ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

มิตรภาพที่ยั่งยืน


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 3 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 20 December 2005 - 10:38 AM

[attachmentid=767]

มิ ต ร ภ า พ ที่ ยั่ ง ยื น

มิตรภาพของผู้ที่ถูกทำร้ายกับผู้ที่ทำร้าย ย่อมกลับเชื่อมติดกันได้อีกเฉพาะกับพวกบัณฑิตด้วยกัน ย่อมเชื่อมกันไม่ติดอีกเฉพาะคนพาล ดูก่อนนางนกกระเรียน ท่านจงอยู่เถิด อย่าไปเลย
ในสังสารวัฏอันหาเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายไม่ได้นี้ ทุกชีวิตที่เกิดมา ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความตาย ไม่มีสังขารอันใดเลยที่เที่ยงแท้ยั่งยืน มีเพียงคุณงามความดีที่กลั่นตัวเป็นความบริสุทธิ์เท่านั้น ที่จะส่งผลให้เราได้เข้าถึงกายที่เที่ยงแท้ภายใน คือพระธรรมกาย ธรรมกายนี่แหละ คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอิสระจากสิ่งที่เป็นมลทิน จากความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสอาสวะต่างๆ เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา และจะเป็นนิรันดร์อย่างนี้ตลอดเวลา
กายที่อยู่ในภพทั้งสามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีการเปลี่ยนแปลง ไหลเวียนกันอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง จึงมีแต่ความทุกข์ ตั้งแต่ทุกข์น้อยจนกระทั่งทุกข์มากไปตามลำดับ ดังนั้น ให้เรารู้ว่ากายที่อยู่ในภพทั้งสาม เป็นทางผ่านของการสร้างบารมี เพื่อจะได้เข้าถึงกายที่แท้จริงและเป็นที่พึ่งให้กับเรา นั่นคือ กายธรรมที่อยู่ภายในตัวของเรา
มีวาระบาลีที่กล่าวไว้ใน กุนตินีชาดก ว่า
“กตสฺส เจว กตฺตา จ มิตฺติ สนฺธิยเต ปุน
ธีรานํ โน จ พาลานํ วส กุนฺตินิ มา คม
มิตรภาพของผู้ที่ถูกทำร้ายกับผู้ที่ทำร้าย ย่อมกลับเชื่อมติดกันได้อีกเฉพาะกับพวกบัณฑิตด้วยกัน ย่อมเชื่อมกันไม่ติดอีกเฉพาะคนพาล ดูก่อนนางนกกระเรียน ท่านจงอยู่เถิด อย่าไปเลย”
หัวใจของบัณฑิตมีแต่การให้อภัย มิตรภาพที่ถูกความเข้าใจผิดบั่นทอนย่อมจะกลับมาเชื่อมประสานกันได้ดังเดิม เพราะบัณฑิตมองเห็นประโยชน์แห่งความสัมพันธ์อันดี ส่วนความแตกร้าวถ้าบังเกิดขึ้นกับใคร หรือสังคมหมู่ใดก็ตาม ก็จะมีแต่ความเสื่อมเสียเท่านั้นที่นำมาซึ่งความวิบัติต่างๆ นานา
เคยมีคำกล่าวว่า แก้วที่แตกไปแล้วยากที่จะประสานได้ดีดังเดิม แต่ใจคนเราไม่ใช่แก้ว กลับใสยิ่งกว่าแก้ว หากเต็มเปี่ยมด้วยเมตตา และอภัยทานเยี่ยงพระบรมโพธิสัตว์แล้ว แม้จะถูกกลั่นแกล้งทำร้าย ก็พร้อมที่จะให้อภัย หรือแม้บางครั้งจะเกิดความไม่เข้าใจ ก็ปรับความเข้าใจกันได้ ทั้งยังกลับมาเชื่อมสนิทได้ดังเดิมและดีกว่าเดิมอีกด้วย
ส่วนมิตรภาพของคนพาลนั้น เมื่อแตกร้าวกันแล้วย่อมจะเกิดความหวาดระแวงกันเอง ไม่อาจกลับมาดีได้ดังเดิม เหมือนคาถาที่พระโพธิสัตว์เจ้าเคยกล่าวไว้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระบรมศาสดาของเราประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภนางนกกระเรียนที่อาศัยอยู่ในวังของพระเจ้าโกศล และตรัสพระธรรมเทศนาสอนภิกษุทั้งหลาย

*เรื่องมีอยู่ว่า นางนกกระเรียน ตัวนั้น เป็นนกส่งสาสน์ ของพระราชา มันจะคอยทำหน้าที่ส่งสาสน์ให้กับพระราชามาโดยตลอด และไม่เคยทำหน้าที่ของตนให้บกพร่องเลย จึงเป็นอันรู้กันในพระนครนั้นว่า หากได้นกตัวนี้ส่งสาสน์แล้ว ไม่ทำให้ผิดหวัง นกกระเรียนอาศัยอยู่ในพระนครจนกระทั่งมีลูกนก ๒ ตัว เหตุการณ์ในชีวิตก็ดำเนินมาอย่างปกติ
จนกระทั่งวันหนึ่ง พระราชาทรงให้นางนกนั้น นำพระราชสาสน์ไปส่งแก่พระราชาอีกพระองค์หนึ่ง ขณะที่นางนกบินไปส่งสาส์น เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น พวกเด็กๆ ที่อยู่ในราชสกุล พากันไปเล่นบริเวณที่นางนก อาศัยอยู่ สายตาของทุกคู่เหลือบไปเห็นลูกนกกระเรียนทั้งสองตัว ด้วยความซนของเด็ก จึงพากันเอามือบีบลูกนกทั้งสองจนตาย
เมื่อนางนกกลับมาเห็นลูกของตนนอนตายอย่างน่าเวทนาเช่นนั้น ก็รู้สึกเศร้าเสียใจมาก จึงถามหาว่า ใครเป็นคนฆ่า ผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่า เด็กคนโน้น เป็นคนฆ่า
นางนกเกิดจิตพยาบาทต้องการแก้แค้นแทนลูกของตน จึงพยายามตีสนิทกับกลุ่มเด็กพวกนั้น ขณะนั้น ในราชสกุลได้เลี้ยงเสือโคร่งไว้ตัวหนึ่ง ซึ่งดุร้ายมาก แม้จะถูกเลี้ยงดูแลอย่างดีก็ไม่เชื่อง ต้องถูกล่ามโซ่ตลอดเวลา พวกเด็กพากันไปดูเสือตัวนั้น นางนกก็ได้ไปกับเด็กเหล่านั้นด้วย
ในขณะนั้น ความอาฆาตที่อยู่ในใจพลุ่งขึ้นมาคิดว่า เราจะทำกับเด็กเหล่านี้เหมือนที่พวกเขาทำกับลูกของเรา จึงหลอกให้เด็กเดินไปใกล้ๆ เสือตัวนั้น แล้วทำให้เด็กล้มลงใกล้ๆ กับเสือ เด็กถูกเสือตะปบเคี้ยวกินทันที หลังจากนั้น นางนกกระเรียนก็บินเข้าป่าหิมพานต์ไปทันที
ภิกษุทั้งหลายได้สดับเหตุการณ์ดังนั้น ก็พากันมานั่งสนทนาโดยยกเหตุการณ์นั้น เป็นกระทู้ทันทีว่า อาวุโสทั้งหลาย ได้ยินว่า นกกระเรียนในราชตระกูลหลอกเด็กให้เสือฆ่ากินเป็นอาหาร เนื่องจากแค้นที่ลูกของตนถูกเด็กเหล่านั้นฆ่าตาย และได้บินหนีไปยังป่าหิมพานต์แล้ว
พระบรมศาสดาเสด็จมาถึงบริเวณนั้น ทรงถามเรื่องที่ภิกษุกำลังสนทนากัน และได้ตรัสเล่าเรื่องในอดีตว่า
ภิกษุทั้งหลาย นางนกกระเรียนตัวนี้ แม้ในกาลก่อนก็ทำให้พวกเด็กที่ฆ่าลูกของตนล้มลงให้เสือกัดกิน แล้วก็หนีไปป่าหิมพานต์เช่นกัน
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชา ครองราชย์อยู่ที่เมืองพาราณสี ทรงปกครองโดยทศพิธราชธรรม อาณาประชาราษฎร์ต่างอยู่เย็นเป็นสุข และในครั้งนั้น พระองค์มีนกกระเรียนสื่อสารตัวหนึ่งเช่นกัน นกกระเรียนได้ทำหน้าที่ของตนอย่างไม่บกพร่องเลย จนกระทั่งวันหนึ่ง มันออกไปส่งสาสน์ ตามปกติ เมื่อกลับมายังที่อยู่ได้พบลูกตนเองถูกฆ่า ก็วางแผนอย่างที่นกกระเรียนตัวข้างต้นทำนั่นแหละ แต่มีความแตกต่างกันนิดหน่อย หลังจากที่นกกระเรียนทำให้เสือโคร่งกัดกินเด็กได้แล้วคิดว่า เราต้องไปจากที่นี้แล้ว แต่ก่อนไป เราควรไปทูลลาพระราชาของเราก่อน
เมื่อคิดดังนี้แล้ว นางนกกระเรียนก็บินไปเข้าเฝ้าพระราชา พลางกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนาย พวกเด็กๆ ฆ่าลูกของหม่อมฉัน เพราะพระองค์พลั้งเผลอ ไม่ยอมดูแลลูกน้อยของข้าพระองค์ ทำให้ข้าพระองค์ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธ ได้ลงมือฆ่าเด็กพวกนั้นเป็นการแก้แค้น ตัวข้าพระองค์ก็ได้รับใช้ราชสำนักมายาวนาน พระองค์ทรงชุบเลี้ยงด้วยดีมาตลอด แต่มาถึงวันนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ข้าพระองค์จึงขอทูลลากลับป่าหิมพานต์” พระโพธิสัตว์รู้ว่า นางนกกระเรียนนี้คงน้อยใจและกลัวความผิด จึงปลอบใจโดยตรัสว่า “ผู้ใดก็ตาม เมื่อผู้อื่นทำกรรมอันชั่วร้ายแก่ตนและตัวเองก็ได้ทำตอบแทนไปแล้ว ก็ย่อมจะรู้สึกว่าเราทำตอบแทนแล้ว ขอให้เวรนั้นสงบลงด้วยอาการเพียงเท่านี้เถิด ท่านจงอยู่ในเมืองนี้ต่อไปเถิด อย่าไปเลย”
แม้กระนั้นก็ตาม นางนกกระเรียนก็ยังไม่หายระแวง มันคิดว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ตนก็คงอยู่อย่างไม่สงบแน่นอน จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ มิตรภาพของผู้ที่ถูกทำร้าย กับผู้ที่ทำร้าย ไม่มีทางที่จะเชื่อมกันได้อีก ใจของข้าพระองค์ไม่อยากอยู่แล้ว ขอทูลลาพระเจ้าข้า”
ความคิดอย่างที่นกกระเรียนตัวนี้คิด คนส่วนใหญ่หรือ เกือบทั้งหมดก็มีความคิดอย่างนี้ เป็นความคิดอย่างชาวโลกธรรมดาเขาคิดกัน หากอุดมการณ์หรือมโนปณิธานของนักสร้างบารมี คิดเช่นนี้ไม่ได้ แม้แต่ความคิดที่จะทำร้ายก็ต้องไม่ให้เกิดขึ้นในใจเด็ดขาด จะต้องมีแต่การให้อภัยและมีเมตตาธรรม หากคิดได้อย่างนี้ เรียกว่าเป็นนักสร้างบารมีที่แท้จริง แล้วเหตุการณ์อย่างที่เกิดกับนกกระเรียน จะไม่เกิดขึ้นกับเราแน่นอน
พระราชาได้ฟังนกกระเรียนกล่าวเช่นนั้น จึงตรัสให้ข้อคิดว่า “มิตรภาพของผู้ที่ถูกทำร้ายและผู้ที่ทำร้าย หากต่างฝ่ายเป็นบัณฑิตก็ย่อมเชื่อมกันได้ไม่ยากเย็นอะไร แต่สำหรับคนพาลแล้ว ย่อมเชื่อมกันไม่ได้ เจ้าอยู่ต่อไปเถิด อย่าวิตกไปเลย”
แม้พระราชาจะกล่าวอย่างนี้ นางนกก็ไม่ยอม ในที่สุด ก็บินไปยังป่าหิมพานต์ พระบรมศาสดาครั้นทรงนำอดีตนิทานมา ตรัสเล่าแล้ว จึงประชุมชาดกว่า
“นางนกกระเรียนในครั้งนั้น ก็มาเกิดเป็นนางนกกระเรียนในครั้งนี้ ส่วนพระราชาในครั้งนั้นคือ ตถาคตนี้เอง”

การที่นำเรื่องนี้มาเล่า เพื่ออยากจะบอกว่า การแตกแยกนั้นไม่ดีเลย และการแก้แค้นกันไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด จะทำให้เกิดความไม่สบายใจกับผู้ที่ได้กระทำลงไป หากในหัวใจบุคคลผู้นั้นมีแต่การอาฆาตแค้น ย่อมจะมีการจองเวรไม่มีที่สิ้นสุด
พระบรมศาสดาตรัสว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะหัวใจของผู้ที่ให้อภัยได้นั้น เป็นหัวใจที่ยิ่งใหญ่และน่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง เพราะหัวใจเช่นนี้ จะดำรงมิตรภาพที่ยั่งยืนได้ และมิตรภาพที่ยั่งยืนนั้น จะมีก็แต่ในแวดวงของบัณฑิตเท่านั้น แวดวงของคนพาลมิตรภาพหายั่งยืนไม่และก่อให้เกิดโทษกับทุกฝ่าย
ดังนั้น เราต้องตระหนักไว้ว่า มิตรภาพที่ยั่งยืนที่สุด จะเกิดขึ้นเมื่อเราประพฤติธรรมของบัณฑิต ทำตัวให้เป็นคนดีที่โลกต้องการ มีศีลและทิฏฐิเสมอกัน รักบุญกลัวบาป แม้มีคนมามุ่งร้ายเท่าไร ในหัวใจก็ยังมีไมตรีจิต คิดให้อภัยตลอดเวลา ให้ทุกท่าน คิดกันอย่างนี้
หากเรามีหัวใจที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นดวงเดียวกันอย่างนี้ ก็จะไม่มีอะไรมาเป็นอุปสรรคต่อการสร้างบารมี หรือการบรรลุมรรคผลนิพพานของเราได้ เราจะอยู่อย่างมีความสุขตลอดเวลา เพราะสภาวะใจของเราสูงส่ง ใสสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีความพยาบาทซึ่งเป็นมลทินของใจ ใจของเราจะผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ไม่กระเพื่อม มีใจหยุดนิ่งอย่างดีแล้ว หากทำได้อย่างนี้ ชีวิตเราจะสมความปรารถนาอย่างแน่นอน

*มก. กุนตินีชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๖๖๑

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_16__.jpg   50.61K   38 ดาวน์โหลด


#2 **นิด**

**นิด**
  • Guests

โพสต์เมื่อ 20 December 2005 - 07:32 PM

อ่านยาก จัดเว้นช่วงย่อหน้า
ให้น่าอ่านจะดีมากค่ะ

#3 **jew**

**jew**
  • Guests

โพสต์เมื่อ 21 December 2005 - 04:36 PM

เป็นธรรมะที่มีคุณค่า มีการเปรียบเทียบเหตุการณ์ ใช้สอนใจตัวเองได้ดี แม้เป็นหัวข้อธรรมที่รู้แล้วแต่การอ่านแต่ละครั้งให้ข้อคิดในแง่มุมต่างๆ รู้สึกขอบคุณคอลัมน์นี้มาก

#4 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 26 December 2005 - 04:44 PM

ขออนุโมทนาบุญกับผู้ที่ให้กำลังใจ...สาธุ