มีวาระพระบาลีที่มีมาใน ขุททกนิกาย สคาถวรรค ว่า
“ สาธุ โข มาริส ทานํ อปฺปกสฺมึปิ สาหุ ทานํ
สทฺธายปิ สาหุ ทานํ ธมฺมลทฺธสฺสปิ สาหุ ทานํ
วิเจยฺยทานํปิ สาธุ อปิจ ปาเณสุปิ สาธุ สํยโม
แม้เมื่อของที่จะให้ มีอยู่น้อย ทานนั้นก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ การให้ทานได้เป็นการดี ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ ทานที่ให้แก่บุคคลผู้มีธรรมอันได้แล้ว ยิ่งเป็นการดี อนึ่ง ทานที่บุคคลเลือกให้ ยิ่งเป็นการดี และความสำรวมแม้ในสัตว์ทั้งหลายยิ่งเป็นการดี ”
พวกเราชาวพุทธได้รับการปลูกฝังในเรื่องของการให้มาตั้งแต่เกิด วิถีชีวิตของทุกคนจึงดำรงอยู่บนคุณธรรมขั้นพื้นฐานนี้มาโดยตลอด ฉะนั้น แม้ว่าวัตถุทานของเราจะมากหรือน้อย เพียงแค่มีจิตเลื่อมใส มีใจศรัทธา ก็พร้อมในการให้ทานได้ทุกโอกาส เพราะเรารู้คุณค่าของบุญว่า จะส่งผลให้ได้อานิสงส์ใหญ่ ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และมรรคผลนิพพาน ติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ
การสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้คิดชั่ว พูดชั่วหรือทำบาปอกุศลนั้นเป็นคุณธรรมที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก เป็นการควบคุมตัวเราเอง ไม่ให้ไปทำบาปกรรมใดๆ ไม่เช่นนั้นบาปก็จะย้อนกลับมาสู่ตัวเรา พระพุทธองค์จึงสอนให้ทำแต่สิ่งที่ดีๆ ชีวิตจะได้ดำรงอยู่บนเส้นทางสวรรรค์ และนิพพานตลอดไป
หลังการดับขันธปรินิพพานของพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธต่างพร้อมใจกันเป็นสมานฉันท์ว่า จะสร้างมหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ เพื่อให้มนุษย์ และเทวาทั้งหลายได้มาสักการะบูชา ในสมัยนั้นพระอรหันต์เถระรูปหนึ่ง เห็นว่าหน้ามุขทางด้านทิศเหนือของพระเจดีย์ยังก่อสร้างไม่เสร็จ เพราะยังขาดทองคำอยู่เป็นจำนวนมาก ท่านจึงทำหน้าที่ผู้นำบุญไปโปรดญาติโยมตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อประกาศข่าวบุญนี้ ซึ่งมีสาธุชนร่วมบริจาคทองคำมามากบ้างน้อยบ้าง ไม่มีผู้ใดที่ไม่มีส่วนร่วมในบุญครั้งนี้ เพราะผู้คนในสมัยนั้นรักการให้ทานมาก
พระเถระได้เดินทางมาถึงบ้านของช่างทองผู้หนึ่งเพื่อบอกข่าวบุญนี้ ขณะนั้นเองช่างทองกำลังทะเลาะกับภรรยา จึงได้พูดกับภรรยาด้วยอารมณ์โกรธเคืองว่า “ เธอจงโยนพระศาสดาของเธอลงน้ำไปเสีย ” แม้ภรรยากำลังทะเลาะกับสามี เนื่องจากเป็นคนรู้จักบาปบุญคุณโทษ จึงให้สติสามีว่า “ พี่ทำกรรมหนักแล้ว พี่โกรธฉันก็ควรด่าฉันสิ แต่พี่ไปว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนั้น มันเป็นบาปหนักนะ ”
ช่างทองฟังดังนั้นก็ได้สติ เกิดความสลดใจ เขาขอให้พระเถระยกโทษให้ พระเถระกล่าวว่า “ ท่านไม่ได้ล่วงเกินเราหรอก แต่ท่านล่วงเกินพระบรมศาสดา ท่านจงขอขมาต่อพระองค์เถิด ” ช่างทองถามพระเถระว่า “ พระคุณเจ้าผู้เจริญ จะให้กระผมทำอย่างไรดี จึงจะให้พระศาสดาอดโทษให้ ” พระเถระจึงบอกให้ช่างทองทำหม้อดอกไม้ทองคำสามหม้อ นำไปไว้ภายในที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และให้ขอขมาโทษที่ได้กล่าวล่วงเกินพระบรมศาสดาต่อหน้าพระมหาเจดีย์
ช่างทองทำตามคำแนะนำของพระเถระ ได้ชักชวนลูกชายคนโตให้มาช่วยกันทำ แต่ได้รับการปฏิเสธว่า “ พ่อเป็นคนว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผมไม่เกี่ยว เพราะฉะนั้น พ่อทำคนเดียวเถอะ ” เขาจึงชวนลูกชายคนกลาง ก็ได้รับการปฏิเสธอีกเช่นกัน แต่เมื่อชวนลูกชายคนเล็ก ลูกคนเล็กกลับคิดว่า “ ธรรมดา กิจธุระของพ่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ย่อมเป็นภาระของลูกด้วย เพราะภารกิจของพ่อคือหน้าที่ของลูก ” ดังนั้น ลูกคนเล็กจึงช่วยพ่อทำหม้อดอกไม้ทองคำจนสำเร็จ และนำไปบูชาพระเจดีย์
ด้วยผลกรรมที่ช่างทองได้กล่าวร้ายต่อพระบรมศาสดาผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แม้จะขอขมาและตาม เศษกรรมก็ยังตามส่งผลให้ช่างทองเมื่อเกิดมา ต้องถูกลอยนํ้าถึง ๗ ชาติ และด้วยบุญจากการที่ได้ร่วมสร้างพระเจดีย์ถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ช่วยโอบอุ้มคุ้มครองให้พ้นจากความยากลำบาก และภยันตรายมาได้ทุกครั้ง
ในชาติสุดท้าย ช่างทองได้มาเกิดเป็นบุตรของธิดาเศรษฐี เมื่อคลอดออกมา ท่านได้ถูกนำไปลอยในแม่นํ้าคงคา แต่มีผู้ใจบุญมาพบเข้าจึงนำไปเลี้ยงดูอย่างดี พร้อมตั้งชื่อให้ว่า “ ชฎิล ” วันหนึ่ง หนูน้อยชฎิลเติบโตขึ้น พ่อบุญธรรมได้สั่งให้เป็นผู้ดูแลหน้าร้าน ด้วยการนำสิ่งของที่ขายไม่ออกถึง ๑๒ ปี มาวางให้ท่านขาย ปรากฏว่าของเหล่านั้นขายหมดภายในวันเดียว เพราะอานุภาพบุญในตัวของ ดึงดูดผู้มีบุญให้มาซื้อของเหล่านั้นจนหมด
เมื่อชฎิลเจริญวัยขึ้น แต่งงานกับลูกสาวเจ้าของบ้าน และปลูกเรือนหออย่างงดงาม ในวันแรกทันทีที่ชฎิลก้าวเท้าเหยียบธรณีประตูเท่านั้น ภูเขาทองสูงถึง ๘๐ ศอก ก็ผุดเกิดขึ้นที่ด้านหลังบ้านอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะบุญที่เคยบูชาพระเจดีย์ด้วยหม้อดอกไม้ทองคำ เมื่อถึงคราวบุญส่งผล ภูเขาทองคำจึงบังเกิดขึ้น ครั้นพระราชารู้ข่าวว่ามีภูเขาทองเกิดขึ้นที่บ้านของท่านชฎิล จึงทรงให้ตรวจสอบทั่วพระนคร ผลก็คือในเมืองนี้ไม่มีผู้ใดมีสมบัติมากถึงเพียงนี้ พระราชาจึงมอบฉัตรตำแหน่งเศรษฐีให้แก่ท่านชฎิล และแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐีประจำเมือง
นอกจากบุญที่เคยร่วมสร้างพระเจดีย์จะทำให้ท่านได้เป็นมหาเศรษฐีแล้ว บุญนั้นยังโน้มน้าวจิตใจของท่านให้ยินดีในการออกบวช เพื่อแสวงหาแก่นแท้ของชีวิต แม้ท่านจะเป็นถึงมหาเศรษฐีประจำเมือง สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ มีข้าทาสบริวารมากมาย แต่ท่านก็เป็นผู้มีปัญญา สามารถเตือนตนเองได้ว่า ทรัพย์สมบัติเหล่านี้เป็นของชั่วคราว เป็นเพียงเครื่องอาศัยสำหรับสร้างบารมีเท่านั้น ท่านจึงไม่ยึดติดหรือหวงแหนไว้
ในที่สุดท่านได้มอบสมบัติให้แก่บุตร โดยส่งจอบเพชรด้ามทอง ให้ลูกคนแรก ก็ไม่สามารถขุดได้ เมื่อให้ลูกคนที่สองทดลองดูบ้าง ก็ขุดไม่ได้เช่นกัน แต่ครั้นให้ลูกคนเล็กขุด เขากลับสามารถขุดภูเขาทองคำนั้นได้อย่างง่ายดาย และสามารถนำสมบัตินั้นมาใช้ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะลูกคนเล็กเคยทำบุญร่วมกับบิดา เคยช่วยพ่อทำหม้อดอกไม้ทองคำบูชาพระเจดีย์ จึงมีบุญที่จะได้ใช้สอยสมบัติเหล่านั้น
ส่วนลูกคนโต และลูกคนกลาง แม้ภูเขาทองคำจะตั้งอยู่เบื้องหน้า ก็ไม่สามารถขุดเอามาใช้ได้ เพราะตนเองไม่ได้ทำบุญมา ไม่รับบุญไม่รับภาระช่วยเหลือพ่อ คิดว่า สิ่งใดที่พ่อได้ผูกไว้ พ่อก็ต้องแก้เอง ไม่เกี่ยวข้องกับลูกๆ แต่อย่างใด ฉะนั้นเมื่อท่านชฎิลมอบสมบัติให้ลูกคนเล็ก และให้ลูกคนโตกับคนกลางใช้สมบัติร่วมกับน้องแล้ว ท่านก็ออกบวชเพื่อแสวงหาอริยทรัพย์ภายใน ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
http://www.dmc.tv/programs/chadin.html วีดีโอ ชฎิลเศรษฐี ผู้มีหัวใจทองคำ