สื่อธรรมะหอมกำจาย การปรับตัวเพื่อการเข้าถึงสังคมไทยของพระสำนักดัง (ตอนที่ 1)
10 กุมภาพันธ์, 2013 - 11:34 | โดย buddhistcitizen
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
หากมองโดยผิวเผินแล้วเราจะเห็น การใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเพื่อการเผยแพร่ธรรมะอย่างโดดเด่น ผ่านปลายนิ้วของ ว.วชิรเมธี เซเล็บสงฆ์รูปดัง อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2553 ที่เกิดทวีตเจ้าปัญหา “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” ในสังคมคนนอกวัดโดยทั่วไปเราอาจไม่ทราบถึงการปรับตัวของวงการสงฆ์กับการเผยแพร่และสร้างช่องทางการเข้าถึงใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุชุมชน โทรทัศน์ดาวเทียม เว็บไซต์ เว็บบอร์ด กระทั่งโซเชียลมีเดียอย่าง ทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ค
บทความนี้จะชี้ให้เห็นที่ทางของพระสำนักต่างๆ ในโครงสร้างการสื่อสารใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับโครงสร้าง “ชุมชนศาสนาในจินตนาการ” ที่แตกต่างกันไป การปรับตัวเกิดมาจากพลังการผสมผสานรูปแบบการสื่อสาร
นอกจาก การแชร์รูปภาพหรือข้อความที่ถูกผลิตมาโดยเครดิตของ ว.วชิรเมธีแล้ว คาดว่ายังมีคนในไทยพุทธอีกไม่น้อยที่ไม่คุ้นเคยกับสื่อใหม่ของศาสนชุมชนอื่นๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา การสั่งสอนธรรมในพุทธศาสนานั้น ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ไม่ได้ผูกขาดโดยพระสงฆ์อย่างเดียวแล้ว การก้าวออกมาประกาศสอนพุทธศาสนาอย่างองอาจของ ดังตฤณ ด้วยหนังสือดังของเขาคือ เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน, ความโด่งดังของนักเทศน์ฆราวาสที่เคยล้มเหลวทางธุรกิจอย่าง ฐิตินาถ ณ พัทลุง เจ้าของผลงาน เข็มทิศชีวิต ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่า ในสังคมสมัยใหม่ฆราวาสก็สอนธรรมได้ดี และเข้าถึงได้ง่ายไม่แพ้พระในคราบผ้าเหลืองเลย
โลกใบเก่า
อาจกล่าวได้ว่าศาสนาพุทธในปัจจุบันถูกบีบให้ปรับตัวเข้าหามวลชน เป็นศาสนาเพื่อมวลชนมากขึ้น ขณะที่พุทธสำนักเดิมๆที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติมากที่ผ่านมานั้น มิสู้จะ “ง้อ” ญาติโยมมากนัก การมาหาของญาติโยม (โดยเฉพาะคนโนเนมที่ไม่ใช่ทหารใหญ่ ข้าราชการชั้นสูง หรือนักการเมือง) ก็จำเป็นที่จะต้องนั่งรอนอนรอการมาโปรดของพระผู้ทรงคุณธรรมทั้งหลาย พื้นที่ของพระอาวุโส พระผู้ทรงฤทธิ์เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของ “ผู้หลุดพ้น” มากกว่าจะเป็น อารามสาธารณะที่ต้อนรับมวลชนไม่เลือกหน้า อย่างที่เราเห็นจากสำนักวัดป่าสายหลวงปู่มั่น สายวัดหนองป่าพง หลวงปู่ชา ฯลฯ สำนักเหล่านี้มักจะเน้นการปล่อยให้พระและฆราวาสไปปฏิบัติเอง โอกาสที่จะพบปะครูบาอาจารย์อย่างใกล้ชิดก็มีน้อยกว่าน้อย แม้แต่ในหมู่พระด้วยกันเอง หากไม่ใช่พระอุปัฏฐากใกล้ชิด ก็แทบไม่มีโอกาสได้สนทนาอย่างลึกซึ้งเลย
ขณะที่ด้านตรงข้ามกันเลยอย่างวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเช่น วัดหลวงพ่อโสธร หรือวัดบ้านไร่ (หลวงพ่อคูณ) ก็จะเป็นอีกแบบ แม้จะเน้นมหาชนแต่ก็เป็นนักท่องเที่ยวที่มาสักการะบูชา กราบไว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าจะรับฟังคำสั่งสอนไปปฏิบัติ
การเผยแพร่ธรรมะทางหนึ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือ สิ่งพิมพ์กับงานพุทธศาสนา สิ่งพิมพ์เป็นสื่อที่ตกทอดมาอย่างยาวนานก่อนเทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่เสียอีก ดังนั้นจึงขอไม่กล่าวถึงในที่นี้ เนื่องจากมีความซับซ้อนและมีประเด็นมากมายที่จะต้องกล่าวถึงและค้นคว้า
การสื่อสารในโลกสมัยใหม่
โลกของวิทยุ, โทรทัศน์ และเทป
หลังจากที่เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามา วิทยุ น่าจะเป็นเครื่องมือแรกๆที่วัดใช้เป็นแหล่งกระจายเสียงทางธรรมไปสู่กลุ่มคนต่างๆ วิทยุเริ่มกลายเป็นตลาดมวลชนมากขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2490 และในช่วงเวลาดังกล่าวการขยายตัวของพุทธศาสนาทวีความสำคัญขึ้น โดยเฉพาะเมื่อใกล้กับปี พ.ศ.2500 การกระจายเสียงธรรมะผ่านการเทศน์หรือการเล่าเรื่องทางพุทธศาสนาผ่านฆราวาสก็เริ่มขึ้น ความเปลี่ยนแปลงสำคัญด้านหนึ่งก็คือ ความตึงเครียดทางการเมืองปลายทศวรรษ 2510 รัฐเริ่มผนวกพุทธศาสนาเข้ามามีบทบาทในการจัดระเบียบสังคมมากยิ่งขึ้น รายการโทรทัศน์เกี่ยวกับพุทธศาสนาในเช้าวันอาทิตย์ ถูกเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์ที่มีเจ้าของเป็นกองทัพทาง ช่อง 5 และช่อง 7 ในทศวรรษ 2520 ที่เครื่องรับโทรทัศน์เริ่มกระจายตัวสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมือง ลักษณะการเผยแพร่และรับฟังของวิทยุและโทรทัศน์จะคล้ายคลึงกัน นั่นคือ เป็นการออกอากาศจากต้นทาง ที่เป็นการถ่ายทอดที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่เจ้าของสถานีซึ่งมีเบื้องหลังก็คือ รัฐและกองทัพ โดยเฉพาะในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ดังนั้น ผู้เผยแพร่ จึงถูกกำหนดวาระการส่งหัวข้อธรรมะที่ไม่ล่วงละเมิดความมั่นคงของชาติ ในขณะเดียวกันธรรมะดังกล่าวหากไม่มีเหตุขัดข้อง ก็จะมีการถ่ายทอดหัวข้อธรรมะใหม่อยู่เรื่อยๆ ผู้ชมและผู้ฟังก็รับสารเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีอำนาจกำหนด
แต่การเข้ามาของเทคโนโลยีเทปคาสเซ็ต นอกจากทำให้ตลาดธุรกิจเพลงไทย ไม่ว่าจะเป็นเพลงลูกทุ่ง หรือเพลงไทยสากลขยายตัวแล้ว ที่น่าสนใจก็คือ การเผยแพร่ธรรมะผ่านเทปคาสเซ็ต ที่เด่นมากก็คือ การบันทึกคำบรรยายธรรมของพุทธทาสภิกขุในชุดต่างๆ เราพบว่ามีรายการการบันทึกเสียงตั้งแต่ปี 2504 [1] ก่อนที่ตลาดเทปและเครื่องเล่นจะบูมในทศวรรษ 2520 ในที่นี้ไม่สามารถค้นคว้าได้ว่า การบันทึกเสียงดังกล่าวเป็นการบันทึกลงบนตลับเทปคาสเส็ตแล้วเผยแพร่ หรือใช้การบันทึกลงวัสดุอื่น แล้วนำมาเผยแพร่ผ่านเทปคาสเซ็ตในภายหลังกันแน่
ที่แน่ๆ อำนาจของผู้ฟังหลังจากที่เครื่องเล่นเทปได้กระจายไปทั่วในทศวรรษ 2520 ได้ทำให้ตลาดเทปธรรมะก็มีที่ทางเป็นของตัวเองด้วย นอกจากพุทธทาสแล้ว ยังมีเทปธรรมะของ หลวงปู่ชาแห่งวัดหนองป่าพง หลวงพ่อฤาษีลิงดำ พระพยอม กัลยาโณ นักเทศน์ฝีปากคมคายในยุคนั้น ลักษณะสังคมมุขปาฐะของไทยน่าจะไปกันได้ดีกับการปรากฏตัวของพระนักเทศน์ที่สามารถให้ข้อคิดกับผู้ฟัง ดังนั้นสื่อเหล่านี้ก็มีส่วนสร้างเสริมวัฒนธรรม พระดีพระดัง ในสายนักเทศน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตลาดเทปจึงกลายเป็นเวทีสำคัญในการเผยแพร่ ที่ให้อำนาจแก่ผู้ฟังที่จะเลือกฟังบ่อยครั้งเพียงใดก็ได้ ตราบที่เทปยังมีประสิทธิภาพอยู่ เลือกที่จะกรอเทปข้ามไปธรรมะที่ไม่ต้องการฟังก็ยังได้
เสียงธรรม1.jpg 7.37K
29 ดาวน์โหลด
เสียงธรรม.jpg 73.19K
22 ดาวน์โหลด
ตัวอย่างเทปคาสเซ็ต "เสียงธรรมจาก ฤาษีลิงดำ" และ พระพยอม กัลยาโณ
โลกของซีดี เอ็มพีสาม ทีวีดาวเทียมและอินเตอร์เน็ต
แต่เมื่อเทปคาสเซ็ตถูกแทนที่ด้วยซีดีและเอ็มพีสาม ลักษณะการใช้งานก็จะแตกต่างกันไป ประกอบกับความตึงเครียดทางการเมืองก็ลดน้อยลงแล้วในทศวรรษ 2530 พระดังหน้าใหม่ๆ ก็ไม่ปรากฏว่าใช้การสื่อสารเทปคาสเซ็ตมากเท่าใดนัก คาดว่า การกลับมาบูมของธรรมะและพระดังน่าจะมีหมุดหมายหลังปี 2540 เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือ คนในเมือง ความไม่มั่นคงของชีวิตปรากฏชัดและสร้างคำถามใหญ่ให้กับชีวิตของพวกเขา ในด้านหนึ่งพวกเขาก็เลือกที่จะแสวงหาทางสงบจิตใจที่ว้าวุ่น จากลาภ ยศ สรรเสริญที่แปรผัน
การเสาะแสวงหาพระดีพระดังนั้น ย่อมทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องการที่จะแบ่งปันประสบการณ์การเทศนาธรรมะจากพระอาจารย์ที่พวกเขาเคารพศรัทธา เราจึงพบการผลิตไฟล์เสียงแจกแบ่งปันในรูปลักษณ์ของซีดีและเอ็มพีสามที่มาแทนเทปคาสเซ็ตมากขึ้น ในระยะแรกอาจเป็นการผลิตซ้ำเสียงเทศนาธรรมเก่าๆที่เคยได้รับการบันทึกไว้รวมไปถึงเสียงของพระดังในอดีตแล้วด้วย ต่อมาพบว่า เสียงเทศน์และบรรยายธรรมะมีความเป็น “ปัจจุบัน” มากขึ้น นั่นคือ มีการอัดเสียงของพระและเผยแพร่หลังจากที่บรรยายไปแล้วไม่นาน
CD บรรยายธรรม ของพุทธทาสภิกขุ.jpg 93.64K
22 ดาวน์โหลด
CD บรรยายธรรม ของพุทธทาสภิกขุ
ที่น่าสนใจก็คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนฟังของพระผ่านสื่อดังกล่าว พระทั้งหลายเริ่มตระหนักแล้วว่าสิ่งที่ตนเองพูดนั้นมีความสัมพันธ์กับผู้ฟังที่ไม่ได้อยู่ “ต่อหน้าต่อตา” อีกต่อไปแล้ว การเทศนามีนัยของการสื่อไปถึงคนไกลตัวออกไปด้วย (กรณีพุทธทาสในอดีตที่มีลักษณะเป็น public figure ยิ่งมีความชัดเจนและโดดเด่นอย่างมาก แต่ถือว่าเป็นกรณีเฉพาะเนื่องจากว่า พระรูปอื่นๆ ไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีและมีคณะศรัทธาเป็นคนในเมืองที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย และเขาเหล่าก็เป็นคนที่มีพลังทางการเมืองแฝงอยู่เต็มเปี่ยม) เราจึงพบการปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น พระปราโมทย์ ปาโมชโชแห่งสวนสันติธรรม อ.ศรีราชา ชลบุรี ที่ทักทายลูกศิษย์ลูกหาทำนองว่า ถ้ายังไม่เข้าใจให้ไปหาซีดีฟัง
อินเตอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญ นั่นคือ การเกิดขึ้นของพื้นที่เก็บไฟล์ขนาดมหึมา และสามารถเข้าถึงได้จากทั่วโลก สิ่งที่เคยอยู่ในเทป, วิดีโอ สามารถจะแปลงเป็นไฟล์ดิจิตอล เปิดโอกาสให้มีการดาวน์โหลดได้ ดังเช่นกรณีเว็บไซต์วิมุตติที่เก็บรวบรวมการสอนธรรมะของพระปราโมทย์ ปาโมชโช ใน (www.wimutti.net) เท่าที่ค้นได้เก่าที่สุดคือ ในช่วงปี 2550 ขณะที่สำนักสงฆ์ป่าสามแยกของ พระเกษม อาจิณศีโล ที่เคยเป็นข่าวใหญ่โตและเป็นประเด็นในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ปรากฏคลิปใน Youtube ตั้งแต่ปี 2552 (www.youtube.com/user/dhammasamyaek/videos) สำหรับวัดพระธรรมกาย ปรากฏใน Youtube ที่ user ชื่อว่า Dmc Dhammamediachannel ตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่ใน user อื่นๆ ที่น่าจะเป็นสาวก หรือเป็น user ที่ไม่เป็นทางการของวัดก็มีอยู่หลากหลายแต่พบว่าเริ่มในช่วงใกล้เคียงกัน
หากจะดูสถิติใน Youtube เราจะพบว่า สำนักสงฆ์ป่าสามแยก มีจำนวนชมเป็นหลักพันจนถึงหลักหมื่น, ขณะที่วัดพระธรรมกาย อยู่ที่หลักร้อยถึงหลักพัน ขณะที่พระปราโมทย์ที่ไม่มี user เป็นของตัวเองก็มีกระจัดกระจายอยู่ user ในชื่ออื่นๆ ก็พบว่ามียอดชมหลักร้อยถึงพัน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเทคโนโลยีถ่ายทอดสดรายการ หรือกระทั่งมีระบบจัดเก็บวิดีโอบนเว็บไซต์อย่าง Youtube ที่ทำให้สามารถเปิดชมย้อนหลังกลับไปกลับมามากเท่าไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องเซฟเก็บไว้ในเครื่อง ดังที่กล่าวไปแล้วเราจะไม่กล่าวถึงสื่อธรรมะประเภทสิ่งพิมพ์ซึ่งในกรณีนี้จะรวมไปถึงอีบุ๊คด้วย
จานดาวเทียมกับการกระจายระดับแมส
หากมองการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในฐานะชนชั้น เราจะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ก็คือ คนที่มีความสามารถในการครอบครอง คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และการจ่ายค่าบริการรายเดือนได้ ตัวเลขจากยอดชมใน Youtube จึงชี้ให้เห็นการเข้าถึงของคนกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากกว่าตลาดมวลชนโดยทั่วไป สิ่งที่น่าสนใจถามต่อไปก็คือ ตลาดธรรมะแบบแมสอยู่ที่ใด
ตลาดของจานดาวเทียมตามบ้านเรือนต่างๆ นับได้ว่าขยายตัวอย่างมาก ด้วยสนนราคาที่ไม่แพงมากเกินไป แลกกับการชมภาพที่คมชัด และไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน ทั้งยังมีช่องสัญญาณจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ ประกอบไปด้วยรายการหลากหลายไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร บันเทิงภาพยนตร์ ดนตรี กีฬา สารคดี ฯลฯ ในด้านหนึ่งเราพบว่า วัดและองค์กรทางศาสนาพยายามใช้ช่องทางดังกล่าวในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของตน วัดพระธรรมกายเองมี DMC TV มาก่อนหน้า ในครั้งก่อตั้งได้มีการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “จานดาวธรรม” ซึ่งน่าจะเป็นภาษาที่ล้อกับคำว่า “จานดาวเทียม” เป็นการสร้างเทคโนโลยีมาตอบสนองกับการสื่อสารของตน ในปัจจุบัน อานิสงส์ของจานดาวเทียมเชิงพาณิชย์ในราคาไม่แพงนัก ก็ทำให้ช่อง DMC TV สามารถเผยแพร่ไปได้กว้างขวางมากกว่าเดิมไปอีก
รายการอนุบาลฝันในฝันวิทยา.jpg 42.77K
26 ดาวน์โหลด
รายการอนุบาลฝันในฝันวิทยา ใน DMC TV
ขณะที่ FMTV ในเครือสันติอโศกที่มีความสัมพันธ์กับ เครือผู้จัดการ ASTV เราอาจกล่าวว่า ชุมชนสันติอโศกก็สามารถสร้างเครือข่ายศาสนชุมชนที่กว้างขวางได้ไม่น้อยเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจก็คือว่า การใช้ช่องโทรทัศน์สื่อสารผ่านจานดาวเทียมมันจะอุดมการณ์ชุมชนพึ่งตัวเองแบบบุพกาลของพวกเขาหรือไม่
การรับชมรายการโทรทัศน์ในปัจจุบันนั้น เป็นคนละลักษณะกับการชมภาพยนตร์ในโรง นั่นคือ สามารถเปิดแช่ไว้ทั้งวันเป็นเพื่อนแก้เหงาก็ได้ หรืออาจจะกดรีโมทเพื่อเปลี่ยนย้ายช่องเพื่อเปลี่ยนความสนใจไปสู่สิ่งอื่นก็ย่อมได้ อย่างไรก็ตามเราพบว่า สำหรับ DMC TV ได้มีการเชื่อมสัญญาณไปสู่วิทยุชุมชนในจังหวัดต่างๆ นั่นหมายถึง การเพิ่มช่องทางสื่อสารไปสู่วิทยุอันเป็นอุปกรณ์สื่อสารพื้นฐานราคาถูกที่สุดที่คนเล็กคนน้อยสามารถเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่มีเนื้อสารที่สื่อออกไปอย่างเป็นเอกภาพ
ที่น่าสังเกตก็คือ การเปลี่ยนแปลงสำคัญของวงการโทรทัศน์ก็คือ การเปลี่ยนไปสู่โทรทัศน์ดิจิตอล ช่วงกันยายน 2556 ก็ไม่แน่ว่า โทรทัศน์ธรรมะจะเข้าไปมีส่วนได้เสียกับคลื่นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะการเผยแพร่บนเครื่องมือใหม่ๆ แม้จะทำให้สาธุชนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น การปรากฏตัวบ่อยครั้งที่มีภาพปรากฏชัดราวกับจับต้องได้ ก็ทำได้แต่เพิ่มความคลั่งไคล้ในตัวบุคคล คำกล่าวสาธุการที่เป็นเสมือนหางเสียงในการสรรเสริญจึงเกิดขึ้นดังกลบเสียงของ คำถาม และข้อกังขาในหลักธรรมคำสอน
เฟสบุ๊ค สาธุชนไซเบอร์
การเกิดขึ้นของเฟสบุ๊ค และโซเชียลมีเดีย ทำให้แต่ละคนสามารถแสดงออกความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง แต่แน่นอนว่า ในสังคมไทยก็มีสิ่งที่ถูกปิดปากไม่ให้พูดอันเนื่องมาจากกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญของบทความนี้แต่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยไปอีกนาน
เฟสบุ๊คกลายเป็นพื้นที่ดาบสองคมในการนำเสนอ “ความฉลาด” ในธรรมะของเหล่าพระดัง พระเซเล็บ ว.วชิรเมธี ได้เคยเป็นผู้รับผลประโยชน์มหาศาลผ่าน twitter และ เฟสบุ๊คที่นำเสนอ ธรรมะอันคมคายที่ให้ความรู้สึกดีๆ แก่ผู้อ่าน โดยไม่ตระหนักถึงความผิดพลาดในการนำเสนอของตน และไม่เข้าใจถึง “ความเป็นสาธารณะ” ที่เต็มไปด้วยคนร้อยพ่อพันแม่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธที่รู้เยอะ หรือคนไม่มีศาสนาที่ไม่ศรัทธากับคำสอน และกระบวนท่าการเทศนา การที่ถูกคนคลิกไลค์เป็นหมื่นเป็นแสน ขณะที่แต่ละคอมเมนท์ก็เต็มไปด้วยคำว่า “สาธุ” ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะของการสั่งสม “คำสรรเสริญ” เยินยอ แต่อย่าลืมว่าบนเฟสบุ๊คที่เป็นพื้นที่สาธารณะนั้น ก็ต้องรองรับการเห็นต่าง เห็นแย้ง รวมไปถึงคำด่า คำผรุสวาท เสียดสีอีกด้วย
เฟสบุ๊ค ว.jpg 78.49K
25 ดาวน์โหลด
เฟสบุ๊ค ว.วชิรเมธี กับ คำสาธุการ
การพลาดพลั้งสอนธรรมะที่พูดเปรียบเทียบถึง ความมีค่าของเวลากับความตายในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ จริงๆไม่เฉพาะ ว.วชิรเมธีเท่านั้นที่ถูกวิจารณ์และถากถาง วัดพระธรรมกายก็เช่นกัน ที่ถึงกับมีการตั้งเพจต่อต้านขึ้นมาอย่างเปิดเผย ดังที่กล่าวไปบ้างแล้ว เราจึงเห็นได้ว่า ในพื้นที่เฟสบุ๊คนั้น เราไม่สามารถที่จะควบคุมการเทศนาให้กับสาธุชนที่จงรักภักดีได้อย่างเดียวอีกแล้ว แต่มันคือการเปิดตัวเองสู่โลกกว้างที่พระดังเหล่านั้นไม่รู้จักอีกมาก
แต่อย่างไรก็ตาม เราพบการวิพากษ์และล้อเลียนกับพระดังที่ “น่าหมั่นไส้” หรือ “ไม่ถูกจริต” กับ คนชั้นกลาง เรายังเห็นน้อยมากว่า พระดังในระดับปรมาจารย์ต่างๆ จะถูกตั้งคำถามอย่างไร เช่น หลวงพ่อโต วัดระฆัง, หลวงปู่มั่น, พุทธทาส, หลวงปู่ชา ฯลฯ
นี่คือ บทเสนอให้เห็นโครงร่างของการที่พระดังๆ ในสังคมไทยใช้สื่อในการเผยแพร่ธรรมะและสร้างตัวตนของสำนักตัวเองมาเช่นไร คราวหน้าเราจะลงไปที่กรณีศึกษาเนื้อหา และท่วงท่าที่สื่อธรรมะเหล่านี้มีต่อประชาชน
การอ้างอิง
[1] ข้อมูลรายการเทปที่เริ่มตั้งแต่ ทศวรรษ 2500-2530 ให้ดูใน กลุ่มมัญชุศรี. "รายชื่อเทปธรรมะที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบรรยาย". http://www.manchusree.org/tapelist.htm (10 กุมภาพันธ์ 2556)
- See more at: http://blogazine.in....tizen/post/3969