MH370
#1
โพสต์เมื่อ 27 March 2014 - 10:00 PM
สงสารพวกเขาจัง
#2
โพสต์เมื่อ 28 March 2014 - 08:58 AM
ผมว่านะ แทนที่จะสนใจว่าเขาควรติดอย่างไร ทำอย่างไร มาสนใจตัวเราเองดีกว่า ว่าเราควรจะวางใจอย่างไรกับเรื่องพวกนี้
เมตตา คือ รู้สึกถึงทุกข์ของคนอื่น และมีความปราถนาดี อยากให้ทุกคนพ้นจากทุกข์เหล่านั้นได้ เป็นสิ่งที่ประเสริฐเพราะนั่นแสดงถึงความอ่อนนุ่มของจิตใจเรา สามารถฝึกใจตนเองได้ง่าย หัดตะล่อมใจให้กลม ใส ได้ง่าย ไม่แข็งกระด้าง ฝึกได้ยาก หัดได้ยาก แต่ข้อควรระวังก็คือ ตัวเราอย่าไปทุกข์ร่วมกับเขา เพราะจะทำให้เราใจหมองไปโดยไม่จำเป็น เอาเรื่องของคนอื่นมาใส่ตัว จนตัวเองร้อนไปด้วยอย่างนี้ ทางพระพุทธศาสนาถือว่า ขาดทุนครับ
กรุณา คือ เข้าใจในทุกข์ของคนอื่น และคิดหาทางออกจากทุกข์เหล่านั้นให้แก่พวกเขา เป็นสิ่งประเสริฐเพราะเป็นการฝึกใช้ปัญญาไตร่ตรองหาสาเหตุแห่งทุกข์ ทำให้ตัวเราสามารถเข้าใจในเรื่องทุกข์ได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีการใช้สิ่งที่เราได้เรียนรู้มาพิจารณาหาทางออกจากทุกข์เหล่านั้น "อย่างถูกวิธี" ซึ่งจะทำให้เราสามารถสอนสั่งตัวเองได้อย่างง่ายดายเมื่อตัวเองต้องประสบเหตุแห่งทุกข์นั้นบ้าง แต่ข้อควรระวังก็คือ เราต้องรู้จักกำลังของตัวเราเองให้ดีที่สุด ถ้าเราต้องดข้าไปช่วยคนอื่นดับทุกข์ ผลที่ได้ ทุกคนต้องพ้นจากทุกข์นั้น ทั้งตัวเขาและตัวเรา ถ้าเราลงไปช่วยเขาดับทุกข์แล้วทำเกินกำลังของตัวเอง สุดท้ายผลจากการกระทำนั้น ทำให้ตัวเองต้องเดือดร้อนอย่างใด อย่างหนึ่งนั่นถือว่าขาดทุนครับ
มุทิตา คือ ความรู้สึกชื่นชมยินดี ปลื้มปิติ ที่เราสามารถช่วยให้คนเหล่านั้นพ้นจากทุกข์ได้ "ด้วยตัวเขาเอง" โดยมีเราเป็นผู้ผลักดัน เป็นสิ่งประเสริฐเพราะเมื่อทุกคนมีทุกข์ อารมณ์พื้นฐานที่ต้องการคือ ความเข้าใจ การเห็นใจ และการปลอบประโลม ทำให้ผู้ที่ทุกข์รู้สึกมีที่ยึดเหนี่ยวจนสามารถที่จะใช้พยุงตัวเองจนลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง แต่ข้อควรระวังก็คือ ให้รู้จักที่จะแสดงออกให้พอดี แก่เหตุและผล การแสดงมุทิตาที่น้อยเกินไป อาจทำให้ผู้ที่กำลังหมดทุกข์รู้สึกว่าเราไม่ใส่ใจในความสำเร็จของเขา การแสดงมุทิตาที่มากเกินไปอาจจะทำให้รู้สึกดีมากจนเลยไปถึงการหลงตัวเอง ว่าตัวเองได้ทำสิ่งยิ่งใหญ่พิเศากว่าคนอื่น หรือไม่อย่างนั้น ผู้ที่หมดทุกข์ก็จะรู้สึกว่าเรากำลังสนุกมากเกิน จนดูเหมือนเป็นเรื่องล้อกันเล่น ใช้ปัญญาพิจารณาให้พอเหมาะ พอควรเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างยิ่ง
สุดท้าย อุเบกขา คือ ความเข้าใจในตัวเอง ไม่ให้หมุนไปตามกระแสความทุกข์ของคนอื่น เรารับรู้ความทุกข์ของคนอื่นแล้ว เราพิจารณาทางออกจากทุกข์ของคนอื่นแล้ว ให้หันกลับมาพิจารณาตัวเองทันทีว่าเราทำอะไรได้แค่ไหน เต็มที่ของเราคือแค่ไหน ถ้าเราสามารถช่วยได้ เราก็ช่วย แต่ถ้าเกินกำลังของเรา ก็ให้รู้จักปล่อยวาง วางเฉย ทุกข์อย่างหนึ่งของเขา อย่าให้กลายมาเป็นทุกข์อีกอย่างหนึ่งของเรา
การกระทำใดๆ ของเราก็ตาม ถ้าทำไปแล้วไม่ว่าเรื่องใดๆ ปรากฏว่ามีผู้อื่นจะต้องเป็นทุกข์จากการกระทำนั้น .......อย่าทำ
แม้การกระทำนั้นๆ ไม่มีผู้อื่นใดอาจจะเป็นทุกข์ แต่ถ้ากระทำไปแล้ว ตัวเองต้องเป็นทุกข์เสียเอง ..... อย่าทำ
แม้แต่ผู้อื่นไม่มีใครเป็นทุกข์ ตัวเราเองก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าการกระทำนั้นหาประโยชน์อะไรไม่ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม ..... อย่าทำ
นี่คือหลักของการพิจารณาอุเบกขา ข้อควรระวัง อุเบกขา กับ การเฉยเสีย แตกต่างกันมาก แม้ทางโลกอาจจะดูเหมือนกันก็ตาม ให้สำนึกไว้เสมอ อุเบกขาต้องผ่านการใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองความควร ไม่ควรแล้วเท่านั้นถึงจะกระทำ ถ้าเมื่อไหร่เราไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองประกอบ เห็นการณ์ใดก็เอาแต่เฉยเสีย เพราะเข้าใจว่าเป็นอุเบกขา นั่นก้ผิดหลักวิชชาแล้ว ให้ระวังให้ดี
ในกรณีนี้ ถ้าถามว่า เราทำอะไรได้บ้าง ขอให้ย้อนถามตัวเองก่อนว่า เราจะทำในฐานะอะไร ญาติ เพื่อน คนรู้จัก หรือแค่ในฐานะเพื่อนร่วมโลก เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดบทบาทหน้าที่ของเราในการกระทำ เมื่อรู้ฐานะ หน้าที่ของตนแล้วก็ให้พิจารณาว่า เราจะทำอะไรได้ที่เขาไม่ร้อน เราไม่ร้อน และเกิดประโยชน์ ถ้าพิจารณาทุกด้านแล้ว สามารถทำอะไรได้ก็ลงมือกระทำได้เลย แต่ถ้าไม่ได้ก็ให้พึงวางใจเป็นกลางเสีย ตัวเราจะได้ไม่ขาดทุนครับ
#3
โพสต์เมื่อ 28 March 2014 - 09:04 AM
ปล.ในทางโลกแล้ว จะมองดูเหมือนพระพุทธศาสนานั้นเห็นแก่ตัว ไม่ว่าจะเรื่องราวใด ก็ให้กลับมาที่ตัวเองก่อน ไม่นึกถึงผู้อื่น
แต่ถ้าเราเข้าใจในหลักของเหตุและผลแล้ว เราจะเข้าใจได้ว่า ถ้าพื้นไม่ดี ไม่ว่าจะก่อสร้างสิ่งใด ก็ไม่สามารถมั่นคงอยู่ได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าตัวเรายังไม่ "ดีจริง" เสียก่อน จะออกไปสอนใคร จะออกไปช่วยเหลือใคร ก็จะทำได้ไม่เต็มที่ เต็มกำลังให้เสร็จสมบูรณ์ได้
อีกทั้งการช่วยเหลือทางพระพุทธศาสนามักเป็นการช่วยเหลือแบบยั่งยืน คือ สอนให้ผู้อื่นสามารถเดินไปได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องยืมกำลังผู้อื่นในการพยุง หรือฉุดดึง พระพุทธศาสนาจะช่วยให้เขายืนขึ้นได้ และประคับประคองให้เขาสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ด้วยตนเอง
ด้วยเหตุนี้ ตัวเราต้องแข็งแรง มีกำลังเสียก่อน จึงจะสามารถออกไปช่วยเหลือทุกคนได้ครับ
#4
โพสต์เมื่อ 28 March 2014 - 03:02 PM
ถ้าเกิดกับตัวเอง แล้วไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม
คงยากจะทำใจ อยากเรียกร้องๆ เรียกร้อง ...
#5
โพสต์เมื่อ 28 March 2014 - 04:30 PM
ตามเนื้อผ้า...ถ้าข้อมูลสาเหตุไม่ชัดเจนอย่างนี้...ญาติผู้โดยสารคงต้อง"ทำใจ" ทั้งความหวังที่แม้จะเล็กน้อย ขณะเดียวกันก็ต้องเผื่อใจเผชิญเหตุเมื่อได้ทราบข่าวร้าย
หากดวงปัญญาสว่างไสว ต้องมองโลกตามความเป็นจริง ย้อนกลับมามองตนเอง เพื่อความไม่ความประมาทในชีวิต เพราะ ความตายไม่มีนิมิตหมาย
#6
โพสต์เมื่อ 14 April 2014 - 10:31 AM
ถ้าเป็นผม คงจะบอกญาติพวกเค้าไปว่า
หากวันนึง เราได้เป็นผู้ที่นั่ง MH370 บ้าง
เราจะอยากทำอะไร ก่อนไปขึ้นเครื่อง ?
อันนั้นแหละ รีบๆทำ ตอนที่ยังมีเวลา
ส่วนคนบนเครื่อง เค้าหมดเวลาแล้ว ทำอะไรไม่ได้
แต่พวกเรา ยังพอมี รีบๆทำ >< อย่างด่วนเลย