ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

ปริศนาแห่งความฝัน ตอนที่ 9


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 2 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 Dd2683

Dd2683
  • Members
  • 2477 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:กรุงเทพ มหานคร
  • Interests:ความรู้ในพระพุทธศาสนา-วิชชาธรรมกาย<br />ผลแห่งการปฏิบัติธรรม

โพสต์เมื่อ 13 April 2006 - 03:58 PM

ปริศนาแห่งความฝัน ตอนที่ 9
๓.๑๐ พระสุบินนิมิต ๑๖ ข้อ ของพระเจ้าปเสนทิโกศล

ในอรรถกถามหาสุบินชาดก เอกนิบาต ภาค ๒ หน้า ๑๖๔ เล่าเรื่องพระสุบินนิมิต ๑๖ ข้อ ของพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นใจความว่า

พระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้ครองกรุงสาวัตถี อันเป็นราชธานีของแคว้นโกศล บรรทมหลับในราตรีวันหนึ่ง
เวลาปัจฉิมยามใกล้รุ่ง ทรงพระสุบินถึง ๑๖ ข้อ เป็นพระสุบินที่แปลกประหลาด
ทรงตกพระทัย ได้ตรัสเล่าพระสุบิน ๑๖ ข้อนั้น
ให้พราหมณ์ปุโรหิตประจำราชสำนักทำนาย พราหมณ์ปุโรหิตเหล่านั้น
ก็ทูลเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นพระสุบินที่ร้าย และทำนายว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล จะต้องประสบอันตราย ๓ ประการ
คือ ๑. เสียราชสมบัติ ๒. เสียพระมเหสี ๓. สวรรคต ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

และทูลถวายคำแนะนำ ให้ทรงทำพิธีฆ่าสัตว์บูชายัญ เพื่อสะเดาะพระเคราะห์
พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเชื่อและตกพระทัยมาก จึงมีพระราชโองการ ให้เตรียมการทำพิธีฆ่าสัตว์บูชายัญตามคำแนะนำของพราหมณ์ปุโรหิตเหล่านั้น

ครั้งนั้นพระนางมัลลิกาเทวี ทราบเหตุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า
พระองค์ไม่ควรรีบร้อนทำพิธีฆ่าบูชายัญ ควรเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เล่าพระสุบินถวาย ขอให้ทรงพยากรณ์ก่อน หากจะมีเหตุร้ายอันใดเกิดขึ้นจริง ก็อาจจะทรงแนะนำวิธีแก้ไข ผ่อนหนักให้เบาลงได้ โดยไม่ต้องทำพิธีบูชายัญ พระเจ้าปเสนทิก็เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามตามคำทูลแนะนำของพระนางมัลลิกา

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า เหตุร้ายนั้นจักมีแน่ แต่มิใช่แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือแว่นแคว้นของพระองค์เลย เหตุร้ายนั้น จักมีแก่สัตว์โลกทั่ว ๆ ไป และแก่พระศาสนาของพระตถาคตในกาลภายหน้าโน้น

พระสุบินนิมิต ๑๖ ข้อ ของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ท่านร้อยกรองไว้เป็นคาถา
อันมีปรากฏในพระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๗ หน้า ๒๔
และเมื่อถอดความพร้อมทั้งอรรถาธิบาย ในคัมภีร์ชาตกัฏฐกถานั้นแล้วคงได้ความดังนี้คือ

๑. พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงสุบินว่า
โคอุสภะดำ ๔ ตัว มีกายดุจสีดอกอัญชัน วิ่งมาจากทิศทั้ง ๔ มุ่งตรงมายังพระลานหลวง
ทำอาการเหมือนจะชนกัน ครั้นมหาชนทั้งปวง มาประชุมกันว่า เราทั้งปลายจะดูโคชนกัน
โคอุสภะทั้ง ๔ ก็แสดงอาการเหมือนจะชนกันจริง บันลือเสียงคุกคามเอื้ออึงแล้วต่างตัวต่างก็ถอยกลับไป มิได้ชนกัน


พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักมีผลในอนาคตกาลไกลโน้น คือ
ต่อไปภายภาคหน้า ผู้เป็นใหญ่ทั้งหลาย จักไม่ตั้งอยู่ในธรรม ประพฤติมิชอบธรรม
โลกจะวิปริตแปรปรวนไปต่าง ๆ บุญกุศลจะเสื่อมถอย
บาปอกุศลจะหนาแน่น ประชาชนจะเสื่อมจากศีลธรรม ฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล
พืชพันธุ์ธัญญาหารจะเหี่ยวแห้งไม่สมบูรณ์ จักเกิดทุพภิกขภัย
เมฆที่ยังฝนให้ตก จะตั้งขึ้นทั้ง ๔ ทิศ ฟ้าร้องคำราม แสดงอาการว่าฝนจะตก
แต่แล้วไม่ตก กลับจางหายไปหมด เหมือนโคอุสภะทั้งสี่นั้น
ทำอาการเหมือนจะชนกันแล้ว และกลับถอยหนีหาได้ชนกันไม่

๒. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระสุบินว่า
ต้นไม้และกอไม้เล็ก ๆ ทั้งหลาย โผล่จากพื้นดินขึ้นมาเจริญขึ้นโดยลำดับ ประมาณคืบหนึ่งบ้าง ประมาณศอกตูมหนึ่งบ้าง แล้วก็ผลิดอกออกผล ในขณะที่ยังเล็ก ๆ อยู่นั้น

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในอนาคตกาลไกลโน้น คือต่อไปในเวลาที่โลกเสื่อมจากศีลธรรม
ในเวลาที่มนุษย์ มีอายุน้อย สัตว์โลกทั้งหลาย จักมีกิเลสราคะกล้าแข็ง นางกุมารีรุ่นที่มีวัยยังไม่สมบูรณ์
จักคบชู้สู่หาสมาคมกับบุรุษ จักมีระดูและมีครรภ์ จักเจริญด้วยบุตรธิดามากมาย ข้อที่กุมารีรุ่น ๆ เหล่านั้นมีระดู ก็เหมือนกับต้นไม้และกอไม้เล็ก ๆ ผลิดอก ข้อที่กุมารีรุ่น ๆ เหล่านั้น
เจริญด้วยบุตรธิดามากมาย ก็เหมือนกับต้นไม้เล็ก ๆ มีผล

๓. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระสุบินว่า
แม่โคใหญ่ มาวอนขอนม จากลูกโคที่เกิดในวันนั้นกิน

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในอนาคตกาลไกลโน้น จักมีในเวลาที่หมู่มนุษย์เสื่อมจากธรรมะ
คือการประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ คือ ต่อไปภายหน้า มนุษย์ทั้งหลายจักไม่มีความเอื้อเฟื้อในมารดา บิดาเป็นต้น จักจัดแจงขวนขวายรวบรวมทรัพย์สมบัติทั้งหมดเสียเองแล้ว ถ้าชอบใจ จะให้ข้าวปลาอาหาร
ผ้านุ่ง ผ้าห่มแก่มารดา บิดา ก็ให้ ถ้าไม่ชอบใจ ก็ไม่ให้ มารดา บิดา ผู้แก่เฒ่าชราลงต้องงอนง้อประจบลูก
ขอเลี้ยงชีวิตไป เหมือนโคใหญ่มาวอนขอนมจากลูกโค ซึ่งเกิดในวันนั้นกิน ฉะนั้น

๔. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระสุบินว่า
โคใหญ่เคยไถนา เขาไม่นำพา ทอดทิ้งเสีย เอาลูกโคเล็ก ๆ มาเทียมไถ ลูกโคเหล่านั้น ไม่สามารถจะลากไป ก็สลัดแอกทิ้งเสีย แล้วยืนนิ่งอยู่เฉย ๆ เกวียนก็ไม่เคลื่อนจากที่

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในกาลไกลโน้น คือ ในเวลาที่เป็นผู้ใหญ่ มีอำนาจ ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เป็นความจริง
ในภายหน้าคนชั้นต่ำ ๆ ที่ได้รับสมมติให้เป็นใหญ่ จักไม่ตั้งอยู่ในธรรม จักไม่ให้ยศแก่อำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่
ซึ่งเป็นนักปราชญ์ ฉลาดรู้รอบคอบในประเพณี มีความสามารถในการบริหารการงาน
จักไม่ตั้งอำมาตย์ผู้เฒ่า ที่มีปรีชาญาณ และเชี่ยวชาญกฎหมายไว้ในธรรมสภา
และแม้ในตำแหน่งผู้พิพากษา แต่จักยกย่องให้ยศแก่อำมาตย์หนุ่ม ๆ
ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้เฒ่าที่กล่าวแล้ว จักตั้งอำมาตย์หนุ่ม ๆ ไว้ในตำแหน่งผู้พิพากษา
อำมาตย์หนุ่ม ๆ เหล่านั้น เมื่อไม่รู้ระเบียบราชการ และกิจที่ควรประพฤติ ไม่ควรประพฤติ
ก็จะมีใจกำเริบคะนองไปต่าง ๆ จักไม่อาจดำรงยศไว้ได้
และไม่อาจบริหารราชการให้เป็นไปโดยเรียบร้อย
เมื่ออำมาตย์หนุ่ม ๆ เหล่านั้น ไม่สามารถ ก็ทอดทิ้งการงาน ส่วนอำมาตย์ผู้เฒ่าผู้แก่
แม้สามารถบริหารกิจการงาน เมื่อไม่ได้ยศ ก็จักทอดธุระเสียว่า เราจะไปเกี่ยวข้องทำไม ไม่ใช่ธุระอะไรของเรา
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเสื่อมด้วยประการทั้งปวง ก็จักมีแก่ผู้เป็นใหญ่ ตั้งอำมาตย์หนุ่ม ๆ ผู้ไม่สามารถไว้ในราชการ ก็เหมือนกับการเทียมลูกโคตัวเล็ก ๆ ซึ่งไม่สามารถจะลากแอกไว้ที่แอก
ข้อที่ผู้เป็นใหญ่ ทอดทิ้งผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งสามารถในการงาน ไม่ยกย่อง ไม่ให้ยศ ก็เหมือนกับการไม่เทียมโคใหญ่ ซึ่งสามารถลากแอกไว้ที่แอกฉะนั้น

๕. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระสุบินว่า
ม้าตัวหนึ่งมีปากสองข้าง บุรุษสองคนเอาหญ้าป้อน ม้านั้นก็เคี้ยวกินหญ้าทั้งสองปาก

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในอนาคตกาลไกลโน้น คือ ในกาลภายหน้า ผู้เป็นใหญ่ มีนิสัยอย่างพาล ๆ ไม่ตั้งอยู่ในธรรม จักตั้งคนโลเลเหลวไหลไร้ธรรมะไว้ในตำแหน่งผู้พิพากษา คนโลเลเหลวไหลเหล่านั้น ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่เชื่อบุญ ไม่กลัวบาป เมื่อนั่งในที่พิพากษาคดี จักรับเอาสินบนจากคู่ความ คือ โจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่าย ครั้นได้สินบนจากคู่ความแล้ว ก็วินิจฉัยคดีตามความชอบใจของตน เอาแต่สินบนเป็นประมาณ กิริยาที่ผู้วินิจฉัยคดี รับสินบนจากคู่ความทั้งสองข้าง เคี้ยวหญ้าที่บุรุษสองคนป้อนให้กินฉะนั้น

๖. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระสุบินว่า
มหาชนเช็ดขัดปัดสีถาดทองคำ อันมีค่าตั้งแสนตำลึง แล้วนำเข้าไปยื่นให้สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง แล้วบอกว่า
จงถ่ายปัสสาวะลงในถาดทองคำนี้เถิด แล้วสุนัขจิ้งจอก ก็ถ่ายปัสสาวะลงในถาดทองคำนั้น


พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในอนาคตกาลไกลโน้น คือต่อไปภายหน้า ผู้เป็นใหญ่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม จักไม่ยกย่อง ให้ยศแก่กุลบุตรผู้ถึงพร้อมด้วยชาติ คือเกิดในตระกูลสูง จักให้ยศแก่ผู้เกิดในตระกูลต่ำเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ตระกูลสูงจะต้องตกยาก เหล่าตระกูลต่ำ ๆ เลว ๆ จะได้เป็นใหญ่ และบุรุษที่เกิดในตระกูลสูง ตระกูลใหญ่นั้น เมื่อไม่สามารถจะเลี้ยงชีวิตได้ ก็จะยกธิดาของตน ๆ ให้แก่คนที่เกิดในตระกูลต่ำ ด้วยหวังจะอาศัยเขาเลี้ยงชีวิต กิริยาที่หญิงสาวผู้มีตระกูลอยู่ร่วมกับพวกที่เกิดในตระกูลต่ำนั้น ก็เหมือนกับสุนัขจิ้งจอกชรา ถ่ายปัสสาวะลงบนถาดทองคำ

๗. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระสุบินว่า
มีบุรุษคนหนึ่ง นั่งฟั่นเชือกอยู่บนตั่ง แล้วหย่อนปลายเชือกที่ฟั่นนั้น ให้ห้อยลงไป ณ ภายใต้ตั่ง มีนางสุนัขจิ้งจอกหิวนั้น ก็กัดกินต้นเชือกที่บุรุษนั้นฟั่นเรื่อย ๆ ไป ยิ่งฟั่นก็ยิ่งหมดไปทุกที

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในอนาคตกาลข้างหน้าโน้น คือต่อไปภายหน้า หญิงทั้งหลาย จะประพฤติโลเลเหลาะแหละในชาย และลุ่มหลงในการเสพสุรา ตั้งหน้าซื้อหาเครื่องประดับประดาตกแต่งตน พากันไปเที่ยวในเวลาค่ำคืน ประพฤติเสียหาย ประดับร่างกายเสียหรูหรา นั่งดื่มสุรากับชายชู้ ไม่ค่อยดูกิจการน้อยใหญ่ในเรือนตน จักไปหาชายชู้โดยข้ามรั้วบ้านบ้าง
โดยช่องทางต่าง ๆ บ้าง จักพากันแย่งใช้ทรัพย์สมบัติ ที่สามีหามาได้ด้วยการทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ
รวมเอาไว้ด้วยความยากลำบาก เหมือนนางสุนัขจิ้งจอกหิว
ซึ่งนอนอยู่ภายใต้ตั่ง กัดกินเชือกที่บุรุษฟั่นแล้ว ๆ หย่อนลงทางปลายเท้าฉะนั้น

๘.พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระสุบินว่า
ตุ่มใหญ่ใบหนึ่ง มีน้ำเต็ม (ตั้งอยู่ตรงกลาง) มีตุ่มเปล่าอีกเป็นจำนวนมาก ตั้งล้อมอยู่รอบ ๆ ประชาชนมาจาก ๘ ทิศ เอากระป๋องตักน้ำมาเทใส่เฉพาะตุ่มที่เต็มแล้วตุ่มเดียว น้ำที่เต็มแล้ว ก็ล้นไหลไปมิได้ขาดสาย แม้ตุ่มใบนั้น จะเต็มแล้วก็ตาม ประชาชนก็พยายามตักน้ำใส่ตุ่มนั้นอยู่นั่นเอง ส่วนตุ่มน้อย ๆ ที่ตั้งเรียงล้อมอยู่ ไม่มีผู้ใดเหลียวแลดูเลย

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในอนาคตกาลไกลโน้น คือต่อไปภายหน้า โลกจักเสื่อม ประเทศบ้านเมืองจักแร้นแค้น
ราชาทั้งหลายจะต้องตกยาก คือสิ้นราชอำนาจ ผู้ใดได้รับสมบัติให้เป็นใหญ่ ผู้นั้นจักร่ำรวย มีทรัพย์เป็นแสน ๆ
ราชาผู้ตกยากคับแค้นเช่นนั้น ก็จักเกณฑ์ให้ชาวชนบททั่วไป หว่านพืชเพาะปลูกเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์
พวกมนุษย์ชาวชนบท ครั้นถูกบังคับเบียดเบียนเช่นนั้น ก็ต้องทอดทิ้งการงานของตน ไปหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหาร นำมาใส่ท้องพระคลังของพระราชา จักไม่มีผู้เหลียวดูยุ้งฉางเปล่า ๆ ในเรือนของตน
จักเป็นเหมือนคนพากันตักน้ำใส่ตุ่มที่เต็มแล้ว ไม่ตักใส่ตุ่มที่พร่องฉะนั้น

๙. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระสุบินว่า
มีสระโบกขรณีสระหนึ่ง น้ำลึก ดาษดาไปด้วยบัวเบญจพรรณและมีท่าสำหรับขึ้นลงโดยรอบข้าง
สัตว์สองเท้า สี่เท้า มากหลาย ก็ลงดื่มน้ำในสระนั้น โดยรอบ ๆ น้ำในที่ลึกตรงกลางสระนั้น กลับขุ่นมัว
ส่วนน้ำตรงรอบขอบสระ ที่สระสองเท้า สี่เท้าเหยียบย่ำลงนั้น กลับใส สะอาดไม่ขุ่นมัว


พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในอนาคตกาลโน้น คือต่อไปภายกน้า ผู้เป็นใหญ่ทั้งหลาย จักไม่ตั้งอยู่ในธรรม จักปกครองบ้านเมือง โดยลุอำนาจอคติ ๔ มีฉันทาคติเป็นต้น จักมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว ไม่แลเหลียวถึงประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครอง ผู้เป็นใหญ่เหล่านั้น จักไม่มีความเมตตาเอ็นดูในประชาชน จักบีบคั้นประชาชนด้วยการเพิ่มพลี คือ
ภาษีอากร มีประการต่าง ๆ เก็บเอาทรัพย์สมบัติ ดุจบุคคลบีบน้ำอ้อยด้วยยนต์สำหรับหีบอ้อย
ฝ่ายประชาชน ถูกภาษี บีบบังคับมากเกินไป ทนไม่ไหว ทิ้งที่อยู่อาศัย ไปอยู่ในที่ชายแดน
ศูนย์กลางของบ้านเมือง จักรกร้างว่างเปล่า ที่ชายแดน จักมีคนอยู่หนาแน่นคับคั่ง
เหมือนดังน้ำตรงกลางสระโบกขรณีขุ่นมัว แต่ริม ๆ สระน้ำใสสะอาดฉะนั้น

๑๐. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระสุบินว่า
คนหุงข้าวในหม้อใบเดียว แต่ไม่สุก ครั้นคดออกพิจารณาดู ก็เห็นเป็น ๓ อย่าง คือ ข้างหนึ่งดิบ ข้างหนึ่งเปียกเกินไป อีกข้างหนึ่งดิบพอเป็นท้องเล็น

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในอนาคตกาลโน้น คือ ต่อไปภายหน้า ผู้ครองบ้านเมืองทั้งหลาย จักไม่ตั้งอยู่ในธรรม
เมืองผู้ครองบ้านเมืองเหล่านั้น ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ข้าราชการ พ่อค้า คฤหบดี ประชาชน
ตลอดถึงสมณพราหมณ์ ก็จักไม่ตั้งอยู่ในธรรมเหมือนกัน เป็นอันว่าหมู่มนุษย์จักไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ต่อนั้นก็ถึงเทวดาผู้รักษามนุษย์เหล่านั้น แล้วก็เทวดาผู้รับพลีกรรม รุกขเทวดาอากาสัฏฐกเทวดา
ก็จะพากันไม่ตั้งอยู่ในธรรม เป็นอันว่าไมู่เทวดา ก็จักไม่ตั้งอยู่ในธรรมเหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ ลมพายุจัด จักพัดผัน ในสมัยของผู้ครองบ้านเมืองซึ่งไม่ตั้งอยู่ในธรรม
ลมพายุจัดนั้น จักทำให้วิมานของอากาสัฏฐกเทวดาหวั่นไหว หมู่เทวดาก็จะพากันโกรธ บันดาลไม่ให้ฝนตก
แม้จะตกบ้าง ก็ตกนิดหน่อย ไม่ทั่วบ้าน ทั่วเมือง จักไม่ตกให้เป็นประโยชน์แก่การเพาะปลูก ทำไร่ทำนา
จักตกไม่สม่ำเสมอ บางแห่งตกมาก ทำให้ข้าวกล้าเสีย บางแห่งตกน้อยเกินไป ทำให้ข้าวกล้าเหี่ยวแห้ง
บางแห่งตกพอดี ๆ ข้าวกล้างาม ข้าวกล้าที่หว่านไว้ในบ้านเมืองเดียวกัน แต่เป็นไปได้ต่าง ๆ คือ
เหี่ยวแห้งบ้าง เน่าบ้าง งามบ้าง เหมือนข้าวที่หุงในหม้อใบเดียวกัน แต่มีอาการเป็นสามอย่าง คือ
ดิบ เปียก และดิบพอเป็นท้องเล็น

๑๑. พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระสุบินว่า
แก่นจันทน์มีราคาตั้งแสน คนทั้งหลายเอาแก่นจันทน์นั้น ไปแลกกับเปรียงเน่า

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผล ในอนาคตกาลโน้น ในเมื่อศาสนาของตถาคตเสื่อมลง ต่อไปภายหน้า
ภิกษุอลัชชีทั้งหลาย ไม่มีความละอายแก่บาป มุ่งแต่จะได้ปัจจัยลาภ จักมีจำนวนมาก
ภิกษุอลัชชีเหล่านั้น จักแสดงธรรมที่ตถาคตแสดงไว้ ทำให้มีค่าสูงสุดคือ พระนิพพาน
เพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยสี่ ดุจเอาแก่นจันทน์ อันมีค่าตั้งแสน มาขายแลกกับเปรียงเน่าฉะนั้น

๑๒. พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระสุบินว่า
น้ำเต้าเปล่า ๆ (คือน้ำเต้าที่คว้านไส้ออกเสีย เหลือแต่เปลือกเปล่า) ที่ควรจะลอยอยู่บนหลังน้ำ กลับจมลงไปอยู่ใต้น้ำ

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในอนาคต ในสมัยที่ผู้ครองบ้านผ่านเมือง ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
โลกจักวิปริตเป็นไปต่าง ๆ คือ ผู้เป็นใหญ่ จักไม่ให้ยศแก่กุลบุตรผู้ถึงพร้อมด้วยชาติ คือ
มีตระกูลสูง จักให้แก่ผู้เกิดในตระกูลต่ำเท่านั้น กุลบุตรผู้ไม่มีตระกูลทั้งหลาย จักได้เป็นใหญ่
ส่วนกุลบุตรผู้มีตระกูลทั้งหลาย จักเป็นทลิททก คนเข็ญใจยากไร้
และคนดีมีศีล มีสัตย์จักต่ำต้อย ดุจน้ำเต้าจมลงในน้ำฉะนั้น

๑๓. พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระสุบินว่า
ศิลาแท่งทึบ ใหญ่ประมาณเท่าเรือนยอด ลอยอยู่ในน้ำได้ เหมือนสำเภาหรือเรือใหญ่ ๆ ฉะนั้น

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลใยอนาคตกาลโน้น คือว่าต่อไปภายหน้า ผู้เป็นใหญ่ซึ่งไม่ตั้งอยู่ในธรรม จักให้ยศแก่ผู้มีตระกูลต่ำ พวกที่มีตระกูลต่ำจักได้เป็นใหญ่ จักเฟื่องฟู และคนไม่ดี ไม่มีศีล ไม่มีสัตย์ จักเฟื่องฟูดุจศิลาแท่งทึบ ประมาณเท่าเรือนยอด ลอยอยู่ในน้ำได้เหมือนสำเภาหรือเรือใหญ่ฉะนั้น

๑๔. พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระสุบินว่า
ฝูงนางเขียดตัวน้อย ๆ ตัวประมาณเท่าดอกมะซางเล็ก ไล่ติดตามฝูงงูเห่าใหญ่ ๆ โดยกำลังรวดเร็ว
แล้วกัดกินเนื้องูเห่ากลืนกินลงไป


พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในอนาคตกาล ในเมื่อโลกเสื่อมจากศีลธรรม คือ
ในระยะนั้น หมู่มนุษย์จักมีกิเลสหนา ตัณหาจัด เป็นไปในอำนาจแห่งกิเลส (ชาย)
จักตกอยู่ในอำนาจภรรยาสาวของตน ทรัพย์สมบัติ มีเงินและทองเป็นต้น ก็จักตกไปอยู่กับภรรยาสาวทั้งสิ้น
ภรรยาสาวเหล่านั้น จักด่าทอสามีของตน ด้วยประการต่าง ๆ ทำให้สามีอยู่ในอำนาจเหมือนฝูงเขียดน้อย ตัวเล็กเท่าดอกมะซางกลืนกินงูเห่าฉะนั้น

๑๕. พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระสุบินว่า
พระยาหงษ์ทอง บินเข้าห้อมล้อมกาอันเที่ยวอยู่ ในบ้าน

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผลในอนาคตกาลโน้น คือต่อไปภายหน้า ราชาทั้งหลาย จักไม่สามารถในศิลปะต่าง ๆ
ไม่ชำนาญในยุทธวิธี ราชาเหล่านั้น จักไม่ให้ความเป็นใหญ่แก่กุลบุตรผู้มีชาติตระกูลเสมอกัน
จักให้แก่คนมีชาติตระกูลต่ำเท่านั้น กุลบุตรผู้มีชาติตระกูลสูง เมื่อไม่ได้ที่พึ่งในราชตระกูลแล้ว
จักไม่สามารถเลี้ยงชีวิต แล้วจักเที่ยวประจบ พินอบพิเทาคนที่มีตระกูลต่ำ ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นใหญ่
เหมือนพระยาหงษ์ทอง บินเข้าห้อมล้อมกาอันเที่ยวอยู่ในบ้านฉะนั้น

๑๖. พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระสุบินว่า
แพะไล่ตามกัดกินเสือเหลือง ภายหลังบรรดาเสือ มีเสือดาวเป็นต้น เหล่าอื่น เห็นแพะแล้ว ก็ตกใจสะดุ้งกลัว พากันหนีไปหลบซ่อนอยู่ ณ พุ่มไม้และชัฏป่า

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า
สุบินนิมิตนี้ จักปรากฏผล ในอนาคตกาลโน้น ในเวลาที่ราชตระกูลไม่ตั้งอยู่ในธรรม ผู้ที่เกิดในตระกูลต่ำ
เป็นที่คุ้นเคยของราชา จักได้เป็นใหญ่ ส่วนผู้ดีมีตระกูล จักยากจนเข็ญใจ ไม่ปรากฏชื่อ ผู้ที่เกิดในตระกูลต่ำ
เมื่อได้เป็นใหญ่แล้ว จักเบียดเบียนผู้ดีมีตระกูล ทำให้ต้องซ่อนตัวหลบหนี
แม้ในสังฆมณฑล เหล่าภิกษุอลัชชีชั่วช้า จักพากันเบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล ตามอำเภอใจ
พวกภิกษุผู้มีศีลเหล่านั้น เมื่อไม่ได้ที่พึ่ง ก็จักพากันเข้าป่าหนีไปหลบซ่อน กิริยาที่พวกผู้มีตระกูลต่ำ
เบียดเบียนผู้มีชาติตระกูลสูง ก็เหมือนแพะไล่ติดตามกัดกินเสือ และกิริยาที่พวกภิกษุอลัชชี เบียดเบียนภิกษุผู้มีศีล
ก็เหมือนเสือดาวเป็นต้น หนีไปเพราะกลัวแพะฉะนั้น

ะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าใช้ประสบการณ์ฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นสัญญลักษณ์ทำนายถึงอนาคตกาลทั้งสิ้น
และจากคำทำนายดังกล่าว จะเห็นว่า ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวผู้ฝัน แต่พระองค์ทรงระบุถึงมนุษยชาติทั่วไป ไม่ได้บ่งว่า จะเป็นชาติใด แม้ในบางข้อจะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง
การพยากรณ์ในลักษณะที่ว่า ต่อไปสังคมมนุษย์จะเสื่อม มีวิปริต อาเพศต่าง ๆ นี้
พระพุทธเจ้าได้ทรงเคยพยากรณ์ไว้บ้างแล้วเมื่อกล่าวถึงยุคต่าง ๆ และในที่สุด
ก็จะเป็นยุคของความวุ่นวาย ไม่มีศีลธรรม ที่เรียกว่า กลียุค
จนในที่สุดโลกจะสงบอีกวาระหนึ่ง ถึงยุคพระศรีอาริย์ แต่ก็น่าสังเกตอย่างหนึ่ง

ลักษณะของการทำนายดังกล่าวนั้น ในบางตอนทำให้คิดได้ว่า อาจไม่ใช่พุทธทำนาย เพราะจากการพูดถึงเรื่องชาติตระกูลที่ว่าชาติตระกูลต่ำได้ครองเมืองเป็นความยุติธรรม เพราะพระพุทธเจ้ากล่าวอยู่เสมอว่า ชาติกำเนิดไม่ว่าจะเป็นวรรณะใด ตระกูลใด มีความเท่าเทียมกัน จะแตกต่างกันก็ที่กรรมของแต่ละบุคคลว่า
จะเป็นกรรมดี หรือกรรมชั่ว คือพระพุทธองค์ทรงเน้นที่ความประพฤติว่า ต้องมีศีลสัตย์
แต่ไม่จำเป็นที่คนตระกูลต่ำ จะเป็นผู้มีกรรมชั่ว ไม่มีศีลสัตย์ และคนตระกูลสูงถึงจะมีความดี
นอกจากว่าจะตีความหมายเป็นว่าตระกูลต่ำ ในที่นี้หมายถึง ความไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่จะได้รับ
มิใช่วรรณะต่ำ หรือไม่มีวรรณะตามความเชื่อของคนอินเดีย

อีกนัยหนึ่ง อาจเป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้านำมาเป็นอุบายในการพยากรณ์ถึงอนาคตของโลก เพราะคำทำนายนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระเจ้าปเสนทิโกศล
แต่ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ สัญญลักษณ์ที่ใช้นั้น เป็นไปในลักษณะที่คล้ายกัน
กับการทำนายพระสุบินนิมิตของพระองค์เอง ดังที่ได้บรรยายไว้ข้างต้น
คือเป็นการเปรียบเทียบสิ่งในความฝัน มาเป็นเหตุการณ์จริง ๆ ที่เป็นไปได้ในชีวิตมนุษย์ เช่น
เปรียบต้นไม้ สัตว์ชนิดต่าง ๆ กับคนชนิดต่าง ๆ ของมีค่า ก็แปรความหมายเป็นคนดี มีศีลสัตย์เป็นต้น

แม้ว่าความฝันที่ถือว่า เป็นพุทธทำนาย ฝัน ๒ ครั้งนี้จะแตกต่างกันแบบตรงข้าม คือ
พระสุบินของพระพุทธเจ้าถือว่า มีลักษณะเป็นกุศล แต่ของพระเจ้าปเสนทิโกศลมีลักษณะเป็นอกุศล แต่วิธีการใช้สัญญลักษณ์นั้นเป็นแบบเดียวกัน เข้าใจได้ง่าย

อย่างไรก็ตามในส่วนที่เป็นการทำนายฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลนี้
ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก มีแต่ในอรรถกถาจารย์
ดังนั้น อาจเป็นไปได้ที่ว่า คงไม่ใช่พุทธทำนายที่แท้จริง ดังที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงคัดค้านเรื่องวรรณะ ซึ่งไม่น่าที่จะมาเห็นความแตกต่างในเรื่องชาติตระกูล


อีกประการหนึ่ง พระพุทธเจ้ามิได้ให้ความสำคัญกับความฝัน เพราะถือว่าจะชั่วดีอยู่ที่ความประพฤติ
ความฝันเป็นเรื่องของคนที่มีกิเลส เพราะฉะนั้น คนมีกิเลสเท่านั้นที่ฝัน พุทธดำรัสในมงคลชาดกมีว่า

“ ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว
ผู้นั้นชื่อว่า ล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว
ครอบงำกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพที่เป็นคูกั้น ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก “


จากพุทธพจน์นี้ จะเห็นได้ว่า การยึดถือในเรื่องของความฝันนั้น เป็นอุปสรรคต่อการพ้นทุกข์
แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธความฝันได้ เพราะความฝันเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในหมู่มนุษย์ที่ยังข้องอยู่ในกิเลส

ความฝันยังมีความสำคัญคือ ทำให้ทราบอนาคต ถ้าฝันนั้นมาจากสาเหตุข้อบุพพนิมิต
เพราะเป็นการทำงานของจิต มีผู้กล่าวว่า

“ พระพุทธศาสนา (อภิธรรม) ยืนยันไว้นานแล้วว่า จิตสามารถรับอารมณ์ทางมโนทวารได้
ทั้งอารมณ์ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน “

หมายความว่า แม้เหตุการณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต จิตก็อาจรับรู้ได้ทางมโนทวาร
ความฝันยังคงเป็นที่สนใจของพุทธศาสนิกอยู่มาก

และด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ความฝันตลอดจนการทำนายฝัน
ที่ปรากฏในคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา เท่าที่ค้นพบ ก็มีเพียง ๒ แห่ง คือ
การทำนายพระสุบินนิมิตของพระพุทธเจ้าเอง และของพระเจ้าปเสนทิโกศลดังกล่าว

ทำให้ไม่อาจยึดถือเป็นแบบแผนในการทำนายฝันได้ ตำราทำนายฝันนั้นมีมากมาย แต่ที่พอจะยึดถือเป็นมาตรฐานเดียวกันคือ การพิจารณาสาเหตุของความฝัน และช่วงเวลาของความฝัน
เรื่องช่วงเวลาของความฝันเป็นความเชื่อของคนไทยว่า ถ้าฝันยามสาม คือใกล้รุ่ง (ช่วงเดียวกับพระสุบินของพระพุทธเจ้า) มักจะเป็นฝันที่มีสาระ แม่นยำ

๓.๑๑ สุบินปัญหาใน มิลินทปัญหา ว่าด้วยความฝันและเหตุให้ฝัน
พระยามิลินท์ ตรัสถามปัญหาพระนาคเสน เรื่องความฝัน
พระนาคเสนตอบว่า ความฝันนี้คือ นิมิตเข้าถึงคลองแห่งจิต ลักษณะของคน ๖ จำพวกนี้ ย่อมเห็นนิมิตเป็นความฝันได้ คือ
๑. วาติโก คือ บุคคลอันมีวาโยธาตุกำเริบ ฝันไป
๒. ปิตฺตโก คือ บุคคลมีดีกำเริบ ฝันไป
๓. เสมฺมิโก คือ บุคคลมีเสมหะกำเริบ ฝันไป
๔. สนฺนิปาติโก คือ บุคคลเป็นโรคสันนิบาต ฝันไป
๕. เทวตูปสํหรโก คือ เทวดาผีสางเข้าฝัน
๖. ปุพฺพจิณฺณเนมิตฺตโก สิ่งที่เคยสะสมคือ บุญบาปที่กระทำไว้แต่ก่อนเป็นนิมิตในฝันชื่อว่า บุพพนิมิต
และถ้าฝันด้วยเหตุนี้ “สจฺโจ” คือ แน่ด้วยเหตุอื่นไม่แน่ หมายความว่า สิ่งที่เคยประพฤติ คือบาปบุญที่ทำไว้ในปางก่อนมาปรากฏให้เป็นนิมิตเท่านั้น เป็นของจริงเสมอไป นอกนั้นไม่จริง

พระนาคเสนกล่าวอีกว่า จิตไม่สามารถจะแต่งนิมิต (แบบบุพพนิมิต) ขึ้นมาได้ นิมิตนั้นออกมาเกิดในภวังค์จิต จึงฝันไป และจิตที่ฝันนั้นไม่รู้ลักษณะว่า จะดีหรือร้าย ต้องอาศัยการทำนาย
บุคคลนั้นฝันเมื่อใด พระนาคเสนตอบว่า บุคคลนอนหลับก็ไม่ฝัน ตื่นอยู่ก็ไม่ฝัน “เอตฺถนฺตเร” ในระหว่างนั้นคือ
ตื่นและใกล้หลับต่อกัน จึงฝัน เพราะคนที่มีจิตหลับนั้น จิตถึงภวังค์ ไม่ได้กลับ ไม่กลับมา
ในขณะนั้น จะไม่รู้สึกว่าสุขหรือทุกข์ จึงสรุปได้ว่า คนหลับกับคนที่เข้านิโรธ จิตไม่หวั่นไหว จึงไม่ฝัน

ส่วนคนที่ตื่น จิตขุ่นมัวหวั่นไหว ไม่เป็นปกติ นิมิตจึงปรากฏขณะตื่นไม่ได้ กล่าวคือ พระนาคเสน
แบ่งลักษณะของการหลับออกเป็น ๓ อย่าง ได้แก่
๑. หลับเป็นอาทิ หมายถึง ลักษณะการหลับที่เกียจคร้านกระทำการงาน กายนั้นเป็นทุพพลภาพ
อ่อนไป ง่วงไป ประกอบการงานไม่ได้
๒. หลับเป็นมัชฌิม หมายถึง หลับเป็นท่ามกลาง คือหลับไม่สนิท เป็นดุจวานรหลับ
๓. หลับเป็นปริโยสาน หมายถึง จิตลงสู่ภวังค์ลึกที่สุด หลับสนิท

ช่วงที่จะฝันคือ หลับเป็นมัฌชิม

By: คุณศศิวรรณ กำลังสินเสริม

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  39_L.jpg   93.64K   168 ดาวน์โหลด


#2 xlmen

xlmen
  • Members
  • 978 โพสต์

โพสต์เมื่อ 14 April 2006 - 06:43 PM

QUOTE
ในเวลาที่มนุษย์ มีอายุน้อย สัตว์โลกทั้งหลาย จักมีกิเลสราคะกล้าแข็ง นางกุมารีรุ่นที่มีวัยยังไม่สมบูรณ์
จักคบชู้สู่หาสมาคมกับบุรุษ จักมีระดูและมีครรภ์ จักเจริญด้วยบุตรธิดามากมาย

ปัจจุบันเหตุการณ์แบบนี้ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในยุคนี้แหละครับ

QUOTE
ต่อไปภายหน้า หญิงทั้งหลาย จะประพฤติโลเลเหลาะแหละในชาย และลุ่มหลงในการเสพสุรา ตั้งหน้าซื้อหาเครื่องประดับประดาตกแต่งตน พากันไปเที่ยวในเวลาค่ำคืน ประพฤติเสียหาย ประดับร่างกายเสียหรูหรา นั่งดื่มสุรากับชายชู้ ไม่ค่อยดูกิจการน้อยใหญ่ในเรือนตน จักไปหาชายชู้โดยข้ามรั้วบ้านบ้าง โดยช่องทางต่าง ๆ บ้าง จักพากันแย่งใช้ทรัพย์สมบัติ ที่สามีหามาได้ด้วยการทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ รวมเอาไว้ด้วยความยากลำบาก เหมือนนางสุนัขจิ้งจอกหิว ซึ่งนอนอยู่ภายใต้ตั่ง กัดกินเชือกที่บุรุษฟั่นแล้ว ๆ หย่อนลงทางปลายเท้าฉะนั้น

ข้อนี้ก็ได้บังเกิดแล้วในปัจจุบันนี้เยอะแยะมากมายครับ ผู้หญิงจำนวนมากนิยมการแต่งกายโป๊ นิยมการเที่ยวกลางคืน การล่าหากิ๊กเล่นชู้ ค้าบริการทางเพศ ถ้าจะให้คะแนนความเป้นกุลสตรีเทียบกับหญิงในยุคอดีตแล้วถ้าคะแนนความเป็นกุลสตรีมี 100 คะแนน หญิงยุคใหม่ก็น่าจะเหลือคะแนนซํก 20-30 ก็ถือว่าบุญแล้ว ถ้าเรียบร้อยจริงๆ ก็น่าจะแค่คาบเส้นที่ 50-60 เท่านั้นแหละครับ อ้อถ้าไม่เปรี้ยวเข็ดฟันอย่าร้อนตัวนะครับ หุหุหุ

QUOTE
ตุ่มใหญ่ใบหนึ่ง มีน้ำเต็ม (ตั้งอยู่ตรงกลาง) มีตุ่มเปล่าอีกเป็นจำนวนมาก

ข้อนี้ก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน คือ คนรวยก็จะยิ่งรวยยิ่งๆ ขึ้นไป ส่วนคนจนก็จะต้องใช้หนี้กันไม่ลืมหูลืมตาเลยทีเดียว เช่น หนี้มือถือ หนี้ผ่อนค่าเช่าร้าน ค่าเช่าบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนสารพัดผ่อน

QUOTE
ในอนาคตกาลโน้น ในเมื่อศาสนาของตถาคตเสื่อมลง ต่อไปภายหน้า ภิกษุอลัชชีทั้งหลาย ไม่มีความละอายแก่บาป มุ่งแต่จะได้ปัจจัยลาภ จักมีจำนวนมาก ภิกษุอลัชชีเหล่านั้น จักแสดงธรรมที่ตถาคตแสดงไว้ ทำให้มีค่าสูงสุดคือ พระนิพพาน เพื่อประโยชน์แก่ปัจจัยสี่ ดุจเอาแก่นจันทน์ อันมีค่าตั้งแสน มาขายแลกกับเปรียงเน่าฉะนั้น

ข้อนี้ก็มีบังเกิดขึ้นแล้วในยุคปัจจุบันนี้ เห็นแล้วก็ธรรมะสังเวชแท้ครับ



หยุดเหมือนรถเบรค นิ่งเหมือนน้ำในโอ่งที่ปราศจากลม แน่นเหมือนหลักที่ปักลงในเลน
ไม่สั่นคลอน ใสเหมือนน้ำที่ปราศจากตะกอน

#3 ป่าน072

ป่าน072
  • Members
  • 371 โพสต์
  • Location:โคราช
  • Interests:การศึกษาต่อในวิชา วิทยาศาสตร์<br />วิศวะปิโตรเคมี

โพสต์เมื่อ 22 August 2006 - 04:45 PM

จะมีตอนที่ 10 อีกมั๊ยค่ะ
จะคอยดูนะคะ
เมื่อดวงตาปิดสนิมอย่างละมุน
ไม่มีลุ้นเร่งจองมองที่หมาย
ก็จะพบผู้รู้อยู่กลางกาย
ธาตุอ่อนแก่มากมายถึงปลายทาง