จนถึงกับมีคำพูดที่ได้ยินกันอยู่เป็นประจำว่า มีมากกว่าเม็ดทรายในท้องมหาสมุทรทั้ง ๔
ซึ่งแสดงว่ามีเป็นจำนวนมากมายมหาศาล
แต่พระพุทธเจ้าที่มีพระนามและพระประวัติปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนานั้นมีอยู่ไม่มากนัก ...
ความหมายของพระพุทธเจ้า
ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามหายานได้กล่าวถึงยาน ๓ ประการเพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้น อันได้แก่
สาวกยานหมายถึง ยานของพระสาวกที่มุ่งสู่อรหัตภูมิ ซึ่งรู้แจ้งในอริยสัจ ๔
ปัจเจกยาน หมายถึง ยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้รู้แจ้งด้วยตนเอง
แต่ไม่อาจแสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นได้
โพธิสัตวยาน หมายถึง ยานของพระโพธิสัตว์ผู้มีน้ำใจกว้างขวาง ประกอบด้วย
พระมหากรุณาในสรรพสัตว์ ก้าวล่วงอรหัตภูมิ
จึงกล่าวได้ว่าโพธิสัตวยานเป็นการสร้างเหตุอันมีพุทธภูมิเป็นผล หรือกล่าวได้ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในนิกายมหายานนั้นคือ
พระโพธิสัตว์ที่ได้สร้างบารมีมาด้วยการช่วยสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์นั่นเอง
ตรีกาย
ในพระพุทธศาสนาดั้งเดิม
กล่าวถึงกายของพระพุทธเจ้าว่ามี ๒ คือ นิรมานกายและพระธรรมกาย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป มหายานได้พัฒนากายที่ ๓ ขึ้นมา เรียกว่า สัมโภคกาย ซึ่งเป็นกายทิพย์
๑. นิรมาณกาย คือ กายที่ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ของพระพุทธเจ้า คือ
ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนมนุษย์ทั่วไป มหายานเชื่อว่า
พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในโลกในสภาวะนิรมาณกายนี้ เพราะถูกเนรมิตจากสัมโภคกาย
๒. สัมโภคกาย คือกายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่มีการแตกดับ อยู่ในสภาวะที่เป็นทิพย์ อยู่ชั่วนิรันดร์กาล
๓. ธรรมกาย มหายานหมายถึง สภาวะอันเป็นอมตะ เป็นสิ่งไร้รูป ไม่อาจรับรู้ด้วยอำนาจสัมผัส
ไม่มีเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด
กายทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้า ตามหลักสอนของมหายาน จึงมีความเป็นอันเดียวกัน
แตกต่างกันเพียงสภาวะของการแสดงออก โดยนิรมาณกายนั้นเป็นการนิรมิตตน มาจากสัมโภคกาย และสัมโภคกายเป็นการนิรมิตตนมาจากธรรมกาย
ถือว่าเป็นสภาวะอมตะนิรันดร และไม่อยู่ในการอธิบายใดๆ ทางโลกียวิสัย
การเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องประเภทของพระพุทธเจ้า
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท
มีแนวความคิดในเรื่องประเภทของพระพุทธเจ้าอยู่ว่า พระพุทธเจ้านั้น แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท
ตามระยะเวลาของการสร้างบารมี ระดับของปัญญา ศรัทธาและความเพรียรของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์
๑ ) พระปัญญาธิกะพุทธเจ้า
ใช้เวลาในการสร้างบารมีอยู่ ๒๐ อสงไขยกับอีกหนึ่งแสนมหากัป
เป็นพระพุทธเจ้าประเภทที่มีปัญญาแก่กล้าแต่มีศรัทธาน้อย
๒ ) พระสัทธาธิกะพุทธเจ้า
ใช้เวลาในการสร้างบารมีอยู่ ๔๐ อสงไขยอีกหนึ่งแสนมหากัป
เป้นพระพุทธเจ้าประเภทที่มีศรัทธาแก่กล้าและมีปัญญาปานกลาง
๓ ) พระวิริยาธิกะพุทธเจ้า
ใช้เวลาในการสร้างบารมีอยู่ ๘๐ อสงไขยกับอีกหนึ่งแสนมหากัป
เป็นพระพุทธเจ้าประเภทที่มีความเพียรแก่กล้าแต่มีปัญญาน้อย
พระพุทธศาสนานิกายมหายาน
มีแนวความคิดในเรื่องประเภทของพระพุทธเจ้าอยู่ว่า พระพุทธเจ้านั้น แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท
ตามสภาวะแห่งการเกิดขึ้น เพื่อความเหมาะสมของการสั่งสอนเวไนยสัตว์
๑ ) พระอาทิพุทธเจ้า เป็นผู้ที่เกิดขึ้นมาเองก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด จะหาเบื้องต้นและเบื้องปลายมิได้
เป็นผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้าประเภทอื่น ๆ ทั้งหมด เป็นผู้ให้กำเนิดพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งสรรพสิ่งต่าง ๆ ทั้งมวลที่บังเกิดมีอยู่ในสากลจักรวาลนี้
๒ ) เรียกว่า พระฌานิพุทธเจ้า เป็นผู้ที่เกิดมาจากอำนาจฌานของพระอาทิพุทธเจ้า
ทำหน้าที่โปรดเวไนยสัตว์และปกครองดินแดนที่ชื่อว่า พุทธเกษตร
๓ ) เรียกว่า พระมานุษิพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ถือกำเนิดมาจาพระฌานิพุทธเจ้า โดยแสดงตนออกมาในรูปของมนุษย์ธรรมดาและอุบัติขึ้นในโลกมนุษย์
เพื่อสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายในเร่งปฏิบัติธรรมด้วยความไม่ประมาท
การเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท
มีแนวความคิดเรื่องการสร้างบารมีเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า สรุปได้ว่า
บุคคลผู้จะเป็นพุทธเจ้าจะต้องสร้างสมบุญบารมี ตามหมวดธรรมที่เรียกว่า พุทธการกธรรมหรือบารมี
จนครบถ้วนเต็มบริบูรณ์ทั้ง ๓๐ ประการ
ซึ่งระยะเวลาระหว่างการสร้างบารมีเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๓ ขั้นตอน คือ
๑. ขั้นตอนที่คิดปรารถนาพุทธภูมิ แต่ยังมิได้เปล่งวาจา
๒. ขั้นตอนของการสร้างบารมีพร้อมด้วยการเปล่งวาจาปรารถนาพุทธภูมิ แต่ยังมิได้รับพุทธพยากรณ์
๓. และขั้นตอนตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว จนถึงการสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
เมื่อบุคคลใดสร้างสมบารมีจนครบ ๓๐ ทัศ อันประกอบด้วยขั้นตอนทั้ง ๓ โดยบริบูรณ์แล้ว บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงพุทธภูมิบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า
พระพุทธศาสนานิกายมหายาน
มีแนวความคิดเรื่องการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า สรุปได้ว่า
บุคคลผู้จะเป็นพระพุทธเจ้า จะต้องดำเนินวิถีชีวิตตามหลักคำสอนที่เรียกว่า โพธิสัตวมรรค
อันประกอบด้วยบารมี ๖ อัปปมัญญา ๔ มหาปณิธาน ๔ และคุณสมบัติ ๓
ซึ่งการที่ฝึกฝนอบรมให้คุณธรรมเหล่านี้มีวามเต็มเปี่ยมนั้น
จะต้องใช้ความเพียรและความอดทนอย่างยิ่งยวด เป็นระยะเวลาอันยาวนาน เมื่อบารมีอันเกิดจาการปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว
บุคคลนั้นย่อมเข้าสู่พุทธภาวะเป็นพระพุทธเจ้า
การเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องกายของพระพุทธเจ้า
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท
มีแนวความคิดในเรื่องกายของพระพุทธเจ้าว่า กายของพระพุทธเจ้านั้นแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท
๑. นิรมาณกาย หมายถึง ส่วนที่เป็นกายมนุษย์ธรรมดา ซึ่งยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์
สามารถสูญสลายไปเมื่อถึงกาลอันควร
๒. กายธรรมหรือธรรมกาย หมายถึงคุณธรรมหรือพระธรรมคำสอนแห่งองค์พระพุทธเจ้า
ซึ่งกายในส่วนนี้ ย่อมไม่มีวันสูญสลายไปเมื่อใดที่พุทธศาสนิกชนประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่
ย่อมสามารถที่จะสัมผัสกับพระกายในส่วนนี้ได้ตลอดไป
พระพุทธศาสนานิกายมหายาน
มีแนวความคิดในเรื่องกายของพระพุทธเจ้าว่ากายของพระพุทธเจ้านั้น แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ
๑. นิรมาณกาย หมายถึงกายของพระพุทธเจ้า ที่ยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์
ยังมีการเกิด แก่ เจ็บและตายเหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไป นิรมาณกายนี้มหายานเชื่อว่า
เป็นการเนรมิตขึ้นมาจากสัมโภคกาย เพื่อเป็นอุบายในการสั่งสอนสัตว์โลก
๒. คือ สัมโภคกาย หมายถึง กายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า กายนี้จะไม่มีการแตกดับ
อยู่ในสภาวะที่เป็นทิพย์ชั่วนิรันดร์สามารถแสดงตนให้ปรากฏแพระโพธิสัตว์ได้
และสามารถรับรู้คำอ้อนวอนสรรเสริญจากผู้ที่เลื่อมใสได้
สัมโภคกายนี้เองที่เนรมิตตนลงมาเป็นนิรมาณกายในโลกมนุษย์เพื่อการสั่งสอน
ดังนั้น แม้ในปัจจุบันนี้ พระพุทธเจ้าที่เคยอุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ทุก ๆ พระองค์
ก็ยังดำรงอยู่ในสภาวะแห่งสัมโภคกายนี้มิได้สูญหายไปไหน
๓. ก็คือ ธรรมกาย อันหมายถึง สภาวะอันเป็นอมตะเป็นสิ่งไร้รูป
ไม่อาจรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส
ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ทั้งไม่มีจุดกำเนิดและผู้สร้าง ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง
แม้จักรวาลจะว่างเปล่าปราศจากทุกสิ่ง แต่ธรรมกายจะยังดำรงอยู่ไม่มีที่สิ้นสุด มหายานชื่อว่า
ธรรมกายนี้เองที่แสดงตนออกมาในรูปของสัมโภคกายบนภาคพื้นสวรรค์
และสัมโภคกายก็จะแสดงตนออกมาในรูปของนิรมาณกายทำหน้าที่สั่งสอนสรรสัตว์ในโลกมนุษย์
การเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องพุทธภาวะหลังปรินิพพาน
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท
มีแนวความคิดเรื่องพุทธภาวะหลังปรินิพพานว่า เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว
และธาตุอันตรธานได้เกิดขึ้นแล้ว พุทธภาวะย่อมเป็นสภาพว่างเปล่า ไม่มีสภาวะบัญญัติอื่นใดปรากฏอยู่ เราไม่สามรถจะหาพระพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานไปแล้วได้ไม่ว่า ณ ที่ในจักวาลนี้
พุทธศาสนานิกายมหายาน
มีแนวความคิดเรื่องพุทธภาวะหลังปรินิพพานว่า พระพุทธเจ้าเมื่อได้แสดงตนว่าปรินิพพานแล้วนั้น
ที่จริงหาได้เป็นการสิ้นสุดของพุทธภาวะไม่
การปรินิพพานเป็นเพียงอุบายแห่งการสั่งสอนสรรพสัตว์เท่านั้น พระองค์ยังคงมีพุทธภาวะอยู่โดยสมบูรณ์ในรูปของสัมโภคกายสามารถที่จะรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ได้
และจะดำรงอยู่เช่นนี้ตลอดชั่วกาลนาน จนกว่าจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้หมด
พระองค์จึงจะเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน
ที่มา : ส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของ
คุณประโยชน์ ส่งกลิ่น มหาวิทยาลัยมหิดล