต่ท่านจะลิขิตชีวิตให้เป็นไป จนถึงกับมีการติดสินบนเทพเจ้าองค์นี้กันให้เกลื่อนไป ถึงกับยอมลงทุนบวงสรวงอ้อนวอนด้วยเครื่องบัตรพลีนานัปการ สรรหาแต่ละสิ่งละอย่างมาเสนอให้เพื่อให้ถูกใจท่าน โดยก็ไม่รู้เหมือนกันว่าท่านจะชอบหรือไม่ ก็ต้องเอาใจท่านกันไปจนกว่าจะเดาไม่ไหวหรือจนกว่าจะมี “คนกลาง” มาช่วยเดาให้อีกที ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ท่านโปรดปรานประทานเมตตาลิขิตชีวิตให้ดีกว่าที่เป็นอยู่แม้จะสักนิดก็ยังดีที่มีทุกข์ก็อ้อนวอนให้พ้นทุกข์ ที่มีโรคก็อ้อนวอนให้หมดโรค ที่มีภัยก็อ้อนวอนให้พ้นภัย จะเสียเครื่องบัตรพลีเท่าไรเป็นไม่อั้นขออย่างเดียวให้ท่าน “กลับลิขิตเดิม” ของท่านเท่านั้น จะว่ามนุษย์เราชอบไปชวนพระพรหมท่านให้ “คอรัปชั่น” คำลิขิตของท่านเอง ก็คงจะได้กระมัง พระพรหมท่านก็ดีเหลือใจ ทั้งที่รู้ทั้งเห็นก็ไม่เคยห้ามปรามไม่เคยออกปากสักทีว่าสิ่งที่มนุษย์สรรมากองไว้เป็นเครื่องบวงสรวงนั้น จะทรงโปรดหรือไม่ทรงโปรดประการใดยอมรับเอาทั้งนั้น ไม่ว่าของนั้นจะดีหรือไม่ดี ไม่ว่าจะของสดของแห้งอย่างไรแต่ท่านจะ “คอรัปชั่น” ตัวเองหรือไม่นั้นยังพิสูจน์กันไม่ได้ แต่ก็พอมีอยู่บ้างหรอกที่สมหวังกันหลังจากอ้อนวอนขอกัน ก็คงจะบังเอิญมากกว่ากระมัง เพราะถ้าไม่บังเอิญแล้วก็จะกลายเป็นว่า พระพรหมท่านก็ชอบ “สินบน” เหมือนกัน! ความจริงยกเอาเรื่องนี้มาเขียน มิใช่จะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับพระพรหม (ความจริงน่าจะว่ากับลูกศิษย์พระพรหมมากกว่า) หรือมิใช่จะว่ากระทบพระพรหมท่านหรอก เพียงแต่อยากฝากไว้ให้คิดเป็นการบ้านเท่านั้น แม้จะนำไปคิดเป็นการวัดบ้างก็ไม่เสียหายอย่างไร คือ คำว่า “พรหมลิขิต” ที่คนโบราณท่านว่าไว้น่าจะไม่ใช่ หมายถึง “พระพรหม” ดังที่เราทั่งไปเข้าใจกันเสียแล้วเพราะหากว่าพระพรหมท่านมีคุณธรรมสูงส่งเป็นเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์อาจดลบันดาลให้ใครดีใครชั่วได้แล้วไซร์ใยท่านจึงไม่ลิขิตชีวิตคนทุกคนให้เป็นคนดี คนรวย มีฐานะมั่งคั่ง มีรูปร่างสมประกอบไม่มีโรคมีอายุยืน และให้มีรูปร่างสวยงามโดยไม่ต้องมาเสริมกันในภายหลังเล่า แต่นี่คนเรากลับแตกต่างกันอย่างมากมายทั้งรูปร่าง ฐานะและความเป็นอยู่ ที่สุขก็สุขเหลือล้น ที่จนก็จนเหลือแสน ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ หรือ “พระพรหมเกเร” ก็มีเหมือนกัน จึงได้เที่ยวแกล้งลิขิต ชีวิตคนให้เปรอะไปหมด เมื่อไม่ใช่พระพรหมเช่นว่าแล้ว จะเป็นพระพรหมที่ไน ท่านคงมองออกลางๆ แล้วว่าผู้ลิขิตชีวิตคนให้ดีเลวแตกต่างกันแท้จริงนั้นได้แก่ “พรหมในบ้าน” คือพ่อแม่นี้เองเพราะพรหมในบ้านนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพรหมเฉยๆ โดยไม่ปรากฎหน้าก็มีเป็นพรหมที่ดีบริสุทธิ์ก็มี พรหมเกเรก็มี พรหมเหล่านี้แหละที่มีอิทธิพลต่อชีวิตคน โดยเฉพาะชีวิตของลูก เรียกว่าเป็น พระพรหม ของใครของมัน ลิขิตชีวิตลูกใครลูกมัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันมากนักว่างั้นเถอะเพราะพ่อแม่นั้นมีส่วนได้ดีได้เสียของลูกอย่างเหลือคณนาจะดีก็เพราะพ่อแม่จะเสียก็เพราะพ่อแม่ สุดแล้วแต่พ่อแม่จะลิขิตอนาคตของลูกฝากไว้กับ “ประกาศิต” ของพ่อแม่เท่านั้น ขอให้มองด้วยใจเป็นธรรจะเห็นจริง อย่าได้ไปโทษเด็กฝ่ายเดียวว่าไม่รักดีเลย ชีวิตของเราฝากไว้กับการตัดสินใจของพ่อแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มาทีเดียว พอเราเกิดมาในท้องท่านแล้ว หากแม่เกิดความไม่พอใจขึ้นมาโดยคิดว่าเราเป็น “ส่วนเกิน” หรือเป็น “มารหัวขน” แล้วลิขิตว่า “เอามันออกเสีย” เท่านี้ก็หมดหวังที่จะได้ลืมตามองโลก หรือพอคลอดออกมาแล้วพ่อลิขิตว่า “ไม่ใช่ลูกฉัน” เท่านี้เราก็ขาดพ่อ มีปมด้อยไปตลอดชาติ หรือแม่ลิขิตว่า “แม่เลี้ยงเจ้าไม่ได้แล้วลูกเอ๋ย ไปตามยถากรรมเถอะ” ลิขิตแล้วนำไปทิ้งตามถนนหนทาง หรือตามกองขยะ หรือตามโรงพยาบาลที่ตนไปคลอดนั่นเอง เท่านี้ก็เพียงพอที่จะให้เราคิดกันได้ว่า เมื่อถูกลิขิตเช่นนี้ลูกจะมีชีวิตรอดอยู่ได้สักกี่ราย หรือรอดแล้วอนาคต จะเป็นเช่นไรไม่รู้ หรือหากเมื่อเราเติบโตแล้วถูกพ่อแม่ลิขิตโดยวิธีไม่เอาใจใส่ ไม่ดูแลเลี้ยงดูให้ดีเท่าที่ควรนักเพียงเลี้ยงให้โตไปวันๆ เท่านั้นก็พอแล้วส่วนความประพฤติปล่อยไปตามเรื่องตามราว ทำให้กลายเป็นอาชญากร ก่ออาชญากรรม เป็นบุคคลที่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม หรือไม่ส่งเสียให้มีการศึกษาเหมือนคนอื่นๆ เท่านี้เราก็แย่แล้ว ใครถูกพ่อแม่ลิขิตมาแล้วอย่างไร โปรดคิดดูเองเถิด หรือใครลิขิตชีวิตลูกไว้อย่างไรลองทบทวนดู ด้วยประการฉะนี้ คนในสังคมซึ่งแตกต่างกันมากมายอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ความเป็นคนี ความเป็นคนไม่ดี ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนเริ่มต้นก็มาจากลิขิตของพ่อแม่ซึ่งเป็นพระพรหมดังกล่าว หาใช่พระพรหมที่เป็นเทพเจ้า ผู้มีอิทธิปาฏิหาริย์อย่างเราเคยเชื่อกันไม่ และก็น่าแปลกอยู่ พระพรหมในบ้านซึ่งมีลมหายใจ ทั้งคู่ซึ่งเคยลิขิตชีวิตตนมา สมควรจะได้รับเครื่องบัตรพลีบูชาอย่างท่วมท้น แต่เรากลับไม่แยแสกันเสียนี่ ปล่อยให้ท่านอดๆ อยากๆ ก็มีถมไป และบางครั้งจะนำเครื่องบัตรพลีไปให้ท่านบ้าง เรากลับเสียดายของเสียอีก ทีนไปบวงสรวงเทพเจ้าที่ท่าน ก็มิได้ต้องการและไม่รู้ไม่ชี้ด้วย เรากลับยอมเสียกันได้ เรื่องนี้ก็แปลกอยู่และจะแปลกต่อไปอีกเท่าไรก็ไม่มีใครบอกได้ถูก