ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

รู้หรือไม่ เรื่องเวลา เป็นเรื่องใหญ่ บทที่ 2

หน้าที่หลักที่ควรถูกกำหนด

  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 Suphatra

Suphatra
  • Members
  • 24 โพสต์
  • Gender:Female

โพสต์เมื่อ 01 June 2018 - 10:03 AM

รู้หรือไม่ เรื่องเวลา เป็นเรื่องใหญ่
ตอน หน้าที่หลักที่ควรถูกกำหนด
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดหน้าที่ของพระองค์ไว้ 3 ประการคือ 
 
     โลกัตถจริยา พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลก
 
     ญาตัตถจริยา พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อหมู่ญาติ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ไม่ทิ้งหมู่ญาติ จึงให้การดูแลเป็นพิเศษ
 
     พุทรัตถจริยา พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของหมู่สงฆ์ทั้งหลาย
 
     พอกำหนดบทบาทตนเองชัดเจน เราจะสามารถแบ่งเวลาเพื่อทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้ เพราะคนแต่ละคนมีหลายบทบาทบางคนทำงานในบริษัทมีหน้าที่เป็นผู้จัดการบ้าง เป็นหัวหน้าแผนกบ้างหรือเป็นเจ้าหน้าที่ในแผนกต่างๆ บ้าง ถือว่าเป็นหน้าที่การงานของเราอย่างหนึ่ง
 
     พอกลับมาบ้านแล้ว เรายังมีอีกหนึ่งบทบาท คือ บทบาทของพ่อแม่ พี่น้อง หรือลูกที่เราต้องทำหน้าที่นี้ด้วย บางคนยังมีหน้าที่อื่นๆ ทางสังคมร่วมด้วย เช่น ช่วยงานมูลนิธิ งานการกุศล งานสาธารณประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น
 
     เราควรพิจารณาว่า ตนเองมีบทบาทหลักๆ อะไรบ้าง แล้วกำหนดสิ่งที่ต้องทำในแต่ละบทบาท พร้อมกับแบ่งเวลาให้ดี ถ้าทำได้อย่างนี้ การบริหารเวลาของเราก็จะลงตัว
 
     บทบาทในฐานะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อโลก พระองค์ทรงแบ่งไว้ 5 หน้าที่ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ 
 
     ยามเช้า พระองค์ทรงเสด็จบิณฑบาตโปรดสัตว์โลกอย่างหนึ่ง
 
     ยามเย็น พระองค์ทรงแสดงธรรมให้มหาชนทั้งหลาย
 
     พลบค่ำ พระองค์ทรงให้โอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ ทำหน้าที่ในฐานะประมุขของสงฆ์ เมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้นพระองค์ก็จะวางกรอบ วางเกณฑ์ วางกติกา ข้อบัญญัติสิขาบทต่างๆ เพื่อให้หมู่สงฆ์งดงามและมีระเบียบปฏิบัติที่เหมาะสมถูกต้อง
 
     เที่ยงคืน พระองค์ทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดาอีกอย่างหนึ่ง อย่างมงคลสูตร มงคลชีวิต 38 ประการ พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่เทวดา แล้วจึงทรงนำมาเล่าให้พระอานนท์ฟัง ได้สืบทอดมาถึงเราชาวพุทธเป็นมงคลสูตร 38 ประการ
 
     ย่ำรุ่ง คือ เวลาที่ยังมืดแต่จวนจะสว่าง พระองค์ทรงสอดข่ายพระญาณตรวจดูสัตว์โลกว่า วันนี้จะเสด็จไปโปรดใคร แล้วพอฟ้าเริ่มสางก็เสด็จไปบิณฑบาตโปรดเขา
 
     กิจวัตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในแต่ละวันมี 5 หน้าที่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ บางคนอาจจะแปลกใจว่า ทำไมเริ่มด้วยการบิณฑบาต ไม่เริ่มด้วยยามย่ำรุ่ง สอดข่ายพระญาณตรวจดูสัตว์โลกก่อนแล้วค่อยไปโปรด นั่นเป็นเพราะว่า วันในทางพระพุทธศาสนาถือตอนพระอาทิตย์ขึ้นแล้วเป็นวันใหม่ ในตอนย่ำรุ่งนั้นพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น
 
     ดังนั้น เวลาเรียงกิจกรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเริ่มที่ยามเช้าเสด็จบิณฑบาตอย่างหนึ่งก่อน แล้วไล่ไปประการสุดท้ายก่อนสร้าง คือ สอดข่ายพระญาณตรวจดูสัตว์โลก
 
     ในการโปรดหมู่พระญาติ ยกตัวอย่าง ตอนที่ราษฎรชาวเมืองกบิลพัสดุกับชาวเมืองเทวทหะจะยกพวกรบกันเพื่อแย่งน้ำ เพราะถึงคราวเกิดภัยแล้งน้ำขาดแคลน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามทัพ แล้วไปโปรดจนกระทั่งทุกคนเข้าใจจึงเลิกแล้วกันไปด้วยดี ถือว่าเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อหมู่พระญาตินั่นเอง
 
     ชีวิตของคนเรามีหลายบทบาท เราจึงต้องจัดการบทบาทของตนเองแต่ละเรื่องให้เรียบร้อย บทบาทหลักที่หนีไม่พ้น คือ บทบาทความเป็นพ่อแม่ลูก หรือหน้าที่การงานที่รับผิดชอบนั้น ก็ต้องทำให้สำเร็จ
 
     ส่วนบทบาทอื่นๆ ที่ตามมา เราจะต้องพิจารณาว่า ควรทำแค่ไหนถึงพอดีสำหรับตนเอง ไม่รับหลายบทบาทแล้วทำไม่ได้ ทำได้ไม่ดี หรือล้นจนชีวิตรวนไปหมด” ต้องพอดี แล้วจะได้ดี”
 
     อาตมภาพขอฝากเคล็ดลับสำคัญไว้เรื่องหนึ่ง คือ ห้องนอน เชื่อหรือไม่ว่า การแบ่งเวลาที่สำคัญ เริ่มต้นจากเวลานอนถ้าใครนอนหัวค่ำได้ ก็จะตื่นเช้าได้เพราะพักผ่อนเพียงพอ จิตใจสดชื่นและพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจทั้งวันได้อย่างมีประสิทธ์ภาพ
 
     แต่ใครนอนดึกตี 2 ตี 3 พอเช้าก็ไม่อยากตื่น ถึงคราวจะฝืนตื่นก็งัวเงีย จะหยิบจับทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ดีไปตลาดทั้งวัน อารมณ์บูดเพราะนอนไม่พอ เพราะฉะนั้น การแบ่งเวลาที่ดีเริ่มต้นที่การนอน
 
     มีเคล็ดลับอีกว่า หากเราจะควบคุมการนอนหลับของตนเองให้ได้ผล ให้ตรวจดูห้องนอนของเราก่อน ถ้ามีโทรทัศน์อยู่ ก็ให้ยกออกไปไว้นอกห้อง ถ้ามีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ก็ยกไปไว้นอกห้องได้จะดีที่สุด อย่าไปนึกเสียดายว่าห้องเรากว้างขวาง อุตส่าห์เอาโทรทัศน์ดูไปดูทาเรื่อยเปื่อย พอเปิดคอมพิวเตอร์ เดี๋ยวเข้าเรื่องนั้นออกเรื่องนี้เผลอเข้าไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์อีก มันยาวไปเรื่อยเปื่อย ทำให้เราควบคุมเวลานอนไม่ได้
 
     ดังนั้น เอาโทรทัศน์และเครื่องคอมพิวเตอร์ออกไปไว้นอกห้องนอนจะดีกว่า ถึงเวลาพักผ่อน เข้าห้องนอนปุ๊บให้ตั้งใจสวดมนต์นั่งสมาธิ เสร็จแล้วนอนหลับไปตามเวลาที่กำหนดอย่างเป็นสุข การบริหารเวลาของเราจะลงตัว
 
     อย่าดูเบาเรื่องนี้ เพราะบางทีตนเองยังตามใจตนเองอยู่ เรายังไม่ชนะใจตนเองได้ 100% ถ้ามีสิ่งเร้าสิ่งยั่วยุให้เราเพลินไปกับมันอยู่ในห้องนอน จะทำให้จุดเริ่มต้นในการบริหารเวลาของเราล้มเหลวแล้วทุกอย่างก็ได้แต่คิด แต่ว่าทำไม่ได้
 
 
จากหนังสือ 24 ชั่วโมงที่ฉันหายใจ
โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
(สมชาย ฐานวุฑโฒ)