เสนาสนสูตรพระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงภิกษุที่มีคุณสมบัติ ๕ ประการ........................................................................................
เสนาสนสูตร เป็นพระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงภิกษุที่มีคุณสมบัติ ๕ ประการ เมื่อได้อาศัยอยู่ในเสนาสนะที่ประกอบด้วยคุณสมบัติอีก ๕ ประการ ย่อมเกื้อกูลให้ภิกษุนั้นสามารถกำจัดกิเลสอาสวะได้อย่างรวดเร็ว
คุณสมบัติของภิกษุ ๕ ประการ ได้แก่
เป็นผู้มีศรัทธา,
มีอาพาธน้อย,
เป็นผู้ไม่โอ้อวด มีมารยา,
เป็นผู้ปรารภความเพียร
และเป็นผู้มีปัญญา
มีรายละเอียดดังนี้
คุณสมบัติ ลักษณะ และการนำไปใช้งาน
๑) มีศรัทธา ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อมั่นที่เปี่ยมล้นด้วยความมั่นใจจนสิ้นสงสัยในพระปัญญาตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าท่านเป็นพระอรหันต์, ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ, เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ, เสด็จไปดีแล้ว, รู้แจ้งโลก, เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม, เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์, เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และเป็นผู้แจกแจงธรรม
๒) อาพาธน้อย มีโรคน้อย มีไฟธาตุดีเหมาะกับการย่อยอาหาร, รู้จักรักษาสุขภาพตนเอง และถนอมร่างกายเพื่อใช้สร้างบารมีด้วยการ
๑. ใช้ปัจจัยสี่ที่ไม่เป็นโทษต่อร่างกาย
๒. ดูแลร่างกายให้เหมาะสมกับฤดู
๓. รักษาอิริยาบถของร่างกายให้สมดุล
๔. ไม่ใช้ร่างกายหักโหมจนเกินไป
๓) ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยความจริงต่อพระศาสดาหรือเพื่อพรหมจรรย์ผู้รู้ทั้งหลาย รวมทั้งเป็นผู้ที่ตั้งใจแก้ไขปรับปรุงนิสัยของตนเองอย่างจริงจัง ไม่เป็นคนลวงโลก โดยอาจฝึกให้เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ดังนี้
๑. ฝึกพึ่งตนเอง
๒. ฝึกรักษาสุขภาพ
๓. ฝึกให้มีวินัยต่อคำพูด, เวลา, ความสะอาด, ความเป็นระเบียบ และการสร้างบุญ
๔. ฝึกความรับผิดชอบต่อศีลธรรม
๔) ปรารภความเพียร ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม และทำกุศลธรรมให้เกิดขึ้น มีความบากบั่นไม่ทอดธุระในธรรมทั้งหลาย การปรารภความเพียรก็คือการบำเพ็ญภาวนา ซึ่งจะทำให้ดีได้ก็โดยการรู้จักบริหารเวลาทั้ง ๔ ประการให้ดี คือ
๑. การศึกษาค้นคว้าพระธรรมคำสอน
๒. การสอบถามสนทนาธรรม
๓. การปฏิบัติสมาธิภาวนาประจำวัน
๔. การหลีกออกเร้นเพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนาระยะยาว
๕) มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา เห็นทั้งความเกิดและดับอันเป็นอริยะ ปัญญาในที่นี้หมายถึง “ภาวนามยปัญญา” ซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดมาจากการปฏิบัติสมาธิ และเป็นผลมาจากการปฏิบัติในข้อ ๑ – ๔ มาอย่างดี
เมื่อภิกษุฝึกอบรมตนเองจนมีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว หากได้อยู่ในเสนาสนะที่ประกอบด้วยคุณสมบัติอีก ๕ ประการ ย่อมจะทำให้ภิกษุนั้นสามารถกำจัดกิเลสอาสวะในตนเองได้อย่างรวดเร็ว
เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ได้แก่
๑. เสนาสนะนั้นอยู่ไม่ไกลจากชุมชนนัก ไม่ใกล้นัก มีทางไปมาสะดวก กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงบ มีเสียงน้อย ไม่อึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานกระทบน้อย
๒. เมื่อภิกษุอยู่ในเสนาสนะนั้น ย่อมได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขารโดยง่าย ไม่ฝืดเคืองเลย
ในข้อ ๑ และ ๒ มุ่งหมายถึงที่อยู่อาศัยมีความสงบ และดำรงชีพได้สะดวก
๓. เสนาสนะนั้นมีภิกษุผู้เถระทั้งหลายที่มีความรู้ คือ เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาอยู่ในเสนาสนะนั้น
๔. ภิกษุนั้นเข้าไปหาภิกษุผู้เป็นเถระเหล่านั้นในเวลาที่สมควร เพื่อศึกษาเรียนรู้ธรรม
๕. ภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผย (แนะนำสั่งสอน) ข้อที่ยังไม่เปิดเผย ทำข้อที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่าย และบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น
ข้อที่ ๓ – ๕ มุ่งหมายให้มีผู้ที่มีความรู้สอนธรรมวินัยและการปฏิบัติธรรม
เสนาสนสูตร
เริ่มโดย
*sky noi*
, Jun 30 2010 10:32 PM
มี 1 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้
#1 *sky noi*
โพสต์เมื่อ 30 June 2010 - 10:32 PM
#2
โพสต์เมื่อ 01 July 2010 - 05:24 AM
สาธุ กับธรรมทานนี้ด้วยนะครับ