ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

พระอานนท์...พุทธอนุชา ตอนที่ ๑๕


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 3 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 MiraclE...DrEaM

MiraclE...DrEaM
  • Members
  • 1368 โพสต์

โพสต์เมื่อ 16 June 2006 - 08:59 PM

๑๕. พุทธานุภาพ


และแล้วนางวิสาขาก็กล่าวว่า "สุสิมา! ลุกขึ้นเถิด อย่าคร่ำครวญนักเลย ข้อที่เธอลืมเครื่องประดับไว้นั้น เรามิได้ถือเป็นความผิดประการใด เราเองยังลืมได้ทำไมเธอจะลืมบ้างไม่ได้ เครื่องประดับนี้มีค่าก็จริง แต่ก็หามีค่าเท่าชีวิตของเธอไม่ เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ ถ้าหายหรือเสียไปเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง เราก็ทำใหม่ได้ แต่ชีวิตของเธอถ้าเสียไปจะทำใหม่ได้ที่ไหน ดูก่อนนางผู้ซื่อสัตย์ การที่เธอจะยอมถ่ายถอนเครื่องประดับนี้ด้วยชีวิตของเธอนั้นซึ้งใจเรายิ่งนัก เธอจงเบาใจเถิดพระธรรมของพระศาสดาได้ชุบย้อมจิตใจของเราให้มองเห็นชีวิตมนุษย์และแม้สัตว์ทั่วไปเป็นสิ่งมีคุณค่าสูง ไม่อาจจะนำสิ่งของภายนอกมาเทียบได้ อนึ่งเธอเป็นที่รักที่ไว้ใจของเรา เธอเป็นผู้ทำงานดี ซึ่งตรงทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีความจงรักนายของตนไม่เสื่อมคลายและปรวนแปร ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดเรา ความดีของเธอนั้นมีอยู่มาก ความพลั้งเผลอบกพร่องเพียงเท่านี้จะลบล้างความดีของเธอได้ไฉน"

ดูก่อนภราดา! เมื่อนางวิสาขากล่าวจบลง หญิงรับใช้ยิ่งคร่ำครวญหนักขึ้น เธอกอดเท้าทั้งสองของนายและใช้ใบหน้าคลอเคลียอยู่ด้วยความรักและกตัญญู และแล้วเมื่อนางวิสาขาดึงมือนางให้ลุกขึ้น นางก็ยิ้มทั้งน้ำตามองดูนายของตนด้วยแววตาที่เหมือนเปิดลิ้นชักหัวใจให้เห็นได้หมดสิ้น ประดุจแววตาแห่งสัตว์เลี้ยง เป็นต้นว่าสุนัขอันแสดงออกยามเมื่อได้รับอาหารจากนายของมัน

ดูก่อนมาริยะ! มีอยู่เหมือนกันมิใช่หรือที่มนุษย์เราต้องหัวเราะหรือยิ้มทั้งน้ำตา ทั้งนี้เพราะความเสียใจและความดีใจประดังกันเข้ามาในระยะกระชั้นชิด เมื่อความเสียใจยังไม่ทันหายไป ความดีใจก็เคลื่อนเข้ามาจนผู้นั้นตั้งตัวไม่ทัน ภาพที่บุคคลยิ้มทั้งน้ำตานั้นเป็นภาพที่ค่อนข้างจะน่าดูพอใช้ อุปมาเหมือนฝนซึ่งโปรยลงมาและยังไม่หาย แดดก็แผดจ้าออกมาในขณะนั้นเป็นภาพซึ่งนานๆ เราจะเห็นสักครั้งหนึ่ง

คืนนั้นนางวิสาขา มหาอุบาสิกาต้องใช้ความคิดอย่างหนักว่า จะทำอย่างไรกับเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้น เรื่องนำมาใช้อีกนางไม่สามารถทำได้ จะเก็บไว้เฉยๆ ก็ดูจะเสียประโยชน์ไป นางจึงตัดสินใจว่ารุ่งขึ้นจะลองบอกขาย ถ้าได้ทรัพย์มาจำนวนตามราคาอันเหมาะแห่งเครื่องประดับแล้ว ก็จะนำมาทำบุญทำกุศลตามต้องการ แต่ปรากฏว่าในเมืองสาวัตถีไม่มีใครสามารถซื้อได้ พูดถึงคนมีเงินพอซื้อได้นั้นน่าจะพอมี แต่คงจะไม่มีใครกล้านำเอาเครื่องประดับของนางวิสาขา ซึ่งเป็นที่เคารพของคนทั้งเมืองมาประดับตกแต่งได้ ถ้าผู้ใดทำเข้าแทนที่จะได้รับการยกย่องชมเชย กลับจะกลายเป็นถูกเยาะเย้ยหยามหยันไป นางวิสาขาจึงตกลงใจซื้อของของตนเองด้วยราคา ๙ โกฏิหรือ ๙๐ ล้านบาท แล้วนำเงินจำนวนนั้นทั้งหมดไปสร้างอารามใหม่ชื่อว่า ปุพพาราม เพราะอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งพระนครสาวัตถี การสร้างปุพพาราม เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๒๗ โกฏิ คือซื้อที่ดิน ๙ โกฏิ สร้างกุฏิวิหาร ๙ โกฏิ และจ่ายในการฉลองอีก ๙ โกฏิ

ดูก่อนท่านผู้แสวงหาสันติวรบท! ณ ปุพพารามนี้เอง มีเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงถึงพุทธจริยาอันประเสริฐ คือ วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็นแล้วประทับ ณ ภายนอกซุ้มประตู ครานั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาเฝ้า เมื่อพระองค์ประทับ ณ ที่สมควร และสนทนากับพระศาสดาเป็นสาราณียะอยู่นั่นเอง มีนักบวชหลายนิกาย กล่าวคือนิครนถ์ ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน อเจลกะ ๗ คน ปริพพาชก ๗ คน และชฎิลอีก ๗ คน รวม ๓๕ คน ซึ่งล้วนมีเครายาว มีขนรักแร้ยาว ถือบริขารต่างๆ เดินผ่านมา พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นนักบวชเหล่านั้นแล้ว จึงผินพระพักตร์จากพระผู้มีพระภาคหันไปทางนักบวชเหล่านั้น คุกพระชานุข้างหนึ่งลงทำผ้าห่มเฉวียงบ่า พลางประกาศพระนามและโคตรของพระองค์ว่า "ข้าแต่ท่านนักพรตผู้ประเสริฐ! ข้าพเจ้าคือพระเจ้าปเสนทิโกศล" ดังนี้ ๓ ครั้งเป็นการแสดงความเคารวะอย่างสูง นักบวชเหล่านั้นหยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วเดินเลยไป พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงหันมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระจอมมุนี! นักบวชเหล่านั้นคงเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งซึ่งมีอยู่ปรากฏอยู่ในโลกเป็นแน่แท้"

พระสุคตเจ้ามีพระอาการสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตรัสว่า "มหาบพิตร! พระองค์เป็นคฤหัสถ์ยังบริโภคกาม บรรทมเบียดโอรสและชายา ทรงผ้าที่มาจากแคว้นกาสี ทัดทวงของหอม ลูบไล้ด้วยจุณจันทร์ จึงเป็นการยากที่จะรู้ได้ว่า นักบวชเหล่านั้นเป็นอรหันต์หรือไม่ มหาบพิตร! ปกติของคนเป็นอย่างไร อาจรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และต้องอยู่ร่วมกันนานๆ ต้องใส่ใจและมีปัญญาสอดส่องกำกับได้ด้วย ปัญญาของคนพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ความสะอาดของคนพึงรู้ได้ด้วยการทำงาน ความกล้าหาญและเรี่ยวแรงรู้ได้ในเวลามีอันตราย ทั้งหมดนี้ต้องใช้เหตุ ๓ อย่างประกอบคือ กาลเวลา ปัญญา และมนสิการ"

ดูก่อนผู้บำเพ็ญตบะ! พระผู้มีพระภาคทรงตอบอย่างบัวมิให้ซ้ำน้ำมิให้ขุ่น ถ้าพระองค์จะตรัสตรงๆ ว่านักบวชเหล่านั้นมิได้เป็นอรหันต์ดอก ที่แท้ยังเป็นผู้ชุ่มไปด้วยกิเลส ก็จะเป็นการยกตนข่มผู้อื่น ถ้าพระองค์จะทรงรับรองว่านักบวชเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็จะพึงดูแคลนพระสัมพัญญุตญาณได้

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลว่า อัศจรรย์จริงพระเจ้าข้า! อัศจรรย์จริง! พระผู้มีพระภาคทรงเป็นสัพพัญญูโดยแท้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ! ความจริงนักบวชเหล่านั้นคือจารบุรุษ ซึ่งข้าพระองค์ส่งไปสอดแนมเหตุการณ์บ้านเมือง ณ แคว้นต่างๆเมื่อถึงบ้านแล้วบุรุษเหล่านั้นย่อมลูบไล้ด้วยของหอม นอนเบียดบุตรและภรรยาพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕

พระสุคตเจ้าทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า บุคคลไม่ควรพยายามเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป ควรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ และไม่พึงมีแผลประพฤติธรรม

บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนดีด้วยเหตุเพียงรูปร่างผิวพรรณก็หามิได้ ไม่ควรไว้ใจคนที่เห็นกันเพียงครู่เดียว คนชั่วเป็นอันมากเที่ยวไปโดยรูปลักษณะแห่งคนดี เหมือนหม้อดินและหม้อโลหะซึ่งฉาบไว้ด้วยสุวรรณ มองแวววาวแต่เพียงภายนอก แต่ภายในไม่สะอาด คนชั่วในโลกนี้เมื่อบริวารแวดล้อมแล้ว ก็เที่ยวไปได้อย่างคนดี เขางามแต่ภายนอก แต่ภายในไม่บริสุทธิ์

"ดูก่อนท่านผู้ไม่หลงใหลในบ่วงมาร!" พระอานนท์กล่าว "ท่านจะเห็นว่าพระพุทธภาษิตเหล่านี้คมคายเพียงไร เป็นพระดำรัสที่ถ้าจะมองว่าลึกซึ้งก็ลึกซึ้ง ถ้าจะมองว่าสามัญชนทั่วไปพอจะเข้าใจและปฏิบัติตามได้ก็ได้เช่นกัน ตอนแรกพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า บุคคลไม่ควรพยายามไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง นั้นหมายความว่าก่อนใช้ความพยายามในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ควรจะสำรวจเสียให้ดีก่อนว่า ความพยายามที่ทำไปนั้นจะได้ผลคุ้มเหนื่อยหรือไม่ อุปมาเหมือนนักสำรวจทอง ก่อนที่จะลงมือขุดก็ควรจะใช้เครื่องมือสำรวจเสียก่อนว่าที่ๆ ตนจะขุดนั้นมีทองอยู่หรือไม่ มิใช่ว่าพอจะขุดทองก็เริ่มขุดไปแต่บันไดบ้านทีเดียว ถ้าทำอย่างนั้นก็เป็นการเสียแรงเปล่าได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เป็นการลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย ส่วนเรื่องเป็นตัวของตัวเองก็มีความสำคัญมาก มนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด แต่ขอให้เป็นตัวของตัวเอง คนไม่เป็นตัวของตัวเองเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ ส่วนข้อที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ให้เป็นคนเลี้ยงตัวได้ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพนั้น มีความหมายว่า บุคคลเมื่อมีอายุพอสมควรจะเลี้ยงตัวได้แล้วก็ควรประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งเลี้ยงตน มิใช่คอยแต่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่อย่างเดียว เพราะการอาศัยผู้อื่นในวัยที่ไม่ควรอาศัย เป็นการแสดงถึงความเป็นผู้ไร้ความสามารถ ส่วนสมณะผู้อาศัยอาหารจากเรือนของผู้อื่นแล้วยังชีพให้เป็นไปนั้น ก็เป็นเพราะสมณะเหล่านั้นอาศัยศีลของตน ถ้าประชาชนรู้ว่าเป็นผู้ไม่มีศีล ไม่มีกัลยาณธรรม เขาย่อมไม่เลี้ยง ไม่ถวายอาหาร เพราะฉะนั้นสมณะก็ชื่อว่าเป็นผู้พึ่งตนเอง กล่าวคือ อาศัยศีลและสัมมาจารของตนเป็นอยู่ ข้อต่อมาที่พระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคลไม่ควรมีแผลประพฤติธรรมนั้น หมายความว่า ให้ประพฤติธรรมด้วยความสุจริตใจ มิใช่ประพฤติธรรมด้วยเจตนาที่จะหลอกลวงให้คนมานับถือดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดพระพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ว่า ควรประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมให้ทุจริต ผู้ประพฤติสุจริตย่อมมีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นอกจากนี้พระพุทธองค์เคยตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายอยู่เสมอในเรื่องนี้ และทรงแนะให้ถือพระองค์เป็นเนตติดังพระพุทธภาษิตต่อไปนี้

"ภิกษุทั้งหลาย! พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนทั้งหลายมานับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและความสรรเสริญ มิใช่จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเจ้าลัทธิและแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ มิใช่เพื่อให้ใครรู้จักตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวระคือความสำรวม เพื่อปหานะคือความละ เพื่อวิราคะคือความคลายกำหนัดยินดี และเพื่อนิโรธะคือความดับทุกข์"

ในตอนท้ายพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า บุคคลจะเป็นคนดีเพราะชาติหรือผิวพรรณก็หามิได้ แต่จะเป็นคนดีก็เพราะความประพฤติดี คนชั่วเป็นอันมากปกปิดความชั่วของตัวไว้ เหมือนหม้อดินที่ฉาบทาด้วยทองแวววาวแต่เพียงภายนอกเท่านั้น สรุปว่าทรงย้ำให้คนทุกคนมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสดงอาการลวงผู้อื่นให้หลงเข้าใจผิดหรือหลงเคารพนับถือ ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นคนเลว

"ดูก่อนภราดา! ข้าพเจ้าขอวกมากล่าวถึงเรื่องของนางวิสาขาต่อไป วันหนึ่งนางวิสาขามีผ้าเปียกปอนผมเปียก เดินร้องไห้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ เมื่อพระตถาคตตรัสถามก็ได้ความว่า นางวิสาขาเสียใจเพราะหลานสาวอันเป็นที่รักคนหนึ่งตายลง นางรักเธอมากเพราะเธอเป็นคนดี ช่วยงานทุกอย่างรวมทั้งงานที่เกี่ยวกับการบุญการกุศลด้วย

"ข้าแต่พระผู้เป็นดวงตาของโลก" นางวิสาขาทูล "ข้าพระพุทธเจ้าเสียใจในมรณกรรมของหลานสาวคนนี้เหลือเกิน เธอเป็นคนดีอย่างจะหาใครเสมอเหมือนได้ยาก"

พระตถาคตเจ้าทรงดุษณีอยู่ครู่หนึ่งแล้วเอื้อนพระโอษฐว่า "ดูก่อนวิสาขา! คนในเมืองสาวัตถีนี้มีประมาณเท่าใด?"
"มีหลายสิบล้านพระพุทธเจ้าข้า!" นางตอบ
"ถ้าคนเหล่านั้นดีเช่นสุทัตตีหลายของเธอ เธอจะรักเขาเหล่านั้นหรือไม่?"
"รักพระเจ้าข้า"
"แล้วคนในเมืองสาวัตถีนี้ตายวันละเท่าไร?"
"วันหนึ่งหลายๆ คนพระเจ้าข้า"
"ดูก่อนวิสาขา! ถ้าอย่างนั้นเธอก็ต้องมีผมเปียก มีผ้าเปียกอยู่อย่างนี้ทุกวันละซี เธอต้องร้องไห้คร่ำครวญมีใบหน้าอาบด้วยน้ำตาอยู่เสมอ เพราะมีคนตายกันอยู่ทุกวัน วิสาขาเอย! ตถาคตกล่าวว่าความรักความอาลัยเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ เพราะฉะนั้นคนมีรักมากเท่าใดย่อมมีทุกข์มากเท่านั้น รักหนึ่งมีทุกข์หนึ่ง มีรักสิบมีทุกข์สิบ มีรักร้อยมีทุกข์ร้อย ความทุกข์ย่อมเพิ่มขึ้นตามปริมาณแห่งความรักหรือสิ่งอันเป็นที่รัก เหมือนความร้อนที่เกิดแต่ไฟ ย่อมเพิ่มขึ้นตามจำนวนเชื้อที่เพิ่มขึ้น"

ดูก่อนผู้บำเพ็ญตบะ! นางวิสาขาได้ฟังพระพุทธโอวาทแล้วสร่างความโศกลงไปได้บ้าง นางเป็นโสดาบันก็จริงอยู่ แต่พระโสดาบันนั้นเพียงทำให้บริสุทธิ์ในศีลเท่านั้น หามีสมาธิและปัญญาสมบูรณ์ไม่ จึงมีบางครั้งที่เผลอสติไป แสดงอาการเยี่ยงชนทั้งหลาย พระอรหันต์เท่านั้นที่มีสติสมบูรณ์

ดูก่อนภราดา! สิ่งอันเป็นที่รักย่อมทำให้จิตใจกระเพื่อมและกระทบกระเทือนอยู่เสมอ เมื่อความรักเกิดขึ้น ความราบเรียบของดวงใจย่อมปราศนาการไป ยิ่งความรักอันเจือด้วยนันทิราคะด้วยแล้ว ยิ่งทำให้จิตใจอ่อนไหวและเสียสมาธิเป็นที่สุด ความรักนั้นเปรียบด้วยพายุ เมื่อมีพายุพัดผ่านความราบเรียบของน้ำก็หมดไปเหลือไว้แต่รอยกระแทกกระทั้นกระทบกระเทือนอยู่ตลอดเวลา มนุษย์จะมีความสุขอย่างสงบประณีต ถ้าเราสามารถทำใจให้ยินดีต้อนรับความขมขื่นและไม่เพลิดเพลินในความชื่นสุขให้มากนัก อย่างน้อยก็ทำใจมิให้ปฏิเสธความขมขื่นที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว

นางวิสาขามีสหายที่รักมากอยู่ ๒ คน คือนางสุปปิยา และนางสุปปวาสา เมื่อฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วจบทั้งสามมักจะเที่ยวเดินเยี่ยมภิกษุทั้งหลาย ถามถึงสิ่งที่ต้องการและยังขาด เมื่อภิกษุรูปใดบอกว่าต้องการอะไร นางจะจัดถวายเสมอ นอกจากนี้ยังได้ถวายอาหารสำหรับภิกษุป่วยและผู้เตรียมจะเดินทางเป็นประจำอีกด้วย

วันหนึ่งนางสุปปิยาเที่ยวเดินเยี่ยมภิกษุอย่างเคยไปถึงกุฏิภิกษุรูปหนึ่งซึ่งป่วยอยู่ เมื่อนางถามถึงความต้องการว่าท่านปรารถนาสิ่งใดบ้าง ภิกษุรูปนั้นบอกว่าอยากได้น้ำเนื้อต้ม

ดูก่อนมาริสา! พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำข้าวและน้ำเนื้อต้มซึ่งกรองดีแล้ว ไม่มีเมล็ดข้าวหรือกากเนื้อติดอยู่เพื่อภิกษุอาพาธ เธอสามารถฉันได้แม้ในเวลาวิกาลคือหลังเที่ยววัน

นางสุปปิยาดีใจเหลือเกินที่จะได้ถวายอาหารแก่ภิกษุอาพาธ พระพุทธภาษิตก้องอยู่ในโสตของนางนานมาแล้ว "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ผู้ใดปรารถนาจะบำรุงตถาคต ขอให้ผู้นั้นบำรุงภิกษุไข้เถิด" แต่บังเอิญวันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ นางหาเนื้อไม่ได้เลยจึงเข้าห้องตัดสินใจตัดเนื้อขาของตนด้วยมีดอันคมกริบ สั่งให้คนใช้จัดการต้ม แล้วขอให้นำน้ำเนื้อต้มนั้นไปถวายภิกษุชื่อโน้นซึ่งอาพาธอยู่ แล้วใช้ผ้าพันแผลที่ขาของตนนอนโทรมเป็นไข้เพราะพิษบาดแผลนั้น

สามีของนางสุปปิยากลับมาไม่เห็นภรรยาอย่างเคยจึงถามคนใช้ ทราบว่านางป่วยจึงเข้าไปเยี่ยมในห้องนอน เมื่อทราบเรื่องโดยตลอดแล้ว แทนที่จะโกรธพระและภรรยา กลับแสดงความชื่นชมโสมนัสที่ภรรยาของตนมีศรัทธาแรงกล้าในศาสนา ถึงกับยอมสละเนื้อขาเพื่อต้มเอาน้ำถวายภิกษุอาพาธ จึงรีบไปสู่วัดเชตวัน ทูลอาราธนาพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ เพื่อรับภัตตาหารที่บ้านตนในวันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงรับด้วยอาการดุษณี วันรุ่งขึ้นพระพุทธองค์มีพระสงฆ์เป็นบริวารจำนวนมากเสด็จสู่บ้านของนางสุปปิยา เมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นนางสุปปิยา จึงถามสุปปิยาอุบาสกผู้สามี ทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งให้คนช่วยกันพยุงคลอเคลียนางสุปปิยามาเฝ้า เมื่อนางถวายบังคม พระตถาคตเจ้าตรัสว่า "จงมีความสุขเถิดอุบาสิกา" เท่านั้นแผลใหญ่ที่ขาของนางก็หายสนิทและมีผิวผ่องกว่าเดิมเสียอีก

"ดูก่อนภราดา! เรื่องนี้เป็นเพราะพุทธานุภาพโดยแท้ พุทธานุภาพนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและเป็นได้จริง พระจอมมุนีศาสดาแห่งพวกเรานั้น เป็นผู้มีบารมีอันทรงกระทำมาแล้วอย่างมากล้น เคยตัดศีรษะอันประดับแล้วด้วยมงกุฎที่เพริดพราย เคยควักนัยน์ตาซึ่งดำเหมือนตาเนื้อทราย เคยสละเลือดเนื้อและอวัยวะมากหลาย ตลอดถึงบุตรภรรยาเพื่อเป็นทานแก่ผู้ต้องการ จะกล่าวไยถึงการสละทรัพย์สมบัติภายนอก มหาบริจาคทั้งหลายที่พระองค์ทรงกระทำมาทั้งหมดนั้น โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียว คือ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ กล่าวคือความรู้อันเป็นเหตุให้สิ้นกิเลสโดยชอบอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรเทียมถึง เพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์ของเวไนยนิกรทั้งหลายทั้งทางกายและทางใจ ดูก่อนมาริยะ! ก็ความรู้ใดเล่าในโลกนี้ จะประเสริฐยิ่งไปกว่าความรู้อันเป็นเหตุให้กิเลสสิ้นไป เพราะเป็นการดับความกระวนกระวายทั้งมวลเหมือนคนหายโรคไม่ต้องกินยา

"บุคคลผู้เปี่ยมล้นด้วยบารมีนั้นย่อมเป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พระศาสดาเป็นผู้มีพระบารมีธรรมที่ได้สั่งสมมานานตลอดเวลาที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อพระองค์จะทรงอยู่ในชาตินี้เป็นปัจฉิมชาติ และปัจฉิมภพแล้วบารมีธรรมทั้งมวลหลั่งไหลมาให้ผลในชาติเดียว ท่านลองคิดดูเถิดจะคณนาได้อย่างไร อุปมาเหมือนน้ำซึ่งหลั่งจากยอดเขา และถูกกักไว้ด้วยทำนบอันหนาแน่นจนเต็มเปี่ยมแล้ว และบังเอิญทำนบนั้นพังลง น้ำนั้นจะไหลหลากท่วมทันเพียงใด

"ดูก่อนผู้เชื้อสายอารยัน! บารมีธรรมเป็นสิ่งน่าสั่งสมโดยแท้"
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสวยพระกระยาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทรงอนุโมทนาให้นางสุปปิยาและอุบาสกสุปปิยะ สมาทานอาจหาญร่าเริงในกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติเพิ่มพูนศรัทธา ปสาทะ แล้วก็เสด็จกลับสู่วัดเชตวัน ทรงให้ประชุมสงฆ์และตรัสถามภิกษุอาพาธรูปนั้นว่า
"ดูก่อนภิกษุ! เธอขอน้ำเนื้อต้มจากอุบาสิกาสุปปิยาหรือ?"
"อย่างนั้น พระเจ้าข้า" พระรูปนั้นตอบ
"เมื่อเธอจะฉัน เธอพิจารณาหรือเปล่า?"
"มิได้พิจารณาเลย พระเจ้าข้า"
"ดูก่อนภิกษุ! เธอได้ฉันเนื้อมนุษย์แล้ว เธอทำสิ่งที่น่าติเตียน" ตรัสดังนี้แล้วทรงตำหนิภิกษุนั้นอีกเป็นอเนกปริยาย แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
"ภิกษุใดฉันเนื้อโดยมิได้พิจารณา ภิกษุนั้นเป็นอาบัติทุกกฎ ถ้าเนื้อนั้นเป็นเนื้อมนุษย์ เธอต้องอาบัติถุลลัจจัย" ดังนี้
สิ่งอัศจรรย์ ปรากฏ บนผืนหล้า
มหาวิหาร จรัสฟ้า ค่ายิ่งใหญ่
รูปทอง ผ่องผุด ดุจยองใย
สะท้อนถึง ห้วงดวงใจ สุดบูชา

*********************

รักษ์ร่างพอสร่างร้าย ..... รอดตน
ยอดเยี่ยม "ธรรมกาย" ผล ..... ผ่องแผ้ว

เลอเลิศล่วงกุศล ..... ใดอื่น
เชิญท่านถือเอาแก้ว ..... ก่องหล้าเรืองสกล


คำสอนของเดชพระคุณหลวงพ่อ
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

#2 chankitt

chankitt
  • Members
  • 49 โพสต์

โพสต์เมื่อ 26 June 2006 - 03:49 PM

สาธุ สาธุ สาธุ
...

#3 Mai D na

Mai D na
  • Members
  • 282 โพสต์

โพสต์เมื่อ 16 August 2006 - 06:45 PM



***************************

..อ า บั ติ ถุ ล ลั จ จั ย ..

อา บัติ นี้ .. แปล ว่า อย่าง ไร ..


********************





แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป
แต่..
เ ป้ า ห ม า ย ไ ม่ เ ป ลี่ ย น แ ป ร




#4 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 20 March 2007 - 04:31 PM

ขอกราบอนุโมทนาบุญกับคุณ MiraclE...DrEaM ด้วยครับ สาธุ