มหิดลเผยผลสำรวจ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย หวั่นน้ำท่วมรุนแรง
มหิดลเผยปัญหาวิกฤติโลกร้อนเริ่มเห็นชัดขึ้น หลังพบก้อนน้ำแข็งขั้วโลกใต้ขนาดมหึมา 2 ก้อนเกิดการแยกตัวเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ด้านนักวิทยาศาสตร์ชี้มีความเป็นไปได้สูงเกิดน้ำท่วมรุนแรง
ดร.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าสาเหตุหลักของปัญหาภาวะโลกร้อน เกิดจากการใช้พลังงาน กิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น โดยส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น 0.7 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก กำลังวิตกว่าหากอุณหภูมิสูงขึ้น 2-5 องศาเซลเซียสจะส่งผลให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลาย ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นจะมีปริมาตรน้ำเพิ่มถึง 3 ล้านล้านลูกบาศก์กิโลเมตร หมายความว่าระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นอีกประมาณ 200 ฟุต ซึ่งผลกระทบที่ไทยจะได้รับเต็มๆ คือชายฝั่งทะเลของไทยจะถอยร่นไปอยู่แถวจ.ลำปาง จ.อุดรธานี บุรีรัมย์
ดร.จิรพล กล่าวว่า เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมามีธารน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ขนาด 3,200 ตารางกิโลเมตรที่มีขนาดใหญ่กว่าเมืองลอนดอน 2 เท่าหลุดออกจากปลายแหลม และยังไม่รู้ว่าจะลอยลงทะเลหรือจะไปปิดบล็อกช่องทางที่มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทำงานอยู่ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมาก้อนน้ำแข็งขนาด 120 กิโลเมตรที่ชื่อ B15A ก็หลุดแตกออกมาอีก ขณะนี้ดาวเทียมทุกดวงกำลังจับตาก้อนน้ำแข็งมหึมาทั้ง 2 ก้อนนี้อย่างไม่คลาดสายตา เพราะสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เคยวิตกกังวลกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า โดยเชื่อว่าอย่างช้าไม่เกิน 3 ปีจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้งมีบางประเทศที่ได้รับผลกระทบแล้ว เช่น แถบยุโรป พบว่าธารน้ำแข็งเริ่มละลายและหดตัว เอเชียใต้มีภาวะน้ำท่วมรุนแรง เป็นต้น ในเวทีสิ่งแวดล้อม จะหยิบประเด็นปัญหานี้มาเปิดเผยและให้ประชาชนทั้งประเทศรับทราบ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องในบ้านเมืองจะได้รับรู้ถึงปัญหา เพื่อเตรียมหาแนวทางการป้องกัน ดร.จิรพล กล่าว
น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ไม่รู้ไม่ได้
วันคุ้มครองโลก หรือเอิร์ธเดย์ (Earth Day) เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา หัวข้อสิ่งแวดล้อมที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจะเป็นห่วงเป็นใยมากที่สุด คือปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน
นิตยสารไทม์ ฉบับประจำวันที่ 3 เมษายน ได้พาดหัวข่าวว่า "ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่พวกเราต้องกังวลกันให้มากๆ เพราะมันไม่ใช่ปัญหาในอนาคตอีกต่อไป แต่กำลังคืบคลานเข้ามาทำลายโลกสีน้ำเงินใบนี้อยู่ทุกขณะ"
รูปธรรมสำคัญต่อภาวะโลกร้อน และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพากันกังวลมากที่สุดก็คือ การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลายอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา
ศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยการสำรวจขั้วโลกเหนือด้วยดาวเทียมสำรวจขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ พบว่าน้ำแข็งในบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกละลายเร็วขึ้นกว่าเดิม และอุณหภูมิก็สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดาวเทียมของนาซาได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2002 แสดงให้เห็นถึงฤดูใบไม้ร่วงอันเป็นช่วงน้ำแข็งละลายที่คืบคลานมาเร็วผิดปกติในแถบไซบีเรียเหนือและอลาสกา
เท็ด สคัมโบส จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดชี้ว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสัญญาณที่ระบุได้ชัดเจนก็คืออุณหภูมิบริเวณขั้วโลกเหนือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบทศวรรษนี้
สภาวะโลกร้อนได้ทำให้ปริมาณทะเลน้ำแข็งที่ละลายมีมากขึ้นผิดปกติ จนทำให้เหลือแผ่นน้ำแข็งปกคลุมบริเวณมหาสมุทรอาร์กติกน้อยมากที่สุดในรอบ 100 ปี
หรือพูดง่ายๆ ก็คือแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกเหนือมีขนาดเล็กที่สุดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมของเกาะกรีนแลนด์ ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อปีกลายเกาะน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้ละลายน้ำแข็งออกมากลายเป็นน้ำทะเลด้วยปริมาณถึง 220 ลูกบาศก์กิโลเมตร มากกว่าเมื่อสิบปีที่แล้วละลายออกมาแค่ 90 ลูกบาศก์กิโลเมตร น้ำ 1 ลูกบาศก์กิโลเมตรมีปริมาณเท่ากับน้ำ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร (ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์รวมกันเท่ากับ 5 ลูกบาศก์กิโลเมตรเท่านั้น)
เมื่อปีที่แล้วน้ำทะเลมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งเฉพาะเกาะกรีนแลนด์ถึง 220 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร
นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า หากน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายหมด จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น 7 เมตร กลืนกินชายฝั่งรัฐฟลอริดา และประเทศบังกลาเทศที่มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเกือบหมด
ส่วนทางด้านขั้วโลกใต้ หรือทวีปแอนตาร์กติกา ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐ-ชิลี ได้พบว่า ธารน้ำแข็งเป็นจำนวนมากในทางตะวันตกของแอนตาร์กติกาหายไปมากกว่า 60%
นักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซาได้คำนวณว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในตอนนี้ยังเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ธารน้ำแข็งมีศักยภาพเพียงพอที่จะเพิ่มระดับน้ำทะเลของโลกให้มากขึ้นกว่า 1 เมตร แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร
กรุงเทพมหานครของเรา ใครๆ ก็รู้ว่าอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ถึงเมตร บางพื้นที่ก็ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเสียอีก และหากน้ำแข็งทั้งขั้วโลกเหนือและน้ำแข็งที่ปกคลุมทวีปแอนตาร์กติกาบนขั้วโลกใต้พร้อมใจกันละลาย ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นมากกว่า 65 เมตร
กรุงเทพฯคงอยู่ได้เฉพาะบนตึกระฟ้าสูง 20 ชั้นขึ้นไป
เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เชื่อว่า โอกาสที่น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายขนาดนั้นจะเกิดขึ้นได้
แต่ทุกวันนี้ในประเทศอาร์เจนติน่า บริเวณส่วนที่ใกล้กับขั้วโลกใต้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ เมื่อบรรดานักท่องท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกแห่กันมาเฝ้าชมการพังทลายของธารน้ำแข็ง "ไวท์ ไจแอนท์" แห่งอาร์เจนตินา ที่ก่อตัวมาหลายพันปีนี้กำลังจะละลายลงอย่างช้าๆ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการที่ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่มหึมาชิ้นนี้พังทลายลง ย่อมเป็นสัญญาณที่เชื่อมถึงภาวการณ์โลกร้อนที่กำลังวิกฤตขึ้นทุกขณะ
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญเรื่องภาวะโลกร้อน ได้อธิบายให้อย่างน่าฟังว่า น้ำแข็งมีความสำคัญกับระบบนิเวศวิทยาอย่างมากโดยทำหน้าที่คล้าย "ป่า" ในเขตหนาว
หากเปรียบว่าป่าเสมือนฟองน้ำที่คอยอุ้มน้ำ แล้วค่อยๆ ปล่อยน้ำออกมา "น้ำแข็ง" ก็เป็นเสมือนฟองน้ำที่ชะลอการไหลบ่าของกระแสน้ำ และเมื่อถึงหน้าร้อนน้ำแข็งก็ละลายเป็นน้ำไหลไปรวมเป็นลำธาร และแม่น้ำหล่อเลี้ยงสายต่างๆ หล่อเลี้ยงผู้คนทั่วโลก
แม่น้ำโขงก็มีต้นกำเนิดส่วนหนึ่งมาจากน้ำแข็งบนยอดเขาหิมาลัย ที่ละลายตัวเองออกมากลายเป็นสายน้ำโขง ก่อนจะมารวมกับน้ำจากลำธารต่างๆ ที่มีต้นกำเนิดมาจากป่าดิบ
อย่างไรก็ดี ดร.อานนท์บอกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ น้ำแข็งของโลกที่ประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ น้ำแข็งขั้วโลก น้ำแข็งบนยอดเขา และน้ำแข็งในทะเล เกิดปรากฏการณ์น้ำแข็งละลายมากผิดปกติ โดยน้ำแข็งมีการแตกตัวเป็นก้อนเล็กๆ เพิ่มมากขึ้น ส่วนก้อนเล็กๆ ที่มีอยู่เดิมก็หายไป ขณะที่น้ำแข็งบนยอดเขาก็ละลายเพิ่มมากขึ้น โดยสังเกตได้ชัดจากการเก็บภาพถ่ายมาเปรียบเทียบ และน้ำแข็งในทะเลก็บางลง แม้กระทั่งยอดเขาเอเวอเรสต์ก็มีรายงานว่า หิมะและน้ำแข็งที่เกาะอยู่ตามแนวเขาลดน้อยลงทุกขณะ
ระดับน้ำทะเลจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนแก่พื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วโลก อุณหภูมิของกระแสน้ำในมหาสมุทร ความชื้นในอากาศและการไหลเวียนของอากาศโลก เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สมดุลกัน
ทุกวันนี้หากถามว่าใครคือผู้ร้ายที่ทำให้โลกร้อนขึ้น คำตอบก็คือก๊าซคาร์บอนที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากผืนโลกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศนั้นเป็นตัวป้องกันไม่ให้รังสีจากดวงอาทิตย์ผ่านทะลุออกนอกโลกไปได้ เฉกเช่นเดียวกับเราอยู่ในรถหรือเรือนกระจกที่ความร้อนไม่อาจระบายออกไปได้ ดังนั้นจึงเรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า "เรือนกระจก" ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านอากาศและอุณหภูมิโดยรวมทั่วโลก เป็นเหตุให้อากาศร้อนขึ้น จนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย
และไม่ค่อยมีคนรู้ว่าพื้นผิวของน้ำแข็งขั้วโลกทำหน้าที่สะท้อนรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์กลับสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 90% ขณะที่น้ำในมหาสมุทรกลับดูดเอาความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ถึง 90% เช่นกัน
หรือพูดง่ายๆ ว่า ยิ่งโลกมีพื้นผิวน้ำแข็งน้อยลงเท่าใด โลกก็ร้อนมากขึ้น เพราะน้ำแข็งสะท้อนความร้อนออกสู่นอกโลกได้ดีกว่าน้ำทะเลมั่กๆ
แต่ถามว่ามนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกเมื่อใด
เด็กนักเรียนก็คงทราบดีว่าเมื่อประมาณร้อยปีก่อน เมื่อมีการค้นพบน้ำมันเป็นครั้งแรกในโลก จนถึงทุกวันนี้ที่น้ำมันเบนซินลิตรละเกือบ 30 บาท เราก็ยังแย่งกันซื้อ จนน้ำมันขาดแคลน
Science วารสารวิชาการชื่อดังของโลก ได้ทำนายว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้เราอาจจะได้เห็นน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 6 เมตร เพราะความหายนะมักมาเยือนเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้มาก
วันหนึ่งที่ไม่นานเกินรอ หากเกิดปรากฏการณ์ น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว ก็คงรู้ว่าคนกันเองทั้งนั้นที่เป็นต้นเหตุ
เราเตือนคุณแล้ว
www.palungjit.com ที่มา