ศิลปะการสร้างพระพุทธรูปของช่างฮินดู
แปลกใจหล่ะสิว่าทำไมช่างที่เป็นฮินดูถึงได้สร้างพระพุทธรูปที่เป็นรูปเคารพของศาสนาอื่น นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า ชาวฮินดูถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นปางหนึ่งที่พระนารายณ์อวตารลงมาช่วยโลก บางรูปถึงขนาดที่ว่าจัดสร้างด้วยบรอนซ์ เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ โดยถ่ายทอดมาสู่ช่างสกุลแคชเมียร์ แถบเทือกเขาหิมาลัย
นอกจากนี้ยังแพร่หลายมาสู่ชวา โดยช่างสกุลกาลิมันตัน
การสร้างพระพุทธรูปโดยช่างฮินดูรุ่งเรืองมากที่สุดในศตวรรษที่๘ และ ๙
เช่นแถบลุ่มแม่น้ำสวาทในปากีสถาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปบรอนซ์ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ จุดเด่น คือ มีการเพิ่มอาสนะเข้ามาเหนือดอกบัว ทำให้มีลักษณะคล้ายกับรูปสลักของพระโพธิสัตว์วัชรธรรมโลเกศวร และ พระโพธิสัตว์วัชรสัตตวะ
พระพุทธรูปบรอนซ์ ซึ่งค้นพบในสถูปและโบสถ์ลุ่มน้ำแคชเมียร์ แสดงให้เห็นถึงความยึดมั่นต่อพระพุทธรูป พวกเขาสร้างให้มีลักษณะพิเศษ ดูประดุจมีแสงของพระพุทธรูป ฉายส่องไปสู่สวรรค์ชั้นพรหมโลก(พระผู้สร้างและผู้ทำลายของฮินดู) ดังปรากฏในพระคัมภีร์สันสกฤต ซึ่งกล่าวถึงไว้มากในเรื่องของ รูปเคารพที่มีแสงส่องออกมาจาก ประภามณฑล โดยรอบองค์พระที่ประทับยืนอยู่ และมีประกายออกมาจากพระเศียร
บางครั้งก็มีการสลักหินเป็นภาพลอยตัวเกี่ยวกับเหตุการณ์เสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ ท่ามกลางการห้อมล้อมด้วยทวยเทพ โดยมีพระอินทร์กางกั้นกรดให้
ประมาณ พ.ศ. ๑๐๐๐ ช่างฮินดูสกุลทิเบตแถบตะวันตกเฉียงใต้ ได้หล่อพระพุทธรูปโดยใช้โลหะมาประกอบกับบรอนซ์ หรือโลหะผสมทอง ประทับยืนอยู่บนแท่นซึ่งหมายถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นที่ประทับของพระอิศวร(คาดว่าแฝงนัยยะที่ว่าพระพุทธเจ้าที่เป็นร่างอวตารของพระนารายณ์เป็นใหญ่เหนือพระอิศวร)
ศิลปะการสร้างพระพุทธรูปด้วยดินเหนียว มีกำเนิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ ๘ ในแถบจัมมูรอัคร์มูร์ ซึ่งเป็นแม่น้ำหนึ่งในลุ่มน้ำแคชเมียร์ ได้ใช้แบบอย่างใบหน้าของสตรีเพื่อให้พระพุทธรูปออกมาดูเรียบร้อย มีเสน่ห์ ช่างได้ทำให้พระเศียรมีขมวดเกศาเป็นเกลียว ตามความนิยมของช่างชาวคันธาระ
ซึ่งรูปแบบคันธาระเป็นรูปแบบที่นิยมกันมาก แพร่หลายเข้ามาในชวาเมื่อศตวรรษที่ ๙ โดยนิยมสลักด้วยหิน แต่ต่อมาการสร้างพระพุทธรูปยืนเปลี่ยนไปจากการแกะสลักมาเป็นหล่อด้วยบรอนซ์ โดยเรียกกันว่า พระพุทธรูปแบบแคชเมียร์ และพระพุทธรูปของลุ่มน้ำสวาท
ซึ่งเมื่อการหล่อพระพุทธรูปด้วยบรอนซ์ขยายไปถึงแถบเนปาลและทิเบต ก็ได้ปรากฏศิลปแบบแคชเมียร์ในรูปของพระโพธิสัตว์และพระศรีอาริยเมตไตรย์(ว่ากันว่า เพราะพระพุทธเจ้าเข้านิพพานไปแล้วไม่สามารถช่วยสรรพสัตว์ได้อีก ไม่เหมือนพระโพธิสัตว์และพระศรีอาริยเมตไตรย์ ถ้าสวดอ้อนวอนท่าน ท่านก็ยังช่วยเราได้อยู่)
นอกจากจะมีการทรงเครื่องแบบกษัตริย์แล้ว พระรัศมีจากพระเศรียรบางครั้งก็กลายเป็นพญานาคแผ่พังพานอยู่เหนือพระเศรียรแทน
ฐานพระพุทธรูปแบบเดิมจะเป็นฐานก้อนหินมารองรับพระบาทแสดงถึงเขาพระเมรุ(แสดงความเป็นใหญ่เหนือเทพทั้งหลาย) แต่เมื่อคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนามีมากขึ้นถึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นฐานดอกบัว และฐานอาสนะเหนือดอกบัวตามลำดับ
ซึ่งในสมัยต่อมานิยมเพิ่มความวิจิตรพิสดารของศิลปะประจำภูมิภาคเข้าไป ใส่มงกุฎ ใส่เรือนแก้ว ทำให้มีลวดลายมากขึ้นจนในบางครั้งนักโบราณคดี ดูไม่ออกว่าเป็นพระพทุธรูปหรือรูปปั้นเทพยดาองค์ใดกันแน่
นี่เป็นเนื้อหาแบบคร่าวๆนะครับ จะเห็นว่าคติการสร้างพระพุทธรูปนั้นมีหลากหลายมาก แล้วแต่ว่าพระพุทธศาสนาจะเผยแพร่เข้าไปในดินแดนใด ยังมีเรื่องราวการสร้างพระพุทธรูปในแบบกรีก - โรมัน ศิลปแบบจีน อื่นๆอีกมากมาย ถ้าหาเรื่องที่เก็บไว้เจอก็จะทยอยเอามาลงให้อ่านกัน
เนื้อหาที่เก็บลอกมานี้ ไม่ได้ลงที่มาที่ไปเอาไว้ เลยไม่แน่ใจว่าคัดลอกมาจากที่ไหน เมื่อไหร่ อย่าเพิ่งเอาไปอ้างอิงที่ไหนแล้วกัน แค่เอามาให้อ่านกันพอรู้เฉยๆครับ
อันนี้แถมให้ มีหลักฐานพอใช้อ้างอิงได้ว่า วัดในพระพุทธศาสนาวัดแรกในจีนนั้น สร้างในราวปี พ.ศ ๗๓๓ ในมณฑลอันฮุย
และว่ากันว่าในสมัยหนึ่ง ในพระราชวังแห่งกษัตริย์ลังกาพระองค์หนึ่งทรงจัดที่ทางเอาไว้ สามารถรองรับนิมนต์พระภิกษุได้คราวเดียวถึง ๕๐๐ รูป
พอแล้วเดี๋ยวจะยาวไปไม่มีใครอ่าน