ทำไมต้องแบ่งกะทำวิชชา
และต้องทำสืบทอดกันอย่างต่อเนื่อง
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอให้ระลึกถึงกันแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้ว มากเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า
“ภิกษุทั้งหลาย กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้ว มากนักหนา
มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป (๑)
เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป”
“พระองค์อาจอุปมาได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า”
“อาจอุปมาได้ ภิกษุทั้งหลาย
เปรียบเหมือนสาวก ๔ รูปในธรรมวินัยนี้ มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี
หากเธอเหล่านั้นพึงระลึกย้อนหลังไปได้ วันละ ๑๐๐,๐๐๐ กัป (๓๖๕x๑๐๐x๑๐๐,๐๐๐=๓,๖๕๐,๐๐๐,๐๐๐ กัป)
กัปที่เธอเหล่านั้นระลึกไปไม่ถึงยังมีอยู่
ต่อมาสาวก ๔ รูป มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี พึงมรณภาพไปทุก ๑๐๐ ปี (๓,๖๕๐,๐๐๐,๐๐๐x๔=๑๔,๖๐๐,๐๐๐,๐๐๐ กัป)
กัปที่ผ่านพ้นไปแล้วมากนักหนาอย่างนี้ มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป
เท่านี้ ๑๐๐ กัป เท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้
ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลายไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง
ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไป เธอทั้งหลายเสวยความทุกข์ เสวยความลำบาก
ได้รับความพินาศเต็มป่าช้า เป็นเวลายาวนาน
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละ จึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด
ควรเพื่อหลุดพ้น จากสังขารทั้งปวง”
ที่มา-พระไตรปิฎก สํ.นิ. 16/433-434/217.