[attachmentid=1921]
รถที่แล่นไปโดยม้าที่ฝึกไม่ดี ย่อมแล่นผิดทาง แต่เมื่อเทียมด้วยม้าที่ฝึกดีแล้ว ศึกษาดีแล้ว ย่อมแล่นไปตรงทาง ฉันใด แม้ใจที่ฝึกดีแล้วก็ฉันนั้น ย่อมละพยศ ไม่เสพทางผิด ถือเอาแต่ทางถูกอย่างเดียว เพราะฉะนั้น จิตที่ฝึกดีแล้ว สมบูรณ์ ด้วยอาจาระ จึงยังกิจให้สำเร็จได้
การสร้างบารมี เป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติทั้งหลายจะต้องบำเพ็ญกันทุกๆ วัน โดยไม่มีวันว่างเว้นจากการสร้างบารมี ตั้งแต่ทานบารมี ศีลบารมี กระทั่งถึงอุเบกขาบารมี เพราะเราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จึงมีโอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างบารมี และยิ่งเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล เข้าใจเรื่องบาปบุญคุณโทษ ยิ่งต้องสร้างความดีอย่างไม่หยุดยั้ง การเกิดมาเช่นนี้ ได้ชื่อว่า เกิดมาอย่างมีคุณค่า และใช้ชีวิตได้คุ้มค่า สิ่งที่เราควรจะทำควบคู่ไปกับภารกิจประจำวัน คือ การหมั่นทำใจหยุดใจนิ่ง หมั่นฝึกหมั่นทำ อย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว เพื่อให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง คือ พระรัตนตรัยภายในกันทุกคน
มีธรรมภาษิตใน พรหมนารทชาดก ว่า
รถที่แล่นไปโดยม้าที่ฝึกไม่ดี ย่อมแล่นผิดทาง แต่เมื่อเทียมด้วยม้าที่ฝึกดีแล้ว ศึกษาดีแล้ว ย่อมแล่นไปตรงทาง ฉันใด แม้ใจที่ฝึกดีแล้วก็ ฉันนั้น ย่อมละพยศ ไม่เสพทางผิด ถือเอาแต่ทางถูกอย่างเดียว เพราะฉะนั้น จิตที่ฝึกดีแล้ว สมบูรณ์ด้วยอาจาระ จึงยังกิจให้สำเร็จได้ การฝึกใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์เสมอ เป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิต พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าใจผ่องใส ความคิด คำพูดและการกระทำย่อมดีตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่ดี ทุกอย่าง ต้องเริ่มปรับทัศนคติที่ใจก่อน ถ้าสภาพใจพร้อม แม้อุปสรรคจะยิ่งใหญ่สูงเทียมฟ้า ก็ไม่สูงเกินกว่าใจ เมื่อตอนที่แล้วได้เล่าถึงตอนที่พระนางรุจาราชธิดาหมดปัญญาที่จะแก้ไขทัศนคติของพระบิดา จึงอธิษฐานจิตหาผู้มีคุณวิเศษมาช่วยทำให้พระบิดาเปลี่ยนใจมาประพฤติธรรมเหมือนเดิม
*สมัยนั้น พระโพธิสัตว์เป็นมหาพรหมชื่อ นารทะ ท่านตรวจดูสัตวโลก เห็นพระนางรุจาราชธิดากำลังนมัสการเหล่าเทวดาอินทร์พรหม เพื่อให้มาช่วยปลดเปลื้องพระชนกจากการเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทรงเกิดมหากรุณาอยากจะช่วย จึงแปลงเป็นฤๅษี เหาะลงมาจากพรหมโลก ปรากฏกายอยู่เหนือพระราชมณเฑียร ประดุจพระจันทร์ลอยเด่นในกลางอากาศ เข้าไปในปราสาท ยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ พระเจ้าอังคติราช
พระราชธิดาเห็นนารทฤๅษี ทรงปลาบปลื้มใจ จึงนมัสการด้วยความเลื่อมใส
พระเจ้าอังคติราชตรัสถามว่า ท่านมีผิวพรรณงามดังเทวดา รัศมีสว่างไสวไปทั่วทิศ ท่านคือใคร ทำไมจึงเหาะได้
ท่านนารทฤๅษีทูลว่า อาตมภาพมาจากเทวโลก คนทั้งหลายรู้จักโดยนามว่า นารทะ โดยโคตรว่ากัสสปะ ที่อาตมภาพมีฤทธิ์สามารถเหาะได้ เพราะว่า อาตมภาพได้ฝึกตนให้มีสัจจะ ธรรมะ ทมะ และจาคะในภพก่อน ทำให้ไปที่ไหนๆ ได้ตามความปรารถนาเร็วทันใจ
พระเจ้าอังคติราชฟังแล้ว ยังไม่เชื่อ เพราะมิจฉาทิฏฐิฝังแน่นในใจแล้ว พระองค์ตรัสถามว่า ที่คนเขาพูดกันว่า เทวดามีจริง มารดาบิดามีคุณจริง ปรโลกมีจริงนั้น ท่านว่าเป็นจริงอย่างที่เขาพูดกันหรือไม่
นารทฤๅษีกราบทูลว่า เป็นจริงเช่นนั้นทุกประการ มหาราช แต่นรชนผู้หลงงมงายในกามทั้งหลาย ไม่อาจรู้จักปรโลกได้
พระราชาสดับเช่นนั้น ทรงแย้มพระสรวล แล้วตรัสว่า ถ้าท่านเชื่อว่าปรโลกมีจริง สถานที่อยู่ในปรโลกของเหล่าสัตว์ ผู้ตายไปแล้ว ก็ต้องมี ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอยืมทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ และจะคืนให้ ๑,๐๐๐ กหาปณะในปรโลก
พระโพธิสัตว์กล่าวตำหนิพระราชาว่า หากมหาบพิตร เป็นผู้มีศีล รู้ความประสงค์ของสมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรม อาตมภาพจึงจะยอมให้ทรัพย์แก่ท่าน แต่มหาบพิตรเป็นคนหยาบช้า ยึดถือมิจฉาทิฏฐิ กำจัดทานและศีล ผิดในภรรยาของคนอื่น จุติจากโลกนี้แล้ว ย่อมไปเกิดในมหานรก ใครจะไปนรกเพื่อทวงทรัพย์คืนกับมหาบพิตรผู้หยาบช้าเช่นนี้ ผู้ใดเป็นผู้ไม่มีศีลธรรม ประพฤติชั่ว เกียจคร้าน บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ให้หนี้ในผู้นั้น เพราะจะไม่ได้ทรัพย์คืนจากคนเช่นนั้น ส่วนบุคคลผู้มีความขยันหมั่นเพียร มีศีล รู้ความประสงค์ เมื่อคนทั้งหลายเห็นประจักษ์แล้ว ย่อมจะเอาโภคทรัพย์มาเชื้อเชิญเอง
ความที่มิจฉาทิฏฐิฝังแน่นในใจของพระราชา พระโพธิสัตว์ จึงนำเรื่องความทุกข์ในมหานรกเล่าให้ฟังว่า ขอถวายพระพร เมื่อมหาบพิตรเสด็จไปจากที่นี่แล้ว จักทอดพระเนตรเห็นพระองค์เองอยู่ในมหานรก ถูกฝูงกาปากเหล็กรุมยื้อแย่งฉุดคร่า ใครจะไปทวงทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ในปรโลกกับมหาบพิตร ผู้ตกอยู่ในนรกที่ถูกฝูงกา ฝูงแร้ง และฝูงสุนัขรุมกัดกิน จนตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม ถ้าหากพระองค์ไม่ไปเกิดในที่นั้น ก็จะบังเกิดในโลกันตมหานรกที่มืดสนิท น่าสะพรึงกลัว แสงจันทร์และแสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง กลางคืนกลางวันไม่ปรากฏ ใครจะไปถึงสถานที่แห่งนั้น เพื่อทวงทรัพย์กับพระองค์
ดูก่อนมหาบพิตร ในมหานรกนั้น มีห่าฝนชนิดต่างๆ คือ ฝนหอก ฝนดาบ แหลน หลาวมีประกายวาววับดังถ่านเพลิงตกลงบนศีรษะ สายอัสนีศิลาอันแดงโชน และยังมีลมร้อนยากที่จะทนได้ สัตว์ในนรกไม่ได้รับความสุขแม้แต่น้อย นอกจากนี้พระองค์จะถูกเทียมแทนรถ วิ่งไปวิ่งมา ต้องเหยียบแผ่นดิน อันลุกโพลง ถูกแทงด้วยปฏัก วิ่งไปขึ้นภูเขาที่เต็มไปด้วย ขวากหนามเหล็กร้อน ลุกโชน น่าสยดสยองยิ่งนัก กายของพระองค์จะขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม พระองค์ต้องวิ่งเหยียบกองถ่านเพลิงเท่าภูเขา ลุกโพลงน่าสะพรึงกลัว มีตัวถูกไฟไหม้ เมื่อทนไม่ไหว ก็ต้องร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส
นอกจากนี้ยังมีต้นงิ้วที่สูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยหนามเหล็กคมกริบ ซึ่งกระหายเลือดคน บังเกิดขึ้นด้วยผลกรรมของหญิงผู้ประพฤติล่วงสามี และชายผู้กระทำชู้กับภรรยาของผู้อื่น ถูกนายนิรยบาลเอาหอกไล่ทิ่มแทงให้ขึ้นต้นงิ้วนั้น แล้วใครจะไปทวงทรัพย์กับมหาบพิตร ซึ่งต้องขึ้นต้นงิ้วในนรก เลือดไหลเปรอะเปื้อน มีกายไหม้เกรียม หนังปอกเปิกเสวยเวทนาอย่างหนักเช่นนั้น
พระเจ้าอังคติราชสดับเช่นนั้นแล้ว เกิดความสลดสังเวช กลัวที่จะต้องไปบังเกิดในมหานรก จึงตรัสว่า บัดนี้ ข้าพเจ้าแทบจะล้มเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัด ข้าพเจ้าหลงผิดจึงไม่รู้จักทิศ ท่านฤๅษี ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า เสมือนกับน้ำดื่มแก้กระหายในเวลากระหายน้ำ ขอท่านจงเป็นเหมือนเกาะเป็นที่อาศัยในห้วงมหาสมุทร และขอท่านจงเป็นเหมือนประทีปส่องสว่างในที่มืดของข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านฤๅษี ขอท่านจงสอนอรรถและธรรมแก่ข้าพเจ้า ในกาลก่อนข้าพเจ้าได้ประพฤติผิดไปแล้ว ขอท่านจงบอกทางบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้า โดยที่ข้าพเจ้าไม่ต้องไปตกในนรกด้วยเถิด
เมื่อนารทฤๅษีเห็นว่า พระราชาทรงมีพระทัยอ่อนโยนแล้ว จึงสอนให้ประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ให้ดำรงมั่นในทศพิธราชธรรม เมื่อท่านพรหมนารทะทำให้พระราชากลับใจ มาเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคลเช่นเดิมแล้ว ได้อันตรธานกลับขึ้นไปพรหมโลกเหมือนเดิม พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แล้ว จึงตรัสสรุปว่า พระเจ้าอังคติราชในสมัยนั้น คือ ท่านอุรุเวลกัสสปะ พระนางรุจาราชธิดาได้มาเป็นพระอานนท์ มหาพรหมโพธิสัตว์ คือ พระตถาคตในบัดนี้
เราจะเห็นได้ว่า การสำคัญผิด คือ เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชั่วเป็นดี ที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั้น หากไม่ได้ยอดกัลยาณมิตรคอยชี้ทางสว่างให้ ชีวิตในสังสารวัฏย่อมพบแต่ความมืดมนอนธการ นับเป็นอันตรายมากๆ พวกเราไม่ควรประมาท ตราบใดที่เรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ทุกคนมีโอกาสที่จะถูกกิเลสบังคับให้ทำผิดพลาดได้ทั้งนั้น หากไม่อยากเป็นผู้หลงผิด ต้องหมั่นทำจิตให้ตรงต่อหนทางพระนิพพาน หมั่นปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ชีวิตการสร้างบารมีในสังสารวัฏจะได้ปลอดภัยและมีชัยชนะไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน*มก. มหานารทกัสสปชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๒๒๒