***ประทีปดวงน้อย ๆ ที่เปล่งประกายระยิบระยับยามต้องลมพัดผ่าน เป็นภาพแห่งการมีชีวิตชีวาเบิกบานร่าเริงยินดี ประหนึ่งว่าจะท้าทายให้ใครก็ตาม ทั้งที่เป็นผู้จุดประทีปขึ้นมาด้วยมือของตนเอง หรือผู้ที่เฝ้าจับจ้องมองดูด้วยความตื่นตาตื่นใจ เกิดความรู้สึกลึกซึ้งขึ้นภายใน โดยอาศัยดวงประทีปนั้นเป็นภาพนิมิต มองย้อนกลับเข้าไปสว่างโพลงอยู่ภายใน จนสามารถค้นพบความสุขที่แท้จริงให้กับชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์
ดังตัวอย่างที่เคยเกิดมาแล้วเมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ชีวประวัติของ พระอุบลวรรณาเถรี อริยสาวิกา ผู้เลิศในด้านมีฤทธิ์ ท่านได้อาศัยความสว่างของเปลวประทีปเป็นนิมิต เจริญสมาธิจนได้บรรลุอรหันต์ในขณะยืนดูเปลวประทีปนั้น
เรื่องของพระอุบลวรรณาเถรี มีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎกขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ ในภพชาติสุดท้าย ได้เกิดมาในสกุลเศรษฐี บิดาตั้งชื่อว่า อุบลวรรณา เพราะมีผิวพรรณสวยงามเหมือนดอกบัวขาบ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า นางได้ทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยดอกบัวขาบ แล้วตั้งความปรารถนาเช่นนั้น เมื่อนางเจริญวัยแล้ว กิตติศัพท์ความงามร่ำลือไปไกล จนกษัตริย์ทั่วชมพูทวีปต่างส่งทูตมาเจรจาสู่ขอนางไปเป็นมเหสี บิดาไม่สามารถจะตอบตกลงใจให้กับกษัตริย์เมืองใดได้ จึงได้เรียกนางมากล่าวว่า ลูกยินดีจะออกบวชได้ไหม นางเมื่อได้ยินเช่นนั้น รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนางได้สั่งสมบุญญาบารมีมามากจนเป็นชาติสุดท้าย นางได้ตอบรับคำของบิดาด้วยความปีติ แล้วได้นำนางไปบวชเป็นภิกษุณี
เมื่อได้บวชแล้วต่อมา ถึงคราวที่นางต้องรับหน้าที่ดูแลพระอุโบสถ ในวันที่ภิกษุณีทั้งหลายจะมาประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถเพื่อสวดพระปาฏิโมกข์ วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ นางได้มาทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถู ปูลาดอาสนะตั้งน้ำฉันน้ำใช้เสร็จเรียบร้อยแล้ว นางได้จุดประทีปไว้เพื่อให้ความสว่างในพระอุโบสถ เปลวประทีปที่ลุกโชติช่วงในขณะนั้น บางครั้งเมื่อถูกลมพัดก็ริบหรี่แทบจะดับไป บางครั้งก็กลับลุกสว่างไสวขึ้นมา นางได้มองดูเปลวประทีปยึดเอาเปลวประทีปนั้นเป็นอารมณ์ เรียกว่า "เตโชกสิณ" คือ เพ่งไฟในสงบนิ่ง เกิดปัญญารู้แจ้งภายในบรรลุธรรมไปตามลำดับ จนบรรลุอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ขณะที่นางยืนเพ่งเปลวประทีปอยู่นั่นเอง