พระมาลกติสสะอรหันต์
เมื่อเอ่ยถึงชื่อ”ป้าหวิล” พวกเราทุกคนย่อมรู้จักกันเป็นอย่างดีว่าบุคคลผู้นั้นคือ คุณป้าอุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล ผู้ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรกที่ร่วมก่อสร้างวัดพระธรรมกายแห่งนี้ ให้พวกเราได้มีสถานที่สำหรับประพฤติปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมณกิจของพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิการวมทั้งสาธุชนทั้งหลาย ขณะที่ผู้เขียนได้เขียนเรื่องพระมาลกติสสะนี้ คุณป้าถวิลของพวกเรากำลังป่วยหนักมาก แม้ผู้เขียนจะรู้จักคุณป้าเพียง ๒ ปีกว่า ผู้เขียนก็รู้สึกสำนึกในพระคุณของคุณป้าที่เคยได้อบรมสั่งสอนตักเตือนให้ระมัดระวังงานเขียนอยู่เสมอ เมื่อครั้งที่คุณป้าถวิลป่วยและเข้าพักรักษาตัวอยู่ที่สถานพยาบาลของวัด ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมและปรารภกับคุณป้าถวิลว่าจะเขียนเรื่องสั้น ทั้งที่ขณะนั้นคุณป้ากำลังนอนอยู่บนเตียงและสวดมนต์ทำวัตรเย็นไปด้วย ท่านร้องห้ามเสียงหลงว่า “อย่าเขียนเรื่องสั้นนะลูกนะ มันไม่คุ้มกัน เพราะมันมักจะมีเรื่องหลอกลวงให้หลงงมงายอยู่ด้วย เท่ากับเราไปหลอกลวงคนอื่นให้หลงผิด มันจะทำให้เราผิดศีล นรกนั้นน่ากลัวมากมันไม่คุ้มกันระวังไว้ให้ดีนะลูกนะ ป้าขอร้องนะลูก อย่าเขียนเลย” ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาผู้เขียนก็ทำตามคำที่คุณป้าถวิลได้ขอร้อง และนึกขอบพระคุณท่านอยู่ในใจเสมอมา หากแต่ยังไม่ได้บอกขอบคุณท่านด้วยวาจา โอกาสนี้ผู้เขียนก็ขอใช้คอลัมส์ของดีจากพระคัมภีร์นี้เป็นสื่อเพื่อขอขอบคุณและขออนุโมทนาบุญกับคุณป้าสถวิลด้วยความเคารพยิ่ง
เรื่องพระอรหันต์มาลกติสสะนี้ ได้คัดย่อมาจาก หนังสือ วิมุตติรัตนมาลี ซึ่งเขียนโดย พระพรหมโมลี กรรมการเถรสมาคมในปัจจุบัน เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมไทย ชั้นที่ ๑ ประเภท ร้อยแก้ว ของธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด ประจำปี ๒๕๑๕ มีความย่อดังต่อไปนี้
ในสมัยพุทธกาล ยังมีบุรุษหนุ่มผู้หนึ่งซึ่งในอดีตชาติเคยตั้งความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ในสาวก
บารมีญาน แต่ด้วยความไม่เที่ยงแท้ในวัฏสงสาร ในชาตินี้เขาจึงได้มาเกิดในตระกูลพรานไพร ณ โรหนชนบทครั้นเมื่อเติบใหญ่ก็มีอาชีพเจริญรอยตามตระกูลของตน วันหนึ่ง เจ้าพรานไพรใจ####มต้องการเดินทางเข้าป่าเพื่อล่าเนื้อสัตว์ เพื่อเอาไว้เป็นอาหารที่เหลือกะเอาไว้เร่ขายเพื่อเอาเงินมาเลี้ยงดูบุตรและภรรยา บังเอิญให้เดินทางลึกไปไกลเกินกว่าที่ตนเคยไป จนเที่ยวไล่ฆ่าเก้ง กวาง จนเป็นที่พอแก่ความต้องการแล้วจึงหาบกลับบ้าน ครั้นพอหิวขึ้นมาก็ถลกหนังเนื้อนั้นนำไปย่างกินจนอิ่มหนำสำราญ แล้วก็เที่ยวล่าสัตว์ต่อไป เวลาบ่ายร้อนจัดเกิดกระหายน้ำขึ้นมา จึงแวะไปที่วัดป่าแห่งหนึ่งนามว่า คเมณฑวาสีมหาวิหาร แลเห็นหม้อน้ำตั้งเรียงรายกันประมาณ ๑๐ หม้อ อารามที่กำลังกระหายก็ให้ดีใจนัก หมายใจว่าจักดื่มกินน้ำเสียให้เต็มอิ่มจึงตรงรี่เข้าไปแล้วเปิดหม้อน้ำทันใด ปรากฏหม้อแห้งผากไม่มีน้ำแม้แต่หยดเดียว จึงเปิดหม้อต่อๆไป ทุกหม้อล้วนแต่ว่างเปล่าไม่มีน้ำให้เห็นเลย เจ้าพรานใจโหดจึงตะโกนขึ้นด้วยความโมโหโกรธายิ่งนักว่า
"เว้ย...! เฮ้ย...พระสมณหัวโล้น ใครอยู่ที่นี่บ้างช่างเกียจคร้านกันเสียเต็มประดา บริโภคอาหารของชาวบ้านแล้วพากันหลับนอนสบายใจ อยู่กันมากมายก่ายกองเต็มวัดเต็มวา ดูรึ ! ปล่อยให้น้ำท่าแห้งตุ่มจะตักน้ำใส่ตุ่มไว้บ้างก็ไม่มีปัญญาทำกัน ช่างกระไร จึงพากันชั่วชาติเห็นปานนี้”
ขณะนั้นพระมหาปิณฑติกติสสเถรเจ้า ซึ่งเป็นอธิบดีสงฆ์ในมหาวิหารนั้นท่านกำลังพักผ่อนหลบความร้อนอยู่ภายยในกุฏีที่อาศัย หาได้หลับไหลตามที่เจ้าพรานใจบาปว่าเอาเองก็หาไม่ พอได้ยินเสียงตะโกนกร่นด่าดังนั้นก็ให้รู้สึกแปลกใจเป็นยิ่งนัก เพราะเมื่อสักครู่ท่านก็เห็นพระภิกษุสามเณรพากันหาบน้ำมาใส่ตุ่มจนเต็มทุกหม้อ เหตุไฉนเจ้าพรานป่าจึงได้ว่าเช่นนั้น พลางลุกขึ้นดูแล้วพลางชี้มือแล้วกล่าวเชื้อเชิญว่า
“นี่อย่างไรเล่าน้ำ...เชิญเจ้าดื่มให้เย็นใจเถิด”
“น้ำท่าที่ไหนกัน ชี้มือส่งเดชไปได้ ไม่เห็นมีน้ำสักหน่อยจะให้ดื่มอะไร” เจ้าพรานป่าสวนทันควัน
“เอ๊ะ..! เจ้านี่อย่างไรกัน ก็น้ำมีออกเต็มปรี่ทุกหม้อ เจ้าเป็นคนตาบอดหรือไรเล่า...จึงได้มองไม่เห็นน้ำ”
“พระสมณ..ท่านจะมาโกหกเราเพื่อเอาประโยชน์อะไร ไม่มีน้ำแท้ ๆ แต่กลับมาบอกว่ามี ตัวเป็นสมณแท้ๆ กลับมาพูดโกหกเอาซึ่ง ๆ หน้า ประพฤติอย่างนี้ไม่ดีรู้ไหมเล่า”
พระมหาปิณฑปาติกติสสเถรเจ้าได้ฟังดังนั้น ก็พิจารณาดูสกลกายอันพะรุงพะรังของมันตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า ท่านก็ทราบทันทีว่าเป็นอกุศลกรรมที่ทำให้เจ้าพรานป่าผู้มีความกระหายน้ำเป็นหนักหนามองไม่เห็นน้ำซึ่งมีอยู่เต็มทุกหม้อ จึงได้ไถ่ถามประวัติความเป็นมาของมันว่า
“เจ้าเป็นใคร มาที่นี่ทำไม ? ”
“ข้าพเจ้าเป็นคนธรรมดา เคหสถานบ้านเกิดกอยู่ที่โรหนชนบท มีอาชีพเป็นพรานไพร วันนี้ฆ่าสัตว์ได้มากมายตั้งใจว่าจะกลับบ้าน แต่เกิดกระหายน้ำจนคอแห้งผาก จึงบุกบั่นมาถึงที่นี่ แล้วก็ได้พบกับท่านซึ่งเป็นคนโกหกพอดี”
“อ้อ...! อย่างนี้นี่เล่า เราเป็นสมณะจะมาโกหกเจ้าให้ศีลของเราวิบัติทำไม อันที่จริงน้ำใสเย็นเพิ่ง
ตักมาจากลำธารมีอยู่เต็มปรี่ทุกหม้อ แต่การที่เจ้าไม่เห็น เป็นเพราะอะไรเจ้ารู้หรือไม่เล่า มิใช่อื่นไกล เป็นเพราะอกุศลกรรมในบาปอันหยาบช้าของเจ้าเอง ซึ่งเกิดจากการที่เจ้าฆ่าสัตว์มามากมายนั่นเองบันดาลให้เป็นไป รู้ตัวหรือไม่เล่าว่า บัดนี้ เจ้าน่ะกลายเป็นสัตว์เปรตไปเสียแล้ว เป็นเปรตทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตเป็นคนอยู่เราจะพิสูจน์ให้ดูว่าน้ำในหม้อเล่านี้มีหรือไม่มี” ว่าดังนี้แล้วพระเถรเจ้าก็ตักน้ำจากหม้อมาราดลงที่มือและเท้าของเขาทันที
“เกล้ากระผมเชื่อแล้วว่ามีน้ำในตุ่มจริง ข้าแต่พระคุณเจ้า..! ขอได้โปรดอนุเคราะห์ให้เกล้ากระผมผู้กำลังกระหายได้ดื่มน้ำนี้ด้วยเถิด เจ้าข้า “
เมื่อพระมหาเถรเจ้าได้ฟังดังนั้นก็ตักน้ำส่งให้เจ้าคนบาปนั้นดื่ม จนพอแก่ความต้องการแล้วจึงให้โอวาทว่า
“ดูกรเจ้าผู้มีบาปหนา ! เจ้าสำนึกตัวแล้วหรือยังว่าบาปกรรมที่เจ้าทำไว้นั้น มีโทษมหันต์ทารุณร้ายกาจอย่างไร ในชาตินี้ยังสามารถบันดาลให้เจ้ามีสภาพเป็นเหมือนเปรตอสุรกายทันตาเห็นเป็นที่ประจักษ์เช่นนี้ ในชาติต่อไป บาปกรรมนั้นจักพลันให้วิบากอันทารุณร้ายกาจเพียงใด เจ้าจงตรองดูให้ดีเถิด
พรานป่าเมื่อได้ฟังโอวาทของพระมหาเถระว่าดังนั้น ก็พลันได้สติสำนึกว่า
“เพียงภพนี้ยังได้รับผลแห่งอกุศลกรรมปานนี้ สืบไปในอนาคตโลกหน้าเล่าคงจักได้ผลทารุณร้ายกาจสุดที่จักนับประมาณได้”
เมื่อคิดได้เช่นนั้นแล้วก็ยกมือไหว้พระมหาเถระรีบเดินทางกลับบ้าน แจ้งความประสงค์แกภรรยาและบุตรว่าจักขอลาไปบวช แล้วขนเอาเครื่องมือที่ใช้เพื่อการล่าสัตว์ไปเผาทิ้งเสียจนสิ้น แล้วรีบเดินทางกลับไปสู่คเมณฑวาสีมหาวิหาร ขอเข้าพบท่านพระมหาปิณฑปาติกติสสเถรเจ้าผู้ห้สติแก่ตนและขอบรรพชาอุสมบท
และให้นามว่า “พระมาลกติสสะ” เมื่อบวชเรียนใหม่ก็มีความตั้งใจเล่าเรียนศึกษาพระพุทธวจนะเป็นอย่างดี วันหนึ่งเมื่อพระอุปัชฌาย์สอนถึงพระบาลีเทวทูตสูตร ตอนที่มีข้อความว่า
ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! นายนิรยบาลทั้งหลาย ย่อมพากันจับสัตว์นรกซึ่งมีกรรมอันเป็นบาปหยาบช้าลามกนั้นโยนทุ่มลงไปในมหานรกอีกครั้งหนึ่ง
พระมาลกติสสะ ก็ให้มีใจหวาดหวั่นเป็นยิ่งนัก จึงกราบเรียนท่านพระอุปัชฌาย์ขึ้นกลางคันว่า
“ข้าแต่พระเดชพระคุณ ! อกุศลกรรมให้โทษทุกข์ถึงเพียงนี้ทีเดียวหรือ อโห...มหานรกนี้เป็นแดนชั่วร้ายที่มีภัยร้ายกาจน่าเกรงกลัวนัก อะไรก็ไม่น่ากลัวเท่ากับการที่จะต้องถูกไฟในมหานรกนั้นแผดเผาอยู่เนืองนิตย์กายแลจิตของสัตว์นรกเหล่านั้นคงได้รับความเร่าร้อนกระสับกระส่ายอย่างมากมายบอกไม่ถูกทีเดียว ว่าแต่มหานรกมีไฟอันร้ายแรงเช่นนั้นจริงหรือ หากมีจริงแล้วทำไมจึงไม่มีใครเคยเห็นเล่าท่านพระอาจารย์”
“เอ๊ะ..ทำไมท่านจึงคิดเช่นนั้น พระบาลีซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์แห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเรา สิ่งนั้นย่อมมีปรากฏอยู่จริง ถ้าเธออยากรู้อยากเห็นจะเป็นไรไปเล่า เธอจงไปเรนียกสามเณรทั้งหลายให้ช่วยกันหากิ่งไม้ในป่า แล้วเอามาสุมกองไว้บนหินดาดกองใหญ่ ได้กิ่งไม้สด ๆ ทั้งหมดยิ่งดี อย่าช้า ประเดี๋ยวเธอจะได้รู้ว่ามหานรกและไฟอันร้ายแรงในมหานรกนั้นมีหรือไม่มี”
เมื่อถูกพระอุปัชฌาย์ที่เคารพรุกรานเอาเช่นนี้ พระมาลกติสสะก็ให้มีจิตคิดหวาดเกรงและเสียใจ รีบลุกขึ้นกราบลาไปทำตามคำสั่งทันทีเมื่อเสร็จแล้วก็เข้าไปกราบเรียนพระอาจารย์ท่านพระมาหปิณฑปาติกติสสะองค์อรหันต์ผู้ทรงฌานอภิญญา ก็เดินมุ่งหน้าไปที่กองไม้ใหญ่นั้นและนั่งลงใกล้ ๆ แล้วเข้าฌานอภิญญา สำรวมจิตให้แผ่นปฐพีบันดาลแยกออกเป็นสองภาค ปรากฏเป็นช่องลึกลงไปจนถึงที่ตั้งมหานรกขุมใหญ่ สมารถแลเห็นสภาพแห่งมหานรกนั้นโดยชัดเจน แล้วท่านก็ยื่นมือลงไปหยิบเอาไฟในมหานรกขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ประมาณเท่าแสงหิ่งห้อยด้วยกำลังแห่งอริยฤทธิ์ แล้วก็ทิ้งลงไปบนกองไม้สดนั้นพลันเปลวเพลิงก็ติดกองไม้สดและลุกโชติช่วงอย่างรวดเร็ว ประดุจว่ากองไม้ซึ่งสออยู่นั้นเป็นไม้แห้งกรอบอันเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี บัดเดี๋ยวกองไม้ใหญ่นั้นก็ไหม้ยับด้วยอานุภาพแห่งไฟมหานรกซึ่งมีเพียงเท่าแสงหิ่งห้อย เหตุการณ์นี้นำความอัศจรรย์ใจมาให้แก่สามเณรน้อยใหญ่และพระมาลกติสสะอดีตพรานไพร ซึ่งพากันยืนห้อมล้อมดูอยู่ในที่นั่นเป็นอันมาก
“เห็นแล้วหรือยังว่าไฟนรกนี้น่ากลัวร้ายกาจเพียงใด จงเร่งบำเพ็ญสมณธรรมซึ่งเป็นธุระในบวรพระพุทธศาสนาให้เต็มที่เถิด ผู้ที่บำเพ็ญธุระในพระบวรพุทธศาสนาจนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถปิดกั้นประตูมหานรกได้ คือว่าเมื่อตายไปแล้วย่อมไม่เกิดในมหานรกเช่นที่พวกเธอเห็นเมื่อสักครู่”
“ธุระในพระพุทธศาสนานี้มีเท่าไร ขอพระเดชพระคุณโปรดแจ้งให้ทราบโดยไวเถิด เกล้ากระผมยินดีจะปฏิบัติ แม้ยากลำบากแสนสาหัสเพียงใดก็จักไม่ท้อถอยเลย” พระมาลกติสสะผู้ซึ่งเคยทำบาปเอาไว้มาก เรียนถามด้วยความกลัวภัยนรกเป็นหนักหนา
“ธุระในพระศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้มีอยู่ ๒ ประการคือ
๑.คันถธุระ ได้แก่การเล่าเรียนศึกษาพระบาลีพุทธวจนะ
๒.วาสธุระ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวิปัสสนาธุระ ได้แก่การบำเพ็ญภาวนาวิปัสสนา
กรรมฐาน
คันถธุระเป็นธุระขั้นบุรพภาคเบื้องต้น ไม่สามารถนำตนให้พ้นจากมหานรกได้ตลอดไป ส่วนวิปัสสนาธุระนั้นไซร้ หากพยายามปฏิบัติจนได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลเพียงชั้นต้นกล่าวคือด้สำเร็จด้ำพระโสดาบันอริยบุคคลเท่านั้น ก็สมารถที่จะปิดกั้นประตูจตุราบายตายไปแล้วไม่เกิดในมหานรกอันน่ากลัวอีกต่อไป”
เมื่อฟังดังนั้น พระมาลกติสสะผู้เกรงกลัวในภัยของมหานรกจึงได้ตัดสินใจและกราบเรียนพระอุปัชฌาย์อาจารย์ว่า
“เกล้ากระผมขอปฏิบัติวิปัสสนาเถิด” ตั้งแต่วันรับพระกรรมฐานจากท่านพระอุปัชฌาย์เป็นต้นมา พระมาลกติสสะก็ตั้งใจบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอย่างไม่ย่อท้อ เริ่มแรกที่ท่านทำกรรมฐาน บรรดาเนื้อสุกรและสัตว์ต่าง ๆ ที่เคยฆ่า ก็พลันมาปรากฏให้เห็นเป็นนิมิตรแห่งอกุศลกรรมที่ทำไว้ ท่านก็พยายามอดทนปฏิบัติไปตามที่องค์อรหันต์พระอุปัชฌาย์สอนจนในที่สุดนิมิตรร้ายทั้งหลายก็ค่อยเลือนหายไป เมื่อท่านบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอยู่เป็นเวลานานอย่างไม่ย่อท้อ ท่านก็มีอาการง่วงซึมอยู่ตลอดเวลา แต่ท่านก็ไม่ยอมทนปฏิบัติธรรมต่อไปอย่างไม่คิดชีวิต เพราะมหานรกมาเตือนให้คอยหวาดกลัวอยู่เสมอ เมื่อความง่อวงเข้าครอบงำจิตท่านอีกครั้งท่านก็พลันสะดุ้งลุกขึ้นโดยไม่รอช้า คว้าผ้าผืนเก่าผืนหนึ่งใกล้มือมาถือไว้ รีบเดินมุ่งหน้าไปยังลำธาร เอาผ้าผืนนั้นชุบน้ำจนเปียก ชุ่มแล้ววางไว้บนศรีษะทรุดกายนั่งลงตรงนั้น และหย่อนเท้าลงไปในลำธาร ไม่คำนึงถึงสภาพอันหนาวเย็น ทั้งที่ในขณะนั้นเป็นฤดูหนาว แต่ก็ตั้งหน้ากำหนดในบทพระกรรมฐานต่อไป ในที่สุดท่านก็เอาชนะความง่วงจนใกล้รุ่งท่านก็ได้บรรลุพระอนาคามีผลสำเร็จเป็นพระอานาคามีอริยบุคคลในบวรพระพุทธศาสนา แล้วจึงลุกขึ้นเดินจงกรมไปมา ในไม่ช้าก็พลันได้บรรลุพระอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกับพระปฏิสัมภิทาญาณ สมตามมโนปณิธานที่ตั้งใจแต่ปางบรรพ์
ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญวิปัสสนาสร้างบุญบารมีเท่านั้น จึงจะเป็นทางสายเดียวที่ช่วยให้เราได้หลุดพ้นจากขุมนรกทั้งหลายได้ หากแม้เราไม่ช่วยตัวเองแล้ว เมื่อถึงยามที่ต้องละจากโลกนี้ในคราที่จะต้องทกศึกชิงภพ จะมีใครที่ไหนที่จะมาช่วยเราได้นอกจากตัวของเราเองดังคำว่า
อัตตาหิ อัตาโน นาโถ “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”
กาญจน์มุนี (Roytavan)