กฎแห่งกรรมแตกต่างจากพรหมลิขิตอย่างไร?
#1
โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 11:55 AM
บางท่านโจมตีศาสนาพุทธว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของทาส คือสอนให้ชนชั้นล่างยอมรับในการถูกกดขี่ โดยใช้ทฤษฏี
กรรมเก่า เหมือนกับศาสนาฮินดู ที่เชื่อในเรื่อง พรหมลิขิต คือ กรรมในอดีตชาติได้ผลในชาติปัจุบัน-อนาคตของเรา พระเจ้า
กำหนดแผนที่ชีวิตของเราไว้แล้ว เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
แต่โดยแท้จริงแล้ว ศาสนาพุทธของเราลึกซึ้งกว่านั้นมาก พระพุทธองค์ทรงสอนว่า เราสามารถทำกรรมใหม่ ไปเปลี่ยนแปลง
กรรมเก่าได้ ผลของกรรมใหม่ มันจะไปเปลี่ยนแปลงแผนที่เดิมของกรรมเก่าหรือพรหมลิขิตได้ เพียงแต่ผลของการเปลี่ยน
แปลงนั้น มันจะเร็วหรือช้าเท่านั้น ไม่ใช่เราทำอะไร ไปคิดว่าแก้กรรม(พรหมลิขิต)อะไรไม่ได้เลย ต้องยอมรับพรหมลิขิตหรือ
วิบากกรรมเก่าสถานเดียว
เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ กรรมเก่าหรือพรหมลิขิตก็คือ ไอ้ที่เรากำลังเป็นอยู่และเคยเป็นมาแล้ว ส่วนกรรมใหม่ก็คือ ไอ้ที่กำลัง
จะทำและกำลังทำอยู่ หรือทำไปแล้วในชาตินี้แต่ยังไม่ส่งผลให้ตอนนี้
ขบวนการของกรรมเก่าที่ได้ให้ผลหรือกำลังให้ผล ที่เรียกว่า พรหมลิขิต + กรรมใหม่ที่กำลังจะทำ ที่กำลังทำอยู่ และที่ทำ
ไปแล้วในชาตินี้ แต่ยังไม่ส่งผลให้ตอนนี้ รวมทั้งหมดพระพุทธองค์เรียกว่า กฎแห่งกรรม
พูดอีกแง่หนึ่ง พรหมลิขิต คือ กฎแห่งกรรมในอดีตที่มีผลต่อปัจจุบันและอนาคต มันเป็น แผนที่ชีวิตที่วางไว้แล้ว แต่ปัจจุบัน
และอนาคตของเราก็หาได้เป็นไปตามพรหมลิขิตหรือแผนที่ชีวิตเช่นนั้นเสมอไปไม่ เพราะเราเป็นผู้ตัดสินใจในการทำกรรมใหม่
ที่เปลี่ยนแปลงพรหมลิขิต หรือแผนที่ชีวิตของเราด้วย
เราคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า การเด็ดดอกไม้เพียงดอกเดียว สะเทือนไปถึงดวงดาว มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เราตัดสินใจทำกรรม
ดีกรรมชั่วในตอนนี้ มันสะเทือนไปถึงปัจจุบันและอนาคตของเราด้วย ด้วยเหตุนี้ หมอดูดังๆจำนวนมากมักทำนายเหตุการณ์
ต่างๆผิดพลาด เพราะเขารู้แต่พรหมลิขิต หรือแผนที่ชีวิตชุดเดิม พรหมลิขิตหรือแผนที่ชีวิตชุดใหม่เขาไม่รู้ แม้แต่พระอริยะเจ้า
ท่านยังทำนายพรหมลิขิตหรือแผนที่ชีวิตชุดใหม่ไม่ได้เลย ท่านรู้เฉพาะพรหมลิขิตหรือแผนที่ชีวิตชุดเดิมเท่านั้น
ผมจะขอยกตัวอย่างพระอริยะเจ้าที่ทำนายผิดพลาด 2 ท่าน มาเป็นตัวอย่างนะครับ
1. หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม
หลวงพ่อจรัญทำนายว่า.....อาตมาจะมรณภาพวันที่ 14 ตุลาคม 2521 เวลาเที่ยง 12.45 น.ด้วยอุบัติเหตุรถคว่ำคอหักตาย
นั่นคือพรหมลิขิตหรือแผนที่ชีวิตชุดเดิมของท่าน
เมื่อถึงเวลานั้น หลวงพ่อจรัญท่านก็เกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ คอหักจริงๆ แต่ท่านไม่ตาย ด้วยเหตุที่ หลวงพ่อจรัญได้สำนึกบาป
ที่ฆ่าหักคอไก่จำนวนมาก และแผ่เมตตาให้ไก่เหล่านั้น ไก่เหล่านั้นเลยให้อภัย ท่านจึงแค่คอหัก แต่ไม่ตาย
นี่คือพรหมลิขิตหรือแผนที่ชีวิตชุดใหม่ของท่าน
วิเคราะห์
- หลวงพ่อจรัญมองเห็นกรรมเก่าที่จะให้ผล(ตามพรหมลิขิต/กฎแห่งกรรม)
- หลวงพ่อจรัญมองไม่เห็นกรรมใหม่ที่จะให้ผล ท่านทำกรรมใหม่ คือ สำนึกบาปที่ฆ่าหักคอไก่จำนวนมาก และแผ่เมตตาให้ไก่เหล่านั้น
- กรรมใหม่ส่งผลเปลี่ยนพรหมลิขิต กฎแห่งกรรมในอดีต จึงให้ผลไม่ได้เต็มกำลัง เพราะโดนวิบากกรรมดีในชาตินี้ช่วยไว้
2. พระสารีบุตร
ในครั้งพุทธกาล พระสารีบุตร และภิกษุอื่นๆ ต่างไม่ได้ให้พรเณรบวชใหม่คนหนึ่ง ให้มีอายุยืน เพราะวิบากกรรมของเขาต้องตาย
ถึงฆาตแน่ พระสารีบุตรได้เล็งเห็นว่า เณรผู้นี้จะมรณะในอีก 7 วัน
ท่านจึงอนุญาตให้เณรกลับไปเยี่ยมบ้าน เพื่อโปรดบิดามารดา และญาติโยมทางบ้านเป็นครั้งสุดท้าย
นั่นคือพรหมลิขิตหรือแผนที่ชีวิตชุดเดิมของเณรบวชใหม่
เมื่อเพลาผ่านไปเจ็ดวัน เณรได้กลับมายังอารามเหมือนเดิม พระสารีบุตรเองแปลกใจว่า เพราะเหตุใดเณรคนนั้นไม่ตาย ท่านจึง
ได้สอบถามเณรว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างทางไปและกลับ เณรได้แถลงไขว่า ระหว่างทางที่ไปนั้น ได้พบปลาจำนวนหนึ่ง
ตกคลักในหนองน้ำที่ใกล้แห้ง จึงได้เอาจีวรช้อนขึ้นมาไปปล่อยในแหล่งน้ำที่ใกล้ๆ
ด้วยญาณแห่งพระสารีบุตร ท่านก็ทราบได้ว่า ปลาเหล่านั้น คืออดีตเจ้ากรรมนายเวรของเณรผู้นั้นเอง และเมื่อเณรได้นำปลาไป
ปล่อยในแหล่งน้ำ เท่ากับว่าได้ทำบุญต่ออายุให้กับตัวเอง และเจ้ากรรมนายเวรนั้น จึงได้อโหสิกรรมให้เณร
นั่นคือพรหมลิขิตหรือแผนที่ชีวิตชุดใหม่ของเณรบวชใหม่
วิเคราะห์
- พระสารีบุตรมองเห็นกรรมเก่า(พรหมลิขิต/แผนที่ชีวิต)ที่จะให้ผลให้เณรคนหนึ่งตาย
- พระสารีบุตรมองไม่เห็นกรรมใหม่ ที่จะให้ผลให้เณรคนนั้นไม่ตาย ซึ่งเป็นตอนที่เณรคนนั้นเดินทางกลับบ้าน เณรไปปล่อย
ปลา ซึ่งเป็นการทำกรรมใหม่ ทำให้กรรมเก่าของเณรไม่ส่งผล
มีแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่สามารถเห็นอนาคตที่ไม่เปลี่ยนแปลง
สรุป
กฎแห่งกรรมก็คือพรหมลิขิตนั่นเอง แต่กฎแห่งกรรมบอกวิธีการแก้พรหมลิขิต หรือ แก้แผนที่กฎแห่งกรรมในอดีตที่ส่งผลถึง
ปัจจุบันและอนาคตเอาไว้ด้วย ถ้าเราทำตามพรหมลิขิต โดยไม่แก้ไขอะไรให้ดีขึ้น ก็เท่ากับเราไม่เข้าใจกฏแห่งกรรมอย่าง
แท้จริง
#2
โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 01:21 PM
แต่อยากจะให้ศึกษาความหมายของศัพท์แสงให้ลึกซึ้งขึ้นอีกนิดนึงนะครับ
คำว่า พรหม ถ้าความเข้าใจในทางพระพุทธศาสนา ก็คือ อดีตมนุษย์ ผู้ตั้งใจบำเพ็ญพรหมวิหาร 4 จนเป็นนิสัย อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือ อดีตมนุษย์ผู้ที่ฝึกสมาธิจิตอย่างยิ่งยวด จนสมาธิตั้งมั่น หยุดนิ่งจนถึงระดับรูปฌาณ ซึ่ง มี 4 ขั้นได้แก่ ปฐมฌาน (ฌาน 1) ทุติยฌาน (ฌาน 2) ตติยฌาน (ฌาน 3) และจตุตถฌาน (ฌาน 4)
ครั้นเมื่อละโลกแล้ว อดีตมนุษย์เหล่านี้จะได้ไปบังเกิดในพรหมโลก ตามกำลังแห่งบุญของตนน่ะครับ เมื่อไปบังเกิดเป็นพรหมแล้ว ก็ไม่ต้องทานอาหารทิพย์แต่อย่างใด ทั้งนี้สมาธิจิตแก่กล้า จึงดื่มกินปีติสุขจากใจที่หยุดนิ่งเป็นสมาธิได้ครับ
พรหมเหล่านี้ จะใช้เวลาไปกับการหยุดใจเรื่อยๆไป ดังนั้น บางทีจึงไม่ได้มาสนใจโลกมนุษย์เลยน่ะครับ และเมื่อหมดบุญจากพรหมแล้ว ก็อาจต้องกลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์ หรือ เทวดา หรือ อื่นๆ อีกนะครับ
ทีนี้คำว่า ลิขิต หมายถึง กำหนดแนวทางดำเนินชีวิตให้คนอื่น
ดังนั้น พรหมลิขิต หากหมายตามคำศัพท์ ย่อมหมายถึง พรหมได้กำหนดแนวทางดำเนินชีวิตให้กับสรรพสัตว์ ซึ่งก็จะมีปัญหาอยู่บางประการคือ แล้วใครไปกำหนดแนวทางดำเนินชีวิตให้พรหม หรือ พูดง่ายๆ ว่า ใครลิขิตพรหม นั่นเองครับ
ด้วยเหตุนี้ พรหมจึงไม่ได้ลิขิต แต่ทุกๆ ชีวิตลิขิตตัวเอง อยากจะลิขิตให้ชีวิตตัวเองเป็นพรหม ก็เป็นได้ ด้วยการบำเพ็ญพรหมวิหาร 4 จนเป็นนิจ หรือ อยากจะลิขิตให้ตนเอง เป็นเทวา ก็เป็นได้ ด้วยการฝึกเทวธรรม หิริโอตัปปะ (ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป) หรือ อยากจะลิขิตให้ตนเองต้องตกอยู่ในภพอบาย ก็ทำได้ ด้วยการผิดศีลเป็นว่าเล่น ละโลกแล้ว ก็จะไปอบาย เป็นต้น
#3
โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 02:36 PM
ผมเห็นขัดแย้งนิดนึงกับประโยคข้างต้น ส่วนตัวมีความเห็นว่าทุกอย่างล้วนแต่เป็นเหตุเป็นผล ไม่มีอะไรบังเอิญในโลกใบนี้ กฏแห่งกรรมไม่ใช่พรหมลิขิต ชีวิตเราออกแบบได้ แต่ต้องลงมือแบบ ณ วินาทีนี้ ส่วนจะผลิดอกออกผลเมื่อใหร่ก็เป็นอีกเรื่องนึง มนูษย์ถูกบดบังให้ความจำสั้น เพราะฉะนั้นเมื่อการกระทำในชาติถัดๆ ไปผลิดอกออกผล ก็เลยไม่ทราบที่มาที่ไป เลยเถิดให้คิดไปว่าคือพรหมลิขิต คือโชคหรือดวง แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างล้วนแต่เป็นผลของบุญหรือกรรมที่ประกอบไว้ทั้งสิ้น
#4
โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 05:27 PM
ไฟล์แนบ
#5
โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 08:21 PM
พรหมลิขิต มีคำกล่าวและเชื่อถือกันมาแต่โบราณแล้วว่าทุกคนเกิดมาตามอำนาจ “พรหมลิขิต” ชีวิตจะดีจะเลวหรือสมหวังผิดหวังอย่างไร แล้วแต่พระพรหมท่านจะลิขิตให้เป็นไป เราจะไปฝืนพระพรหมท่านไม่ได้ เพราะท่านขีดให้เราเดินมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกเลยทีเดียว เพราะเชื่อถือหรือกระพือข่าวบอกเล่ากันสืบๆ มา คำนี้ก็เลยติดปากคนทั่วไปและทำทีว่าจะยึดถือกันเป็นจริงเป็นจังเสียด้วยซ้ำ
แม้ในดงผ้าเหลืองเอง ความคิดความยึดถือเช่นนี้ก็ยังระบาดเข้าไปถึง! เพราะเชื่อและถือกันมาอย่างนี้ ทุกคนจึงฝากชีวิตไว้กับความปรานีของ พระพรหม ผู้เป็นเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ตามที่เชื่อถือกันแล้วแต่ท่านจะลิขิตชีวิตให้เป็นไป จนถึงกับมีการติดสินบนเทพเจ้าองค์นี้กันให้เกลื่อนไป ถึงกับยอมลงทุนบวงสรวงอ้อนวอนด้วยเครื่องบัตรพลีนานัปการ สรรหาแต่ละสิ่งละอย่างมาเสนอให้เพื่อให้ถูกใจท่าน โดยก็ไม่รู้เหมือนกันว่าท่านจะชอบหรือไม่ ก็ต้องเอาใจท่านกันไปจนกว่าจะเดาไม่ไหวหรือจนกว่าจะมี “คนกลาง” มาช่วยเดาให้อีกที ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ท่านโปรดปรานประทานเมตตาลิขิตชีวิตให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แม้จะสักนิดก็ยังดีที่มีทุกข์ก็อ้อนวอนให้พ้นทุกข์ ที่มีโรคก็อ้อนวอนให้หมดโรค ที่มีภัยก็อ้อนวอนให้พ้นภัย จะเสียเครื่องบัตรพลีเท่าไรเป็นไม่อั้น ขออย่างเดียวให้ท่าน “กลับลิขิตเดิม” ของท่านเท่านั้น
จะว่ามนุษย์เราชอบไปชวนพระพรหมท่านให้ “คอรัปชั่น” คำลิขิตของท่านเอง ก็คงจะได้กระมัง พระพรหมท่านก็ดีเหลือใจ ทั้งที่รู้ทั้งเห็นก็ไม่เคยห้ามปรามไม่เคยออกปากสักทีว่าสิ่งที่มนุษย์สรรมากองไว้เป็นเครื่องบวงสรวงนั้น จะทรงโปรดหรือไม่ทรงโปรดประการใดยอมรับเอาทั้งนั้น ไม่ว่าของนั้นจะดีหรือไม่ดี ไม่ว่าจะของสดของแห้งอย่างไรแต่ท่านจะ “คอรัปชั่น” ตัวเองหรือไม่นั้นยังพิสูจน์กันไม่ได้ แต่ก็พอมีอยู่บ้างหรอกที่สมหวังกันหลังจากอ้อนวอนขอกัน ก็คงจะบังเอิญมากกว่ากระมัง เพราะถ้าไม่บังเอิญแล้วก็จะกลายเป็นว่า พระพรหมท่านก็ชอบ “สินบน” เหมือนกัน!
ความจริงยกเอาเรื่องนี้มาเขียน มิใช่จะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับพระพรหม(ความจริงน่าจะว่ากับลูกศิษย์พระพรหมมากกว่า) หรือมิใช่จะว่ากระทบพระพรหมท่านหรอก เพียงแต่อยากฝากไว้ให้คิดเป็นการบ้านเท่านั้น แม้จะนำไปคิดเป็นการวัดบ้างก็ไม่เสียหายอย่างไร คือ คำว่า “พรหมลิขิต” ที่คนโบราณท่านว่าไว้ น่าจะไม่ใช่ หมายถึง “พระพรหม” ดังที่เราทั่วไปเข้าใจกันเสียแล้ว เพราะหากว่าพระพรหมท่านมีคุณธรรมสูงส่งเป็นเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์อาจดลบันดาลให้ใครดีใครชั่วได้แล้วไซร้ใยท่านจึงไม่ลิขิตชีวิตคนทุกคนให้เป็นคนดี คนรวย มีฐานะมั่งคั่ง มีรูปร่างสมประกอบไม่มีโรคมีอายุยืน และให้มีรูปร่างสวยงามโดยไม่ต้องมาเสริมกันในภายหลังเล่า แต่นี่คนเรากลับแตกต่างกันอย่างมากมายทั้งรูปร่าง ฐานะและความเป็นอยู่ ที่สุขก็สุขเหลือล้น ที่จนก็จนเหลือแสน ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ หรือ “พระพรหมเกเร” ก็มีเหมือนกัน จึงได้เที่ยวแกล้งลิขิต ชีวิตคนให้เปรอะไปหมด
เมื่อไม่ใช่พระพรหมเช่นว่าแล้ว จะเป็นพระพรหมที่ไหน ท่านคงมองออกลางๆ แล้วว่าผู้ลิขิตชีวิตคนให้ดีเลวแตกต่างกันแท้จริงนั้นได้แก่ “พรหมในบ้าน” คือพ่อแม่นี้เอง เพราะพรหมในบ้านนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นพรหมเฉยๆ โดยไม่ปรากฎหน้าก็มี เป็นพรหมที่ดีบริสุทธิ์ก็มี พรหมเกเรก็มี พรหมเหล่านี้แหละที่มีอิทธิพลต่อชีวิตคน โดยเฉพาะชีวิตของลูก เรียกว่าเป็น พระพรหม ของใครของมัน ลิขิตชีวิตลูกใครลูกมัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันมากนักว่างั้นเถอะ เพราะพ่อแม่นั้นมีส่วนได้ดีได้เสียของลูกอย่างเหลือคณา จะดีก็เพราะพ่อแม่ จะเสียก็เพราะพ่อแม่ สุดแล้วแต่พ่อแม่จะลิขิตอนาคตของลูกฝากไว้กับ “ประกาศิต” ของพ่อแม่เท่านั้น ขอให้มองด้วยใจเป็นธรรมจะเห็นจริง อย่าได้ไปโทษเด็กฝ่ายเดียวว่าไม่รักดีเลย ชีวิตของเราฝากไว้กับการตัดสินใจของพ่อแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มาทีเดียว พอเราเกิดมาในท้องท่านแล้ว หากแม่เกิดความไม่พอใจขึ้นมาโดยคิดว่าเราเป็น “ส่วนเกิน” หรือเป็น “มารหัวขน” แล้วลิขิตว่า “เอามันออกเสีย” เท่านี้ก็หมดหวังที่จะได้ลืมตามองโลก หรือพอคลอดออกมาแล้วพ่อลิขิตว่า “ไม่ใช่ลูกฉัน” เท่านี้เราก็ขาดพ่อ มีปมด้อยไปตลอดชาติ หรือแม่ลิขิตว่า “แม่เลี้ยงเจ้าไม่ได้แล้วลูกเอ๋ย ไปตามยถากรรมเถอะ” ลิขิตแล้วนำไปทิ้งตามถนนหนทาง หรือตามกองขยะ หรือตามโรงพยาบาลที่ตนไปคลอดนั่นเอง
เท่านี้ก็เพียงพอที่จะให้เราคิดกันได้ว่า เมื่อถูกลิขิตเช่นนี้ลูกจะมีชีวิตรอดอยู่ได้สักกี่ราย หรือรอดแล้วอนาคตจะเป็นเช่นไรก็ไม่รู้ หรือหากเมื่อเราเติบโตแล้วถูกพ่อแม่ลิขิตโดยวิธีไม่เอาใจใส่ ไม่ดูแลเลี้ยงดูให้ดีเท่าที่ควรนักเพียงเลี้ยงให้โตไปวันๆ เท่านั้นก็พอแล้วส่วนความประพฤติปล่อยไปตามเรื่องตามราว ทำให้กลายเป็นอาชญากร ก่ออาชญากรรม เป็นบุคคลที่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม หรือไม่ส่งเสียให้มีการศึกษาเหมือนคนอื่นๆ เท่านี้เราก็แย่แล้ว ใครถูกพ่อแม่ลิขิตมาแล้วอย่างไร โปรดคิดดูเองเถิด หรือใครลิขิตชีวิตลูกไว้อย่างไรลองทบทวนดู
ด้วยประการฉะนี้ คนในสังคมซึ่งแตกต่างกันมากมายอย่างที่เห็นๆกันอยู่ ความเป็นคนดี ความเป็นคนไม่ดี ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนเริ่มต้นก็มาจากลิขิตของพ่อแม่ซึ่งเป็นพระพรหมดังกล่าว หาใช่พระพรหมที่เป็นเทพเจ้า ผู้มีอิทธิปาฏิหาริย์อย่างเราเคยเชื่อกันไม่ และก็น่าแปลกอยู่ พระพรหมในบ้านซึ่งมีลมหายใจ ทั้งคู่ซึ่งเคยลิขิตชีวิตตนมา สมควรจะได้รับเครื่องบัตรพลีบูชาอย่างท่วมท้น แต่เรากลับไม่แยแสกันเสียนี่ ปล่อยให้ท่านอดๆ อยากๆ ก็มีถมไป และบางครั้งจะนำเครื่องบัตรพลีไปให้ท่านบ้าง เรากลับเสียดายของเสียอีก ทีไปบวงสรวงเทพเจ้าที่ท่าน ก็มิได้ต้องการและไม่รู้ไม่ชี้ด้วย เรากลับยอมเสียกันได้ เรื่องนี้ก็แปลกอยู่และจะแปลกต่อไปอีกเท่าไรก็ไม่มีใครบอกได้ถูก
#6
โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 09:19 PM
จากพระธรรมเทศนาอันงดงามดังกล่าว จึงขออนุญาตท่าน จขกท.สำหรับการให้ความเห็น...เนื่องจากท่านฯมิได้ขอความเห็นจากสมาชิกไว้
1. การนำข้อความใดๆมาโพสต์ โดยไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มา...หรือ หากท่านฯได้ศึกษาอ่านบทความต่างๆแล้วนำมาผนวก...หรือโพสต์โดยใส่ความคิดเห็น-การวิเคราะห์ของตน หรือ หากตัวท่านเองนั้น เป็นผู้รู้ทางปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เทศนา ก็ควรแจ้ง-ลิ๊งค์เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของในข้อความ
2. การที่ท่าน จขกท.ได้นำตัวอย่าง ของพระสุปฏิปัณโณ มาวิเคราะห์-สรุปว่าเป็นพรหมลิขิต ความผิดพลาดของพระคุณเจ้า โดยไม่มีที่มา และการนำมาจากเว็บใดๆ อาทิ ลาน..., พัน..., พลัง..., ฯลฯ กระผมตรองแล้ว ไม่เหมาะสมครับ
3. เรื่องของพระสารีบุตร และ สามเณรนั้น มาจากตำนานการแห่ปลา ปล่อยปลาของชาวมอญ ครับ...หากมีอ้างอิงจากอรรถกถาจะยอดเยี่ยมมากครับ...การเล่านั้นเป็นประโยชน์ให้ชนรุ่นหลัง รู้ถึงอานิสงส์อภัยทาน...การให้ชีวิตสรรพสัตว์มากกว่าที่จะมาวิเคราะห์ว่าเป็นการทำนายผิดพลาดในญานทัศนะของพระอริยเจ้าแต่อย่างใด...กระผมตรองแล้วมิเป็นการสมควรครับ
4. การสรุปว่ากฎแห่งกรรมก็คือพรหมลิขิตนั่นเอง แต่กฎแห่งกรรมบอกวิธีการแก้พรหมลิขิต นั้นดูจะไม่เป็นตรรกะครับ เพราะถ้ากฎแห่งกรรมคือพรหมลิขิตจริง ทำไมไม่กล่าวว่า"พรหมลิขิตบอกวิธีการแก้กฏแห่งกรรม"ได้เล่าครับ
เป็นความเห็นของกระผมเอง...ขอ จขกท.โปรดพิจารณา อย่าถือโกรธ...ด้วยความเคารพ...ขออย่านำความเห็นของกระผม ลิ๊งค์ไปยังเว็บอื่นๆ ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เหตุเกิดที่ไหน ก็ต้องดับที่นั่นครับ
#7
โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 09:51 PM
พวกเราทุกชีวิตมีพุทธะอยู่ภายใน พุทธะ ก็คือ พรหม แต่พรหมในที่นี้ไม่ใช่พรหมในชั้นโลกีย์ แต่เป็นพรหมในชั้นโลกุตตระ
ที่เรียกว่า พระวิสุทธิเทพ
พรหมลิขิต = ตัวของเราที่เป็นพุทธะ หรือจิตบริสุทธิ์สูงสุด ลิขิตให้ขันธ์ 5 ตัวของเรา ต้องรับวิบากกรรมของตัวเราเอง
เกิดเป็นเปรตบ้าง เป็นเทวดานางฟ้าบ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นพรหมบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง และเป็นมนุษย์บ้าง เมื่อ
เปรต เทวดานางฟ้า สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ และพรหม ท่านนั้น รู้ตัวเองว่ากำลังฝันไป เมื่อเขาก็ตื่นขึ้นมาจากความฝัน
เมื่อไร เขาก็จะกลับเป็นพุทธะเหมือนเดิม
กฎแห่งกรรม ก็คือกฎที่พวกเราเหล่าพุทธะตั้งขึ้นมาเอง เพื่อควบคุมการเล่นของเราในสังสารวัฏฐ์ และหาทางกลับ
เข้าไปเป็นพุทธะเหมือนเดิม
ศาสนาพราหมณ์เขารู้แค่กฎแห่งกรรมในอดีต ทำให้ต้องรับวิบากกรรมในชาตินี้ = พรหมลิขิต แต่เขาไม่รู้ว่า แก่นภายใน
ของเราคือ พรหมสูงสุด หรือพุทธะ เราจึงเป็นผู้ลิขิตชีวิตตัวของเราเองทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
#8
โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 10:15 PM
http://www.dmc.tv/fo...showtopic=20419
ภาษาไทยในปัจจุบันเป็นคำเป็น ความหมายดิ้นได้ โดยอาจแปลเปลี่ยนตามกาล...ดังนั้นเพื่อเป็นการสื่อให้เข้าใจกันในความหมายเดียวกัน ขอเสนอให้ใช้ความหมายตามพจนานุกรมไทยซึ่งบัญญัติโดยราชบัณฑิตเป็นหลักนะครับ ไม่แนะนำให้ใช้ความหมายจากการตีความ ดังเช่นคำว่า"พรหมลิขิต"ซึ่งท่านนิยามไว้ว่า
http://guru.sanook.c...arch/พรหมลิขิต/
หรือ คำว่า"กฎแห่งกรรม"ที่ท่านได้กล่าวว่า
เข้าไปเป็นพุทธะเหมือนเดิม
http://guru.sanook.c...e...C1&select=1
การโพสต์ข้อความใดๆ อย่าลืมอ้างอิงจากอรรถกถานะครับ เช่น ผมเองเพิ่งจะทราบว่า มีการแบ่งพรหมเป็น พรหมในชั้นโลกีย์ และ พรหมในชั้นโลกุตตระ ดังคำกล่าวของท่าน จขกท.ความว่า...
*** หากไม่เป็นการรบกวน จขกท. กรุณาหาที่มาที่ไปของคำกล่าวเป็นธรรมทานด้วยครับ
#9
โพสต์เมื่อ 02 January 2010 - 02:36 AM
เท่าที่รู้ก็มี รูปพรหม 16 ชั้น อรูปพรหม 4 ชั้นเท่านั้นเอง
ชั้นโลกุตระนี่ไม่เคยได้ยินจริงๆ
http://www.dmc.tv/pa...ide/page05.html
รูปพรหม 16ชั้น ได้แก่
1.พรหมปาริสัชชาภูมิ
2.พรหมปุโรหิตาภูมิ
3.มหาพรหมาภูมิ
4.ปริตตาภาภูมิ
5.อัปปมาณาภาภูมิ
6.อาภัสสราภูมิ
7.ปริตตสุภาภูมิ
8.อัปปมาณสุภาภูมิ
9.สุภกิณหาภูมิ
10.เวหัปผลาภูมิ
11.อสัญญีสัตตาภูมิ
12.อวิหาสุทธาวาสพรหมภูมิ
13.อตัปปาสุทธาวาสพรหมภูมิ
14.สุทัสสาสุทธาวาสพรหมภูมิ
15.สุทัสสีสุทธาวาสพรหมภูมิ
16.อกนิฏฐสุทธาวาสพรหมภูมิ
อรูปพรหม 4ชั้น ได้แก่
1.อากาสานัญจายตนภูมิ
2.วิญญาณัญจายตนภูมิ
3.อากิญจัญญายตนภูมิ
4.เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
- ไมโคร (เพลง หยุดมันเอาไว้)
"แค่หลับตา... (ลบเลือนทุกสิ่ง เหลือเพียงหนึ่งเดียว) เธอจะเห็นยามเธอหลับตา... (ใช้ใจสัมผัสและมองสิ่งนั้น) เธอจะเห็นตัวฉันเป็นอย่างที่เป็น"
- อุ๊ หฤทัย (เพลง แค่หลับตา)
#10
โพสต์เมื่อ 02 January 2010 - 10:08 PM
อยากทราบที่มาของบทความ นี้เหมือนกันครับ
ว่าเป็นของท่านใด
สนใจศึกษาเพิ่มเติม และเผื่อจะได้สนทนาธรรมหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความเข้าใจ
เรื่อง พรหมลิิขต ได้บ้าง
ขอบคุณครับ
#11
โพสต์เมื่อ 03 January 2010 - 08:54 PM
ดิฉันก็เห็นด้วยว่าการกล่าวถึงพระสุปฏิปันโณแบบนั้น รู้สึกว่าจะเป็นการไม่เหมาะสมค่ะ นอกจากว่าเป็นคำพูดของท่านเอง
เข้าไปเป็นพุทธะเหมือนเดิม
ได้อ่านประโยคนี้ แล้วรู้สึกตกใจเป็นอย่างมาก
ขออภัยเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถามว่า ไม่ทราบว่าได้แนวคิดเหล่านี้มาจากไหน พอจะบอกแหล่งที่มา หรือแหล่งอ้างอิงที่เทียบเคียงกับพระไตรปิฎกได้หรือไม่?
ความพร้อมเกิดขึ้น เมื่อเริ่มต้นลงมือทำ (โอวาทหลวงพ่อ 27/4/51)
ไม่มีสิ่งใดที่จะรัดตรึงใจบุรุษให้หลงใหลได้มากเท่ากับสตรี ไม่มีสิ่งใดที่จะรัดตรึงใจสตรีให้หลงใหลได้มากเท่ากับบุรุษ
แท้จริงแล้วความรักก็เปรียบดั่งเครื่องพันธนาการ ที่มัดตรึงเหนียวแน่น ให้ลุ่มหลงอยู่ ย่อมจะต้องเวียนว่ายตายเกิดและจมอยู่ในกองทุกข์ร่ำไป
#12
โพสต์เมื่อ 04 January 2010 - 01:01 PM
แล้วก็นั่งกินขนมรอเจ้าของกระทู้ต่อไป