ศาสนานั้นมีคุณค่านานาประการสุดที่จะพรรณนา คุณค่าของศาสนาที่มีผลโดยตรงต่อมนุษย์
เป็นคุณค่าทางจิตใจอันถือได้ว่าเป็นคุณค่าที่สูงกว่าวัตถุ
คุณค่าของศาสนาที่พอจะกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
๑. เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ คือเป็นที่พึ่งทางใจ ทำให้มนุษย์ไม่รู้สึกอ้างว้างว้าเหว่จนเกินไป
๒. เป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคีของหมู่คณะ รวมไปถึงความสามัคคีในหมู่มนุษย์ชาติ ทั้งมวล
๓. เป็นบ่อเกิดแห่งการศึกษาทั้งในด้านพุทธิศึกษา จริยศึกษา
๔. เป็นบ่อเกิดแห่งจริยธรรม ศีลธรรม และคุณธรรม
๕. เป็นบ่อเกิดแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามทั้งหลาย
๖. เป็นเครื่องดับความเร่าร้อนทางใจ ทำให้ใจสงบเย็น
๗. เป็นดวงประทีปส่องโลกที่มืดมิดด้วยอวิชา ให้สว่างไสวด้วยวิชา
๘. เป็นสิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ เพราะว่าสัตว์ไม่มีศาสนา
ประเภทของศาสนา
ศาสนามีหลายประเภท เช่น
มีพระเจ้าองค์เดียวบ้าง (Monotheism)
หลายองค์บ้าง (Poly- theism)
ไม่มีเทพเจ้าบ้าง (Atheism) เป็นต้น
แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็มีอยู่สองอย่างคือ
มีพระเจ้า ผู้สร้างสรรพสิ่ง เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม
และไม่มีพระเจ้าผู้สร้าง เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน
สาเหตุของการเกิดศาสนา
สาเหตุของการเกิดศาสนานั้น มีหลายอย่างหลายประการตามความเชื่อของประชาชน
แต่ละกลุ่มและสภาพสิ่งแวดล้อมที่โน้มน้าวให้เกิดความเชื่อเช่นนั้น ซึ่งพอจะรวมกล่าวได้ ๖ ประการคือ ๒
๑. เกิดจากความไม่รู้
ความไม่รู้เหตุผลที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปรากฏการณ์ธรรมชาติ
ก็คิดว่าเป็นอำนาจของเทพเจ้าบันดาลให้เป็นไป
ซึ่งความไม่รู้ในเหตุผลทั้งหลายเหล่านั้น พอจะสรุปกล่าวโดยย่อ ๆ ได้ดังนี้
ความไม่รู้เหตุผลทางภูมิศาสตร์ :
คนในประเทศอินเดียไม่เคยปีนไปบนยอดเขาหิมาลัยอันปกคลุมด้วยหิมะอย่างหนาทึบในฤดูหนาว
เมื่อถึงฤดูร้อนหิมะละลาย น้ำไหลลงมาเป็นแม่น้ำคงคา ชาวอินเดียไม่รู้ว่าต้นน้ำของแม่น้ำคงคาเกิดจากเหตุนี้
เข้าใจว่าเป็นน้ำที่ไหลมาจากสวรรค์ผ่านเศียร พระศิวะ
ซึ่งเป็นเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์ และเข้าใจว่าแม่น้ำคงคานั้นศักดิ์สิทธิ์สามารถล้างบาปได้
คนจึงนิยมไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคาเพื่อล้างบาป ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์
ความไม่รู้เหตุผลทางดาราศาสตร์ :
เมื่อเกิดจันทรุปราคาและสุริยุปราคาขึ้นเพราะการโคจร ของโลกรอบดวงอาทิตย์
ประชาชนที่ไม่รู้เหตุผลก็เรียกว่าเกิดราหูอมจันทร์ จึงยิงปืนบ้าง จุดประทัดบ้าง หรือตีเกราะเคาะไม้
เพื่อให้ราหูตกใจแล้วจะได้หนีไป เป็นต้น
ความไม่รู้เหตุผลทางชีววิทยา :
คนบางคนเดินผ่านต้นไม้ใหญ่ เขาจะยกมือไหว้โดยเชื่อว่า ต้นไม้นั้นเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้า
ผู้ที่เดินทางผ่านภูเขาใหญ่ หรือภูเขาที่ประกอบด้วยหน้าผารูปแปลกๆ
ชาวบ้านให้ชื่อภูเขานั้นตามที่ตนนึกว่าเหมือนอะไร แล้วก็แสดงความเคารพภูเขานั้น
โดยถือว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่
ความไม่รู้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ :
เมื่อเห็นรุ้งกินน้ำ ก็เข้าใจว่าเกิดจากอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้เกิดขึ้น จึงทำนายไปตามความเข้าใจของตนว่า
รุ้งกินน้ำทางทิศนี้ฝนจะตกชุก รุ้งกินน้ำ ทางทิศนั้นฝนจะแล้ง เป็นต้น
จากความไม่รู้เหตุผลดังกล่าวมาแล้ว ทำให้คนยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดศาสนาประเภทเทวนิยมขึ้น
๒. เกิดจากความกลัว
เนื่องจากความไม่รู้เหตุผล เมื่อบุคคลได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ลมพายุ ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง
แผ่นดินไหว มีดาวหางปรากฏขึ้น ก็เกิดความกลัวจึงขวนขวายหาที่พึ่ง
โดยคิดว่าปรากฏการณ์เหล่านั้น มีเทพเจ้าบันดาลให้เกิดขึ้นจึงได้อ้อนวอนบนบานศาลกล่าวขอให้เทพเจ้าเหล่านั้น
โปรดระงับสิ่งเหล่านั้นเสีย
๓. เกิดจากความจงรักภักดี
ความภักดี คือความเชื่อในสิ่งนั้นว่ามีอำนาจเหนือคน หรือเชื่อในบุคคลว่ามีความดีที่เชื่อถือได้
เกิดความเลื่อมใสในสิ่งนั้นหรือบุคคลนั้นว่ามีศักดิ์ศรีหรือมีจริยาวัตรที่ควรแก่การยกย่อง
เมื่อเกิดความเชื่อความเลื่อมใสแล้ว ความเคารพ ความรักและความนับถือจะเกิดขึ้นตามมา
กิจกรรมประกอบในสิ่ง ที่ตนมีความเชื่อความเลื่อมใสนั้น ได้แก่
การแสดงความเคารพทางกายมีการกราบไหว้บูชา เคารพทางวาจาได้แก่ การกล่าวคำสรรเสริญ ยกย่อง
เคารพทางใจได้แก่ การเลียนแบบจริยาวัตร หรือปฏิบัติตาม คำสอนของผู้นั้น
ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดศาสนาขึ้น
๔. เกิดจากความอยากรู้เหตุผล
ความอยากรู้เหตุผลนั้น เป็นความรู้ที่ประกอบด้วยปัญญา
ซึ่งจะต้องคิดค้นถึงเหตุผลที่แท้จริงว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นมาจากสิ่งอะไร เช่น
เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ และคนตาย ทรงพยายามที่จะแก้ทุกข์ทั้ง ๓ อย่าง
โดยทรงดำริว่าในโลกมีสิ่งที่เป็นคู่ ๆ ตรงกันเสมอ เช่น
มีมืดแล้วก็มีสว่าง มีร้อนแล้วก็มีเย็น ฉะนั้น เมื่อมีแก่ก็ต้องมีไม่แก่ได้
มีเจ็บก็ต้องมีไม่เจ็บได้ มีตายก็ต้องมี ไม่ตายได้
ความอยากรู้เหตุผลเป็นเหตุให้เกิดศาสนาที่เป็นอเทวนิยม
๕. เกิดจากอิทธิพลของคนสำคัญ
การเคารพต่อวิญญาณของบรรพบุรุษ เป็นสิ่งที่ได้กระทำกันมาช้านาน
ถ้าบุคคลนั้นเป็นที่สำคัญต่อชุมชน ก็สามารถเป็นจุดศูนย์รวมน้ำใจของคนส่วนมากไว้ได้อีกประการหนึ่ง
การเคารพบุคคลสำคัญทางวรรณคดี เช่น พระรามและพระกฤษณะในเรื่องมหาภารตะ
ซึ่งเป็นวรรณ คดีที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
พราหมณ์ต้องการให้พระรามและพระกฤษณะเข้ามาเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดู
เพื่อต้องการให้ประชาชนนับถือศาสนาฮินดูมากยิ่งขึ้น จึงได้ประกาศแก่ประชาชนว่า
พระรามและพระกฤษณะก็ไม่ใช่ใครที่ไหนคือพระวิษณุได้อวตารลงมานั่นเอง
ประชาชนได้ทราบเช่นนั้นก็ไม่ว่าอะไร เพราะเขานับถือของเขาอยู่แล้วก็ยิ่งเป็นความดียิ่ง ๆ ขึ้น
การเคารพนับถือวิญญาณของบุคคลสำคัญก็เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เกิดศาสนาขึ้น
๖. เกิดจากลัทธิทางการเมือง
ความเชื่อถือทางลัทธิการเมือง ทำให้คนมีจิตใจเบี่ยงเบนออกไปจากศาสนาประจำชาติของ ตนได้ เช่น
ลัทธิคอมมิวนิสต์ ได้กล่าวประณามศาสนาเป็นยาเสพติด เอาเปรียบสังคม
เป็นกาฝากสังคม สูบเลือดเอาประโยชน์จากสังคม
ผู้ที่เชื่อถือศาสนาเป็นพวกงมงาย ทำให้ประเทศชาติเจริญช้า
ลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้คนเสมอกัน คนมีฐานะเสมอเหมือนกันหมด
ประเทศที่เริ่มต้นเผยแพร่ลัทธิ นี้คือประเทศรัสเซียและจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่
ซึ่งเป็นประเทศที่ถือลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นศาสนาประจำชาติ
***
๑ พลตรีหลวงวิจิตร วาทการ, ศาสนาสากล เล่ม ๑, พ.ศ. ๒๕๒๓, น. ๑
๒ ศจ. เสฐียร พันธรังษี, ศาสนาเปรียบเทียบ
ข่าวพระพุทธศาสนา วัดในพระพุทธศาสนา