ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
* * * * * 1 คะแนน

"จากความทรงจำ" อุบาสิกาถวิล(บุญทรง)วัติรางกูล


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
มี 23 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้

#1 Daemusin

Daemusin
  • Members
  • 133 โพสต์

โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 04:45 AM

ผมไม่ทราบว่าเคยมีผู้อ่านเเล้วเยอะรึไม่ส่วนตัวผมพึ่งอ่านเมื่อตอนเที่ยงคืนอ่านรวดจนถึงตี4 มานั่งคิดกับตัวเองว่าตัวเองทุ่มเทกะวัดเยอะอยุ่เเต่พอมาอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมรู้ตัวเลยว่าสิ่งที่ผมทำนั้นเทียบไม่ได้เเม้เเต่ 1ใน 100ของคนยุคบุกเบิก ผมเลยอยากจะนำมาให้ทุกท่านอ่านกัน โดยจะลง บทเเรกก่อน อ่านเเล้วรู้สึกยังไง ถ้าชอบผมจะลงบทต่อไปนะครับ


อุบาสิกา ถวิล - บทที่หนึ่ง - ไม่เข้าใจทำไมต้องทน

เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นเวลาที่ป้าเรียนจบชั้นอุดมศึกษา ได้ปริญญา อักษรศาสตร์บัณฑิต และครุศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) รวม ๒ ปริญญา จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย สมัยนั้นยังไม่มีการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป ในประเทศไทย ใครต้องการศึกษาต่อจากระดับปริญญาตรี ต้องเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศทั้งสิ้น ฐานะทางบ้านของป้า ไม่สามารถส่งป้าไปเรียนต่างประทศได้ ป้าจึงต้องหางานทำ แต่ด้วยเหตุที่ป้าเรียนโดยรับทุนอุดหนุนจากกรมการฝึกหัดครู มาตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยม รวมเวลาถึง ๙ ปี จึงต้องเข้ารายงานตัวทำงานที่นั่น

ทางกรมเจ้าของทุน ให้ป้าเลือกสถานที่ทำงานตามโรงเรียนฝึกหัดครูในกรุงเทพฯ และธนบุรีในครั้งนั้น เช่น สวนสุนันทาวิทยาลัย บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ประสานมิตร (สมัยนี้คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ฯลฯ

แต่ป้ายังมีความฝังใจ ตั้งแต่สมัยเริ่มเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ อยู่แล้วว่าต้องการกลับไปทำงานอยู่ใกล้พ่อแม่ และไปทำประโยชน์ให้จังหวัดบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง จึงได้ขอร้องเจ้าหน้าที่ ผู้ดูแลนักเรียนทุนในขณะนั้นคือ ท่านดร.ก่อ สวัสดิพานิชย์ ให้ส่งป้าไปสวนที่วิทยาลัยครูจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งขณะนั้นเพิ่งตั่งขึ้นใหม่ๆ อยู่ในป่า ไกลจากตัวเมืองหลายสิบกิโลเมตร ป้าเคยไปเห็น และชอบความเงียบสงบของป่าธรรมชาติที่นั่นมาก เป็นความชอบประหลาดลึกซึ้ง คงจะมีความผูกพันบางประการ ในอดีตชาติ เพราะภายหลังแม่ของป้าเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านแพ้ท้องตั้งครรภ์ป้านั้น ท่านดื่มน้ำที่อื่นไม่ได้เลย ดื่มแล้วจะต้องอาเจียน ดื่มได้แต่น้ำในหนองน้ำใหญ่ ที่ตำบลจอมบึงนี้เท่านั้น การไปเอาน้ำในสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทางลำบากมาก พ่อของป้าต้องเอาตุ่มบรรทุกเกวียน รอนแรมไปหลายวันหลายคืน ตามทางเกวียนเลียบชายป่าเขา จึงจะได้น้ำมาแต่ละเที่ยว

เมื่อขอกลับไปทำงานที่นั่นป้าไม่ได้รับอนุญาต เพราะผู้ดูแลนักเรียนทุกท่านอ้างว่า "ที่นั่นเป็นป่าเขาห่างไกลผู้คน คุณไปอยู่ คุณจะหิวเพื่อน ผมไม่ให้คุณไป"

ป้าไม่ใช่คนยอมแพ้อะไรง่ายๆ ป้าก็เลยขอย้ายไปอยู่กรมสามัญศึกษา ซึ่งเวลานั้น มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนประชาบาล ทั่วประเทศ ป้าจะขอไปสอนในโรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้านเดิมของป้า ย้ายได้แล้วก็ต้องไปผิดหวังต่อ เพราะผู้บังคับบัญชาระดับรองอธิบดีปฏิเสธ ท่านชี้แจงว่า ครูที่มีความรู้ระดับปริญญา ของฝ่ายประถมศึกษามีจำนวนน้อยมาก ต้องการเอาตัวป้าไว้ใช้งานในกรมฯ

ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ที่ป้าเริ่มเข้าทำงานนี้เอง ป้าได้ร่วมประชุมกับครูประถมศึกษาที่มีวุฒิปริญญาด้วยกันบ่อย เพราะต้องช่วยกันทำเรื่องหลักสูตร และคู่มือการสอน ได้มีโอกาสรู้จักกัน เพื่อนรุ่นพี่ที่น่าสนใจผู้หนึ่งคืออาจารย์วรณี สุนทรเวช ขณะนั้นท่านเรียนจบปริญญาโท จากสหรัฐอเมริกาใหม่ๆ

ความจริง ท่านผู้นี้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี จากคณะและมหาวิทยาลัยเดียวกับป้า แต่เป็นรุ่นพี่หลายปี ป้าจึงไม่มีโอกาสรู้จักมาก่อน เพิ่งมารู้จักกัน เพราะต้องร่วมประชุมทำงานด้วยกัน ในปีดังกล่าว คำบอกเล่าเกี่ยวกับตัวท่านที่ป้าได้ยินคือ

"..อาจารย์คนนี้นะ เป็นลูกคนเดียว พ่อเป็นพระยา สมบัติเยอะ แถมยังมีป้าที่เป็นพี่สาวของแม่ ไม่ได้แต่งงานตายลงทิ้งสมบัติไว้ให้อีก เลยรวมกันรวยไม่รู้เรื่อง มีแหวนเพชรงี้เป็นถาดๆ เป็นร้อยวงฝากอยู่ในธนาคาร บางทีเบิกออกมาให้ลูกน้องดูเป็นขวัญตา ปรากฏว่าคนดูนอนไม่หลับไปถึง ๓ คีน เพราะอยากมีมั่ง.. อ๋อ ท่านเป็นโสดไม่ยอมมีแฟนหลอก ใครถามท่านก็ว่า มีคนมาขอเหมือนกัน แต่ท่านปฏิเสธ เพราะไม่รู้ว่าผู้ชายรักตัวท่าน รีว่ารักสมบัติของท่าน ท่านไม่แน่ใจ เลยไม่คิดมีแฟน อยู่ตามลำพังสองคนกะคุณแม่อายุ ๘๐ กว่าปีแล้ว มีลูกจ้าง ๒-๓ คน กับหมาฝูงหนึ่ง ที่อุตส่าห์มาทำงานให้ราชการเนี่ย เพราะต้องการใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์กะส่วนรวมบ้าง เงินเดือนชั้นเอกท่านนะเหรอ ท่านยกให้คนขับรถหมดเลย ตัวเองใช้เงินมรดกสบาย.."

คนเล่ามองเฉพาะแง่วัตถุสมบัติ แต่เมื่อป้ารู้จัก ป้ามองถึงจิตใจและอัธยาศัยทั่วไปก็พบว่า อาจารย์ท่านนี้มีนิสัยดี โอบอ้อมอารี ที่เป็นข้อเสียอยู่บ้าง ก็ตรงค่อนข้างเอาแต่ใจตัว เจ้าอารมณ์ เจ้าทิฏฐิ ถ้าเชื่อว่าอะไรเป็นอย่างไรแล้ว ก็เชื่อแน่นแฟ้น ไม่ใคร่ยอมฟังเหตุฟังผล อาจจะเป็นเพราะความเป็นลูกคนเดียว ทางบ้านตามใจมาตลอดตั้งแต่เด็กจนเคยตัว ยิ่งมารับราชการก็มีญาติสนิทเป็นรัฐมนตรี ก็เลยยิ่งเป็นที่เกรงอกเกรงใจของผู้ร่วมงานและผู้บังคับบัญชา ระดับรองๆ หมดทุกคน

สำหรับป้าเองก็มีนิสัยไม่ดีอยู่หลายอย่าง อย่างหนึ่งที่ติดตัวมาแต่เล็กแต่น้อย คือความถือตัวไม่ใคร่ก้มหัวให้ใครง่ายๆ ยิ่งเป็นคนเรียนเก่งตลอดตั่งแต่ยังเด็ก ก็เลยยิ่งไม่ใคร่เห็นใครดีกว่าตัว

ทีนี้เมื่อป้ามารู้จักกับอาจารย์วรณี แรกทีเดียวป้าไม่สนใจท่านเอาเสียเลย เห็นท่านเอาแต่ใจตัว แม้จะเป็นคนใจดี และมีฐานะร่ำรวยแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากเป็นคนไม่สนใจทรัพย์สมบัติคนอื่นอยู่แล้ว ป้าจึงไม่คิดไปเข้าใกล้

แต่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง ป้ามีความคิดพิเศษเกิดขึ้น สั่งตนเองอยู่เสมอๆว่า "ผู้หญิงคนนี้นะ เราต้องยกเว้นเป็นพิเศษให้คนหนึ่ง ต้องอดทนคบหาสมาคมกับเค้า เค้าเฉลียวฉลาดเรื่องการศึกษาเล่าเรียนก็จริง แต่ไม่ฉลาดในการใช้ทรัพย์สมบัติ เค้าควรจะใช้ความร่ำรวยที่มีอยู่ ทำประโยชน์อะไรๆให้เป็นสาธารณะขึ้นมาบ้าง ด้วยเหตุนี้แหละเราจึงควรพยายามเป็นเพื่อนเค้า เผื่อวันข้างหน้าชักชวนเค้าได้ จะได้ให้เค้าสร้างสาธารณะประโยชน์อะไรขึ้นมาชีวิตและทรัพย์สินของเค้า ก็จะได้เกิดเป็นบุญติดตัวเค้าเอง ส่วนเราในฐานะผู้แนะนำ ก็อาจมีส่วนบุญติดตัวได้บ้าง เมื่อตนเองเกิดมาไม่ร่ำรวย ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมไม่ได้สมใจการชวนคนอื่นทำได้ ก็ยังนับว่าเป็นความดี"

การชวนให้ใครทำความดี ผู้ชวนจะได้บุญด้วยในฐานะไวยยาวัจจมัยกุศล อย่างนี้ป้าก็ไม่รู้จัก แต่ที่คิดอยากชวนก็เป็นเพราะคิดเอาว่าเป็นของดีน่ากระทำคิดเอาแค่นั้นเอง

ด้วยคิดอย่างนี้ ป้าจึงอดทนคบหาสมาคมกับอาจารย์ วรณี สุนทรเวช นับแต่เริ่มรู้จักกันเรื่อยมาประกอบกับเห็นท่านไม่ใคร่มีเพื่อนสนิทใกล้ชิด ป้าก็รู้สึกสงสารท่าน จึงสู้อดทนเอาใจ

เล่ามาถึงตอนนี้ ป้าอยากจะชี้ให้เห็นธรรมะ ๒ ข้อ ข้อแรกคือ เรื่องปุพเพกตปุญญตา บุญที่เคยกระทำเอาไว้ในชาติปางก่อนคือต่อมาภายหลังผู้ได้อภิญญาในวิชชาธรรมกาย ได้ระลึกชาติย้อนหลังดูความสัมพันธ์ระหว่างป้ากับอาจารย์วรณี ปรากฏเราทั้งคู่เคยเกิดเป็นพี่น้องกันบ้าง เป็นเพื่อนกันบ้าง มานานถึง ๕๐ ชาติแล้ว แต่ละชาติอาจารย์ท่านนี้ มักมัวเสียเวลาเฉไฉไปทำเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องบุญโดยตรงอยู่เสมอ ป้ามีหน้าที่คอยตามกลับให้ท่านมาทำเรื่องบุญกุศลอยู่ทุกชาติ เรียกว่าคอยเป็นกัลยาณมิตรให้ตลอดจนเรื่องทำบุญสร้างวัด ป้าก็มักเป็นผู้มีหน้าที่เริ่มงานเสมอมา บุญที่เคยกระทำไว้ในอดีตชาติเหล่านั้น มาเตือนใจให้รู้สึกเหมือนมีคำสั่ง ให้ทำซ้ำในสิ่งที่เคยทำ

ส่วนธรรมมะข้อที่สอง คือ คนเราจะมีชีวิตดีงามได้ ต้องไม่คบคนพาล เป็นมงคลชีวิตสูงสุด ข้อแรก ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นลัทธิของคนพาล ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่เชื่อกฎของกรรม ยึดถือเรื่องวัตถุเป็นใหญ่ ไม่คำนึงถึงเรื่องจิตใจ ใครไปสนใจเกี่ยวข้องเชื่อถือกระทำตามเข้า ทำให้เสื่อมจากคุณงามความดี

ป้าไปคบเพื่อนมิจฉาทิฏฐิ ทำให้ตนเองคิดมิจฉาทิฏฐิตาม ยังนับว่ามีโชคดี ที่มีบุญเก่า ส่งผลให้เกิดในครอบครัวที่อบอุ่น ด้วยความรักของพ่อแม่ และญาติพี่น้อง จึงรอดตัวมาได้ เรื่องคบเพื่อนจึงมีความสำคัญที่สุดของชีวิต สมกับที่เป็นสองข้อแรก ในมงคลสูงสุด

ป้าคบเพื่อนอย่างอาจารย์วรณี แม้ท่านจะไม่ใช่คนมิจฉาทิฏฐิ แต่ก็เป็นคนเจ้าทิฎฐิ ถือเอาความเห็นของตนเองเป็นใหญ่ และค่อนข้างเอาแต่ใจตน ป้าก็ต้องใช้ความอดทนสูงเป็นพิเศษ อีกทั้งฐานะพอมีพอกิน ไม่เหลือเฟือ อีกฝ่ายมาจากตระกูลขุนนาง มีฐานะเป็นเศรษฐีนับร้อยๆล้านในยุคนั้น การคบกันจึงเป็นความยากลำบากของป้าอย่างยิ่ง จะขอยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น

เรื่องการรับประทานอาหารนอกบ้าน ชีวิตของป้า ซื้อกินได้ในทุกที่ทุกแห่ง ขอให้ดูสะอาดปราศจากเชื้อโรคก็เป็นอันใช้ได้ อาจจะเป็นจากหาบแร่ แผงลอย รถเข็น ร้านข้างถนน ฯลฯ ที่ไหนก็ได้ ราคาค่างวดไม่เกินฐานะ สำหรับอาจารย์วรณี เวลานั้นท่านทำไม่ได้ ท่านต้องเข้าร้านอาหารระดับภัตตาคาร ซึ่งคนมีฐานะดีนิยม

และด้วยใจของป้าที่คบกับท่านอย่างเพื่อน ต้องการให้รู้ว่าป้าเป็นเพื่อน ที่ไม่เอาเปรียบ เป็นเพื่อนแท้ไม่ใช่เพื่อนเทียม ไม่ใช่เพื่อนหรอกกิน ดังนั้นเวลาไปไหน ฯ ด้วยกันป้าจะคอยจำเอาไว้ ถ้ามื้อนี้ป้าได้รับเลี้ยงอาหาร มื้อหน้าป้าจะต้องเป็นฝ่ายขอจ่ายทุกครั้งไป

ราคาอาหารในร้านระดับภัตตาคารนั้น ไม่ว่ายุคไหน จะแพงกว่าร้านอาหารธรรมดาหลายเท่าตัว ดังนั้นครั้งใดที่ป้าเป็นฝ่ายต้องจ่าย ราคเพียงครั้งเดียว ก็มีจำนวนเงินมากกว่าค่าอาหารกลางวันของป้าตลอดเดือน ทั้งนี้เพราะเงินเดือนของป้า ต้องใช้จ่ายเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงพ่อแม่ ส่งน้องๆ เรียน รายได้ฝ่ายพ่อบ้านต้องผ่อนส่งที่ดิน ส่งบ้านและส่งรถ ป้าไม่มีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนอยู่เลย ด้วยเหตุนี้ คราใดที่ต้องเลี้ยงเพื่อน ในภัตตาคารเพียงมื้อเดียว ป้าก็จะต้องอดอาหารมื้อกลางวันไปจนตลอดเดือน หรือมิฉะนั้น ก็ต้องเอาข้าวใส่กล่องจากบ้านไปรับประทานตอนกลางวัน

ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งที่นิสัยต่างกันอย่างยิ่ง คือเรื่องความรักสุนัข เรื่องสัตว์ต่างๆนั้น ป้ามีความเมตตาเอ็นดูปกติธรรมดา มีอาหารอะไรที่พอจะแบ่งปันให้กินได้ก็จะทำ แต่ก็ไม่ถึงกับต้องเอามาเลี้ยงใกล้ชิดตัวในบ้าน เพราะนอกจากไม่มีเวลาดูแลสัตว์เหล่านั้นดีพอแล้ว ยังเกรงว่าสัตว์เลี้ยงบางอย่าง เช่นแมวหรือสุนัข ทำให้จิตใจของเราเกิดอกุศลได้ง่ายมาก เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่รู้ภาษาคน เวลามันหิวมันย่อมไม่เข้าใจว่าเจ้าของพร้อมที่จะหาอาหารให้หรือยังมันก็จะร้องกวนวิ่งวนพันมือพันเท้า ทำให้เรารู้สึกโกรธมันได้ง่าย เมื่อโกรธก็ต้องดุต้องว่า บางทีถึงกับเฆี่ยนตี ทำให้มีเวรต่อกัน เมื่อเลี้ยงแล้วก็ต้องเป็นกังวลห่วงใย จะเดินทางไปค้างที่ไหน ก็เป็นห่วงเรื่องอาหารหารกินของสัตว์ ด้วยเหตุนี้ป้าจึงไม่เลี้ยงสัตว์

ส่วนอาจารย์วรณี ท่านรักสุนัขเป็นชีวิตจิตใจ เลี้ยงไว้เป็นฝูง ทั้งสุนัขไทยและฝรั่ง จ้างคนดูแลอย่างดีเหมือนแม่เลี้ยงลูกแล้วท่านก็เรียกสุนัขทุกตัวว่าลูก เรียกตัวท่านเองว่าแม่ ท่านอุ้มกอดได้อย่างสนิทสนม ท่านทำที่อยู่ที่นอนให้อย่างดี มีห้องมุ้งลวดเวลานอน อาหารที่เลี้ยงสุนัขก็ดีมาก ชนิดที่คนจนไม่มีรับประทาน ตอนกลางคืนก่อนนอนยังมีอาหารพิเศษ โอวัลติน ไข่ลวกให้กินจนอิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้กินอาหารใส่ยาเบื่อของพวกมิจฉาชีพ ที่ชอบหากินทางงัดแงะลักขโมยตามบ้านผู้มีอันจะกิน

สุนัขบางตัวของอาจารย์ท่านนี้ มันแสนรู้มาก ถ้าคนเลี้ยงเอาอาหารซ้ำ หรืออาหารที่ทำแล้วหลายวันให้กิน มันจะไม่ยอมกิน มันจะคาบเอามาวางต่อหน้าเจ้าของเป็นการฟ้อง ผู้เป็นนายก็จะเรียกลูกจ้าง ที่เป็นคนเลี้ยงมาดุ แล้วให้ออกไปซื้อหามาทำให้ใหม่ เวลาสุนัขตัวใดเจ็บป่วย จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างดียิ่งเป็นพิเศษจากสัตวแพทย์ชั้นดี

ป้าคิดว่าเจ้าสุนัขพวกนี้ มันคงเคยทำทานไว้มากแม้จะมีบาปกรรมบางอย่างส่งผลให้ต้องเกิดเป็นหมาผลทานยังตามรักษาให้ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี

ความจริงการเลี้ยงดูให้ทานสัตว์เดรัจฉาน ก็ได้บุญเหมือนกัน แต่ได้เพียงนิดเดียวเมื่อเทียบกับให้มนุษย์

ป้าเอาตัวอย่างเรื่องนี้มาเล่า เพื่อให้เห็นว่าเมื่อจำเป็นต้องคบหากันป้าก็ต้องอดทน รักสุนัขทั้งโขยงของเพื่อนป้าไปด้วย บางตัวขาพิการเจ้าของไม่อยากได้ขอให้ป้าช่วยเอามาเลี้ยง ป้าก็ต้องยอมตามใจเอามาเลี้ยง ทั้งที่ไม่เต็มใจ

จะอดทนสักกี่เรื่องก็ตาม ก็ถือว่าเป็นธรรมดา แต่ที่ต้องถือว่าอดทนกันเป็นพิเศษ นั่นคือการอดทนไม่แสดงความคิดเห็นขัดแย้งออกมา ที่นับว่าเป็นเรื่องพิเศษ เพราะเป็นการฝืนนิสัยของป้าอย่างยิ่ง ป้าเป็นคนปากกับใจตรงกัน คิดอย่างไรก็พูดออกมาอย่างนั้น ไม่ใคร่เก็บความรู้สึก ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะกล่างคัดค้านทันที คำพูดที่ใช้มักไม่ทันได้ขัดเกลา ตรงไปตรงมาขาดความสุภาพนุ่มนวล

ทีนี้เมื่อป้ามาอดทน ยอมฟังความคิดเห็นของเพื่อนท่านนี้ ซึ่งมักจะไม่ตรงกับความรู้สึกนึกคิดของป้าอยู่เสมอได้ ไม่เคยแสดงกิริยาโต้แย้งคัดค้าน จึงต้องถือว่าเป็นเรื่องแปลก จะค้นหาเหตุผลอะไรอื่น ว่าทำไมต้องทนยอมกันได้ขนาดนั้นก็หาไม่พบ มีอยู่เหตุผลเดียงคือ คำสั่งบอกตนเองว่า "อดทนเอาไว้ ให้เค้ารักเราให้ได้ เมื่อถึงเวลานั้น เราจะได้ชวนเค้า เอาทรัพย์สมบัติบริจาคทำสาธารณะประโยชน์เค้าจะได้เกรงใจทำตาม "

ด้วยความรู้สึกที่ได้เล่าไว้นี้ ป้าจึงได้ปฏิบัติตัวเป็นเพื่อนที่ดียิ่งตลอดมา นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ จนถึงปี ๒๕๑๒ เป็นเวลา ๑๐ ปีเต็มโดยให้ความอดทนในการคบหามากที่สุดยิ่งกว่าเพื่อนใดๆ ที่เคยคบ

อุบาสิกา ถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล


ขอขอบคุณ http://www.bloggang.com
คนที่ไม่มีปัญหาคือคนที่ไม่ได้ทำ

#2 Daemusin

Daemusin
  • Members
  • 133 โพสต์

โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 01:01 PM

ต่อจากเมื่อวานเลยนะครับ


อุบาสิกา ถวิล - บทที่สอง - เหมือนพบน้องชายที่หายไปนาน

ในปีพ.ศ. ๒๕๐๒ ปีเดียวกับที่ป้ารู้จักอาจารย์วรณี สุนทรเวชนี้เอง ป้าก็ได้รู้จักเด็กชายวัยรุ่น อายุราว ๑๘-๑๙ ปีผู้หนึ่ง เป็นเพื่อนเพื่อนรักสนิทสนมมากของน้องชาย ป้าจะเล่าความเป็นไปให้ฟัง

เมื่อป้าเริ่มเข้าทำวานรับราชการใหม่ๆ ปลายเดือนมีนาคม ๒๕๐๒ ได้พักอยู่บ้านหลังใหญ่ ป้าอยู่กับเพื่อนข้าราชการสตรีอีกคนหนึ่งเท่านนั้น ป้าจึงไปขอย้ายน้องชายชื่อ ธนู บุญทรง ซึ่งกำลังเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (สามพราน) ให้มาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) อันเป็นโรงเรียนเครือข่ายเดียวกัน ผู้อำนวยการโรงเรียนเดียวกัน จึงได้รับอนุญาตด้วยดี การเรียนเตรียมอุดม ฯ ครั้งนั้นยากลำบากมาก นักเรียนต้องตั้งใจเรียนกันอย่างจริงจัง จึงจะสอบไล่ได้ การสอบคิดคะแนนเป็นร้อยละ ไม่ใช่คิดเป็นเกรดหรือเรียนเป็นหน่วยกิจ อย่างปัจจุบัน สมัยโน้นสอบตกวิชาใด ก็ถือว่าต้องซ้ำชั้นทั้งปี เรียนใหม่หมดทุกวิชา น้องชายของป้าเรียนไม่เก่งมาก จึงต้องสนใจคร่ำเคร่งกว่าปกติ

วันหนึ่งเป็นเวลาใกล้ๆ สอบ น้องได้พาเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งมาพบ แนะนำว่า " พี่ครับ เพื่อนรักของผมคนนี้ชื่อเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ เป็นคนเมืองกาญจน์ (จังหวัดกาญจนบุรี) อยากจะมาพักท่องหนังสือกะผมตอนก่อนสอบเนี่ย เพราะผมบอกว่า บ้านพักของเราเงียบดี พี่อนุญาตนะครับ " น้องชายขออนุญาตเป็นพิธี เพราะรู้ว่าป้าต้องอนุญาตอยู่แล้ว เพื่อนท่องหนังสือหายากเต็มที มีแต่เพื่อนเที่ยวเสียเป็นส่วนมาก

ป้าเงยหน้ามองเพื่อนของน้องชาย ที่ยืนพนมมือไหว้อยู่ที่หน้าบันไดขึ้นบ้าน ไหว้แล้วก็ลดมือทั้งสองข้างลงไปแนบไว้ข้างขา ทำตัวตรง ยิ้มเผล่ เหมือนท่าของนักเรียนกำลังทำความเคารพครู ป้าเห็นหน้าเต็มตาแล้วก็ตกใจ และประหลาดใจบอกไม่ถูก รวมทั้งตื่นเต้นดีใจ ระคนปนเปกัน รู้สึกเหมือนว่า น้องชายแท้ๆ ของตนเอง กลายเป็นคนแปลกหน้าอื่นไป ส่วนเด็กที่เพิ่งมาใหม่ยืนอยู่ตรงหน้านี่ต่างหาก คือน้องชายตัวจริง ที่พลัดพรากจากกันไปนานแสนนาน เพิ่งได้กลับคืนมาพบกัน หายตกตลึงแล้ว ป้ารีบระล่ำระลักอนุญาตทันที เพื่อนของป้าก็เต็มใจอนุญาต และรู้สึกมีความสนิทสนมด้วย ในทำนองเดียวกัน

หนุ่มน้อยเผด็จ ผ่องสวัสดิ์เป็นคนขาว รูปร่างล่ำสัน อารมณ์ดี เบิกบาน ยิ้มง่าย หัวเราะเสียงดัง สุภาพอ่อนโยน ที่น่ารักมากคือความเป็นกันเอง เลี้ยงง่าย ทำอาหารอะไรให้ ก็จะรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยเสมอ เป็นคนรับประทานค่อนข้างจุ แต่ก็เป็นเรื่องแปลก ป้ากับเพื่อนกลับมีความพอใจ ที่เห็นเด็กหนุ่มผู้นี้เจริญอาหาร ไม่เคยรู้สึกเสียดายเลยจนนิดเดียว กลับช่วยกันยุให้รับประทานให้เต็มที่

น้องของป้าเล่าว่า เขาเป็นเพื่อนรักกันได้ เพราะต่างคนต่างเป็นแชมป์งัดข้อ ประจำห้องเรียน พอมีการแข่งระหว่างห้อง ทั้งคู่ก็เข้าแข่งขัน เพื่อนๆ พากันมาเชียร์ให้กำลังใจเป็นที่สนุกสนาน ถ้างัดข้อแขนซ้าย หนุ่มน้อยเผด็จจะเป็นฝ่ายชนะ ถ้างัดทางแขนขวา น้องชายป้าก็จะชนะ ต่อมากี่ครั้งก็เป็นทำนองเดียวกัน ในที่สุดถ้ามีการแข่งกันอีก ก็จะเสู้กันพอเป็นพิธี ไม่ได้ออกแรง ให้การตัดสินออกมาเหมือนเดิม แล้วแบ่งของรางวัลกันคนละครึ่ง ทั้งคู่จึงกลายจากคู่แข่งเป็นเพื่อนรักกัน นับแต่นั้นมา

หนุ่มน้อยนี้เป็นแขกประจำที่บ้านป้า ในเวลาใกล้สอบทุกครั้ง เป็นที่ชอบพอของเพื่อนป้าที่อยู่ด้วยกัน และเพื่อนอื่นๆ ที่มาเยี่ยมแล้วรู้จัก ต่างรักในนิสัยสุภาพ และ ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ได้พบเห็นซึ่งเป็นสิ่งที่มาได้ยาก ในเด็กรุ่นเดียวกัน ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นบุญญกิริยาวัตถุอย่างหนึ่ง ใครทำแล้วได้บุญทันตาเห็น

นอกเหนือจากเรื่องดูหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบแล้ว วันหยุดเรียน เสาร์-อาทิตย์ ที่ไม่มีการเรียนเร่งด่วน สองหนุ่มก็มักพากันไปเรียนวิชาปลุกพระ ปลุกเสกเลขยันตร์ อยู่ยงคงกระพันหนังเหนียว เรียนแล้วก็มาลองวิชากันที่บ้านพัก เป็นที่อกสั่นขวัญแขวงของป้าและเพื่อน ปลุกพระก็มีอาการตัวสั่น นั่งหลับตาตัวกระดอนไปมา เสียงโครมครามลั่นบ้าน ส่วนเรื่องหนังเหนียว บางทีป้ากำลังช่วยเพื่อนทำกับข้าวตอนเย็น เอามีดปังตอสับหมูอยู่ป๊อกๆ น้องชายวิ่งเข้ามาอย่างรวดเร็ว

" พี่ ๆ ยืมปังตอหน่อยครับ แป๊บเดียว จะลองวิชาหนังเหนียวหน่อย " ว่าแล้วก็แย่งมีดในมือป้าไป ป้าตกใจสุดขีด มีดลับไว้คมกริบ เดี๋ยวได้แผลกันแหวะหวะ รีบวิ่งตามไปจะเอามีดคืน ไปไม่ทัน ทั้งคู่ผลัดกันฟันแขนเต็มแรงเสียแล้ว ก็เป็นเรื่องแปลก หนังเหนียวกันได้จริงเหมือนกัน ฟันลงไปผิวหนังไม่ขาดออกจากกันเป็นผลก็จริง แต่น้ำหนักมือคงจะแรงอยู่ไม่น้อย ทำให้เนื้อเป็นรอยช้ำ เป็นทางยาใอยู่ใต้ผิวหนังกระทั่งทุกวันนี้ นานกว่า ๓๐ ปีแล้ว แขนน้องชายป้าก็ยังมีรอยดังกล่าวอยู่

บางครั้งทั้งคู่หายกันไปเป็นวันๆ กลับมาถึงบ้าน มานั่งทำพิธีเสกปรอทเข้าตัว เวลานั้นป้าไม่เข้าใจ พลอยเห็นเป็นเรื่องแปลกไปด้วย เวลาเอาปรอทวางในฝ่ามือบริกรรมคาถา เอามือถูที่ปรอทถูไปถูมา ปรอทก็หายเข้าฝ่ามือไปหมดเกลี้ยง แล้วก็เชื่อกันว่า ใครมีปรอทเข้าไปในตัวแล้ว ทำให้หนังเหนียว แต่ความจริงปรอทเป็นสารที่มีเนื้อละเอียดกว่าเนื้อคนเรา ผิวหนังคนเราเป็นของหยาบ มีรูขุมขนอยู่เต็มไปหมด พอเอาปรอทมาถู ปรอทก็จะลอดผิวหนังเข้าไปได้เอง ไม่ต้องเสกคาถาอะไร ใครๆ ก็ทำได้ ส่วนที่ทำให้เกิดอาการหนังเหนียว เป็นเพราะอำนาจความเชื่อของคน เมื่อเชื่อมากเต็มที่ ก็ทำให้ใจมีพลัง ทำให้ร่างกายผลิตสารชนิดหนึ่งออกมา ทำให้เกิดอาการหนังเหนียวได้เอง ไม่ใช่ความสามารถของปรอท ปรอทเสียอีก ให้โทษต่อร่างกาย เข้าไปแล้งอาจไปเกาะอยู่ตามกระดูก ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกี่ยวกับข้อหรือกระดูก

หนุ่มสองคนนี้ ยิ่งไปเรียนเดรัจฉานวิชาดังกล่าวมา ก็ยิ่งรักใคร่สนิทสนมกันมากขึ้นราวกับเป็นเพื่อนร่วมตาย มาห่างเหินกัน ก็ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย

แต่เดิมมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสิทธิสอบคัดเลือก รับสมัครนิสิตนักศึกษาใหม่ของตนเองและมักเปิดรับไม่พร้อมกัน ทำให้นักเรียนที่จบชั้นเตรียมอุดมศึกษา ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ต้องไปสมัครเผื่อไว้แทบทุกแห่ง พอประกาศผลสอบ บางตนสอบติด ๒-๓ แห่ง พอตัดสินใจเรียนที่ใดที่หนึ่ง ก็ต้องสละสิทธิที่อื่น ทำให้ทางมหาวิทยาลัย ยุ่งยากเรียกตัวสำรอง เพราะบางทีตัวสำรอง ก็ไปสอบได้ที่อื่น และชำระเงินค่าเล่าเรียนไปแล้ว ต้องสละสิทธิต่อบ้างเสียโอกาสบ้าง ดูยุ่งไปหมด

ในปีที่น้องชายของป้าเรียนจบ ทุกมหาวิทยาลัยใช้วิธีสอบรวมกัน เป็นปีแรก ที่สมัยนี้เรียกสอบเอ็นทรานซ์ ตัดปัญหาไปได้หลายเรื่องก็จริง แต่นักเรียนก็เสียโอกาสไปในตัวไม่น้อย เช่น เลือกมหาวิทยาลัยเกินความสามารถของตนไป เลือกคณะวิชาเกินสติปัญญาของตนไป เลือกเรียนเพราะติดเพื่อนก็มี ทำให้ผิดหวังไปตามๆ กัน

น้องชายของป้ากับเพื่อนรัก จากกันตอนนี้ เพื่อนสอบได้เรียนที่ มหาวิทลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน น้องของป้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด เพราะเลือกสูงเกินไป จึงต้องเปลี่ยนชีวิตไปเข้ากรมป่าไม้ และเรียนต่อในโรงเรียนป่าไม้แพร่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในที่สุด

ป้าได้พบคุณเผด็จอยู่ ๒ ครั้ง ในปี ๒๕๐๓ พิธีแต่งงานของป้า และปี ๒๕๐๖ วันส่งคุณเผด็จ ที่ดอนเมือง เพื่อไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย

ส่วนวันคุณเผด็จขึ้นเครื่องไปเรียนต่อ ป้าร้อยพวงมาลัยสวมคอ ด้วยฝีมือของป้าเอง ดอกไม้ชนิดต่างๆ ที่ใช้ ป้าขอจากภารโรงที่รู้จักกัน อยู่โรงเรียนใกล้ๆ บ้าน ครั้งนี้เป็นการจากกันนานหน่อย พบกันอีกครั้งและตลอดมา ในปี ๒๕๑๑ นานถึง ๕ ปีที่ป้าไม่ได้ข่าวคราวเอาเลย

ชีวิตของป้าในระหว่างนั้น วุ่นวายอยู่กับเรื่องทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว ก่อนแต่งงานเลี้ยงดูเฉพาะ พ่อแม่ และส่งเสียน้องสองคนเล่าเรียน พอหลังแต่งงานก็เพิ่มสมาชิก ที่ต้องรับผิดชอบอีกหลายชีวิต มีทั้งลูกทั้งหลานทั้งลูกจ้าง

มีเรื่องหนึ่งที่ป้าเล่าไว้ในหนังสือจากความทรงจำ เป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นต้นเหตุที่ทำให้ป้าคิดสร้างวัด คือเรื่องชื่อของป้าที่เหมือนผู้ชาย ตอนเรียนหนังสือ เก้าอี้นั่งเรียนถูกจัดตามตัวอักษร เลยต้องนั่งอยู่ในกลุ่มเพื่อนผู้ชาย ซึ่งสมัยนั้นพากันนิยมเลื่อมใส ลัทธิคอมมิวนิสต์ ป้าก็ถูกเป่าหูให้คล้อยตามไปด้วย แต่ที่ป้าไม่เข้าร่วมขบวนการ เพราะ สะดุดใจ ในคำสอนเรื่องพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ พ่อแม่รักป้ามาก ยอมเสียสละอะไรๆ ให้ป้าตลอดมา ป้ายอมรับคำสอนว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณไม่ได้ แต่คำสอนที่ว่าศาสนาเป็นกาฝากของสังคม พวกนักบวชเป็นผู้เอาเปรียบ ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำมาหากิน อยู่กันสุขสบาย เรื่องนี้ป้ามีความเห็นคล้อยตาม

ที่รู้สึกผิดเป็นอย่างยิ่ง คือมีอยู่วันหนึ่ง ป้ากับเพื่อนสตรีผู้หนึ่งพร้อมด้วยคนรักของเธอ ไปธุระกันที่อำเภอบางกะปิ ขณะที่ขับรถส่วนตัวกลับมาตามทาง ฝนตกหนักมาก สองข้างทางสมัยนั้นไม่มีบ้านผู้คนเลย มีแต่ทุ่งนา ริมถนนมีพระภิกษุเดินตากฝนตัวเปียกอยู่รูปหนึ่ง เสียงคนรักของเพื่อน ผู้ซึ่งมีจิตใจฝักใฝ่ในลัทธิฝ่ายซ้ายเต็มที่ เพราะมีบิดานิยมลัทธิดังกล่าว และถูกฝ่ายรัฐบาลจับตัวไปฆ่าทิ้ง หัวเราะขึ้นอย่างขบขันปนความชิงชัง

" คุณถวิล ดูซิ นั่นกาฝากสังคมเดินอยู่ข้างถนนนั่น ไม่รู้จักทำมาหากิน ปล่อยให้เดินตากฝนให้สบาย " แล้วทั้งสองคนก็หัวเราะกันต่อ ป้าหัวเราะตามไปด้วยนิดหน่อย แล้วหยุดกึกคิดขึ้นมาว่า

" นี่ถ้าเป็นคนธรรมดา เดินอยู่อย่างนี้ เราก็แวะจอดรถรับตัว ให้นั่งไปด้วยแล้ว เพราะถนนสายนี้ ไม่มีรถเมล์หรือรถรับจ้างอะไรเลย เพียงแต่ห่มผ้าเหลืองต่างจากชาวบ้านเท่านั้น เราไม่จอดรถรับ อย่างงี้เราสามคนทำผิดหรือถูกกันแน่ เป็นคนใจร้ายหรือเปล่า " ป้าถามตนเองแล้วหาคำตอบไม่ได้ ค้างใจตลอดมา

จนปี ๒๕๐๖ ก่อนคุณเผด็จไปเมืองนอก เวลานั้นป้าทำงานอยู่หน้าห้องท่านรองอธิบดี ใกล้ๆ เวลาเลิกงานวันหนึ่ง ท่านรองอธิบดีออกมาพูดกับทุกๆ คนดังๆ ว่า

" เย็นนี้ที่หอประชุมคุรุสภา หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ จะมาแสดงปาฐกถาธรรม ใครจะไปฟังกับผมมั่ง " จำนวนคนทำงานในห้องนั้นราวๆ ๓๐ คน ทุกคนเงียบกริบ ไม่มีใครตอบผู้บังคับบัญชา ป้ามองไปเห็นมีข้าราชการหนุ่มท่านหนึ่ง ชื่อ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ยกมือขึ้น แสดงว่าไปด้วยเพียงคนเดียว

ในทันทีนั้น ป้าก็รีบยกตามขึ้นอีกคนหนึ่ง ป้าทราบว่า ดร. เอกวิทย์ เป็นผู้เลื่อมสอนในคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุอยู่ ส่วนป้านั้นไม่มีความรู้ทางพุทธศาสนาอะไรเลย ยกมือเอาใจเจ้านายไปเท่านั้น เกรงท่านผิดหวัง และบางทีการแสดงความสนใจ ในสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาสนใจอยู่ อาจจะได้รับความเอ็นดูพิเศษ ป้าคิดของป้าตื้นๆ แค่นี้ แล้วก็ยังคิดต่อว่า ตอนเย็นเวลาไป จะไปนั่งแถวหลังสุด พอคนเผลอก็จะแอบหนีออกทางด้านหลัง ไม่มีใครเห็น รีบกลับบ้าน เพราะลูกคนที่สองยังเล็ก จะรอกินนมแม่

แต่แล้วเย็นวันนั้น ขณะป้าฟังปาฐกถาธรรมเรื่องสุญญตา ป้าก็เข้าใจหลักธรรมเหล่านั้นโดยแจ่มแจ้ง เหมือนเป็นเรื่องเคยเรียนมาแล้ว พอมีใครทบทวนให้ ก็เข้าใจกระจ่าง ป้าจึงลืมเรื่องหนีกลับ ฟังจนเลิก เป็นเวลาค่ำ ความปีติใจมีมาก น้ำตาไหลพรากๆ ตลอดเวลาเดินกลับบ้าน ดีที่ไม่มีใครเห็น ขนตามตัว ตลอดจนเส้นผมบนศรีษะ ลุกชูชันอยู่เป็นระยะ ตัวเนื้อเบาประหลาด

นับแต่เย็นวันนั้น ป้าก็ตามผู้บังคับบัญชาไปฟังอีกทุกเย็น รวม ๑๐ วัน คำตอบที่ตนเองได้รับคือ หลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น เป็นของหาค่าไม่ได้ พระสงฆ์เป็นผู้สืบศาสนา ย่อมเป็นผู้ทรงคุณค่าสูงส่ง การดูถูกดูหมิ่นพระภิกษุ ย่อมนับว่าเป็นบาปกรรมหนัก เวลานั้นป้าก็พลันนึกหวนเสียใจ ในเหตุการณืที่เล่าไว้ ในวันฝนตกดังกล่าวแล้ว คิดขึ้นในขณะนั้นว่า " ถ้ามีอะไรไถ่บาป ความนึกคิด ที่เคยล่วงเกินเหล่านั้นได้ จะกระทำทันที "

ต่อจากนั้นป้าก็หาหนังสือธรรมะต่างๆ มาอ่าน ตลอดจนซื้อหนังสือทุกเล่มของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ อ่านแล้วอ่านอีก เล่มหนึ่งๆ หลายเที่ยว ได้ความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนมากมาย

กระทั่งเดือนสิงหาคม ๒๕๐๗ ป้าได้รับแต่งตั้งจากทางราชการ ให้คุมข้อสอบเลื่อนชั้นของข้าราชการไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ป้าได้เจ็บป่วยเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ในรถไฟขณะเดินทาง ความเจ็บป่วยในท้องครั้งนั้นรุนแรงมาก จนทำให้นึกถึงธรรมฝ่ายปฏิบัติ เพราะฝ่ายปริยัติที่ศึกษาเล่าเรียนมา ช่วยอะไรไม่ได้เลย กลับไปนึกถึงข่าวในหนังสือพิมพ์ที่เคยอ่านพบว่า มีสมภารวัดบ้านนอกรูปหนึ่งอาพาธ แพทย์จะลองวางยาสลบเพื่อทำการผ่าตัดลำไส้บางส่วนออก ท่านขอร้องหมอว่า ไม่ต้องวางยาสลบให้ท่าน

ขอเพียงกำหนดเวลาว่า จะต้องใช้กี่ชั่วโมงในการผ่า แล้วท่านสมภารรูปนั้นก็ทำสมาธิจิต แยกกายกับใจออกจากกัยชั่วคราว จิตใจท่านก็ไม่รับรู้ทุกขเวทนาใดๆ ตลอดเวลาผ่าตัด ครั้งนั้นป้าอยากเรียนธรรมปฏิบัติขึ้นมาจับใจ

พอหายป่วยคราวนั้น ป้าก็เริ่มซื้อหนังสือมาฝึกหัดปฏิบัติธรรม ด้วยตนเอง เริ่มด้วยการฝึกอานาปาณสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก การฝึกที่ไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอน อบรมใกล้ชิดมีอุปสรรคมาก บ่อยครั้งที่มีประสบการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาอย่างไร ยกตัวอย่างกรณีของป้า ป้าฝึกจนสามารถเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกห้องที่นั่งปฏิบัติอยู่ เห็นทั้งที่หลับตา ป้าก็ไม่ทราบจะทำอย่างไรต่อ จะเดินทางไปนมัสการถามพระภิกษุ ที่ตนเองศรัธทาท่านก็อยู่ไกลเกินไป สำหรับพระภิกษุที่อยู่ในเมืองป้าก็ไม่เกิดศรัธทา การปฏิบัติธรรมของป้าจึงไม่ก้าวหน้า

เวลานั้นเอง ตำแหน่งราชการของป้า ก็ดันเหมือนปัญหาการปฏิบัติธรรม คือมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนก เป็นข้าราชการชั้นโทเต็มขั้น ถ้าเลื่อนเป็นชั้นเอก ต้องมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากอง ทางราชการในยุคนั้น ไม่นิยมให้ผู้หญิงเป็นหัวหน้ากอง อ้างว่าไม่สะดวก ในการออกตรวจราชการในต่างจังหวัด ข้าราขการสตรีในกระทรวง จำนวนไม่น้อยต้องเสียโอกาส สำหรับป้าได้รับความเมตตาจากผู้บังคับบัญชา อยู่เสมอ เลื่อนตำแหน่งในกรมไม่สะดวก ท่านก็ให้ป้าย้ายออกไปเป็นหัวหน้าสถานศึกษา ที่สามารถเลื่อนชั้นได้

ได้เลื่อนตำแหน่งเลื่อนชั้นก็จริง แต่ก็เป็นทุกขลาภ เพราะสถานศึกษาแห่งนั้นสร้างขึ้นใหม่ อยู่ใกล้ท่าเรือคลองเตย เต็มไปด้วยนักเรียนที่มีปัญหาครอบครัว โดยเฉพาะความยากจน พอดีกับเวลานั้น งบประมาณของประเทศเริ่ใขาดแคลน ตัดอัตรากำลังการจ้างครูใหม่ออกไปมาก ทางราชการจึงแก้ปัญหา ด้วยวิธีย้ายครูจากโรงเรียนที่มีครูมาก ให้ตั้งโรงเรียนใหม่

ป้าต้องเผชิญปัญหาหนักที่สุด ทั้งเรื่องของนักเรียรและครู ยังโชคดีที่ผู้บังคับบัญชาเข้าใจบ้าง คัวป้าเองเริ่มสนใจ หลักคำสอนของพุทธศาสนาแล้วบ้าง จึงพอได้ช่วยปัญหาจากหนักให้เป็นเบา ได้เป็นครั้งคราว เวลานั้นป้าต้องการกำลังใจ ในการทำงานมาก การต้องเผชิญปัญหาของนักเรียนและครู อยู่เป็นประจำวัน ทำให้เบื่อหน่ายหน้าที่การงานเป็นที่สุด ถ้าขอลดตำแหน่งและเงินเดือนเหลือเท่านเดิม และให้กลับไปทำงานที่กนะทรวงอย่างเก่า ป้าก็ยอม

ขณะเดียวกันนั้นเอง ปลายปี ๒๕๑๑ เหมือนบุญบันดาล ทำให้ป้ามีโอกาสได้พบหนทางสว่างของชีวิต มีกำลังใจที่เข็มแข็งเกิดขึ้น จะเล่าให้ฟัง

วันหนึ่งน้องชายของป้า ซึ่งทำงานอยู่จันทบุรี เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาบ้านป้า เพื่อจะมาดูหนังจีนกำลังภายใน นำแสดงโดนดาราจีนมีชื่อเสียงโด่งดัง ชื่อหวังอยู่ ฉายที่โรงภาพยนต์ใกล้หัวลำโพง เรื่องเดชไอ้ด้วน ภาค ๒ แต่เดิมป้าก็ชอบดู ต่อมาเมื่อมีลูก มีภาระในบ้านมาก จึงเลิกไปโดยปริยาย ทั้งป้าและน้องชาย เคยอ่านนิยายจีนกำลังภายใน ติดกันงอมแงม โดยเฉพาะน้องชาย เสียเงินเช่าหนังสือมาอ่านเป็นประจำ

วันนั้นกลับจากดูหนัง น้องได้พาเพื่อนคือคุณเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ มาด้วย เราดีใจกันมาก ป้าถามน้องว่าไปพบตัวกันได้อย่างไร น้องเล่าให้ฟังว่า พบที่โรงภาพยนต์

" ผมตีตั๋วได้แล้ว กำลังยืนรอคนรอบแรกออกจากโรง ผมได้ยินเสียงหัวเราะดังอยู่ชั้นบนของโรงภาพยนต์ เป็นเสียงหนึ่งไม่มีสอง เป็นเอกลักษณ์ของเผด็จเค้าเฉพาะตัว เค้าหัวเราะเป็นระยะๆ ผมเลยเดินเบียดผู้คน ที่กำลังออกจากโรงมาแน่นมาก เดินไปตามเสียง พบเผด็จมาดูหนังกับเพื่อนอีก ๒ คน เราดีใจกันใหญ่ นัดพบกันหลังหนังเลิก นี่พาผมไปวัดปากน้ำ พบคุณยายจันทร์มาแล้ว และขอกลับมาเยี่ยมพี่ " น้องชายเล่าวิธีพบกันให้ป้าฟังเสียยืดยาว

คุณเผด็จยังยิ้มเก่ง อ่อนน้อมสุภาพอยู่เหมือนเดิม หลังจากรับประทานอาหารเย็นและเล่าสารทุกข์สุกดิบให้ฟังกันแล้ว คุณเผด็จก็หยิบหนังสือธรรมะ ของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุที่ป้าซื้อมาอ่าน มองดูผ่านๆ พูดขึ้นเปรยๆ ว่า " พี่สนใจเรื่องพุทธศาสนาด้วยหรือครับ"

" พี่ก็ชอบอ่านหนังสือธรรมะบ้างเหมือนกัน อ่านแล้วก็ได้รู้อะไรๆ ขึ้นมั่ง " ป้าตอบ

" การอ่านทำให้ได้รู้ ก็ดีเหมือนกัน แต่ถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้น ต้องทั้งรู้ทั้งเห็น ครับพี่ " อีกฝ่ายตอบ

คำว่า "ทั้งรู้ทั้งเห็น" เป็นคำแหลกใหม่ สะดุดใจป้าอย่างแรง จึงได้เริ่มซักไซ้ ให้อีกฝ่ายอธิบาย แรกๆ คนในบ้านทุกคนก็นั่งฟังอยู่ด้วย ครั้งดึกเข้าก็ไปนอนทีละคนสองคน เหลือเพียงป้ากับลูกชายคนโตชื่อเล่นว่าใหญ่ อายุ ๗ ขวบ นั่งฟังกันเลยเที่ยงคืน ป้ากับลูกรู้สึกดีใจ รู้สึกเบิกบานลืมง่วงนอน

เรื่องที่คุณเผด็จเล่าคือ การปฏิบัติธรรมแนววิชชาธรรมกาย ของหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ว่าเป็นแนวปฏิบัติ ที่ทำให้ทั้งรู้ทั้งเห็นได้จริง เล่าเรื่องของบ้านธรรมประสิทธิ์ ซึ่งมีคุณยายอาจารย์ อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์เอกของหลวงพ่อวัดปากน้ำ เป็นผู้ให้การอบรมสั่งสอนปฏิบัติธรรม หลังจากหลวงพ่อมาณะภาพแล้ว เล่าถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษาและข้าราชการ จำนวนเป็นสิบ ที่มาให้คุณยายสอนธรรมปฏิบัติให้

คืนนั้นป้าฟังด้วยความเพลิดเพลินและอิ่มอกอิ่มใจ ตั้งใจว่าจะไปที่บ้านธรรมประสิทธิ์ในวัดปากน้ำให้ได้ รุ่งเช้าคุณเผด็จก็จากไปทำงาน แต่ก็บอกวิธีเดินทางด้วยรถเมล์ไปบ้านธรรมประสิทธิ์ไว้ให้ ลูกชายได้ถามป้าว่า " แม่จะไปวัดปากน้ำเมื่อไหร่ครับ หนูจะไปกะแม่ด้วย "

" เราต้องไปกันวันหยุด เสาร์-อาทิตย์น่ะลูก วันธรรมดาลูกก็ไปโรงเรียน แม่ก็ไปทำงาน กลับถึงบ้านกันก็เย็นมากแล้ว ไปไหนกันไม่ไหว " ข้าพเจ้าตอบ

แต่พอถึงวันเสาร์อาทิตย์ ป้าก็วุ่นกับเรื่องลูก คนโต ๗ ขวบ คนมี่สองยังไม่ถึง ๖ ขวบ คนเล็กก็เพิ่ง ๒ ขวบเศษ ป้าต้องดูแลเต็มที่ทั้งสองวัน เพื่อให้เด็กลูกจ้างรีดผ้า เรื่องไปวัดก็เหมือนจะถูกลืม ลูกชายคนโตรบเร้าป้าทุกอาทิตย์ ป้าก็ชอลผลัดอยู่เรื่อยๆ

ครั้นผ่านไปหลายอาทิตย์เข้า ลูกชายก็ยื่นคำขาดกับป้าว่า " แม่ครับ หนูไม่เห็นแม่ไปวัดตามที่แม่บอกน้า เด็ดซะที หนูไม่คอยแม่แล้ว หนูจะไปเอง" เมื่อถูกลูกชายวัย ๗ ขวบ พูดอย่างนี้ ป้าก็ย้อนถามว่า "หนูจะไปยังไงกันลูก วัดนี้อยู่ไกลนะลูก"

" ไปถูกซิครับแม่ น้า เด็ดบอกว่า สุดทางรถเมล์สาย ๔ สาย ๙ สาย ๖๖ ก็ถึงวัดพอดี ที่หน้าโรงเรียนของหนูมีรถเมล์สายนั้นวิ่งผ่าน หนูจะขึ้นรถสายนั้นไปวัดคนเดียว อาทิตย์นี้แหละครับ "

ด้วยความเป็นห่วงลูก เวลานั้นแกเป็นเด็กรูปร่างหน้าตาน่ารักมาก กลัวว่าอาจจะหลงทาง หรือถูกใครจับตัวไปขาย ตามที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ ป้าจึงพาลูกชายคนโตไปบ้านธรรมประสิทธิ์ ในบ่ายวันอาทิตย์ต้นเดือน ปลายปี ๒๕๑๑

อุบาสิกา ถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล



คนที่ไม่มีปัญหาคือคนที่ไม่ได้ทำ

#3 Daemusin

Daemusin
  • Members
  • 133 โพสต์

โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 01:12 PM

อุบาสิกา ถวิล - บทที่สาม - มงคลชีวิตข้อสอง คบบัณฑิต

ป้าได้พบคุณยายอาจารย์เป็นคนแรก ท่านนั่งอยู่ตรงประตูบ้าน ผิวเนื้อท่านไม่ขาวนัก รูปร่างผอม มีที่ป้าสะดุดใจมากคือดวงตาของคุณยาย เวลานั้นคุณยายอายุ ๖๐ ปี ดวงตาของท่านใสแต่คมกริบ เวลามองดูเรา ทุกคนจะคิดเหมือนกันว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นความลับสำหรับท่านเลย ป้าเองเห็นแล้ว รู้สึกเคารพและไว้วางใจขึ้นมาทันที มีความรู้สึกว่า ผู้ใหญ่ท่านนี้ เป็นคนมีความจริงใจให้ทุกคน

ต่อจากนั้นป้ากับลูกคนโตและคนรองก็ได้ไปที่บ้านธรรมประสิทธิ์แทบทุกอาทิตย์ ที่นั่นมีหมู่คณะไปปฏิบัติธรรมร่วมกันอยู่หลายสิบคน บางคนไปทุกเย็น บางคนไปเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์

เมื่อไปหลายเดือนเข้า ความคุ้นเคยในหมู่คณะก็มีมากขึ้น จึงเห็นได้ว่า บุคคลที่มาเป็นลูกศิษย์คุณยาย เป็นหมู่คณะที่น่าชื่นชมมาก เพราะแม้จะมาจากที่ต่างกัน อาชีพต่างกัน ก็มีความสามัคคี รักใคร่สนิทสนมกัน เหมือนญาติพี่น้อง ใครมีเรื่องเดือดร้อนสิ่งใดก็จะนำมาบอกเล่า หมู่คณะก็ช่วยกันหาทางแก้ไข คุณยายจะเป็นประธาน ในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องทางธรรม เรื่องครอบครัว เรื่องหน้าที่การงาน

กลุ่มที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือกลุ่มนักศึกษาที่มาปฏิบัติธรรม มากันจากหลายสถาบัน ที่มีจำนวนมากหน่อยคือ มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้เป็นหัวหน้านำเพื่อนๆ มาได้แก่ คุณเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ ส่วนคุณเผด็จเอง นิสิตรุ่นน้องชื่อไชยบูลย์ สุทธิผล เป็นคนชักชวนให้มาเรียนปฏิบัติธรรม

ป้าต้องขอเล่าความเกี่ยวข้องของบุคคลทั้งสองไว้โดยย่อๆ เพราะขณะนี้ ปี ๒๕๓๖ คุณไชยบูลย์ สิทธิผล คือพระเดชพระคุณเจ้าคุณพระสุธรรมยานเถระ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และคุณเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ คือพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

หลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านสนใจการปฏิบัติธรรม มาตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี คงจะเป็นเพราะ ท่านมีบารมีติดตัวจากชาติในอดีตมามาก เมื่อต้องมาเกิดในครอบครัว ที่พ่อแม่แตกแยกกัน แทนที่จะเป็นเด็กมีปัญหาเหมือนเด็กทั่วไป ท่านกลับมีปัญญาพิจารณาความทุกข์ยากของชีวิตครองเรือน ใคร่ทำชีวิตตนเองให้มีประโยชน์ที่สุด จึงอ่านประวัติของบุคคลสำคัญต่างๆ ทั้งของประเทศและของโลก เพื่อจะได้ทำตาม ในที่สุดได้อ่านพบ ประวัติชีวิตของหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ (พระมงคลเทพมุนี) ถูกใจมากที่สุด ได้ลงมือปฏิบัติธรรมตามอย่าง ทั้งที่กระทำด้วยตนเอง และแสวงหาผู้รู้ ให้การอบรมสั่งสอน กระทั่งได้พบและเป็นศิษย์ ของคุณยายอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์เอกของหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ

ผลการปฏิบัติธรรมก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นผู้มีพลังจิตเข้มแข็งกว่าคนทั่วไป ในขณะเดียวกันก็ยังศึกษาเล่าเรียน อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน)

เหตุที่ได้พบกับหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส เนื่องจากหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส เป็นนิสิตรุ่นพี่ยังเรียนไม่จบได้ทุนไปเรียนต่อ ที่ประเทศออสเตรเลีย ท่านได้กลับมาเรียนต่อใหม่เพื่อให้จบ จึงได้มาพบกัน ขณะนั้นหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส เรียนเดรัจฉานวิชาไว้มาก เล่นเรื่องหนังเหนียว อยู่ยงคงกระพัน ชอบแสดงให้เพื่อนฝูงเห็นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนังเหนียว เรื่องทนความร้อน เอามือจุ่มในกระทะน้ำมัน ที่เดือดพล่าน เป็นต้น

หลวงพ่อเจ้าอาวาสเห็นเข้ามีความเมตตา ต้องการให้หันมาสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรม ได้ชักชวนให้เป็นศิษย์คุณยายอาจารย์ด้วยกัน แรกๆ มีปัญหามาก ซักถามปัญหาธรรมต่างๆ ทุกคืน เป็นแรมเดือน (ทุกครั้งที่ถามปัญหาธรรมะ หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสจะให้หลวงพ่อเจ้าอาวาสขึ้นไปอยู่บนเตียงของท่าน ส่วนท่านเองลงไปอยู่ที่พื้นห้อง ) คุณยายอาจารย์ได้เคยปรารภกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสว่า บุคคลนี้จะเป็นกำลัง ในการสร้างบารมีต่อไปภายหน้า

เมื่อหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสมา เรียนปฏิบัติธรรมกับคุณยายอาจารย์ คุณายาฯ ก็ต้องใช้การอดทนในสอนเป็นพิเศษ เพราะเหตุที่เคยเรียนเดรัจฉานวิชาไว้มาก ทำมิจฉาสมาธิแบบกลั้นลมหายใจ เมื่อมาปฏิบัติธรรมจึงติดนิสัย กลั้นลมหายใจ ทำให้การปฏิบัติธรรมีอุปสรรค ยังมีผลบาปเรื่องปาณาติบาต เพราะเรียนสัตวบาล ฆ่าสัตว์ มีวัว หมู เป็ด ไก่ ฯลฯ ไว้มาก เวลาปฏิบัติธรรม มักเห็นสัตว์เหล่านั้นมีเลือดท่วมตัว เป็นภาพนิมิตในสมาธิ คุณยายอาจารย์ต้องเหน็ดเหนื่อยแก้ไข ในที่สุดก็ปฏิบัติธรรมได้ผล

จากนั้นหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ก็ชักชวนเพื่อนนิสิต ทั้งรุ่นเดียวกันและรุ่นน้องๆ ให้มาเรียนปฏิบัติธรรมกับคุณยายอาจารย์ ที่บัานธรรมประสิทธิ์ได้หลายคน มีทั้งที่เอาจริง และไม่เอาจริง

ป้าเห็นนิสิตนักศึกษามาจากหลายสถาบัน มาร่วมใจกันปฏิบัติธรรมทุกเย็น ที่บ้านพักคุณยายฯ ป้ารู้สึกชื่นชมเป็นพิเศษ เพราะไม่เคยเห็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว สนใจเรื่องแบบนี้ เห็นแต่ชอบเที่ยวเตร่สนุกสนาน เมื่อมาพบเด็กหนุ่มสาวที่เลิกเรียนจากตอนกลางวัน ก็มาชุมนุมกันฟังธรรม และปฏิบัติธรรมในตอนเย็นทุกเย็น ทำให้ป้าหวนคิดถึงบรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษาในสถาบันต่างๆ เวลานั้น ล้วนแต่สนใจฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ กันเป็นจำนวนมาก มีการชุมนุมเรื่องการเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง บ้านเมืองไม่สงบสุข ส่วนประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม เขมร ลาว และพม่า ล้วนแต่ตกอยู่ในอำนาจลัทธิมิจฉาทิฏฐิ ดังกล่าว มีสงครามภายในประเทศกันอย่างรุนแรง ผู้คนล้มตายกันเป็นล้านๆ คน

ในความคิดเห็นของป้าเห็นว่า บ้านเมืองของเรา ถ้าปล่อยปละละเลยเยาวชนของชาติให้สนใจลัทธิดังกล่าวต่อไป คงจะต้องเกิดสงครามกลางเมือง อย่างประเทศเหล่านั้นแน่นอน วิธีแก้ไขมีอยู่หนทางเดียว คือการให้เยาวชนทุกระดับการศึกษา สนใจและปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา

ทีนี้พระภิกษุของพุทธศาสนา ในประเทศของเราเวลานั้น ที่มีชื่อเสียงส่วนมากเป็นพระเถระมีอายุ เด็กหนุ่มสาวไม่สนใจ บางทียังถือตัวว่ามีความรู้ทางโลกสูงกว่า ไม่เห็นความสำคัญของคำสั่งสอนอบรม ไม่ว่าสอนดีเพียงใด

ป้ามาพบเด็กหนุ่มสาวทั้งที่จบปริญญาแล้ว และกำลังศึกษาอยู่ สนใจเรื่องศาสนาอย่างหมู่คณะที่บ้านธรรมประสิทธิดังนี้ ป้าก็คิดปรารถนาให้หมู่คณะ ทำงานเผยแผ่อบรมสั่งสอนเยาวชน ที่ถือตัวว่าเป็นปัญญาชน เพราะเด็กเหล่านั้นจะยอมรับได้ เมื่อมีความรู้ทางโลก ในระดับมหาวิทยาลัยเหมือนกัน ก็จะสอนกันได้รู้เรื่อง เข้าใจจิตใจกันได้ดี

ป้าคิดกระทั่งว่า " แหม อยากให้หนุ่มๆ เหล่านี้ บวชเป็นพระให้หมดก็ดีนะซี บวชแล้วศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แล้วอุทิศตัวเผยแผ่ศาสนา คงจะหันกลับใจพวกนิสิตนักศึกษา ที่กำลังบ้าลัทธิคอมมิวนิสต์กัน บ้านเมืองของเราจะได้ไม่ลุกเป็นไฟ อย่างประเทศอื่น " ป้าคิดอย่างนั้นจริงๆ

ยิ่งได้ฟังธรรมปฏิบัติอันลุ่มลึกต่างๆ จากคุณยาย และเห็นผู้ปฏิบัติ ที่มีอภิญญาจิตสามารถมีความรู้พิเศษเป็นอัศจรรย์ ป้าก็ยิ่งหวนนึกเสียใจ และสำนึกผิดในมิจฉาทิฏฐิ ที่ตนเองเคยมี ที่เล่าไว้ข้างต้น และก็ตั้งใจแน่วแน่มั่นคงว่า หากมีหนทางใดสนับสนุน ให้บรรดากลุ่มปัญญาชนผู้ปฏิบัติธรรม ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ของคุณยายฯ บวชอุทิศชีวิตทำงานเผยแผ่พุทธศาสนา ต้านทานลัทธิมหาภัย ที่กำลังคุกคามเยาวชนของชาติอยู่ในขณะนั้นได้ ป้าจะพยายามช่วยอย่างเต็มที่ ป้าคิดเอาไว้โดยที่ไม่ทราบมาก่อนเลยว่า จะตรงกันกับความคิดคุณยาย

คุณยายท่านคิด เพราะต้องการสืบต่อวิชชาภาวนาขั้นสูง ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ และเพื่อบุญกุศลที่จะเกิดขึ้นกับตัวคุณยายฯ เอง รวมทั้งเพื่อช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข็ให้มากที่สุด ส่วนป้าคิดตื้นๆ แค่ว่า ถ้าทำงานนี้สำเร็จ บาปของป้าที่เคยมีมิจฉาทิฏฐิ คงจะลดน้อยลง และอาจจะเป็นวิธีช่วยชาติบ้านเมือง ที่ดีที่สุด ไม่ให้ร้อนเป็นไฟเหมือนประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายเหล่านั้น แล้ววันหนึ่งฝันนั้น ก็เริ่มก่อเค้าความเป็นจริงให้เห็น

วันนั้นเป็นวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๑ ครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ ๖๐ ของคุณยายอาจารย์ มีหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส คุณสุวิทย์ สิทธิชัยเกษม (ปัจจุบันคือท่านสุวิชาภิกขุ) และคนอื่นอีก ๒ คนรวม ๔ คน ได้ตั้งสัตยาธิษฐานเป็นของขวัญวันเกิดให้คุณยายฯ ขออยู่เป็นโสด ประพฤติพหรมจรรย์ ตั้งใจปฏิบัติธรรม และช่วยงานพระศาสนาไปจนตลอดชีวิต

สาเหตุที่บุคคลทั้ง ๔ กระทำดังนี้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็น คือหลวงพ่อเจ้าอาวาสได้กระทำก่อนเป็นคนแรก ( ในวันคล้ายวันเกิดคุณยายฯ ปีก่อน) เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อคุณยายฯ

เมื่อมีตัวอย่างผู้ตั้งสัจจะ ไม่ครองเรือนเกิดขึ้น ก็มีผู้คิดทำตามอีกนับสิบราย ต่างคิดกันว่า จะกระทำในวันคล้ายวันเกิดของคุณยายฯ ในปีถัดไป

แม้จะมีการปฏิญาณตนถึงขนาดนี้ แต่ก็ยังไม่มีใครคิดเรื่องการบวช คิดกันแต่ว่าเมื่อเรียนจบมีงานทำ ก็จะช่วยกันเก็บหอมรอมริบ สร้างบ้านพักชายโสด อยู่กันตามลำพัง กลางวันออกไปทำงาน เย็นและกลางคืนมารวมกลุ่มกันปฏิบัติธรรม และสร้างกุศลอื่นๆ กันตามกำลัง เท่าที่จะกระทำได้ คิดกันแค่นี้เอง

สำหรับป้าเมื่อพบเหตุการณ์เหล่านั้ ป้าไม่คิดเพียงแค่นั้น แต่คิดไกลออกไปว่า คนเหล่านี้น่าจะบวชอุทิศชีวิต ปฏิบัติธรรมและทำการเผยแผ่ให้กว้างขวาง และควรมีวัดของตัวเอง เพื่อให้พวกผู้หญิงที่คิดตั้งสัจจะตาม จะได้มีที่พักและทำงานบุญตามอย่างบ้าง การจำกัดแค่สร้างบ้านพักชายโสดอยู่กัน และมีอาชีพทำมาหากินด้วย โอกาสทำงานเผยแผ่พุทธศาสนามีไม่มาก พวกผู้หญิงเองก็พลอยหมดโอกาสไปด้วย

เวลานั้นป้าก็ได้แต่คิดไว้ หวังไว้ ยังไม่ได้กล่าวคำอะไรออกมา คอยดูทีท่าของคนหนุ่มกลุ่มนี้ไปก่อน

สำหรับคนหนุ่มสาวที่ตั้งสัจจะภายหลังนั้น ล้วนแต่ตามอย่างหลวงพ่อเจ้าอาวาสทั้งสิ้น เพราะหลวงพ่อเจ้าอาวาสนั้นตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างมาก คุณยายเล่าให้ฟังว่า " แล้วอยู่ๆ วันเกิดยาย ก็มาบอกยายว่า " ยาย ยาย ผมไม่มีวัตถุสิ่งของอะไรให้เป็นของขวัญยาย ผมขอตั้งสัตย์ปฏิญาณตน ประพฤติพรหมจรรย์ต่อหน้ายาย เอาบุญเรื่องนี้ให้เป็นของขวัญวันเกิดนะครับ " แล้วเค้าก็ตั้งสัจจะต่อหน้ายาย "

ป้ามั่นใจในบุญเก่าของหลวงพ่อฯ ท่านมาก เพราะเมื่อป้าเห็นท่านครั้งแรก มีความรู้สึกเหมือนท่านเป็นผู้ใหญ่คราวปู่คราวตา แล้วตัวป้าเองคล้ายเป็นเด็กอายุแค่สองขวบ ทั้งที่ท่านอ่อนกว่าป้าถึง ๑๐ ปีเต็ม มีความรู้สึกทั้งรักเคารพ ขณะเดียวกันก็กลัวเกรง บอกตนเองว่า " เด็กหนุ่มคนนี้ น่าเกรงใจมาก ถ้าใช้ให้เราทำอะไรแล้ว เราคงต้องช่วยทำเต็มที่ เราทนไม่ได้ที่จะเห็นเค้าเสียใจ หรือผิดหวัง "

เวลาที่ป้าซื้อของกินเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นของค่อนข้างดีและประณีต ไปฝากคุณยายทุกเย็น เช่นขนม ผลไม้ แล้วคุณยายไม่เก็บไว้กิน หรือ ให้เด็กๆ ที่อยู่ด้วยกิน แต่กลับเก็บไว้ในตู้เหล็ก พอหลวงพ่อเจ้าอาวาสเดินทางจากมหาวิทยาลัยมาถึงเหนื่อยๆ คุณยายฯ ก็เปิดลิ้นชัก หยิบของที่ป้าเอามาฝาก ออกมาให้หลวงพ่อฯ รับประทานจนหมด

ป้าเห็นอยู่บ่อยๆ เห็นแล้วก็สงสัยว่า " ทำไม ยายต้องเอามาให้เด็กคนนี้กินหมด เราซื้อมาให้ยายนี่ ไม่ใช่ซื้อมาให้เด็กหนุ่มคนนี้กินซักหน่อย " อดรนทนไม่ได้ จึงไปถามหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสว่า " เด็กคนนี้เป็นใครกัน ทำไมยายต้องสนใจ ดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษยังงี้ "

พอได้รับคำชี้แจงว่า " เป็นคนปฏิบัติธรรมได้ผลดีมาก คุณยายฯ สอนได้อย่างใจ อีกหน่อยจะสืบต่อ งานของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ตอนนี้ยายต้องช่วยดูแลอุปการะอยู่ เพราะพ่อ ต้องการให้ลูกเอาดีทางโลก ลูกก็เลยไม่กล้าไปเบิกค่าใช้จ่ายจากพ่อ เพราะไปทีไรก็ต้องถูกห้าม เรื่องการเรียนธรรมะทุกทีไป " ป้าก็หายขุ่นเคืองใจนับแต่นั้นมา กลับซื้อของเพิ่มจำนวนขึ้น เพราะเกิดศรัทธา ดีใจที่ตนเองจะได้บุญ ให้ของกินแก่ผู้ปฏิบัติธรรมได้ผล แล้วยิ่งดีใจใหญ่เป็นพิเศษทวีคูณ เมื่อต่อมาคุณยายฯ ได้มอบหมายให้หลวงพ่อเจ้าอาวาส เป็นผู้ทำการอบรมสั่งสอนหมู่คณะแทน ในยามที่คุณยายเจ็บป่วยหรืออ่อนเพลีย นับว่าเป็นครูคนที่สองของเรา

บ้านธรรมประสิทธิ์ ที่พักของคุณยายในเวลาครั้งกระโน้น เป็นบ้านในฝันของพวกเราทุกคน มีความจริงใจต่อกัน เป็นกันเอง เห็นอกเห็นใจ ทุกคนเข้าไปแล้วมีความรู้สึกตรงกันคือมีความอบอุ่นใจ รักใคร่ปรองดองกัน ดูจะยิ่งกว่าพี่น้อง มีคุณยายฯ เป็นหัวหน้าครอบครัว ใครมีปัญหาอะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องในสถานที่ทำงาน เรื่องสุขภาพร่างกาย และอื่นๆ จิปาถะ เราจะเอามาเล่าสู่กันฟัง แล้วหมู่คณะก็จะช่วยกันหาทางแก้ไข โดยมีคุณยายเป็นผู้ให้คำแนะนำ ป้ายังจำได้ว่า เมื่อลูกของพวกเราบางคนเรียนจบชั้นมัธยม จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ป้ายังต้องช่วยวิ่งเต้นหาที่เรียนให้ บางคนป่วยไข้ ฝ่ายที่เป็นหมอก็ช่วยเป็นธุระพาไปรักษา

คุณยายฯ เอาใจใส่พวกเราทุกคน เหมือนท่านเป็นทั้งพ่อแม่และครู ไปในตัว ท่านแก้ปัญหา หาทางออกให้ได้ทุกเรื่อง ทั้งที่ไม่เคยออกไปไหนนอกวัด ไม่เคยรู้เรื่องทางโลก โดยเฉพาะหนังสือ ก็อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่กลับมีทั้งความฉลาดและเฉลียว พร้อมปฏิภาณไหวพริบ เป็นที่พึ่งได้ทุกเรื่องอย่างนึกไม่ถึง

ทุกเย็นพวกเราทุกคนจะพากันเดินทาง มาที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ที่เป็นนักเรียน นักศึกษามักจะมาถึงก่อน เพราะเลิกเรียนเร็ว คนทำงานแล้วมาถึงช้าหน่อย คุณยายฯ จะต้อนรับเราด้วยอัธยาศัยอันดียิ่ง ใครหิวท่านก็ให้เข้าครัวหาอาหารในตู้กิน ใครกินอิ่มมาแล้ว ท่านก็สอบถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไป ใครมีปัญหาเดือดร้อนอะไร ก็เล่าให้คุณยายฟังในตอนนี้ คุณยายมักตั้งใจฟัง และสามารถให้คำแนะนำได้อย่างดี

ถ้าเป็นวันอาทิตย์ก็จะมีคนมาแต่เช้า เพิ่มเป็นราว ๒๐ คน คุณยายจะสอนเป็นสองรอบคือเช้าและบ่าย ไม่มีตอนเย็น ถ้าเป็นวันอาทิตย์ต้นเดือน จะมีถวายข้าวพระ มีผู้คนมามากหน่อยราว ๓๐-๔๐ คน นั่งกันทั้งชั้นบนชั้นล่าง

อาหารถวายข้าวพระ ต่างคนต่างนำไป คนที่ไม่ได้นำไป ก็มีอาหารที่ร่วมกันทำที่บ้านพักคุณยายฯ แล้วแต่จะสมทบบริจาค เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็จะนำอาหารส่วนหนึ่งไปถวายพระสงฆ์ของวัดปากน้ำที่ศาลาฉัน ส่วนที่เหลือก็ร่วมกันรับประทานอาหาร

ส่วนเรื่องการปล่อยสัตว์ปล่อยปลา เราทำกันตั้งแต่วันเสาร์ต้นเดือน โดยที่การจัดดอกไม้บูชาพระอย่างสวยงาม ทำสมาธิในตอนเช้า แล้วร่วมกันบริจาคเงิน ให้ทานชีวิตสัตว์ นำเงินทั้งหมดออกไปซื้อปลาและสัตว์อื่น ที่ตลาดหน้าวัด คุณยายฯ เป็นผู้ทำพิธีปล่อย

ทำพิธีเสร็จแล้ว เราก็ปล่อยลงในคลองภาษีเจริญ ข้างประตูหลังบ้านพักคุณยายฯ นั่นเอง วันเสาร์และวันอาทิตย์ต้นเดือนติดกันสองวันนี้ หมู่คณะของเราร่วมกันทำบุญด้วนความอิ่มใจเป็นอย่างยิ่ง วิธีการสอนของคุณยาย และหลวงพ่อที่ท่านสอนเด็กๆ ลูกๆ ของสมาชิกที่เป็นลูกศิษย์ เด็กเหล่านั้นสามารถมีตาทิพย์หูทิพย์ มีอภิญญาจิตต่างๆ ไปรู้ไปเห็นว่า การทำบุญมีหลายชนิด ผลบุญที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน ทำทานด้วยเครื่องนุ่งห่ม เวลาไปเกิดที่ไหนก็เป็นผู้มีผิวพรรณสวยงาม มีเครื่องนุ่งห่มบริบูรณ์ ถ้าทำทานด้วยอาหาร ก็ทำให้ไม่อดอยากและไม่ลำบากในการสร้างบารมี พร้อมกันนั้นก็ต้องรักษาศีล เพื่อให้ไปเกิดได้รูปร่างดี สุขภาพแข็งแรง และเจริญภาวนาให้เป็นคนมีปัญญาเฉลียวฉลาดรวมไปด้วย

ย้อนมาเล่าเรื่องความรักความอบอุ่น ในบ้านธรรมประสิทธิ์กันใหม่ ป้าจำได้ว่าเวลาบางคนในหมู่คณะหายหน้าไปไหน ไม่ไปปฏิบัติธรรมร่วมกันตอนเย็นหลายๆ วันไปหน่อย พวกที่สามารถทำอภิญญาจิตได้ จะใช้อำนาจสมาธิจิตไปติดตามดูว่า อยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร ถ้าเห็นไม่ชอบมาพากล จะออกนอกเส้นทางบุญ คุณยายฯ ก็จะใช้อำนาจสมาธิจิตเรียกตัวกลับ และก็เป็นเรื่องอัสจรรย์ ภายในวันสองวันนั้น คนนั้นก็จะรีบกลับมาพร้อมกับพูดว่า " ไม่รู้เป็นยังไง คิดถึงหมู่คณะเหลือเกิน "

ความเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันในหมู่คณะ มีทั้งที่เป็นห่วงร่วมกัน และทั้งที่เป็นห่วงส่วนตัว บางทีก็ห่วงใยเรื่องความเป็นอยู่ ห่วงเรื่องการเรียน เรื่องสุขภาพ ตลอดจนเรื่องการเงิน โดยเฉพาะที่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา ไม่มีรายได้ อาจขาดแคลนค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน

ที่ยังประทับใจอยู่ไม่รู้ลืม ป้าจะเล่าให้ฟัง มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ทุกคนกำลังนั่งสมาธิกันเงียบกริบ ป้ายังกำหนดใจอะไรไม่ได้ พอหูได้ยินเสียงเคลื่อนไหวที่พื้นกระดาน ใจของป้าก็คิดเป็นห่วงกระเป๋าสตางค์ ของบรรดาฝ่ายชาย เกรงจะมีใครแอบขึ้นบันไดมาหยิบเอาไปหมด เวลานั้นป้าไม่เข้าใจว่า ทำไมเวลานั่งสมาธิผู้ชายทุกคนจะต้องหยิบกระเป๋าสตางค์ ออกมาจากกางเกง วางไว้ข้างตัว ป้าคิดเอาว่า " เค้าคงปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นในสมบัติอะไรกระมัง เลยเอาทรัพย์สินเงินทองออกมาวางทิ้งซะ " ภายหลังจึงทราบว่า เหตุที่พากันทำดังนั้น เพราะถ้ามีกระเป๋าสตางต์อยู่ในกางเกง กระเป๋าจะค้ำตัว ทำให้กางเกงตึง นั่งไม่สบาย แต่การนั่งสบายของฝ่ายชาย ทำให้ป้ารู้สึกไม่สบาย เป็นห่วงเป็นใยกระเป๋าพวกนั้นยิ่งนัก

พอนึกห่วงหนักเข้าก็เลยต้องหรี่ตา ดูว่าอะไรมาทำเสียงเหมือนคนเคลื่อนไหว ป้าเห็นหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสของเรา ท่านกำลังคลานมาทางด้านหลังของคนอื่นๆ ที่นั่งสมาธิล้อมกันเกือบเป็นรูปวงกลม ป้าก็นึกในใจ " เอ คุณเด็ดเนี่ย ทำอะไรกัน ทำไมไม่นั่งสมาธิ มาคลานเล่นซะนี่ เราต้องดูหน่อยเถอะว่า คลานไปไหน "

ในที่สุดป้าก็เห็นคลานไปที่กระเป๋าสตางต์ของหลวงพ่อเจ้าอาวาส หยิบขึ้นมาเปิด ป้าหรี่ตาจ้องมองเป๋งเลย เปิดกระเป๋าคนอื่นทำไม ป้าเห็นเปิดแล้วทำท่าเหมือนนับดูเงิน ขณะเดียวกันก็ดึงกระเป๋าสตางค์ตนเองออกมาจากกางเกง หยิบธนบัตรออกมานับปึกหนึ่ง ใส่ลงในกระเป๋าของอีกฝ่าย ป้าถอนใจอย่างโล่งอก รู้สึกตื้นตันน้ำตาซึม นึกไป " โธ่เอ๋ย ไปสงสัยซะใหญ่โต ที่แท้คุณ เด็ดก็ห่วงน้องจะไม่มีเงินใช้ กำลังเรียนปีสุดท้ายต้องใช้จ่ายมาก ส่วนคุณ เด็ดเรียนจบแล้วมีรายได้ดี จึงเอามาแอบแบ่งให้ใช้ ถ้าให้ซึ่งๆ หน้า ฝ่ายน้องก็คงไม่ยอมรับ คงบอกคอเป็นเอ็นว่ามีแล้ว ทั้งที่บาทเดียวก็บอกได้ว่ามีแล้วนั่นแหละ คุณ เด็ดเลยต้องใช้วิธีแอบให้ยังงี้ ไอ้เราก็คิดมาก สงสัยวุ่นวายไปได้ "

นับแต่วันนั้นมา ป้าจะได้ยินเสียงคนคลานเคลื่อนไหว ขณะนั่งสมาธิอีกกี่ครั้ง ก็ไม่กังวลห่วงใจจนต้องลืมตาดูอยู่อีกเลย

เวลานั้นป้าถือเอาบ้านธรรมประสิทธิ์ เป็นที่พึ่งอันยิ่งใหญ่ ไปครั้งใดจะปฏิบัติได้ผลหรือไม่ได้ผล ก็มีแต่ความสุขความสงบใจ สำหรับคนอื่นอาจจะไม่นึกอย่างป้า ที่ป้านึกเพราะบังเอิญเป็นระยะที่ ต้องรับหน้าที่ราชการค่อนข้างหนัก ต้องไปอยู่เป็นหัวหน้าสถานศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่ เด็กนักเรียนเกือบทั้งหมด มาจากแหล่งเสื่อมโทรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ คือท่าเรือคลองเตย โรงเรียนเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ งบประมาณอัตรากำลังครูไม่มี ทางกรมต้องใช้วิธีขอครูจากโรงเรียนอื่นที่มีครูเกิน ไม่มีโรงเรียนไหนเลย ที่ยกครูชนิดดีมาให้ มีแต่ให้ครูที่เขาต้องการคัดทิ้งทั้งสิ้น

เรื่องเด็กยากจนและมีปัญหาความประพฤติ โดยเฉพาะการลักขโมย กับเรื่องครูที่มีปัญหาแทบทั้งโรงเรียน จึงเป็นความทุกข์หนัก ในหน้าที่การงานของป้า จะปรับทุกข์กับพ่อบ้านเขาก็ไม่เข้าใจเพราะคนละอาชีพกัน ยังดีที่ผู้บังคับบัญชาพอเข้าใจ และเห็นใจอยู่บ้าง แต่ก็ช่วยอะไรได้ไม่มาก ก็มีแต่หลักธรรมและคำพูดสอนต่างๆ ที่คุณยายฯ หลวงพ่อเจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาส รวมทั้งเพื่อนสหธรรมิก ที่บ้านธรรมประสิทธิ์เท่านั้น ที่ทำให้ป้ามีที่พึ่ง มีความอบอุ่นใจตลอดมา

เล่ามาถึงตอนนี้ ทำให้ป้าหวนคิดถึงบ้านหลังนั้นอีกครั้ง คิดถึงจับใจทีเดียว บรรยากาศอันแสนอบอุ่นอย่างั้น ไม่มีอีกแล้ว กลายเป็นความทรงจำในอดีต ที่ไม่มีวันย้อนกลับมาเกิดได้ใหม่ เป็นเพียงความฝันชั่วคราว ที่ตื่นขึ้นก็จากไป

อย่างไรก็ดีมาบัดนี้ บ้านหลังนั้นในครั้งกระโน้น ได้ให้ข้อคิดที่ประมาณคุณค่าไม่ได้แก่ป้า นอกจากเป็นบ้านที่เป็นต้นกำเนิด การก่อสร้างวัดพระธรรมกาย ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่า คนมีความทุกข์ จะเป็นทุกข์แง่ใดก็ตาม จะขวนขวายสนใจและเอาจริงต่อการศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ตรงข้ามกับบุคคลที่มีความสุข มีความสมบูรณ์พรั่งพร้อม ในทางโลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มักเป็นผู้ประมาทมัวเมา มองไม่เห็นของคุณค่าคำสอน ถือดีว่า ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องทำตาม ชีวิตก็สุขสบายดีแล้ว ไม่รู้ความจริงว่า ที่ตนสุขสบายอยู่นั้น เพราะผลของกรรมดี ที่ทำไว้ในอดีตค้ำจุนอยู่ เมื่อใดบุญนั้นหมดลง กรรมชั่งอื่นๆ ที่ค้างอยู่ก็คงตามมาให้ผลแทน เมื่อนั้นก็ต้องพบกัยความวิบัติอย่างแน่นอน

ดังนั้น คนฉลาดย่อมต้องสะสมบุญกุศลต่างๆ ไว้ให้เพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่พยายามเปิดโอกาสให้กรรมชั่งให้ผล

ทีนี้การจะคิดกระทำได้ดังนี้ มิใช่จะคิดกันเองได้ง่ายๆ จะต้องอาศัยกัลยาณมิตรชี้ทาง อย่างเช่นหมู่คณะที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ที่ป้าเล่าให้ฟังอยู่นี้ มีคุณยายฯ เป็นกัลยาณมิตรอันยอดเยี่ยม พวกเราจึงมีสัมมาทิฏฐิเกิดชึ้น เป็นต้นเหตุให้มีโอกาสประกอบกุศลกรรมต่างๆ

เมื่อป้าไปที่บ้านธรรมประสิทธิ์ครั้งนั้น ป้าเห็นคุณยายฯ ต้อนรับให้ความอบอุ่น ทุกคนที่ไปสม่ำเสมอ ป้าก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดา มาบัดนี้เมื่อป้ามีอายุย่างเข้าวัยชรา เท่ากับคุณยายฯ สมัยโน้น ป้าจึงซาบซึ้งในการปฏิบัติตัวของคุณยายฯ สมัยที่เล่าไว้ เป็นอย่างยิ่ง คุณยายฯ ต้อนรับผู้คนที่ไปหาท่าน ไม่ว่าจะไปเรียนธรรมปฏิบัติ หรือมีปัญหาอะไรไปให้ช่วยแก้ไข จะไปพบเวลาใด มืดค่ำดึกดื่นแค่ไหน ถ้าท่านยังไม่หลับ เป็นต้องได้รับการต้อนรับอย่างดี จากคุณยายฯ พอถึงคราวป้าบ้าง เมื่อถูกรบกวนขอให้สอนหรือขอพบ ป้าจึงรู้สึกถึงความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยที่ตนเองได้รับ ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ให้ผู้อื่นได้ดีไม่เท่า หนึ่งในร้อยในพันของคุณยายฯ

คนอย่างคุณยายฯ จะนับเป็นหนึ่งในโลก ก็คงไม่ผิด มีความตั้งใจในการทำกุศลใหญ่ และใจใหญ่ในการช่วยเพื่อนมนุษย์ ใครได้พบเห็น และช่วยงานท่าน นับว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตนเองโดยแท้


Create Date : 23 เมษายน 2551
Last Update : 23 เมษายน 2551 11:10:34 น.


คนที่ไม่มีปัญหาคือคนที่ไม่ได้ทำ

#4 usr29799

usr29799
  • Members
  • 57 โพสต์

โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 09:18 PM

อนุโมทนาบุญด้วยนะคะที่ได้นำเรื่องราวเหล่านี้ออกมาให้พวกเราได้อ่านได้ศึกษาประวัติของท่านวันก่อนได้มีโอกาสอ่านหนังสือถนนสายนี้ไม่มีท่านแล้วประวัติของพระครูปลัดวันชัย สีลวัณโณ ทำให้ได้ทราบเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านทางตัวอักษรอ่านไปน้ำตาก็ไหลไปทำให้ตัวเองรู้ว่าพวกเราโชคดี ที่ได้มีโอกาสเข้ามาอยู่บนถนนสายเดียวกันอยากอ่านประวัติของทุกท่านที่ได้เข้ามาสร้างบารมีโดยเฉพาะรุ่นบุกเบิกสร้างวัดมาจะทำให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและทำให้มีกำลังใจในการสร้างบารมีเหมือนกับเรื่องที่คุณได้นำมาลงให้อ่านนี้ตัวเองยังไม่เคยได้อ่านและก็ไม่รู้ว่าคุณป้าถวิลท่านคือใครมีความสำคัญกับวัดอย่างไรช่วยบอกด้วยนะคะและเรื่องนี้จบหรือยังคะอยากทราบว่าจะหาหนังสือเล่มนี้ได้จากที่ไหนอยากเก็บไว้อ่านค่ะอ้อแล้วตอนนี้คุณป้าถวิลท่านอยู่ที่ไหนเหรอคะ สวัสดีปีใหม่กับลูกพระธรรมทั่วโลกด้วยนะคะ ขอให้ปีนี้เป็นปีแห่งการสร้างบารมีของพวกเราใหทุกคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง รวยอัศจรรย์กันทุกคนเลยนะคะ ได้เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญเอาน้อง ๆพี่เอกับพี่บีก็พอได้สร้างบารมีได้อย่างเต็มที่เต็มอิ่มเต็มกำลังกันทุก ๆ คนกันเลยนะคะ

#5 kissy

kissy
  • Members
  • 589 โพสต์

โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 09:33 PM

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะคะ

สาธุคะ



#6 บ่าวอุบล

บ่าวอุบล
  • Members
  • 632 โพสต์

โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 09:48 PM

อนุโมทนาบุญกับบทความดีๆที่หาอ่านได้ยากครับ ถ้ามีอีกก็เอามาแบ่งให้อ่านหน่อยนะครับ

#7 Daemusin

Daemusin
  • Members
  • 133 โพสต์

โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 10:30 PM

อุบาสิกา ถวิล - บทที่สี่ - เชื่อมั่นคำอธิษฐาน

เหตุการณ์ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ บ้านพักของคุณยายฯ ดำเนินมาอย่างที่ป้าเล่าไว้ข้างต้นทุกวัน ใครมาพบเห็นก็มักกล่าวชมเชย และแสดงความรู้สึกชื่นใจ ในการต้อนรับของหมู่คณะเสมอมา

แล้วความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ จึงเกิดขิ้นในปี ๒๕๑๒ เดือนมีนาคม หลวงพ่อเจ้าอาวาสของเรา เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาประกอบอาชีพทำงานในบริษัทจัดสรรที่ดิน มีรายได้ค่อนข้างดีกว่าอาชีพรับราชการถึง ห้าเท่าตัว ท่านตั้งใจจะรวบรวมเงิน ช่วยหมู่คณะฝ่ายชาย ที่ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อสร้างบ้านพักชายโสดอยู่รวมกัน อีกประการหนึ่ง ก็เป็นการรอดูจังหวะที่ท่านจะขออนุญาตคุณพ่อเพื่อบวชตลอดชีวิต

เท่าที่ป้าทราบ เมื่อหลวงพ่อเจ้าอาวาสมาเรียนธรรมปฏิบัติกับคุณยาย และได้ผลของการปฏิบัติ เป็นที่ถูกใจคุณยายฯ ใหม่ๆ นั้น ท่านเห็นคุณค่า มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก จนกระทั่งไม่ต้องการเรียนในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป ต้องการบวชเป็นพระภิกษุ เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ ให้แตกฉาน แต่ท่านถูกคุณยายห้ามปรามท้วงติงว่า " คุณต้องอดทนเรียนให้จบ เรียนให้ได้ปริญญา จะได้ไม่มีใครดูถูก ไม่งั้นใครเค้าจะพูดได้ว่า เรียนทางโลกไม่ได้ เลยหนีมาบวช " ท่านจึงอดทนเรียน

พอเรียนจบแล้ว หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็มีหน้าที่ ให้การอบรมสั่งสอนหมู่คณะอยู่ทุกๆ เย็น บางทีก่อนนั่งทำสมาธิจิต ท่านกล่าวถึงอานิสงส์ของการประพฤติพรหมจรรย์ ว่าสามารถทำให้มีโอกาสดียิ่ง ในการสร้างบุญสร้างบารมีต่างๆ ป้าฟังแล้วซาบซึ้งเป็นที่สุด เพราะตนเองพลาดพลั้ง ต้องมีชีวิตครองเรือน ท่านพูดแง่ใดมุมใด ป้าก็เห็นจริงหมดทุกเรื่อง เพราะตนเองประสบอยู่ชัดแจ้ง แค่จะหาโอกาสมาวัดก็ยากนัก

ยิ่งเรื่องการทำทาน พอมีครอบครัว จะคิดบริจาคสิ่งใดก็ห่วงหน้าพะวงหลัง เกรงรายได้ไม่พอเลี้ยงสมาชิกในบ้าน

เรื่องศีล ๘ ไม่มีทางถือได้ เพราะไม่สามารถถือข้อ ๓ แม้ศีล ๕ ก็ยาก บางทีพ่อของสามีก็ร้องกินสัตว์มีชีวิต เช่นกบ หอยแครง หอยแมลงภู่ พอไม่ซื้อหามาทำให้ ก็ถูกโกรธ สามีก็พลอยไม่สบายใจ รักษาศีล ข้อเว้นจากปาณาติบาตก็ยากแล้ว

เรื่องเนกขัมมะ การออกจากกามเป็นอันหมดหวัง

เรื่องปัญญา โอกาสที่จะเพิ่มพูนปัญญา ให้เกิดด้านสุตมยปัญญา ปัญญาที่ได้จากการฟังการอ่าน ไม่มีเวลา ไปวัดบ่อยก็ถูกบ่น จินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิด ไม่มีทางคิดให้พ้นทุกข์ พ้นจากวัฏฏะ การครองเรือน ทำให้คิดวนแต่เรื่องของกิเลส เรื่องความโลภ ทำอย่างไรจึงจะทำมาหากินให้ร่ำรวย ใครมาขัดผลประโยชน์ ก็ให้โกรธเคือง หมกมุ่นอยู่ในเรื่องไร้สาระ อันเป็นความโง่หลง เช่นเรื่องแต่งตัว เรื่องแข่งดี เรื่องหึงหวง ฯลฯ

จะสร้างบารมีเรื่อง วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา อะไร ๆ ก็ให้ขัดข้องไปเสียหมด ยิ่งถ้าหากคู่ครองเป็นคนดีมาก ก็ยิ่งต้องเกรงใจกันมาก

นี่ป้าฟังคำสั่งสอนของหลวงพ่อเจ้าอาวาส เรื่องใดก็ไม่กินใจ ไม่จับใจเท่าโทษของการครองเรือน ยิ่งเห็นท่านและหมู่คณะบางคน ตั้งสัจจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว หลายคนก็เตรียมตัวเตรียมใจ ชักชวนพวกพ้อง คิดจะตั้งสัจจะในวันคล้ายวันเกิดคุณยายฯ ในปี ๒๕๑๒ ป้าก็ให้ชื่นชมยิ่งนัก พร้อมกันก็รู้สึกสงสารตนเอง ที่ไม่มีโอกาสอย่างพวกเขา

เย็นวันหนึ่ง ใกล้จะหมดเวลาบวชในพรรษานั้นเต็มที ป้ามีโอกาสไปบ้านธรรมประสิทธิแต่วัน ระยะนั้นป้ามักจะไปแทบทุกเย็นหลังเลิกงานแล้ว คนอื่นๆ ยังไม่มีใครมา มีแต่หลวงพ่อฯ ส่วนป้ากราบคุณยายแล้ว ก็นั่งอยู่ตรงข้างประตูด้านตรงข้าม

แล้วคุณยายก็ชวนหลวงพ่อบวชในเดือนนั้นเลย ( เดิมหลวงพ่อตั้งใจบวชประมาณเดือนธันวามคม เพราะต้องการตะล่อมใจโยมพ่อ แต่คุณยายพิจารณาดูแล้วเห็นว่าสมควรให้บวชให้ทันพรรษา คือภายในเดือนสิงหาคม ) ซึ่งหลวงพ่อเมื่อได้ยินคุณยายกล่าวเช่นนั้น ก็นั่งตัวตรงพร้อมกับกล่าวเสียงดังหนักแน่น ตกลงที่จะบวชเร็วกว่าเดิมตามที่คุณยายชวน

ป้าไม่ทราบจะบรรยายสีหน้า แสดงความยินดีเห็นที่สุดของคุณยายฯ ได้อย่างไร รู้แต่ว่า บุญที่ทำให้คุณยายฯ สมหวังในครั้งนี้ คงเป็นบุญใหญ่ทีเดียว ป้าก็พูดอะไรไม่ออก เพราะกำลังดีใจไปกับคุณยายด้วย

ครู่ใหญ่หลวงพ่อฯ เป็นฝ่ายพูดขึ้นก่อน " ยาย ผมบวชคราวนี้ ผมจะเป็นพระจริงๆ ไม่ใช่พระปลอม เพราะงั้นผมอยากใช้เครื่องบวช ที่เป็นของจริง ไม่ใช่ของปลอม "

ป้าฟังแล้วเข้าใจทันที เครื่องบวชหมายถึง อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเครื่องใช้ต่างๆ ในการบวชเช่น พานแว่นฟ้าใส่ผ้าไตร กราบถวายอุปฌาย์ ต้นดอกไม้พร้อมของถวายพระคู่สวด และพระอันดับ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ผู้คนส่วนใหญ่ ใช้ของเทียม เช่น ดอกไม้กระดาษ ดอกไม้พลาสติก ซึ่งหาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด ราคาไม่แพง สีสันฉูดฉาด คงทนถาวร ทิ้งไว้เป็นปี ๆ ก็ไม่เสียหาย จึงปรากฏว่าตามวัดต่างๆ มีของเหล่านี้เก็บไว้ จนรกเต็มไปหมด

ทีนี้ของจริง หมายถึงใช้ดอกไม้สด ใบไม้สด หรือของที่ต้องใช้เวลา ใช้ฝีมือความประณีตสวยงามมากก็จริง แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็เหี่ยวเฉาหมดสวย

การทำเครื่องบวชด้วยของสด นอกจากต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ในการซื้อหาแล้ว ยังต้องมีผู้คนที่มีฝีมือในการประดิษฐ์ ร่วมใจกันทำหลายๆ คน จึงจะทำเสร็จทัน ดอกไม้ใบไม้ไม่เหี่ยวแห้งโรยราไปก่อน ทั้งต้องทำแข่งกับเวลาโดยรีบด่วนด้วย เช่นถ้าจะบวชเช้าก็ต้องทำกันตั้งแต่บ่าย ก่อนวันบวช ถ้าบวชบ่ายก็ต้องทำตั้งแต่ตอนกลางคืน

ป้ามองหน้าคุณยายฯ ป้าพอเดาออก ท่านคงไม่มีปัญหาเรื่องเงิน ถึงอย่างไรก็พอบอกบุญได้ แต่เรื่องคนช่วยทำ จะเอาผู้มีฝีมือเรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้ มาจากไหน ครั้นจะใช้วิธีจ้าง ก็ต้องเสียเงินมากโยไม่จำเป็น เงินที่พอมีอยู่บ้าง ควรใช้ไปในเรื่องการบวชจริงๆ ดีกว่าเรื่องประกอบ

ตัดสินใจชั่วพริบตานั้น ป้าก็พูดว่า " คุณแม่คะ เรื่องทำดอกไม้สดงานบวช ไม่ต้องห่วงค่ะ หนูมีครูลูกน้องเป็นร้อย พวกมีฝีมือเรื่องดอกไม้เนี่ย มีหลายสิบคน หนูรับทำงานนี้เองค่ะ "

คุณยายฯ ยิ้มอย่างโล่งอก เย็นนั้นท่านเบิกบานที่สุด บอกข่าวดีให้ทุกคนที่มาปฏิบัติธรรมประจำวันทราบ ทุกคนพลอยดีอกดีใจ เป็นความปีติของส่วนรวม ที่ยิ่งกว่าการได้เงินทองเป็นร้อยล้านพันล้าน

ป้าจำได้ ดูเหมือนวันนั้นเราไม่ได้นั่งสมาธิ แต่กลับช่วยกันคิด เรื่องจัดงานบวชจนดึก ทุกคนกลับบ้านไปด้วยใจพองฟู หน้าตาแช่มชื่นเบิกบาน เป็นความสุขใจที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ของพวกเราทุกคน

จากวันนั้นมา เราก็แบ่งงานกัน หลวงพ่อฯ มีหน้าที่ไปพูดจาเกลี้ยกล่อม ให้โยมพ่ออนุญาตการบวช บางฝ่ายไปจัดเตรียมซื้อหาเครื่องอัฐบริขาร และของใช้ส่วนตัวของพ่อนาค บางฝ่ายไปจัดเตรียมสิ่งของสำหรับถวายอุปฌาย์ คู่สวด และพระอันดับ สำหรับป้าก็เรื่องเครื่องสด เช่นดอกไม้คลุมไตร กรวยอุปชฌาย์ คู่สวด พานพุ่ม ฯลฯ

ยังจำได้ว่าหลวงพ่อฯ ขอให้ทำดอกไม้สด คลุมไตรเป็นรูปสุครีพ อยู่ในวิมานแก้ว ๒ ไตร ไตรครองกับไตรอาศัย ป้าได้ให้หลวงพ่อฯ ดู เมื่อดัดแปลงเป็นที่ถูกใจแล้ว ครูฝ่ายประดิษฐ์ ก็นำไปฉลุลงในแผ่นไม้อัด ใช้กลีบดอกบานไม่รู้โรย ย้อมเป็นสีต่างๆ ตกแต่งตามแบบในภาพ ทำทั้งสองด้าน ช่วยกันทำ ๒ คน ใช้เวลาตลอดสัปดาห์ ส่วนวิมานนั้นเราไม่สามารถหาดอกไม้ ที่มีสีใสเหมือนแก้วมาใช้ ถ้าใช้สีขาวก็จะกลายเป็นวิมานเงิน จึงขออนุโลม ใช้ดอกบานบุรีสีเหลือง กลายเป็นแค่วิมานทอง โครงที่คลุมพานผ้าไตร ใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นก้านกลมเล็กๆ มัดด้วยด้ายแล้วใช้ผ้าขาวตัดเป็นเส้นยาวกว้างราว ๒ เซ็นติเมตรพันปิดจนมิด เพื่อใช้เข็มร้อยดอกไม้ร้อยได้ ป้าวานหมู่คณะให้เตรียมงานล่วงหน้ากัน เป็นสัปดาห์ โดยบอกให้รู้ว่าผู้ที่จะบวชครั้งนี้ มีโอกาสบวชไม่สึกตลอดชีวิต ใครได้มีส่วนร่วมการบวช โดยเฉพาะได้ช่วยเหลือในงานบวช จะได้บุญใหญ่หมาศาล ครูลูกน้องของป้าก็พากันเต็มใจช่วย

เวลานั้นบุญมหาศาลยังไง ป้าก็ไม่เข้าใจนัก ดีแต่ไม่มีใครซักไซ้ไล่เลียง ถ้าได้รู้เห็นเหมือนเวลานี้ คงจะอธิบายให้แจ่มแจ้ง คนช่วยงานต้องดีใจ เต็มใจเป็นทวีคูณ

เรื่องการบวช ผู้บวชได้ผลบุญเป็นอานิสงห์ ๖๔ กัป บิดามารดาได้อานิสงห์ ๓๒ กัป ผู้ร่วมอนุโมทนาอื่นๆ ได้อานิสงห์ ๑๖ กัป กัปหนึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน คำนวณไม่ได้ อุปมาเหมือนมีเมล็ดพันธ์ผักกาด อยู่ในบ่อที่กว้างยาวลึกด้านละ ๑ โยชน์ คือประมาณ ๑๖ กิโลเมตร เต็มบ่อ พอถึง ๑๐๐ ปี เอาออกทิ้ง ๑ เมล็ด หมดบ่อเมื่อใดเรียกว่า ๑ กัป หรืออุปมาเหมือนมีภูเขาแท่งศิลาทึบ กว้างยาวสูงอย่างละ ๑ โยชน์ เช่นเดียวกันครบร้อยปี มีเทวดาเอาผ้าทิพย์ที่บางเบาราวควันไฟ มาลูบภูเขานั้นครั้งหนึ่ง เมื่อใดภูเขาสึกกร่อนราบเรียบเท่าพื้นดิน เรียกว่า ๑ กัป

ทีนี้คำว่าอานิสงห์ก็หมายถึง ในเวลายาวนานดังกล่าวแล้ว ผลบุญจะส่งให้ได้เกิด พบพระพุทธศาสนา และมีโอกาสบำเพ็ญบุญกุศล สร้างบารมีในพระศาสนาอยู่เรื่อยไป ทำให้ได้เปรียบกว่าผู้ที่ไม่เคยได้บวช หรืออนุโมทนาบุญกับผู้บวช เพราะจะมีโอกาสน้อยในการเกิดพบและสร้างบารมี ในพระพุทธศาสนา ถ้าสร้างเองได้โดยไม่มีพระพุทธศาสนาเป็นเนื้อนาบุญ บุญนั้นก็เกิดผลไม่มาก ได้กำไรมากกว่ากันตรงนี้

นี่ถ้าตอนนั้นป้ารู้อานิสงห์ดี คงจะถือโอกาสชักชวนผู้คน ให้ไปช่วยงานบวชกันมากมายทีเดียว เพราะรู้ไม่มากก็ชวนเท่าที่ชวนได้ ป้ายังเอาบุญเรื่องกรวยอุปัชฌาย์ ไปให้พ่อของป้าที่ต่างจังหวัด คือป้าอยากใช้ดอกลำเจียก ทำเป็นกรวยอุปัชฌาย์ แต่ที่กรุงเทพฯ ไม่มีต้นไม้ประเภทนี้ ช่างดอกไม้มักใช้ใบตอง หรือใช้ยอดมะพร้าวอ่อนแทน ป้าไปขอร้องให้พ่อของป้าช่วยหาดอกลำดจียกให้ เพราะป้าเคยเห็นเมื่อสมัยเด็กๆ มีต้นไม้ดังกล่าว อยู่ในตำบลบ้านเกิดของพ่อ ซึ่งห่างจากที่อยู่ในปัจจุบัน หลายสิบกิโลเมตร ดอกลำเจียก เป็นต้นไม้ล้มลุก ชอบขึ้นริมน้ำ

ก่อนวันงาน พ่อก็นำมาให้ป้าเป็นกองใหญ่ ล้วนแต่ยอดลำเจียก พ่อบอกว่า " หนูใหญ่ ฤดูน้ำหลากยังงี้ ลำเจียกมันยังไม่ออกดอกหรอกลูก พ่อก็เลยเอายอดของมันมาแทน หาต้นมันยากเต็มที สมัยนี้ไม่มีใครนิยมปลูก เพราะมันรกหนามของมันแยะ แล้วนานๆ จึงออกดอกซักหนหนึ่ง นี่พ่อถ่อเรือไปหลายกิโลเชียวลูก ตั้งแต่เช้าจนเย็นตลอดวันเลย กว่าจะได้ยอดของมันมา เท่านี้พอมั้ย "

แม้จะผิดหวังที่ไม่ได้ดอกไม้หอม แต่เมื่อได้ยอดของมันมา ก็ใช้แทนกันได้ และเมื่อนึกถึงความเหน็ดเหนื่อย น้ำพักน้ำแรงตลอดวันของพ่อ ที่ต้องถ่อเรือตากแดดไปหามา ป้าก็เต็มใจคิดว่าพ่อของป้าก็คงได้บุญไม่น้อย ครูช่างประดิษฐ์ราวกับรู้ใจป้า เขาใช้ใบลำเจียกอ่อนนั้น ทำกรวยอุปัชฌาย์ได้งามแท้

เรื่องราวของหลวงพ่อฯ ที่ต้องไปขออนุญาตโยมพ่อ ดูจะไม่ราบรื่นนัก มีปัญหาหนักมากแม้จะอ้างว่าขอบวชเพียงพรรษาเดียว โยมพ่อก็ไม่ยินยอม เพราะเหมือนท่านสังหรณ์ใจอยู่ว่า จะไม่ใช่พรรษาเดียว แต่จะตลอดไปชั่วชีวิต หลวงพ่อฯ ต้องอ้อนวอนขอกันหลายครั้งหลายหน ครั้งสุดท้ายป้าเห็นโยมพ่อเสียไม่ได้ ยอมอนุญาตก็จริง แต่ท่านก็ร้องไห้น้ำตาไหลสะอื้นฮักทีเดียว ท่านต้องการเห็นลูกรุ่งเรืองทางโลก

เกี่ยวกับเรื่องการไม่เต็มใจให้บวช ของโยมพ่อนั้น ในความคิดของป้าเห็นเป็นเรื่องธรรมดา โยมพ่อยังไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน และปฏิบัติธรรมแต่ประการใด ในขณะที่เล่าถึงอยู่นี้ ท่านก็ย่อมเสียดายลูกชาย อุตส่าห์เรียนจบปริญญาตรีแล้ว มีงานทำรายได้ดี ท่านเองยังฝากเข้าทำงาน เป็นนายร้อยตำรวจกับเพื่อนไว้ เพื่อนก็รับตัวเตรียมบรรจุให้อยู่แล้ว การบวชทำให้เสียโอกาส ในการทำงานไปหลายเดือน ยิ่งถ้าลูกเกิดไม่ยอมสึก ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไม่ทราบจะอยู่ในเพศนักบวช ไปตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า ถ้าเกิดไปสึกภายหลัง การหางานทำก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้น คิดแง่ของชาวโลกแล้ว ก็อยู่ในวิสัยที่น่าเห็นใจ

ส่วนเรื่องของป้าเรียบร้อยสะดวกทุกอย่าง บ่ายวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๒ ป้าพร้อมด้วยครูช่างทำดอกไม้ ๒๒ คน เดินทางไปที่บ้านธรรมประสิทธิ์ เราซื้อดอกไม้สดหลายอย่าง จากตลาดปากคลองไปด้วย บ่ายสองโมงก็ลงมือช่วยกันทำ ครูส่วนใหญ่ไม่เคยมาที่บ้านธรรมประสิทธิ์ มี ๒-๓ คน ที่ไม่ถนัดทำดอกไม้ ก็รับอาสาไปตลาด จ่ายกับข้าวมาทำอาหารมื้อเย็นเลี้ยง

หมู่คณะที่บ้านธรรมประสิทธิ์ มาช่วยงานอยู่ด้วยหลายคน โดยเฉพาะหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ท่านคุยกับครูลูกน้องของป้าสนุกสนาน

เล่าถึงการทำดอกไม้ของหมู่คณะ เราเร่งมือทำกันเต็มที่ เพราะครูทั้งหมดจะต้องรีบกลับบ้านในคืนนี้ รุ่งเช้าต้องไปทำงาน ไม่ได้อยู่ร่วมงานบวชด้วย ยกเว้นป้าคนเดียวที่ไม่มีชั่วโมงสอน เวลาหมดเร็วมาก เที่ยงคืนแล้วงานก็ยังไม่เสร็จ บางคนจำเป็นต้องขอกลับก่อน ยังเหลืออยู่ประมาณ ๑๐ คน เรื่องขัดข้องก็เกิดขึ้น แต่สามารถแก้ปัญหาได้อัศจรรย์ที่สุด ป้าจะเล่าให้ฟัง

ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้ตีหนึ่ง ดอกบานบุรีที่ใช้ทำเสาวิมาน ครอบพานแว่นฟ้าวางผ้าไตรเกิดหมดลง ยังขาดอีกเกือบสองเสา จะใช้ดอกสีอื่นที่เป็นสีเหลืองแทน เช่นดอกสร้อยทอง ดอกจำปำก็ไม่สวย และลักลั่นกัน วิมานเดียวมีสี่เสา แต่งไม่เหมือนกันเหมือนไม่มีระเบียบ ครั้นจะขับรถไปซื้อที่ปากคลองตลาด ก็ยังไม่ถึงเวลาขาย สมัยนั้นทางตลาดจะเปิดขายกันประมาณตีสี่ ครูช่างกลับบ้านกันแล้ว ป้าจะได้ใครทำให้ ตอนเช้าทุกอย่างจะต้องเสร็จเรียบร้อยเพราะพิธีเริ่มตอนเช้า

ป้าหมดหนทาง จึงเดินออดจากบ้านธรรมประสิทธิ์ เดินไปตามกุฏิพระและบ้านพักแม่ชี ก็ไม่มีที่ใดปลูกกันไว้บ้างเลย เดินมาจนถึงหน้าหอไว้ศพหลวงพ่อวัดปากน้ำ ป้าก็พนมมือไหว้กล่าวอธิษฐานพึมพำเสียงดังว่า " หลวงพ่อคะ ลูกกับหมู่คณะมาทำดอกไม้งานบวชคุณไชยบูลย์ค่ะ มีคนพูดกันว่า คนนี้บวชแล้วจะไม่สึก จะทำงานกอบกู้พระศาสนาต่อจากหลวงพ่อค่ะ ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ขอให้ลูกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเดี๋ยวนี้ สำเร็จเถิด คืดให้ลูกหาดอกบานบุรีมาทำพานดอกไม้ตอนนี้ให้ได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องจริง ผู้ชายคนนี้ไม่ใช่คนมาช่วยงานพระศาสนา มาสืบงานเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ของหลวงพ่อไปทั่วโลก ก็ขออย่าให้ลูกหาดอกไม่ที่ขาดอยู่นี่ได้เลย เจ้าประคู้น "

ป้าอธิษฐานเสร็จก็ยืนนิ่ง ส่งสายตาอ้อนวอนขึ้นไปยังที่ไว้ศพ รู้สึกเหี่ยวแห้ง ดึกดื่นป่านนี้ มาอธิษฐานสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้เสียกำลังใจตนเองเปล่าๆ เมื่อหาดอกไม้ไม่ได้ ก็คงไม่ยอมเชื่อเรื่องบวชไม่สึก ไม่ยอมเชื่อเรื่องการทนุบำรุง พระศาสนาของหมู่คณะอีกต่อไป

หันหล้งกลับเดินหงอยเหงา ก้มหน้าออกมาได้ ๔-๕ ก้าว ทางซีกที่อยู่ของแม่ชี ทันใดนั้นท่ามกลางความเงียบ ป้าได้ยินเสียงคนเดินลากรองเท้าดังแชะ แชะ พร้อมกับเสียงผิวปากด้วยความสบายใจ ป้าจึงหยุดยืนคอยอยู่ เมื่ออีกฝ่ายเดินมาถึง ป้าจึงเห็นว่าเป็นเด็กหนุ่มลูกศิษย์วัด กลับจากดูโทรทัศน์ที่ร้านค้าในตลาด เป็นเรื่องน่าแปลก แทนที่เขาจะเดินตรงไปทางกุฏิพระ ซึ่งเขาพักอยู่อีกด้านหนึ่งของวัด กลับเดินอ้อมมายังที่พักแม่ชี ป้าพูดถามไปทั้งที่ไม่มีความหวังเลยว่า

" หนู หนูรู้จักดอกไม้ชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่าดอกบานบุรีไหมคะ มันมีสีเหลืองๆ น่ะค่ะ "

" รู้จักครับ " เสียงเด็กตอบ ทำให้ป้าชื้นขึ้นมานิดหนึ่ง ถามต่อว่า

" หนูพอเห็นบ้างมั้ยว่า มีดอกไม้นี้ที่ไหน ใกล้ๆ เนี่ยบ้าง " ป้าย้ำเรื่องที่ใกล้ เพราะตอนนี้รถส่วนตัวของพวกเรา กลับไปหมดแล้ว รถของสามีป้าก็บังเอิญมาเครื่องเสียเอาคืนนี้เอง ราวกับแสดงให้เห็นว่าไม่เต็มใจช่วยงาน ถ้าเด็กบอกว่าเคยเห็นอยู่ในที่ไกลๆ ก็คงไม่สามารถไปเอาได้ เพราะแถวนั้นไม่มีทางที่รถแท็กซี่จะผ่านเข้ามา คำตอบของเด็กทำเอาหัวใจป้าพองฟู

" มีครับน้า อยู่ไม่ไกลจากวัดนี่เอง เป็นบ้านคน เค้าปลูกไว้ที่หัวบันไดบ้าน แต่บ้านเค้ามีรั้วหน้าบ้าน มีประตูสังกะสี ถ้าเราเดินตามทางเดิน จะมองไม่เห็นต้นไม้หรอกครับ "

ต่อจากนั้นเด็กก็อธิบายทางเดินไปยังบ้านนี้ ว่าออกจากหน้าวัดไปแล้วเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาอย่างไรบ้าง ป้าฟังด้วยความตั้งใจ จดจำได้หมดทุกคำพูด ชุ่มชื่นใจ ยังเหลือความหวังอีกสิ่งเดียว คือต้นไม้นั้นมีดอกหรือเปล่า

หล้งจากที่ขอบใจเด็กเป็นอย่างยิ่งแล้ว เด็ก็เดินเลี้ยวกลับไปทางที่อยู่ ป้าก็มองตามพร้อมกลับนึกฉงนใจว่า ทำไมเด็กจึงต้องเสียเวลาเดินอ้อมมา ถึงที่ป้ายืนอยู่นี่ ในเมื่อร้านค้าที่ดูโทรทัศน์เดินไปกุฏิพระ ที่เขาพักอยู่ ก็มีทางเดินไปอีกทาง ใกล้นิดเดียว อะไรดลใจให้เดินอ้อมมาเป็นระยะทาง ๓ - ๔ เท่าตัวให้มาพบป้า แล้วเดินอ้อมกลับไป

ป้ารีบไปชวนครูผู้ชายคนหนึ่ง ครูผู้หญิงคนหนึ่ง เอาไฟฉายไปด้วยกัน ทางเดินมืดมาก ไม่ใคร่มีไฟฟ้าตามถนนหน้าบ้านคนเลย เดินผ่านหน้าบ้านใคร สุนัขบ้านนั้นก็เห่า บ้านอื่นก็พากันเห่าตาม เสียงขรึมไปหมด ดีแต่ไม่มีตัวไหนวิ่งตามออกมาไล่กัด คงเห่ากันอยู่ในบ้าน ทางเดินนอกจากมืดแล้ว ยังมีน้ำทั้งแฉะทั้งลื่น เพราะฝนเพิ่งตกไป เดินเลี้ยวไปมาตามที่เด็กอธิบาย ประมาณครึ่งกิโลเมตร จึงถึงบ้านมีประตูรั้วตามคำบอกเล่า

เสียงครูผู้ชายพูดท่ามกลางกลางความเงียบขึ้นว่า " อาจารย์ครับ บ้านนี้รึครับ ไม่เห็นมีต้นบานบุรีซักหน่อย เด็กจำผิดกระมังครับ "

ป้าตอบว่า " เด็กแกบอกว่าต้นไม่ที่อยู่ตรงบันไดขึ้นบ้านโน่น ไม่ใช่อยู่ที่ประตูรั้ว " เราทั้งสามคนต่างคนต่างเพ่งไปที่บันไดบ้าน มองไม่เห็นอะไรเลยเพราะมืดมาก แม้จะพอเห็นว่าเป็นต้นไม้ ก็บอกไม่ได้ว่าเป็นต้นอะไร ป้ายืนนิ่งคิด " เจ้าของบ้านคงนอนหลับหมดแล้ว การส่งเสียงเรียก ปลุกให้เขาลุกขึ้นเพื่อขอดอกไม้ ถ้าเขาโกรธก็จะเป็นบาปแก่เขาเปล่าๆ ถึงอย่างไรเราก็ไม่มีทางเลือก จะต้องปลุกอยู่ดี เราจะใช้วิธีขอซื้อ จะเอาราคาเท่าไรก็ยอม คงจะไม่ทำให้เขาโกรธ " ป้าคิดเอากิเลสตัดกิเลส คือเอาโลภะตัดโทสะดังนี้ ก็ชวนอีกสองคน ช่วยกันส่งเสียงเรียก " คุณคะ คุณคะ คุณคะ เจ้าของบ้านี้น่ะค่ะ ตื่นรึเปล่าคะ ขอพบหน่อย " พร้อมกับเคาะรั้วสังกะสี ปัง ปัง ปัง เสียงดังทีเดียว

เรียกอยู่ ๒-๓ นาที ไฟในบ้านก็เปิดขึ้น มีสามีภรรยาคู่หนึ่งเปิดประตูออกมา ถามว่า " นั่นใครกัน มีธุระอะไร มาเรียกคนกำลังหลับ " เสียงตอนท้านแสดงอาการตำหนิแถมมาด้วย

ป้ากล่าวคำขอโทษ และอธิบายความประสงค์ให้ทราบ พร้อมทั้งย้ำว่า " เป็นเรื่องสุดวิสัยจริงๆ ไม่ทราบจะไปหาดอกไม้ที่ไหน พอสว่างก็จะแห่นาคกันแล้ว ขอให้คุณเอาบุญด้วยดันเถิดนะคะ ดอกไม้นี้จะคิดเป็นเงินเท่าไหร่ ดิฉันยอมจ่ายให้ทั้งนั้นค่ะ "

ป้าพูดทั้งที่ไม่รู้ว่าต้นมีดอกหรือเปล่า สองสามีภรรยาเงียบไปสักครู่ก็พูดว่า " เอายังงี้แล้วกัน เราสองคนง่วงนอน ไม่มีกะใจเก็บให้พวกคุณหรอก คุณมาเก็บกันเองก็แล้วกัน ไม่คิดเงินหรอก เก็บเสร็จแล้ว คุณก็งับประตูรั้วให้ด้วยก่อนกลับ " กล่าวแล้ว ผู้เป็นสามีก็เดินลงบันไดมาเปิดประตูรั้ว แล้วก็ขึ้นบ้านปิดประตู ดับไฟเข้านอน

ป้ากับครูอีกสองคน เดินไปยังต้นบานบุรีที่เชิงบันได ฉายไฟส่องดู ต้นไม่โตนัก มีดอกอยู่บ้างแต่ไม่มาก ช่วยกันเด็ดจนหมดต้น ทั้งดอกบานดอกตูมได้ประมาณขันน้ำพูนๆ แล้วก็พากันกลับ ทุกคนเห็นเข้าดีใจกันมาก นี่ถ้าพวกเขารู้ถึงคำอธิษฐานของป้า หน้าศพหลวงพ่อสด เขาคงจะยิ่งดีใจกันเป็นพิเศษ แต่ป้าก็ไม่ได้บอกใครเพราะเกรงว่าคนเหล่านี้ ไม่เคยสนใจเรื่องศาสนา นอกจากไม่เห็นคุณค่าแล้ว ถ้ามีใครสักคนเกิดนึกขบขัน การกระทำของป้าขึ้นมา คนนั้นคงจะบาปไม่น้อย

ที่น่าแปลกใจอีกประการหนึ่งคือ จำนวนดอกไม้ที่ได้มานั้น มีจำนวนพอดีที่ขาดอยู่ พอทำเสร็จดอกไม้ก็หมดพอดี ไม่มีเหลือแม้แต่กลีบเดียว ใช้จนหมดทั้งดอกบานดอกตูม เสร็จงานประมาณตีสองครึ่ง ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน

รุ่งเช้าป้าไปร่วมในพิธีบวช มีคนมาในงานประมาณ ๓๐ คน เราเดินตามหลังนาครอบโบสถ์ ๓ รอบ รอบสุดท้ายป้าถือพาน ใส่เหรียญสลึงไปเบื้องหน้านาค นาคก็หยิบออกหว่านทาน มีเด็กวัดผู้มาร่วมงาน และคนทำงานในวัดที่เห็นเข้า มาแย่งทานกันเป็นที่สนุกสนาน

คำอธิษฐานของป้าไม่ได้ขอดอกไม้โดยตรง ป้าอธิษฐานเรื่องความสำคัญของหลวงพ่อฯ เป็นหลัก การหาดอกไม้ได้ ถือว่า หลวงพ่อฯ เป็นคนสำคัญจริง และต่อมาเมื่อมีผู้ได้อภิญญาจิต มีหูทิพย์ตาทิพย์ ระลึกชาติในอดีตได้ รู้เหตุการณ์ในอนาคตด้วย ก็พบว่า หลวงพ่อฯ เป็นบุคคลสำคัญยิ่งใหญ่อย่างนั้นจริงๆ

ยังมีคำรับรองของหลวงพ่อวัดปากน้ำเอง ในเรื่องนี้ คือครั้งหนึ่งเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่เกิดอาพาธ น้องชายของท่านมาเฝ้าพยาบาล เอาลูกสาวอายุสิบกว่าขวบมาด้วย เด็กนั้นได้ยินคำสนทนาของบิดา และหลวงพ่อวัดปากน้ำ โดยฝ่ายบิดาเด็กพูดว่า

" ทำไมเช้าวันนี้ ดูหลวงพ่อสดชื่น หน้าตาเบิกบาน ไม่มีกังวลเหมือนวันก่อนๆ " หลวงพ่อวัดปากน้ำตอบว่า " เออใช่ วันนี้ข้าหายห่วงแล้ว เพราะคนที่มาทำงานสืบทอดจากข้าเกิดแล้ว" อีกฝ่ายถามว่า " เขาเกิดที่ไหนครับหลวงพ่อ " หลวงพ่อวัดปากน้ำตอบว่า " เกิดที่จังหวัดสิงห์บุรี"

ต่อมาเมื่อเด็กหญิงอายุราวสีสิบปีเศษ ได้อ่านประวัติหลวงพ่อเจ้าอาวาสเรา ซึ่งเขียนลงในหนังสือโลกทิพย์ ว่าหลวงพ่อเป็นคนสิงห์บุรี จึงได้มานมัสการ เล่าเรื่องที่เคยได้ยินนั้น ให้หลวงพ่อฯ ทราบ ยืนยันว่าตรงกับที่หลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านพูดไว้หลายสิบปีมาแล้ว

ป้าเอามาเล่าไว้ในที่นี้ด้วย เพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างบารมี ของหมู่คณะ จะได้มีศรัทธาในหลวงพ่อฯ ไม่หวั่นไหวคลอนแคลน เมื่อมีการกล่าวร้ายต่างๆ จากผู้ต้องการทำลาย


Create Date : 23 เมษายน 2551


อุบาสิกา ถวิล - บทที่ห้า - บ้านอย่างนี้ไม่มีในโลก

ป้าจำได้แม่นยำไม่มีวันลืม ถึงช่วงมีชีวิตตอนนี้ ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ เป็นเวลาที่มีความสุขที่สุข และวันเวลาเหล่านั้นก็ผ่านไป ห่างกันนานมากถึง ๒๔ ปีแล้ว ไม่มีโอกาสได้สดชื่นเบิกบานใจ อย่างครั้งกระโน้นอีกเลย เวลาในชีวิตของป้าที่เหลืออยู่มีน้อยเต็มทีแล้ว ป้ารู้ว่าในเวลาที่เหลืออยู่นี้ จะไม่มีเหตุการณ์เหมือนหรือคล้ายอย่างที่พบนั้น เกิดขึ้นอีก ป้าจึงขอเล่าความหลังเหล่านี้ไว้เป็นอนุสรณ์ คนรุ่นเก่าของวัดพระธรรมกาย

เมื่อหลวงพ่อฯ อยู่ในเพศสมณะ ห่มผ้ากาสาวะ ซึ่งเราคนหนึ่งมีฝีมือเรื่องเสื้อผ้า ตัดเย็บจีวรถวาย ย้อมด้วยสีเหลืองงามมาก ไม่ใช่เหลืองออกแดงเหมือนของร้านค้า สีจีวรกลมกลืนเหมาะสมกับผิวพรรณผ่องใสของท่าน เหมือนเอาทองคำห่อหุ้มแท่งแก้วมณีบริสุทธิ์ หลวงพ่อฯ จึงเสมือนแม่เหล็กที่มีกำลังพิเศษ ดึงดูดผู้คน ส่วนหนึ่งนึกอยากรู้ว่าปฏิบัติธรรมดีอย่างไร ทำให้คนหนุ่มรูปหล่อความรู้ดี การงานดี มีศรัทธาบวช พวกนี้พากันมาดูแล้ว ก็พยายามฟังคำสอนและลงมือปฏิบัติ อีกส่วนหนึ่งร่ำลือกันว่าหลวงพ่อฯ เป็นพระภิกษุรูปงามมาก งามกว่าพระเอกหนังเสียอีก ก็พากันยกขบวนเป็นกลุ่มมาดู แกล้งทำเป็นสนใจ พอหลวงพ่อฯ แนะนำสั่งสอนให้ ขณะลงมือปฏิบัติ หลวงพ่อฯ หลับตา พวกนี้ก็ลืมตาจ้องหลวงพ่อฯ เป๋งทีเดียว เวลานั้นคุณยายฯ จึงต้องทำหน้าที่ป้องกัน เมื่อเห็นใครมาผิดสังเกต เช่นมานั่งเฝ้ามองทั้งวัน บางรายมีปริญญาโทจากต่างประเทศ พามารดาที่มีฐานะดีมากมาด้วย ทั้งแม่ทั้งลูกมาเฝ้ากันทุกวัน

ถ้าเป็นแขกพิเศษประเภทมาหลวงไหลพระ คิดจะชวนสึกหาลาเพศอย่างนี้ คุณยายฯ จะถามตรงๆ ให้อายกันไปทีเดียวว่า " คุณ คุณ คุณจะมาเรียนธรรมะ หรือจะมาดูพระ " ถามบ่อยเข้า ในที่สุดก็ต้องหายหน้าไปเอง

หลวงพ่อฯ ท่านไม่มีมลทินมัวหมองเรื่องสีกา ก็เพราะมีคุณยายฯ ช่วยสอดส่องนั่นเอง

พวกแขกดังกล่าวนี้ มักมาตอนกลางวัน หรือบ่ายๆ ส่วนตอนเย็นเป็นสมาชิกประจำ คือ หมู่คณะของพวกเรา ตั้งแต่หลวงพ่อบวชแล้ว หมู่คณะของเรามากันครบหน้าเป็นประจำ ป้าเองแต่เดิมเคยไปบ้างเว้นบ้าง เพราะตอนเย็นหลังเลิกงาน สามีจะขับรถแวะมารับและกลับบ้านพร้อมกัน พอถึงเวลาที่เล่านี้ ป้าก็ไม่ขาดการปฏิบัติทุกเย็น จึงให้สามีเลิกไปรับ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ถูกอีกฝ่ายโกรธ แต่เขาก็ไม่แสดงให้เห็นว่าไม่พอใจ ตรงข้ามเมื่อเห็นป้ารับหน้าที่ทำน้ำปานะไปถวายหลวงพ่อฯ ทุกเย็น ยังฝากเงินทำบุญให้ตายใจอีกด้วย

ปกติป้าเป็นคนไม่มีฝีมือเรื่องทำอาหาร หรือเครื่องดื่มอะไรเลย แต่เวลานั้นเพื่อแบ่งเบาภาระของคุณยายฯ ป้ารับทำน้ำปานะเสียเอง บางวันก็ซื้อส้มเขียวหวานไปคั้น บางวันเป็นมะเขือเทศ บางทีป้าก็เอาลูกสมอดิบมาโขลกใส่น้ำสุก แล้วกรองเอากากออก ผสมน้ำตาลเกลือ บางครั้งเป็นลูกเชอรี่

ที่ทำงานป้าอยู่ใกล้ท่าเรือคลองเตย ขึ้นรถเมล์สาย ๔ สุดสาย ก็ถึงวัดปากน้ำภาษีเจริญ ก่อนเข้าไปบ้านธรรมประสิทธิ์ของคุณยายฯ เราก็มักแวะรับประทานอาหาร ที่หน้าวัดกันบ้างที่ฝั่งคลองตรงข้ามบ้านคุณยายฯ กัยบ้าง ถ้าพบกันหลายๆ คน คนที่ทำงานแล้ว มักเป็นเจ้ามือเลี้ยง เรามักจะรับประทานซ้ำอยู่ร้านเดิมเป็นประจำ นานเข้าก็คุ้นเคยกับเจ้าของร้าน เขามักใจดีขายอาหารดี ราคาถูกให้เสมอ แถมยังเล่าเพิ่มเติมว่า การที่พวกเรารับประทานอาหาร ที่ร้านของเขา ทำให้เขาขายดีได้กำไรมาก ฟังแล้วเราก็คิดกันว่า เจ้าของร้านคงพูดเอาใจ เมื่อคุยกันและคุณยายฯ ได้ยินเข้า ท่านบอกว่า ไม่ใช่เจ้าของร้านแกล้งพูด เป็น เรื่องจริง เพราะคนปฏิบัติธรรมนั้น เป็นผู้แสวงหาบุญกุศลอยู่เสมอ จะมีเทวดาชั้นต้นประเภทหนึ่ง คอยตามตามดูแลรักษา จะกินอาหารที่ร้านใด เทวดาก็จะดลใจ ให้ร้านนั้นทำของดี สะอาด และราคาไม่แพง

เท่าที่ป้าพบ ไม่ช่แต่เรื่องร้านอาหาร แม้แต่ร้านขายของทั่วไป บางทีป้าเดินผ่านโดยไม่ซื้อเหมือนเช่นเคย แม่ค้าจะอ้อนวอนว่า ขอให้ซื้ออะไรก็ได้ แค่บาทเดียวก็ยังดี เมื่อป้าซักถึงสาเหตุ เขาก็ตอบว่า " ชั้นสังเกตดูนะคะ ไม่รู้เป็นไงพอคุณซื้ออะไรชั้นครั้งใด ประเดี๋ยวเดียว ก็จะมีคนตามมาซื้อ ของขอายดีเป็นพิเศษทีเดียวค่ะ "

ป้าคิดว่า ถ้าแม่ค้าพูดจริงก็คงเป็นเพราะ ป้าชอบซื้อของแล้วชอบให้พรแม่ค้าทุกครั้งว่า " ไปละนะ ขอให้โชคดี ขายดี " เทวดาที่คอยดูแลป้า คงทำตามที่ป้าต้องการ ตามคนซื้อมาให้แม่ค้า

นี่ป้าเถลไถลออกไปนอกเรื่อง เป็นความรู้เบ็ดเตล็ด เพื่อให้กำลังใจคนที่ประสงค์จะทำความดี ว่า มีเทวดาตามดูแลรักษาช่วยเหลือ ทั้งนี้เพราะเทวดารู้ตัวดีว่า เป็นเทวดาเพราะสร้างบุญเอาไว้ พอหมดบุญเมื่อใดก็จะต้องจุติ จึงต้องการบุญเพิ่ม แต่ในเทวภูมิไม่มีโอกาสทำบุญ จะให้ทาน ก็ไม่มีผู้รับ เพราะแบ่งกันกินกันใช้ไม่ได้ ของใครของมัน ของทิพย์ไม่เหมือนของมนุษย์ ใช้ได้เฉพาะตัวจริงๆ และมีความเป็นอยู่ ที่สุขสบายสนุกสนานเพลิดเพลิน ชวนให้ประมาทอยู่ตลอดเวลา

ย้อนกลับมาเล่าถึงเหตุการณ์ ในบ้านธรรมประสิทธิ์ใหม่ ในระยะเดือนแรกที่หลวงพ่อฯ บวช ท่านไม่มีความกังวลใจสิ่งใด จึงตั้งหน้าสั่งสอนอบรมหมู่คณะเต็มที่ โดยเฉพาะหับเด็กๆ ลูกหลานของสมาชิกในหมู่คณะ ท่านมีเมตตาเป็นพิเศษ และเด็กก็สามารถปฏิบัติได้ดี ได้ผลเร็ว ให้ทำอภิญญาจิตก็ทำได้ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเรื่องหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้ใจผู้อื่น หรือแสดงฤทธิ์ ทำกันได้เป็นอัศจรรย์

ป้าจะยกตัวอย่างให้ฟัง บางครั้งอากาศร้อนติดต่อกันหลายวัน เด็กๆ ที่ปฏิบัติได้ผลเหล่านี้ ทำฤทธิ์ช่วยกันเรียกฝน พวกเขาพากันตามเทวดา ที่มีหน้าที่ดูแลดินฟ้าอากาศ ให้มาช่วย วันนั้นป้าก็เห็นด้วยตาป้าเอง ขณะที่เด็กๆ กำลังทำสมาธิจิตเรื่องนี้อยู่ เมฆก็ค่อยๆ รวมตัวกันเป็นก้อนโตขึ้นๆ ทั้งที่เดิมท้องฟ้าไม่มีเมฆเลย และกรมอุตุนิยมก็พยากรณ์ว่าวันนี้ไม่มีฝนตก ในที่สุดประมาณไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ฝนก็ตกหนักทั่วกรุงเทพฯ ถึงสองชั่วโมง อากาศเย็นไปทั่ว

บางที่เกิดไฟไหม้ที่ตลาดพลู พอดีเด็กๆ กำลังนั่งสมาธิอยู่ ก็ได้ใช้อำนาจจิตดับไฟ วิธีดับใช้อำนาจจิตทั้งสิ้น ตามอมนุษย์มาช่วยบ้าง ใช้ฤทธิ์ของตนเอง เอาน้ำจากใต้ดินขึ้นมาดับไฟบ้าง มีพวกเราบางคนวิ่งไปสังเกตการณ์ สักครู่ใหญ่ก็เข้ามารายงานว่า รถดับเพลิงยังไม่ทันมาถึง ไฟก็ดับลงเองเป็นอัศจรรย์

มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ถือหนังสือพระธรรมเทศนา ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ออกไปนั่งอยู่นอกประตูบ้าน จะเปิดอ่านหน้าใด เด็กๆ ที่นั่งทำสมาธิอยู่ ก็บอกได้ทุกครั้ง ยังหลับตาอ่านข้อความในหน้านั้นๆ โดยที่นั่งหันหลังให้ และห่างกันเป็น ๑๐ เมตร มีฝากั้นอีกต่างหาก คำใดที่อ่านไม่ออก เพราะเป็นคำทางธรรม เด็กก็จะอ่านให้ฟังทีละตัว หนังสือมีรูปภาพสิ่งใด ก็จะบอกได้ถูกต้อง

เรื่องพวกนี้ผู้ใหญ่ยังไม่เห็นธรรมะ ตื่นเต้นกันมาก คือเรื่องเด็กๆ ไปเที่ยวป่าหิมพานต์ได้พบกับสัตว์ประหลาดต่างๆ พบดอกไม้ ผลไม้ ต้นไม้ และรัตนชาติ มีเพชร ทอง เงิน อัญมณีต่างๆ สวยงาม มีจำนวนมากมาย ที่ป่าหิมพานต์นั่น

เด็กๆ ไปเที่ยวด้วยอำนาจสมาธิ แล้วเล่าสิ่งต่างๆ ที่ได้พบทั้งที่กำลังหลับตาอยู่ พวกเขาสามรถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า กับสิ่งที่พบเห็นเหล่านั้นได้ด้วย สัมผัสแล้วก็ส่งเสียงให้ฟัง " โอ้โฮ หลวงน้าครับ ลูกขนุนอะไร โตเท่าคันรถยนต์ เนื้อของมันหวานหอมอร่อยมาก ในเมืองมนุษย์ผม ไม่เคยมีกินยังงี้เลยครับ "

" ทองคำอะไรกัน มีมากเป็นภูเขาๆ เลยค่ะ ภูเขาเงิน ภูเขาเพชร มีเต็มไปหมดเลย "

" ดอกกุหลาบที่นี่ ดอกโตเป็นกาละมังเลยครับ หอมมากด้วย "

" หนูจับสัตว์ประหลาดได้แล้วค่ะ หัวเป็นช้าง ตัวเป็นราชสีห์ เค้าเรียกคชสีห์ เหรอคะ มันให้หนูขี่ด้วย ไม่ดุเลย "

เวลาไปเที่ยวป่างิ้วที่ครุฑอยู่ เมืองพญานาค สวรรค์ นรก เด็กๆ ก็เล่าได้เป็นฉาก ทำเอาคนใหญ่ที่นั่งฟังตื่นเต้น มีศรัทธาแน่นแฟ้นไปตามๆ กัน เพราะรู้อยู่ว่าลูกหลานของตน ไม่เคยทราบเรื่องราวเหล่านั้นมาก่อน เมื่อเด็กใช้ตาทิพย์ดู เห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แสดงว่าเป็นของมีอยู่จริง ความสงสัยคลางแคลงที่มีอยู่เดิม ก็ปลาสนาไปสิ้น มีความเลื่อมใสในธรรมปฏิบัติเต็มที่ กลัวบาปมาก อยากทำบุญต่างๆ ขึ้นมาทันที เพราะเชื่อมั่นว่าผลของบุญบาปมีจริง

เรื่องเที่ยวนรกสวรรค์นั้น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เห็นธรรมกายแล้ว มักจะถูกหลวงพ่อฯ ทดสอบให้พูดคุยกับผู้ที่เกิดในภูมินั้นว่า เมื่อเกิดเป็นมนุษย์เคยทำบาปอะไร ทำบุญอะไร จึงต้องมารับผลดังที่เห็นอยู่ นอกจากบอกกรรมของตนเองแล้ว ถ้าถามถึงที่อยู่ครั้งเป็นมนุษย์ สัตว์เหล่านั้นก็จะตอบว่าเคยอยู่ที่ไหน ตำบล อำเภอ จังหวัดอะไร ตายอย่างไร ญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ชื่ออะไร เสียดายจริงๆ ที่เวลานั้นป้าไม่มีโอกาสเดินทางไปซักถาม พิสูจน์ตามสถานที่ที่ได้ยิน

ต้องขอย้ำไว้ตรงนี้อีกครั้งว่า การปฏิบัติธรรมที่ถูกค้อง จะไม่เน้นเรื่องหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้ใจผู้อื่น รู้ความเป็นไปในอนาคต และทำฤทธิ์ได้ ซึ่งเรียกว่าอภิญญาจิตเหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นเพียงผลพลอยได้ เหมือนเราอ่านหนังสือออก วัตถุประสงค์เพื่อเอาไว้อ่านตำรับตำรา ที่เป็นความรู้ต่างๆ ขณะเดียวกัน เราก็สมามรถอ่านข่าวสาร หรือหนังสืออื่นๆ ออกไปด้วย

อภิญญาจิต หมายถึงจิตที่มีความรู้พิเศษ (อภิ แปลว่ายิ่ง พิเศษ อัญญา แปลว่ารู้) เหล่านี้ มีประโยชน์ยิ่งใหญ่ประการหนึ่ง คือทำให้เกิดความเลื่อมใส แก่ผู้ที่ยังคลางแคลงสงสัย

เมื่อการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องสนุกสนาน น่าเรียนรู้ดังนี้ ทุกเย็นที่บ้านธรรมประสิทธิของคุณยายฯ จึงปรากฏว่ามีทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ ไปกันเต็มบ้าน หลวงพ่อฯ ก็เต็มใจในการอบรมสั่งสอนเป็นพิเศษ เพราะท่านไม่มีเรื่องต้องกังวลใจใดๆ ผู้เรียนได้รับการสอนทั้งฝ่ายปริยัติ คือฟังคำเทศนา และลงมือปฏิบัติโดยมีคุณยายฯ และหลวงพ่อฯ เป็นผู้ควบคุม ติดตามดูผลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก้ไข ยังแถมท้ายด้วยการฟังผู้ที่ได้อภิญญาจิตแล้วไปดูโน้นดูนี่ พูดเล่าให้ฟังด้วย ก็เกิดความสนุกสนาน เบิกบานในการเรียนทุกเย็น เหมือนเราอยู่กันในสถานที่อีกโลกหนึ่ง เป็นโลกของปัญญา และความสุข

การบวชไม่สึกของหลวงพ่อฯ มีความหมายต่อหมู่คณะมาก ความฝันของป้าที่อยากจะได้ปัญญาชน อย่างน้อยเรียนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัย มาอุทิศตนเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้นิสิตนักศึกษา ตามสถาบันต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในเวลานั้น เริ่มตั้งเค้าเป็นจริงขึ้นมา ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ หลวงพ่อฯ บวชไม่สึก หมู่คณะฝ่านชายที่คิดประพฤติพรหมจรรย์ ก็จะต้องคิดบวชไม่สึกตาม เราก็จะได้กลุ่มพระภิกษุ ที่เป็นกำลังให้พระศาสนาขึ้นมา สิบรูปยี่สิบรูป ก็คงพอต่อการแผยแพร่ เรื่องบ้านพักชายโสด คงต้องงดกันไปโดยปริยาย แต่ป้าก็ยังไม่คิดถึงเรื่องการสร้างวัด เพราะดูเป็นเรื่องใหญ่เกินกำลังมากไป

ต่อมาวันหนึ่ง ป้าก็คิดเรื่องการสร้างวัดของเราเอง ขึ้นมาในพริบตา คิดเอาว่า " ถ้าเรามีวัดของเราเอง เราก็มีอิสระในการใช้วิธีสอน ตามแต่ที่เราเห็นสมควร เราก็จะสามารถทำงานใหญ่ฟื้นฟูหลักธรรมะและเผยแผ่ธรรมปฏิบัติได้กว้างขวางยิ่งขึ้น "

คิดเรื่องการสร้างวัดออก ป้าก็นึกไปถึง อาจารย์วรณี สุนทรเวช ผู้เป็นเพื่อน คงจะพอเป็นกำลังให้หมู่คณะได้บ้าง ป้ากลับมานั่งที่เดิม ตัดสินใจพูดกับคุณยายฯ ท่ามกลางความเงียบขึ้นว่า

" คุณแม่คะ เมื่อพระของเรา (หมายถึงหลวงพ่อ) ตัดสินใจบวชไม่สึกยังงี้แล้ว เรามาช่วยกันสร้างวัดของเราเอง ไม่ดีกว่าเหรอคะ เราจะได้ทำงานให้พระศาสนา ได้เต็มที่ ไม่ต้องห่วงว่าเดี๋ยวทำแล้วจะข้ามหน้าข้ามตา พระที่ท่านมีพรรษามากกว่า บวชมาก่อน หนูคอดยังงี้ คุณแม่ว่าดีมั้ยคะ " ป้าพูดออกไปโดยไมาทราบมาก่อนเลยว่า คุณยายฯ คิดเรื่องสร้างวัดมานานเต็มที ส่วนหลวงพ่อฯ ท่านก็คิดเรื่องสร้างวัด มาตั้งแต่ท่านมีอายุเพียง ๑๘ ปี เป็นความคิดที่พอดี มาประจวบกันเข้า ป้าเห็นคุณยายฯ ยิ้มออกมาอย่างดีใจ หลวงพ่อฯ ก็มีอาการทำนองเดียวกัน เย็นวันนั้น หมู่คณะจึงได้คุยกันเรื่องการสร้างวัด ภายหลังการนั่งสมาธิหประจำวันเสร็จ

ในเวลานั้นป้ายังไม่บอกหมู่คณะ ว่าป้ามีเพื่อนเป็นเศรษฐี เพราะป้ายังไม่ได้ตามมาเรียนปฏิบัติธรรม คนเราถ้าไม่มีศรัทธาซึ่งกันและกันแล้ว การจะบริจาคสิ่งใดให้ เป็นเรื่องยากมาก ป้าจึงคิดในใจเพียงว่า จะต้องหาทางชักชวนเพื่อนผู้นี้ มาเรียนกับคุณยายฯ ให้ได้

จะว่าป้าไม่เคยคิดสร้างวัดมาก่อนเลย ก็ไม่ถูกนัก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ก่อนรู้จักบ้านธรรมประสิทธิหลายปี ป้าเคยไปที่สวนโมกขพลาราม ของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ เคยชื่นชมงานก่อสร้างสิ่งต่างๆ ในวัดท่าน อยากทำชีวิตตนเองที่เกิดมาแล้วชาตินี้ ให้มีประโยชน์ยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับพระเถระรูปนั้น แต่เมื่อคำนึงถึงเรื่องตนเองเป็นผู้หญิง โอกาสที่คิกสร้างวัด เพื่อการเผยแพร่พระศาสนาก็หมดลง ยังนึกเสียดายชีวิต ของผู้ที่ได้เกิดเป็นชายทั้งหลาย ทำไมไม่มีใครคิดทำงานใหญ่ อย่างนั้นบ้าง

พอป้ามาพบหมู่คณะที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ความคิดเรื่องวัด ย้อนกลับมานึกถึงใหม่อีกครั้ง แม่ตนเองจะไม่ใช่เพศชาย ไม่มีทางได้บวชเป็นพระภิกษุ แต่ก็ให้การสนับสนุนหมู่คณะที่บวชได้ แค่นี้ก็นับเป็นบุญมหาศาลแล้ว

ต่อมาอีกไม่กี่วัน ผู้บังคับบัญชาที่ป้าและเพื่อนๆ เคารพมากป่วยหนัก ใกล้สิ้นใจ ป้าจึงถือโอกาส ขอร้องอาจารย์วรณี ให้ไปวัดเป็นเพื่อนป้า ป้าพาไปพบคุณยายฯ และหลวงพ่อฯ เล่าเรื่องของคนป่วย คุณยายฯ เมตตาช่วยเหลือ ท่านกล่าวว่า " คนเจ็บอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว หมดบุญต้องตาย ยายช่วยให้ไปอยู่ที่ชั้นจาตุม " จาตุมฯ หทายถึง จาตุมหาราชิกา สวรรค์ชั้นที่หนึ่ง

เมื่อกลับไปที่โรงพยาบาล คนเจ็บถึงแก่กรรมไปแล้วจริงๆ ครั้งนั้นป้าก็ยังไม่แนะนำอะไรมาก คงรู้จักกันว่าอาจารย์วรณี เป็นเพื่อนของป้าคนหนึ่งเท่านั้น แต่ป้าก็แอบเลียบเคียงถามแล้วว่า ท่านมีที่ดินแปลงใหญ่ ๐ บ้างหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า " มีอยู่นะ เป็นที่นาอยู่แถวรังสิตเกือบสองร้อยไร่ เป็นที่มรดก ยังไม่เคยเห็นสักที แต่พอถามได้ว่าอยู่ตรงไหน เพราะรู้จักบ้านของคนเช่านา มีที่ดินอยู่จันทบุรีอีก แปลงใหญ่เหมือนกัน " ป้าฟังแล้วไม่สนใจเรื่องที่ดินต่างจังหวัด สนใจเฉพาะที่นาที่รังสิต แต่ก็ยังไม่พูดอะไรกับฝ่ายไหนทั้งสิ้น

เวลานั้นหมู่คณะฝ่ายชาย ที่ตั้งใจอยู่เป็นโสด ประพฤติพรหมจรรย์ สร้างบ้านพักอยู่รวมกัน เฉพาะผู้ที่ทำงานแล้ว รวบรวมเงินปลูกบ้านได้ประมาณ ๒ หมื่นบาท คุณยายฯ ให้นำเงินที่มีนั้น ไปซื้อที่ดินสร้างวัด หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสกับเพื่อนสนิทร่างเล็ก พากันไปแสวงหา ซื้อที่นาแถวจังหวัดปทุมธานีได้มา ๑๙ ไร่ เป็นที่กลางทุ่ง ไม่มีถนนหนทางไปถึง ต้องเดินกันไปตามหัวคันนา

ถึงขนาดซื้อที่ดินดังนี้ ป้าจึงแน่ใจว่าหมู่คณะเอาจริง และที่พิเศษเหนือสิ่งอื่นใด คือป้าเชื่อมั่นในความสามารถคุณยายฯ ว่า จะทำให้ลูกศิษย์ฝ่ายชาย ผู้ตั้งสัจจะแล้วของท่าน บวชไม่สึกได้หมด และคุณยายฯ จะถ่ยทอดความรู้ความสามารถ ทางธรรมปฏิบัติ จนบุคคลเหล่านั้น เป็นกำลังของพระพุทธศาสนา ไปตลอดชีวิตของแต่ละคน โดยไม่มีใครสึกหาลาเพศ หรือประพฤติผิดพระธรรมวินัย

เพราะเชื่อมั่นในความสามารถ ของคุณยายฯ เต็มเปี่ยมดังนี้ ป้าจึงได้เล่าเรื่องของอาจารย์วรณี ให้หมู่คณะฟัง หลวงพ่อฯ จึงได้ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่ทำอภิญญาจิตได้ ตรวจดูสถานที่และจิตใจผู้เป็นเจ้าของ

เมื่อดูในอนาคตังคญาณ ทุกคนเห็นตรงกันหมดว่า วัดของเราสร้างขึ้น ณ ที่นาผืนนั้น เจ้าของที่ดินจะเต็มใจยกให้สร้างวัด และเป็นสถานที่เดียวกัน กับที่สร้างวัดในพุทธกัปก่อนๆ ของหมู่คณะ เราเคยสร้างไว้ที่นั่น มาชาตินี้ก็จะมาสร้างบารมี ในสถานที่เดิมอีก

ตาทิพย์ในญาณ เห็นได้ถึงรูปร่างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัด เห็นผู้คนที่มาวัด ชนิดผู้ที่เห็นพูดว่า " คนมาวัดมากมาย เฉพาะวันงานบุญใหญ่สำคัญๆ คนไหลเลยครับ มีรถยนต์ทั้งเล็ก ทั้งใหญ่นับไม่ถ้วน คนที่มาล้วนแต่แต่งกายสีขาวแทบทั้งสิ้น บางคนถึงกับนั่งเรือบินมาเลย "

ป้าฟังแล้วเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เพราะดูเหลือเชื่อเกินไป แต่ก็ใจชื้นมีความหวังขึ้น เมื่อได้ยินคำว่า เจ้าของเต็มใจยกให้ฟรีๆ จึงกล่าววาจาอย่างมั่นใจว่า " จะไปขอที่ดินจากพี่วรณีดู ถ้าไม่ให้ก็ขอซื้อ ถ้าไม่ขายก็ขอเช่า ไม่ให้เช่าก็จะขอยืม ถ้าครั้งนี้ไม่ยอมซักอย่าง ปีหน้าก็ไปหาอีก "

ตกลงกันเวลานั้นว่า เราจะขอที่ดินสร้างวัดเพียง ๕๐ ไร่ก็พอ จะไม่พูดขอตรงๆ จะพูดทำนองขอซื้อ ป้านึกแล้วยังอดใจเสียไม่ได้ ถ้าครั้งนั้นเจ้าของเกิดบอกขายให้ เราจะเอาเงินที่ไหนที่ดินท้องนาที่ซื้อไว้เดิม ๑๙ ไร่ ก็ยังบอกขายไม่ทัน ถ้าขายได้ ก็คงเป็นแค่เงินหมื่น อาจไม่ถึงสองหมื่น เท่าที่ซื้อไว้ก็ได้ เพราะสมัยนั้นคนไม่นิยมซื้อ เรียกว่าป้าจะต้องไปติดต่อชนิดมือเปล่าแท้ๆ

ป้าได้เล่าเรื่องของหมู่คณะ ให้อาจารย์วรณี ทราบโดยย่อไว้บ้างแล้ว เมื่อวันพามาที่บ้านธรรมประสิทธิ์ เพื่อช่วยผู้บังคับบัญชาที่ตาย ดังนั้นพอถามเรื่องที่นารังสิตอีกครั้ง ท่านจึงนัดป้าไปดูด้วยกัน เพราะท่านเองก็เพิ่งไปดูมา ป้าพูดแนะเย็นวันที่ ๒๕ ตุลาคม ตอนเช้า ป้าได้ลื่นหกล้ม ชนิดเดินไม่ได้ แต่ใจของป้าก็คิดว่า " พรุ่งนี้ ป้าจะไปขอที่ดินเค้าทำวัด เป็นบุญใหญ่ เราจะไม่ยอมแพ้ เดินไม่ได้ก็จะให้คนหามไปให้ได้ " พอคิดสู้ รุ่งเช้าก็เดินได้

วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๑๒ ป้า, หลวงพ่อรองเจ้าอาวาส และเพื่อนร่วมงานของท่านขับรถไปรับอาจารย์วรณี เราเดินทางไปยังตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ถนนเป็นลูกรังสีแดง เป็นเรื่องน่าแปลก ผินนาที่เห็น มีทางน้ำผ้านเหมือนที่เห็นกันในสมาธิจริงๆ คือมีคลองสามผ่านด้านหน้า และคลองซอยขนาดเล็กผ่านด้านหลังของเนื้อที่ แปลงนาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๑๙๖ ไร่เศษ ตอนด้านหลังเป็นที่ลุ่ม ในฤดูน้ำมักจะมีกอบัวเกิดขึ้นมาก ชาวบ้านเล่าว่า บางครั้งพบดอกบัวก้านเดียว มีดอกถึง ๙ ดอก

ในขณะที่เรายืนดูผืนนาเงียบอยู่นั้น อาจารย์วรณี ได้พูดอย่างตัดสินใจเด็ดขาดว่า " เรื่องที่พวกคุณคิดทำวัดกันนี้ พี่ก็เห็นดีด้วย แต่นานี้เป็นชื่อของคุณแม่พี่ ถึงแม้ท่านไม่ให้ แต่พี่จะให้พี่เป็นลูกคนเดียวของท่าน ถ้าท่านให้ พวกคุณก็สร้างวัดกันได้เร็ว ถ้าท่านให้ทั้งแปลงก็เอาไว้เถิด ไม่ต้องเอาแค่ ๕๐ ไร่หรอก " เราสามคนฟังแล้ว ยกมือพนมอนุโมทนาว่า " สาธุ " พร้อมกันนั้น มีสายฟ้าสว่างวาบเป็นทาง ในก้อนเมฆเหนือศรีษะ พร้อมกับเสียงคำรามกึกก้อง เปรี้ยงเดียว เกิดฝนตกอยู่เฉพาะบริเวณที่เรายืนอยู่

เย็นนั้นเราพากันเลยไปบ้านพักอาจารย์วรณี เพื่อกราบคุณแม่ ท่านชื่อคุณหญิงประหยัดแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี เมื่อท่านทราบความประสงค์ของหมู่คณะเรา ท่านได้เปล่งวาจาว่า " ที่ดินที่พวกคุณจะมาขอซื้อทำวัดกันนั้น ชั้น(ฉัน)ไม่ยอมขาย แต่ชั้นจะยกให้หมดทั้งแปลงเลย "

ทันที่คุณหญิงฯ พูดจบลง ก็มีเสียงจิ้งจก ๔-๕ ตัวบนเพดาน ร้องพร้อมกันขึ้นมา จั๊ก จั๊ก จั๊ก ฯลฯ แล้วก็เงียบพร้อมกัน (ภายหลังทราบว่า เป็นการกระทำอนุโมทนาของเทวดาในบ้าน ดลใจผ่านจิ้งจก)

ครั้นแล้วอาจารย์วรณี จึงชี้แจงว่า ตามที่ป้าและหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ชี้แจงเรื่องการสร้างวัดไว้ เมื่อเย็นวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๒ นั้น ท่านได้เล่าให้คุณแม่ของท่านทราบแล้ว คุณแม่ดีใจมาก อยากจะทำบุญใหญ่ ยกที่ดินให้สร้างวัด เพราะเป็นวันเกิดครบรอบ ๘๐ ปีพอดี แต่ก็ขอดูหมู่คณะให้แน่ใจสักหน่อยว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรม เอาจริงกัน สำหรับตัวอาจารย์วรณีเอง ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า

" พี่เองก็จะร่วมทำบุญด้วย พี่มีที่ดินเป็นสิทธิส่วนตัว อยู่ข้างโรงพยาบาลกลาง ๓ ไร่ ๒ งานเศษ จะถูกทางราชการเวนคืน เพื่อสร้างโรงพยาบาลกลางเพิ่มเติม คงจะได้เงินชดเชยราว ๑๔ ล้านบาท จะมอบให้สร้างวัดทั้งหมดเลย "

คืนวันที่ ๒๖ ตุลาคม ป้าและหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ได้นำข่าวดีเป็นมงคลยิ่ง มาแจ้งให้หมู่คณะ ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ทราบ คีนนั้นเราไม่สามารถคำนวณความดีใจ ของทุกคนได้ถูก

ความอดทนของป้า ทีประคับประคองไมตรีไว้ กับอาจารย์ท่านนี้ ยาวนานถึง ๑๐ ปี ไม่ใช่เวลาที่สูญเปล่า เพื่อนเชื่อถือไว้วางใจ ออกปากมอบทรัพย์สิน ให้สร้างสาธารณะกุศลด้วยความเต็มใจ คิดดูเมื่อได้ที่ดินและมีเงินขนาด ๑๔ ล้านเวลานั้น ก็เท่ากับเราจะสามารถสร้างวัดเสร็จ ภายใน ๓-๔ ปีทีเดียว แต่หลักธรรมที่ว่า ทุกสิ่งในโลกตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นความจริงแท้ตลอดกาล วัดจึงต้องใช้เวลาสร้างถึง ๒๐ ปี เพราะเกิดอนิจจังความไม่เที่ยง ป้าจะเล่าให้ฟังต่อคือ

ต่อจากนั้นอาจารย์ท่านนี้ ก็ยินยอมมาสมัครเป็นลูกศิษย์คุณยายฯ ตามคำชักชวนของป้า นำถาดใส่ดอกไม้ ธูปเทียน มากราบฝากตัว ท่านจะมาวัดแทบทุกอาทิตย์ พร้อมด้วยอาหารอย่างดี ประณีต โอชารสยิ่ง ถวายหลวงพ่อฯ และคุณยายฯ ยังมีเหลือเผื่อแผ่ถึงหมู่คณะทุกคนโดยเฉพาะตัวป้า จะต้องถูกท่านเกณฑ์ให้รับประทาน มากกว่าใครๆ บางครั้งป้าอิ่มแล้ว หรือไม่ชอบอาหารชนิดนั้นๆ ก็ต้องอดทนรับประทาน ให้อีกฝ่ายพอใจ เป็นอยู่อย่างนี้เสมอมา

ครั้นแล้ววันสำคัญที่สุดวันหนึ่งได้เกิดขึ้น เป็นวันพลิกผันชีวิตของป้า ให้สู่มรสุมส่วนตัวอันใหญ่หลวง วันนั้นเป็นวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ จะมีพิธีตั้งสัตยาธิษฐาน ของบรรดาผู้ต้องการประพฤติพรหมจรรย์ เพิ่มเติมจากปีที่แล้ว ซึ่งมีเพียง ๔ คน แต่ปี ๒๕๑๒ จะเพิ่มอีกนับ ๑๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่ม หญิงสาวโสด มีแม่ม่ายอยู่เพียงรายเดียว ทุกคนแจ้งความประสงค์ไว้กับคุณยายฯ ล่วงหน้า เพื่อให้ท่านพิจารณาอนุญาต คุณยายฯ เป็นผู้ตัดสิน ว่าจะยินยอมหรือไม่ มีหลายรายที่คุณยายฯ ไม่อนุญาต โดยเฉพาะเด็กๆ เป็นถูกคุณยายฯ ปฏิเสธเด็ดขาด จะมีบ้างบางคนที่หลวงพ่อฯ ขอร้องคุณยายให้อนุญาต ซึ่งคุณยายก็ใจอ่อนยินยอมอนุญาต

คนชุดหลังนี้มักจะรักษาสัญญา ครองตัวประพฤติพรหทมจรรย์อยู่ต่อมาได้ ๓ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๗ ปีบ้าง สุดท้ายก็กระทำได้ไม่ตลอด ดังที่คุณยายฯ ทราบล่วงหน้าทุกราย

(พรหมจรรย์ หมายถึง ความประพฤติอย่างพระพรหม คือไม่ยินดีในกามคุณห้า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส การยินดีในเพศตรงข้ามจะเป็นเพียงเพื่อนรักหรือคนรัก เป็นสิ่งไม่ถูกทั้งสิ้น การกระทำที่จะทำให้เกิดเป็นพรหม จะต้องเป็นผู้บำเพ็ญเพียรทางสมาธิจิต จนได้ฌาน และอยู่ในฌานจิตเสมอๆ แม้เวลาตาย ฌานก็ไม่เสื่อม ตายแล้วจะไปบังเกิดในพรหมโลก จิตที่ได้ฌาน จะไม่มีเรื่องกามคุณห้าเกี่ยวข้องด้วยเลย

พรหม แปลว่า ผู้ประเสริฐ คำว่า จรรย์ เป็นคำเดียวกับคำว่า จริยา แปลว่าความประพฤติ พรหมจรรย์จึงแปลว่า ความประพฤติอันประเสริฐ หรือความประพฤติอย่างพระพรหม )

พิธีตั้งสัจจะนี้ เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ คุณยายฯ จะทำสมาธิชั้นสูง อาราธนาพระธรรมกายภายในทุกพระนิพพาน ตลอดจนเทพยดาทุกชั้น รูปพรหม อรูปพรหมทั้งหมด มารับรู้เห็นเป็นพยาน ใครที่ปฏิบัติตามสัจวาจาได้ จะได้บุญมากมายเป็นมหาศาล ชนิดคำนวณไม่ไหว การตั้งสัจจะ ต่อหน้าพระธรรมกายในพระนิพพาน ต่างกับการตั้งสัจจะกับคนธรรมดาตรงนี้

ครั้งนั้นป้าเองไม่ได้คิดฝัน ว่าตนเองจะมีบุญเรื่องตั้งสัตยาธิษฐาน ประพฤติพรหมจรรย์เพราะเป็นคนแต่งงานแล้ว ชีวิตครอบครัวค่อนข้างราบรื่น ยังมองไม่เห็นทางเป็นม่าย แต่ก็อยากไปเห็นและนั่งร่วมอยู่ในพิธี คิดว่าแค่ได้อนุโมทนาบุญ กับคนที่ทำได้ ตนเองก็จะได้บุญถึงครึ่งหนึ่ง บุญนี้อาจเป็นปัจจัย ส่งผลให้ได้เกิดชาติหน้า มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์บ้างก็ได้

ป้าได้ชวนอาจารย์วรณี ให้ไปร่วมในพิธีด้วย ซึ่งท่านก็รับคำเป็นอย่างดี บอกว่า " ชั้นอาจตั้งสัจจะกับพวกเค้าด้วยนะ เพราะยังไงชั้นก็ไม่แต่งงานแล้ว

ในพิธีวันนั้นเริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิ เพื่อให้ใจหยุดนิ่ง ใสสะอาด คุณยายฯ เป็นผู้เรียกชื่อแต่ละคน โดยเรียกคนที่เคยตั้งสัจจะไว้ก่อนในปีที่แล้ว ให้กล่าวคำปฏิญาณซ้ำ แล้วจึงเรียกคนใหม่ เมื่อคุณยายฯ เรียกชื่อผู้ใด ผู้นั้นก็กล่าวถ้อยคำ ที่เปรียบเสมือนให้สัญญาต่อตนเอง และหมู่คณะ ออกมา ส่วนใหญ่ต่างคนต่างเตรียมตัวมาก่อน บางคนกล่าวยาวมาก ต้องอ่านกันเป็นหน้ากระดาษ คนที่กล่าวเอาใจความสั้นๆ มักพูดปากกล่าว ข้อใหญ่ใจความมีเรื่อง การประกาศเป็นศัตรูกับกามคุณ ๕ คือรูป กลิ่น เสียง สัมผัส และลงท้ายด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ยินดีในเรื่องทางเพศ ไม่แต่งงานไปจนชั่วชีวิต

เมื่อจบคนหนุ่มคนสาวลงแล้ว ก็ถึงคนที่เป็นม่ายและเป็นโสด ป้าพนมมืออนุโมทนาไปเรื่อยๆ นั่งอยู่ติดกันกับอาจารย์วรณี ในใจป้านึกชื่นชมยินดีกับทุกคน พร้อมทั้งเสียดายตนเองที่ไม่มีโอกาส มีคนมีครอบครัวอีก ๓-๔ คน มาอนุโมทนาแบบเดียวกับป้า คุณยายฯ ก็ไม่เรียกคนเหล่านั้นให้กล่าวสัจจะวาจา ในที่สุดจึงถึงอาจารย์วรณี ท่านก็กล่าวคำปฏิญาณว่า จะประพฤติพรหมจรรย์และจะช่วยสร้างวัด

อาจารย์วรณีกล่าวจบลง ทุกคนก็คิดกันว่าพิธีคงจะเสร็จ แต่ทันใดนั้นเอง เสียงคุณยายฯ ดังขึ้นชัดเจนถามป้าว่า " คุณถวิล จะไปกับยายรึเปล่า ถ้าไปก็ตั้งสัจจะมา "

ในความรู้สึกของป้าได้ยินเสียงคุณยายฯ ราวเสียงฟ้าผ่า คงจะเป็นเพราะความตกใจคาดไม่ถึงว่าคุณยายฯ จะกล่าวคำพูดประโยคนี้

คำพูดนั้นเป็นประโยคคำถามก็จริง แต่ใครเล่าจะกล้าปฏิเสธ ยิ่งเป็นป้าด้วยแล้ว หนทางขัดขืน ยิ่งไม่มีเลย สิ่งบังคับที่สำคัญอันดับหนึ่งคือ อาจารยผู้เป็นเพื่อน นั่งอยู่ติดกับป้า ท่านก็อุตส่าห์ให้ที่ดินสร้างวัด ให้เงินสร้างด้วย ยังยอมประพฤติพรหมจรรย์ ตามหมู่คณะ แล้วป้าซึ่งเป็นผู้ชักชวนท่าน จะพูดกับคุณยายฯ ว่า " หนูไม่ไปกับคุณยายหรอกค่ะ ได้อย่างไร คำว่าไปหมายถึงสร้างบารมีร่วมกับคุณยายฯ เพื่อเข้าสู่พระนิพพาน ถ้าปฏิเสธออกไป ก็เหมือนป้าเป็นคนไม่เอาจริง ชวนให้คนอื่นทำ แต่ตนเองไม่ยอมทำ นับเป็นคนใช้ไม่ได้ คนชวนต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี จึงสมควร

สิ่งสำคัญรองลงมา คือคุณยายฯ ถามต่อหน้าหมู่คณะ นั่งกันอยู่ในพิธีนั้นประมาณ ๓๐ คน ถ้าปฏิเสธออกไป หรือพูดหาข้ออ้างอะไรๆ ทุกคนจะต้องเสียใจ นึกตำหนิแน่นอน เพราะแทบทุกคน เว้นอาจารย์วรณี แม่ม่ายลูกติด และอาจารย์พยาบาล ซึ่งตั้งสัจจะไปหมดทั้งสามคนแล้ว ไม่มีใครอายุมากเท่าป้า ป้าเตือนตัวเองว่า " พวกเค้าเป็นเด็กหนุ่ม เด็กสาว อายุน้อยกว่าเราทุกคน ยังตัดใจสร้างบารมีถึงเพียงนี้ เราแก่มากแล้ว ผ่านทุกข์สุขทางโลกมาโชกโชน ยังจะคิดอะไรอยู่ จึงจะสละไม่ได้ น่าอายนัก "

ประการสุดท้าย ที่นับเป็นความสำคัญด้วยคือ ป้าคิดว่า " ในชั่วชีวิตนี้ เราไม่สามารถหาเงินเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน มาสร้างวัดได้ แต่ถ้าเรารักษาศรัทธา ของอาจารย์ท่านนี้ ไว้ให้มั่นคง ทรัพย์สมบัติที่ท่านจะเสียสละให้ สร้างวัดได้เหลือเฟือ ทั้งที่รู้ว่าถ้าตั้งสัจจะไปแล้ว อาจจะเกิดปัญหาส่วนตัวก็ต้องยอม เพราะโอกาสสร้างวัดมีน้อยเต็มที ชาตินี้มีโอกาสแล้ว อย่าให้เสียประโยชน์ไปเลย ทั้งเราก็เคยพูดไว้กับคุณยายฯ แล้วว่า จะติดตามสร้างบารมีกับท่าน

คิดดังนี้เสร็จชั่วพริบตาเดียว ป้าก็ตัดสินใจเด็ดขาด ตอบคุณยายฯ ว่า " ค่ะ " แล้วก็พูดออกไปโดยอัตโนมัติ เป็นเนื้อความว่า " จะไม่ยินดีในกามคณห้า จะช่วยสร้างวัดและปฏิบัติธรรมให้ได้ผล ช่วยเผยแผ่ธรรมปฏิบัติ วิชชาธรรมกายให้กว้างขวาง เมื่อช่วยกันสร้างวัดเสร็จแล้ว จะขออนุญาติครอบครัว ออกบวชเป็นอุบาสิกา หรือมิฉะนั้นก็จะลาครอบครัว อีก ๗ ปีภายหน้า เป็นอุบาสิกาช่วยงานพระศาสนา ไปจนชั่วชีวิต "

ป้ากำหนดเอาเวลาอีก ๗ ปี เพราะคิดถึงว่า ตนเองจะได้รับราชการครบ ๑๙ ปี ใช้หนี้ทุนที่รัฐบาลส่งเรียนมา จนสำเร็จการศึกษา และเวลา ๗ ปี ก็นานพอที่จะชักนำคนในครอบครัวให้หันมาสนใจใฝ่ทางธรรม เช่นเดียวกับป้าได้

หลังพิธีตั้งสัตยาธิษฐานในวันนั้นกันแล้ว ทุกคนในหมู่คณะเบิกบานใจกันมาก มองเห็นความสำเร็จ ในการสร้างวัดอยู่เบื้องหน้า ดูจะไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ

อย่างไรก็ดี เราก็ยังไม่สามารถลงมือกระทำงานสิ่งใด ตามที่ต้องการ ในทันทีนั้นได้เพราะเรามีตัวเงินสดอยู่ที่คุณยายฯ เพียงสามพันสองร้อยบาทเท่านั้น เป็นยอดเงินเริ่มแรกของการทำวัดทั้งวัด ป้าทราบว่าอจารย์เพื่อนป้า ท่านมีเงินก้อนใหญ่อยู่บ้าง แต่ท่านก็เพิ่งเข้ามาร่วมงาน กับหมู่คณะเราใหม่ๆ ยังไม่รู้จักจิตใจซึ่งกันและกันดีพอ ถ้าป้าจะออกปากขอบริจาค ให้ท่านเบิกเงินสดมาให้ในทันที ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมนัก หมู่คณะควรจะแสดงความสามาถ หาเงินจากที่อื่นมาสมทบ ให้เห็นความสามารถก่อน

ทั้งเรื่องสร้างวัด เราจะทำในชื่อของคนใดคนหน่ฝไม่ได้ เพราะเราจะต้องบอกบุญทั่วๆ ไป จึงจำเป็นจะต้องกระทำในรูปนิติบุคคลเป็นมูลนิธิ อาจารย์วรณี กรุณาไปเชิญ นายอภัย จันทวิมล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในเวลานั้น มีศักดิ์เป็นพี่ชายของท่าน มาเป็นประธานมูลนิธิให้ ตั้งชื่อว่ามูลนิธิธรรมประสิทธิ์ ตามชื่อบ้านของคุณยายฯ อาจารย์วรณีบริจาคเงินจดทะเบียนมูลนิธิ ครั้งแรก ๕ หมื่นบาท เป็นประเดิม

แต่เนื่องจากเงินจากการเวรคืนที่ดิน ข้างโรงพยาบาล ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ต้องผ่านระเบียบและขั้นตอนต่างๆ ของทางราชการ สิ้นเวลาเป็นปีสองปี เราไม่สามารถถอยได้ เราต้องลงมือสร้างโดยเร็วที่สุด เพราะหมู่คณะต้องการให้คุณหญิงฯ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินได้เห็นวัดก่อนตาย

เย็นวันหนึ่ง ก่อนนั่งปฏิบัติธรรมตอนเย็นประจำวัน หลวงพ่อฯ ได้เอ่ยปากกับป้าว่า " พี่ หวิน หาที่ดินมาสร้างวัดได้แล้ว ต้องหาเงินมาสร้างวัดด้วย "

ป้าฟังคำสั่งแล้ว เหมือนมีภูเขาทั้งลูกหล่นมาทับ เพราะนับตั้งแต่ครั้งแรก ที่รู้จักหลวงพ่อฯ ป้าก็รู้สึกต่อท่านดังที่เล่าไว้ข้างต้นคือ รู้สึกเกรงใจมาก ถ้าให้ช่วยทำสิ่งใดอยู่ในวิสัยที่ช่วยได้ ต้องทำให้ทันที ทนไม่ได้ที่จะเห็นท่านผิดหวัง

เย็นวันนั้น ป้านั่งปฏิบัติธรรมไม่ได้เรื่องอะไรเลย ใจคิดฟุ้งแต่เรื่อง " จะเอาเงินที่ไน มาให้ท่านสร้างวัด จะเอาเงินที่ไหน จะเอาเงินที่ไหน " คิดถึงสมบัติของพ่อแม่ มีที่นาเป็นร้อยไร่ก็จริง แต่ราคาสมัยนั้นก็ไร่ละพัยบาท เงินแสนเดียวจะทำอะไรได้ แค่ค่าขุดคูน้ำ รอบที่สร้างวัด คิดกันแล้วก็ราคาไม่ต่ำกว่าสามแสนบาท ป้าคิดถึงเพื่อนๆ ที่มีฐานะอื่นๆ อีกหลายคน ล้วนแต่มีครอบครัว มีลูกเต้าหลายคน ใครจะมาคิดบริจาคทุ่มทั้งตัว เหมือนอาจารย์วรณี ซึ่งเป็นโสดตัวคนเดียว

คิดถึงสมบัติอาจารย์ท่านนี้ ความจริงท่านพูดกับป้าว่า ท่านจะให้สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดด้วยซ้ำไป เพื่อช่วยสร้างวัด แต่บังเอิญสมบัติของท่านแทบทั้งหมด เป็นอสังหาริมทรัพย์ เป็นที่ดินเสียส่วนใหญ่ ที่ดินที่พาหุรัด บางกระบือ สวนพลู ป้าลองคิดราคาอย่างถูกที่สุดราวครึ่งนีงของราคาสมัยนั้น ท่านมีทรัพย์เป็นเงินราว ๒ ร้อยล้านบาท สร้างวัดได้อย่างไม่ต้องง้อใคร

แต่การเร่งรัดให้ท่านขายทันใด ในขณะนั้น ไม่ได้แสดงความสามารถ ของหมู่คณะ อาจารย์ท่านนี้อาจหมดศรัทธา ป้าจึงพูดอะไรไม่ออก ยิ่งเมื่อหลวงพ่อพูดประโยคข้างต้น ป้าจึงวุ่นวายใจ

ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งวุ่นวาย ยิ่งนึกอะไรไม่ได้เลย จึงพยายามหยุดคิด เอาใจไว้ที่ศูนย์กลาวกายให้นิ่งที่สดเท่าที่จะนิ่งได้ เห็นสิ่งใดใสๆ ก็มองดูสิ่งนั้นนิ่งอยู่

จนเกือบถึงเวลาเลิก ใจก็ถอนออกมา ครั้นแล้วความคิดอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้น คือป้าเคยอ่านประวัติพระภิกษุบางรูป และประทับใจในความคิด และการทำงานของท่าน เห็นว่าศรัทธาของป้าเกิดได้จากการอ่าน " ก็ถ้าเราเอาความจริงใจของหมู่คณะทุกคน ออกมาเขียนเป็นหนังสือดูบ้าง ก็น่าจะใช้เรียกศรัทธาจากผู้ที่อ่านพบได้ "

พอคิดได้ดังนั้น เมื่อเลิกนั่งสมาธิกันแล้ว ป้าจึงเสนอเรื่องนี้ต่อหมู่คณะ เมื่อถูกซักถามว่า " จะให้เขียนทำนองไหน " ป้าก็ตอบว่า " เขียนประวัติของตนเองว่า ทำไมจึงมาปฏิบัติธรรม และได้รับผลดีอย่างไร ตั้งใจจริงช่วยกันสร้างวัดขนาดไหน ขนาดสละชีวิตอุทิศให้พระพุทธศาสนากันเลย นั่นแหละ เอาความจริงใจออกมาเล่า คนอ่านแล้วเกิดศรัทธา ก็จะมาช่วยสร้างวัดกันเอง ช่วยกันเขียนทุกคนเลย หนังสือเล่มนี้เท่ากับรวมเรื่องของเราทุกคน "

ข้อเสนอของป้า ไม่มีใครคัดค้าน ทุกคนเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ มีบางคนอ้างว่าเขียนไม่เป็น คนที่คิดว่าเขียนได้รับปากจะช่วยแก้ไขให้ เวลาที่ป้าเสนอความคิดนั้น ปลายปี ๒๕๑๒ เราว่าจะส่งหนังสือ ให้ทันเทศกาลปีใหม่ ๒๕๑๓ ถือเป็น ส.ค.ส. ส่งตามผู้ที่รู้จักคุ้นเคย ของทุกคนและตามคนที่สมควรต่างๆ ตลอดจนสถาบันใหญ่ๆ เช่นมหาวิทยาลัย ห้องสมุดประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ คือเป็นหนังสือเสี่ยงบารมี ตามหาผู้คนที่เคยทำบุญร่วมกันมา ในชาติปางก่อน เราอธิษฐานจิต ให้บุญเก่าบันดาล ให้ได้มีโอกาสอ่านหนังสือของเรา และมาร่วมทำบุญด้วยกันในชาตินี้อีก

เมื่อเป็นที่ตกลงกันดังนี้ ต่อจากนั้นทุกเย็น ต่างคนต่างมาปฏิบัติธรรม เลิกปฏิบัติแล้วก็เขียนเรื่องของตนเอง แจกกระดาษฟุลแสก๊ปคนละ ๓-๔ คู่ ดินสอคนละแท่ง นั่งหมอบเขียนกับพื้นบ้าน เขียนไปทิ้งไป เขียนใหม่ แม้แต่หลวงพ่อฯ ก็ต้องเขียนเรื่องของท่านเองด้วย ทั้งเด็กทั้งคนใหญ่รวม ๒๐ คน ช่วยกันเขียน ทุกคนมีกำลังใจในการเขียนมาก เพราะคุณยายฯ นั่งสมาธิอยู่ตลอดเวลาที่พวกเราเขียน ท่านกล่าวว่า

" ยายอาราธนาบุญจากพระนิพพาน เอาบุญนั้นคุมตัวอักษรทุกตัว ที่พวกคุณเขียน ใครอ่านแล้วให้เหมือนไฟลนก้น ทนอยู่ไม่ได้ ต้องมาช่วยพวกเราสร้างวัด หนังสือเล่มนี้จะมีค่ามาก คนจะตามหาอ่านกันจนสิ้นลม "

ครั้นแล้วหนังสือก็เขียนเสร็จ ๒๐ เรื่อง เงินค่าพิมพ์ไม่มี อาจารย์วรณี เป็นคนออกทั้งหมด ๓ พันบาท พิมพ์ครั้งแรกหนึ่งพันเล่ม ขนาดเหมือนสมุดกว้าง ๗ นิ้วยาว ๑๐ นิ้ว ออกแบบหน้าปกสีเขียวสด ให้คนเห็นแล้วสนใจ ตัวหนังสือสีเหลือง ชื่อหนังสือ " เดินไปสู่ความสุข " ซึ่งเป็นชื่อที่เด็กๆ ผู้ปฏิบัติธรรมได้อภิญญาจิต เอาธรรมกายของเขาขึ้นไปถามพระธรรมกายในพระนิพพาน ได้มา ๕ ชื่อ อีก ๔ ชื่อ มีคำทางธรรมปนอยู่ หมู่คณะเห็นว่าชื่อเดินไปสู่ความสุขเป็นชื่อเหมาะที่สุด เพราะทุกคนต้องการความสุข จึงตัดสินใจเอาชื่อนี้ หนังสือหนา ๑๒๒ หน้า

ก่อนแจกป้าเห็นหนังสือของเราอ่านแล้วสนุก เกรงคนที่ไดรับจะเก็บไว้เอง จึงได้เขียนคำว่า " อย่าลืมส่งต่อ " ด้วยลายมือป้าเอง ตัวอักษรโตราว ๒ เซนติเมตร อัดสำเนา ตัดแปะไว้ที่มุมบนซ้ายมือ ให้มองเห็นเด่นๆ คนรับจะได้ช่วยส่งหนังสือเล่มนี้ ต่อกันไปเรื่อยๆ ถ้าเล่มหนึ่งอ่านกันได้ ๑๐๐ คน พันเล่มก็คงจะมีผู้รู้เรื่องการสร้างวัด เป็นหมื่นคน คนมีบุญที่คิดช่วยเราคงมีอยู่ ในจำนวนเหล่านี้บ้าง

จริงดังที่คาดคิด หลังจากผ่านปีใหม่ไปแล้วไม่นาน ได้มีผู้มาทำบุญที่บ้านธรรมประสิทธิ์ทั้งที่มาด้วยตนเอง และที่ส่งมาทางไปรษณีย์ แม้จำนวนเงินแต่ละรายไม่มากนัก แต่เมื่อรวมๆ กันก็คงพอให้เราสามารถเริ่มงานได้ งานชิ้นแรกก็คือการขุดคูน้ำล้อมรอบวัด ชิ้นที่สองคือ หาสถาปนิกเขียนแบบแปลนวัด และแปลนศาลา

การขุดคูน้ำไม่ต้องมีแบบแปลนอะไรมาก สิ่งสำคัญคือต้องมีเงินค่าจ้างคนขุด และคนคุมงาน เงินที่มีผู้บริจาคก็พอมีอยู่บ้าง ป้าเองเวลานั้น ก็เริ่มชักชวนผู้คนบริจาค จำได้ว่าคืนวันรุ่งขึ้นจะมีการประชุมครูในโรงเรียน ที่ป้าเป็นหัวหน้าสถานศึกษาอยู่ ป้าตัดสินใจขออนุญาตสามี เอาแหวนเพชรที่เขาให้ป้าไว้ ในวันแต่งงานบริจาคสร้างวัด ความจริงป้าเสียดายมาก เพราะเป็นของชิ้นเดียว ที่มีค่าที่สุดของป้า แต่เมื่อนึกถึงว่า ถ้าเราจะชวนผู้อื่นบริจาค โดยเราไม่กระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การชวนนั้นมีผลน้อย ป้าจำต้องคิดตัดใจ ทั้งเข้าใจถ่องแท้ว่า บุญที่จะได้จากการร่วมสร้างวัดนั้น มีมากว่าการหวงแหนก้อนหิน ที่สมมุติกันว่ามีค่านี้มากมายนัก สามีของป้าเองไม่เต็มใจ พูดอนุญาตอย่างเสียไม่ได้ว่า " ตามใจตุณสิ " น้ำเสยงนั้นเหมือนจะบอกว่า " ต่อไปอย่าหวังว่าจะซื้อให้ใหม่ "

ที่ป้ารู้ว่าเขาไม่เต็มใจ นอกจากฟังน้ำเสียงและดูกิริยาท่าทางแล้ว ยังได้รับคำบอกเล่าจากเพื่อนว่า สามีของป้าไปบ่นให้เขาฟังว่า " ดูซิ เมียผมบ้าบุญมากไปแล้ว แหวนแต่งงานที่เราให้ไว้ ก็เอาไปบริจาคได้ "

การตัดสินใจของป้าได้ผลตามที่คาดไว้ เมื่อป้าประกาศในที่ประชุม ปรากฏว่ามีผู้บริจาคตาม แทบทุกคน ทั้งที่เป็นเงินและเครื่องประดับ มีครูถอดแหวน สายสร้อย ต่างหูร่วมกับป้าเต็มฝ่ามือ

ป้านำเครื่องประดับที่มีค่าเต็มฝ่ามือนั้น ไปมอบให้คุณยายฯ เพื่อใช้ขายนำเงินมาประเดิมสร้างวัด เครื่องประดับเหล่านี้ พิจารณาตามความจริงแล้ว เป็นเพียงสิ่งที่ทำมาจากหินจากแร่ เมื่อใช้ฝีมือตกแต่งให้ประณีต ก็นิยมกันว่า เป็นของมีค่า พยายามแสวงหามาประดับร่างกาย

ของที่นำมาประดับร่างทุกชนิด ถ้าเป็นของสวยงาม มันก็งามอยู่ที่ตัวสิ่งของ ไม่เคยทำให้ผู้ประดับงามขึ้นได้จริง ผมเคยหงอก ฟันเคยหัก หนังเคยเหี่ยว เอาเครื่องประดับราคาเป็นร้อย เป็นพันล้านมาแต่งให้ ร่างกายก็ยังเป็นเหมือนเดิม ที่นิยมกันว่า เมื่อตกแต่งแล้วทำให้ดูสวยมีสง่าราศีขึ้น ก็เป็นเพียงค่านิยมที่สมมุติกัน อาจเป็นเพราะนิยมว่า คนที่ประดับกายด้วยของเหล่านั้น เป็นคนมีฐานะดีมากกว่า

คุณของการใช้เครื่องประดับ มีเพียงเท่านั้น คือโอ้อวดให้ผู้อื่นเห็นฐานะของผู้แต่ง

แตโทษมีมากหลายประการ เช่นต้องลำบากในการแสวงหา และดูแลรักษา ได้เงินมาแทนที่จะใช้เงินนั้น ทำประโยชน์ให้ตนและครอบครัว อุปการะผู้มีพระคุณ ทำสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ให้เป็นบุญกุศลแก่ตนในภพหน้า กลับนำมาใช้ซื้อของเหล่านี้ แต่งได้แล้ว ไม่ใช่พอใจอยู่เพียงนั้น เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ก็ต้องแสวงหาเพิ่มใหม่ ให้ทันต่อความนิยม จะเรียกว่า เครื่องแต่งกายเหล่านี้ มาตัดรอนโอกาสทำความดี ก็ไม่ผิด

ยังมีโทษที่ร้ายแรงอีกประการ คือเป็นอัตรายถึงชีวิต ล่อใจเหล่ามิจฉาชีพให้คิดแย่งชิงจี้ปล้นทำร้าย ใครหลงไหลของเหล่านี้ มักทำให้จิตใจคับแคบ ชอบหวงแหนและอิจฉาริษยา แข่งดีกับผู้อื่น ไม่อยากเห็นใครมีของมีค่าประดับกาย มากกว่าตน

ใครก็ตามที่สามารถตัดใจ สละของมีค่าที่ตนหวงแหน ออกเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ นับว่าได้บำเพ็ญมหาทานกุศล ปัจจุบันก็ได้สติปัญญาและความปีติใจ ครั้งใดที่เห็นเครื่องแต่งกาย ชนิดที่ตนเองเคยบริจาค ก็จะมีความอิ่มใจ ว่าได้ฝากทรัพย์ไว้ในที่ปลอดภัย เพื่อเป็นเสบียงติดตัว มีจิตใจคลายจากความยึดถือ อยากได้ของผู้อื่น ในอนาคตภายภาคหน้า บุญกุศลย่อมส่งผลให้มีผู้มีรูปร่างหน่าตาผิวพรรณ นิสัยใจคอ ความประพฤติงดงาม มีทรัพย์มาก เหล่านี้เป็นต้น

เรื่องการบริจาคเครื่องประดับนั้น ป้ามิได้กระทำครั้งเดียว ต่อมาเมื่อสร้างศาลาก็ได้บริจาคสร้อยคอทองคำหนัก ๖ บาท สร้างโบสถ์ก็บริจาคเข็มขัดนาก เป็นอันว่าเครื่องประดับทั้งหมดที่มีอยู่ของป้า ฝังไว้ในพระศาสนา ต่อจากนั้นมา ไม่เคยคิดจะแสวงหาเครื่องประดับชิ้นใหม่ มีทรัพย์สินสิ่งใดก็คิดแต่เรื่องบริจาคเพื่อสร้างวัดอย่างเดียว

คนที่ไม่มีปัญหาคือคนที่ไม่ได้ทำ

#8 Daemusin

Daemusin
  • Members
  • 133 โพสต์

โพสต์เมื่อ 01 January 2010 - 10:36 PM

อ่า ก็มาถึงครึ่งเล่มเเล้วนะครับ คุณป้าถวิล ท่านไปรอเราก่อนเเล้วครับ ผมไม่ทราบว่าปีไหนเเต่ท่านจากไปเมื่ออายุ 65 ปี คงต้องรอผู้รู้มาตอบอะครับ
ผมจะรีบทยอยเอามาลงให้จบนะครับมี 12 บท


อุบาสิกา ถวิล - บทที่หก - ขุนพลตั้งทัพ

เมื่อตัดสินใจลงมื่อก่อสร้าง โดยเรื่องการเงินจะใช้วิธีหาไป ใช้ไปดังนั้น ก็จำต้องมีคนเป็นหัวหน้า รับผิดชอบการดำเนินงาน และเนื่องจากไม่มีเงินเป็นค่าจ้างประจำหัวหน้างานเพราะถ้าจ้างเป็นค่าแรงแล้ว ต้องใช้เงินในอัตราค่อนข้างสูง แต่ถ้าเป็นคนที่ทำงานนี้ด้วยศรัทธาย่อมสามารถตัดปัญหา เงินค่าจ้างก้อนนั้นลงไปได้

หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสตัดสินใจ ออกปากรับงานนี้ทันที ยอมออกจากงานธุรกิจการค้ารายได้เดือนละเป็นหมื่นบาทสมัยนั้น มาขอทำงานให้ โดยมีอาหารตามมีตามเกิดวันละ ๓ มื้อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน การกระทำของท่านประทับใจหมู่คณะมาก โดยเฉพาะอาจารย์วรณี ถึงกับออกปากจ่ายค่าอาหารรายเดือนให้ และขอเป็นเจ้าภาพ เมื่อถึงเวลาบวช นอกจากนั้นยังรับทำบ้านพักหลังเล็ก สำหรับคุมงาน เป็นบ้านหลังเล็กใต้ถุนสูง ข้างบนมีห้องนอน นอนได้ ๒ คน ห้องทำงาน ส่วนข้างล่าง มีที่สำหรับประกอบอาหารได้ สิ้นค่าวัสดุก่อสร้างไป ๓ พันบาท

ขณะนั้นคุณวันชัย แซ่จิว สำเร็จการศึกษา จากเกริกวิทยาลัยมาใหม่ๆ ยังไม่ทันทำงานที่ใด หมู่คณะขอร้องให้ช่วยงานหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส อีกแรงหนึ่ง คุณวันชัยเป็นบุตรชายคนเล็ก ของครอบครัวฐานะดี เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ ทั้งครอบครัว คุณวันชัยจึงมาวัดตั้งแต่เด็กๆ ชีวิตในครอบครัวค่อนข้างสุขสบาย ไม่มีงานสิ่งใดให้ต้องทำ ยิ่งงานบ้านทุกชนิด ไม่เคยทำมาก่อนเลย เพราะมีพี่สาวหลายคน แต่ยามที่ต้องไปอยู่ท้องนา กับหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส คุณวันชัยต้องทำทุกอย่าง ทั้งในบ้านนอกบ้าน ทำกับข้าว หุงข้าว ทำความสะอาดที่พัก เสื้อผ้า จิปาถะ แรกๆ ทำกับข้าว เป็นแต่เรื่องไข่ ไข่ต้ม ไข่ทอด ไข่ตุ๋น ในที่สุด จึงไปซื้อตำรากับข้าวมาทำ จากคนที่สุดแสนสบาย มาเป็นคนที่ทนลำบากตรากตรำได้ทุกชนิด เช่นเดียวกับหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส คุณวันชัยคือ หลวงพี่สีลวัณโณ ในเวลาต่อมา

การดำเนินงานขุดคูน้ำรอบที่ดิน เราเตรียมกันว่า จะถือเอาวันมาฆบูชา เป็นวันปฐมฤกษ์ ซึ่งจะตรงกับวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ในวันงาน อาจมีคนมาร่วมในพิธี ๑๐๐ - ๒๐๐ คน เราควรมีแบบแปลนแผนผังวัด ให้ผู้ร่วมงานได้ชมด้วย ที่ประชุมของมูลนิธิฯ ลงมติให้เรียนเชิญอาจารย์ช่างผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนช่างที่มีชื่อเสียง เพิ่งปลดเกษียณอายุราชการ อาจารย์ท่านนั้นก็ยินดี รับให้ความช่วยเหลืออย่างดี

ครั้นนั้นแลลแปลนโดยสังเขบของวัด ได้มาจากทิพยจักขุญาณ ของผู้ที่ปฏิบัติธรรมได้ผล แต่เนื่องจากผู้เห็นไม่ใช่สถาปนิก จึงได้แต่เล่าภาพที่เห็น ให้คนที่พอวาดภาพได้ฟัง คนฟังนำมาเขียนให้ชัดเจน อีกทอดหนึ่ง ก่อนงานมาฆบูชาปีนั้น หมู่คณะจำเป็นจะต้องออกติดต่อขอความช่วยเหลือ จากเอกชนและหน่วยงานต่างๆ เราจึงอยากได้แบบแปลนและแผนผังของวัดมาก เพื่อใช้ประกอบในการติดต่อ จึงจำเป็นต้องหมั่นไปหาอาจารย์ช่างดังกล่าวบ่อยๆ

เมื่อหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ต้องไปมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในท้องนา อันเป็นที่สร้างวัดเสียแล้ว คนที่จะดำเนินงานติดต่อกิจการต่างๆ จึงเหลืออยู่คนเดียวในเวลานั้น ได้แก่คนร่างเล็กเพื่อนของท่าน

แต่การติดต่องานต่างๆ โดยเฉพาะกับสถานที่ราชการ ไม่เหมาะที่คนวัยหนุ่มๆ อย่างหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส หรือเพื่อนของท่านคนนั้น หรือแม้เหล่านักศึกษารุ่นน้องที่อยู่ในคณะ เพราะล้วนแต่เป็นเด็กหนุ่มหน้าอ่อน อายุยี่สิบเศษ จะชี้แจงกับใคร ว่าจะร่วมใจกันสร้างวัด มักไม่มีใครเชื่อ จึงมักถูกผู้คนที่ไปติดต่อด้วย กล่าวถึงกันว่า " มีพวกไอ้ตี๋กลุ่มหนึ่ง มาเที่ยวบอกเรื่องการสร้างวัด ไม่รู้มาหลอกต้มกันรึเปล่า " ทั้งนี้เพราะเด็กหนุ่มทุกคนในหมู่คณะ ล้วนแต่มีผิวชาว มีเชื้อสายจีนกันแทบทุกคน

เมื่อเป็นดังนี้ การติดต่องานสำคัญๆ ป้าจึงมักต้องออกหน้าไปด้วย เพราะเป็นคนสูงวัยกว่า และเป็นข้าราชการชั้นเอกในเวลานั้น พอมีศักดิ์ศรี พูดให้คนฟังเชื่อถืออยู่บ้าง

เมื่อหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ต้องออกจากงาน ไปมีชีวิตประจำวันอยู่ที่ท้องนาสร้างวัด ท่านต้องรับงานดำเนินการสร้างวัด ทุกเรื่องตามลำพังคนเดียว งานเริ่มแรกได้ตกลงกับลูกนาที่เช่านาอยู่เดิม ใครเลิกทำนาและย้ายไปอยู่ที่อื่น เจ้าของที่ดินก็จ่ายเงินให้ พอไปประกอบอาชีพใหม่ได้ ส่วนผู้ใดต้องการรับจ้างทำงานให้วัด ทางวัดก็จะรับเข้าทำงานหมดทุกคน

เวลานั้นทางมูลนิธิฯ ยังไม่ได้ยกที่ดินให้เป็นของกรมการศาสนา เรายังทำเหมือนเป็นสำนักสงฆ์ ให้ชื่อว่าศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม เพราะต้องสร้างเสนาสนะสงฆ์ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะขออนุญาตตั้งเป็นวัดต่อไป

งานของหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสขณะนั้นหนักมาก นอกจากเรื่องของวัดเราเอง ต้องรับสมัครคนงาน ควบคุมดูแลไม่ให้คดโกงค่าแรง ติดต่อขอความช่วยเหลือจากที่ต่างๆ ที่เป็นภาระยุ่งยาก คือเรื่องต้องเป็นธุระ ดูแลสารทุกข์สุกดิบชาวบ้าน ต้องผูกไมตรีจิตคนในหมู่บ้าน เลิกงานแล้วในตอนเย็น ต้องขึ้นบ้านโน้นลงบ้านนี้ ใครเจ็บป่วยก็ช่วยดูแลรักษา มียาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ถ้าอาการหนักก็ช่วยนำส่งโรงพยาบาลให้ ความสุภาพอ่อนโยน ทั้งกิริยามารยาทอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้ชาวบ้านรักใคร่นับถือโดยทั่วหน้ากัน

ความดีของหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ผูกไมตรีได้กับคนนิสัยดี มีคุณธรรมได้เป็นพื้นใจ แต่กับคนพาล กลับเห็นคนดีเป็นคนอ่อนแอร่ารังแก คิดจะเอารัดเอาเปรียบ จึงปรากฏว่ามีการลักขโมยเกิดขึ้น บางครั้งเรือของเราหายติดกันทุกคืน ลำแรกหาย เราก็ต้องรีบซื้อ เพราะเวลานั้นพื้อนนามีน้ำเจิ่งนอง จะไปที่ใด ใช้เรือถ่อหรือพายไปสะดวกกว่าเดินลุยน้ำและหญ้ารก ทั้งงูก็มีชุกชุม พอซื้อมาแทน ตกกลางคืนก็หาย หายติดกันอยู่ถึง ๓ คืน เป็น ๓ ลำ เครื่องสูบน้ำก็ในทำนองเดียวกัน หายเครื่องแล้วเครื่องเล่า

ยังมีพวกเอาเปรียบ ในคูน้ำที่ขุดขึ้นมีปลาเข้าไปอยู่มาก กลางคืนพวกนี้ก็นำเครื่องมือดักปลา พร้อมกับตะเกียง มาจับปลากันเป็นที่สนุกสนาน เหยียบคันดินที่ขุดไว้พังทลายลงมา บางทีกลางวันแท้ๆ ก็พาโคกระบือมาทั้งฝูง ต้อนเข้ามากินหญ้า สัตว์เหล่านั้นก็เดินป่ายปีนบนดินที่ขุดเป็นคันคูไว้ ดินพังยิ่งกว่าคนเดิน

ปัญหาจากสถานที่สร้างวัด มีเกิดขึ้นเรื่องแล้วเรื่องเล่า เพื่อนร่วมงานที่รู้ใจ ทำงานแทนกันได้ก็ไม่มี บางทีไปปรึกษาหารือกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส ความเห็นไม่ตรงกันเสียอีก เถียงกันไปมา คุณยายฯ ท่านก็ไม่ห้าม ท่านเห็นว่าการปรึกษาหารือ ต้องแสดงความคิดเห็น และชี้แจงกันด้วยเหตุผล แต่ท่านก็สั่งว่า " ทะเลาะกันได้แต่โกรธกันไม่ได้ "

เมื่องานขยายขึ้น เครื่องมือเครื่องใช้ก็มีเพิ่มขึ้น ถ้าวางทิ้งกลางแจ้ง ของย่อมถูกขโมยได้ง่าย บ้านพักหลังน้อยกระจ้อยร่อย ของหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ไม่พอเก็บแม้แต่แค่จอบเสียม ป้าจึงนึกถึงบ้านเรือนไทยของพ่อกับแม่ ซึ่งท่านอาศัยอยู่ในปัจจุบันนั้น ใคร่จะไปขอท่านมา ให้เป็นอาคารอเนกประสงค์ในการก่อสร้าง ให้เป็นทั้งที่พักอาศัย ทั้งผู้ที่อยู่ประจำและผู้มาเยี่ยมเยียน เป็นที่เก็บเครื่องมือ เป็นครัว ฯลฯ ป้าจึงคิดชวนน้องชาย ซึ่งขณะนั้นรับราชการกรมป่าไม้อยู่จังหวัดชลบุรี ไปขอบ้านของพ่อแม่ คิดว่าถ้าตนไปขอคนเดียว ท่านทั้งสองอาจลังเล แต่ถ้าร่วมใจกันทั้งพี่ทั้งน้องคงสำเร็จ

ดังนั้น พอน้องมาเยี่ยม ป้าก็ปรึกษาด้วยว่า " ที่ท้องนาสร้างวัดน่ะ ไม่มีที่เก็บของใช้ ขโมยชุกมาก พวกเราเองก็เริ่มไปอยู่กันหลายคน พี่คิดว่าต้องมีที่พักหลังใหญ่หน่อย ทั้งอาศัยอยู่ทั้งเก็บของ แต่เราก็รู้กันอยู่ เรามีเงินจำกัดเต็มที แค่เงินค่าจ้างคนงานขุดดิน ก็ต้องรอวันอาทิตย์ คุณยายฯ จึงรวบรวมให้แต่ละอาทิตย์ ได้เงินมาก็พอแต่ค่าจ้างขุดดิน ไม่เหลือเฟือให้ทำอย่างอื่น เราจะเอาเงินที่ไหนมาสร้างบ้านพักเพิ่มได้ล่ะ เรื่องบ้านพักและที่เก็บเครื่องไม้เครื่องมือเนี่ย จะทำแบบกางเต้นท์ไม่ได้แน่ ท้องนาลมแรงจัด เดี๋ยวก็ปลิวไปหมด ต้องสร้างแน่นหนาเป็นบ้านนั่นแหละ เมื่อเงินไม่มียังงี้ พี่ว่าเราสองคนไปขอบ้านของพ่อแม่ มาทำบุญสร้างวัดซะเลยดีมั้ย "

น้องก็พูดว่า " แหม มันก็ไม่ใช่บ้านที่ทิ้งขว้างแล้วนะพี่ เป็นบ้านที่พ่อแม่กำลังอาศัยอยู่ ขอมาแล้ว ท่านก็ไม่มีที่อยู่ ท่านจะให้เรารึเปล่า "

ป้าก็บอกว่า " พ่อกับแม่รักเราสองคนมากนะ ถ้าเราช่วยกันขอ ท่านคงยอม จะได้เป็นบุญติดตัวท่านไปในเบื้องหน้า " พูดถึงเรื่องบุญ น้องชายก็เห็นด้วย จึงตกลงพากันไปขอบ้านมาทำวัด บ้านพ่อแมของป้าเป็นเรือนไทยสองหลังแฝด (ปัจจุบันอยู่ที่ลานกัลปพฤกษ์ ธุดงคสถานของวัด) มีอายุนานเท่าอายุของป้า ตอนก่อนป้าเกิด พ่อกับแม่ปลูกกระท่อมไม้ไผ่อยู่ พอท่านคลอดป้าออกมาแล้ว คิดกันว่าอยากให้ลูกมีที่วิ่งเล่น จึงคิดสร้างบ้าน สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายห้ามตัดไม้ พ่อของป้าชวนเพื่อนรักอีก ๒ คนเดินทางเข้าป่าไปราว ๓ วัน ถึงป้าจอมบึง จังหวัดราชบุรี เลือกหาต้นไม้ทำเสาและกระดานพื้นบ้าน ตัดแล้วทำแพลอยมาในฤดูน้ำหลาก จนออกปากคลองถึงแม่น้ำกลอง จ้างเรือยนต์ลากจูงขึ้นมา ราว ๑ กม. ก็ถึงหมู่บ้านที่อยู่ จ้างคนเลื่อยทำแผ่นกระดาน พ่อเล่าว่า ท่านกับเพื่อนต้องลอยคออยู่ในน้ำ ลากแพกันมาเป็นหลายวัน ส่วนแม่ของป้าก็ขายเครื่องประดับทองคำ หมดทุกชิ้น เป็นทองคำหนักราว ๔๐ บาท ให้เป็นค่าจ้างคนจีนชาใไหหลำ ปลูกเป็นบ้านเรือนไทย ฝาบ้านเป็นกระดานไม่สัก พื้นบ้านเป็นกระดานไม้แดง มีนอกชานกว้าง แถมด้วยครัวหลังเล็กอีกหนึ่งหลัง

คำบอกเล่าพิเศษที่พ่อบอกกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส เมื่อวันทำบุญเลี้ยงพระสมภาร ๙ วัดในโอกาสยกบ้านให้ มีว่า " ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นยังไงครับ เมื่อครั้งสร้างบ้านนั่น มันมีความรู้สึกบอกตนเองว่า บ้านนี้ต่อไปภายหน้า ไม่ได้อยู่ตรงที่ปลูกนี้หรอก จะต้องรื้อไปปลูกที่อื่น แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นที่ไหน ผมเลยบอกช่างว่า อย่าใช้ตะปูตอกบ้านของผม แม้แต่ตัวเดียว ให้ใช้ไม้ทำลูกสลักสอดไว้ แทนตะปู เมื่อไหร่ต้องย้ายบ้าน เนื้อไม้จะได้ไม่เสียหาย เพียงถอดลูกสลักออก ก็รื้อออกได้เป็นชิ้นๆ แล้วนำไปประกอบขึ้นไหม่ก็เป็นอันเสร็จ "

เมื่อป้ากับน้องชายพูดขอบ้านสองหลังของพ่อแม่ มาใช้สร้างวัดนั้น ท่านทั้งสองปรึกษากันไม่นาน ก็ออกปากยกให้ ป้าสงสัยมาก จึงถามว่า " บ้านสองหลังนี้ พ่อกับแม่รักมันมากสร้างมากับมือ และก็เป็นบ้านหลังที่กำลังอาศัยอยู่ ไม่มีที่อื่นอีก เงินจะซื้อบ้านใหม่ก็ไม่มี ให้ไปแล้วก็คงต้องอาศัยครัวหลังเล็ก และนอกชานผุๆ อยู่ พ่อกับแม่ไม่เสียดายจริงๆ นะคะ "

ท่านทั้งสองตอบว่า " เห็นลูกสองคมีศรัทธา ในการสร้างวัดมาก ถึงแม้พ่อกับแม่จะรักบ้านนี้แค่ไหน แต่ก็ไม่มากเท่าความรักที่มีต่อลูก จึงได้ตัดใจยกให้ อีกอย่างก็คิดกันว่า บ้านมีแค่สองหลังแต่ลูกมีถึง ๓ คน ไม่รู้จะแบ่งกันยังไง ให้วัดก็ตัดปัญหาไป แล้วก็คงเป็นบุญติดตัวพ่อแม่ไปชาติหน้า อย่างที่หนูใหญ่บอกนั่นแหละ "

ขอบ้านได้แล้ว เราก็ยังไม่ได้ทำการรื้อย้ายในทันที เพราะยังไม่มีรถขนและค่ารื้อถอนรวมทั้งค่าติดตั้งปลูกขึ้นใหม่ จึงได้รอไว้ ที่ท้องนาก็ใช้เพิง มุงด้วยใบมะพร้าวชั่วคราวพอคลสยร้อนจากแสงแดดไปก่อน จนอีกปีเศษต่อมา แม่ของป้าพอมีเงินเหลือ จากค่าเช่านา จึงจ้างช่างรื้อและนำมาปลูกให้ที่ท้องนา โดยควบคุมการรื้อและปลูกใหม่ด้วยตนเองทั้งหมด ยิ่งมาเห็นบ้านของท่าน ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ ทั้งพักอาศัย เก็บเครื่องใช้ ใต้ถุนได้ใช้ทำครัว ท่านยิ่งปลื้มใจมีศรัทธาเต็มเปี่ยม เป็นการทำมหาทานครั้งสุดท้าย จากนั้นอีกครึ่งปีก็ถึงแก่กรรม ผลบุญจากการถวายบ้าน ทำให้แม่ไปเกิดเป็นเทพธิดาในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์

ก่อนรื้อบ้านมาปลูก พ่อกับแม่ป้าทำบุญเลี้ยงพระฉลอง หลวงพ่อเจ้าอาวาส ได้ไปร่วมพิธีด้วย ขณะที่พระภิกษุทั้ง ๙ รูปกำลังสวดมนต์ก่อนฉันภัตตาหารอยู่นั่นเอง ได้มีหนูตัวหนึ่งวิ่งช้าๆ ขึ้นมาทางบันไดบ้าน ไม่วิ่งไปทางพระภิกษุรูปอื่น วิ่งตรงมาใกล้ๆ หัวเข่าหลวงพ่อฯ ป้าเห็นหลวงพ่อฯ หลับตาสักครู่หนึ่ง ป้าก็มองหาหนูไม่พบ ไม่รู้หายไปไหน ทั้งที่บ้านก็ไม่มีอะไรรกให้หลบได้ หลังสวดมนต์เสร็จหลวงพ่อฯ ถามป้าว่า " พี่หวิน แถวนี้มีใครเป็นผู้หญิงกลางคน ตายตอนนี้บ้างมั้ย "

ป้าหันไปถามพ่อกับแม่ ได้รับคำตอบว่า " มีอยู่ เพิ่งตายเมื่อเย็นวานนี้เอง เมื่อคืนก็นิมนต์พระสวด คงจะสวดต่ออีก ๔ คืน " ป้าเก็บความสงสัยไว้ ได้โอกาสจึงนมัสการถามหลวงพ่อฯ ท่านอธิบายให้ป้าฟังว่า หนูตัวนั้นไม่ใช่หนูธรรมดา กายละเอียดคือผู้หญิงคนนั้น เป็นคนมีอันจะกิน แต่ไม่ได้ทำบุญอะไรไว้ พอตายลงศพยังไม่ทันออกจากบ้าน พวกลูก๐ ก็ทะเลาะแย่งสมบัติกัน ผู้ตายเองเกิดเป็นเปรตหนู อยากได้บุญ จึงวิ่งมาขอส่วนบุญ

ป้าฟังแล้วรู้สึกสงสารเปรตหนูตัวนั้นมาก มิน่าเล่าคนอยู่ออกเต็มบ้าน มันไม่กลัวคนเหมือนหนูธรรมดาทั่วไปเลย มันวิ่งช้าๆ ผ่านคนหลายคน และเฉพาะเจาะจงมาขอบุญจากพระภิกษุ ที่รู้ว่าเป็นพระปฏิบัติมีบุญมาก

ป้าได้เล่าเรื่องหนูให้แม่ฟัง แม่ยืนยันว่าที่หลวงพ่อฯ บอกนั้นเป็นความจริง และยืนยัน คนตายเป็นคนรวยในหมู่บ้านนั้น และลูกก็แย่งสมบัติกัน ดังคำที่หลวงพ่อพูดไว้ทุกประการ ป้าจึงพูดให้แม่ดีใจว่า แม่ของป้าไม่ได้ตระหนี่เหมือนคนนั้น แม่ " รื้อรัง " ถวายวัดเป็นบุญใหญ่ เท่ากับสร้างวิมานไว้ก่อนตาย ตายแล้วจะได้เป็นนางฟ้าอยู่สวรรค์ ขอให้แม่ภูมิใจในการบริจาคตลอดไป นึกถึงบุญนี้บ่อยๆ แม่จะได้บุญเพิ่มทุกครั้งที่นึก

ป้าพูดกับแม่อย่างนี้ เพราะนึกถึงว่า การทำทาน ถ้าจะให้มีอานิสงห์มาก ต้องทำด้วยเจตนาบริบูรณ์ทั้ง ๓ เวลา คือก่อนทำ กำลังทำ และภายหลังทำไปแล้ว การตามนึกถึงบุญที่ทำไว้แล้ว เรียกว่า อปราปรเจตนา บุญเกิดได้ใหม่อีก เพราะมีกุศลจิต

การทำบุญสิ่งใด ถ้าเจตนาไม่ครบทั้งสามกาล บุญที่เกิดขึ้นก็ลดลงไปตามส่วน เช่นเราจะทำทานด้วยการใส่บาตร ไม่มีเวลาเตรียมสิ่งขิงด้วยตนเอง มีคนอื่นตระเตรียมไว้ให้พร้อมคนเตรียมได้บุญส่วนที่เป็น ปุพพเจตนา คือเจตนาก่อนทำ ไปเรียบร้อยแล้ว คนใส่บาตร จึงได้บุญเฉพาะที่เป็นบุญจเจตนา เจตนาขณะลงมือทำ ส่วนใครตามนึกถึงบุญที่ทำไว้แล้วภายหลังอยู่อีก ผู้นั้นก็ย่อมได้บุญส่วนที่เป็น อปราปรเจตนา เจตนาที่ตามมาในภายหลัง

ดังนั้นใครก็ตามต้องการได้บุญเต็มที่ ต้องขวนขวายทำบุญให้ครบทั้ง ๓ กาล นอกจากนั้นถ้าเป็นเรื่องทำทาน ก็ต้องถือหลักอื่นอีก ๓ ประการ ประกอบด้วย จึงจะได้ผลบุญเป็นมหาศาลคือ

ต้องมีผู้รับทาน ที่มีความบริสุทธิ์ เช่นผู้ทรงศีล จะเป็นศีลห้า ศีลแปด ศีล ๒๒๗ อย่างใดก็ได้ ต้องมีผู้ให้ทานเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย คืออยู่ในศีล ในธรรม มีความประพฤติดี และท้ายที่สุด ของที่นำมาทำทาน ต้องเป็นของที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ เช่นได้มาจากสัมมาชีพต่างๆ ไม่ใช่สิ่งของที่ได้มาจากความทุจริต

เมื่อทำทานครบหลัก ๔ ประการดังกล่าวไว้นี้แล้ว ถือว่าเป็นการทำทาน ที่จะให้ผลเป็นจำนวนมากเป็นพิเศษ ส่วนที่ทำทานแล้ว จะให้ได้ผลบุญทันตาเห็น ภายใน ๗ วัน ผู้รับ ต้องเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ

เพราะฉะนั้นการทำทานทุกครั้ง จึงใคร่ครวญ เพราะวัตถุเป็นของหายาก กว่าจะหาเงินมาซื้อหาได้ ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก จึงต้องเลือกบริจาค ไม่ใช่ดูเพียงว่า ให้ผู้รับ เป็นผู้ขาดแคลนเท่านั้นก็พอ ถ้าคิดเพียงเท่านี้แล้ว อาจเป็นการทำบุญที่ขาดทุน คือไปสนับสนุนให้ผู้รับ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลยทำให้เกียจคร้าน

คนที่ไม่มีปัญหาคือคนที่ไม่ได้ทำ

#9 ตะกร้าอีกใบ

ตะกร้าอีกใบ
  • Members
  • 1297 โพสต์

โพสต์เมื่อ 02 January 2010 - 08:33 AM

อนุโมทนาสาธุกับธรรทานนะครับ
อย่าขาดการปฏิบัติธรรมแม้แต่เพียงวันเดียว
เพราะขาดแม้เพียงวันเดียว ใจเราจะหยาบ ทำให้ผังวิตกกังวลได้ช่อง

7 ส.ค. 48



#10 Dok_Bua

Dok_Bua
  • Members
  • 233 โพสต์
  • Gender:Female
  • Location:UK

โพสต์เมื่อ 02 January 2010 - 09:23 AM

อนุโมทนาบุญด้วยนะคะ
...ขอสร้างบารมี เอาชีวีเป็นเดิมพัน ...

#11 ~เด็กวุ่นวาย~

~เด็กวุ่นวาย~
  • Members
  • 156 โพสต์

โพสต์เมื่อ 02 January 2010 - 10:01 AM

สาธุ สาธุ อ่านแล้วมีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาเลยทีเดียวค่ะ
ความรักก็เหมือนการจับไฟนั่นแหละ ทางที่จะไม่ให้มือพองเพราะไฟเผามีอยู่ทางเดียว คืออย่าจับไฟอย่าเล่นกับไฟ
ทางที่จะปลอดภัยจากรักก็ฉันนั้น มีอยู่ทางเดียวคืออย่ารัก

#12 Daemusin

Daemusin
  • Members
  • 133 โพสต์

โพสต์เมื่อ 02 January 2010 - 01:33 PM

อุบาสิกา ถวิล - บทที่เจ็ด - เริ่มต้นรอยร้าว

ในระหว่างกำลังขุดคันคูดิน รอบอาณาเขตที่ดินสร้างวัด หมู่คณะจำต้องออกบอกบุญกันทุกคน จึงมีความจำเป็นต้องมีแบบแปลน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เราจะสร้างลงในวัดของเรา ทั้ง ศาลา โบสถ์ กุฏิ ห้องน้ำห้องส้วม ฯลฯ และควรใช้สถาปนิกคนเดียวกัน เพื่อให้สิ่งที่สร้างขึ้นทุกอย่างมี รูปแบบกลมกลืนสวยงาม ไม่ขัดแย้ง ใครจะไปบอกบุญที่ไหน จะได้นำแบบแปลนติดตัวไปด้วย คนบางคนพอใจทำบุญสิ่งก่อสร้าง ไม่เหมือนกัน จะได้เลือกทำบุญตามความพอใจ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อมีการประชุมมูลนิธิฯ ครั้งใด จึงต้องมีมติของที่ประชุมให้ช่วยเร่งการเขียนแบบแปลน ของอาจารย์ช่างที่เล่าไว้ คนตัวเล็กมีหน้าที่ไปขอร้อง เพราะมีรถใช้ประจำตัว สะดวกในการติดต่อ

เมื่อถูกเร่ง อาจารย์ช่างก็ชี้แจงว่า เรียนช่างเป็นเรื่องของศิลปะ ต้องมีแรงบันดาลใจ มีอารมณ์ จึงจะเขียนออก ถ้าจะให้ดีควรจะส่งเขาไปชมสังเวชนียสถาน ที่ประเทศอินเดีย ความเลื่อมใสศรัทธา อาจทำให้ มีความคิดสร้างสรรค์พิเศษเกิดขึ้น

ทั้งที่เงินค่าก่อสร้างไม่มี ต้องรอผู้คนบริจาคเป็นรายสัปดาห์ คุณยายฯ ต้องนำเงินที่มีผู้ถวายไว้ใช้ส่วนตัว รวมกับเงินผู้บริจาคบางส่วน รวมเป็น ๒ หมื่นบาท ให้อาจารย์ช่างไปอินเดีย เรื่องนี้เราไม่ได้ขออนุญาตมูลนิธิฯ และไม่กล้าบอกอาจารย์วรณี เพราะอาจถูกคัดค้าน

กลับจากอินเดียอีกหลายเดือนต่อมา อาจารย์ช่างก็ยังเขียนไม่ได้ ทำหุ่นจำลองศาลาแปดเหลี่ยม แสดงแก่ผู้คนที่มาร่วมงาน ในวันทอดผ้าป่ามาฆบูชาประจำปีนั้น ได้ชิ้นเดียว

อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการให้เกียรติอาจารย์ช่างผู้นั้น เมื่อเวลามีการประชุมมูลนิธิฯ ก็ไม่มีใครกล้าพูดให้ที่ประชุมฟัง คงให้ที่ประชุมส่วนใหญ่ มีศรัทธาในอาจารย์ช่างอยู่ดังเดิม

ป้าได้พูดมาในตอนต้นๆ ถึงผู้หญิงวัยสี่สิบเศษผู้หนึ่ง เป็นลูกศิษย์เก่าแก่ของคุณยายฯ มาตั้งแต่สมัยคุณยายทองสุก ซึ่งเป็นอาจารย์สอนธรรมคนแรก ให้คุณยายฯ ผู้หญิงคนนี้มีอาชีพเป็นพยาบาล

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนทั้งคู่จึงกลายจากเพื่อนสหธรรมมิก เพื่อนที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกันเป็นผู้บังคับบัญชากับลูกน้อง การอยู่ใกล้ชิดกันทุกวัน ทำให้ฝ่ายผู้น้อย ต้องคอยหาเรื่องต่างๆ มาพูดให้ฟัง มีเหตุการณ์อะไรประจำวันเกิดขึ้น ก็จะเล่าเสมอ

สตรีช่างพูดผู้นี้จะไปวัด เพื่อดูแลสุขภาพคุณยายฯ อยู่บ่อยๆ บางระยะไปแทบทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นเวลากลางวัน ในตอนเย็นก็จะกลับไปดูแลสุขภาพคุณหญิงมารดาของอาจารย์วรณี

กลางวันวันหนึ่ง มีสถาปนิกผู้หนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสหรือรองเจ้าอาวาส ป้าไม่แน่ใจ มาเยี่ยมหลวงพ่อฯ หมู่คณะของเรากำลังมีปัญหาเรื่องคนเขียนแบบแปลนอยู่ หลวงพ่อเจ้าอาวาส จึงได้ออกปากขอให้สถาปนิกผู้นั้น ช่วยทดลองเขียนแปลนศาลา ชนิดสร้างแล้วแข็งแรง จุคนได้มากแต่ไม่มีเสากลางให้เกะกะ และให้มีความงามแบบเรียบๆ ขณะนั้นสตรีช่างพูดอยู่ที่นั่นด้วย จึงได้ยินถ้อยคำที่สนทนากันทั้งหมด

ตกตอนเย็นเมื่อกลับไปทำงานที่บ้านอาจารย์วรณี สตรีนั้นก็นำเรื่องสถาปนิก มาเยี่ยมหลวงพ่อฯ และรับปากจะทดลองเขียนแบบแปลนศาลา เล่าให้อาจารย์วรณีฟัง อาจารย์วรณี โดยนิสัยเป็นผู้ทำงานตรง ตามระเบียบข้อบังคับ ฟังคำบอกเล่าแล้วไม่เห็นด้วย เพราะมติในที่ประชุมมูลนิธิฯ มอบหมายให้อาจารย์ช่างทำงานชิ้นนี้ไปแล้ว และอาจารย์วรณีเอง ไม่ทราบเรื่องอาจารย์ช่างบิดพลิ้ว การเขียนแบบแปลน ไม่ทราบกระทั่งเรื่องที่หมู่คณะ ต้องเสียเงินให้อาจารย์ช่างไปอินเดีย ไปแล้วก็ยังเขียนไม่ได้

กลางวันวันรุ่งขึ้น ด้วยนิสัยโผงผางตรงไปตรงมา อาจารย์วรณี จึงไปที่บ้านธรรมประสิทธิ์พบคุณยายฯ และหลวงพ่อฯ ท่านไม่ซักถามเลยว่า เรื่องราวต้นสายปลายเหตุเป็นอย่างไร ออกปากตำหนิติติง คัดค้าน พูด พูด พูดอยู่ฝ่ายเดียว ตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วก็กลับ ไม่เปิดโอกาส ให้หลวงพ่อฯ ชี้แจงอะไร ได้บ้างเลย

เวลานั้นหลวงพ่อฯ และคุณยายฯ ไม่ได้ขุ่นเคืองอาจารย์วรณี แม้แต่น้อย เพราะทราบอัธยาศัยดีอยู่แล้ว แต่ฟังจากถ้อยคำที่มากล่าวคัดค้านทั้งหมด ดูคลาดเคลื่อนจากเรื่องจริงไปมาก ราวกับว่าหลวงพ่อฯ ได้เปลี่ยนสถาปนิกเองแล้ว โดยไม่ผ่านมติที่ประชุมไปแล้ว ความจริงท่านเพียงแต่วานเพื่อน ลองเขียนมาให้ดูเท่านั้น ยังไม่ได้ตัดสินว่าจะเอาหรือไม่เอา เพราะถึงอย่างไรก็ต้องนำเสนอที่ประชุมก่อน

เย็นวันนั้น เมื่อสตรีช่างพูดไปถึงบ้านธรรมประสิทธิ์ หลวงพ่อฯ จึงได้สอบถามความจริงและได้สั่งสอนว่า การจะนำเรื่องราวใดๆ ไปพูดต่อ ต้องดูให้เหมาะให้ควร ดูถึงประโยชน์ด้วย ว่าพูดแล้วได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ ต้องพิจารณานิสัยใจคอของผู้ฟังด้วย ไม่ควรพูดสิ่งใดเกินจริง ให้เกิดความเสียหาย

การที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ในหมู่คณะขึ้นอย่างนี้ คุณยายฯ และหลวงพ่อฯ เห็นว่าเป็นความผิด ควรต้องมีการทำโทษบ้าง เพื่อต่อไปจะได้ไม่ทำอีก และเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นในหมู่คณะระมัดระวัง ไม่ทำผิดทำนองเดียวกันด้วย

การลงโทษที่กระทำกันในเวลานั้น มีอยู่วิธีเดียว ที่ทางพระเรียกว่า ลงพรหมทัณฑ์ คือไม่ให้ใครพูดด้วย ไม่ให้ร่วมกิจกรรมใดๆ ให้นั่งสมาธิอย่างเดียว จะได้มีเวลาพิจารณาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำหนดเวลาตามโทสานุโทษ ใครผิดมากก็ถูกลงโทษเป็นเวลาหลายเดือน ใครผิดน้อยก็เพียงเดือนเดียว หรือสัปดาห์เดียว แล้วก็ประพฤติตนกันเหมือนเดิม ในหมู่คณะ

ในขณะนั้นหลวงพ่อทั้งสอง และหมู่คณะต่างเผชิญกับอุปสรรค ขัดข้องในการสร้างวัดอยู่หลายประการ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ป้าก็เจอกับปัญหาของตนเอง ชนิดคอขาดบาดตายประดังเข้ามาถึง ๓ เรื่องด้วยกัน คือเรื่องแรกแม่ของป้าป่วยหนัก เป็นมะเร็งที่ปอด เนื่องจากเป็นคนกินหมาก พิษจากยาเส้นที่กินพร้อมกับหมาก ทำให้เกิดมะเร็ง แพทย์หมดทางรักษา คงจะอยู่ได้ไม่เกิน ๖ เดือน เรื่องที่สองคือเรื่องหน้าที่การงานทางราชการของป้าเกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวง ชีวิตของป้าตอนนั้นถ้าไม่มีคุณยายฯ ไม่มีหลวงพ่อฯ ให้กำลังใจ คงไม่รอดมาถึงทุกวันนี้

ไม่อยากฟิ้นความหลังอันสาหัสมาเล่าอีกเลย อยากจะลืมไปเสียให้หมด แต่เมื่อนึกถึงว่าเหตุการณ์อย่างนี้ หรือทำนองนี้อาจเกิดขึ้นกับใครๆ ตัวอย่างชีวิตป้า อาจเป็นเครื่องเตือนใจหรือเป็นกำลังใจ เป็นทางออกให้แก่บางคน ที่กำลังเผชิญอยู่

ทุกข์ที่แม่ของป้ากำลังเจ็บหนัก รู่อยู่แก่ใจว่ากำลังจะจากกัน วันใดวันหนึ่ง ไม่ช้านี้ ชั่วชีวิตตั้งแต่เกิดมา คนที่จริงใจกับเราที่สุด ก็คือแม่ เมื่อมีท่านอยู่ลูกย่อมอบอุ่นใจยิ่งนัก พอนึกถึงว่า แม่กำลังจะจากไปในไม่ช้านี้ ก็ให้ใจหายวาบ วาบ อยู่เสมอๆ มีความว้าเหว่เกิดขึ้นบ่อยๆ

การปฏิบัติธรรมของป้า ยังไม่ได้รับผลอะไร แต่ปัญญาจากการอ่านการฟัง พอมีอยู่ ป้าก็สอนตนเองว่า " คนเราทุกคนต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้น ยังเป็นโชคดีของเรา ที่แม่เจ็บไข้ให้เรามีโอกาสรักษา พยาบาล ได้ตอบแทนคุณ ฉะนั้นทุกวินาที ที่กำลังนับเวลาจากกันอยู่นี้ เราต้องทำหน้าที่ของลูกให้ดีที่สุด"

เพราะคิดดังนี้ ช่วงระยะเวลานั้น ป้าจึงไม่ทอดทิ้งแม่ไปไหน กลับจากทำงานราชการ ก็จะมาคอยดูแลเอาใจใส่ท่าน

ป้าเองเมื่อได้ปรนนิบัติแม่ของป้าเป็นอย่างดี บางครั้งต้องให้ยาทุกชั่วโมง ป้าต้องอดนอนตลอดคืน ไม่มีใครสับเปลี่ยน รุ่งเช้าก็ต้องไปทำงานปกติ หลายเดือนเข้าร่างกายของป้า ผ่ายผอมเหลือนิดเดียว ป้าก็ไม่ย่อท้อ กลับดีใจว่าได้รับใช้แม่เต็มที่ สุดความสามารถ เมื่อท่านถึงแก่กรรมลง ป้าจึงไม่มีสิ่งใดค้างใจ เพราะได้ทำไว้บริบูรณ์ ทางร่างกายก็ดูแลท่านเป็นอย่างดีทางใจก็ประคับประคอง ให้อยู่ในบุญกุศล คุยแต่เรื่องให้ท่านจิตใจผ่องแผ้ว จึงไม่ขอดทุนทั้งผู้จากไป และทั้งป้าผู้ยังอยู่

ตอบแทนบุญคุณโดยเต็มที่แล้ว เมื่อความตายมาถึง ความทุกข์โศกก็ไม่ครอบงำ จนเกินกว่าเหตุ ไม่ต้องร้องไห้คร่ำครวญเสียดายว่า ยังไม่ได้ทำสิ่งโน้นให้ สิ่งนี้ให้ มีความอาลัยท่วมท้นโดยวิสัยปุถุชน ป้าก็ร้องไห้อยู่บ้าง ร้องเพราะรู้สึกคิดถึง แม่จากไปไม่กลับ มิตรแท้คนเดียวในชีวิต ขาดไปก็ว้าเหว่สุดประมาณ

เรื่องที่ ๓ เรื่องของสามี ทั้งที่ป้าทำใจไว้แล้วว่าวันหนึ่งคงต้องเจอ ก็คือสามีของป้าไม่พอใจ เรื่องที่ป้าสนใจการปฎิบัติธรรม และการสร้างวัด จึงแกล้งประชดด้วยการนอกใจ เพื่อให้ป้าเกิดความหึงหวง จะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเดิม

( ชีวิตของคนมีครอบครัวนั้นคับแคบไม่เหมือนกับตัวคนเดียว สามารถประพฤติธรรมได้โดยสะดวก มีอิสระทุกอย่างเหมือนนกที่บินอยู่ในอากาศ ชีวิตของคนมีครอบครัว หากคู่ชีวิตมีศีล มีทิฎฐิเสมอกัน เห็นชอบในการประพฤติธรรมด้วย ก็จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนไปด้วยกันได้ แต่ถ้ามีศีลหรือทิฎฐิไม่เสมอกัน คือความคิดเห็นไม่ตรงกันก็กลายเป็นอุปสรรคในการประพฤติธรรมของเราได้ )

ที่สำคัญก็คือ ป้าได้ตั้งสัจจะกับคุณยายไว้แล้ว ต้องประกาศตน เป็นศัตรูกับกามคุณห้า มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น จะได้ถือโอกาศประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์ทั้งกายทั้งใจ แต่กระนั้นความทุกข์ จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก.. ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข ก็จู่โจมจนแทบตั้งตัวไม่ติด ยิ่งถูกอีกฝ่ายแสดงทีท่าต้องการแตกแยกให้ได้ ก็ให้ทุกข์กินไม่ได้นอนไม่ได้ ไหนจะห่วงเกียรติยศชื่อเสียง อับอายขายหน้า เพราะป้าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไหนจะสงสารลูกที่ยังเล็กๆ ร้องหาพ่อกันสะอึกสะอื้นหวั่นเกรงไปสารพัดว่า จะเลี้ยงลูกตามลำพังคนเดียวไหวหรือเปล่า ลูกจะมีปมด้อยจนกลายเปนเด็กมีปัญหาหรือเปล่า

แต่ป้าเอาชีวิตรอดมาได้ เพราะคิดได้อย่างนี้

การเป็นสามีภรรยากันนั้น เป็นเพียงเรื่องสมมุติกันขึ้นในสังคม ความจริงคนทั้งคู่ต่างคนต่างเป็นคนอื่นกันมา เป็นลูกคนละพ่อคนละแม่ ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน มารู้จักกันตอนโตนี่เอง รู้จักแล้วชอบพอกันก็สมมุติเป็นคู่ครอง อยู่ต่อมาเมื่อไม่ชอบกันแล้ว ก็ต้องเลิกสมมุติ กลับเป็นคนอื่นต่อไปตามเดิม ไม่เห็นแปลกอะไร

และถ้าไม่ชอบกัน เพราะฝ่ายหนึ่งประพฤติผิด ก็ควรให้ฝ่ายผิดเป็นฝ่ายทุกข์ร้อน กลุ้มใจไปฝ่ายเดียว จึงจะยุติธรรม ไม่ควรให้ฝ่ายประพฤติถูกเป็นฝ่ายทนทุกข์ ถ้านับถือพระพุทธศาสนาเชื่อกฎของกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ฝ่ายประพฤติดี มาทำตัวกลุ้มเสียใจทุกข์ร้อน ก็เหมือนทำดีได้ชั่ว ไม่เป็นไปตามคำสอนของพระบรมศาสดา

นอกจากนั้นป้ายังสั่งสอนตนเองว่า " เราเป็นผู้บังคับบัญชาคนอื่น เราเป็นแม่ของเด็กๆ หลายคน ต้องทำตัวให้เข้มแข็ง จะได้เป็นตัวอย่าง เป็นที่พึ่งให้ความอุ่นใจ ถ้าเรามาเสียขวัญให้เห็น เป็นตัวปัญหาเสียเอง พวกเขาก็จะไม่มีตัวอย่างที่ดี ให้ทำตาม"

แม้จะสั่งสอนตักเตือนตนเอง ด้วยเหตุผลดีๆ อื่นๆ อีกมากมาย ก็ใช่ว่าจะหยุดความทุกข์ใจได้ทันทีเด็ดขาด ห้ามได้ประเดี๋ยวประด๋าว พอเผลสติก็ทุกข์ต่อไป เวลาเห็นอีกฝ่ายพาผู้หญิงใหม่ มาเยาะเย้ยถึงบ้าน ก็ให้เจ็บปวดรวดร้าว จะระบายความรู้สึกเอะอะ เอ็ดตะโร เหมือนชาวบ้านทั่วไปให้หายแค้นก็ทำไม่ได้ ความรู้ทางโลกที่เรียนมาสูง หน้าที่การงานที่มีคนนับหน้าถือตา บังคับให้ต้องสำรวมกิริยาวาจา ป้าซาบซึ้งกับ คำว่า " อกหัก " ดีที่สุด เพราะมีอาการเจ็บแปล๊บปล๊าบ ที่หน้าอกด้านซ้ายบ่อยๆ เหมือนอวัยวะบริเวณนั้น หักไปจริงๆ คิดว่าคงเป็นเพราะความไม่สบายใจ ทำให้หัวใจผิดปกติ สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายไม่ดี จึงเกิดอาการดังกล่าว ทุกข์ทางใจเมื่อมีมากเข้า ก็กลายมาเป็นทุกข์ทางกาย กินอาหารไม่ลง นอนหลับๆ ตื่นๆ บางทีตาเบิ่งโพลงทั้งคืน ไม่มีง่วง และจบลงด้วยอาการท้องเดิน พอมีเรื่องอะไรมากระทบใจขึ้นมา เป็นถ่ายท้อง สุขภาพทรดโทรม ร่างกายหมดเรี่ยวหมดแรง

ถึงขนาดนี้ป้าก็ต้องสอนตนเอง วิธีที่ใช้แก้ไข ก็เป็นวิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง ทุกข์เพราะรัก ป้าก็นึกให้เกลียดเสีย ทบทวนความจำในอดีต ให้เห็นความเลว ความบกพร่องของอีกฝ่าย ยิ่งนึกได้มากเท่าไร ความรักที่มีอยู่ ก็ค่อยคลายจางลง จางลง อัปปิเยหิสัมปะโยโค ทุกโข การประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ นี่เมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ไม่รัก ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์

ยามที่เราต้องพบความทุกข์ใจ จะด้วยเรื่องอะไรก็ตาม ถ้ามีทางระบายให้ใครสักคนฟัง แม้คนฟังจะช่วยอะไรไม่ได้เลย แต่คนระบายก็จะคลายกลุ้มใจลงไปมาก ยิ่งถ้าได้รับคำปลอบใจสักคำสองคำ ก็เหมือนได้โอสถทิพย์ชโลมใจ เพราะเหตุนี้เวลาใครมีอะไรไม่สบายใจมาเล่าให้ป้าฟัง ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ เรื่องพ่อแม่ลูก เรื่องเพื่อนร่วมงาน เรื่องครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ หรืออื่นๆ ป้าเป็นยอมอดทน รับฟังเสมอมา ฟังแล้วช่วยเหลือสิ่งใดที่ไม่เกินวิสัย ก็ทำให้ ช่วยอะไรไม่ได้เลย ก็พูดปลอบใจให้ไป แต่ป้าก็สำรวจดูใจตนเอง บางคราวก็ให้รู้สึกเหนื่อยหน่าย ตั้งแต่เล็กจนโต ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร เป็นนักเรียนก็เป็นหัวหน้าชั้น ทำงานก็เป็นผู้บังคับบัญชาผู้อื่น กระทั่งมาถือศีลกินเพล ก็ต้องทำหน้าที่สั่งสอนอบรมหน้าที่ที่ถูกสมมุติให้เป็นเหล่านั้น กลายเป็นเหมือนกระโถน รองรับการระบายความทุกข์จากใครๆ

เรื่องสุขไม่ใคร่มีใครระบายให้ฟัง ระบายกันแต่เรื่องทุกข์ พลอยให้เราต้องไม่สบายใจตามไปด้วย เมื่อรู้ความรู้สึกของตนเองดีดังนี้ เวลามีทุกข์ ป้าจึงไม่ชอบเล่าให้ใครฟัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนสนิทกันแค่ไหนก็ตาม ยิ่งเป็นคนที่ป้ารักใคร่นับถือด้วยแล้ว ก็ยิ่งเกรงใจ ไม่อยากให้ร้อนหูร้อนใจ ตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้เมื่อยามทุกข์ร้อน ไม่ว่าจะน้อยหรือมากแค่ไหน ป้าจึงต้องเผชิญเหตุการณ์นั้นตามลำพัง ใช้ทั้งสติปัญญษแก้ไขตนเองให้รอด เป็นดังนี้ทุกครั้งไป

ในที่สุดก็พอสรุปได้ว่า ความทุกข์ใดๆ ก็ตาม เกิดขึ้นเพราะใจยึดถือ ยึดว่าสิ่งนี้ต้องเป็นอย่างนั้น สิ่งนั้นต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่เป็นไปดังที่ใจยึด ความผิดหวังจึงเกิดขึ้นความทุกข์ก็ตามมา ถ้าไม่ยึดถือในสิ่งใด ไม่มีทางที่สิ่งนั้น จะทำความทุกข์ให้เกิดแก่เรา

จะพูดง่ายๆ ว่าทุกข์เกิดที่ใจยึดก็ได้ เมื่อจะแก้ ก็ต้องแก้กันที่ใจ ใจที่มีปัญญา คิดให้ถูกทาง มีอุบายแยบคายในการรู้จักคิด ก็จะเอาตัวรอดจากทุกข์ทุกอย่าง การคิดให้ได้ คิดให้เป็นจึงเป็นเสมือนเครื่องมือดับทุกข์ ประจำตัว

ยกตัวอย่างเช่น เวลานั้นป้ามีความทุกข์เรื่องต้องเลี้ยงดูลูกคนเดียว เด็กกำลังเล็กๆ ทั้งสามคน พ่อของเด็กไม่ยอมส่วค่าเลี้ยงดูให้แต่อย่างใด ถึงแม้ป้าจะร้องเรียนผู้บังคับบัญชาฝ่ายเขาก็แล้ว ร้องเรียนทางสภาสังคมสงเคราะห์ ให้ช่วยเรียกมาตกลงก็แล้ว โดยป้าให้ส่งเสีย ไม่กำหนดจำนวนเงิน จะให้น้อยแค่ไหนก็ได้ ขอเพียงให้เป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ลูกมีความรู้สึกว่า พ่อได้มีส่วนในการเลี้ยงดู ปรากฏว่าถูกปฏิเสธหมดทุกอย่าง และทางกฏหมายก็ไม่สามารถทำสิ่งใดได้ เพราะไม่ได้อย่าขาดจากกัน

เมื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือ คิดจะท้อแท้ ป้าก็ได้ครูสอนใจให้มีมานะฮึดสู้ สอนได้สำเร็จตลอดมา จนป้าเลี้ยงลูกโตมีงานมีการทำ ครูที่ว่านี้คือ สุนัขกลางถนนแม่ลูกอ่อน มันอาศัยอยู่ไม่ห่างจากบ้านป้านัก ป้ามีเศษอาหารเหลือ ก็จะใส่ภาชนะวางไว้ข้างถนน มันก็มากิน ปีหนึ่งๆ มันออกลูกถึงสองครอก ครอกหนึ่งสองสามตัว บางทีถึงห้าตัว มันก็เลี้ยงลูกของมันได้จนโต ลูกของมันที่ตัวสวยหน่อย คนก็เอาไปเลี้ยง ตัวขี้เหร่ก็เหลืออยู่กับแม่ จนกลายเป็นหมาโต วิ่งหาเศษอาหารกินตามกองขยะต่อไป

สุนัขกลางถนนไม่มีอาชีพการงาน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีกินบ้างไม่มีบ้าง มันยังไม่ทุกข์ร้อนอะไร เลี้ยงลูกได้โดยไม่เกี่ยงใคร ไม่เห็นมันแสดงความทุกข์ร้อน บางคราวแม่สุนัขลูกอ่อนตัวอื่น ถูกรถชนตาย เจ้าตัวข้างบ้านป้า มันยังไปคาบเอาลูกๆ ของตัวที่ตายมาเลี้ยง รวมกับลูกของมันเอง รวมกันเป็น ๗ - ๘ ตัว ด้วยซ้ำไป น้ำใจแม่หมากลางถนน ดีกว่าคนบางคนเสียอีก

ป้าเห็นอย่างนี้แล้ว มีกำลังใจสู้ชีวิต ป้าดีกว่าสุนัขนั้นนับเท่าไม่ถ้วน บ้านก็มีอยู่ อาชีพการงานก็มีทำ รายได้ไม่มาก แต่ก็พอใช้จ่ายอย่างสบาย คิดท้อแท้ก็น่าอายสุนัข

นี่ยกตัวอย่างให้ฟัง ถ้าพบปัญหาหรือความทุกข์ใดๆ คิดให้เป็น ก็จะแก้ไขได้ทุกเรื่อง บางคนทำธุรกิจขาดทุน กลุ้มใจคิดจะฆ่าตัวตาย ถ้าคิดสักนิดว่า เมื่อเกิดมามีแต่ตัวเปล่า ผ้าพันกายสักชิ้นก็ไม่มี เมื่อถึงเวลาที่คิดว่าทุกข์หนัก เพราะสูญเสียทรัพย์ ถ้าเห็นว่าเสื้อผ้า ของใช้อะไรต่างๆ ยังเหลืออยู่ อย่างไรเสียก็ยังร่ำรวยกว่าเมื่อแรกคลอดจากครรภ์มารดา เท่านี้ก็หายทุกข์ได้

หรือจะคิดเมตตาตนเอง รักตนเอง คือคิดว่า เมื่อต้องสูญเสียสิ่งใดไปแล้ว ก็อย่าต้องเสียใจ เพราะจะเป็นการเสียสองอย่าง ถ้าปล่อยให้ใจเสีย อาจต่อเนื่องให้เสียสุขภาพ ร่างกายเจ็บป่วย กลายเป็นเสียสามอย่าง บางทีพาลเสียอารมณ์ เกิดการบ่นว่าผู้อื่น ทำให้ทะเลาะวิวาท ถึงกับทำร้ายซึ่งกันและกัน เสียความสงบสุข กลายเป็นเสียสี่อย่าง

ถ้ารักตนเอง ก็จงยอมให้เสียเพียงอย่างแรกอย่างเดียว อย่าปล่อยให้ลามเสียไปถึงสุขภาพจิต มิฉะนั้นจะเกิดการเสียอื่นๆ ตามมาได้ง่าย คิดอย่างนี้ก็หายทุกข์ลงได้ เหมือนกัน


Create Date : 23 เมษายน 2551
Last Update : 23 เมษายน 2551 11:15:10 น.






อุบาสิกา ถวิล - บทที่แปด - เหตุจากคนบางคน

เนื่องจากเรื่องวุ่นๆ ที่เกิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องสตรีช่างพูดถูกลงโทษ เรื่องแม่ของป้าเจ็บหนัก และสามีประพฤตินอกใจ ประชดที่ป้าเข้าวัด เกิดในเวลาเดียวกันพอดี ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ป้ามัวแต่แก้ปัญหาในครอบครัว ตอนเย็นแทนที่จะได้ไปวัดเหมือนเช่นเคย ก็ต้องกลับมารับลูกจากโรงเรียน และมาปรนนิบัติดูแลแม่ของป้าที่บ้าน จะไปวัดก็เฉพาะวันเสาร์หรืออาทิตย์เท่านั้น

หลังจากสตรีช่างพูดถูกทำโทษ และไปหาใครๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ ขอความเห็นใจก็ไม่ได้รับคำปลอบโยนจากใครๆ แล้ว สตรีนั้นก็มาหาป้าที่บ้าน เล่าเรื่องและขอความเห็นใจจากป้า น้ำเสียงที่เล่าแสดงให้เห็นความน้อยใจ ความแค้นเคืองคุณยายฯ และหลวงพ่อฯ ตลอดเวลา

ป้าฟังแล้วใจคอไม่ดีเลย มีลางสังหรณ์เกิดขึ้นทันทีว่า เรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่เสียแล้ว จึงพูดให้เธอเข้าใจว่า

" พี่ เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างตัวเรา กับครูบาอาจารย์ ท่านทำโทษเรา เราก็อดทนเอาเดี๋ยวก็ดีกันเหมือนเดิมนั่นแหละ ถ้าเราไปทำให้ท่านเห็นว่าเราไม่พอใจ ท่านก็จะเห็นเรา เป็นลูกศิษย์ที่ว่านอนสอนยาก จะทำให้ห่างเหินกัน

หนูรู้ค่ะ ว่าพี่ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้มีเรื่องเกิดขึ้น พี่ก็เล่าไปตามประสาซื่อ รู้อะไรเห็นอะไร พอถูกพี่วรณีถาม พี่ก็เล่าซะหมด พี่คงจะไม่รู้จักนิสัยพี่วรณีดี พี่เค้าเป็นคนตรงเป๊ะเลย ถ้าลงมติอะไรไปแล้ว ต้องว่ากันตามนั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็ต้องว่ากันตามระเบียบแบบแผน แล้วพี่วรณีเอง ก็ไม่รู้เรื่องอีตาอาจารย์เขียนแบบคนนั้นว่า แกเบี้ยวแล้วเบี้ยวอีก กะพวกเราแค่ไหน

ยังไงก็ตามหนูเห็นใจพี่มาก พี่จะน้อยใจเสียใจแค่ไหน ก็ต้องข่มไว้ในใจก็ได้ อย่าเอาไปฟ้องพี่วรณี เป็นอันขาด ถ้ารู้ว่าพี่ถูกทำโทษ ทีนี้แหละเรื่องใหญ่แน่ พี่วรณีเค้าก็จะหาว่า ทางเรามีอะไรก็ปิดบัง ไม่ยอมบอกให้เค้ารู้ กลายเป็นเกิดความกินแหนงแคลงใจหละทีนี้

หนูขอร้องนะคะ เรื่องพี่ถูกทำโทษเนี่ย บอกไม่ได้เด็ดขาด พี่ต้องเห็นแก่หมู่คณะ เรากำลังทำงานใหญ่ จะสร้างวัดที่มีพระบวชไม่สึก เพื่อกอบกู้ศาสนา เป็นบุญใหญ่มหาศาล เรามีพี่วรณีเป็นกำลังหลัก ทรัพย์สมบัติของเค้า เค้าก็บอกแล้วว่า จะใช้ช่วยเราสร้างวัดให้เสร็จ ถ้าพี่ทำให้พี่วรณีหมดศรัทธา พี่จะเป็นคนทำลายหมู่คณะ นะคะ "

ป้าเรียกฝ่ายนั้นว่าพี่ เพราะอายุแก่กว่าป้าเกือบสิบปี ขอร้องไปแล้วป้าก็มองเห็นหน้าเขาเงียบไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ สักครู่ก็บ่ายเบี่ยงว่า " แล้วพี่จะทำยังไง ไปวัดแล้วทั้งคุณยายฯ และพระไม่พูดด้วย พออาจารย์วรณีถามว่า วันนี้คุณยายฯ ว่าอะไรมั่ง พระว่าอะไรมั่ง พี่จะเอาอะไรตอบ "

" งั้นพี่ก็อย่าไปที่วัด ( หมายถึงบ้านธรรมประสิทธิ์ ) เลย มาบ้านหนูก็แล้วกัน มานั่งสมาธิมั่ง คุยเป็นเพื่อนกะแม่หนูมั่ง บ้านของหนูเงียบจะตาย แม่ก็อยู่ตามลำพัง กะลูกจ้างเท่านั้น พี่บอกว่าพี่เสียใจไง ที่ไม่ได้ดูแลแม่ของพี่ก่อนท่านตาย ก็มาเอาบุญดูแลแม่ของหนูแทนก็แล้วกัน ทีนี้พี่ไม่ต้องเป็นห่วงทั้งสองทางเลย ทางวัดหนูจะบอกคุณยายฯ กะพระท่านเองว่า หนูวานพี่มาช่วยดูแลแม่ ส่วนตอนเย็น เมื่อพี่ไปบ้านพี่วรณี ถูกถามเรื่องทางวัด พี่ก็บอกว่า พี่ไม่ได้ไป เพราะคุณถวิลวานให้ไปดูแลแม่ แค่นี้เราก็มีทางออกแล้ว ส่วนหนูไปวัดรู้เรื่องอะไรมา คุณยายฯ กะพระท่านพูดถึงพี่ยังไง หนูจะจำมาบอก พี่ก็จะทราบข่าววัดอยู่ตลอดเวลาแหละนะคะ พอถึงวันอาทิตย์เราก็ไปวัดกันทุกคน พี่ก็ต้องไป ทำอะไรๆ เหมือนเดิม "

เวลานั้นหมู่คณะเรียกหลวงพ่อว่า " พระ " เพราะท่านเพิ่งมีอายุเพียง ๒๕ ปี ฝ่ายนั้นฟังข้อเสนอของป้าแล้วเห็นดีด้วย เพราะเธออ้างว่า การได้มีอะไรๆ ทำ ทำให้เธอไม่คิดมาก และได้ปฏิบัติตน ตามที่ตกลงกันไว้นั้นทุกประการ

ปกติแล้วเวลานั้น หมู่คณะของพวกเรา พอถึงวันเสาร์ ใครว่างก็จะไปเยี่ยมและดูการทำงานของหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ที่ท้องนาสร้างวัด ใครมีอาหารแห้งสิ่งใด ก็จะนำติดตัวไปฝาก เพราะเวลานั้นอาหารการกิน ค่อนข้างอดมาก เงินที่มีผู้บริจาคจะถูกใช้เพื่อการสร้างวัดคือเป็นค่าจ้างค่าแรงงาน ขุดคูล้อมรอบที่ ไม่มีค่าอาหาร อาหารหลักคือผักน้ำพริก ผักก็ผักที่ขึ้นเองในทุ่งนาตามธรรมชาติ มีผักบุ้ง ผักโสน มีเห็ดฟางขึ้นเองในกองฟาง

พอถึงวันอาทิตย์ หมู่คณะก็จะมารวมกันที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมและปรึกษาหารือ เกี่ยวกับการดำเนินงานสร้างวัด

วันอาทิตย์วันหนึ่ง หลังจากปฏิบัติธรรมเสร็จแล้ว ปัญหาการสร้างวัดก็ยังไม่มี หลวงพ่อฯ ท่านจึงเล่าถึงบรรยากาศท้องนาสร้างวัด ซึ่งท่านได้ไปเยี่ยมมาเมื่อวันเสาร์ พูดถึงเรื่องน้ำใสเหมือนกระจก สีฟ้า มีปลาว่ายเล่นเป็นฝูง โดยเฉพาะมีปลาชะโดแม่ลูกอ่อน มันดุมาก ถ้ามีสิ่งใดไปใกล้กลุ่มลูกครอกของมัน พูดถึงผักที่ขึ้นอยู่ริมน้ำ รวมถึงกอบัวที่ขึ้นกันเองตามธรรมชาติท้ายที่สุดหลวงพ่อฯ ได้หันมาถามป้าว่า

" เอ้อ พี่ หวิน เห็นต้นบอนมั้ย มันขึ้นเองริมน้ำเยอะแยะเลย "

ป้าตอบว่า " เห็นค่ะ " เพราะป้าก็ไปที่ท้องนามาด้วยเหมือนกัน และก็เห็นต้นบอนขึ้นอยู่เต็มไปหมดตรงชายน้ำ มันเป็นกอไม้ที่สะดุดตามากที่สุด เพราะต้นสูงกว่าไม้อื่น สีเขียวสด ลำต้นอวบสมบูรณ์ โดยเฉพาะใบอ่อนของมันงดงามมาก เป็นสีชมพูใส เนื้อใบละเอียดอ่อน

" พี่ หวิน พระเห็นใบบอนอ่อนๆ น่ะ มันน่ากินจัง เอามาเป็นผักจิ้มอะไรหลนๆ กินได้มั้ยนะ " ถามแล้วท่านก็มองหน้าป้าเป๋ง แสดงว่าต้องการคำตอบจริงๆ ท่าทางไม่มีอะไรแอบแฝงเลย เป็นการพูดคุยถามความรู้กันเป็นปกติธรรมดา

ป้าก็ตอบไปตามที่รู้ " คงไม่ได้กระมังคะ ใบบอนมันเป็นของคัน ที่เราเอาก้านมันมาแกงบอน แกงนั่นเค้าใส่ส้มมะขาม รสเปรี้ยวเป็นกรด ทำลายความคันที่เป็นฤทธิ์ของด่าง เราจึงกินได้ไม่คัน ส่วนหลนนั้น บางอย่างไม่เปรี้ยว หรือถ้าเปรี้ยวก็ไม่มาก สงสัยจะไม่หายคัน "

ขณะที่หลวงพ่อฯ ถามป้าเรื่องนี้ หมู่คณะก็นั่งรวามกันอยู่ที่นั่นประมาณสิบคน ก็ไม่มีใครรู้สึกอย่างไร ต่อจากนั้นเราก็พูดกันเรื่องเตรียมงานบวช หลวงพ่อรองเจ้าอาวาส เพราะคุณยายฯ พูดว่า " หมู่คณะของเราต้องทยอยกันบวช เอาผ้าเหลืองห่มแล้ว ยายค่อยสบายใจหน่อย คุณ เด็ด (เผด็จ) เป็นคนสำคัญ ต่อไปจะช่วยท่านธัมมะ (หมายถึงหลวงพ่อฯ) ปกครองหมู่คณะให้บวชช้าไม่ได้ ต้องให้มีพรรษาแก่กว่าพระในปกครอง ยายจึงให้บวชก่อน "

ป้ารับหน้าที่จัดดอกไม้สด เป็นเครื่องบวชตามเดิม เมื่อป้าถามอาจารย์วรณี เกี่ยวกับเรื่องที่ท่านขอจองเป็นเจ้าภาพบวชไว้ ท่านก็แสดงความดีอกดีใจ ยังมีศรัทธาเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ท่านแย่งออกเงินหมดทุกอย่าง ป้ายังนึกสงสารโยมพ่อกับโยมแม่ หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสมาก ท่านไม่ใช่คนจน ลูกชายก็มีอยู่เพียงคนเดียว ไม่ได้เป็นเจ้าภาพใหญ่บวชลูก เพราะทุกฝ่ายต้องการถนอมน้ำใจ รักษาศรัทธาอาจารย์วรณี เราจึงยอมกันถึงขนาดนั้น

การทำดอกไม้สด ป้าให้ทุกคนมาทำที่บ้านพักของป้า เพราะแม่ป้าเจ็บหนักมากแล้ว ป้าต้องการให้ท่านเห็นกิจกรรมต่างๆ ท่านจะได้ชื่นใจ เพราะท่านรักหลวงพ่อ รองเจ้าอาวาสมาก แม่ของป้ามีความสุขจริงๆ ขอให้ป้าพยุงท่าน มานอนมองพานแว่นฟ้าใส่ผ้าไตรใกล้ๆ พอตกแต่งด้วยดอกไม้เสร็จแล้ว ท่านขอถ่ายรูปไว้เป็นอนุสรณ์ แม่ได้เก็บรูปนั้นไว้ใกล้ๆ ที่นอน นำออกมาดูเสมอ จนวันถึงแก่กรรม

การเจ็บการตายของแม่ รวมถึงเรื่องการจัดงานศพตามประเพณี รวมทั้งต้องดูแลลูกๆ คนเล็กสองคนอยู่กับป้า คนโตจบชั้นประถมปีที่สี่แล้ว สมัครใจบวชเป็นสามเณร อยู่จิตตภาวันที่บางละมุง จังหวดชลบุรี ป้าก็เป็นห่วงมาก ต้องไปเยี่ยมแทบทุกอาทิตย์ พร้อมกับพาคณะครูหลายคน เป็นอาสาสมัคร ไปสอนวิชาสามัญทางโลก ให้สามเณรที่นั่น ป้าจึงต้องห่างเหินหมู่คณะไปบ้าง หลังแม่ป้าตายแล้ว สตรีช่างพูดก็เลิกมาที่บ้านป้า เพราะไม่มีธุระอะไร และไม่มีใครอยู่ ป้าเองก็กลับจากที่ทำงาน แวะรับลูกที่โรงเรียน ถึงบ้านใกล้ค่ำแทบทุกวัน วันใดฝนตกน้ำท่วมกรุงเทพฯ ถึงบ้านเกือบสามทุ่มก็มี ป้าจึงห่างจากวัด วันเสาร์ วันอาทิตย์ใด ไม่ไปเยี่ยมสามเณรลูกชายที่ชลบุรี ก็จะไปหาคุณยายฯ

ระยะนั้นเองป้าไม่ทราบว่าสตรีช่างพูด ไปพบสิ่งใดที่วัด หรือกระทบกระเทือนใจอะไรมา เธอมาหาป้าในตอนเย็นวันหนึ่ง เล่าเรื่องต่างๆ ถึง ๖-๗ เรื่องกล่าวหาหลวงพ่อฯ ในทางเสื่อมเสีย โดยพูดทำนองว่าฟังจากผู้อื่นเล่า ไม่ใช่ตนเองเป็นคนพูด แต่ไม่ยอมบอกชื่อว่า ผู้อื่นคือใคร

ป้าฟังทุกเรื่องแล้วตัดสินได้ทันทีว่า เป็นเรื่องใส่ความให้ร้ายหลวงพ่อฯ ผู้บริสุทธิ์ ยกตัวอย่างเช่น กล่าวร้ายว่า " คุณถวิลรู้มั้ย เป็นพระเป็นเจ้ายังไง ทำไมมาด่าพี่ได้ " " ด่าว่าอย่างไรคะ " ป้าถามกลับไปด้วยความงุนงง เพราะเคยเห็นแต่หลวงพ่อฯ พูดจาไพเราะอ่อนโยน ท่านจะใช้คำอะไรมาด่า สตรีนั้นก็ตอบว่า " ด่าว่าพี่ปากบอนไง ด่าต่อหน้าเลยนะ พี่ก็นั่งอยู่ตรงนั้นด้วย พูดเรื่องใบบอนเสียดสีพี่" เขาลืมไปว่าหลวงพ่อพูดกับป้า เพราะฉะนั้นป้าต้องรู้ดีที่สุด ว่าท่านมีเจตนาเสียดสีหรือเปล่า สตรีผู้กล่าวร้ายคิดไปเองด้วยความเครียดแค้น เป็นทุนเดิม แต่ป้าก็ยังไม่ทักท้วงในทันที ปล่อยให้เล่าให้หมดทุกเรื่องเสียก่อน

ยังมีเรื่องที่หมู่คณะขอร้องให้อาจารย์วรณี ซื้อรถขนดินใช้แล้ว ซื้อแล้วก็ต้องเบิกเงินซ่อมกันบ่อย เพราะมันเป็นรถเก่า แต่กลับถูกใส่ความว่าเราต้มตุ๋น

เรื่องที่ผู้ชายตัวเล็ก ซื้อรถเบ๊นซ์สีแดง ก้ใส่ความว่าหลวงพ่อ เอาเงินที่มีผู้บริจาคสร้างวัดมาซื้อรถนั่งเล่น ความจริงบิดาของผู้ตายคนนั้นถึงแก่กรรม คนตัวเล็กจึงได้ส่วนแบ่งในมรดก เขาปฏิเสธอสังหาริมทรัพย์ เพราะคิดว่าจะบวชไม่สึก ขอเป็นเงิน เมื่อได้มาแล้วเห็นว่าหลวงพ่อฯ จำเป็นต้องเดินทาง ไปดูการสร้างวัดบ่อยๆ ไม่มีรถใช้จะลำบากในการเดินทางมาก นอกจากนั้นบางครั้งยังต้องรับนิมนต์ไปยังบ้านผู้มีศรัทธา ซึ่งบางแห่งอยู่ในที่ห่างไกล ไปมาไม่สะดวก ทั้งตัวเขาเองก็ต้องไปติดต่อ ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เช่นจากกองทหารช่าง กรมทางหลวงฯ กรมชลประทาน กรมป่าไม้ ฯลฯ จึงใช้เงินมรดกนั้นซื้อรถยนต์ สตรีช่างพูดก็กล่าวหาว่าเป็นเงินสร้างวัด

ป้าฟังเรื่องทุกอย่างจบแล้ว รู้ชัดเจนว่า ไม่ใช่ใครที่ไหนมาพูด ให้สตรีผู้นี้ฟัง แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่เขาบิดเบือนขึ้นมาเองทั้งสิ้น

เมื่อป้ารู้แน่แก่ใจว่า เขาเป็นคนปั้นเรื่องขึ้นเล่า เพื่อให้ป้าหมดศรัทธาในหลวงพ่อฯ และคุณยายฯ จะได้เป็นพวกเขาเต็มตัว ป้ามิได้เสแสร้งแกล้งเชื่อไปก่อน ให้ฝ่ายนั้นดีใจที่ได้เพื่อน แต่ป้ากลับเห็นว่าถ้าปล่อยให้เขาพูดใส่ความผู้บริสุทธิ์อย่างหลวงพ่อฯ และคุณยายฯ เขาจะมีบาปกรรมหนัก ติดตัวไปนับไม่ถ้วน ความหวังดีเกรงเขาได้บาป ป้าจึงชี้แจงความจริงให้เขาฟัง ไปทีละเรื่องจนจบ

ความหวังดีที่ให้แก่คนพาล นอกจากไม่ยอมรับฟังแล้ว สตรีนั้นยังมีอาการแค้นเคืองพูดจาเกรี้ยวกราดใส่ป้า ในทำนองว่าเขาหวังดี มาเล่าให้ฟัง ยังยอมโง่เห็นหลวงพ่อฯ และคุณยายฯ น่าเลื่อมใสศรัทธาอยู่ได้ เขากลับไปด้วยความไม่พอใจเต็มที่

ป้ารู้สึกหวาดหวั่น พรั่นพรึงใจเป็นที่สุด กิริยาอาการของเขาที่แสดงออกมา ป้าคาดคะเนได้ว่า เมื่อเขาเห็นป้าไม่เข้าด้วย เขาจะต้องทำเรื่องใหม่แน่ จะต้องเอาเรื่องที่เล่าให้ป้าฟังเหล่านี้ไปเล่าให้อาจารย์วรณีฟังแน่นอน เช้าวันรุ่งขึ้นก่อนไปทำงาน ป้าได้แวะไปกราบเรียนเล่าเรื่องให้คุณยายฯ ฟังและเล่าความหวั่นใจของป้า เกี่ยวกับอาจารย์วรณีด้วย คุณยายฯ ปลอบใจป้าว่า " คุณวรณีคงเชื่อคุณมากกว่า เพราะคุณเป็นเพื่อน "

แต่พอไปถึงที่ทำงาน ป้าก็ได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์วรณี เรียกตัวป้าให้ไปพบด่วนเดี๋ยวนั้น ด้วยน้ำเสียงไม่พอใจ เพื่อผ่อนความโกรธลงบ้าง ป้าจึงไปหาตอนกลางวัน เมื่อไปถึงป้าต้องฟังคำตำหนิติเตียนหลวงพ่อฯ และคุณยายฯ ทำคำพูดทุกข้อกล่าวหา เหมือนถ้อยคำของสตรีช่างพูดคนนั้น ไม่มีผิดเพี้ยน อาจารย์วรณีเชื่ออย่างสนิทใจ เมื่อป้าชี้แจงก็ไม่ยอมฟัง ยังถูกย้อนว่า " เธอกับชั้นเพิ่งมาเป็นลูกศิษย์ ไม่กี่เดือนนี่เอง ส่วนคนเล่าเรื่องให้ชั้นรู้เนี่ยเค้าเป็นมากี่ปีแล้ว ตั้งแต่คุณยายทองสุกยังไม่ตายโน้น เค้าต้องรู้อะไรดีๆ แน่นอนกว่าเราสองคน ชั้นไม่เชื่อเธอหรอก "

วันนั้นป้าต้องนั่งฟังคำตำหนิต่างๆ ตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงบ่ายสี่โมง เป็นเวลา สามชั่วโมงเต็ม ฟังแล้วป้าก็รู้ว่า " กู่ไม่กลับ " อาจารย์วรณีสิ้นศรัทธา ในคุณยายฯ และหลวงพ่อฯ ตลอดจนหมู่คณะ และได้พาลโกรธเกลียดป้า เต็มที่ไปด้วย ในฐานะผู้ชักชวนให้มาร่วมงาน

ป้าเห็นกิริยาอาการทั้งหมดของท่านแล้ว กลัวตนเองจะเป็นคนลักษณะนั้นบ้าง จึงอธิษฐานในใจว่า " เจ้าประคู้ณ ขอเราอย่าได้เป็นคนหูเบาเชื่อง่าย อย่างอาจารย์ท่านนี้เลย ขอให้เป็นคนมีเหตุมีผล ไม่ฟังความข้างเดียว ต้องมีปัญญาพิจารณาอะไรให้ถ่องแท้ ไตร่ตรองให้ดีอย่าเป็นคนมักโกรธ เจ้าโทสะ รู้สิ่งใดควรไม่ควร "

หลังจากนั้นป้าก็กลับวัด เล่าเรื่องทั้งหมดให้คุณยายฯ ฟัง คุณยายฯ จึงให้ป้าเรียนเชิญอาจารย์วรณีไปพบคุณยายฯ ที่วัดสักหน่อย โดยคุณยายฯ อนุญาติให้ป้าดูโอกาสให้เหมาะ จะรอให้อีกฝ่ายใจเย็นลงบ้างก็ได้ แต่ไม่ควรทิ้งเวลาให้เนิ่นนานนัก เพราะสตรีช่างพูด อาจหาเรื่องป้ายสีเพิ่มเติมยิ่งขึ้น

แต่ป้าก็หาโอกาสเหมาะไม่ได้เลย เพราะอาจารย์ท่านนี้ ไม่ยอมพูดกับป้าเสียแล้ว เวลาเข้าประชุมร่วมกันตามที่ต่างๆ ป้าก็ตรงเข้าไปไหว้ทำความเคารพ เหมือนปกติที่เคยทำ อาจารย์ท่านก็เมินหน้าไปทางอื่น ทำท่าเป็นมองไม่เห็นเสีย ป้าต้องหน้าชาแล้วชาอีก เพราะมีผู้อื่นอยู่ในที่นั้นด้วย ครั้งละเป็นสิบๆ คน

มีอยู่คราวหนึ่ง คุณหญิงแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี มารดาของท่านป่วย ด้วยโรคเส้นประสาทบริเวณสมอง ใกล้ต้นคอเสื่อม ต้องเข้าโรงพยาบาล เพื่อผ่าตัด ป้ากับเพื่อนอีก ๒ คนไปเยี่ยม ท่านไม่ยอมพูดกับป้าเลย สายตาและสีหน้าแสดงความโกรธเกลียด ออกมาเต็มที่ จนมองดูน่ากลัว วันนั้นป้าเล่าเรื่องความคืบหน้า ของการสร้างวัดให้คุณหญิงฯ ฟัง คนเจ็บมีสีหน้าแสดงความดีใจ

เวลานี้เองเป็นเวลาที่ หน้าที่การงานของป้าเริ่มกระทบกระเทือนแล้ว เพราะอาจารย์วรณีเป็นคนมีเงิน มีอำนาจ คือเป็นญาติสนิทกับผู้บังคับบัญชา ระดับรัฐมนตรี ถึง ๒ กระทรวง เพื่อนๆ ในวงการเดียวกันเกรงใจ เมื่อเห็นท่านแสดงความเกลียดชังป้า อย่างออกหน้าออกตา ต่างก็ไม่ต้องการให้ระคายใจท่าน จึงพากันแสดงทีท่ารังเกียจป้า ตามๆ กันหมด มีอยู่บ้างบางราย ยอมพูดกับป้าในเวลาลับหลัง เวลานั้นแม้ป้าจะสะเทือนใจครั้งแล้วครั้งเล่า ที่มีการประชุมพบปะกัน เสียใจแค่ไหน ก็ไม่นึกโกรธอาจารย์วรณี แม้แต่น้อย คงเห็นใจท่านอยู่เสมอมากระทั่งทุกวันนี้ เพราะคบกับคนพาล ทำให้ท่านต้องเสียโอกาสของการสร้างบุญไป

ป้าต้องทนเป็นตัวประหลาด ทุกครั้งที่มีการประชุมร่วมกัน ในระหว่างสถานศึกษาต่างๆ ป้าจะต้องนั่งอยู่ตามลำพังโดดเดี่ยว ไม่มีใครกล้านั่งใกล้เคียง ป้ามองหน้าใครเพื่อจะทักทายตามที่เคยทำ ก็จะถูกเมินหน้าหนี เหมือนมองไม่เห็น ทุกคนพากันเชื่อว่าป้าเป็นนักหลอกลวงตัวฉกาจ ต้มตุ๋นเอาที่ดินเพื่อนไปจัดสรรขาย เข้าใจผิดกันถึงขนาดนั้น เพราะบังเอิญที่ดินติดกับที่สร้างวัด มีจำนวนร้อยกว่าไร่เหมือนกัน เจ้าของเล่นการพนันม้าแข่ง เสียพนัน เอาที่ดินไปจำนองไว้กับธนาคาร จึงมาทำการจัดสรรขายใช้หนี้ ทำให้ดูสมจริงตามกล่าวหา

โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาชั้นต้นคนหนึ่งของป้า เป็นเพื่อนรักร่วมชั้นเรียนกับอาจารย์วรณี ดูจะจงเกลียดจงชังป้าเป็นพิเศษ อาศัยอำนาจจากตำแหน่งหน้าที่การงาน ให้ท้ายครู ที่มีปัญหาในปกครองของป้า ทำให้เกิดการกระด้างกระเดื่อง เสียการปกครอง ยังตัดงบประมาณประเภทต่างๆ เพื่อให้บริหารงานลำบาก ถ้ามีเรื่องบกพร่อง เล็กน้อยแค่ไหน นอกจากไม่ช่วยเหลือแล้ว ยังชอบนำไปพูดประจานในมี่ประชุม เจตนากลั่นแกล้งอย่างเปิดเผย

ป้าไม่โต้ตอบใดๆ ทั้งสิ้น คอยเตือนตนเองอยู่เสมอๆ ว่า " นี่นะ ชาตินี้เราลงมาสร้างบารมี บารมีที่ต้องสร้างมากเป็นพิเศษ เพราะยังมีขนาดเล็กกว่าอย่างอื่น คือ ขันติบารมี "

ที่เตือนตนเองดังนี้ เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่ง ราวกับล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า หลวงพ่อฯ ให้ป้าตรวจดูดวงบารมีของตนเอง ดวงใดเล็กที่สุด ชาตินี้จำเป็นต้องสร้างไปให้มากที่สุด ป้าก็พบว่าดวงขันติบารมีเล็กที่สุด ในการปฏิบัติธรรมแนววิชชาธรรมกายนั้น บารมีทั้งสิบนับตั้งแต่ ทานบารมี ศีลบารมี เป็นต้นไปจนถึงอุเบกขาบารมี เป็นของมองเห็นได้ในญาณ ผู้ที่จะเข้านิพพานได้ต้องสร้างบารมีให้เต็มเปี่ยมทั้งสิบอย่าง บารมีใดเต็มเปี่ยมจะมองเห็นเป็นดวงกลมใสสว่าง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบ ๔ นิ้ว ดวงขันติบารมีของป้า โตขนาดราวๆ ลูกส้มเขียวหวานขนาดเล็กเท่านั้น กว่าแต่ละดวงจะโต ๑ คืบ ๔ นิ้ว ก็คงนานนับกัปไม่ถ้วน ชาตินี้ป้าจึงต้องพบเหตุการณ์ ที่ทำให้ต้องอดทนอยู่ร่ำไป

อุบานเตือนตนดังนี้ ทำให้ป้าไม่คอยจ้องจับเคืองผู้อื่น เมื่อมีสิ่งใดไม่ถูกใจเกิดขึ้น ป้าจะดูที่ตนเองทันที อดทนได้แค่ไหน ทนได้ดวงขันติบารมี จะค่อย ค่อยเพิ่มขนากขึ้น

ในครั้งนั้นเมื่ออาจารย์วรณี ไม่ยอมพูดกับป้าเสียแล้ว ป้าจึงไม่สามารถปับความเข้าใจสิ่งใดกับท่านได้เลย รวมทั้งเรื่องที่คุณยายฯ สั่งให้ไปพบด้วย ป้าอยากจะบอกให้อาจารย์วรณีทราบว่า " คำสั่งคุณยายฯ เป็นเครื่องทดลองศิษย์ ถ้าเขายอมไปพบตามสั่ง เท่ากับยังเคารพนับถือกันอยู่ แต่เมื่อท่านไม่ยอมพูดกับป้าเสียแล้ว ป้าก็หมดปัญญา ต้องขอเสี่ยงเป็นครั้งสุดท้ายดูเผื่อจะได้ผล "

คือป้าไปขอพบท่านที่บ้านในตอนค่ำ ประมาณ ๑ ทุ่มวันหนึ่ง คนรับใช้ออกมาบอกว่าท่านนอนหลับแล้ว วันนั้นป้าเดินทางกลับ วันรุ่งขึ้นป้าไปแต่วัน ก่อนโรงเรียนของท่านเลิก ป้าไปแอบยืนอยู่ในซอยใกล้ๆ บ้าน พอรถอาจารย์วรณีขับกลับมาถึง เข้าประตูบ้าน ประตูยังไม่ทันปิดป้าก็เดินเข้าไป บอกคนรับใช้ว่าป้ามาขอพบ

คนรับใช้หายเข้าไปสักครู่ ป้ารู้สึกว่าเงียบผิดสังเกต สังหรณ์ใจว่าอาจมีอันตรายบางอย่างเกิดขึ้น จึงรีบถอยกลับมาที่ประตูรั้ว จริงดังคาด ในอึดใจนั้นเอง มีฝูงสุนัขทั้งพันธุ์ไทยและต่างประเทศ แยกเขี้ยวแห่กันออกมา เป็นสิบตัวกระมัง ป้ารีบงับประตูรั้วทันทีทีงับเสร็จ หน้าของสุนัขที่ยื่นออกมาทางลูกกรงประตูรั้ว ก็แทบจะชนหน้าของป้า แต่ละตัวทั้งเห่าทั้งขู่คำราม ท่าทางดุร้ายทั้งสิ้น ถ้าช้าอีกนิดเดียวป้าคงเสร็จสุนัขตัวนั้นแน่

อาจารย์ท่านนี้เลี้ยงสุนัขล้วนแต่ดุๆ เอาไว เพราะบ้านของท่านมีแต่ผู้หญิง มีคนขับรถเป็นผู้ชายอยู่คนเดียว ก็ทำงานเช้ามาเย็นกลับ และครั้งหนึ่งเคยมีคนร้าย เข้าไปจับคุณหญิงมารดาของท่าน มัดมือเท้าขังไว้ในห้องน้ำ แล้วรื้อค้นเอาทรัพย์สมบัติมีค่าในบ้านไป

วันนั้นถ้าป้าช้านิดเดียว ยังไม่รู้จะเป็นอย่างไรบ้าง สุนัขดุเหล่านี้ ปกติแล้วจะถูกขังไว้ในเรือนเล็กพิเศษ จะปล่อยออกมาเวลาไม่มีคนอยู่บ้าน หรือในตอนกลางคืนให้เฝ้าบ้าน นี่ปล่อยเวลาป้ามา คงให้ต้อนรับเป็นพิเศษจริงๆ

ป้าไม่ย่อท้อ หมาเห่ากันเสียงขรม ป้าก็ยืนนิ่งอยู่ ไม่ยอมกลับ พวกมันก็เห่ากันไม่เลิกรา เจ้าของคงจะรำคาญ สักครู่ใหญ่จึงมีแม่บ้านเป็นสตรีอายุราว ๕๐ ปี (เวลานั้นป้าอายุ ๓๗ ปี) ออกมาพูดเกรี้ยวกราด ไล่ส่งป้าว่า " ไป ไปให้พ้น ที่นี้ไม่ต้องมาบ้านนี้อีก คุณของชั้นไม่คบกับแกแล้ว บ้านนี้ไม่ต้อนรับ..........ฯลฯ "

คำพูดเหล่านั้นไม่สุภาพเลย ป้าเห็นว่าขืนอยู่ต่อไป ผู้หญิงแม่บ้านคนนั้นคงบาปหนัก พูดผรุสวาทกับป้าซึ่งกำลังรักษาศีลแปด จึงรีบยกมือไหว้ กล่าวคำลา " ค่ะ งั้นดิชั้นลาเลยนะคะ "

ป้าไหว้เพื่อให้ผู้หญิงสูงอายุคนนั้นหายขุ่นเคืองลงบ้าง แกโกรธจนน่ากลัว ไม่รู้เจ้านายเล่าเรื่องร้ายแรงอะไรให้ฟัง เมื่อก่อนแกก็ดีกับป้าเป็นพิเศษ มาตอนเย็นทีไร ครั้งยังไม่ได้ถือศีลแปด แกก็หาข้าวเย็นให้รับประทานทุกครั้ง

เมื่อไม่มีทางพูดกันเสียแล้ว จึงเหลืออีกวิธีเดียว ป้าเขียนจดหมายถึง ในจดหมายนั้นป้าพูดเด็ดขาดลงไปทีเดียวว่า ป้าจะขอตามท่านเป็นครั้งสุดท้าย ต่อจากนี้ไปไม่ว่าชาตินี้ หรือชาติหน้า ป้าจะไม่ตามท่านให้มาร่วมสร้างบารมีด้วยอีกแล้ว

ป้าเขียนอย่างนั้น เพราะเราเคยระลึกชาติย้อนหลังกันในหมู่คณะ พบว่าป้ากับอาจารย์เคยเป็นพี่น้องกันบ้าง เป็นเพื่อนกันบ้าง มานานถึง ๕๐ ชาติแล้ว แต่ละชาติอาจารย์วรณีจะคอยออกนอกทาง สร้างบารมีกับหมู่คณะเสมอ ป้าเป็นคนคอยตามกลับมา เรื่องนี้ท่านก็ทราบอยู่ด้วยกัน

การคาดคะเนของป้าผิดถนัด ท่านมีทิฏฐิแรงกล้า ส่งข่าวบอกคุณยายฯ ว่า เวลานั้นชะตาชีวิตของท่านกำลังไม่ดี หมอดูทักท้วงห้ามเดินทางไปที่อื่น ให้อยู่เฉพาะเส้นทางจากบ้านไปที่ทำงานเท่านั้น ท่านจึงขอตัวไม่ไปพบคุณยายฯ

ในขณะเดียวกันหน้าที่การงานป้าก็ตกที่นั่ง มีปัญหาที่สุดในชีวิต ผู้ใต้บังคับบัญชาก็หนักหนาสาหัสแล้ว ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น คนที่เล่าไว้ก็เพิ่มปัญหาให้อีกเป็นทวีคูณ จะทำกิจกรรมใดๆ ต้องระมัดระวังตัวแจ จนบางอย่างต้องเลิกทำ เพราะอาจผิดระเบียบราชการ จะต้องถูกจับผิดแน่นอน ทำให้งานในหน้าที่ซึ่งกำลังพัฒนาไปด้วยดี หยุดชะงักไปหลายด้าน

ปัญหาทางวัดก็ประดังประเดเข้ามา ป้าก็ไม่ทันระมัดระวังให้รอบคอบ จึงยิ่งเป็นชนวนให้อาจารย์วรณี แคลงใจในหมู่คณะยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในการอบรมธรรมทายาทรุ่นแรกของวัดเวลานั้นป้ายังไม่ถูกโกรธรุนแรง ป้าและน้องชายลงทุนไปหาซื้อ ชุดธรรมทายาท จากตลาดจังหวัดชลบุรี (ความจริงคือชุดผ้าดิบสีขาว ที่ชาวไร่อ้อยใส่ตัดอ้อย) และไปซื้อเสื้อกกชนิดนอนคนเดียว ถึงจันทบุรี ค่าเดินทางค่าซื้อของ ป้ากับน้องช่วยกันออก หมดเงินไปทั้งสิ้นราว ๖ พันบาท (สมัยเดือนมีนาคม ๒๕๑๔) ที่นี้พอถึงค่าอาหารป้าก็ไม่มีเงิน อาจารย์วรณีทราบเข้า จึงร่วมบริจาคสมทบเป็นค่าอาหารเลี้ยงธรรมทายาท จำนวน ๑ หมื่นบาท

ป้าได้มอบเช็คเงินสดที่อาจารย์วรณีมอบให้ ให้เหรัญญิกคือคนตัวเล็กไป แต่ป้าก็ลืมกำชับกำชา ให้เขาลงชื่ออาจารย์วรณี ในรายชื่อผู้บริจาค ที่จะพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกด้วย ถ้าใครรู้จักป้าดี จะรู้นิสัยของป้าอย่างหนึ่ง เรื่องทำบุญเอาบุญ ป้าไม่เคยสนใจ เรื่องทำบุญเอาหน้า ขอให้ใจตนเองจำได้ว่า เคยทำบุญกุศลอะไรไว้ เท่านั้นพอแล้ว

การบริจาคเพื่ออบรมธรรมทายาทรุ่นแรก คนตัวเล็กทำหน้าที่เหรัญญิก ไม่ได้ใส่ชื่อป้าและน้องชาย รวมทั้งอาจารย์วรณี ลงในรายกาผู้ร่วมบริจาคเลย สำหรับป้ารู้สึกเฉยๆ เพราะมีความรู้สึกว่า ตนเองเป็นเจ้าของกิจการอยู่แล้ว ชื่อที่ลงไว้ในรายการเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งเราต้องให้เกียรติ เมื่อไม่ได้ประกาศชื่ออาจารย์วรณีในหนังสือที่ระลึก ทำให้อาจารย์วรณีไม่พอใจ ท่านต่อว่าในที่ประชุม เรื่องนี้จึงทำให้ท่านระแวงแคลงใจมากขึ้น

ตลอดปี ๒๕๑๔ เหตุการณ์ระหว่างหมู่คณะและเจ้าของที่ดิน ไม่ราบรื่นแจ่มใสเรื่อยมาทั้งปี มากระเตื้องดีขึ้นเล็กน้อย ตอนหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสบวช แล้วก็คลุมเคลือต่อไปอีกเหมือนระเบิดเวลา





อุบาสิกา ถวิล - บทที่เก้า - พลักผืนนาฟ้าโล่ง

ก่อนเล่าเรื่องความแตกร้าวใหญ่โต ขอเล่าเรื่องงานบวชของหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสอีกเล็กน้อย เวลานั้นเป็นปี ๒๕๑๔ หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสเป็นผู้ควบคุมดูแล การสร้างวัด ซึ่งขณะนั้นมีฐานะเหมือนสำนักสงฆ์ เรียกชื่อว่า ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม ทั้งหมดเป็นแม่งานที่สำคัญที่สุดแต่คุณยายฯ ก็พูดว่า " มีความจำเป็นให้คุณ เด็ดบวชก่อน ตั้งแต่ตอนนี้แหละ บวชแล้วก็คุมงานสร้างวัดต่อไปได้ ที่ยายให้บวช เพราะต่อไปคุณ เด็ด จะต้องปกครองพระในวัด ต้องมีอายุพรรษามากกว่า จึงจะเหมาะสม

การบวชของหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส แม้ไม่ยากเท่าหลวงพ่อเจ้าอาวาส แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะท่านเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว นอกจากนั้นมีแต่พี่สาว โยมพ่อแม่ก็หวังให้ท่านมีชีวิตรุ่งเรืองทางโลก จะได้สืบสกุล " ผ่องสวัสดิ์ " ไปได้นานๆ ไม่ได้คิดอยากให้ท่านบวชไม่สึก ทำสกุลให้ด้วนเสียหาย

หลวงพ่อเจ้าอาวาส ต้องเดินทางไปบ้านหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ที่จังหวักกาญจนบุรีอธิบายและชี้แจงโครงงานต่างๆ ให้โยมพ่อฟัง ส่วนโยมแม่ท่านมักตามใจโยมพ่อ

และประโยคสุดท้าย ที่ทำให้โยมพ่อตัดใจให้เด็ดขาด คือประโยคที่ลูกชายพูดกับท่านว่า " พ่อครับ ถ้าให้ผมอยู่ครองเรือนเพื่อสืบสกุล พ่อจะสัญญาได้มั้ยครับว่า คนที่มาเกิดในสกุลของเราต่อจากนี้ไป จะไม่มีใครเกเรเลย ถ้าพ่อสัญญาไม่ได้ เวลาภายหน้าสกุลของเรา อาจจะมีทายาทไม่ดี ทำเรื่องเสื่อมเข้าคุกเข้าตาราง แล้วในที่สุดสกุลอาจจะด้วน ไหนๆ มันจะด้วนแล้ว ก็ให้ด้วนเสียตั้งแต่ตอนนี้เถอะ ด้วนเพราะทำความดี ดีกว่าไปเจอด้วนเพราะทำไม่ดี "

ในที่สุดหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ก็ได้รับอนุญาต โยมพ่อโยมแม่ให้บวชได้ โดยมีอาจารย์วรณี ครอบครัวของหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส และพวกเราในหมู่คณะทุกคน เป็นเจ้าภาพป้าและเพื่อนๆ ครู ได้ช่วยกันทำดอกไม้สดในงานบวชอีกครั้ง โดยตั้งงานที่บ้านป้า เพราะเวลานั้น เดือนธันวาคม ๒๕๑๔ แม่ของป้าป่วยหนัก ป้าต้องการให้แม่เห็น และอนุโมทนา

รวมเวลาที่หลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ลุยงานบุกเบิกสร้างวัดอยู่ปีเศษ เมื่อท่านห่มผ้ากาสาวพัสตร์เสียแล้ว ย่อมไม่สะดวกที่จะให้ท่านวิ่งเต้น เหมือนเช่นเดิม ป้านึกถึงน้องชายของป้า ในฐานะเพื่อนสนิทของหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส คงจะพอมาสานงานต่อได้ แต่คงจะสละทั้งตัวเหมือนหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสไม่ได้แน่ เพราะป้าเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ทราบนิสัยอยู่ ใจไม่เด็ดเดี่ยวเข้มแข็งเต็มที่นัก จะให้เลิกกับคนรัก ให้ลาออกจากงาน บวชตลอดชีวิต เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ไม่มีศรัทธาขนาดนั้น แต่เรื่องรักเพื่อน ช่วยเพื่อน ร่วมเป็นร่วมตายด้วยกัน อย่างนี้ทำได้

น้องของป้าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปราม ของกรมป่าไม้เวลานั้น ตอนแรกอยู่จังหวัดจันทบุรี มีการทำไม้เถื่อนอิทธิพลกันมาก น้องของป้าจับไม่ละเว้น พวกพ่อค้าไม้จึงร่วมมือกันออกเงินจ้างมือปืนยิงทิ้ง พอดีในหมู่พ่อค้าไม้เหล่านั้น มีญาติของป้าร่วมอยู่ด้วย จึงแอบบอก น้องชายของป้ามุทะลุมาก พอทราบเรื่องถือปืนเข้าไปในโรงเลื่อย ที่เป็นคนออกคำสั่ง ท้ายิงกันทันที ทางเจ้าของโรงเลื่อยเห็นความแตก จึงงดเรื่องนี้และขอโทษขอโพย

ต่อมาย้ายมาอยู่เมืองชลบุรี ก็พบปัญหาอย่างเดิม มือปืนรับจ้างมายิงทิ้ง ทั้งน้องชายป้าและหัวหน้าของเขา แต่มือปืนมาซุ่มดักยิงครั้งแล้วครั้งเล่า ให้มีเหตุขัดข้อง จึงเอาเงินไปคืนผู้จ้างเลิกยิง ยังให้คนส่งข่าวให้รู้ตัว น้องของป้าจึงเชื่อว่าที่รอดชีวิตได้ เพราะเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ของพระของขวัญหลวงพ่อวัดปากน้ำ ตัวเขามีพระของขวัญรุ่น ๓ ห้อยคอ ส่วนหัวหน้ามีรุ่น ๑ ในขณะที่หลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ดำเนินการขุดคูน้ำ รอบที่สร้างวัด น้องของป้ากลับตั้งหน้าตั้งตา จับคนลักลอบตัดไม้ที่จังหวัดชลบุรี

ป้าเห็นว่าน้องเป็นนักบู๊เดือดดี อยากเอามาปราบคนพาล ที่ก่อกวนงานสร้างวัดของเรา จึงเสนอความเห็นต่อคุณยายฯ พิจารณา คุณยายฯ ก็เห็นชอบให้ดำเนินการทันที

น้องเล่าให้ป้าฟังว่า " เป็นเรื่องอัศจรรย์ ในอำนาจสามธิของคุณยายฯ ก่อนวันมาทำบุญที่บ้านธรรมประสิทธิ์วันหนึ่ง ผมพูดตกลงกะแฟนไว้ ว่าจะแต่งงานกันแน่นอน กำหนดวันไว้เสร็จรู้กันเพียงสองคน พอรุ่งขึ้นผมก็มาทำบุญถวายข้าวพระ ที่บ้านคุณยายฯ พอเสร็จพิธี คุณยายฯ ไล่คนที่เหลืออยู่ให้ขึ้นไปนั่งสมาธิ ที่หน้าโต๊ะหมู่บูชาชั้นบน ให้พี่กับผมนั่งอยู่กับคุณยายฯ นั่นไง พี่จำได้มั๊ย "

ป้าตอบว่า " จำไม่ได้ ยี่สิบกว่าปีแล้ว ลืมหมด เล่าต่อซิ "

อีกฝ่ายก็ว่า " คุณยายฯ พูดกับผมว่า คุณธนู ยายรู้หมดแล้ว เรื่องที่คุณจะแต่งงานน่ะ ยายขอให้คุณงดไว้ก่อน เพราะคุณมีหน้าที่ต้องสร้างวัด พี่ยังงงเลย ถามผมว่าจริงหรือ ส่วนผมก็แปลกใจ เรื่องนี้ผมกับแฟนรู้กันสองคน คุณยายฯ รู้ได้ยังไง ผมงงบอกไม่ถูก พอไปถามท่านทัตตะ (หลวงพ่อรองเจ้าอาวาส) ท่านหัวเราะบอกว่า เป็นเรื่องเล็กมาก สำหรับคุณยายฯ กายหยาบของเราอาจพูดโกหกท่านได้ แต่กายละเอียดเป็นเสร็จ คุณยายฯ จับได้หมดแหละ ผมเลยหายสงสัย "

ต่อจากนั้นน้องชายของป้า ก็ขอย้ายจากชลบุรี เข้าทำงานในกรมป่าไม้ และพักอาศัยอยู่ที่ท้องนาสร้างวัด ใช้เวลาว่างหลังเลิกงาน และวันเสาร์อาทิตย์ ดูแลการก่อสร้าง เขาได้มาใช้บ้านเรือนไทยของพ่อแม่ที่ยกมาปลูกให้วัด เป็นที่พักอาศัย

น้องชายเล่าว่า " ผมเข้าทำงานให้วัดตอนนั้น ต้นปี ๒๕๑๕ เครื่องมือที่ใช้ทำงานมีอยู่ ๒ ชิ้น รถแทร็กเต้อร์ใช้แล้ว ๑ คัน รถขนดิน ๖ ล้อใช้แล้ว ๑ คัน ที่อาจารย์วรณีให้เงินซื้อ รถมีอยู่จริง แต่คนขับไม่มี เงินก็ไม่มีจะจ้าง ที่สร้างวัดเวลานั้น เป็นท้องนามีน้ำขังเจิ่ง มีแต่หญ้ารก ไม่มีการทำนาแล้ว แต่บริเวณรอบ ท่านทัตตะทำคูไว้เสร็จ มีต้นยูคาลิปตัส ปลูกเป็นแนว ๒ แถว

เมื่อผมมาอยู่ ท่านทัตตะแนะนำให้ผมรู้จักเพื่อนรุ่นน้อง ที่อยู่ประจำก่อนแล้ว ๒ คนคือ คุณชิดชัย จบวิศวะเกียรตินิยมจากจุฬาฯ และคุณวันชัย จบจากเกริกวิทยาลัย ความจริงผมก็รู้จักกันแล้ว ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ น้องทั้งคู่นี่เสียสละ ไม่ทำงานทางโลก เรียนจบก็ลุยงานสร้างวัดกันเลย ต่อมาก็บวชไม่สึกทั้งสองคน

ผมเข้าไปอยู่ใหม่ๆ มอบงานแล้ว นึกในใจว่า ที่สร้างวัดตั้ง ๒๐๐ ไร่ เงินทองก็ไม่ค่อยมี อาทิตย์ หนึ่งๆ คุณยายฯ รวบรวมเงินทำบุญให้ได้ ก็ไม่ใคร่เกิน ๕ พันบาท สร้างกันเมื่อไหร่จะเสร็จ มองไม่เห็นจดหมายปลายทางเลย แต่ความเป็นคนใจสู้ของผม ก็ยอมกระโดดลงไปทั้งที่ไม่เห็นทาง

งานแรกที่ต้องพบคืองานปรับปรุงที่ดิน ซึ่งจะต้องทำกันเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้รถ แทร็กเต้อร์เป็นหลัก แต่เมื่อไม่มีคนขับ มีรถก็เหมือนมีเศษเหล็ก รถขนดินเองก็ไม่มีคนขับ

คุณชิดชัยเองได้แต่ติดเครื่อง ขับเองไม่ไหว เพราะตัวเล็ก ร่างกายไม่อำนวย คุณวันชัยก็ถนัดไปเรื่องดูแลอาหารการกิน รถทั้งสองคันนั้นจะถูกใช้งานบ้าง ก็วันเสาร์อาทิตย์ โดยไปขอยืมคนขับมาจาก ศูนย์สหกรณ์ทางเครื่องกล ได้งานครั้งละเล็กครั้งละน้อย ไม่เพียงพอ ทางที่ดีจะต้องใช้รถสองคันทำงานทุกวัน

เมื่อไม่มีเงินจ้าง ผมก็ไปชวนน้องชายของแฟน จากจันทบุรี ชื่อดิเรก อ่ำสอน ลาออกจากงานมาอยู่ประจำ ขับรถได้ทั้งสองคัน ต่อมาอีกสองเดือน คุณดิเรกก็ไปชวนเพื่อนรักชื่อสวง มาช่วยอีกแรงหนึ่ง ทั้งคู่หัดขับรถทั้งสองคันจนชำนาญ เราใช้รถทั้งสองทำถนนทางในบริเวณวัด "

น้องชายป้าหยุดเล่าไปครู่หนึ่ง เพื่อทบทวนความจำย้อนหลัง เมื่อยี่สิบปีเศษมาแล้ว ป้าไม่พูดอะไร ปล่อยให้นิ่งคิด สักครู่เขาเล่าต่อว่า

" เวลานั้น ท่านทัตตะเพิ่งบวชใหม่ ต้องจำพรรษาอยู่ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ มาดูแลงานที่ท้องนาได้ไม่เต็มที่ ท่านได้ชวนนิสิตเกษตรฯ รุ่นน้องมาช่วยงานแบบผมอีก ๒ คน ชื่อคุณวีรพลและคุณชวลิต เราทั้ง ๗ คน อยู่กันฉันท์พี่น้องช่วยกันสร้างวัด สี่คนอยู่ประจำทำงานทุกวัน อีก ๓ คน ไปเช้าเย็นกลับ เวลามีงานติดต่อภายนอก เป็นหน้าที่ของฝ่าย ๓ คน

เมื่อมีงานเพิ่มหลายด้านขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ตอนนั้นเป็นงานทำถนนหนทาง ทางมูลนิธิฯ ได้ซื้อรถปิ๊คอั๊พสีแดงให้ใช้คันหนึ่ง ปิ๊คอั๊พคันเก่าของผม ผมก็ให้คุณชิดชัย คุณวันชัยใช้ ส่วนคุณวีรพล ใช้รถจิ๊บของทางราชการเป็นบางโอกาส เมื่อต้องติดต่องานในเส้นทางเดียวกัน "

เมื่อน้องชายหยุดพักเล่า ป้าก็ถามว่า " ตอนนั้นความเป็นอยู่ เรื่องอาหารการกินอุดมสมบูรณ์มั๊ย ? " น้องตอบว่า

" จะเอาอะไรมาสมบูรณ์เล่าครับ เงินที่ได้มาทุกบาททุกสตางค์ ต้องกระเหม็ดกระเหม่ใช้ในงานก่อสร้าง คนเค้าทำบุญมา ให้สร้างวัด เราต้องทำตามวัตถุประสงค์ เงินก็จำนวนจำกัด จะพอแหล่ไม่พอแหล่อยู่ทุกอาทิตย์ พวกผม ๗ คน ก็ไม่ได้ทำมาหากิน ไม่มีรายได้อะไรเลยถึง ๔ คน จะพึ่งทางบ้านก็ไม่ได้ ไม่มีบ้านไหนอยากให้ลูกมาทำยังงี้ ดูจะมีบ้านคุณวันชัยอยู่บ้านเดียว บ้านคุณชิดชัยยิ่งไปใหญ่ แม่ถึงกับจะส่งไปเรียนต่อที่อเมริกาโน่น เมื่อไม่ยอมไปหนีมาอยู่วัด แม่ก็ให้คนมาตามเช้าตามเย็น

อาหารที่เป็นหลักของเราคือน้ำพริก ผักที่เกิดในท้องนานั่นแหละครับ ผักบุ้งมั่ง ดอกโสนมั่ง น้ำพริกก็น้าคำพันทำให้ พวกผม ๓ คน ที่ทำงานได้ ก็เอาเงินเดือนมารวมกัน ซิ้อกินหมดไปด้วยกัน ทำมาหากิน ๓ คน กินกัน ๗ คน จะอุดมสมบูรณ์ได้มากแค่ไหน พี่ก็เดาเอา "

ป้าก็รู้อยู่เพราะเคยไปเห็น ยังนึกสงสารทุกคน ไปครั้งใดก็มักซื้อเสบียงของแห้งไปฝาก จะซื้อของสด ตู้เย็นก็ไม่มีจะใช้ แต่ละคนจึงไม่มีใครอ้วนเลย ยังจำได้คุณชิดชัยนั้น แม่ให้คนมาตามบ่อย คุณชิดชัยถูกตามครั้งใด ก็จะกลับบ้านแต่โดยดี พอเช้ามืดท่านก็รีบหนีออกจากบ้านกลับวัด ทำอย่างนี้ทุกครั้ง จนที่สุดทางบ้านเบื่อ เลยเลิกตาม ส่วนเรื่องไปปอเมรกาเพื่อเรียนต่อนั้น ป้าพูดให้ได้คิดเอง เพราะป้าเห็นว่ามีท่านคนเดียวในหมู่คณะที่เรียนวิศวะ พอเป็นกำลังสมองในการก่อสร้างได้ จึงไม่อยากให้ไป ป้าก็พูดไปว่า " คุณคิดดูให้ดี คุณไปเรียนต่อ ถ้าจะเอาถึงปริญญาเอก ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี คุณกลับมา วัดก็สร้างไปตั้งเยอะแน่ๆ คุณจะอดได้บุญก้อนนั้น คุณเรียนมาตรงสายงานเลยนะ คุณไม่อยากได้บุญก้อนนี้หรือ ถ้าไปเรียนต่อ คุณต้องเสียโอกาสแน่ๆ ไม่มีใครคอยคุณหรอก จะเอาบุญหรือเอาปริญญา ก็เลือกเอา ปริญญานั้นไม่จำกัดเวลา จะไปเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่บุญเรื่องบุกเบิกการส้รางวัดนี้ ไม่คอยคุณจริงๆ "

คุณชิดชัยฟังแล้ว ก็ตัดสินใจไม่ไปเรียนต่อ เข้าช่วยสร้างวัดทันที ป้าจำเรื่องคุณคำพันได้ดี ชอบตำแต่น้ำพริกปลาร้าเผ็ดๆ เป็นประจำ น้องชายป้าและเพื่อนๆ แม้จะไม่ถูกปาก แต่เมื่อไม่มีอะไรอื่น ก็ต้องอดทนรับประทาน ไม่ได้มีอาหารดีๆ อย่างชาววัดทุกวันนี้รับประทานกันเลย

หมู่คณะก็ต้องดิ้นรนหาความช่วยเหลือจากทางอื่น ทั้งเอกชน และหน่วยงานของราชการ เรื่องเอกชนนั้นหวังได้ยากมาก ไปพูดกับใคร ก็มักถูกปฏิเสธ เพราะส่วนมากติดอยู่ในเรื่องอาคารสิ่งปลูกสร้าง วัดเราเวลานั้นยังปลูกสร้างอะไรไม่ได้ ต้องปรับบริเวณให้เรียบร้อยก่อน เพราะเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมนองทุกหน้าฝน พอคำนวณเรื่องซื้อดินถมที่ ต้องใช้กันเป็นหลายล้านบาท ป้าเคยไปกับหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสสมัยก่อนบวช ไปหาคณบดีคลองสองบ้าง คลองหกบ้าง ที่คลองสองปฏิเสธ แต่ที่คลองหกยกให้ ให้ขุดดินเอาเอง แถมยังชวนให้ไปสร้างวัดในที่ของเค้าอีกด้วย

ขนาดให้ที่ดิน เรายังไม่มีปัญญาจ้างรถไปขนเลย เพราะไหนจะค่าจ้างรถขนดิน ไหนจะรถตักดิน ไหนจะต้องทำถนนเข้าไปยังที่ดินที่เขายกให้ ในที่สุดก็ต้องมาคิดวางแผนการกันใหม่ เอาเป็นว่าขุดดินในบริเวณที่ดินของเรา ให้เป็นคูเป็นคลอง เอาดินที่ขุดขึ้นมาใช้ถมที่ ก็ยังจนปัญญาอีก เพราะต้องใช้ค่าจ้างเป็นจำนวนมาก หลายเท่าของการขุดคูรอบวัด จะเอาเงินมาจากไหนให้ได้ทันใจ เงินเป็นล้านๆ

คนเราเมื่อไร้ทรัพย์ ก็ไม่ควรอับปัญญาไปด้วย เราจึงคิดกันถึงเรื่องการขอใช้เรือขุด ของกรมชลประทาน จึงได้วิ่งเต้นติดต่อผ่านผู้คนหลายคน เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรียุคนั้น ยอมเป็นประธานกรรมการอุปถัมภ์ และขอลายมือชื่อท่าน ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังกรมชลประทาน

ลายมือชื่อของผู้มีอำนาจนั้น มีอิทธิพล อำนาจจริงๆ ลูกศิษย์คุณยายฯ คนหนึ่งชื่อคุณชูจิตร สมบัติพานิช ทำงานอยู่ในกรมชลประทาน ได้ร่วมมือกับเพื่อนของท่านในที่ทำงาน เดินเรื่องราวทั้งหมดในกรมฯ นั้นให้ กรมชลประทานอนุญาต ยินดีให้ความร่วมมือ เรือขุดจึงถูกสั่งให้เดินทางมายังวัดทันที

การลงมือทำงานของเรือขุด ไม่ใช่เรือมาถึงทำงานขุดได้ทันที เราต้องทำคันดินขนาดใหญ่ ชนิดรถวิ่งได้ เพื่อกักดินปนน้ำที่เรือขุดขึ้นมา ถ้าคันดินเล็ก จะไม่แข็งแรง รองรับไม่ไหว โคลนที่ขุดขึ้นมาก็จะพังทลายไหลกลับลงไปใหม่ นอกจากนั้นยังต้องขุดคลองผ่านถนนหน้าวัดเพื่อให้เรือขุดเข้ามาทำงานในบริเวณ

ช่วงนี้นับเป็นช่วงวิกฤตที่สุด ของกลุ่มคนที่อยู่ในวัด เพราะคันดินจะต้องรีบทำ ให้เสร็จก่อนฤดูฝนจะมาถึง ซึ่งมีเวลาน้อยมาก ถ้าฝนตก รถแทร็กเต้อร์ทำงานไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องทำงานกันทั้งวันทั้งคืน คุณชิดชัยตอกหลักแบ่งระยะตามแปลน คุณดิเรกและคุณสวง เปลี่ยนกันขับรถแทร็กเต้อร์ดันดิน อดหลับอดนอนกันตลอดเวลา ในที่สุดทำคันดินทันฝน

พอเรือขุดมาถึง หมู่คณะที่อยู่ที่นั่นตื่นเต้นดีใจกันมาก แต่เกิดปัญหาเรื่องเรือขุด จะต้องเจาะถนนด้านหน้าวัดเข้ามาในพิ้นที่ ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้าน ไม่ยินยอม วุ่นวายกันจนถึงนายอำเภอมาดู ทางหมู่คณะเราขอเวลาเพียง ๓ วัน ทำสะพานให้แล้วเสร็จ ชาวบ้านจึงยอม

เรื่องชาวบ้านที่นี่ มีปัญหากับหมู่คณะเราตลอดเวลา แต่เดิมในบริเวณย่านนี้ เป็นที่อยู่ของคนพาลจำนวนมาก หากินทางมิจฉาชีพต่างๆ เมื่อคูน้ำของเราทำเสร็จใหม่ๆ มีปลามารวมกันอยู่มาก มีทั้งพวกมาจับปลา มายิงนก เอาควายมากินหญ้าที่เราปลูกไว้บนคันคู ควายเหยียบคูน้ำพังอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะฝูงควายของอันธพาลคนหนึ่ง ที่อยู่ข้างหน้าวัดด้านหน้า น้องชายเล่าให้ป้าฟังว่า " ผมทะเลาะกับพวกหาปลาบ่อยๆ มันเข้ามา ทำให้ต้องคอยระวังเครื่องมือเครื่องใช้เผลหน่อยมันก็ขโมยเสียอีก ผมไม่ได้ใช้วิธีอ่อนโยน อย่างท่านทัตตะ ผมยิงปืนขึ้นฟ้าขู่เลย บางพวกเอาปืนลูกกรดเข้ามายิงนก พอมันยิงนัดหนึ่ง ผมยิงตอบรับเป็นสองนัด ผมต้องใช้ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟันยังงี้แหละ จึงพอได้อยู่สงบขึ้น

มีหนักหนาอยู่ก็เจ้าอันธพาลคนที่อยู่หน้าวัด มักชอบต้อนฝูงควายของมันให้มากินหญ้าที่เราปลูกไว้บนคันคูเป็นประจำ ไปขอร้องมันดีๆ ยังไงมันก็ทำเป็นไม่รู้เรื่อง ผมบอกแล้วไงว่า ผมไม่ใช่พระอิฐพระปูน ใครดีมาผมดีตอบ ถ้าร้ายมาก็ต้องซักกันแหละ ผมไม่ใช่คนอยากบวชไม่สึกนี่ ที่มาอยู่ช่วยส้รางวัด ก็เพราะอยากช่วยเพื่อนหรอก

ไอ้อันธพาลคนนั้นมันเห็นของพินาศยังงั้น มันก็พอเดาออก มันก็แน่พอตัว ส่งข่าวท้ายิงกะผม ผมก็ตอบรับคำท้า กำหนดวันกันเลย ผมไม่ได้บอกพี่หรอกตอนนั้น กลัวพี่หัวใจวาย แต่บุญเก่าของผมคงพอมีอยู่ เวรฆ่าคนคงไม่มี ไอ้เจ้าคนนั้นมันไปมีชู้กับเมียคนอื่นเค้า สามีเค้าเอาปืนลูกซองมาซัดมันตายคาที่ ก่อนวันนัดดวลปืนกะผม ผมเลยรอดจากบาปมา แต่ยังงั้นตำรวจก็สงสัยผมมั่งเหมือนกัน พอดีคนยิงเค้าสารภาพ เรื่องเลยพ้นฝ่ายเราไป "

เรื่องเหล่านี้ตอนกำลังเกิดเหตุ น้องชายไม่เล่าให้ป้าฟังเลย เพราะถ้าป้ารู้ ป้าคงไม่ให้เขาอยู่สร้างวัดต่อ นอกจากเรื่องกลัวน้องตายแล้ว ก็ไม่อยากให้วัดเสียชื่อว่า รบกับชาวบ้าน

กลับมาเล่าเรื่องเรือขุดกันต่อไปใหม่ พอเรือเข้าไปในพื้นที่ได้ เจ้าหน้าที่ก็ทำงานกันเต็มที่ทั้งวันทั้งคืน โคลนที่เรือดูดขึ้นมาเป็นดิน ๑ ส่วนเป็นน้ำ ๒ ส่วน ท่อส่งพ่นโคลนขึ้นมาทั้งเร็วและแรง คันดินที่ทำไว้คำนวณว่าแข็งแรงเต็มที่แล้ว บ่อยครั้งที่รับโคลนไม่ไหว ต้องพังลงมา พังกลางวันยังค่อยยังชั่ว บางครั้งพังตอนกลางคืนสี่ห้าทุ่ม ชาววัดทั้งกลุ่มต้องพากันลุยเลนลึกเพียงหน้าอก ช่วยกันกั้นคันดินใหม่ อากาศธรรมดายังพอสู้ บางครั้งอากาศหนาวเย็นเพราะย่างเข้าฤดูหนาว ก็หนาวสั่นไปตามๆ กัน แต่ทุกคนสู้ด้วยใจ อยากได้บุญ ลำบากกายแค่ไหน ก็ชวนกันอดทน

ป้าเคยไปเห็นด้วยตาตัวเอง เวลาท่อส่งโคลนหลุด น้องชายและเพื่อนๆ ลงไปลอยคอช่วยกัน ต้องไม่เรียกว่าลุยโคลน ควรเรียกว่ามุดโคลน เวลาโผล่ขึ้นมา ลองนึกภาพดู มองไม่รู้ว่าศรีษะใครเป็นใคร เหมือนก้อนโคลนรูปหัวคนเคลื่อนที่ได้ ลอยไปมาอยู่ในขี้เลนสูงท่วมหัว น้ำสะอาดจะล้างก็ไม่มี ต้องเดินไปล้างกันที่คูน้ำรอบที่โน่น

น้องชายเล่าความยากลำบากให้ฟังต่อไปว่า " พวกผมต้องประจบเอาใจ เจ้าหน้าที่คณะของเรือขุดเต็มที่ มีเรือขายขนมของชาวบ้านพายมาขาย เราซื้อเหมาเลี้ยงทุกวัน ขนมตอนนั้นไม่แพงมาก ห่อหนึ่งสลึงหนึ่งบ้างห้าสิบสตางค์บ้าง สั่งน้ำแข็งก้อนใหญ่มาให้ตลอดวันตลอดคืน ยังซื้อกับข้าวสดเป็นเนื้อหมูเป็นผักแจกกันประจำ เงินเดือนพวกเรา ๓ คน คนที่ทำงานข้างนอกนั่นแหละครับ เอามาใช้รวมกัน คนงานได้น้ำใจจากพวกเรา พวกเขาก็ดีใจหาย ทำงานไม่มีอู้ ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

เรื่องหนักใจก็พอมีอยู่หลายเรื่อง เช่นเรื่องแปลนที่ต้องขุด คณะกรรมการของมูลนิธิฯ ส่งให้กรมชลประทานดูครึ่งเดียว พอลงมือขุด เรือก็ต้องขุดเท่าที่อนุญาตมา ส่วนพวกเราก็จะขอให้เขาขุด ครบตามแปลนวัดทั้งหมด เรื่องคนงานไม่มีปัญหา เพราะเราเอาใจเขาไว้ดีแล้ว เขาเต็มใจทำ แต่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ทางกรมฯ จะไม่ยอม เพราะขออนุญาตไว้แค่นั้น

ผมต้องยอมรับผิดเสียเองครับที่ว่า ผมเองเป็นคนหยิบแปลนผิดไปให้กับเจ้าหน้าที่ ในกรมฯ ขอให้เห็นใจยกโทษให้ด้วย ทางกรมฯ ก็ขัดข้องเรื่องค่าน้ำมันเรือขุด เราก็แจ้งว่าฝ่ายเรายินดีออกให้ ต้องวิงวอนขอร้องกันวุ่นวาย กว่าจะได้รับอนุญาตต่อ

ระยะแรกการทำงานเป็นระหว่างฤดูฝน ฝนตกหนักอยู่บ่อยๆ การทำคันดินลำบากกว่าเดิมเป็นสิบเท่าตัว ต้องอดหลับอดนอน เรื่องรถแทร็กเตอร์ ติดหล่มเป็นประจำ บางครั้งจมมิดลงไปแค่ครึ่งคัน คิดว่ารุ่งเช้าค่อยหาทางเอาขึ้น ปรากฎว่าคืนนั้นฝนตกลงมาหนักมาก ตอนเช้าแทร็กเตอร์จมลงไปเกือบมิดคัน เหลือเพียงที่นั่งคนขับ เชิดอยู่เหนือกองโคลน คณะของเราในวัดกลุ้มใจกันมาก จะเอาอย่างไรดี จะไปจ้างรถยกที่ไหน เงินก็ไม่มี คุณชิดชัยขับรถตระเวนขอความช่วยเหลือตามที่ต่างๆ ผมเองมาทำงานที่กรมป่าไม้ตอนเช้า เห็นรถยกของทหารอากาศจอดอยู่ใกล้ทาง ถามทหารเจ้าหน้าที่คุมรถว่า จะขอยืมได้มั้ย เค้าบอกว่าต้องให้เจ้ากรมอนุญาต วันรุ่งขึ้นผมกับคุณชิดชัย เข้าพบท่านเจ้ากรมฯ ท่านจบวิศวะรุ่นพี่คุณชิดชัย ท่านก็ยินดีรับปากช่วยแต่ต้องคอยให้รื้อซ่อมก่อนสัก ๒ - ๓ วัน พวกเรารอช้าไม่ได้ เพราะหมายถึงเรือขุดก็จะต้องหยุดงานไปด้วย ผมสองคนกับคุณชิดชัย ต้องวิ่งหาความช่วยเหลือที่อื่น พากันไปหาหัวหน้าคุมงานสร้างถนนรังสิต ของบริษัทอิตาเลี่ยน - ไทย ขอใช้รถแรงเยอร์เค้า เค้าก็เต็มใจช่วย ขอเป็นเย็นวันรุ่งขึ้น พอเอารถแรงเยอร์มาถึงสะพานข้ามคลอง พี่นึกออกใช่มั้ย สมัยนั้นเป็นสะพานเก่า จะพังมิพังแหล่ ทั้งคลองหนึ่งคลองสองเลย เขาก็ไม่ค่อยข้ามกันกลัวสะพานหัก ทีนี้แหละเรื่องใหญ่

ผมบอกเขาไปว่า " ข้ามไปเลยสบายมาก รถบรรทุกสิบล้อขนลูกรังเข้าวัดเราวิ่งอยู่ทุกวันเลย รถแรงเยอร์งี้ข้ามได้สบาย " พวกเค้าฟังแล้วก็ขับข้ามไปทันที ตอนกำลังข้ามอยู่นั่นเอง หัวใจผมแทบวาย ไอ้เจ้ารถสิบล้อขนลูกรังขับวิ่งซ้อนไปด้วยอีกคัน ไม่คอยก่อนเลย ผมนึกว่าเสร็จแน่สะพานพังแน่ ปรากฎว่าสะพานยังทนอยู่ได้ไม่ยักพัง พอไม่พังก็ดีใจ วันนั้นรถแรงเยอร์ ฉุดรถแทร็กเตอร์ขึ้นจากโคลนได้ พวกเราไชโยกัน ดีใจสุดขีด "

น้องเล่าต่อไปว่า " งานเรือขุดเดินหน้าไปเร็วมาก พวกเราให้กำลังใจ เจ้าหน้าที่เรือขุดทุกคน ยกย่องว่าวัดเราจะเป็นรูปร่างสำเร็จได้ เพราะพวกเขาทุกคน พอขุดกันไปได้ครึ่งพื้นที่ เข้าฤดูมรสุม มีฝนตกหนักบ่อยมาก งานไม่สะดวก ฝนตกหมายถึงฝนชะเอาโคลนไหลกลับลงไปตามเดิม คราวละมากๆ

ผมกับคุณชิดชัย ไม่ยอมแพ้ลมฟ้าอากาศหรอกครับพี่ เราก็พากันไปหาคุณยายฯ ช่วยห้ามฝน คุณยายฯ ท่านจะถามว่า เอากี่วันดี ผมก็บอกเท่านั้นเท่านี้วัน คุณยายฯ ถามว่าพอหรือเราก็บอกว่าพอ แปลกนะครับฝนเชื่อคุณยายฯ ตกบ่ายตั้งเค้าเมฆดำมหึมา ที่ไหนๆ ก็ตกแต่จะเว้นไม่ตกบริเวณที่ของเรา แถวรอบๆ ที่เราก็ไม่มีฝนไปด้วย

ตลอดเวลาที่เรือขุดทำงาน ผมขอร้องคุณยายฯ ห้ามฝนบ่อยมาก ตอนเย็นมามีเมฆทุกวัน พอเมฆเกิดให้เห็น ผมก็เห็นมีลมพัดมาแยกเมฆ ให้ไปตกที่อื่นเรียบร้อย เป็นประจำ ตอนช่วงท้ายของการขุด รถแทร็กเตอร์ทำคันดินไม่ทัน ต้องระดมจ้างคนงานช่วยกัน ร่วมร้อยจึงเสร็จ ต้องเร่งกันสุดชีวิตจิตใจ

งานเรือขุดยังไม่ทันเสร็จ อากาศเข้าฤดูหนาวเสียก่อน เรือยังคงขุดกันทั้งวันทั้งคืนตามเดิม ตอนคันดินกั้นน้ำพังกลางคืนดึกๆ นี่แหละ ทารุณที่สุดเลยครับ ต้องลุยเลนไปกั้นทำนบกันทั้งที่อากาศเย็นยะเยือก ทำเสร็จขึ้นมาหนาวสั่นกันต่อเป็นชั่วโมงๆ เป็นความยากลำบาก ที่สุดทนจริงๆ ไม่อยากจะนึกถึงเลย แต่พี่อยากให้ผมเล่า บอกว่าต่อไปข้างหน้า คนรุ่นหลัง จะได้รู้ถึงความยากลำบากของคนรุ่นแรก ผมจึงเล่าให้ฟัง มาถึงปัจจุบันทุกคนคงเห็นแล้วว่าบริเวณภายในวัดสวยงามแค่ไหน นั่นแหละครับฝีมือเรือขุด ของกรมชลประทาน ก่อนเรือขุดจะกลับ ผมให้คุณชิดชัยซื้อผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดตัวแจกทุกคน แม้เราจะมีเงินน้อย แต่ก็มีน้ำใจ ทุกคนจากไปด้วยความอาลัย มาอยู่ด้วยกันนานหลายเดือน จนคุ้นเคย จากไปก็ใจหาย

ต่อจากนั้นพื้นที่วัดเรากลายเป็นภูเขาลูกย่อมๆ หลายลูก ต้องปล่อยเวลาเป็นปีๆ ให้ขี้เลนแห้ง มีน้อยแห่งที่ใช้เวลา ๕ - ๖ เดือนก็พอย่ำได้ พวกผมต้องไปหาต้นไม้มาปลูกกันเป็นหลายหมื่นต้น พอโตหน่อยแผ่นดินแห้งยุบตัวลงไป ต้องไถต้นไม้ทิ้งเพื่อถมดินเพิ่ม แล้วจึงปลูกกันใหม่ต้นไม้โตก็ไถทิ้ง เพราะเข้าทำนองเดิม ไถไปหลายเที่ยวจึงหยุด เสียต้นไม้ไปหลายหมื่นต้น เล่นเอาผมนึกท้อใจ พอดีหยุดไถหยุดถม ใช้ได้เสียที ตอนนั้นเสียดายต้นไม้จัง "

ป้าถามต่อไปว่ามีเรื่องอะไรที่ประทับใจ ยังจำได้ดีทุกวันนี้อีกบ้าง อยากเล่าให้คนรุ่นหลังฟัง น้องของป้าก็ว่า " มีเรื่องทอดผ้าป่า มาฆบูชาปี ๒๕๑๖ เป็นงานใหญ่ จะต้องทำถนนให้รถวิ่งเข้าไปให้ได้ ตรงถนนขาดถมไม่ทันต้องทำสะพานให้รถข้าม ให้ใช้เวลาทำสะพาน ๒ อาทิตย์ มีเงินให้แค่ ๒ หมื่น คุณชิดชัยคำนวณแล้ว ต้องใช้เงิน ๔ หมื่น พอเลิกงานยังต้องรื้อสะพานทิ้งเสียเงินไปฟรีๆ ชาววัดกลุ้มใจกันไปหมด อาศัยมีประสบการณ์ทางโลกมาหน่อย จึงถามคุณชิดชัยว่า ถ้าเราใช้เสาเข็มที่มีอยู่ ต้นใหญ่ทำเสาทำคาน เอาน็อตยึด แล้วเอาไม้หมอนทางรถไฟมากองอยู่ แล้วปูเป็นพื้นสะพาน จะทำได้มั้ย คุณชิดชัยบอกทำได้ รุ่งขึ้นเราสั่งคนงานลุยสร้างกันเลยใช้เวลาทำงานเพียงอาทิตย์เดียว หมดเงินค่าของ ค่าแรงไปแค่ ๗ พันบาท สะพานแข็งแรงขนาดรถบรรทุกสิบล้อขนลูกรัง วิ่งได้สบาย

ก่อนงานทอดผ้าป่าหนึ่งวัน คุณชิดชัย หน้าซีดมาบอกผมว่า สร้อยคอทองคำแขวนพระหลวงพ่อวัดปากน้ำรุ่น ๓ ที่แขวนอยู่ หลุดหายไปไหนไม่รู้ ผมบอกว่า ไม่ต้องตกใจ ทำใจเย็นเอาไว้ เราถือศีลแปดกัน หลวงพ่อท่านไม่หนีไปไหนหรอก ลองนึกดูซิ วันนี้ไปกระโดที่ไหนมั่งล่ะ คุณชิดชัยไม่ตอบวิ่งตื๋อไปเลย หลับมาถือสายสร้อยพร้อมพระห้อยคออยู่ในมือ บอกว่าพอถามเรื่องกระโดด นึกได้กระโดดกางเต๊นท์ เตรียมงานนั่นเอง

เรื่องพระของขวัญเนี่ยมีเรื่องเล่าอีก เสร็จงานทอดผ้าป่า พอได้สบายใจ คุณวีรพล ลงเล่นน้ำที่เรือขุดๆ ไว้ น้ำใสลึกดี ตกกลางคืนบอกผมว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำรุ่น ๓ หลุดหาย คงจะเป็นตอนตีลังกาเล่นน้ำ ตรงที่เล่นน้ำนั้นลึกเกือบ ๓ เมตร รุ่งขึ้นตอนเย็นกลับจากทำงาน พวกเรา ๗ คนช่วยกันดำหา อยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง ไม่พบ พอเลิกหากำลังขึ้นจากน้ำ สาบสร้อยพร้อมพระของขวัญ พันข้อเท้าคุณวีรพลซึ่งเป็นเจ้าของ เรา ๗ คน โห่ร้องกันดังลั่นด้วยความดีใจเป็นเรื่องเหลือเชื่อ หลวงพ่อฯ ศักดิ์สิทธิ์ ไม่เคยทิ้งพวกเราเลย มีเรื่องมหัศจรรย์ทำนองนี้ เกิดขึ้นอีกหลายครั้งหลายหน ขืนเล่าก็เขียนกันไม่จบ ก่อนไปทำงานอะไรๆ หยิบพระของขวัญขึ้นมาอธิษฐานบูชา งานเรื่องนั้นสะดวกไปหมดทุกอย่าง

มีเรื่องน่าขันอยู่เรื่องหนึ่ง คือดินที่เรือขุดขุดขึ้นมานั้น เป็นดินเหรี้ยว ปลูกต้นไม้ขึ้นยาก เราจำเป็นจะต้องหาปุ๋ยมาใส่ ก็รู้กันอยู่ว่าไม่ค่อยมีเงิน ท่านทัตตะก็ให้เราไปขอขยะที่ดินแดง พอขอได้ ก็ต้องหารถไปขน เราก็ไปจ้างคนขับมาจากชลบุรี คนแนะนำบอกว่า เป็นคนขับมือแน่ พอมาขับได้ ๓ วัน ชนรถเก๋งต่างจังหวัด หมดเงินซ่อมให้เค้าไปร่วมหมื่น พออีก ๔ - ๕ วัน เลี้ยวตัดหน้ามอเตอร์ไซด์ ตัวคนขับมอเตอร์ไซด์บาดเจ็บ เข้าโรงพยาบาลสะบ้าเข่าแตก คนขับรถของเราหนีเปิดหายไป ได้ขยะมาสิบกว่าเที่ยว ส่งกลิ่นเหม็นตระหลบทั่วบริเวณไปเลย พวกแมลงวันไม่ได้เชิญ มากันเองนับไม่ไหว หึ่งไปหมด คณะเราต้องหายใจ ดมกลิ่นขยะทั้งวันทั้งคืน อยากได้ของถูก ดูจะเสียเงินหนักกว่าซื้อปุ๋ย เพราะค่าชดเชยที่เราชนรถอื่น ดูจะมากกว่าค่าปุ๋ยเป็นเท่าตัว

ยังมีเรื่องรถดั๊มของเราที่ชนมอเตอร์ไซด์ ยังติดคดีอยู่ที่โรงพัก นายร้อยเวรเล่นแง่กับพวกเรา วาดลวดลายยังงั้นยังงี้ ทั้งที่เห็นอยู่ว่าที่ข้างรถเป็นตราของศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมไม่นึกจะเอาบุญ แค่ปล่อยรถให้เราเอามาทำงานสักหน่อย ก็ไม่ยอม

พี่ก็รู้ผมยอมคนง่ายๆ เมื่อไหร่ ผมก็เอาใบเชิญชวนทอดผ้าป่า มีชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอุปถัมภ์ แอบกระซิบกับร้อยเวรตัวแสบว่า " เราเป็นข้าราชการด้วยกัน ผมไม่อยากให้คุณเดือดร้อน รถยนต์คุณจะไม่คืนให้ก็ ไม่เป็นไร คุณเก็บไว้เลย แต่ทางกรรมการตงต้องทำรายงานท่านนายกฯ เพราะเป็นประธานอุปถัมภ์อยู่ นี่ไงครับดูหลักฐานจากใบเชิญทำบุญนี่ได้ "

พอเห็นชื่อนายกฯ เท่านั้นแหละ โยนกุญแจรถคืนให้ผมเลย แถมยกมือไหว้ขอบคุณผมอีกต่างหาก คนขับหนีหรือไม่หนีไม่มีพูดถึง เรื่องเงียบไปเลย ตำรวจแบบนี้เล่นแง่กระทั่งรถวัด ชาวบ้านจะเจอขนาดไหน

น้องชายเล่าชีวิต ตอนปรับพื้นที่วัดเพื่อเตรียมการก่อสร้าง เรื่องบางตอนที่ดุเดือดมากไปหน่อย เช่นเรื่องแก้เผ็ด พวกหัวขโมยที่ชอบมาขโมยของที่วัด เช่น เรือ เครื่องสูบน้ำ และอื่นๆ น้องของป้าขอสงวนไว้ไม่เล่า เพราะไม่เเป็นประโยชน์ต่อใคร เพียงขอย้ำให้คนรุ่นหลังทราบว่า วัดของเราไม่ใช่สร้างอย่างสะดวกง่ายดาย อุปสรรคมีนานับประการ จะพูดว่าต้องแลกกันด้วยเลือดเนื้อและชีวิต รวมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางโลก ก็คงไม่ผิด

ต่อจากนั้นทางวัดต้องรอเวลาเป็นปีๆ พื้นดินจึงค่อยแห้ง สิ่งก่อสร้างถาวรที่เริ่มลงมือก่อนสิ่งอื่น คือกุฏิพระ และถังสูงส่งน้ำบากาล คณะของพันเอกถนัด คอมันต์ และภริยารับเป็นเจ้าภาพสร้างกุฏิ ส่วนเรื่องถังน้ำ ผู้รับเหมาทำไม่ถูกต้องตามแบบ ทางวัดจึงสั่งรื้อ เหลือตรงฐานอยู่เป็นเสาเดี่ยว รองรับกุฏิ หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสทุกวันนี้

ในบรรดาอุบาสก ๗ คน เหลืออยู่ ๒ คน คือคุณชิดชัย และคุณวันชัย บวชไม่สึกต่อมาคุณชิดชัยได้ฉายาตอนบวชว่า พระมหาชิโต คุณวันชัยได้ฉายาว่า พระภิกษุสีลวัณโณ

ท่านมหาชิโตเป็นหัวแรงสำคัญ ในการควบคุมดูแลงานก่อสร้างทุกอย่างของวัด ซึ่งต่อจากกุฏิพระ ๕ หลังแรก เป็นศาลา (จาตุมหาราชิกา) เวลานั้นต้นยูคาลิปตัสปลูกได้ ๓ ปี พอใช้เป็นเสาเข็มได้ จึงตัดลงมาทำเป็นเสาเข็ม

จากศาลาเป็นโบสถ์ และสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นอื่นๆ เช่นกุฏิคุณยายฯ โรงครัว ห้องน้าห้องส้วม ฯลฯ ซึ่งได้อุบาสกที่ตั้งสัจจะประพฤติพรหมจรรย์ เรียนจบปริญญาตรีแล้ว ทำการบวชเป็นพระภิกษุ ช่วยงานเรื่องก่อสร้าง ในรุ่นต่อๆ มา รวมทั้งผู้มีศรัทธา ที่มาสมัครเป็นธรรมทายาทภายหลัง

ส่วนอุบาสกรุ่นแรก ๕ คน ที่มาช่วยงานครั้งขุดแผ่นดิน ยังไม่ศรัทธาบวช ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการ แยกย้ายกันไปทำงาน บางคนก็ไปเรียนต่อจบปริญญา ตรีบ้าง โทบ้าง เอกบ้าง สองคนที่ทำหน้าที่ขับรถดั๊ม รถแทร็กเตอร์ หลับไปทำมาหากิน เจริญรุ่งเรืองอยู่จังหวัดจันทบุรีตามเดิม

ทุกคนมีความสุข มีความเจริญในอาชีพการงาน คงเป็นเพราะกุศลจากการบุกเบิกผืนดินครั้งกระนั้นกระมัง

ปี ๒๕๓๖ น้องชายของป้ารับราชการเป็นป่าไม้ระดับ ๗ หน่วยอนุรักษ์ อยู่นครราชสีมาได้ลาราชการ พร้อมลูกชายทั้งสองคนของป้า บวช หนึ่งพรรษา ให้บุญแก่ป้า ที่เจ็บป่วยหนักเมื่อต้นปี

เป็นที่น่าอัศจรรย์ ขนาดน้องชายกับลูกชาย บวชให้ป้าเพียงพรรษาเดียว ป้ายังรู้สึกชุ่มชื่นใจ มีกำลังกายกำลังใจแข็งแรงขึ้น เป็นพิเศษ นึกถึงโยมพ่อโยมแม่ของพระภิกษุวัดเรา ที่ลูกชายบวชไม่สึก นึกแล้ว ต้องชื่นใจ มีบุญหล่อเลี้ยงใจตลอดเวลา ไม่เสียแรงอุ้มท้อง ประคับประคองเลี้ยงดูมา ช่างให้กำไรคุ้มค่า ต้องสุขใจกว่าป้า นับเท่าไม่ถ้วน ขออนุโมทนาสาธุการ ด้วยใจจริง


อุบาสิกา ถวิล - บทที่สิบ - สร้างวัดได้สำเร็จ

ได้เล่าไว้ตอนต้นแล้วว่า ป้ากับน้อง " รื้อรัง " คือขอบ้านที่พ่อกับแม่อาศัยอยู่ มาช่วยในการสร้างวัด บ้านเดิมจึงเหลือเพียงครัวหลังเล็ก และนอกชานผุๆ พ่อของป้าแม้จะปลดเกษียณอายุราชการ หลายปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนแม่ตาย ท่านก็ไม่ยอมเข้ามาอยู่กับป้า ในกรุงเทพฯ คงอยู่ที่บ้านเดิม และมาเยี่ยมป้ากับน้องและลูกของป้า แทบทุกเดือน

วันหนึ่งเมื่อท่านอยู่ตามลำพังที่บ้านเดิม ท่านเดินเหยียบกระดานนอกชานแผ่นหนึ่ง มันผุเต็มที รองรับน้ำหนักตัวของพ่อไม่ไหว มันจึงทะลุหล่นลงไป ขาของท่านก็ตกลงไปคาร่องอยู่ข้างหนึ่ง ติดจนแน่นยกออกไม่ได้ พ่อเจ็บมากร้อง " โอย โอย " อยู่นานพอสมควรจึงมีคนเดินผ่านไปได้ยิน เข้ามาถาม รู้เรื่องแล้วก็ไปชวนคนอื่นเอาเครื่องมือมาช่วย ต้องเลื่อยเอากระดานแผ่นนั้นทิ้งไป

เมื่อป้ากับน้องชายไปเยี่ยมพ่อ พ่อก็ไม่ยอมเล่าเรื่องนี้ให้ลูกฟัง แต่ชาวบ้านช่วยกันเล่าน้องจึงพูดกับป้าว่า " พี่ " บ้านเก่าผุๆ ที่พ่ออยู่นี่ไม่น่าดูเลย พอรื้อเรือนใหญ่สองหลังถวายวัดไปแล้ว ไอ้ที่เหลืออยู่ มันไม่เป็นระเบียบ ดูบ้านยาวเกะกะ ชาวบ้านเค้าจะว่า เราสองคนเอาได้นะว่ามาเอาบ้านพ่อแม่ไปทำวัด ปล่อยให้ท่านอยู่บ้านผุอนาถา เราก็จะพลอยไม่ได้บุญไปหรอก ถ้าพ่อตกบ้านแข้งขาหักไปน่ะ เรามาช่วยกันปลูกบ้านหลังเล็กๆ ให้พ่ออยู่ใหม่กันเถอะ รื้อเอาของเก่านี่แหละ อะไรใช้ได้ก็เอามาใช้ อันไหนผุใช้ไม่ได้ค่อยซื้อใหม่ คงใช้เงินไม่มากนัก เงินผมก็พอมีอยู่บ้าง "

ป้าเห็นด้วย ดังนั้นเดือนมีนาคม และเมษายนปี ๒๕๑๗ ป้าจึงได้ไปลงมือรื้อบ้านเก่าของพ่อ เพื่อนำมาดัดแปลงปลูกใหม่ เวลาสองเดือนป้าไม่ทราบเรื่องราวทางวัดเลย และป้าไม่มีสิ่งใดเป็นห่วงด้วย เพราะน้องชายของป้า ย้ายจากจังหวัดจันทบุรี เข้ามาทำงานที่กรมป่าไม้ และพักอาศัยอยู่ที่ท้องนา ทำงานแทนหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส มีเหื่อนร่วมงานอยู่ด้วยกันหลายคน ที่ทำงานด้วยช่วยวัดด้วยก็มี ที่ทำงานให้วัดอย่างเดียวเช่นหลวงพี่มหาชิโต ก็มี

ี สองเดือนดังกล่าวป้าทำงานหนักมาก เนื่องจากเงินที่น้องชายมอบให้ เพื่อปลูกบ้านใหม่ให้พ่อมีจำนวนเพียง ๒ หมื่นบาทเศษ ป้าจึงต้องทำงานด้วยตนเองหลายอย่าง เพื่อช่วยทุ่นค่าใช้จ่าย ต้องหาบทรายจากชายหาดขึ้นมาบนบ้าน เพื่อให้ช่างใช้เทปูน ต้องขับรถไปตลาดเพื่อจ่ายกับข้าวมาทำเลี้ยงช่าง ซึ่งทุกคนเป็นลูกศิษย์เก่าของพ่อ คิดค่าแรงราคาถูก ยังช่วยขนหินเป็นคันรถให้ช่างเทพื้น เพราะรถบรรทุกหินคันใหญ่ เข้าไม่ถึงบ้าน เงินป้าที่มีอยู่ก็พลอยหมดไปด้วย บ่าสองข้างทั้งเจ็บทั้งด้าน

ขอย้อนมาเล่าถึงหมู่คณะของเราเกี่ยวกับมูลนิธิธรรมประสิทธิ์ หลังจากนายอภัย จันทวิมล ซึ่งเป็นญาติสนิทของอาจารย์วรณี ลาออกจาการเป็นประธานมูลนิธิฯ ไปแล้ว กรรมการที่เหลือและที่ตั้งขึ้นใหม่ หลายๆ คน ก็ทยอยบวชเป็นพระภิกษุไปแล้ว กรรมการอย่างป้าหรืออย่างคุณหมอศิวาลัย ธนภัทร เราก็เป็นประเภท ประกอบอาชีพรับราชการ ไม่ได้ให้เวลาในการก่อสร้างวัดเต็มที่ เป็นได้แต่เพียงฝ่ายสนับสนุน ท่านฝ่ายผู้ดำเนินการ ขอให้ช่วยทำอะไร ก็ช่วยกันทำ

หลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านไม่ได้เป็นกรรมการในมูลนิธิธรรมประสิทธิ์ เวลามีการประชุมท่านไม่ได้ร่วมประชุมด้วย แต่จะดูแลอยู่เบื้องหลัง

ในครั้งนั้น มีการประชุมมูลนิธิฯ ครั้งสำคัญ ป้าได้นำเรื่องเข้าที่ประชุม เสนอให้สถานก่อสร้างที่กำลังทำอยู่ เป็นวัดตามระเบียบของทางราชการ เพราะการก่อสร้างส่วนใหญ่เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่โบสถ์หลังเดียว ที่กำลังดำเนินการอยู่ ที่ประชุมเห็นด้วย ป้าจึงนำเรื่องไปเสนอต่อกรมกาศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยตนเอง อาศัยที่เวลานั้นป้าเป็นข้าราชการระดับ ๗ แต่งกายเครื่องแบบราชการ มีเครื่องยศติดไว้บนบ่า ๔ ขีด เต็มบ่า เมื่อไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่คนใด ก็ได้รับความสะดวกด้วยดี ใช้เวลาเพียง ๓ วัน ทางราชการก็อนุญาต การจัดตั้งเป็นวัดให้เรา ที่ชื่อครั้งแรกว่า " วัดวรณีธรรมกายาราม " ตามที่เคยตกลงกันไว้ ครั้งดำริการสร้างวัดในตอนต้น โดยได้ทำหนังสือแจ้งให้เจ้าของที่ดินทราบ ว่าจะขอใช้ชื่อท่าน หวังว่าคงได้รับอนุญาต

ต่อมาวันหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาที่ป้าใกล้เวลาที่ป้าจะยื่นใบลาออกจากราชการ (เพื่อไปดูแลคุณพ่อที่ต่างจังหวัด) ป้าได้ไปติดต่องานที่กรมฯ เจ้าสังกัด โดยไปติดต่อที่กรมศาสนาก่อน ที่นั่นเขาให้หนังสือราชกิจจานุเบกษาแก่ป้า มาเล่มหนึ่ง ในเอกสารเล่มนั้น มีรายบะเอียดการอนุญาต ให้สถานที่ก่อสร้างของเราเป็นวัด รวมอยู่ด้วย

เรื่องความไม่ลงรอยของคนบางคนในช่วงนั้น ทำให้หมู่คณะบางส่วนใจตก แต่ก็ได้คำสอนของคุณยาย ที่เตือนสติและให้กำลังใจ ทำให้หมู่คณะตั้งหน้าทำงานสร้างวัดต่อไปได้

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ คณะกรรมการมูลนิธิธรรมประสิทธิ์ได้มีการประชุม ที่ประชุมมีความเห็นว่า

ในการเจริญสมาธิภาวนาวิชชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเธพมุนี นั้น "พระธรรมกาย" เป็นเครื่องหมายแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องหมายเตือนสติให้น้อมบูชา และระลึกถึงพระรัตนตรัย ประกอบกับในการก่อสร้างวัดได้สำเร็จลุล่วงด้วยกำลังกาย กำลังใจและปัจจัยของพุทธศาสนิกชน จำนวนมากนับเป็นหมื่นเป็นแสนคน จึงสมควรที่จะเปลี่ยนชื่อวัดเป็น " วัดพระธรรมกาย" ซึ่งมีความหมายเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา







อุบาสิกา ถวิล - บทที่สิบเอ็ด - กว่ามรสุมจะผ่านพ้น

เมื่อออกจากราชการใหม่ๆ ป้าคิดว่านอกจากมีเวลาดูแลปรนนิบัติพ่อของป้า มากขึ้นแล้ว ยังอาจได้ช่วยเหลืองานของวัดเพิ่มขึ้น แต่ความเป็นจริงกลับทำไม่ได้เต็มที่ เท่าที่คิด เพราะดูเวลาส่วนใหญ่ ต้องอยู่กับพ่อที่ต่างจังหวัด

ในปี ๒๕๒๑ ราวๆ ปลายปี จนถึงปี ๒๕๒๓ เดือนกุมภาพันธ์ ป้าคงมาวัดได้เฉพาะวันอาทิตย์ต้นเดือน มาครั้งใดก็จะไปกราบคุณยายฯ ทุกครั้ง ในช่วงเวลานั้น ป้าต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูแลและประนิบัติดูแลพ่อ ซึ่งชราภาพมากและล้มป่วยอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากพ่อพักอยู่ที่บ้านจังหวัดราชบุรี ทำให้ดินทางไม่สะดวกเหมือนกับระยะที่อยู่ในกรุงเทพฯ

เมื่อได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ในยามชรา และมีโรคเรื้อรังประจำตัว ป้าก็เห็นชัดถึงความเสื่อมในร่างกาย ไม่ว่าป้าจะระแวดระวังให้พ่อของป้ากินดี อยู่ดีแค่ไหน ร่างกายของท่านก็คอยแปรปรวนอยู่ตลอด พอรักษาโรคนี้หาย โรคใหม่ก็มาแทน ป้าจึงนึกว่าสิ่งที่ดีที่สุด ที่ป้าควรให้พ่อ ไม่ใช่เรื่องดูแลทางร่างกายเพียงอย่างเดียว ต้องให้การดูแลทางใจเป็นหลักสำคัญ ให้ใจของท่านเกิดปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ ฝักใฝ่อยู่ในบุญกุศล การตายจากโลกนี้ ร่างกายไปกับท่านไม่ได้ แต่จิตใจที่ผ่องแผ้ว จะทำให้ท่านได้เกิดใหม่ ในภพภูมิที่ดี

จะนับว่าเป็นโชคของเราสองคนพ่อลูกก็ได้ ที่บังเอิญมีพระภิกษุสูงอายุท่านหนึ่ง ท่านเคยเป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรม ในสำนักเรียนที่มีชื่อเสียง ไปพักอยู่ที่ใกล้ๆ บ้าน พ่อจึงได้ไปสนทนาธรรมกับท่านบ่อย จนพระเถระรูปนั้นเห็นนิสัยและปัญญาของพ่อ ว่าสามารถเรียนอภิธรรมได้ ท่านจึงเปิดการสอนขึ้น มีผู้เรียนอยู่ ๔-๕ คน พ่อเรียนทั้งเช้าและบ่าย ตอนเพลป้านำปิ่นโต ไปถวายพระอาจารย์ด้วย เอาอาหารกลางวันไปส่งพ่อด้วย บ่ายป้าก็มีโอกาสเรียน

ในการเรียนพระอภิธรรม มีหลายตอนที่โยงไปถึงเหตุการณ์ ในสมัยพุทธกาล ทำให้พ่อกับพ่อต้องการรู้เรื่องให้ละเอียด จึงปรึกษากันซื้อพระไตรปิฎกทั้งชุด พ่อได้อ่านพระสุตตันตปิฎกควบคู่กับการเรียนพระอภิธรรม ทำให้เข้าใจหลักธรรมต่างๆ ขึ้นมาก มีใจผูกพันอยู่กับคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดเวลา จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ปลายปี ๒๕๒๕

เมื่อพ่อถึงแก่กรรมแล้ว ป้าก็บวชเป็นชีโกนผมนุ่งขาวห่มขาว (แต่เดิมเพียงแต่ถือศีลแปดไม่ได้โกนผม) อยู่ประจำเรียนพระอภิธรรม ในสำนักเรียนสองสำนัก พร้อมกันนั้นเรียนนักธรรมไปด้วย เข้าสอบครั้งใดเป็นที่หนึ่งอยู่เสมอ กระทั่งเดือนมีนาคม ๒๕๒๗ หลวงพ่อเจ้าอาวาสได้เมตตา ให้หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสไปตามตัวป้า ขึ้นไปปฏิบัติธรรมที่ดอยอินทนนท์

หลวงพ่อเจ้าอาวาสคงดีใจที่ป้ากลับมาเข้าวัดตามเดิม ท่านจึงมักพูดชมเชยให้ใครๆ ฟังอยู่เสมอว่าป้าเป็นผู้ที่ทำให้เกิดวัดพระธรรมกาย ในสถานที่ที่ตั้งอยู่ทุกวันนี้ ป้าไม่ใช่แม่ชีธรรมดาทั่วๆ ไป แต่เป็นคนมีความรู้ขั้นปริญญา เคยมีหน้าที่การงานทางโลกสูง มีนิสัยดี ฯลฯ ซึ่งป้าไม่เคยหลงตน ทนงตน เพราะรู้ดีว่าคำชมเชยต่างๆ ที่ได้รับ ล้วนแต่เป็นการเมตตาให้กำลังใจ จากหลวงพ่อฯ คงทำตัวเสมอต้นเสมอปลายกับทุกคน

ในเวลาต่อมา คนตัวเล็กได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว เขาถือว่าเขาเป็นฝ่ายชนะ ต่อจากนั้นหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ก็ถูกใส่ความว่า ทำตนแข่งดีกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส บังเอิญหลวงพ่อเจ้าอาวาสไม่เชื่อถือ ท่านรู้จักนิสัยของหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสดี เรื่องจึงยุติลง

ตั้งแต่คุณยายฯ และหลวงพ่อเจ้าอาวาสได้ย้ายมาอยู่ที่วัดพระธรรมกาย ก็ได้มีอุบาสกเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คุณยายฯ และคณะสงฆ์มอบหมายให้ภิกษุร่างเล็กดูแลอุบาสกในวัด แต่ปรากฎว่า เมื่อภิกษุรูปนี้ไม่พอใจผู้ใด ก็จะผูกโกรธผู้นั้น มีบางครั้งที่ความเห็นไม่ตรงกัน ภิกษุร่างเล็กได้ใช้กำลังลงโทษอุบาสกท่ามกลางที่ประชุม ซึ่งคุณยายฯ และคณะสงฆ์เห็นว่า ผู้ใหญ่ไม่ควรลงโทษผู้น้อยในลักษณะนี้ จึงมิให้ดูแลรับผิดชอบดูแลอุบาสกในวัดอีกต่อไป

คุณยายฯ เป็นเสมือนครูบาอาจารย์ของทุกคนในวัด เมื่อมีสิ่งใดไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นคุณยายฯ จะไม่นิ่งดูดาย ถือว่าธุระไม่ใช่เป็นอันขาด ท่านจะหาทางแก้ไข ในกรณีภิกษุร่างเล็กผู้นี้ เมื่อก่อนบวชแม้จะตั้งสัจจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว ก็ยังมีเรื่องชู้สาวในหมู่คณะเกิดขึ้น หลังบวชก็ยังทำเรื่องมัวหมอง ชอบพบกับอุบาสิกาในแผนกครัว คุณยายฯ จึงออกปากว่ากล่าว ทำให้เป็นสาเหตุใหญ่ ผูกใจเจ็บแค้น

มีการกระทำหลายประการ เหมือนจงใจให้ผู้สูงอายุอย่างคุณยายฯ มีความวิตกกังวล ไม่สบายใจ เช่นเมื่อเกิดการทะเลาะโต้เถียง หลวงพ่อเจ้าอาวาส มักจะขอร้องฝ่ายภิกษุร่างเล็กกล่าวคำขอโทษคุณยายฯ ภิกษุนี้จะไม่มาพบตอนกลางวัน พอตอนกลางคืนเวลาดึกหน่อยจึงมาขอพบ คุณยายฯ อยู่ตามลำพัง ท่านจึงไม่ให้พบ ฝ่ายขอพบก็จะเดินเคาะฝา รอบกุฏิที่พักคุณยายฯ ปากก็พูดไปว่า " ยาย ยาย จะมาขอขมา ยาย ยาย จะมา ขอขมา "

คุณยายฯ เล่าให้ป้าฟังว่า " คุณถวิล ยายอยู่คนเดียว ตอนดึกๆ มีคนมาทำยังงี้ ยายก็กลัวไม่กล้าให้พบหรอก กลางวันมีคนอยู่กับยายแยะๆ ทำไมไม่มา มีอีกนะ เรื่องนี้ยายให้อภัยไม่ได้ เดินผ่านยาย ไม่มีใครเห็น เข้ามาต่อยยาย ยังงี้ ยังงี้เลย " เล่าแล้วคุณยายฯ ก็ทำท่ากำหมัดสองมือยื่นออก ชกมาข้างหน้าสลับมือกัน "ยายเซไปเลย แล้วพอยายเอะอะ กลับบอกใครๆ ว่าเดินเซไปชนยายเข้า โธ่ ไม่เซนะ ต่อยยาย ยังงี้ ยังงี้ " ว่าแล้วก็ทำซ้ำให้ดู

ในความคิดของป้า ไม่ว่าจะแกล้งต่อยขู่จริงๆ หรือเดินสวนกัน แล้วทำเซไปชนก็ตามเป็นเรื่องไม่น่าเกิดขึ้นทั้งสิ้น ถ้าถือว่าคุณยายฯ เป็นเสมือนครูบาอาจารย์ เรื่องแกล้งต่อยขู่ก็เป็นความเนรคุณอย่างไม่มีที่เปรียบ เรื่องเซไปชนก็ผิดวิสัยศิษย์ เพราะเมื่อมีครูอาจาย์สวนทางมา ถ้าไม่หยุดให้เดินไปก่อน ก็ต้องชลอความเร็วลง เพื่อทักทาย ไม่ใช่เดินเร็วจนเซไปชน อีกอย่างหนึ่งวัดที่อยู่กันนั้น ไม่ใช่วัดเล็กๆ มีเนื้อที่สองพันกว่าไร่ ทำไมทางเดินจึงแคบจนไม่มีที่หลีก ดูเป็นคำแก้ตัวที่อ้างไม่ขึ้นเอาเสียเลย

เมื่อเหตุการณ์เคาะกุฏิคุณยายฯ เกิดติดต่อกันหลายคืนเข้า คุณยายฯ มีอาการกังวลถึงนอนไม่หลับ พาลให้ร่างกายเจ็บป่วย ในที่สุดหลวงพ่อเจ้าอาวาสต้องแก้ปัญหา นำพระรูปเล็กรูปนี้ ไปฝากไว้วัดต่างจังหวัดชั่วคราว พอถึงวันอาทิตย์ต้นเดือน จึงให้คนขับรถไปรับมาร่วมในพิธีถวายข้าวพระ ไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกตของคนภายนอก เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนนานพอสมควร จึงให้กลับมาอยู่วัดตามเดิม

ระยะเวลาที่เรื่องราวต่างๆ ที่เล่าเกิดขึ้น อยู่ระหว่างปี ๒๕๒๗ - ๒๕๒๘

ต่อมาในปี ๒๕๓๑ ภิกษุร่างเล็กได้ทำเรื่องร้ายใหญ่โตมาก ยุยงภิกษุอีกสองรูปให้เข้าด้วย ร่วมมือกันอัดเทปบ้าง พิมพ์ใบปลิวแจกบ้าง โจมตีกล่าวร้ายหลวงพ่อทั้งสองรูป โดยเฉพาะหลวงพ่อเจ้าอาวาสถูกป้ายสี บิดเบือนความจริง ชนิดขาวเป็นดำ ที่ทำเป็นเทปมีความยาวถึง ๖ ม้วน

ป้าเองมีคนเอาเทปมาให้ฟัง ๒ ม้วน ฟังม้วนแรกไปได้ไม่ทันจบ ป้าก็เกิดอาการคลื่นไส้อยากอาเจียน จนต้องหยุดฟัง เพราะเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่อง " มหาโกหก " ทั้งหมด เป็นเสียงคนบ้าพูดชัดๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนวนโวหาร การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง คนวิกลจริต มีอาการเครียดทางประสาทพูด

เพียงแต่เป็นคำพูดของคน ที่มีความฉลาดในการล่อหลอกให้คนเชื่อ คือเอาความจริงที่มีอยู่ เป็นความจริงที่มีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง เวลาพูดกลับชักนำชี้ชวน ให้คนฟังเห็นเป็นวัตถุประสงค์อีกอย่าง ในทางเสื่อมเสีย เรียกว่าฉลาดเฉียบแหลมในการพูดบิดเบือนให้ดูสมเหตุสมผล ยกตัวอย่างเช่น อาคารบางหลังในวัด ต้องติดเครื่องปรับอากาศ ทำความเย็นภายในอาคารอยู่เสมอ เพราะเป็นที่เก็บเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยใหม่ เช่นเครื่องแสง เครื่องเสียง ทั้งวิทยุ เทป วีดีโอ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ เครื่องเหล่านี้เวลาใช้งานหรือไม่ได้ใช้ก็ตาม ถ้าอยู่ในที่มีอากาศเย็น จะทำให้อายุการใช้งานได้นาน คือไม่เสียเร็ว

แต่เวลาพูดบิดเบือนกลับไพล่เป็นกล่าวร้ายว่า หลวงพ่อฯ บวชเป็นพระภิกษุ ไม่ทำตัวให้เลี้ยงง่าย ที่อยู่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ มีเครื่องใช้สะดวกสบายประการต่างๆ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าไปดูจริงๆ ก็จะพบว่ากุฏิหลวงพ่อฯ กับอาคารเก็บเครื่องเทคโนโลยี เหล่านั้นเป็นคนละหลังและห่างกันเป็นครึ่งกิโลเมตร ไม่เกี่ยวกันเลยกับที่อยู่ของพระภิกษุ โยงเอามาพูดให้น่าเชื่อถือจนได้

พวกสื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ไม่รู้ความจริง เห็นแก่ประโยชน์ของตนเพราะถ้ามีข่าวของวัดลงหน้าแรก ยอดจำหน่ายประจำวัน จะสูงขึ้นหลายแสนฉบับ ก็ช่วยกันประโคมข่าวทำลาย ไม่ใช่แต่วัด กลายเป็นทำลายพระศาสนาไปในตัวด้วย

ภิกษุร่างเล็กพิษร้ายรูปนี้ ได้ส่งข้อความและเอกสารโจมตีบ้าง หนังสือร้องเรียนบ้าง ไปตามสถาบันสำคัญต่างๆ ทั้งทางราชการ ทางการเมือง ทั่วประเทศตลอดจนบางแห่งที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ ยังพูดจาต่อคนที่ใกล้ชิดให้รู้กันทั่วว่า " กูจะอยู่ ดูวัดพระธรรมกายฉิบหาย "

หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสฟังเทปโจมตีแล้ว ท่านเสียใจมาก ที่พบเรื่องใส่ร้ยป้ายสี ชนิดขาวเป็นดำอย่างนี้

สำหรับหลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านมีเมตตาใหญ่หลวงนัก ท่านกล่าวว่า " อย่าให้หลวงพ่อฟังเทปโจมตีนั่นเลย หลวงพ่อไม่อยากฟัง อยากจะจดจำแต่ความดีงาม ที่ท่านรูปนั้นกับหลวงพ่อ มีต่อกันตลอดมาไว้ในใจ เกิดมีคราวใดท่านองค์นั้น ต้องการความช่วยเหลือจากหลวงพ่อในเวลาภายหน้า หลงวพ่อจะได้ช่วยท่านได้เต็มใจ โดยไม่รู้สึกอะไร "

ในที่สุดหลวงพ่อเจ้าอาวาสก็มอบหมายให้หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ประชุมหารือกันเกี่ยวกับพระภิกษุร่างเล็ก โดยหลวงพ่อจะปฎิบัติตามมติของคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เด็ดขาดให้เชิญภิกษุร่างเล็กออกจากวัดไป แรกๆ ภิกษุร่างเล็กก็ไม่ยอมออกไปจากวัด จนกระทั่งยอมจำนนต่อหลักฐานคือเทปที่โจมตีหลวงพ่อเจ้าอาวาสที่ได้ส่งไปตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ภิกษุร่างเล็กก็ยอมย้ายไปอยู่วัดของพระอุปัชฌาย์ แรกๆ ภิกษุ แม่ชี และผู้คนบางส่วนในวัดที่ย้ายไปอยู่ด้วยนั้นก็พากันเชื่อถือถ้อยคำ มีอคติกับหลวงพ่อฯ และวัดพระธรรมกาย ต่อมาเมื่อเห็นฤทธิ์เดช นิสัยของภิกษุร่างเล็ก ก็พากันเลิกเชื่อถือ

ถ้าถือว่าวัดเป็นเหมือนชีวิตคน ปี ๒๕๓๑ ก็เหมือนชีวิตตอนชะตาตกทีเดียว ถูกภิกษุร่างเล็กใส่ความยังไม่พอ มีเรื่องชาวนาซึ่งเคยเป็นคนเช่านาอยู่ก่อน เจ้าของขายให้วัด ได้รับเงินค่าจ้าง จากผู้ต้องการทำลายพระพุทธศาสนา ในเมืองไทย ให้ก่อกวนวัดในรูปแบบต่างๆ ยื่นหนังสือร้องเรียน ชุมนุมประท้วง บุกเข้าวัดจะจุดไฟเผา เข้ามาทำร้ายร่างกายอุบาสกของวัด เข้ามาทำนาในวัด ทำลายต้นไม้ที่วัดปลูก จับปลาในวัดไปขาย ทำลายรั้วด้านทิศตะวันตกหมดทั้งแถบ ราวๆ ๓ กิโลเมตร ยิงปืนขู่ ก่อกวนมาเป็นระยะๆ เรื่อยมา จนกระทั่งปี ๒๕๓๕ ถึงกับเผากุฏิพระ ไปหลายหลัง

ผู้คนไม่รู้ความจริง ก็เชื่อข่าวหนังสือพิมพ์ว่า วัดรังแกประชาชนยากจน ฝ่ายผู้จ้างวานให้ชาวนาก่อกวน เขารู้ดีว่า ทำลายวัดพระธรรมกายได้เพียงวัดเดียว เท่ากับทำลายพุทธศาสนาในประเทศไทยเกือบหมด เพราะพระภิกษุวัดพระธรรมกาย รูปไหนก็รูปนั้น สามารถเป็นสมภารวัดอื่นได้ทันที ที่ได้รับการแต่งตั้ง เนื่องจากมีคุณสมบัติพร้อม เช่นอุทิศชีวิตบวชไม่สึก มีความรู้ทางโลกไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี เรียนปริยัติธรรมและตั้งใจฝีกฝนธรรมปฏิบัติ ฯลฯ ใครก็ตามทำวัดเสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่มีคนศรัทธาได้เมื่อใด เมื่อนั้น พระพุทธาศาสนาในประเทศไทย จะมีโอกาสฟื้นฟูได้ยาก

เหมือนผีซ้ำด้ำพลอย วัดมีโครงงานใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการเผยแพร่พุทธศานาไปทั่วโลก และการก่อสร้างพุทธสถานอันยิ่งใหญ่ รวมทั้งมหาวิทยาลัย ที่เรียนทั้งทางโลกและทางธรรม จำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์มาก ศิษย์ของหลวงพ่อมีศรัทธาเข้มแข็ง ได้ตั้งใจดำเนินธุรกิจต่างๆ เพื่อหารายได้มาบริจาค เช่นจัดสรรที่ดิน หรือธุรกิจการค้า ทำกันไปตามถนัด บางคนมีปัญหานึกหาทางออกไม่ได้ มาขอคำแนะนำจากหลวงพ่อฯ ท่านก็เมตตาให้ความคิดเห็น ที่ไม่ผิดต่อสมณะวิสัย

พวกหนังสือพิมพ์ ก็พยายามจะใส่ความ ให้เป็นธุรกิจที่วัดทำเองให้ได้ ประกอบกับผู้คนที่ไม่รู้ความจริง ช่วยกันกระพือข่าว ทำให้ดูเหมือนวัดทำความผิด หลวงพ่อฯ เป็นหัวหน้าผู้ทำผิด

หลวงพ่อฯ ท่านใช้ขันติธรรมเข้าต่อสู้ คือวางเฉย แล้วแต่ใครจะพูดว่า ท่านไม่เถียง ถ้าใครมาสอบสวน ทางวัดก็ชี้แจง ไม่มาสอบสวน สืบถาม ทางวัดก็นิ่งเฉย

หลายปีเข้าความจริงก็ค่อยปรากฏ ผลงานกอบกู้พระศาสนา เริ่มทยอยออกมาให้เห็น ทางราชการให้ความสนใจ และติดตามดูการทำงานของวัด จึงเห็นแต่สิ่งดีงาม ที่ทำออกมาให้แก่ชาติบ้านเมือง ในที่สุดหลวงพ่อทั้งสองรูป ได้รับแต่งตั้งเป็นพระเถระชั้นเจ้าคุณ

ปลายปี ๒๕๓๔ หลวงพ่อเจ้าอาวาส เป็น พระสุธรรมยานเถระ

กลางปี ๒๕๓๕ หลวงพ่อรองเจ้าอาวาส เป็น พระภาวนาวิริยคุณ

ตลอดยี่สิบกว่าปี ของการสร้างวัด ได้มีอุปสรรคปัญหาต่างๆ มากมาย ที่คุณยายอาจารย์ และพระเดชพระคุณหลวงพ่อทั้งสอง ต้องต่อสู้แก้ไขร่วมกับหมู่คณะ ผู้ร่วมบุกเบิกแต่ละท่านต้องรับผิดชอบแต่ละด้าน แต่ละงานก็แตกต่างกัน บางท่านก็ได้สร้างสรรค์ผลงานปูชนียสถานอันสง่างามไว้ เช่น พระภูเบศ ฌานาภิญโญ และพระชิตชัย มหาชิโต ที่ได้ร่วมกันควบคุมการก่อสร้างอุโบสถ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อนเลย จนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นอุโบสถที่มีส่วนประกอบโครงสร้างที่สะอาดที่สุดในโลก

งานแต่ละอย่างมากมาย เป็นความยากลำบาก แต่ก็เป็นความชื่นใจ เป็นความทรงจำอันงดงามของผู้รับบุญแต่ละท่าน ซึ่งไม่สามารถจะรวบรวมมาให้ครบถ้วนในที่นี้ได้ วัดของเราได้เกิดขึ้น ก่อสร้างสำเร็จและก้าวหน้าอยู่จนถึงทุกวันนี้ ด้วยน้ำมือน้ำใจของสาธุชนทั้งหลาย นับหมื่นนับแสนคน

ป้าหวนนึกถึงวันเวลาที่ผ่านไป นึกถึงความรักใคร่สามัคคีที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ที่ไม่มีโอกาสจะหวนกลับมาอีก นึกถึงผู้ร่วมบุญที่สมัครสมานปรองดองกัน ก็แสนจะเสียดายอาจารย์วรณี ผู้ที่ป้าเคารพรัก เป็นทั้งพี่ เป็นทั้งเพื่อน และเป็นผู้มีพระคุณที่มอบที่ดินให้วัดก็แยกย้ายไปด้วยความเข้าใจผิด หรือจากเด็กหนุ่มที่เคยมีความตั้งใจดี ที่จะร่วมงานบุญเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยกกันกับหมู่คณะ แม้จะได้รับมรดกจากคุณพ่อ สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดก็นำมาซื้อแลกเปลี่ยนให้ได้รถชั้นดี มาใช้งานพระศาสนา แต่ก็ต้องมาเปลี่ยนไปด้วยพ่ายแพ้ต่อกิเลสมาร สร้างความมัวหมองให้แก่ตนเอง หมู่คณะ และพระพุทธศาสนา

เราต้องยอมรับความจริงด้วยใจเป็นกลางว่าไม่มีปุถุชนคนใดที่จะมีความดีสมบูรณืพร้อม ๑๐๐ % หรือเลวร้าย ๑๐๐ % ฉะนั้นในระยะเวลาที่ยาวนานที่เราบุกเบิกสร้างวัดมาด้วยกัน ย่อมเกิดเหตุการณ์ที่ดีและเลวเกิดขึ้นปะปนกันเป็นธรรมดา

ในห้วงเวลาต่อมา ก็มีหลายท่านที่ได้มาร่วมกับหมู่คณะ บางท่านก็ยังอยู่เป็นกำลังสำคัญของหมู่คณะ บางท่านก็จากไป เมื่อพิจารณาแล้ว ก็เป็นเหตุการณ์ธรรมดา ที่เกิดจากความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ตามกฎไตรลักษณ์

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ป้ามั่นใจเหลือเกินว่า หมู่คณะของเราก็จะคงอยู่และยึดมั่นตามคำสอนของพระบรมศาสนาตลอดไป

เราจะเคารพ และระลึกถึงความดีของท่านผู้มีพระคุณ

เราจะให้อภัย แก่ผู้ที่หลงผิด คิดร้าย มุ่งทำลายหมู่คณะ

เราจะแผ่เมตตาจิต ให้แก่มวลมนุษยชาติ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย

เราจะอดทน และต่อสู้อุปสรรคทั้งหลาย เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ และคุณยายอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพบูชายิ่งของพวกเรา นักสร้างบารมีทุกคน





อุบาสิกา ถวิล - บทที่สิบสอง - เสียอะไร ได้อะไร

บทสุดท้ายตอนจบของหนังสือเล่มนี้ ป้าใคร่สรุปชีวิตของป้า ในระยะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างวัดตลอดมาว่า ป้าต้องเสียสิ่งใดไปบ้าง และป้าได้สิ่งใดตอบแทนมา

ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ มาตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ป้าสูญเสียไป เมื่อเริ่มต้นสร้างวัดคือความสุขความเจริญทางโลก ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข คือเสียความสงบสุขของครอบครัว เสียความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

ความเป็นอยู่ในครอบครัว ซึ่งเคยรักใคร่ปรองดอง มีความอบอุ่นใจร่วมสุขร่วมทุกข์กัน เมื่อเกิดความคิดเห็นไม่เสมอกัน ฝ่ายหนึ่งคิดจะทุ่มเทชีวิตสร้างบุญกุศล อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยแกล้งประชดชีวิตด้วยการทำสิ่งตรงข้าม ครอบครัวเป็นอันแตกร้าว และแยกชีวิตจากกันไป รายได้ที่เคยร่วมกันทำมาหากิน ก็ถูกตัดขาด ป้าจึงมีแต่รายได้ของตนเอง พอเลี้ยงชีวิตคนในครอบครัวตามลำพัง เรียกว่าเสื่อมลาภ

หน้าที่การงานซึ่งกำลังรุ่งเรืองตลอดมา ต้องหยุดชะงักลง เมื่อมีตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงว่างลง ถึงแม้ป้าจะมีคุณสมบัติ เหมาะสมที่สุดมากกว่าผู้อื่น แต่เมื่อมีจุดบกพร่องว่าครอบครัวแตกร้าว ยศที่ควรได้รับก็เป็นอันถูกงด ผู้บังคับบัญชาให้ตำแหน่งนั้นแก่คนอันดับรองลงไป ที่ไม่มีปัญหาครอบครัว เรียกว่าป้าต้องเสื่อมยศ เราเป็นฝ่ายผิดหรือถูกก็ตาม เมื่อมีปัญหาในครอบครัว ผู้คนก็นำไปติฉินนินทาแคะได้ เอาความผิดมาวิพากษ์วิจารณ์กันจนได้ คำสรรเสริญที่เคยได้รับตลอดมาหมดลง มีแต่ถูกนินทา

ทั้งเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ชีวิตจะหาความสุขทางโลก ได้จากที่ไหน เมื่อไม่มีอุบายรักษาใจ ความทุกข์ย่อมเข้าครอบงำเป็นเจ้าเรือน พบแต่โลกธรรมฝ่ายเลว

แต่สิ่งที่ป้าได้รับนับแต่วันได้พบหมู่คณะ ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ คือชีวิตได้มีโอกาส สร้างบารมี

โอกาสสร้างบารมี นี่ต่างหากเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มีค่าที่สุดที่ควรได้รับ ควรได้พบในทุกครั้งที่ต้องเกิด ใครก็ตาม แม้จะเกิดมาร่ำรวยล้นฟ้า สวยงามปานเทพบุตรเทพธิดา มีความรู้วิทยาการในโลกนี้เหนือใคร ปฏิภาณไหวพริบล้ำเลิศแค่ไหน แต่ไม่มีโอกาสสร้างบารมี สิ่งดีๆ ที่มีอยู่หรือแสวงหามาได้ ก็กลายเป็นโมฆะสูญเปล่าไปสิ้นเชิง คือตายไปแล้วไม่ได้อะไรติดตัวไป ดีไม่ดีกลับทำเรื่องบาปขาดทุนติดไปอีก

เพราะฉะนั้น ถ้าชีวิตได้มีโอกาสสร้างบารมี ต้องถือว่าได้สิ่งที่ดีที่สุด สำหรับการเกิดมาในชาตินี้แล้ว แม้ว่าการได้สิ่งนี้จะต้องสูญเสีย สิ่งอื่นๆ ไปมากเท่าใด ก็ต้องยอม

ป้าจะเล่าการสร้างบารมีที่ป้ามีโอกาส ให้ฟังไปทีละอย่างโดยสังเขป เพื่อยืนยันว่าหากป้ามีชีวิตครองเรือนที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ อย่างที่เป็นอยู่ ก่อนพบหมู่คณะแล้ว ป้าจะไม่มีโอกาสสร้างบารมี อย่างที่ได้ผ่านมายี่สิบกว่าปีนี้เลย

เรื่องแรก สร้างทานบารมี เพราะดำริสร้างวัดกันขึ้นมา ป้าจึงได้โอกาสเสียสละบริจาคทั้งแรงกาย แรงใจ สติปัญญา และทรัพย์สินเข้าช่วยเหลือในหมู่คณะ

แรงกาย ก็ช่วยเขียนหนังสือ ทั้งพิมพ์เผยแพร่ ทั้งโต้ตอบจดหมาย พร้อมทั้งวิ่งเต้นเดินทาง ติดต่อขอความช่วยเหลือ จากเอกชนและหน่วยงานต่างๆ บางเรื่องเป็นเวลาหลายๆ วัน พบกับผู้คนที่ไม่เข้าใจ ต้องพบกับคำตำหนิติติงซึ่งหน้า ผลงานก็สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง เหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ มีสติปัญญาแค่ไหนที่จะทำให้งานสำเร็จ ก็นำมาใช้จนสุดกำลัง บางอย่างติดต่อโดยตรงไม่สำเร็จ ก็ใช้ปัญญาคิดหาหนทางอื่น อ้อมไปก่อน ให้สำเร็จได้ในที่สุด

เรื่องทรัพย์สินสิ่งมีค่า ป้าได้ร่วมบริจาคไว้เต็มที่เท่าที่ตนเองมี อาจจะดูน้อยราคาเมื่อเทียบกับฐานะของเศรษฐี แต่สำหรับคนรายได้ปานกลางอย่างป้า สิ่งที่ทำทานไว้ ก็เป็นสิ่งมีค่าที่สุดเท่าที่ตนมี เช่นเงิน ทอง เครื่องประดับ ที่อยู่อาศัย บริจาคไปแล้ว ไม่สูญเปล่าเลย ทุกวันนี้ยามใดที่ได้เห็นของเหล่านั้น ของใครๆ ในที่ใดก็ตาม ก็ให้รู้สึกอิ่มใจอยู่เสมอ เพราะนึกถึงว่าได้ฝากของมีค่าของตนเองไว้ในที่ปลอดภัย สำหรับใช้เป็นเสบียงในภพชาติเบื้องหน้าแล้ว

หากไม่มีการสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น สมบัติที่มีอยู่ ก็ต้องเก็บไว้ให้ลูกหลาน แรงกายใจสติปัญญา คงต้องใช้ในการทำมาหากิน เก็บไว้ให้ครอบครัว ซึ่งอาจจะอยู่กันสุขสบาย แต่ก็เป็นความสบายในภพชาติเดียว ปัจจุบันนี้เท่านนั้น พ้นจากชาตินี้ไป จะไปเกิดที่ไหนก็ตามคงมีชีวิตแร้นแค้นยากลำบาก ไม่มีผลทานตามไปหล่อเลี้ยง รักษา ให้ได้สร้างบารมีโดยสะดวก

เรื่องที่สอง ศีลบารมี เพราะได้พบหมู่คณธ จึงมีกำลังใจในการรักษาศีล ฟังคำสอนที่ว่าศีลห้า ทำให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ ทำให้มีกำลังใจรักษา พอรักษาศีลห้าได้ครบถ้วนบริบูรณ์ การเลื่อนขึ้นเป็นรักษาศีลแปด ก็ทำได้ไม่ยาก ในที่สุดก็สามารถปฏิบัติได้ปกติ เป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องคอยระวังเหมือนตอนรักษาใหม่ๆ ถ้ายังมีชีวิตครองเรือนเหมือนเดิม โอกาสรักษาศีลแปด ดูจะไม่มีเอาเลย

เมื่อตอนวัยรุ่น ป้าเคยมีเพื่อนที่สวยมาก จนเข้าประกวดได้ตำแหน่งเทพีหลายแห่ง เคยนึกสงสัยว่าเหตุใด เขาจึงเกิดมาสวย ทั้งที่พ่อกับแม่ของเขาไม่สวยเลย ป้ากับแม่ของป้ารูปร่างต่างก็ดีกว่าแต่มีลูกได้ขนาดป้าเท่านั้น คือเป็นเพียงคนคมขำ ไม่ใช่คนสวย ป้าเคยนึกว่าเรื่องความร่ำรวย ก็พอแข่งกันทำมาหากินได้ การศึกษาสูงก็พอแข่งกันเรียนได้ แต่ความสวยงามไม่รู้จะแข่งกันอย่างไร

พอมาเรียนรู้เรื่องอานิสงห์ของการรักษาศีลเข้า จึงเข้าใจแจ่มแจ้ง เมื่อชาตินี้งามขนากเทพีไม่ได้ เรารักษาศีลให้บริสุทธิ์เต็มที่เข้าไว้ ผลบุญจากศีล จะทำให้เราได้รูปร่างหน้าตาและสุขภาพที่ดีเอง แต่ป้าก็ไม่ลืมอธิษฐานกำกับว่า ผลจากบุญทุกอย่างที่เกิดขึ้น ขอให้ใช้ในการสร้างบารมีอย่างเดียว

ฉะนั้น ถ้าผลจากการรักษาศีล ทำให้เกิดชาติหน้า ป้าเป็นคนสวยคนงาม ก็จะใช้ความงามเหล่านั้นเป็นเหตุสร้างกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

เรื่องที่สาม เนกขัมมบารมี การออกจากกาม คือไม่กำหนัดยินดีใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เรื่องนี้ถ้าได้อาศัยการรักษาศีลแปด จะบำเพ็ญเนกขัมมบารมีได้ง่ายขึ้น ส่วนศีลแปด ต้องอาศัยการไม่ครองเรือนเป็นพื้น ถ้าป้ายังมีชีวิตครองเรือนตลอดมา เรื่องเนกขัมมบารมี คงบำเพ็ญได้ยากเย็นเต็มที การครองเรือนที่สมบูรณ์ มักจะต้อง มีรูปงาม มีรสอร่อย มีกลิ่นหอม มีเสียงไพเราะ มีสัมผัสอ่อนนุ่มเย็นสบาย ซึ่งเป็นเรื่องตรงข้ามกับการบำเพ็ญเนกขัมมะ ไม่ติดในสิ่งเหล่านี้ บริโภคตามมีตามได้ ไม่มีความรู้สึกชอบหรือความรู้สึกชัง แต่ถ้ามีการเลือกได้ ก็จะเลือกในสิ่งที่พอประมาณ เป็นสายกลาง ไม่หลงไหลในสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์อันถูกใจอันจะเป็นการกำหนัดยินดีในกามได้ง่าย

ในบรรดาอารมณ์ทางกามทั้งหมด รสสัมผัสทางเพศ เป็นอารมณ์ที่เลิศที่สุด สัตว์ทั้งหลายติดข้องกันอยู่ อย่างถอนไม่ขึ้น ติดยิ่งกว่าสิ่งเสพติดทั้งหลาย ติดข้ามภพข้ามชาติ

การบำเพ็ญเนกขัมมะของคนครองเรือน จึงเป็นเรื่องเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ต้องใช้กำลังใจสูงส่ง จึงจะทำได้สำเร็จ ป้าก็ตกอยู่ในสภาพนั้น ทั้งเจ็บปวดทั้งเหือดแห้งใจ รู้จักคำว่าทุกข์ คำว่าโทมนัส คำว่าโศกา คำว่าปริเทวะ คำว่าอุปายาสะ ก็ตอนบำเพ็ญเนกขัมมบารมีนี่เอง ไม่ใช่รู้จักแค่คำพูด แต่รู้จักอาการของคำเหล่านี้ เพราะเกิดขึ้นแก่กายใจตัวเอง

แต่เมื่อสามารถเอาชนะใจ บำเพ็ญสำเร็จ เกิดความสุขอีกแบบหนึ่ง เป็นความเย็นกายเย็นใจ ความอิ่มเอิบใจ เห็นชีวิตใครๆ ที่ครองเรือนกันอยู่ เหมือนคนติดคุกติดตะราง ส่วนเราผู้พ้นออกมาจากกามได้ เหมือนคนมีอิสระภาพ ปลอดโปร่งใจกว่ากัน อย่างเทียบไม่ได้

เรื่องที่สี่ ปัญญาบารมี ในชีวิตครองเรือน การเพิ่มพูนปัญญาให้ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการดู การอ่าน การฟัง การคิด ที่ให้เกิดปัญญา เอาตนเองให้พ้นกิเลส มีเวลาทำได้น้อยมาก เพราะเวลาส่วนใหญ่ต้องใช้ดูแลครอบครัว ยิ่งเป็นเรื่องภาวนามยปัญญา ปัญญาจากการภาวนา ยิ่งมองไม่เห็นโอกาสทำได้ ใจจะกังวลหมกมุ่นอยู่กับสาระ และความผูกพันระหว่างสมาชิกในบ้าน ในที่ทำงาน ห่วงคนโน้น กังวลเรื่องคนนี้ ในที่สุดการภาวนาให้ใจสงบก็ทำไม่ได้ ปัญญาไม่เกิด

แต่เมื่อป้าเอาตัวรอดออกมา จากการครองเรือนได้ แม้จะทุลักทุเล ไม่ปลอดโปร่งนัก ก็ยังได้รับผลดีตามมา ยังพอมีเวลาได้อ่าน ได้ฟังข้อธรรมต่างๆ แล้วนำมาคิดใคร่ครวญ ยามว่างก็ได้ทำภาวนา แรกๆ ก็เป็นเรื่องค่อนข้างยากลำบาก แต่เมื่อทำติดต่อกัน นานเข้า มีความชำนาญเกิดขึ้น ก็พอได้รับผลของการปฏิบัติ มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เกิดขึ้นในใจตนเอง

ป้าเคยเป็นคนเจ้าโทสะอย่างแรง ก็มีสติข่มความโกรธได้เร็วขึ้น เคยขี้ตระหนี่ถี่เหนียว ก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากขึ้น และสามารถเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ตามความเป็นจริงที่ควรเป็น ไม่หลงไหลมัวเมาง่ายๆ เหมือนสมัยไม่รู้อะไรเลย

ยังมีความวิเศษอย่างยิ่งประการหนึ่ง ในการสร้างปัญญาด้วยการภาวนา เพราะสามารถกำหนดเห็นที่ตั้งของใจ เห็นการทำงานของใจ อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถคุ้มครองใจ ในยามมีความทุกข์มากล้ำกราย กลั่นใจให้ผ่องใสได้เร็วกว่า คนที่ไม่เคยปฏิบัติ ใจมีที่พึ่งอันแท้จริง

และจากปัญญาขั้นภาวนานี่เอง ทำให้ป้ารู้จักตัวเองว่าป้าเป็นใคร ก่อนมาเกิดในชาตินี้อยู่ที่ไหนมาก่อน ตั้งใจมาเกิด มีความประสงค์จะทำอะไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ ป้าจะไม่ต้องคอยให้รู้เอง จากการภาวนาก็ได้ นมัสการถามจากหลวงพ่อฯ หรือเรียนถามคุณยายฯ โดยตรงท่านก็คงเมตตาบอก แต่ป้ารู้ว่าตนเองเป็นคนดื้อ ใครบอกอะไรคงไม่ยอมเชื่อ ต้องพิสูจน์ด้วยตนเองถ่องแท้เสียก่อน จึงจะยอม หลวงพ่อฯ จึงเมตตาเคี่ยวเข็น อบรมธรรมปฏิบัติให้ป้า จนป้านั้นรู้ทั้งเห็นเองว่า เป็นใคร เกิดมาต้องทำอะไร รวมทั้งทราบเรื่องของหมู่คณะบางส่วนไปด้วย

ยังรู้เห็นเรื่องภพสาม นรก สวรรค์ นิพพาน โลกันตร์ ฯลฯ ว่าเป็นของจริง ไม่ใช่รู้แต่เพียงตำราบอก เรื่องรู้แบบคิดเปรียบเทียบ พูดเอาเองว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ เหมือนการปฏิบัติภาวนาบางแห่ง ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ พิสูจน์สิ่งเหล่านี้ไม่ได้

บางสิ่งได้จากการาวนา ป้าจะเล่าไว้โดยสังเขป ไม่ได้หวังให้ผู้อ่านเชื่อ เพราะฟังไปแล้วเป็นเรื่องเหลือเชื่อ นอกตำรา วิธีที่ดีที่สุดคือ แต่ละคนต้องเจริญภาวนา กันเอาเอง ให้รู้เห็นด้วยตนเอง จะได้เชื่อโดยสนิทใจ ไม่มีข้อลังเลสงสัย แต่ที่ป้าเล่า เพราะบางคนที่ไม่มีนิสัยดื้อรั้นเหมือนป้า อ่านแล้วเห็นว่า ถ้าเชื่อแล้วมีแต่ประโยชน์ จะจริงหรือไม่ ไม่สำคัญ ยึดถือประโยชน์ที่ได้รับเป็นใหญ่ คนประเภทนี้จะได้กำลังใจ สร้างบารมีทันที ไม่มัวเสียเวลาสงสัย

ขอเล่าไว้ดังนี้ คือเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น เป็นของที่ธรรมสองฝ่าย ยื้อแย่งกันอยู่ คือธรรมขาว ได้แก่ฝ่ายพระนิพพาน ต้องการให้สรรพสัตว์ที่มีปัญญา ทำตนให้พ้นจากอำนาจกิเลสเข้าพระนิพพาน ส่วนธรรมดำได้แก่มารโลก ต้องการขังสรรพสัตว์ไว้ ในภพสาม คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ จึงสร้างกิเลสเข้าสิงใจ

สัตว์ทั้งหลายเมื่อมีกิเลสอยู่ในใจ กิเลสก็บีบให้ทำกรรมทั้งดีทั้งชั่ว กรรมก็ให้ผลไปเกิดในภพภูมิ ที่พอเหมาะกับการกระทำนั้นๆ ทำดีก็ได้อยู่ในภพดีๆ เช่น มนุสภูมิ เทวภูมิ พรหมภูมิ ทำชั่วก็ต้องไปเกิดในอบายภูมิ ตราบใดที่สัตว์ทั้งหลาย กำจัดกิเลสออกจากใจไม่ได้ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า วัฏสงสาร

ฝ่ายกุศลธรรม ก็ส่งพลังให้สัตว์บางตัวเกิดปัญญา คิดกำจัดกิเลส เพราะเห็นว่ากิเลสนำแต่ความทุกข์มาให้ จึงพากเพียรแสวงหาทางหลุดพ้นจนสำเร็จ ในขณะเวียนว่ายตายเกิด เพื่อหาทางหลุดพ้น เราเรียกสัตว์เหล่านี้ว่า โพธิสัตว์ เมื่อหลุดพ้นจากอำนาจกิเลสของฝ่ายมารได้แล้ว และสั่งสอนให้ผู้อื่นทำตาม เรียกว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อหลวงพ่อฯ ให้ป้าระลึกชาติเอง ย้อนหลังไปดูว่าก่อนมาเกิดมาจากไหน เวลานั้นเป็นปี ๒๕๒๗ ป้าเห็นภาพตนเอง เป็นเทพบุตรอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต ไม่ได้อยู่ตามลำพัง แต่อยู่กับหมู่คณะใหญ่ วิมานเรียงกันเป็นรูปวงกลม

เมื่อป้าดูหน้าที่ของตนเอง ก็เห็นภาพกำลังพูดแสดงธรรม จึงทราบว่าตัวป้าเองเป็นฝ่ายที่สอง ฝ่ายโปรด หมดความสงสัยตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อฯ ใช้ให้ออกเผยแพร่ที่ใดก็ไม่คิดหลีกเลี่ยงเหมือนแต่เดิม

ความจริงป้าก็อยากเป็นฝ่ายแรก คือพวกทำสมาธิเก่งๆ จะได้เรียนวิชาปราบมาร ถ้าเปรียบกองทัพทางโลก ก็คือทหารที่เป็นฝ่ายรบโดยตรง ส่วนฝ่ายอื่นๆ เหมือนฝ่ายเสริมกำลัง ป้าใช้ความพยายามเต็มที่ ปรารถนาความเพียรแรงกล้า อภิญญาจิตที่เกิด ก็มีคุณภาพไม่ถึงระดับ ทำวิชาปราบมาร ได้สักที

และเมื่อปฏิบัติมากเข้า ค่อยเข้าใจหน้าที่ของแต่ละคน แต่ละฝ่ายดีขึ้น ใครที่มีหน้าที่อย่างใด ไม่ใช่เพิ่งมีหน้าที่อย่างนั้นในชาตินี้ แต่ได้สะสมบารมีชนิดเดียวกันมา นับภพชาติไม่ถ้วน ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก จนถนัดอยู่ในหน้าที่ของตน เหมือนแร่ธาตุในพื้นโลก ที่กลั่นตัวเป็นทองคำ เงิน ทองแดง ปรอท ฯลฯ ก็เป็นขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ ไม่สามารถจัดเปลี่ยนให้ทองคำกลายเป็นปรอท เงินกลายเป็นสังกะสี อย่างนี้เป็นต้น

พอพูดมาถึงตรงนี้ คงมีบางคนอยากรู้หน้าที่ของตนเองบ้าง ถ้าเช่นนั้น ก็จงพยายามตั้งใจภาวนา ก็จะรู้จักตนเองอย่างป้า หรือถ้าคิดว่าเสียเวลาเกินไป อยากทราบเร็วๆ จะได้รีบทำหน้าที่ จะใช้วิธีสังเกตนิสัยใจคอ ของตนเองดูก็ได้

ถ้าชอบนั่งปฏิบัติธรรม รักเป็นชีวิต ปฏิบัติแล้วมีความสุข ทั้งได้รู้เห็นโดยง่ายรวดเร็ว ครูบาอาจารย์สั่งสอนสิ่งใด ก็ทำตามได้ทันที และไม่ชอบคลุกคลีกับใครๆ ไม่ใคร่ยินดียินร้ายเรื่องของใคร ใจวางอุเบกขาอยู่เสมอๆ นอกจากภาวนาแล้ว ไม่สนใจเรื่องใดเป็นพิเศษเลย อย่างนี้ก็เป็นประเภทที่หนึ่ง

ถ้าเป็นคนใจอ่อนโยน ชอบเมตตา กรุณา ใครมีปัญหาชอบช่วยเหลือ ช่างแนะนำตักเตือน มีความห่วงใยหมู่คณะ เห็นอกเห็นใจคน พูดเก่ง สอนเก่ง เขียนหนังสือคนชอบอ่าน ใครเข้าใกล้แล้วสบายใจ คุณสมบัติอย่างนี้ เหมาะที่จะเป็นประเภทสอง

ถ้าเป็นคนค่อนข้างขยัน หนักเบาเอาสู้ ให้ทำงานสิ่งใดที่เป็นกุศล พอใจทำตามความสามารถของตน เช่นบางคนหั่นผักอยู่ได้ตลอดคืนไม่นอนเลย ในการทำกับข้าวเลี้ยงพระ เลี้ยงคนในวันทำบุญใหญ่ บางคนกวาดลานวัดได้ทั้งวัน ซ่อมของใช้ให้วัดทั้งวัน ขัดส้วม ขนของ ฯลฯ ทำจิปาถะทั้งงานใหญ่งานเล็ก รวมทั้งเรื่องก่อสร้าง เขียนแบบแปลน คุมงาน สำรวจตรวจสอบ ดูแลควบคุม มีจิตใจช่วยเหลือในกิจการทุกอย่าง ที่เป็นกุศล อย่างนี้ประเภทที่สาม

ส่วนประเภทที่สี่ เรื่องข้างต้นทั้งสามอย่าง ไม่ใคร่สนใจกระทำนัก มีนิสัยชอบทำเรื่องทำมาหากินด้วยอาชีพสุจริตต่างๆ พอมีทรัพย์ชอบบริจาค เข้าร่วมงานกุศล คนประเภทนี้มักเคยทำทานไว้ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ในอดีตชาติ อานิสงส์ทานให้ผล มักเป็นผู้มีฐานะการเงินมั่นคั่ง จะหยิบจับทำมาหากิน อาชีพอะไรก็เจริญรุ่งเรือง เป็นอัศจรรย์ ใจดีชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่การปฏิบัติธรรมไม่ใคร่ก้าวหน้า

เอาตัวเข้าเทียบข้อสังเกตง่ายๆ ที่ป้าลองประมวลเอามาพูดให้ฟังข้างต้นนี้ ก็คงพอเดาตนเองได้ว่า มีหน้าที่ทำงานประเภทไหน

จะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่างานนั้นจะเป็นอะไร แต่ที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือเป็นงานสร้างบารมีทั้งสิ้น และจะต้องกระทำซ้ำอยู่อย่างนี้ จนบารมีเพิ่มมากขึ้นๆ เต็มเปี่ยมทั้งสิบบารมี ก็จะพ้นอำนาจมาร เลิกเวียนว่ายตายเกิด เข้าพระนิพพาน

เพราะความดีที่ได้ร่วมสร้างวัดมาด้วยกัน ป้าจึงมีกำไรได้ปัญญา รู้เห็นกว้างไกลถึงเพียงนี้

เรื่องที่ห้า วิริยะบารมี การพากเพียรกำจัดความชั่วออกจากตัว พากเพียรไม่ให้ความชั่วใหม่มาเกิด พากเพียรรักษาความดีที่มีอยู่ และพากเพียรสร้างความดีใหม่ให้เพิ่มพูน ทั้งสี่เรื่องนี้ ถ้ามีชีวิตครอบครัว จะทำได้เพียงระดับธรรมดา ไม่ใช่ระดับสร้างบารมี เพราะระดับสร้างบารมีจะต้องสร้างให้มาก เพื่อการหลุดพ้น จากวัฏสงสาร

เพราะพบหมู่คณะ ป้าจึงมีโอกาสพากเพียรทำความดี ที่เหนือธรรมดามากมายหลายประการ หรือทางเจริญเท่านั้น เพียรได้ทั้ง ๓ ทวารคือ กาย วาจา ใจ ใจเป็นทวารที่เพียร ในทางเสื่อมง่ายที่สุด เพียงคิดเรื่องกาม คิดผูกโกรธ คิดเบียดเบียน และมิจฉาทิฏฐิ ทำอยู่บ่อยๆ ก็เป็นความเพียรในทางเสื่อม เป็นอกุศลแล้ว

เมื่อป้ามีชีวิตธรรมดาอยู่แต่เดิม ไม่ใช่เข้าใจเรื่องหลักธรรม ลึกซึ้งอะไรเลย มีความเห็นตื้นๆ เพียงว่า ถ้าไม่ได้ทำชั่ว ไม่ได้พูดชั่ว ถือว่าไม่มีบาปแล้ว ไม่เข้าใจเลยว่า ใจนั่นแหละเป็นหัวหน้าสูงสุด เมื่อได้พบหมู่คณะ เหมือนคนอยู่ในที่มืดได้พบแสงสว่าง มีโอกาสได้ทำความเพียรทางใจ ด้วยการภาวนา อยู่ทุกเวลาที่นึกได้ ไม่ปล่อยให้ใจเพ่นพ่าน แส่ส่ายทำความเพียรในทางคิดชั่วเหมือนแต่เดิม

ธรรมชาติของใจนั้น คิดถึงเรื่องใดใช้เวลารวดเร็วนัก วินาทีเดียวสามารถคิดถึงได้นับไม่ถ้วนเรื่อง ถ้าแม้นป้าไม่ไดพบกัลยาณมิตร อันประเสริฐดังกล่าวแล้ว ตลอดเวลาในชีวิต คงจะประกอบอกุศล มโนกรรมมากมาย นับจำนวนเรื่องไม่ได้ การได้พบหมู่คณะร่วมกันสร้างวัดเป็นกำไรชีวิตอันล้นเหลือดังนี้

เรื่องที่หก ขันติบารมี ความอดกลั้นอดทน ชีวิตคนทั่วไปต้องมีความอดกลั้นอดทนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีมากน้อยต่างกันแค่ไหน และอดกลั้นอดทนในเรื่องอะไร คนส่วนใหญ่อดทนกันแค่เรื่องทำมาหากิน เลี้ยงชีวิตและครอบครัว เฉพาะในชาตินี้ น้อยคนเหลือเกินที่จะสร้างความอดกลั้นอดทนให้ยิ่งใหญ่ อดทนเพื่อสร้างบารมี ออกจากวัฏทุกข์ให้ได้

เพราะสร้างวัดพระธรรมกาย ป้าจึงรู้จักการอดกลั้นอดทน ประเภทหลัง อดทนต่อการคบหาสมาคม อดออมทรัพย์สินเพื่อการบริจาค อดทนต่อความเหนื่อยกายเหนื่อยใจ เพื่อทำงานใหญ่ ชักชวนผู้คนให้คิดพ้นจากวัฏทุกข์ เรื่องนี้ป้ากระทำอยู่ประจำ ตั้งแต่สมัยอยู่บ้านธรรมประสิทธิ์ บางเย็นคุณยายฯ ให้ไปสอนธรรมแก่คนเจ็บ ที่ลุกไม่ได้ใกล้ตายตามบ้าน ทำงานมาทั้งวัน เหนื่อยล้าทั้งกายใจเต็มที่แล้ว เย็นต้องไปทำหน้าที่เผยแผ่ ถ้าไม่รู้ว่าการกระทำนั้น เป็นการสร้างขันติบารมี ป้าคงไม่มีกำลังใจทำ

ยิ่งระหว่างปี ๒๕๒๙ ถึงปี ๒๕๓๑ หลวงพ่อเจ้าอาวาสให้ป้าออกเผยแผ่ธรรมปฏิบัติตามสถานที่ต่างๆ ทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน ป้าต้องใช้ความอดทนสูง ไม่ต้องการให้เกิดความลำบาก เรื่องการรับส่ง ป้าอุตส่าห์ขึ้นรถเมล์เดินทางเอง รถในกรุงเทพฯ แน่นแค่ไหนติดแค่ไหน อากาสตามท้องถนนเต็มไปด้วยควันพิษ ผู้คนที่มาฟังการสอน ก็มีพื้นเดิมเป็นชาวพุทธตามทะเบียนบ้านเท่านั้น ไม่รู้หลักธรรมคำสอนที่แท้จริงเลย สอนยาก เดินทางลำบก ถ้าไม่คิดเรื่องการสร้างขันติบารมี ป้าคงไม่อดทนทำ สอนแล้วป้าก็ยังไม่ยอมรับเงินทำบุญ ไม่ต้องการให้เกิดความโลภขึ้นในใจป้าเอง และต้องการให้เป็นตัวอย่าง แก่นักเผยแผ่รุ่นหลังๆ เมื่อผู้ใดมีศรัทธา ป้าให้ไปทำบุญที่วัด ผู้คนจะได้พบโอกาส ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม และได้ทำบุญทำทาน เรื่องต่างๆ ไปในตัว

ป้าจะเล่าเรื่องขันติของป้า ในเวลาออกเผยแผ่ธรรมะ ให้ฟังสัก ๔ เรื่อง

เรื่องแรก กลางวันวันนั้นป้าต้องเดินทาง ไปแสดงธรรมที่ห้องประชุมกระทรวงการเกษตรฯ ต้องขึ้นรถจากที่พักถึง ๓ ต่อ พอถึงต่อสุดท้ายจากสนามหลวง คนขับรถคงเห็นว่าให้ยายชีขึ้น ไม่ได้ค่าโดยสาร จึงรีบกระชากรถออกโดยเร็ว มือของป้าที่กำลังเกาะราวบันไดรถ หลุดจากราวทันที เพราะสู้แรงกระชากไม่ไหว พลอยให้ตัวหล่นลงมา ถลาหมุนคว้างแล้วล้มลง ตะกร้าใส่ของใช้ประจำตัวของป้า และอุปกรณ์การสอรหล่น สิ่งของกระจายเกลื่อนกราด ตัวป้าเองก็เจ็บที่สะโพกมาก จนลุกไม่ขึ้น จึงนั่งมองสิ่งของนิ่งอยู่ ในใจก็คิดแผ่เมตตาให้คนขับรถ และพยายามกำหนดภาวนา เอาไว้ที่ศูนย์กลางกายตามที่เคยทำ อยู่เป็นประจำ คิดว่าเมื่อใดพอลุกได้ ก็จะค่อยลุก

สักครู่มีเด็กหนุ่ม อายุราวๆ เกือบยี่สิบปี มาถามว่า " ป้าเจ็บมากไหม จะให้ผมช่วยอะไรได้มั่ง " ถามแล้วเขาก็ก้มลงเก็บสิ่งของต่างๆ ใส่ตะกร้าให้

น้ำใจเพียงเล็กน้อยแค่นี้ ทำให้ป้าเหมือนได้กำลังคืนมา มีแรงค่อยพยุงตัวลุกเองได้ บอกขอบใจเด็ก แล้วก็ขึ้นรถคันอื่นต่อไป ถ้าไม่คิดว่าเป็นการสร้างขันติบารมี คงจะคิดเลิกเดินทางออกเผยแผ่แน่นอน

เรื่องที่สอง เป็นที่เดียวกับที่แรกคือที่ห้องกระทรวงกาเกษตรฯ ขณะป้าสอนให้ผู้เข้าฟังหลับตาเจริญภาวนา เราเริ่มด้วยกสิณแสงสว่าง คือนึกนิมิตเป็นดวงแก้ว หรือพระพุทธแก้วใสสว่าง เป็นอารมณ์ บังเอิญพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชา ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ สีดำมืดสนิท สมาชิกคนหนึ่งเกรงคนจะไปมองแล้ว เอามานึกก็จะไม่เกิดความสว่างขึ้นภายใน จึงนำสิ่งของไปวางบัง ดูเหมือนจะเป็นแจกันดอกไม้ หรือแผ่นกระดาษ จำไม่ได้ พอเลิกจากการสอน มีสตรีคนหนึ่งโวยวาย กล่าวหาว่าป้าดูหมิ่นไม่เคารพบูชาพระพุทธรูป มิใยคนที่เอาของปิดจะรับว่าเขาเป็นคนทำเอง สตรีคนนั้นก็ไม่ยอมฟัง มีการร้องเรียนฟ้องขึ้นไป ถึงปลัดกระทรวง และเอาไปเขียนโจมตีในหนังสือพิมพ์ถึง ๓ ฉบับ

ป้าก็ได้แต่นึกแผ่เมตตา และก็ต้องอดทนทำงานเผยแผ่ที่นั่นเรื่อยมา ทั้งที่เจ้ากระทรวงตั้งคณะกรรมการ ให้มานั่งจับผิดอยู่เป็นกลุ่ม โดยไม่บอกให้ป้ารู้ เพียงแต่ป้า สะดุดใจ ที่สีหน้าของคนเหล่านั้นเฉยชา มีบุคลิกที่ไม่แสดงความเลื่อมใส นั่งอยู่พอหมดเวลาก็ลุกไป โดยไม่เคยเคารพทั้งไปและมา แต่เพราะป้าไม่ได้ทำผิด เขาจึงจับผิดไม่ได้ นี่ก็ต้องอดทน อุตส่าห์เหนื่อยโหนรถเมล์ไปกลับเอง ไม่มีลาภสักการะอะไร กลับถูกใส่ความด้วยเรื่องไม่จริงให้เสียหาย หนังสือพิมพ์ก็เชื่อง่าย ช่วยกระพือข่าวผิดๆ เหมือนช่วยทำลายศาสนา

เรื่องที่สาม มีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นวันจันทร์ ป้ามีหน้าที่ต้องไปเผยแผ่ ที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย บางรัก พอลงรถเมล์ จึงเปิดกระเป๋าสตางค์ มีเงินเหลืออยู่เพียง ๑๐ บาท จะต้องกินอาหารเพล ซื้อกินที่โรงอาหารได้เพียงจานเดียว นึกในใจว่า วันนี้ตอนเย็นคงหิวหน่อย เพราะอาหารที่ขายจานหนึ่งมีไม่กี่ช้อน ปรกติต้องกิน ๒ จาน ถ้าอยู่ที่บ้านพักก็กินอาหารที่บ้านจนอิ่มได้ เวลานั้นก็นึกแต่ว่า ต้องอดทนไว้เป็นขันติบารมี

แต่บุญเก่าจากเรื่องทำทานคงพอมีอยู่บ้าง บังเอิญมีเด็กสาวคนหนึ่งเดินผ่านไปไกลแล้วหวนวิ่งกลับมาหา หยิบธนบัตรใบละสิบบาทออกมายื่นให้พูดว่า " หนูไม่รู้เป็นอะไร อยากทำบุญกับแม่ชีคะ " ป้าจึงให้พรเธอ พร้อมทั้งคิดในใจว่า " หนูเอ๋ย เงินสิบบาทของหนูนี้ ได้บุญมากมายนักหนา ให้อาหารป้ากินได้เต็มอิ่ม วันนี้ป้าก็จะไม่หิวในตอนเย็น มีแรงเขียนหนังสือ นั่งภาวนา ขอให้หนูเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป "

เรื่องที่สี่ แม้กระทั่งเจ็บป่วย มีทุกขเวทนาแรงกล้า ป้าก็ยังอดทนพูดธรรมะ ให้คนมาเยี่ยมฟัง เมื่อต้นปี ๒๕๓๖ หลังจากถูกผ้าตัดใหญ่แล้ว หมอเกรงว่าป้าอาจจะกลายเป็นมะเร็ง จึงให้ฉีดยาชนิดหนึ่ง ราคาค่ายาครั้งละ ๘ พันบาท จะต้องฉีดถึง ๖ ครั้ง แต่ละครั้งป้ามีอาการแพ้ยาชนิดนี้อย่างรุนแรง เริ่มจากคลื่นไส้อาเจียน กินอะไรไม่ได้แม้แต่น้ำ มึนศรีษะเหมือนหัวสมองพองโต หูอื้อร้างระบม เสียวฟันทั้งปาก ยังมีผิดปกติทางระบบขับถ่าย เมื่อกินอาหารไม่ได้หลายวันเข้า ร่างกายก็อ่อนเพลีย หมดแรง พูดก็เหนื่อย ขยับตัวก็เหนื่อย ผู้คนส่วนใหญ่ที่รู้จักมักจะไม่เข้าเยี่ยม ฝากของให้แล้วกลับ เกรงว่าถ้าเข้าเยี่ยมแล้ว จะเป็นการรบกวน

มีบางคนไม่ทราบ เยี่ยมแล้วไม่กลับ ถามปัญหาธรรมะบางข้อ ป้านึกถึงคำพูดของหลวงพ่อฯ ว่า " ป้า หวินต้องทำงานช่วยหลวงพ่อ เผยแผ่วิชชาธรรมกาย หยุดพักไม่ได้ จะตายอยู่แล้วก็ยังต้องสอน "

ไม่มีเรี่ยวแรงขนาดที่เล่า ถ้าเป็นคนธรรมดาคงขอตัวไม่คุยด้วย เพราะหมดแรงพูด แต่เมื่อเป็นนักเผยแผ่ ป้าต้องอดทนทำ ค่อยพูดไปทีละคำสองคำ เหนื่อยก็หยุด พอมีแรงก็พูดต่อ คนฟังไม่ยอมเบื่อ ไม่ลากลับสักที จนกระทั่งลูกสาวของป้ากลับจากซื้อของ จึงขอร้องคนเยี่ยมให้ป้าพัก

พอคนเยี่ยมออกไปพ้นห้อง ป้าเพลียหลับสนิทไปนานหลายชั่วโมง รู้แต่ว่าเหนื่อยเหมือนจะขาดใจ ความอ่อนเพลียเป็นทุกขเวทนาอย่างหนึ่ง เมื่อต้องการสร้างขันติบารมี ก็ต้องอดทนต่อทุกขเวทนาดังกล่าว

ต้องทนเรื่องทางกายแต่เดิม ป้ามีความเห็นว่า ทนได้ไม่ยากนัก หาหมอเยียวยารักษากันไปก็พอแก้ไขได้ มารู้พิษสงการทุกข์กาย ก็คราวการผ่าตัดใหญ่นี่เอง เพราะเวลาแพ้ยา ไม่ใช่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่มีอาการพร้อมๆ กันหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุด คือมีอาการทางหัวใจด้วย เสียววูบๆ เหมือนหล่นจากที่สูง เจ็บท้องเหมือนกระเพาะไม่ย่อย ส่วนทางท่อปัสสาวะก็ปวดแสบปวดร้อน จากปากทวารเข้าไปจนถึงข้างในตัว

เมื่ออวัยวะแปรปรวนมีทุกขเวทนาต่างๆ พร้อมกันขึ้นมา ความทุกข์ก็เหลือที่จะบรรยายได้ถูก สำหรับป้าในขณะนั้น เป็นผู้มีโชคดีที่สุด เพราะหลวงพ่อท่านทราบล่วงหน้าว่า ป้าจะพบศึกหนัก เจ็บป่วยปางตาย จึงให้เข้าอบรมธรรมปฏิบัติเต็มที่ ก่อนผ่าตัดเกือบตลอดปี ๒๕๓๕ ได้อาศัยความสามารถในการปฏิบัติธรรม มาช่วยแก้ไขทุกขเวทนา ที่เกิดพร้อมกันทีเดียวหลายทาง พอให้ทุเลาลง

ส่วนทุกขเวทนาที่ เกิดขึ้นทางใจ ถ้าขาดสติ ขาดปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้ดีแล้ว เป็นทุกข์สาหัส บางคนทนไม่ได้ถึงต้องฆ่าตัวตาย

ปัญญาที่จะใช้แก้ไขความทุกข์ใจ ที่ได้ผลที่สุด คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนา ซึ่งจะคอยจนมีความทุกข์เกิดแล้วจึงภาวนา จะไม่ได้ผลอะไรเลย ทางที่ดีที่สุดต้องภาวนาให้เกิดปัญญาและทำใจให้เป็นไว้ก่อนจนชำนาญ เมื่อความทุกข์มาถึง ก็สามารถสู้กันไหว พออดทนอดกลั้นได้

เปรียบเหมือนฝึกวิชาอาวุธจนชำนาญแคล่วคล่องเก่งกล้า เมื่อเผชิญหน้ากับข้าศึกในเวลาใด ก็ใช้อาวุธได้ทันท่วงที

เหมือนคนหิวข้าว จะรอจนหิวแล้วจึงไปปลูกข้าว คงต้องตายก่อน หรือแม้รอจนหิวจึงลงมือไปซื้อหาก็แทบไม่ทันกาล ที่ดีที่สุดคือเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า ได้เวลาก็บริโภคแก้หิวทัน การเตรียมตัวไว้ล่วงหน้านั่นเอง ต้องอาศัย ความอดทนอย่างยิ่ง

การสร้างวัดทำให้ป้าบำเพ็ญขันติบารมีได้มาก ไม่มีที่เปรียบทีเดียว

เรื่องที่เจ็ด สัจจบารมี ความจริงใจ คิดสร้างบารมีก็ต้องพูดจริง ทำจริง ไม่ใช่ปากพูด แต่การกระทำไม่ทำ เช่นอยากจะให้ตนหมดกิเลส เข้าพระนิพพาน แต่กายวาจาไม่ถูกใช้ ให้สร้างบารมีเลย ความสำเร็จย่อมไม่เกิด

เมื่ออยากพ้นจากวัฏสงสาร ก็ต้องลงมือสร้างบารมีอย่างจริงจัง ไม่ท้อถอย พยายามกำจัดกิเลสให้หมดไป จากสันดานอย่างเด็ดขาด ไม่ใช่ทำบ้างหยุดบ้าง เรียกว่าไม่จริง

ป้าไม่เคยคิดเรื่องสัจจะบารมีมาก่อนเลย เพราะพบหมู่คณะจึงได้มีโอกาสสร้างสัจจะบารมีขั้นสูง ถึงประกาศเป็นข้าศึกกับกามคุณทีเดียว ป้าจำได้ว่ามีบางคนแม้มาพบคุณยายฯ และหลวงพ่อฯ แล้วก็ยังไม่คิดเอาตนพ้นจากกาม เขาพูดกับคุณยายฯ ว่า " ผมขอทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ แค่นั้นพอ ไม่ขอประพฤติพรหมจรรย์ ตายแล้วก็ขออยู๋แค่สวรรค์ชั้นสองดาวดึงส์ ชั้นที่พระอินทร์อยู่ ชั้นนี้ยังมีเมียได้ "

อย่างนี้เรียกว่าไม่จริง ต่อการอยากพ้นกิเลส

เรื่องสัจจะบารมีนี้ หมู่คณะมีความสำคัญมาก คนเราส่วนใหญ่ ถ้าอยู่ตามลำพัง จิตใจมักอ่อนไหวโลเล ไม่แน่นอน เอาจริงยาก พอมีอุปสรรคเกิดก็ท้อถอย พลอยอ่อนแอยอมแพ้ แต่ถ้ามีหมู่คณะ เอาจริงร่วมกัน ต่างคนต่างมีกำลังใจ มีมานะขึ้นในตัว เห็นคนอื่นทำสำเร็จ ตนก็ต้องทำได้บ้าง

สัจจะมีได้ทั้งสองด้าน ทั้งด้านดี และไม่ดี ด้านไม่ดีกระทำแล้วไม่เป็นบารมี ส่วนด้านดี ก็มีเป็นสองระดับ คือระดับต่ำ เป็นระดับที่ทำแล้ว ยังให้ผลดีในการเวียนว่ายตายเกิด ระดับสูง เป็นระดับที่ทำแล้ว ทำให้กิเลสหมดลง เลิกเวียนว่ายตายเกิด ระดับนี้เท่านั้นที่เราทุกคนควรกระทำ

เรื่องที่แปด อธิษฐานบารมี ความตั้งใจกระทำ บารมีข้อนี้ เน้นเรื่องการกระทำที่ใจเป็นสำคัญ มีใจมุ่งตรงตามที่ต้องการ คนธรรมดาทั่วไปทำสิ่งใด ก็มีความมุ่งหมายไปตามที่ตนเองชอบ ส่วนที่จะชอบหรือพอใจเรื่องอะไร แค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญาของแต่ละคนไป ใครมีปัญญาน้อย ก็ตั้งความมุ่งหมายง่ายๆ เอาเฉพาะหน้า ดีบ้างไม่ดีบ้าง เช่นพอจะตักบาตรก็อธิษฐาน เพียงเพื่อให้วนอยู่ในวัฏฏะ การอธิษฐานที่มีปัญญา ต้องให้ความดีต่างๆ ที่ตนกระทำเป็นเครื่องสนับสนุนให้ออกพ้น จากการเวียนว่ายตายเกิด เป็นระดับโลกุตตระ ไม่ใช่ระดับโลกียะ ที่กล่าวถึงอย่างแรก

ป้าเองก่อนเจอหมู่คณะ เคยไม่เห็นด้วยกับการทำสิ่งใดต้องอธิษฐาน ไปคิดเอาว่าเป็นการค้ากำไรเกินควร เหมือนที่พระภิกษุบางรูปสอน คือทำบุญเล็กน้อย ตั้งความปรารถนามากมาย เอาโน่นเอานี่ แต่เมื่อฟังคำสอนของคุณยายฯ และหลวงพ่อฯ แล้วจึงเข้าใจแจ่มแจ้ง

การอธิษฐาน ก็เหมือนการตอกย้ำ เราจะทำสิ่งใดให้มั่นคง เช่นตอกตะปูหรือเสาเข็ม ก็ตอกซ้ำแล้วซ้ำอีก ยิ่งตอกมากเท่าไหร่ สิ่งนั้นก็แน่นหนามั่นคงยิ่งขึ้น คำอธิษฐานก็เช่นเดียวกัน กระทำซ้ำไว้เรื่อยๆ วันหนึ่งในอนาคตเมื่อบุญเต็มเปี่ยมแล้ว สิ่งที่ได้รับก็จะเป็นไปตามที่อธิษฐานไว้

เหมือนการเดินทางต้องมีเข็มทิศ เรือต้องมีหางเสือ ตั้งเข็มทิศหรือทางเลือกมุ่งไปสู่ทิศทางที่ต้องการ ในทุกครั้งที่เดินทาง วันหนึ่งภายหน้าย่อมทำให้ถึงที่หมาย

คนที่ทำสิ่งใดไม่อธิษฐาน เหมือนเรือไม่มีหางเสือ คนเดินทางที่ไม่รู้ทิศทาง เดินไปย่อมเสี่ยง ต่อการเฉไฉออกนอกเส้นทาง ตกหลุมตกบ่อ รับอันตรายไปในที่สุด

เรื่องทำความดีสิ่งใดแล้วไม่อธิษฐานกำกับ เหมือนหาเงินมาได้แล้ว ใช้ไม่เป็นเหมือนอ่านหนังสือออก แต่ไม่รู้จักเลือหนังสือมาอ่าน ในที่สุดสิ่งที่ได้มา ไม่ทำประโยชน์อะไรให้เกิดขึ้น บางทีทำโทษให้เกิดด้วยซ้ำ ป้าจะยกตัวอย่างให้ฟัง

เช่นคนบางคนทำทานไว้มาก แต่ไม่ได้อธิษฐานกำกับไว้ว่า เมื่อเกิดชาติกน้าอานิสงส์ทานให้ผล เกิดเป็นคนร่ำรวยมหาศาล แทนที่จะใช้ทรัพย์นั้น ทำสิ่งใดให้เป็นกุศลเพิ่มเติม กลับนึกไม่ได้เพราะไม่มีอานิสงส์จากการอธิษฐาน เลยเอาความรวยนั้นมาทำให้เกิดบาป เช่นสร้างสถานเริงรมย์ ให้คนหลงไหลอยู่ในกาม สร้างบ่อนอบายมุข ผลิตเครื่องดองของเมา ยาเสพติดแม้กระทั่งไม่ถูกใจใคร ก็ใช้อำนาจเงินทำปาณาติบาตเบียดเบียน ถูกใจใคร ก็ทำเรื่องกาเมสุมิจฉาจาร ดังนี้เป็นต้น

หรือบางคนถือศีล เกิดชาติใหม่กลายเป็นคนสวย ไม่มีคำอธิษฐานตามรักษา สวยแล้วก็มีคนมาชอบหลายคน คนสวยเลยหลายใจ กลายเป็นกรรมกาเมสุมิจฉาจารขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้คุณยายฯ จึงสอนทุกคนว่า ทำบุญกุศลใดๆ ต้อง " อธิษฐานล้อมคอก " เอาไว้ อธิษฐานว่า " ขอให้เราทำแต่ความดีถ่ายเดียว ให้บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนกว่าจะเข้าพระนิพพาน " เมื่ออธิษฐานอย่างนี้ เราก็จะไม่พลาดพลั้ง ถอยหลังทำบาปให้ขาดทุน ในยามเวียนว่ายตายเกิด เพื่อสะสมสร้างบารมี ก็จะได้เกิดแต่ภพภูมิที่ดี มีโอกาสสร้างแต่บารมี รุดหน้าไปอย่างเดียว

เรื่องที่เก้า เมตตาบารมี การปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข เรื่องนี้เป็นเรื่องตรงข้ามกับความอิจฉาริษยา ซึ่งทำให้ใจคอเศร้าหมอง คับแคบ ความอิจฉาริษยา เป็นต้นเหตุให้เกิดความเคียดแค้น พยาบาทได้ เพราะมีมูลรากมาจากกิเลส ตัวโทสะ เหมือนกัน

เมื่อมารู้อย่างนี้ ป้าก็มีจิตใจอ่อนโยนในสัตว์ทั้งหลาย มากกว่าเดิม รวมทั้งในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็ให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจว่า เป็นเพราะความไม่รู้ จึงได้พากันประมาท ทำบาปกรรมเพิ่มเติมให้ชีวิตขาดทุน เมื่อเข้าใจเสียอย่างนี้ ความรังเกียจก็ลดลง กลายเป็นนึกเมตตาสงสาร ถ้ามีหนทางใดสามารถช่วยเหลือ หรือชี้แจงแนะนำได้ ก็จะทำทันที ตรงข้ามกับนิสัยดั้งเดิมสมัยก่อน ถ้าพบใครเป็นคนประพฤติเลวทราม ไม่อยู่ในศีลธรรมแล้ว ก็จะตั้งหน้ารังเกียจ ไม่ยอมมอง ไม่ยอมพูด หรือคบหาสมาคมด้วย เป็นอันขาด ดีไม่ดียังตั้งตัว เป็นพระยายมกลั่นแกล้งเอาเสียอีกถ้ามีโอกาส

การพบหมู่คณะที่ช่วยกันสร้างวัด ทำให้ป้ามีความปรารถนาดี ต่อผู้คนและสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วหน้า ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมีความเป็นอยู่ ดีกว่าป้ามากมายแค่ไหนก็ตาม ก็คิดอยากให้เขามีสุขกว่าเดิมยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งแต่เดิมไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน จัตั้งความปรารถนาดีให้ ก็เฉพาะผู้ที่กำลังทุกข์ยากเดือดร้อนยิ่งกว่า ส่วนคนที่ดีกว่า ป้าจะรู้สึกเฉยๆ หรือมิฉะนั้นก็พาลไม่ชอบไปเสีย คงจะมีแรงริษยาแฝงอยู่ไม่น้อย แม้ไม่แสดงออกมาชัดแจ้ง แต่ก็ไม่ทำให้ใจมีปีติเสมอๆ อย่างปัจจุบัน

เรื่องที่สิบ อุเบกขาบารมี การมีใจเป็นกลางวางเฉยในสรพพสัตว์ เห็นว่าสัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นของตนเอง ใครทำกรรมใดก็ต้องรับผลของกรรมนั้น

เมื่อพบคุณยายฯ ใหม่ๆ ได้ฟังคำสอนอยู่ประโยคหนึ่งว่า " เมตตาพาตกเหว " ต้องเอาอุเบกขาเป็นเถาวัลย์ คอยดึงไว้ จึงจะปลอดภัย " ป้าฟังแล้วงงจริงๆ เคยได้ยินแต่ให้นิยม มีเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย แม้ในศัตรูก็ไม่ยกเว้น ต้องแผ่เมตตาความปรารถนาดีไปให้ ไม่เคยมีใครบอกเลยว่า เมตตาจะให้ผลร้าย ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังบอกอานิสงส์ไว้ว่าใครแผ่เมตต่อยู่เสมอๆ จะมีผลดีเกิดขึ้นแก่ตนเองถึง ๑๑ อย่างคือ หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของเทวดาและอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดารักษา ไฟหรือยาพิษศาสตราวุธ ทำร้ายไม่ได้ ใจสงบได้เร็ว หน้าตาผ่องใส ไม่หลงตาย

เมื่อมีเหตุการณืผ่านมา ในชีวิตป้านานเข้า ป้าจึงได้เห็นโทษของการมีเมตตาเกินพอดีคือปรารถนาให้เขามีความสุขความเจริญ พยายามช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยประการต่างๆ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ บางทีต้องเห็นเขาทุกข์ยากเดือดร้อน มีกรุณาอยากจะช่วยเหลือ ช่วยไม่ได้ เลยเป็นทุกข์ตามไป เรียกว่าทั้งเมตตาทั้งกรุณา เป็นอารมณ์ฝ่ายดีก็จริง แต่ไม่ละเอียดลึกซึ้งดีพอ อยู่ใกล้กับความเกลียดความรัก มีดีใจถ้าเห็นเขาเป็นสุข เสียใจถ้าเขาเป็นทุกข์ และเราช่วยเหลืออะไรไม่ได้

ในกรณีที่เมตตาแล้ว ไม่สามารถทำให้อีกฝ่ายเป็นสุขยิ่งๆ ขึ้นไปได้ หรือกรุณาแล้ว ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ไม่ได้ แล้วเราต้องเสียใจเศร้าหมองนี่เอง เรียกว่าเมตตาพาตกเหว

ทีนี้ที่ว่าอุเบกขา เหมือนเถาวัลย์ดึงตนให้พ้นจากเหว เหวก็คือความทุกข์ การวางอุเบกขามีสองกรณี อุเบกขาชนิดที่หนึ่งเป็นอุเบกขาชนิดไม่มีปัญญา จะวางเฉย ถือเป็นเรื่องธุระไม่ใช่ไปเสียหมด เหมือนคนใจจืดใจดำ ชนิดนี้ไม่ใช่อุเบกขา ที่เป็นบารมีขึ้นมา

อุเบกขาที่เป็นบารมี ต้องประกอบด้วยปัญญา เมื่อเห็นสัตว์ใดที่ไม่สามารถเมตตาหรือกรุณาได้ เพราะเป็นเรื่องเกินวิสัย ก็ต้องปลงพิจารณาว่า ความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไปตามอำนาจกรรมที่เขากระทำไว้เอง เราไม่สามารถอยู่เหนืออำนาจกรรมของใคร แม้แต่ตัวเราเอง ก็ต้องตกอยู่ในอำนาจกรรมของตน หลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อใช้กรุณาเมตตาไม่ได้ เช่นพบนักโทษประหาร พบสัตว์ที่เขากำลังขนไปฆ่า ฯลฯ สุดวิสัยที่เราจะไถ่ถอนชีวิต ก็ต้องวางใจให้เป็นอุเบกขา พิจารณาไปว่า

สัตว์ทั้งหลายที่ได้เกิดมา กำลังมีชีวิตอยู่ขณะนี้ เพราะการกระทำเก่าของเขาเอง ในภพชาติที่แล้วมา และเมื่อตายจากภพนี้ไป ก็จะไปเกิดตามกรรมของตน ในภพหน้า เหมือนตัวเราเองเช่นกัน

ตัวเราจะให้ใครมีสุขมีทุกข์ ด้วยการกระทำของเราเอง ไม่ใช่ของทำได้เสมอไป เพราะโดยหลักการความจริงแล้ว ทุกชีวิตมีกรรมของตนเอง เป็นที่ตั้ง

เรื่องอย่างที่ป้ากำลังเล่าอยู่นี้ ใครไม่พบกับตนเอง บางทีก็ยังไม่เข้าใจดีพอ ป้าพบมาจริงๆ เช่นป้าพบเด็กที่ยากจนมาก เกิดพายุฝนน้ำท่วมที่อยู่อาศัยจนหมด มารดามีอาชีพช้อนลูกน้ำขายที่ตลาด พอน้ำท่วมก็ไม่มีลูกน้ำไปขาย ไม่มีเงินซื้อข้าวให้ลูกกิน ป้าทราบเรื่องสงสารมากเพราะเด็กอดอาหารมาสองวันแล้ว ป้าจึงเอาข้าวสาร และไข่ดิบจากบ้านไปฝาก เมื่อเด็กรับไปแล้ว กลับลื่นหกล้มข้าวสารหกจนหมด ไข่ก็แตกตกลงน้ำสกปรก ไม่มีเหลือ ต้องอดต่อไปอีกหลายวัน กว่าจะมีโอกาสพบป้า และให้ความช่วยเหลือกันใหม่

นี่เป็นตัวอย่างอำนาจของกรรมชัดเจน ถ้าเคยอทินนาทาน คดโกงเบียดเบียนใคร ให้เขาลำบากอดอยากเอาไว้ เมื่อกรรมให้ผล แม้เราจะช่วยเหลืออย่างไร กรรมก็จะบีบ จนเขารับความช่วยเหลือไม่ได้อยู่ดี

การวางใจที่จะทำให้เกิดบุญสะสม เป็นอุเบกขาบารมี ต้องพิจารณาเรื่องสัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของของตน ดังนี้อยู่เสมอ ในกรณีที่ไม่สามารถ แสดงเมตตากรุณาได้

เหตุที่ต้องพยายามแสดงเมตตากรุณาไว้ก่อน เป็นอันดับแรก เพราะอย่างน้อยการกระทำนั้น เกิดเป็นบุญเป็นกุศลแก่ผู้กระทำแล้ว ส่วนที่จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่กรรมของอีกฝ่าย จะสนับสนุนหรือตัดรอน

การพบหมู่คณะสร้างวัด ทำให้ป้ารู้จักการทำใจให้เป็นอุเบกขา ชนิดเป็นบารมีได้ดังนี้ มิฉะนั้นแล้วคงจะเป็น อุเบกขาชนิดไร้ปัญญา กลายเป็นคนใจไม้ไส้ระกำ ไมีดูดำดูดีเรื่องของใครถือเป็นกรรมใดใครก่อ ใครก็รับไปเสียเถอะ ไม่ใช่เรื่องของเรา โลกนี้คงแล้งน้ำใจยิ่งนัก

ทั้งสิบเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ในบทสุดท้ายนี้ คือกำไรชีวิตที่ป้าได้รับ ยังนึกเสียดายอยู่เสมอว่า ถ้าป้าได้พบหมู่คณะก่อนมีครอบครัว ป้าคงได้บารมีต่างๆ เพิ่มจากที่เล่าไว้มากมาย มาถึงขณะนี้ป้าได้เห็นเด็กหนุมสาวส่วนหนึ่งมาวัด ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ทำทาน รักษาสีล ช่วยเหลือกิจการต่างๆ ของวัด ป้ายังนึกอนุโมทนา ชื่นชมยินดีด้วยยิ่งนัก ชีวิตของพวกเขาไม่เสียเวลาไปเปล่า

ชีวิตคนเรา ไม่ใช่ของยั่งยืน ยุคนี้อายุเฉลี่ยของคนมีประมาณ ๗๐ ปี และเวลาที่จะมีร่างการแข็งแรงจริงๆ ก็ไม่เกินห้าสิบปี ในจำนวนห้าสิบปี ต้องหมดไปในการศึกษาเล่าเรียน ไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปี ที่เหลืออยู่ ๒๕ ปี หักเวลานอน เวลาทำกิจวัตรส่วนตัว เช่น กิน ถ่าย อาบน้ำ แต่งตัว ก็ดูจะหมดไปเกิน ๑๕ ปี เหลือเวลาราว ๑๐ ปี ถ้าต้องประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัว ก็แทบจะไม่มีเวลาเหลือ อยู่เลย เรื่องกินนอนพักผ่อน ขับถ่าย ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องจำเป็น ในการดำรงสังขารร่างกาย เราตัดทิ้งไม่ได้ จะเหลืออยู่ก็เรื่องการครองเรือนมีครอบครัว ซึ่งเราสามารถตัดได้

ถ้าตัดชีวิตการมีคู่ครอง มีลูกหลานออกได้แล้ว เวลาของการสร้างบารมี ยังพอมีเหลืออยู่บ้าง แม้ไม่มากนัก ก็ยังดีกว่า

จึงอยู่ที่เราจะคิดได้แค่ไหน ถ้าคิดว่าเกิดมาชาตินี้ ต้องการเพียงคู่ครองสักคน ลูกเต้าสัก ๒ - ๓ คน แค่นั้น ก็ปล่อยให้เป็นโมฆะสูญเปล่า เกิดมาตายฟรี แถมขาดทุนไปด้วยต่างหาก

ถ้าคิดว่าเกิดมาเพื่อสร้างบารมี จะพยายามสะสมให้บารมีครบถ้วน เลิกเกิดให้ได้แล้ว เรื่องครองเรือนไม่ควรคิดเป็นอันขาด

มีหลายคนชอบเถียงป้าว่า ถ้าได้คู่ครองดีๆ ไม่สนับสนุนการสร้างบารมีหรือ คู่ครองยิ่งดีมาก ทำให้ต้องเกรงใจมาก จะทำสิ่งใดก็ต้องคอยกังวล ห่วงใยกันตลอดเวลา จึงเป็นการขัดขวางซึ่งกันและกันอยู่ในตัว อาจจะพอเกื้อหนุนกันได้ในบางบารมี เช่นเรื่องทาน พอบารมีอื่นๆ จะเริ่มขัดข้องทันที เรื่องศีล ทำได้อย่างมากก็เพียงศีลห้า เรื่องเนกขัมมะเป็นอันหมดสิทธิ์ เรื่องปัญญาก็ไม่มีเวลาจะทำ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การดู การฟัง กระทั่งภาวนา บารมีอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกันทั้งหมด ชีวิตอิสระประเสริฐที่สุด

ไม่มีใครเลยที่จะบรรลุ โลกุตระธรรมขั้นสูงสุด เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้า โดยมีชีวิตครองเรือน ล้วนแต่ออกจากกาม บำเพ็ญเนกขัมมะทั้งสิ้น

เรื่องสำคัญจึงอยู่ที่ ชีวิตของเราจะเห็นคุณค่าของสิ่งใด มากกว่ากัน

ป้าเล่ากำไรชีวิตของป้า ซึ่งได้มาเพียงเล็กน้อยให้ฟังแล้ว ใคร่จะยืนยันไว้ในที่นี้ว่า ขณะนี้ทุกท่านที่ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ กำลังพบโชคดีอันยิ่งใหญ่กว่าป้า นับเท่าไม่ถ้วน เพราะชีวิตของป้าที่ผ่านมา มีโชคเพียงได้สร้างวัดวัดเดียว ที่กว้างเพียงร้อยกว่าไร่

แต่ ณ เวลาบัดนี้ หลวงพ่อฯ และหมู่คณะ กำลังสร้างศูนย์กลางพระธรรมกายโลก ๒ พันกว่าไร่ มีทั้งปูชนียวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์ สถานศึกษาที่จะผลิตบัณฑิตที่แท้จริง มีความรู้คู่คุณธรรม ทำการเผยแผ่สันติธรรมไปทั่วโลก ให้ปรากฏความสงบร่มเย็น และเจริญรุ่งเรืองอีกสักครั้ง ดั่งสมัยพุทธกาล

งานดังที่กล่าวนี้ จึงเป็นที่รองรับการสร้างบารมีที่ยิ่งใหญ่ ชนิดไม่สามารถคำนวณคุณค่าได้ สำหรับผู้ที่ยังพร้อมด้วยวัย ด้วยความสามารถ สติปัญญา และกำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจ จะทุ่มเทให้ อย่าปล่อยโอกาสดีที่สุดนี้ ผ่านไปเลย

ชีวิตป้าเวลานี้ได้แต่มองด้วยความเสียดาย เห็นไม้งามยามพร้าบิ่นเสียแล้ว เห็นโอกาสสร้างบารมี ก็เป็นเวลาเข้าวัยชรา มีแต่ความเสื่อมมาเยือน เตือนแต่เรื่องเจ็บเรื่องตาย ชีวิตจึงหมดความหมายลง ทุกทีๆ ทำได้เต็มที่ก็เพียงเท่านี้คือ ชักชวนให้ทุกคนทราบ ส่วนใครจะทำหรือไม่ จะทำมากน้อยเพียงใด จึงอยู่ที่การตัดสินใจของตนเอง

เกิดมา ต้องรู้ว่า ตัวเองเป็นใคร

เกิดมา ต้องรู้ว่า เกิดมาทำไม

เกิดมา ต้องรู้ว่า ควรใช้ชีวิตอย่างไร

รู้แล้ว ทำไป ให้มีแต่กำไร ไม่มีขาดทุน

นั่นคือ ต้องสร้างบารมี

ขอทุกท่านจงสวัสดี ตลอดเส้นทางเดินสู่พระนิพพาน เทอญ..........

อุบาสิกา ถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล
๖ กรกฎาคม ๒๕๓๖




ก็เป็นอันจบเล่มน่ะครับ ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กะทุกท่านไม่มากก็น้อยนะครับ

คนที่ไม่มีปัญหาคือคนที่ไม่ได้ทำ

#13 หัดฝัน

หัดฝัน
  • Members
  • 4531 โพสต์
  • Gender:Male
  • Interests:ธรรมะ

โพสต์เมื่อ 02 January 2010 - 02:19 PM

ตอบความคิดเห็นที่ 4 เท่าที่เคยฟังจากครูไม่ใหญ่ ตอนนี้คุณป้าไปเป็นเทพบุตรอยู่ที่ดุสิตบุรีน่ะครับ
ได้ดี เพราะมีกัลยาณมิตร

#14 ~เด็กวุ่นวาย~

~เด็กวุ่นวาย~
  • Members
  • 156 โพสต์

โพสต์เมื่อ 02 January 2010 - 06:02 PM

เย้ๆๆอ่านจบแล้ว

อนุโมทนาบุญกับคุณDaemusinด้วยนะคะ

ที่เอามาให้อ่านกัน
ความรักก็เหมือนการจับไฟนั่นแหละ ทางที่จะไม่ให้มือพองเพราะไฟเผามีอยู่ทางเดียว คืออย่าจับไฟอย่าเล่นกับไฟ
ทางที่จะปลอดภัยจากรักก็ฉันนั้น มีอยู่ทางเดียวคืออย่ารัก

#15 usr29799

usr29799
  • Members
  • 57 โพสต์

โพสต์เมื่อ 02 January 2010 - 10:09 PM

อนุโมทนาบุญอีกครั้งนะคะ อ่านจบแล้วไม่อยากให้จบเลยถ้ามีเรื่องราวดี ๆ อย่างนี้ช่วยเอามาให้พวกเราได้อ่านกันอีกนะคะ สาธุ สาธุ สาธุ


#16 บ่าวอุบล

บ่าวอุบล
  • Members
  • 632 โพสต์

โพสต์เมื่อ 03 January 2010 - 12:08 AM

อ่านยังใช้เวลาหลายชั่วโมง พิมพ์คงนานที่เดียว อนุโมทนาบุญด้วยครับ ได้ข้อคิดเยอะมาก รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองเจอ มันเล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับของป้า



#17 WISH

WISH
  • Moderators
  • 3579 โพสต์

โพสต์เมื่อ 03 January 2010 - 08:03 PM

คุณป้าถวิลท่านคือใคร?

มีความสำคัญกับวัดอย่างไร?

อยากทราบว่าจะหาหนังสือเล่มนี้ได้จากที่ไหน?

ตอนนี้คุณป้าถวิลท่านอยู่ที่ไหน?
ทำไมต้อง หาคำตอบ ณ แดนไกล ลืมหรือไร ว่าอยู่ใกล้ DMC

#18 หัดฝัน

หัดฝัน
  • Members
  • 4531 โพสต์
  • Gender:Male
  • Interests:ธรรมะ

โพสต์เมื่อ 03 January 2010 - 08:27 PM

คุณป้าถวิล ท่านเป็นผู้บอกบุญให้เพื่อนคือ คุณวรณี สุนทรเวช ชักชวนคุณแม่คือ แพทย์หญิงประหยัด พงศาธิบดี บริจาคที่ดิน 196 ไร่ให้วัด น่ะครับ

ภายหลังท่านออกบวชเป็นอุบาสิกาแม่ชี หลวงพ่อเคยให้ท่านเขียนหนังสือสอนคนให้เข้าใจธรรมะ ท่านจึงเขียนหนังสือเล่มแรก ชื่อ "เราคือใคร"

แต่หลวงพ่อท่านบอกว่า หนังสือ เป็นวิชาการเกินไป ชาวบ้านจะไม่ได้อ่าน

ป้าจึงเขียนหนังสือใหม่ เป็นเล่มเล็กๆ ออกมาเป็นตอนๆ ชื่อว่า "จากความทรงจำ" เป็นหนังสือที่น่าติดตามมากๆ ในยุคนั้น ป้าเขียนมาทั้งหมด 30 กว่าเล่ม เนื้อหาหลักๆ ของหนังสือ จะเกี่ยวกับเรื่อง ทาน ศีล ภาวนา

ตอนหลังมีการรวมเล่ม เป็น จากความทรงจำ 1-4

จะหาหนังสือ ต้องลองไปติดต่อฝ่ายวิชาการที่วัดดูครับ

ป้าอยู่ที่ไหน ให้ดูความเห็นที่ 13 ครับ


ได้ดี เพราะมีกัลยาณมิตร

#19 WISH

WISH
  • Moderators
  • 3579 โพสต์

โพสต์เมื่อ 03 January 2010 - 08:48 PM

ขอบคุณ คุณหัดฝันอย่างสูงครับ...ยอดเยี่ยม...ไวกว่าแสงจริงๆครับ...

อายจัง...ตอนแรกผมกำลังจัดคำถามของคุณ คห.4...กำลัง EDIT ตอบ...แต่เผอิญไปเสียเวลาโหลดภาพในกระทู้อื่น กลับมาอีกทีคุณหัดฝันช่วยตอบให้เรียบร้อย...ขอบคุณอีกครั้งครับ...

คำตอบเรื่องป้าหวินอยู่ในกรณีศึกษานี้ข้อ8 nerd_smile.gif
http://www.dmc.tv/pa...2549-10-14.html

สาธุ กับ จขกท.กับเนื้อหา...แสดงถึงความมุ่งมั่นและศรัทธาต่อป้าหวินครับ
ทำไมต้อง หาคำตอบ ณ แดนไกล ลืมหรือไร ว่าอยู่ใกล้ DMC

#20 หัดฝัน

หัดฝัน
  • Members
  • 4531 โพสต์
  • Gender:Male
  • Interests:ธรรมะ

โพสต์เมื่อ 03 January 2010 - 08:49 PM

สำหรับจากความทรงจำ เล่มที่เจ้าของกระทู้นำมาลงนี้ ไม่ใช่จากความทรงจำ 30 เล่ม แต่เป็นเรื่องที่ป้าเขียนเป็นตอนสุดท้าย หลังจากเขียนจากความทรงจำทั้ง 30 กว่าเล่มหลายปี วันที่เขียนตอนสุดท้าย เป็นวันก่อนที่ป้าจะละโลก เพียง 2-3 วัน เพื่อให้คนเข้าใจวัดในช่วงนั้นว่า เกิดอะไรขึ้น หนังสือตอนสุดท้ายได้ถูกนำมาแจกในงานศพคุณป้าพอดี
ได้ดี เพราะมีกัลยาณมิตร

#21 usr29799

usr29799
  • Members
  • 57 โพสต์

โพสต์เมื่อ 03 January 2010 - 09:08 PM

อยากทราบว่าปัจจุบันครอบครัวของผู้ที่ได้บริจาคที่ดินให้กับวัดท่านเข้าใจหลวงพ่อของเราหรือยังคะ

#22 หัดฝัน

หัดฝัน
  • Members
  • 4531 โพสต์
  • Gender:Male
  • Interests:ธรรมะ

โพสต์เมื่อ 03 January 2010 - 09:12 PM

เท่าที่ทราบ ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจครับ
ได้ดี เพราะมีกัลยาณมิตร

#23 Kodomo_kung

Kodomo_kung
  • Members
  • 323 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 04 January 2010 - 12:06 AM

สาธุครับ น่าศึกษาการสร้างบารมีของคนยุคแรกเหมือนกันนะครับ

#24 *ลูกพ่อ*

*ลูกพ่อ*
  • Guests

โพสต์เมื่อ 09 February 2011 - 01:50 AM

อนุโมทนาบุญด้วยนะคะ