ความเป็นพันปีของมหาธรรมกายเจดีย์
(อ.ฉัฐบุตร ชยอมร, ดร.ลาภ จิตนุยานนท์)
ภายในปี ๒๕๔๐ นี้ โครงสร้างมหาธรรมกายเจดีย์จะต้องเสร็จจนเห็นเป็นรูปร่าง เพื่อรองรับการติดตั้งองค์พระประจำตัวต่อไป ตัวเลขต่างๆ ที่จะนำเสนอเป็นข้อมูลให้ทราบนี้ เป็นตัวเลขที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านมอบหมายมาให้อย่างชัดเจน ไม่มีการตีความ ไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่ทุกอย่างที่เราทำก็คือ พัฒนารายละเอียดที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อมอบหมายมา เพื่อให้เป็นผลงานก่อสร้างที่ดีที่สุด
โครงสร้างของมหาธรรมกายเจดีย์
(อ.วิจิตร ชินาลัย, ดร.ลาภ จิตนุยานนท์)
การพัฒนาแบบมหาธรรมกายเจดีย์ ให้เป็นไปตามแนวคิด เป็นไปตามรูปแบบทางละเอียดที่หลวงพ่อมอบหมายให้ คือทีมงานของเราได้พัฒนาแนวคิดซึ่งเป็นอุดมการณ์ เป็นอุดมคติในทางละเอียดของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ให้ออกมาเป็นแบบบนแผ่นกระดาษ เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างตามหลักวิชาการ และให้เสร็จตามที่หลวงพ่อกำหนด
มหาธรรมกายเจดีย์ มีเนื้อที่ ๑ ตารางกิโลเมตร มีความกว้าง ๑,๐๐๐ เมตร และความยาว ๑,๐๐๐ เมตร องค์ธรรมกายเจดีย์แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน
ส่วนที่ ๑ พุทธรัตนะ เป็นส่วนที่มีความสำคัญ เพราะเป็นศูนย์กลางองค์เจดีย์ เป็นส่วนที่อยู่ในบริเวณสีทอง ประกอบด้วยบริเวณโดม และเชิงลาดของโดม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐๘ เมตร
ส่วนที่ ๒ ธรรมรัตนะ เป็นส่วนที่ถัดลงมา มีระยะห่างจากขอบปลายของพุทธรัตนะ ๑๐.๘๐ เมตร
ส่วนที่ ๓ สังฆรัตนะ มีเนื้อที่ห่างจากธรรมรัตนะจนถึงปลายสุดของธรรมกายเจดีย์ ๗๕.๖๐ เมตร เพราะฉะนั้นถ้ารวมทั้ง ๓ ส่วนแล้ว จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางรวมกันเท่ากับ ๑๙๔.๔๐ เมตร แม้เราจะแยกออกเป็น ๓ ส่วนก็จริง แต่ในวิธีการกำหนดโซน เพื่อความสะดวกในการทำแบบก่อสร้าง เราแบ่งออกเป็น ๑๒ โซน คือ
โซนที่ ๑ เป็นส่วนของโดม
โซนที่ ๒ เป็นเชิงลาดของโดม
โซนที่ ๓ ส่วนของธรรมรัตนะ
โซนที่ ๔ ส่วนของสังฆรัตนะ ถัดออกมาจากองค์ธรรมกายเจดีย์เป็น
โซนที่ ๕ เป็น ทางเดินเวียนเทียนของพระสงฆ์ มีความกว้างของวงแหวน ทางเดิน ๑๘ เมตร ถัดออกมาคือ
โซนที่ ๖ จะเป็นวงแหวน ของสระน้ำ เป็นสระน้ำที่มีความกว้าง ๙ เมตร ถัดออกมาอีกวงหนึ่ง ซึ่งเป็นวงนอกคือ
โซนที่ ๗ จะเป็นวงแหวนเวียนเทียนของสาธุชน มีความกว้าง ๑๘ เมตร และถัดออกมาคือ
โซนที่ ๘ เป็นวงแหวนสนามหญ้า ลานนั่งของพุทธศาสนิกชน ๕๐๐,๐๐๐ คน ถัดจากวงแหวนสนามหญ้าคือ
โซนที่ ๙ จะเป็นวงแหวนวิหารคด ตามด้วย
โซนที่ ๑๐ เป็นวงแหวนสระน้ำ ๘๑ เมตร ต่อมาเป็น
โซนที่ ๑๑ เป็นบริเวณสนามหญ้า ถัดมาเป็น
โซนที่ ๑๒ เป็นบริเวณคูน้ำรอบพื้นที่ มีความกว้าง ๒๗ เมตร
ทั้งหมดนี้คือขอบเขตของโครงการมหาธรรมกายเจดีย์ ที่มีความกว้าง ๑,๐๐๐ เมตร และความยาว ๑,๐๐๐ เมตร ส่วนความสูงของมหาธรรมกายเจดีย์ แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน
ส่วนยอด เป็นส่วนโดมและเชิงลาดโดม ซึ่งเป็นส่วนพุทธรัตนะ
ส่วนกลาง เป็นส่วนของธรรมรัตนะ และ
ส่วนล่างสุด เป็นส่วนของสังฆรัตนะ ทั้ง ๓ ส่วนนี้มีความสูงแต่ละส่วน ๑๐.๘๐ เมตร เท่าๆ กันทั้ง ๓ ส่วน ซึ่งรวมแล้วมหาธรรมกายเจดีย์จะมีความสูงโดยรวม ๓๒.๔๐ เมตร น้ำหนักโดยรวมของมหาธรรมกายเจดีย์นั้น มีน้ำหนักประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ ตัน รวมพระธรรมกายประจำตัวจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ องค์ และฐานรองรับองค์พระซึ่งเป็น โลหะสัมฤทธิ์ ตัวเลขจากการคำนวณเสาเข็มมหาธรรมกายเจดีย์ สามารถรับน้ำหนักได้ไม่ต่ำกว่า ๒๕๐,๐๐๐ ตัน
ส่วนผิวของพุทธรัตนะ จะประกอบด้วยพระธรรมกายประจำตัว ซึ่งมีขนาดความกว้างที่ฐาน ๑๘ ซม. และมีความสูงองค์พระ ๑๘ ซม. ประดิษฐานอยู่โดยรอบโดม และที่เชิงลาดของโดมในส่วนที่ ๑ พุทธรัตนะ
ส่วนโครงสร้างของโดมและเชิงลาดโดม จะเป็น คอนกรีตเสริมเหล็ก ห่างจากผิวพอประมาณเพื่อระบาย อากาศภายใต้ผิวสัมฤทธิ์ สำหรับส่วนที่เป็นธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ โครงสร้างโดยทั่วไปเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ แต่จะมีผิวเป็นหินแกรนิต ต่อเนื่องตลอดลงมาจนถึงขอบล่างสุดขององค์ธรรมกายเจดีย์
องค์ประกอบต่างๆ ที่เรานำมาใช้ในการก่อสร้างธรรมกายเจดีย์นี้ เราเลือกสรรวัสดุอย่างยิ่งยวด เราได้ออกแบบส่วนผสมเป็นพิเศษ ถ้าคิดในเชิงการค้าแล้วคงไม่มีใครเขาทำกัน เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก และต้องใช้กรรมวิธีซับซ้อนมากมายในการผลิตเพื่อให้มีความแข็งแรงทนทาน ทำให้เรามั่นใจว่าเราทำดีที่สุดแล้ว
ส่วนเรื่องขององค์ประกอบ ที่ประดับองค์ธรรมกายเจดีย์ภายนอก ซึ่งจะต้องให้อยู่ยืนยาวมีอายุเกิน ๑,๐๐๐ ปี ให้ได้นั้น เราเลือกวัสดุที่มีการพิสูจน์มาแล้วว่า สามารถทนแดดทนฝน ทนบรรยากาศ ได้นับเป็นพันๆ ปีทีเดียว ครั้งแรกที่ได้รับโจทย์นี้มาจาก พระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า ให้สร้างมหาธรรมกายเจดีย์มีอายุถึง ๑,๐๐๐ ปี พอได้ฟังคำนี้ผม (ดร.ลาภ จิตนุยานนท์) ตกใจมากทีเดียว เพราะว่า ผู้ออกแบบทั่วโลก ไม่เคยมีใครคิดโจทย์อย่างนี้มาก่อน ทุกวันนี้บางคืนผมนอนไม่หลับ เพราะต้องคิดต้องคำนวณไปถึงเรื่อง ๑,๐๐๐ ปี แต่สิ่งแรกที่ผมต้องพิจารณาก่อนมี ๒ ประเด็น คือ
๑. เนื้อวัสดุอะไร ที่จะใช้ในการสร้างมหาธรรมกายเจดีย์
๒. การประกอบโครงสร้างของมหาธรรมกายเจดีย์ จะประกอบอย่างไรให้ทนทานที่สุด
คอนกรีต
(ดร.ลาภ จิตนุยานนท์)
ประเด็นแรกในเรื่องของวัสดุที่จะใช้ในการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์สรุปแล้วมี ๒ ประเภท ที่จะนำมาใช้ได้
ประเภทที่ ๑ เหล็ก ซึ่งคนใช้เหล็กในการก่อสร้างมาตั้งแต่โบราณเมื่อ ๒๐๐-๓๐๐ ปีที่ผ่านมา และเหล็กนี้ สามารถอยู่ได้ถึง ๑,๐๐๐ ปี
ประเภทที่ ๒ ซีเมนต์ สามารถอยู่ได้ถึง ๑,๐๐๐ ปี แน่ๆ เพราะสมัยที่อียิปต์สร้างปิรามิดนั้น เขาใช้ปูนขาวปนกับน้ำแล้วนำมาเทระหว่างก้อนหินของปิรามิด และปิรามิดก็อยู่มาถึง ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปีแล้ว ส่วนชาวโรมันเขาก็เอาปูนขาวไปผสมกับดินเหนียว แล้วนำมาสร้างอาคารในประเทศกรีซ ต่อมาประเทศต่างๆ ก็ค่อยๆ พัฒนาใช้ปูนขาวมาผสมกับดินเหนียวแล้วเอาไปเผา เผาแล้วเอามาบด ที่เราเรียกว่า Portland cement มาทุกวันนี้
จากวัสดุทั้ง ๒ ประเภทนี้ เหล็กก็น่าจะใช้ได้ แต่ เหล็กจะต้องมีการดูแลรักษาสูงกว่าซีเมนต์ เราจึงเลือกซีเมนต์ และแน่ใจว่าถ้าเราเอาซีเมนต์มาใช้ คงใช้ได้ดี แต่จะต้องทำให้ซีเมนต์เป็นคอนกรีตเสียก่อน โดยการนำมาผสมกับทรายและหินเพื่อให้มีคุณภาพสูง จึงได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์กว่า ทำอย่างไร จะทำให้คอนกรีตของเราดีที่สุด ผลสุดท้ายก็ได้คำตอบว่า
วิธีที่ ๑ ให้ใช้น้ำน้อยที่สุดในส่วนผสม
วิธีที่ ๒ ให้เลือกหินที่มีเหลี่ยมค่อนข้างกลมที่สุด จะทำให้คอนกรีตเนื้อแน่นขึ้น หลังจากที่ทำการทดสอบมานานถึง ๖ เดือนเต็ม ทดลองใช้มา ๑๐ กว่าสูตร แล้วเราก็ทำสำเร็จ เราได้สูตรที่ดีมาก เราส่งตัวอย่างไปที่ประเทศเดนมาร์ก ให้เขาตัด Specimen ออกเป็นชิ้นๆ แล้วเอา Microscope ดูความแน่นของเนื้อคอนกรีต ดูการกระจายของหินในคอนกรีต ปรากฏผลออกมาดีมากทีเดียว บริษัทซีแพคเขาพอใจคอนกรีตสูตรนี้มาก ถึงกับขอสูตรตัวนี้ไปลง Journal วารสารของบริษัทซีแพค พวกเราภูมิใจมากที่บริษัทซีแพคยังยอมรับสูตรของเรา ส่วนวัสดุประเภท พลาสติค หรือวัสดุประเภทที่ทำด้วยสารเคมีจากโรงงานปิโตรเลียม เราพยายามจะไม่ใช้ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ เราจะนำมาใช้ในจุดที่เราสามารถกลับมาซ่อมแซมได้อีกใน ๔๐-๕๐ ปีข้างหน้า ในกรณีที่จะเป็นวัสดุที่ฝังอยู่ในคอนกรีต เราจะไม่ใช้ประเภทนี้
หินแกรนิต
(พระภูเบศ ฌานาภิญโญ-อ.วิจิตร ชินาลัย)
ส่วนในเรื่องผิว ถ้าไปดูโบราณสถานทั่วๆ ไปเขาจะใช้หินเป็นวัสดุหลัก แต่ในโครงการของเราใช้คอนกรีต เราก็มั่นใจเพียงพอแล้ว การจะนำอิฐ หินหนาๆ แบบโบราณสถานอาจไม่มีความจำเป็นแล้วก็สิ้นเปลืองเวลามาก เพราะ มีเทคโนโลยีของเราอยู่ จึงไม่จำเป็นต้องใช้หินแบบนั้น
แต่การใช้ผิววัสดุที่คลุมข้างนอก คงจะต้องรักษาระเบียบและวัฒนธรรม ตามหลักการของพุทธสถาน และศาสนสถานทั่วๆ ไป จึงตัดสินใจใช้หิน แล้วเราก็พบว่าหินแกรนิตมีคุณสมบัติในความแกร่ง และดูดซึมซับน้ำน้อย มีความคงทนในเรื่องของผิวสูงกว่าหินอ่อนมาก อายุของหินแกรนิตก็สูงกว่า เม็ดสีของหินแกรนิตมีความสม่ำเสมอ มองดูแล้วจะมีความงามและความสง่าอยู่ในตัว
เราได้ไปสำรวจดูหินมามากมายหลายแห่ง จนพบว่า แหล่งหินในอเมริกาเป็นแหล่งหินที่ดีมาก มีจำนวนหิน แกรนิตที่เราต้องการอย่างเพียงพอ ซึ่งหากในอนาคตมีการซ่อมบ้างก็ยังสามารถใช้จากแหล่งนี้ได้ แต่สำหรับแกรนิตในประเทศจะแตกต่างด้านเม็ดสี ความหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีคุณภาพตามที่เรากำหนด และมีราคาใกล้เคียงกับหินในประเทศด้วย เราจึงระบุให้เขาตัดส่งมาเป็น Block, ๑ Block มีขนาดประมาณ ๖-๘ ลูกบาศก์เมตร และเขาจะต้องส่งตัวอย่างของหินแกรนิตนี้ ทำการทดสอบ (Test) ทุกๆ ๓๐ Block ตอนแรกเขาไม่อยาก Test เพราะเขามั่นใจในหินของเขา และต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่เรายืนยันว่าถ้าหากเขาเชื่อในคุณสมบัติของหินว่าดีจริง เขากลัวด้วยหรือที่จะ Test เขาเจอคำถามนี้เลยยอม Test ให้เรา
เพราะฉะนั้น เรามั่นใจได้เลยว่า หินแกรนิตทุก Block ที่ส่งมาถึงเรา จะมีคุณภาพตามที่เราต้องการ ถ้าหากมีตัวอย่างใดตัวอย่างหนึ่ง ไม่ได้สเปคตามที่เราต้องการ เขาจะ Cancel ทิ้งทั้ง Lot เลย Lot หนึ่งจะมีประมาณ ๓๐ Block
เรื่องการขนส่งหินแกรนิต เขาจะส่งมาทางเรือ ซึ่งต้องทำความสะอาดเรือทุกครั้งก่อนที่จะบรรทุกหินแกรนิต มาให้เรา เพราะถ้าเรือเขาบรรทุกเหล็กหรือสารเคมีมาก่อน ของพวกนี้จะมีผลทำให้สีซึมเข้าในเนื้อหินได้ ดังนั้นเขาจึงต้องทำความสะอาดเรือในการขนส่ง นี่คือความละเอียดลออ ความพิถีพิถันทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมหาธรรมกายเจดีย์ของเรา
ส่วนปัญหาที่ว่า หินแกรนิตเมื่อถูกความร้อนจากแสงแดดจะร้อนมากไหมในขณะที่เดิน โดยธรรมชาติของวัสดุทั่วไปเมื่อถูกแสงแดดก็จะร้อน แต่เนื่องจากหินแกรนิต ที่เราเลือกมา เป็นหินแกรนิตสีขาวที่ไม่อมความร้อน มีความหนาแน่น (Density) สูงมาก และการติดหินแกรนิตของเราติดตั้งแบบอิสระ ไม่ติดยึดกับคอนกรีต แต่ขอบโดยรอบเราเว้นไว้ ๑ ซม. และส่วนใต้แผ่นหินมีช่องว่างอากาศกว้างประมาณ ๑๐ ซม. จึงเป็นการระบายอากาศภายใน ระบายได้ทั้งด้านข้างของหินทั้ง ๔ ด้าน เพราะฉะนั้น ด้วยวิธีนี้น่าจะช่วยลดความร้อนที่พื้นผิวได้มาก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลหลักในการเลือกใช้หินมาจากโจทย์ ๑,๐๐๐ ปี สำคัญมากกว่าเลือกวัสดุที่ไม่อมความร้อน เหมือนอย่างเจดีย์อนุราชปุระ ในศรีลังกา ลานทั้งหมดของเขาเป็นหินแกรนิตและหินทราย แต่เขาติดตั้งแผ่นหินติดกับปูนบ้าง บนทรายบ้าง ไม่มีช่องระบายความร้อน เขาก็ยังนั่งกันได้อย่างสบายๆ ทั้งวัน เพราะฉะนั้นมหาธรรมกายเจดีย์ของเรามีลักษณะการใช้งานประมาณบ่าย ๓ โมง เป็นต้นไป คงอยู่ในวิสัยที่จะสามารถนั่งได้อย่างสบายๆ
บรอนซ์ : วัสดุองค์พระฯ และโดมเจดีย์
(พระภูเบศ, อ.วิจิตร, อ.ฉัฐบุตร)
พระเดชพระคุณหลวงพ่อมีดำริว่า วัสดุที่จะนำมาใช้สร้างองค์พระธรรมกายประจำตัว และนำมาใช้เป็นผิวนอกของมหาธรรมกายเจดีย์ ต้องเป็นวัสดุเดียวกัน
เราก็พยายามวิเคราะห์วิจารณ์กันหลายทาง ว่าจะนำวัสดุอะไรที่สามารถสร้างองค์พระและ Cladding (คือส่วนที่เป็นผิวนอกองค์มหาธรรมกายเจดีย์ต่อจากคอนกรีต รองรับพระธรรมกายประจำตัว)
ทำไมเราไม่ใช้แก้วมาทำเป็นองค์พระและCladding ถ้าเราใช้แก้ว โอกาสที่จะถูกทำลาย โอกาสที่จะเสียหายมีสูงมาก แค่ ๑๐ ปี เราก็คงรักษาไม่ได้แล้ว โดยลำพังตัวแก้วเองสามารถอยู่ได้เป็นพันปี แต่แก้วไม่สามารถทนแรงจากมือมนุษย์ได้ เพราะฉะนั้นแก้วก็เลยตกรอบ
หากเราใช้ทองคำ เราจะประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องใช้งบประมาณมาก และที่สำคัญคือเรากลัวความโลภของมนุษย์
หากเราใช้หินทั้งหมด เราคงไม่สามารถสร้างองค์พระทุกองค์ ให้มีพุทธลักษณะทุกสัดส่วนเหมือนกันหมด และต้องใช้เวลาในการก่อสร้างนานมาก อาจจะใช้เวลาทั้งชีวิตอย่างเช่น บรมพุทโธ ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง ๗๐ ปี
ถ้าเราใช้ไทเทเนียม ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้กับยานอวกาศที่มีคุณสมบัติ ในตัวแกร่ง แต่ไทเทเนียมไม่เคยมีผลงานให้เห็นว่าอยู่ยืนนานถึงพันปี
ในที่สุดก็ตัดสินใจเอาบรอนซ์ มาใช้งาน เพราะเราพบว่า บรอนซ์หรือทองสัมฤทธิ์ เป็นวัตถุที่อยู่นานกว่าพันปีมาแล้ว เช่น พระพุทธรูป เทวรูปที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุถึง ๔,๕๐๐ ปี เป็นทองสัมฤทธิ์ พบที่บ้านเชียง วัฒนธรรมบ้านเชียง ถือว่าเป็นแหล่งวัฒนธรรมสัมฤทธิ์เก่าแก่ที่สุดในโลก เทวรูป พระพุทธรูป เครื่องใช้ กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า ที่ขุดพบได้ที่บ้านเชียงเป็นทองสัมฤทธิ์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราจึงตัดสินใจใช้บรอนซ์หรือทองสัมฤทธิ์สร้างองค์พระประจำตัว และสร้าง Cladding คลุมโดมธรรมกายเจดีย์
การผลิตบรอนซ์นั้น เราสั่งซื้อบรอนซ์จากอเมริกา นำเข้ามาสำเร็จรูป (Ingot) ตามส่วนผสมที่เรากำหนด เพื่อสร้างองค์พระธรรมกายประจำตัว เพราะเขาผลิตจากทองแดงจริงๆ และในประเทศไทยเราไม่ถนัดในการหล่อบรอนซ์ เราชำนาญในการหล่อทองเหลืองมากกว่า
ส่วนบรอนซ์ที่ใช้ทำ Cladding เราสั่งจากญี่ปุ่น เพราะเขาหล่อบรอนซ์ด้วยระบบสูญญากาศ ไม่ใช้ระบบทราย ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมมาแต่สมัยโบราณ การหล่อแบบทรายโลหะที่หล่อออกมาจะขาดความสมบูรณ์ในเนื้อโลหะ อาจมีรูพรุนเกิดขึ้นมาก เพราะฉะนั้นการที่เนื้อวัสดุแน่นโอกาส ที่จะอยู่นานนับพันปีก็สูงกว่าการหล่อวัสดุที่มีเนื้อพรุน เมือง ไทยยังไม่สามารถผลิตระบบนี้ได้ จึงต้องจ้างญี่ปุ่นผลิตระบบนี้แทน ด้วยสาเหตุที่ต้องการวัสดุที่มีเนื้อแน่นและเนียน เรียกว่า Vacuum Process คือการหล่อโลหะบรอนซ์ โดยการดึงอากาศออกมาจากแบบทราย ให้เป็นสูญญากาศ แล้วฉีดน้ำโลหะเข้าไป วิธีนี้จะทำให้ผิวของโลหะที่หล่อออกมาเนียนมาก และเนื้อโลหะจะแน่นมากกว่าหล่อด้วยระบบทรายดั้งเดิม
นอกจากนี้ บรอนซ์ยังมีคุณสมบัติในการปกป้องเนื้อบรอนซ์ อีกประการหนึ่ง คือหากสนิมเกิดขึ้นในเนื้อโลหะของบรอนซ์แล้ว จะเกิดการเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวอมฟ้า สนิมนี้มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน แต่ในช่วงระยะเวลา ๕-๑๐ ปี แรก สนิมอาจยังเกิดขึ้นไม่มาก ต้องใช้เวลานานพอสมควร อีกทั้งขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ความชื้น และแสงแดดด้วย การเปลี่ยนสีนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนไป แต่ก็ต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี
และถ้าหากว่าบรอนซ์เกิดสนิมขึ้นมาแล้ว สนิมนั้นจะเป็นตัวป้องกันเนื้อโลหะ ไม่ให้สารเคมีภายนอกเข้ามาทำลายได้ ออกไซด์ของโลหะจะปกคลุมผิว ป้องกันสารเคมีโดยธรรมชาติ สนิมนี้จะเนียนมาก สนิมจะค่อยๆ เกิดขึ้นด้วยระยะเวลาอันยาวนาน และจะเป็นคล้ายแผ่น Flim ที่จะป้องกันผิวของบรอนซ์ ไม่ให้ออกไซด์กินลึกเข้าไปในเนื้อโลหะ ไม่เหมือนเหล็ก เมื่อเป็นสนิมแล้ว สนิมเหล็กจะกินลึกเข้าไปในเนื้อเหล็กเลย แต่สนิมบรอนซ์จะกินแค่ผิว แล้วแผ่ตัวไปป้องกันออกซิเจนไม่ให้ไปเจอกับเนื้อโลหะ นับว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของบรอนซ์ ที่จะทำให้เกิดความสึกกร่อนยากมาก
สนใจรับทราบรายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดต่อขอรับบริจาคได้ที่ pr@ dmc.tv หรือ donation@ dmc.tv หรือโทร 02-831-1771
ขอกราบอนุโมทนาบุญ
"บุคคลผู้บูชาพระตถาคตไม่ว่าจะมีพระชนม์ชีพอยู่ หรือปรินิพพานไปแล้ว
อานิสงส์ของการบูชา ย่อมมีดุจเดียวกัน."
เถรคาถา ขุทมกนิกาย