วิทยาศาสตร์กับศาสนา (จุดต่างหรือจุดเหมือน) Ep.2 Final
ความแตกต่างระหว่างรากฐานของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์นี้เป็นเองสำคัญ มีคนอ้างบ่อยๆ ว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์บ้าง พุทธศาสนาเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์บ้าง การอ้างนั้นแม้จะเกิดจากความหวังดีและต้องการเชิดชูพุทธศาสนา แต่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องระวังเช่นกัน ความรู้บางส่วนในพุทธศาสนาอาจพิสูจน์ตรวจสอบได้เหมือนความรู้ในวิทยาศาสตร์ เพราะต่างก็เป็นความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่อาจตรวจสอบด้วยประสาทสัมผัสและเหตุผลเหมือนกัน แต่นั่นก็ไม่จำเป็นว่าพุทธศาสนาจะต้องเป็นวิทยาศาสตร์ หรือเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ทุกอย่างเสมอไป รากฐานของสองระบบความรู้นี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อสาวไปจนถึงที่สุดแล้ว วิทยาศาสตร์นั่นเองคือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงต่อพุทธศาสนา หรือจะพูดได้อีกอย่างได้ว่า “วิทยาศาสตร์เองนั้นขัดแย้งต่อกฎธรรมชาติ!” เมื่อมีวิทยาศาสตร์ก็ต้องย่อมมีการวิจัยทดลอง จึงมีคำถามที่หน้าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า การวิจัยทดลองเป็นการทำลายชีวิตหรือไม่
จะเห็นได้ว่าการทดลองวิจัยบางอย่างในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์โดยตรง เช่น การผสมเทียม หรือการสร้างเด็กหลอดแก้ว ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสร้างมนุษย์คนใหม่ขึ้นมาลืมตาดูโลก แต่จากวิธีการสร้างที่ต้องสร้างตัวอ่อนขึ้นมาหลายๆตัว และเลือกไว้เพียงจำนวนที่ต้องการใช้ ขณะที่ตัวอ่อนที่เหลือจะต้องถูกกำจัดทิ้งไปในทางศาสนาแล้วถือว่าเป็นการทำลายชีวิตมนุษย์หรือไม่ ตัวอ่อนถือว่าเป็นหนึ่งชีวิตหรือไม่ นิยามเกี่ยวกับ ชีวิตมนุษย์ ของแต่ละศาสนาคืออะไร มุมมองต่อเรื่องการเกิด การตาย การทำลายสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อมนุษย์ของแต่ละศาสนาเป็นอย่างไร ในยุคหนึ่งความรู้และอำนาจได้ตั้งอยู่บนฐานของกระบวนการโลกทัศน์ที่ว่า โลกเป็นศูนย์กลางของระบบจักรวาล แต่โคเปอร์นิคัส พบว่าไม่ใช่ เพราะถ้าถืออย่างนั้นก็ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์การเคลื่อนที่ วกกลับของดาวเคราะห์ต่างๆได้ เขาพิสูจน์ว่าถ้าให้ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง จึงจะสามารถอธิบายได้ในเรื่องของการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ แต่ความรู้ใหม่ของเขา ได้เป็นอันตรายต่อศรัทธาและโครงสร้างอำนาจ ที่อิงอยู่กับความรู้เดิมอย่างรุนแรง โชคดีที่โคเปอร์นิคัสตายก่อน ผู้เห็นจริงตามโคเปอร์นิคัสคนหนึ่งคือ บรูโน ได้พยายามเผยแพร่ความคิดดังกล่าว ก็ได้ถูกศาลไต่สวนศรัทธาจับเผาทั้งเป็นเมื่อปี ค.ศ.๑๖๐๐ ส่วนอีกคนที่รู้จักกันทั่วโลกก็คือ กาลิเลโอ กาลิเลอี โดนจับหลายครั้ง ถูกลงโทษจำขัง และห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นใดๆ อีกตลอดชีวิต
นี่คือการเริ่มต้นของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ตะวันตก ที่ต้องต่อสู้และแลกมาด้วยเลือดและชีวิต ของผู้คนจำนวนมากมาย เพื่อแลกกับอิสรภาพและเสรีภาพในการแสวงหาความจริงของธรรมชาติ จนกระทั่งระบบกดขี่ข่มเหงหมดพลังอำนาจลงไป วิทยาศาสตร์ที่ยืนอยู่ข้างความจริงก็ได้รับการยอมรับ ระยะเวลาที่ผ่านมาสามศตวรรษ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตะวันตก ก็กลับกลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจ แผ่ไปครอบงำวิถีชีวิตของคนทั่วโลก เวลานี้ ถ้าใครไม่เชื่อวิทยาศาสตร์ ไม่เชื่อวิธีการพัฒนาแบบทันสมัย กลายเป็นพวกนอกรีตหรือล้าสมัย หากยังมีจิตวิญญาณของความเป็นวิทยาศาสตร์หลงเหลืออยู่บ้าง กระทรวงวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ควรใช้วิธีการทางปัญญาควบคู่กันไปด้วย มีจิตใจวิทยาศาสตร์ เปิดกว้างมากขึ้นควบคู่ไปกับแนวทางวิทยาศาสตร์ด้วย
การทดลองในห้องทดลองเมื่อผิดพลาด เรายังรื้อทิ้งแก้ใหม่ได้ แต่อาจจะมีผลกระทบกับชีวิตและของธรรมชาติในสรรพสิ่งบ้าง และมีชีวิตคนเป็นเดิมพันบ้าง วัฒนธรรมชุมชนเป็นเดิมพันบ้าง ระบบนิเวศเป็นเดิมพัน บ้าง เท่าที่คิดได้ชีวิตและธรรมชาติมีแค่มิติเดียวเท่านั้นหรือ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ คุณค่าของการเรียกร้องเอาธรรมชาติกลับคืนมา มันไม่เป็นจิตวิญญาณของความเป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร หรือวิทยาศาสตร์ที่เป็นอยู่ได้มอบกายมอบใจสวามิภักดิ์ให้กับเทคโนโลยีไปหมดแล้วก็เป็นได้
ปัจจุบันนี้ มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ ปรัชญา และศาสนา มีหลายคนเห็นว่ามนุษย์กำลังทำตัวเป็นพระเจ้าเสียเอง บ้างก็เป็นห่วงว่า ปัจจุบันมนุษย์เรายังไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติดีนัก เรายังไม่รู้ว่าที่ธรรมชาติกำหนดให้สิ่งต่างๆ เป็นอย่างที่เป็นอยู่นี้ เช่น กำหนดให้คนสืบพันธุ์ด้วยวิธีอาศัยเพศเท่านั้น ไม่อนุญาตให้คนสืบพันธุ์โดยการแบ่งเซลล์หรือตัดเอาเนื้อหนังไปเพาะพันธุ์ เป็นต้น ธรรมชาติมีเหตุผลอย่างไร สติปัญญาของมนุษย์ยังเข้าไม่ถึงความเร้นลับดังกล่าวนั้น พฤติกรรมของมนุษย์ที่พยายามฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ที่ธรรมชาติวางไว้ให้อาจไม่ต่างจากพฤติกรรมของทารกที่ไม่รู้ว่าทำไมแม่จึงห้ามทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วก็ฝ่าฝืนคำสั่งนั้นจนก่อให้เกิดอันตรายแก่ตน นี่คือส่วนหนึ่งของความวิตกที่คนส่วนหนึ่งในโลกมีต่อทิศทางของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ในอีกแง่หนึ่งของวิทยาศาสตร์ จากอดีตที่ผ่านมา มนุษย์ต้องประสบกับความทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ดังนั้นวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทุกยุคทุกสมัยต่างก็พยายามหาหนทางในการที่จะกำจัดโรคร้ายเหล่านั้น ไม่ว่าจะด้วยการพัฒนาคิดค้นยารักษาโรคตลอดจนการรักษาด้วยวิธีการและรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ ก็ด้วยเป้าหมายเพื่อให้มนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน เราห้ามนักวิทยาศาสตร์ไม่ให้ค้นคว้าไม่ได้เพราะวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์บริสุทธิ์ ไม่ดีและไม่เลว คนที่ใช้วิทยาศาสตร์ต่างหากที่จะทำให้โลกพินาศหรือเจริญรุ่งเรือง และวิทยาศาสตร์เอง ก็ไม่มีหน้าที่สั่งสอนอบรมคนให้รู้จักควบคุมตนเอง นั่นจึงเป็นหน้าที่ของศาสนา วิทยาศาสตร์มีหน้าที่เพียงค้นคว้าหากฎเกณฑ์ในธรรมชาติเท่านั้น ท่าทีของวิทยาศาสตร์ที่แสดงมาทั้งหมดนี้นับว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับท่าทีของทางศาสนา เคยมีคนกล่าวอย่างสรุปท่าทีระหว่าง วิทยาศาสตร์กับศาสนาไว้ว่า
“วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศาสนาเปรียบได้กับคนแขนขาพิการ ส่วนศาสนาที่ปราศจากวิทยาศาสตร์เปรียบได้กับคนตาบอด”
( Science without religion is lame, religion without science is blind )
ไอน์สไตน์เคยกล่าวข้อความสั้นๆนี้ คิดว่าน่าจะเป็นคำตอบที่กะทัดรัดที่สุดสำหรับปัญหาว่าศาสนาควรวางตัวอย่างไรต่อวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก็ควรจะวางตัวอย่างไรด้วยเช่นกันต่อศาสนา
หากลองพิจารณาคิดกันสักนิดว่า ลำพังเพียงวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่อาจสร้างปัญหาให้กับโลกได้เลยตัวการของปัญหา คือ “มนุษย์เรานี่เอง” หาใช่อะไรที่ไหนไม่ เราก็คงไม่ประณามวิทยาศาสตร์ว่าเป็นตัวก่อปัญหาคนเรานั้น พุทธศาสนาเชื่อว่าต้องพัฒนาสองสิ่งในตัวพร้อมๆกัน คือ “ปัญญา กับ คุณธรรม” เท่าที่ผ่านมาวิทยาศาสตร์ที่สร้างปัญหาคือวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีคุณธรรมกำกับ หากวิทยาศาสตร์เดินเคียงคู่ไปกับคุณธรรมด้วยแล้ววิทยาศาสตร์จะกลายเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์แก่มนุษย์อย่างอเนกอนันต์เลยทีเดียว
เนื้อหาหลักของพุทธศาสนานั้นเกี่ยวข้องกับธรรมชาติอันเป็นอมตะของมนุษย์ ธรรมชาติที่ว่านี้จะคงอยู่ในตัวมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์จะมีพัฒนาการทางความรู้ไปมากมายเพียงใด คนในยุคหินเคยมีความโลภ โกรธ หลง อย่างไร คนในยุคเทคโนโลยีนี้ก็มีความโลภ โกรธ หลง อย่างนั้นด้วยเช่นกัน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงธรรมชาติภายในอันเป็นที่มาของปัญหาชีวิตและสังคม หากเราคิดว่า มีความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องได้รับการขัดเกลาธรรมชาติภายในเหล่านี้ ตราบนั้นพุทธศาสนาก็ยังจะมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับมนุษยชาติอยู่ตลอดไป
เมื่อมองจากแง่นี้แล้ว ดูเหมือนว่าพุทธศาสนาจะไม่มีทางได้รับผลกระทบจากวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ศึกษาในขอบเขตหนึ่ง ส่วนพุทธศาสนาก็ศึกษาในอีกขอบเขตหนึ่ง วิทยาศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับ “วัตถุ” (ภายนอก) ส่วนพุทธศาสนาเกี่ยวเนื่องกับ “จิตใจ” (ภายใน) คนที่เห็นว่าวิทยาศาสตร์สามารถหักล้างความเชื่อในศาสนา คือ คนที่ไม่เข้าใจสาระที่แท้ของวิทยาศาสตร์และศาสนา และก็เช่นเดียวกัน คนที่เห็นว่าวิทยาศาสตร์สามารถใช้สนับสนุนความน่าเชื่อถือของศาสนาก็ คือ คนที่ไม่เข้าใจสาระสำคัญของวิทยาศาสตร์และศาสนาด้วยเช่นเดี่ยวกัน
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงกำใบไม้แห้งที่ร่วมอยู่ตามพื้นดินขึ้นมากำหนึ่ง แล้วถามพระภิกษุที่แวดล้อมอยู่ว่า ใบไม้ในพระหัตถ์กับใบไม้ทั้งป่าที่ไหนมากกว่ากัน พระสาวกทั้งหลายก็ตอบว่าในป่ามากกว่าอย่างไม่อาจเทียบกันได้ในพระหัตถ์ พระพุทธองค์ก็ตรัสสืบไปว่า ใบไม้ในพระหัตถ์นั้นเปรียบได้กับหลักธรรมที่ทรงนำมาสอนพุทธบริษัท ส่วนใบไม้ที่อยู่ในป่าทั้งหมดเปรียบได้กับสิ่งที่ทรงรู้แต่ไม่นำมาสอน
ขอขอบคุณที่ติดตามรับชม