ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

สุขที่สัตว์ปรารถนาจะพึงได้ ตอนที่ ๒


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 3 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 LiL' Faery

LiL' Faery
  • Members
  • 1160 โพสต์
  • Location:@ Time : Europe
  • Interests:Basic and Advance Meditation;วิชชา ธรรมกาย<br />Birth Day : 19 January

โพสต์เมื่อ 29 January 2006 - 05:46 AM

I really like this one...please enjoy the Dhamma kah ^_^

พระธรรมเทศนา เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2497

" เมื่อรู้จักหลักอันนี้แล้วก็ค่อยๆ เดินเป็นลำดับขึ้นไป ตั้งต้นแต่กายมนุษย์ นี่วัดปากน้ำทำกันอยู่แล้ว ทำอยู่แล้วถึงนิพพานมากมายแล้ว ไม่ต้องเข้าใจเป็นอย่างอื่นไป ตั้งหน้าตั้งตาทำทีเดียว เมื่อมาเป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาแล้ว ทำให้เรียบร้อยแล้ว เรียกว่า ใจ เราทำทีเดียว เรียกว่าเราทำทีเดียว ต้องทำใจให้หยุด เมื่อถึงเวลาให้ทานเราก็ให้ทานตามกาลสมัย ให้ศีลบริสุทธิ์ไว้ แล้วก็เจริญภาวนาเสมออย่าให้คลาดเคลื่อน ทำใจให้หยุดเจริญภาวนาทำใจให้หยุด พอใจหยุดเท่านั้น เข้าถึงทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ใจหยุดนั่นแหละจะพบพระบรมศาสดา

หยุดตรงไหน ที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดตรงนั้น พอหยุดได้แล้วละก็ พอหยุดเท่านั้นแหละ สมกับบาลีว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากนิ่งไม่มี นี่เจอสุขแท้แล้วนี่นะ สุขจริงตรงนี้นะ เจอสุขแล้ว เจอที่สุขแล้ว เมื่อเจอสุขสูงสุดอย่างนี้ละก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาทีเดียว ทำใจให้หยุดนิ่ง หยุดทีเดียว หยุดหนักเข้าอย่าถอยหลังกลับ หยุดในหยุดหนักเข้าอย่าถอยหลังกลับ ผู้เทศน์ได้สั่งสอนกันแล้วให้หยุดอย่างนี้ หยุดไม่ถอย กลับยี่สิบสามปีแล้ว ยี่สิบสามปีสองเดือนเศษแล้ว หยุดในหยุดไม่ถอยหลังกลับกันเลย ยังไม่ได้ถอยกลับกันเลย ได้พบแล้วสุขอันไพศาลเหลือประมาณมากมาย เล่าไม่ถูกพูดไม่ออกบอกไม่ได้ทีเดียว ด้วยเหตุฉะนั้น ผู้ที่อยู่ทีหลัง ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เมื่อต้องการความสุขแล้ว ก็ต้องทำใจให้หยุด นั่นแหละเป็นตัวสุข เป็นตัวสุขแท้ๆ สิ่งอื่นสุขไม่เท่าไม่ทันทั้งนั้น พอใจหยุดได้ก็เป็นสุขทางภาวนา ภาวนาขั้นสูง เมื่อสุขไปทางภาวนา ทำใจหยุดได้แล้ว ก็จะบรรลุปฐมมรรค ดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะต่อไป จากกายมนุษย์ก็จะถึงกายมนุษย์ละเอียด แล้วก็เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะในกายมนุษย์ละเอียด ละสุขในกายมนุษย์ละเอียดเสีย ก็เข้าถึงกายทิพย์หยาบ นี่สุขเป็นขั้นๆ ขึ้นไป

พอเข้าถึงกายทิพย์หยาบแล้ว ก็เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานในกายทิพย์อีก ถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายทิพย์ละเอียด พอเข้าถึงกายทิพย์ละเอียด เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานในกายทิพย์ละเอียด ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ พอละสุขในกายทิพย์ละเอียดเสีย ก็เข้าถึงกายรูปพรหมให้สูงขึ้นไป

ถึงกายรูปพรหม ก็เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานในกายรูปพรหมอีก เข้าถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะอีก ละสุขในกายรูปพรหมเสีย ก็ถึงกายรูปพรหมละเอียด ใจเข้าถึงให้หยุดอยู่ตามส่วนอีก เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะอีก ละสุขในกายรูปพรหมละเอียดเสีย ก็เข้าถึงกายอรูปพรหมหยาบ

ถึงกายอรูปพรหมหยาบ ก็เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานในอรูปพรหม ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ละสุขในกายอรูปพรหมหยาบเสีย ก็เข้าถึงกายอรูปพรหมละเอียด ใจกายอรูปพรหมละเอียดก็หยุดอยู่ศูนย์กลางตามส่วนอีก เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ละสุขในกายอรูปพรหมละเอียดเสียก็ถึงกายธรรม สุขเกินสุขขึ้นไปอีก สุขเกินสุขหนักขึ้นไปอีก

ใจของกายธรรมหยาบหยุดเข้า ก็ถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ละสุขในกายธรรมหยาบเสีย ก็เข้าถึงกายธรรมละเอียดสุขหนักขึ้นไป ใจของกายธรรมละเอียดก็หยุด ถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ละสุขในกายธรรมละเอียดเสีย ก็เข้าถึงกายธรรมพระโสดาหยาบ ซึ่งเป็นสุขมากกว่า เข้าถึงกายพระโสดาหยาบแล้วสุขหนักขึ้นไป ใจของกายธรรมพระโสดาหยาบก็หยุดอีก เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ในกลางกายนั้น เข้าถึงกายธรรมพระโสดาละเอียด ละกายพระโสดาหยาบเสีย ก็เข้าถึงกายพระโสดาละเอียด สุขหนักขึ้นไป ใจของกายพระโสดาละเอียดก็หยุดอีก ถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ละสุขในกายธรรมพระโสดาละเอียด เพราะสุขน้อยกว่าเสีย ก็เข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคาหยาบ สุขหนักขึ้นไป สุขมากขึ้นไปกว่า

ใจของกายธรรมพระสกทาคาหยาบก็หยุดในกลางของหยุดต่อไปอีก ถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายธรรมพระสกทาคาละเอียด ละสุขในกายธรรมพระสกทาคาหยาบเสียได้ สุขหนักขึ้นไป ใจของกายพระสกทาคาละเอียดก็เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายพระอนาคาหยาบ ละสุขในกายธรรมพระสกทาคาละเอียดเสีย เพราะเป็นสุขน้อยกว่า ก็เข้าถึงกายธรรมพระอนาคาหยาบ สุขมากกว่า ละเอียดกว่า

ใจของกายธรรมพระอนาคาหยาบหยุดก็เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายธรรมพระอนาคาละเอียด ละสุขในกายพระอนาคาหยาบเสีย เพราะสุขน้อยกว่า ก็เข้าถึงกายพระอนาคาละเอียด สุขมากกว่า

ใจของกายธรรมพระอนาคาละเอียดก็หยุดต่อไปอีก เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายธรรมพระอรหัตต์หยาบ ละสุขในกายพระอนาคาละเอียดเสีย ก็เข้าถึงกายธรรมพระอรหัตต์หยาบ สุขมากกว่า นี่เป็นเช่นนี้ เป็นนิรามิสสุข เป็นวิราคธาตุ วิราคธรรม ทีเดียว ใจของกายธรรมพระอรหัตต์หยาบหยุดนิ่งกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระอรหัตต์ ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด ละสุขในกายธรรมพระอรหัตต์หยาบเสีย ก็เข้าถึงสุขในกายธรรมพระอรหัตต์ต์ละเอียด ละสุขในกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียดเสีย ก็เข้าถึงกายธรรมพระอรหัตต์ในพระอรหัตต์ที่ละเอียดๆๆๆๆๆ ต่อๆ ไปอีกนับไม่ถ้วน นี่มันเป็นสุขอย่างนี้ เดินนิพพานนี้ วิปุลํ สุขํ สุขถึงขนาดนี้ ถ้าว่าไม่ละสุขที่น้อยเสีย ก็ไม่ได้สุขใหญ่สมความปรารถนา

ถ้าเมื่อมาเจอกายมนุษย์แล้วมาสุขกับกายมนุษย์ มัวงมอยู่แต่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นแหละ มันก็ได้เท่านั้นจนแก่ตาย เอาดีไม่ได้เลย สุขแค่นั้นเอง นี่มันสุขน้อยอย่างนี้ เพียงนิดเดียวเพราะอะไร เพราะรู้ไม่เท่าทันตัวเอง ไม่ฉลาด รู้ไม่เท่าทันตัวเอง ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ฝึกฝนใจในทางพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ไม่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกฝนใจในธรรมของสัตบุรุษ ความเห็นจึงพิรุธไปเช่นนั้น ถ้าหากว่าฉลาด รู้จักให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้าแม้ว่ายังไม่ได้สูงขึ้นไปก็จะได้สุขในชั้นจาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี เหล่านี้ มันก็เวียนอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ ในกามนั่นเอง มันยังเป็นกาม ไปทางโลกก็สุขนิดหน่อยเท่านี้ ไม่ได้อะไรหละ สุขอยู่ชั่วคราว มนุษย์นี่ก็สุขอยู่ชั่วคราว ประเดี๋ยวเดียว อายุร้อยปีเท่านั้นอย่างมาก หรือน้อยกว่านั้น ก็ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ถ้าเราได้เป็นเทวดาก็สุขตามส่วนขึ้นไป อายุก็ตามส่วนขึ้นไป จะนานหนักเข้า แต่ว่าถึงกระไรก็เถอะ ปรนิมมิตวสวัตตี สุขมากน้อยเท่าใดก็ช่าง สุขประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ไม่มากเท่าใด ไปถึงรูปพรหม ก็สุขเป็นกัลป์ๆ เหมือนกัน เป็นมหากัลป์ถึงอกนิฏฐาภพ ถึงเวหัปผลานั่นแน่ อสัญญีสัตตาโน่น ห้าร้อยมหากัลป์ ถึงห้าร้อยมหากัลป์ ก็สุขนิดเดียวอีกเหมือนกัน ไม่จริง หลอกๆ ไม่จริงหรอก สุขในชั้นเนวสัญญานาสัญญา อกนิฏฐาโน่น สุขสูงขึ้นไป สุขสูงขึ้นไปขนาดนั้นก็ขนาดพันมหากัลป์เท่านั้น ไม่เท่าไรนัก สุขยิ่งขึ้นไป นี่ไม่ใช่สุขในทางนิพพาน มีชั้นสุขสูงสุดอย่างนี้ ถ้าสุขในภพถึง ๘๔๐,๐๐๐ มหากัลป์ในโลก เพราะติดสุขในภพเหล่านี้แหละเรียกว่า ติดสุขน้อย ไม่ใช่สุขใหญ่ สุขใหญ่คือสุขอันไพบูลย์ ให้ละสุขน้อยอันนั้น เมื่อไปถึงแล้ว ก็ไม่ติดสุขหนักขึ้นไป ไม่ถอยเลย ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ สุขทวีขึ้นไปเหล่านี้เลย ไม่มีถอยกลับ นี่ต้องนับว่าวิชชาวัดปากน้ำ วิชชาสมถวิปัสสนา เดินให้ถูกแนวนั้นทีเดียว เข้าถึงธรรมกายให้ได้ เข้าถึงธรรมกายเป็นลำดับไป ยิ่งใหญ่ไพศาลนับประมาณไม่ได้ จะไปพบพระพุทธเจ้า พระนิพพาน พระอรหันต์ ก็จะรู้ตัวทีเดียวว่า อ้อ! เราเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา ได้รู้จักของจริง เห็นของจริงอย่างนี้ ไม่เสียทีที่พ่อแม่อาบน้ำป้อนข้าวมา อุ้มท้องมาไม่หนักเปล่า แม้บุคคลที่จะทูนไว้ด้วยเศียรเกล้าก็ไม่เมื่อยเปล่า ไม่หนักเปล่า ได้ชื่อว่าเป็นคนมีปัญญา ประกอบคุณสมบัติยิ่งใหญ่ไพศาลใส่อาตมาของตนได้ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ที่ได้ชี้แจงแสดงมาในการละสุขน้อยประสบสุขมาก สมมาตรปรารถนา สมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัจที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า สิทธมตฺถุๆๆๆ อิทํ ผลํ เอตสฺมึ รตนตฺตยสฺมึ สมฺปสาทนเจตโส ขอจิตอันผ่องใส ขอจิตอันเลื่อมใสในพระรัตนตรัยนี้ ให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผลสำเร็จๆๆๆ สมมาตรปรารถนาทุกประการ ดังอาตมภาพรับประทานวิสัชนามา พอสมควรแก่เวลา สมมติยุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความก็เพียงแต่เท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

บทขยายความ

เมื่อเราอ่านพระธรรมเทศนาจบ เราก็พบว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำได้ชี้ให้เห็นว่า ความสุขของมนุษยโลก เทวาโลก พรหมโลก สามารถแบ่งออกได้ ๓ ระดับ ได้แก่ สุขเล็กน้อย สุขปานกลาง และสุขอันไพบูลย์ แต่ว่าสุขทั้ง ๓ ระดับของมนุษยโลก เทวาโลก พรหมโลกคืออะไร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร นี้คือประเด็นที่เราจะมาดูกัน

โดยเราสามารถทำความเข้าใจเป็นขั้นๆ จากง่ายไปหายากได้ดังนี้

๑. คนเราประกอบขึ้นมาจากกายกับใจ
๒. ใจทำหน้าที่อะไร
๓. ความสุขและทุกข์เกิดจากการทำหน้าที่ของใจอย่างไร
๔. สุขเล็กน้อย ปานกลาง ของมนุษย์ เทวดา พรหม คืออะไร มีคุณและโทษอย่างไร และทำอย่างไรจึงเกิดขึ้น
๕. สุขอันไพบูลย์ของมนุษย์ เทวดา พรหม คืออะไร มีคุณแต่สถานเดียวอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเกิดขึ้น

๑. คนเราประกอบขึ้นมาจากกายกับใจ

เนื่องจากคนเรานั้นประกอบขึ้นมาจากส่วนหลัก ๒ ส่วน คือกายกับใจ โดยอาศัยธาตุทั้ง ๖ ประกอบกันขึ้นมาอย่างนี้

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และอากาศธาตุ ทั้ง ๕ ธาตุนี้ รวมกันเป็นร่างกายขึ้นมา แต่ว่าแม้ ๕ ธาตุนี้จะรวมตัวกันอย่างดีแล้ว ก็เป็นได้แต่ร่างกายเปล่าๆ จะยังไม่มีชีวิตจิตใจขึ้นมา เป็นเหมือนกับซากศพหรือท่อนไม้เท่านั้น จำเป็นต้องมีธาตุที่ ๖ คือ วิญญาณธาตุ เข้ามาประกอบด้วย ร่างกายที่เกิดจากธาตุทั้ง ๕ จึงจะเกิดมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ นี่คือ ธรรมชาติของคนเราและเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตแตกต่างไปจากก้อนอิฐก้อนหิน เพราะมีวิญญาณธาตุเข้ามาประกอบด้วยกับกาย

วิญญาณธาตุนี้เอง คือ “ใจ” ที่อยู่ในตัวของเรา

ถ้ามีแต่กาย ไม่มีใจเมื่อไร เราเรียกว่า ซากศพ ตรงกันข้าม ถ้ามีแต่ใจ ไม่มีกายเมื่อไร เราเรียกว่า ภูต ผี ปีศาจ และถ้าทั้งสองส่วนนี้แยกจากกันเมื่อไร ก็ถึงเวลาตายของเราเมื่อนั้น ส่วนว่าตายแล้ววิญญาณธาตุจะไปอยู่ที่ไหน ไปเกิดเป็นอะไรนั้น เป็นเรื่องของผลกรรมที่จะชักนำไป

เพราะฉะนั้น ถ้าเรามาดูที่การเกิดจะเห็นชัด คือเมื่อผ่านการปฏิสนธิจากเชื้อพันธุ์ของพ่อแม่มาแล้ว และในเวลานั้นก็มีการปฏิสนธิวิญญาณของสัตว์ที่จะมาเกิดด้วย ชีวิตใหม่ก็จะเกิดขึ้นมา แล้วธาตุทั้ง ๖ ก็พัฒนาเป็นร่างกายทารกที่มีชีวิตเลือดเนื้อโดยอาศัยอาหารที่แม่กินเข้าไปเป็นสิ่งหล่อเลี้ยง ครั้นเมื่อครบกำหนดคลอดแล้ว ออกมาจากท้องแม่เมื่อไร พออ้าปากได้เท่านั้น ก็ร้องแว้ดๆๆ ลั่นโรงพยาบาล บอกให้แม่ ให้หมอ ให้พยาบาลรู้ว่า การเกิดนี้มันเจ็บปวดจนเหลือเกิน มันทนไม่ไหว เจ็บจนต้องตะโกนร้องออกมา แล้วตอนนี้มันรอดตายออกมาให้แม่ได้ดูหน้าแล้ว ไม่ว่าตัวมันจะดำปี๋เหมือนดินหม้อ หรือผิวพรรณมันสุกปลั่งอย่างกับทองทาก็แล้วแต่ แม่รู้ทันทีเลยว่า เจ้าร่างกายน้อยๆ ที่ดิ้นกระแด่วๆ ร้องแว้ดๆ ออกจากท้องนี้ คือ คนที่มีชีวิตเลือดเนื้อ ไม่ใช่ศพ เพราะยังไม่ตาย ถ้าตายมันต้องไม่ร้อง ไม่หายใจ

ต่อจากนั้น เจ้าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า คน นี้ ก็จะมีการพัฒนาทั้งทางร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด และสติปัญญาขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ว่า นี้คืออาการหิว ต้องกินอาหารจึงจะหาย เวลากระหายต้องดื่มน้ำ ถ้าหนาวต้องห่มผ้า ถ้าร้อนต้องอาบน้ำ ถ้าแสบๆ คันๆ ตามตัว ต้องหาหยูกหายามาทาแก้พิษแล้วจึงจะหาย มันเกิดมีการพัฒนาปฏิกิริยาตอบสนองรับรู้กับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในโลกนี้ขึ้นมาได้ตามลำดับ และสิ่งที่ทำให้รับรู้และเกิดการพัฒนาด้านความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนกระทั่งสติปัญญานั้น คือใจหรือวิญญาณธาตุในตัวของมันนี้เอง แต่ว่าวิญญาณธาตุของทารกนั้น จะเติบโตขึ้นมาดีหรือเลวอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่ามันไปอยู่กับพ่อแม่ที่มีวิญญาณธาตุในตัวอย่างไร ถ้าได้พ่อแม่มีวิญญาณธาตุของคนใจบุญ ได้รับการทะนุถนอมดูแลอบรมอย่างดี โอกาสที่โตขึ้นแล้ว จะรักบุญกลัวบาป ตักบาตรพระไม่เว้นวัน ทำให้วิญญาณธาตุในตัวของมันสะสมความดีตามพ่อตามแม่ของมันไปด้วย ก็เป็นได้ แต่ถ้ามันไปได้พ่อแม่ที่มีวิญญาณธาตุของโจรเข้า ถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการดูแลอบรม หรืออบรมแบบผิดๆ มันเลยถ่ายทอดนิสัยเลวๆ ไว้ในวิญญาณธาตุ โตขึ้นมามันก็กลายเป็นโจรตามพ่อแม่มันไป

มาถึงตรงนี้ เรามองเห็นชัดแล้วว่า ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ทั้งหลายในโลกนี้ เกิดขึ้นและสะสมอยู่ในวิญญาณธาตุหรือดวงใจของเรานั่นเอง

๒. ใจทำหน้าที่อะไร

แล้วใจมีหน้าที่อะไร ทำไมรับรู้ได้ถึงความสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ของคนเรา ต้องบอกว่านับตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว ถ้าโลกยุคนี้ไม่มีพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำมาเกิดขึ้น และถ้าท่านไม่อุทิศชีวิตให้การปฏิบัติธรรมจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายที่มีอยู่ในตัวมนุษย์แล้วละก็ เราจะหาใครมาอธิบายเรื่องนี้ได้ยากยิ่งกว่ายากยิ่งนัก

ทำไม? เพราะว่า มนุษย์ทั้งโลกนี้ อย่าว่าแต่จะไปเห็นรูปร่างลักษณะใจของตัวเองเลย แม้แต่หน้าตาของตัวเองที่แท้จริงก็ยังไม่เคยเห็น อย่างดีก็แค่เห็นเงาหน้าในกระจกว่า อ๋อ หน้าตาของเรา มันเป็นอย่างนี้ เค้าหน้ากลมๆ รีๆ มีสองตา สองหู หนึ่งจมูก หนึ่งปาก เรามองเห็นจากเงาในกระจกแค่นี้ แต่หน้าตาจริงๆ เราไม่เห็น ในเมื่อหน้าตัวเองยังไม่เคยเห็น แล้วใจที่อยู่ข้างในตัวนั้น ยิ่งยากจะเห็นเข้าไปใหญ่ ถ้าไม่บำเพ็ญเพียรทางจิตมาจนกระทั่งทำใจหยุดใจนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านมาช่วยสอนไว้แล้วละก็ ตายแล้วเกิดใหม่อีกร้อยชาติก็ไม่มีทางเห็น

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงยังไม่รู้ว่า ใจของเรา ไม่ใช่กล้ามเนื้อหัวใจ ไม่ใช่อวัยวะส่วนหนึ่งในร่างกาย ที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดอยู่ภายในหน้าอกด้านซ้ายเท่านั้น ไม่รู้ว่าใจจริงๆ มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ใจจริงๆ ของตัวเองอยู่ที่ไหน ใจจริงๆ ทำหน้าที่อะไร และสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ไปเกิดขึ้นที่ใจได้อย่างไร มนุษย์ไม่รู้เพราะกิเลสมันบังปัญญาเอาไว้ เลยเห็นได้แต่สิ่งนอกตัว

เมื่อฝึกสมาธิมากเข้าๆ จนกระทั่งใจหยุดนิ่งสนิทจึงจะเห็นใจตัวเองได้ แต่ตาธรรมดามองไม่เห็น จะมองเห็นได้ด้วยตาธรรมกายว่า ใจเป็นดวงใสๆ อยู่ในตัวเรานี่แหละ สมมุติว่าถ้าเราผ่าใจออกมาได้ละก็ เราจะเห็นเนื้อใจเป็นชั้นๆ มีอยู่ ๔ ชั้น มีหน้าที่ต่างๆ กันไป และหน้าที่เหล่านั้นก็มีผลต่อความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ของมนุษย์โดยตรงทีเดียว

หน้าที่ของใจมีอะไรบ้าง?

หน้าที่ของใจมี ๔ ประการ คือ รับ จำ คิด รู้

เนื้อใจชั้นที่ ๑ ทำหน้าที่รับ คือ ถ้ามีรูปมากระทบตา ประสาทตาส่งให้ใจ ใจก็รับเอาไว้คือได้เห็น มีเสียงมากระทบหู ประสาทหูก็ส่งไปที่ใจ ใจก็รับเอาไว้คือได้ยิน มีกลิ่นมากระทบจมูก ประสาทจมูกก็ส่งไปให้ใจ ใจรับเอาไว้คือได้กลิ่น มีรสอาหารมากระทบลิ้น ประสาทลิ้นส่งให้ใจรับเอาไว้เรียกว่าลิ้มรส มีวัตถุมากระทบกาย ประสาทกายส่งให้ใจเรียกว่าสัมผัส นี่คือคำว่ารับเอาไว้ของเนื้อใจชั้นนอก ซึ่งทำหน้าที่รับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

เนื้อใจชั้นที่ ๒ ทำหน้าที่จำ คือ บันทึกเอาไว้เลย เหมือนกับกล้องวีดีโอ ไม่ว่าใครทำอะไรมันจะถ่ายภาพติดจำเอาไว้เลย เสียงมันก็บันทึกเอาไว้ได้ เหมือนอย่างกับเทปนั่นแหละ แต่ขณะเดียวกันนี้ เครื่องมือวิทยาศาสตร์มันบันทึกได้แค่รูปกับเสียง แต่บันทึกกลิ่นไม่ได้ ถ้าบันทึกกลิ่นได้ วันหลังมีภาพยนตร์มาฉายเราจะได้กลิ่นหอมฉุย หรือเรื่องที่มีกลิ่นไม่ดี ก็เหม็นหึ่ง คนดูคงโดดไปอาเจียนคนละทางสองทาง ถ้าเมื่อไร กลิ่นก็บันทึกได้ รสอาหารก็บันทึกได้ ดูหนังไปอร่อยไปด้วย คงเข้าท่าดีเหมือนกัน ถ้าบันทึกสัมผัสได้ พอพระเอกกระโดดเตะผู้ร้ายผางละก็ คนดูคงเซแซ่ดๆ ตามแข้งไปด้วย เพราะฉะนั้น เนื้อใจชั้นที่ ๑ มันรับเอาไว้ ส่วนเนื้อใจชั้นที่ ๒ ทำหน้าที่จำ

เนื้อใจชั้นที่ ๓ ทำหน้าที่คิด คือ พอจำสิ่งที่รับได้แล้ว ก็เอามาเป็นข้อมูลในการคิดต่อไป ใครรับอะไรไว้มาก ก็จำสิ่งนั้นๆ ไว้มาก แล้วก็คิดปรุงแต่งแต่สิ่งนั้นๆ กันไปตลอดชาติ เรื่องอื่นๆ ไม่ค่อยสนใจคิดเพราะไม่มีข้อมูล

เนื้อใจชั้นที่ ๔ ทำหน้าที่รู้ คือ พอคิดแล้ว มันก็ตัดสินใจเชื่อหรือรู้

เป็นอันว่าสุขหรือทุกข์ของคนเรานี้ มาจากการรับเข้าไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วส่งผ่านมาที่ใจ และเมื่อใจรับเข้าไปบันทึกจนจำได้แล้ว ส่วนจะให้ออกมาสุขหรือทุกข์นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าใจของเราทำหน้าคิดปรุงแต่งออกมาอย่างไร ถ้าคิดไม่เป็นมันก็ทุกข์ ถ้าคิดเป็นแล้ว เราก็รู้ได้ถึงความสุขที่เกิดขึ้นในใจ "

Copy from http://www.dhammakay...g_detail_th.php


#2 xlmen

xlmen
  • Members
  • 978 โพสต์

โพสต์เมื่อ 29 January 2006 - 09:43 PM

QUOTE
ถ้าเมื่อมาเจอกายมนุษย์แล้วมาสุขกับกายมนุษย์ มัวงมอยู่แต่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นแหละ มันก็ได้เท่านั้นจนแก่ตาย เอาดีไม่ได้เลย

อภิโมทนาบุญด้วยครับ
หยุดเหมือนรถเบรค นิ่งเหมือนน้ำในโอ่งที่ปราศจากลม แน่นเหมือนหลักที่ปักลงในเลน
ไม่สั่นคลอน ใสเหมือนน้ำที่ปราศจากตะกอน

#3 ปัจเจกชน บนทางสายกลาง

ปัจเจกชน บนทางสายกลาง
  • Members
  • 4109 โพสต์
  • Gender:Male
  • Location:จ. สงขลา

โพสต์เมื่อ 18 March 2007 - 12:59 PM

กราบอนุโมทนาบุญด้วยครับ สาธุ

#4 แสวงหาบุญ

แสวงหาบุญ
  • Members
  • 8 โพสต์

โพสต์เมื่อ 15 October 2007 - 10:12 AM

คุณพิมพ์เองหรือนั่น ยาวจัง omg_smile.gif glare.gif mad.gif omg_smile.gif ไม่น่าเชื่อ แต่ว่าคุณไปรู้มาได้ยังไงกันครับ
จงถือพระรัตนตรัย เป็นที่ตั้ง