วิปลาส คือ ความรู้คลาดเคลื่อน ความรู้ที่ผันแปรผิดพลาดจากความ
เป็นจริง หมายถึง ความรู้คลาดเคลื่อนขั้นพื้นฐาน ที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด
หลงผิด การลวงตัวเอง วางใจ วางท่าที ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง ต่อโลก
ต่อชีวิต ต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และเป็นเครื่องกีดกั้นขัดขวางบังตา ไม่ให้
มองเห็นสัจภาวะ วิปลาส มี ๓ อย่าง คือ
๑. สัญญาวิปลาส สัญญาคลาดเคลื่อน หมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง
๒. จิตวิปลาส จิตคลาดเคลื่อน ความคิดผิดพลาดจากความเป็นจริง
๓. ทิฏฐิวิปลาส ทิฏฐิคลาดเคลื่อน ความเห็นผิดพลาดจากความเป็นจริง
สัญญาวิปลาส หมายรู้คลาดเคลื่อน เช่น คนตกใจเห็นเชือกเป็นงู กา
และกวางป่า มองหุ่นฟางสวมเสื้อกางเกงมีหม้อครอบ เห็นเป็นคนเฝ้านา
คนหลงทางเห็นทิศเหนือเป็นทิศใต้ เห็นทิศใต้เป็นทิศเหนือ คนเห็นแสงไฟ
โฆษณากระพริบอยู่กับที่ เป็นไฟวิ่ง เป็นต้น
จิตวิปลาส ความคิดคลาดเคลื่อน เช่น คนบ้าคิดเอาหญ้าเป็นอาหาร
ของตน คนจิตฟั่นเฟือนมองเห็นคนเข้ามาหา คิดว่าเขาจะทำร้าย คนเห็นเงา
เคลื่อนไหวในที่มืดสลัว คิดวาดภาพเป็นผีหลอก กระต่ายตื่นตูม ได้ยินเสียง
ลูกมะพร้าวหล่น คิดวาดภาพเป็นว่าโลกกำลังแตก เป็นต้น
ทิฏฐิวิปลาส ความเห็นคลาดเคลื่อน ตามปกติ สืบเนื่องมาจาก
สัญญาวิปลาสและจิตวิปลาสนั่นเอง เมื่อหมายรู้ผิดอย่างไร ก็เห็นผิดไปตาม
นั้น เมื่อคิดวาดภาพเคลื่อนคลาดไปอย่างไร ก็พลอยเห็นผิด เชื่อถือผิดพลาด
ไปตามอย่างนั้น
ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อหมายรู้ผิดว่าเชือกเป็นงู ก็อาจลงความเห็นยึด
ถือว่าสถานที่บริเวณนั้นมีงูหรือมีงูชุม เมื่อหมายรู้ว่าผืนแผ่นดินเรียบราบ
ขยายออกไปเป็นเส้นตรง ก็จึงลงความเห็นยึดถือว่าโลกแบน เมื่อคิดไปว่าสิ่ง
ทั้งหลายเกิดขึ้น เป็นไป เคลื่อนไหวต่างๆ ก็ต้องมีผู้จัดแจงผลักดัน ก็จึงลง
ความเห็นยึดถือว่า ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม มีเทพเจ้า
ประจำอยู่และคอยบันดาล ดังนี้เป็นต้น
ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นชั้นหยาบที่เห็นง่ายๆ อาจเรียกอย่างภาษา
พูดว่า เป็นความวิปลาสขั้นวิปริต
ส่วนในทางธรรม ท่านมองความหมายของวิปลาสอย่างละเอียดถึง
ขั้นพื้นฐาน หมายถึงความรู้คลาดเคลื่อนชนิดที่มิใช่มีเฉพาะในบางคนบาง
กลุ่มเท่านั้น แต่มีในคนทั่วไปแทบทั้งหมดอย่างไม่รู้ตัว คนทั้งหลายตกอยู่ใต้
อิทธิพลครอบงำของมัน และวิปลาสทั้ง ๓ ชนิดนั้น จะสอดคล้องประสาน
กันเป็นชุดเดียว วิปลาสขั้นละเอียดหรือขั้นพื้นฐานนั้น พึงเห็นตามบาลีดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส มี ๔ อย่าง
ดังนี้; ๔ อย่างอะไรบ้าง ? (กล่าวคือ)
๑. สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งไม่เที่ยง ว่าเที่ยง
๒. สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข
๓. สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งมิใช่ตัวตน ว่าตัวตน
๔. สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม
วิปลาสเหล่านี้ เป็นอุปสรรคต่อการฝึกอบรมเจริญปัญญา และก็เป็น
เป้าหมายของการฝึกอบรมปัญญาที่จะกำจัดมันเสีย การพัฒนาความรู้และ
เจริญปัญญาตามวิธีที่กล่าวไว้ในพุทธธรรม ล้วนช่วยแก้ไขบรรเทาและกำจัด
วิปลาสได้ทั้งนั้น เฉพาะอย่างยิ่ง การใช้โยนิโสมนสิการแบบสืบสาวหาเหตุ
ปัจจัยและแยกแยะองค์ประกอบตรวจดูสภาวะ โดยมีสติพร้อมอยู่
พุทธพจน์เกี่ยวกับอายตนะ
ก) สรรพสิ่ง โลก และบัญญัติต่างๆ
ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงแก่พวกเธอซึ่ง “สรรพสิ่ง” (สิ่งทั้งปวง.
ครบหมด, ทุกสิ่งทุกอย่าง), จงฟังเถิด; อะไรเล่าคือ สรรพสิ่ง: ตากับรูป
หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับ
ธรรมารมณ์ - นี้เราเรียกว่า สรรพสิ่ง
พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “โลก โลก” ดังนี้, ด้วยเหตุเพียงไร จึง
มีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก ?
ดูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยจักขุ-
วิญญาณ, ที่นั่นก็มีโลก หรือบัญญัติว่าเป็นโลก, ที่ใดมีหู...มีจมูก...มีลิ้น...
มีกาย...มีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณ มีสิ่งอันพึงรู้ด้วยมโน
วิญญาณ ที่นั้นก็มีโลก หรือบัญญัติว่าโลก
ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่า ที่สุดโลก เป็นสิ่งที่รู้ได้ เห็นได้ ถึงได้
ด้วยการไป, แต่เราก็ไม่กล่าวเช่นกันว่า บุคคลยังไม่ถึงที่สุดโลก จะทำ
ความสิ้นทุกข์ได้
(พระอานนท์กล่าว : ) ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ยังมิ
ได้ทรงแจกแจงเนื้อความโดยพิสดารนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจความโดยพิสดารดัง
นี้ :- บุคคลย่อมสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลกด้วยสิ่ง
ใด สิ่งนั้นเรียกว่า “โลก” ในอริยวินัย
ด้วยอะไรเล่า คนจึงสำคัญหมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก ?
ด้วยตา...ด้วยหู...ด้วยจมูก...ด้วยลิ้น...ด้วยกาย...ด้วยใจ คนจึงสำคัญ
หมายในโลกว่าเป็นโลก ถือโลกว่าเป็นโลก
ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงการอุทัยพร้อม และการอัสดงแห่งโลก,
จงฟังเถิด.
การอุทัยพร้อมแห่งโลกเป็นไฉน ? อาศัยตา และรูป จึงเกิดจักขุ-
วิญญาณ, ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้น คือ ผัสสะ, เพราะผัสสะเป็น
ปัจจัย เวทนาจึงมี, เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี, เพราะตัณหา
เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี, เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี, เพราะภพ
เป็นปัจจัย ชาติจึงมี, เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสก็มีพร้อม; นี้คือการอุทัยพร้อมแห่งโลก
อาศัยหู...อาศัยจมูก...อาศัยลิ้น...อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์
จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ นี้คือการอุทัยพร้อมแห่งโลก
การอัสดงแห่งโลกเป็นไฉน ? อาศัยตา และรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ,
ความประจวบแห่งสิ่งทั้งสามนั้นคือผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนา
จึงมี, เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี, เพราะตัณหานั้นแหละสำรอก
ดับไปไม่เหลือ ความดับอุปาทานจึงมี, เพราะดับอุปาทาน ความดับภพ
จึงมี, เพราะดับภพ ความดับชาติจึงมี, เพราะดับชาติ ชรา มรณะ โสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงดับ, ความดับแห่งกองทุกข์ทั้ง
หมด ย่อมมีได้อย่างนี้; นี้เรียกว่าการอัสดงแห่งโลก
อาศัยหู...อาศัยจมูก...อาศัยลิ้น...อาศัยกาย...อาศัยใจและธรรมารมณ์
จึงเกิดมโนวิญญาณ ฯลฯ เพราะตัณหานั้นแหละสำรอกดับไปไม่เหลือ…
นี้คือการอัสดงของโลก
พระองค์ผู้เจริญ เรียกกันว่า “มาร มาร” ...เรียกกันว่า “สัตว์ สัตว์”
...เรียกกันว่า “ทุกข์ ทุกข์” ดังนี้, ด้วยเหตุเพียงไร จึงมีมารหรือบัญญัติ
ว่ามาร...จึงมีสัตว์หรือบัญญัติว่าสัตว์... จึงมีทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์ ?
ดูกรสมิทธิ ที่ใดมีตา มีรูป มีจักขุวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วยจักขุ
วิญญาณ ฯลฯ มีใจ มีธรรมารมณ์ มีมโนวิญญาณ มีธรรมอันพึงรู้ด้วย
มโนวิญญาณ, ที่นั้นก็มีมารหรือบัญญัติว่ามาร...สัตว์หรือบัญญัติว่า
สัตว์...ทุกข์หรือบัญญัติว่าทุกข์
เมื่อตามีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขทุกข์, เมื่อตาไม่มี
พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติว่าสุขทุกข์, เมื่อหู...เมื่อจมูก...เมื่อ
ลิ้น...เมื่อกาย...เมื่อใจมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงบัญญัติสุขทุกข์ เมื่อ
หู ฯลฯ ใจไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่บัญญัติสุขทุกข์