คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ [email protected]
สมัยที่ผมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา ผมจะชอบวิชาวิทยาศาสตร์มากเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณครูประกอบ นวลละออง ซึ่งท่านเป็นครูวิชาวิทยาศาสตร์ของผมในสมัยนั้นชอบเล่าเรื่อง คุณครูประกอบจะเล่าเรื่องของนักวิทยาศาสตร์ดังๆ หลายท่าน ที่ผมจำได้อย่างแม่นยำที่สุดก็คือคุณครูเล่าเรื่องของโทมัส อัลวา เอดิสัน การคิดค้นการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ของเขากว่าจะประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าสำเร็จ เอดิสันก็ต้องทดลองอะไรต่างๆ มากมายแสนสาหัส
ฟังดูเหมือนแสนสาหัส แต่ถ้าเอดิสันรู้สึกว่า "สาหัส" เขาก็คงไม่ทำ การที่เขายังสนุกสนานอยู่กับการค้นคว้าสิ่งต่างๆ นั้น แสดงว่า "เขาน่าจะไม่ได้รู้สึกว่าหนักหนาสาหัส" กับการกระทำของเขากระมัง
และสิ่งที่ผมฝังใจมากสำหรับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คุณประกอบสอนไว้ก็คือ "ต้องช่างสังเกต" แต่ในทางปฏิบัติ ด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่ทราบ ผมกลับไม่สามารถนำพาให้ชีวิตจริงๆ มี "การสังเกต" อย่างจริงๆ จังๆ ได้ เพียงคิดและรู้และก็เข้าใจว่า "นักวิทยาศาสตร์ต้องเป็นคนช่างสังเกต" และผมเพิ่งกลับมานึกถึงคำว่า "สังเกต" ของคุณครูประกอบได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อสามสี่ปีนี้เอง
ในครั้งนั้นท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ได้พูดถึง "ทฤษฎีตัวยู" (อักษร U ในภาษาอังกฤษ) ในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง เป็น "ทฤษฎี U" ที่เขียนอยู่ในหนังสือที่ชื่อ "Presence" ซึ่งเขียนโดยนักปรัชญาทางสังคมดังๆ หลายท่าน เช่น ปีเตอร์ เซ็งเก, โจเซฟ จาวอสกี้, ออตโต ชาร์มเมอร์ และเบตตี้ ชูว์
ในหนังสือเล่มนี้พูดถึง "ทฤษฎี U" ว่าเป็นกลไกการเรียนรู้ที่สำคัญของมนุษย์ในการที่จะ "ไม่เลือกใช้" สิ่งที่รู้อยู่เดิมๆ เก่าๆ แบบปฏิกิริยา เช่น ถ้าเราได้รับรู้อะไรบางอย่างเข้ามามนุษย์ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกสิ่งเดิมๆ พฤติกรรมเดิมๆ ในการมีปฏิกิริยาต่อสิ่งนั้น สมมุติว่าเห็นคนแต่งตัวโทรมๆ ไว้หนวดเครารุงรังและหน้าดุร้ายเดินเข้ามาหาเรา เราก็มักจะต้องกลัวว่าเขาจะมาทำร้ายไว้ก่อน เป็นต้น
ในทฤษฎียูนั้นบอกว่า ถ้าเราไม่ตัดสินเรื่องราวแบบรวดเร็วเกินไปนัก เฝ้ารอและลองดำดิ่งลงไปที่ "ก้นตัวยู" เราอาจจะได้ "ทางเลือก" อะไร "ใหม่" ที่ก่อเกิดขึ้นมาในความคิดของเราได้
ที่ "ก้นตัวยู" นั้นจะมี "การก่อเกิด" ของสิ่งใหม่ที่ อ.หมอประเวศใช้คำว่า "ผุดบังเกิด" หรือ "โผล่ปรากฏ" เกิดขึ้นมาเหมือนกับที่นักวิทยาศาสตร์อย่างเอดิสันเกิดปิ๊งแว้บในงานทดลองของเขาอยู่เนืองๆ เหมือนอย่างที่อาคิมิดิสร้องคำว่ายูเรก้า เมื่อล้มตัวลงไปในอ่างน้ำ หรืออื่นๆ
และขั้นตอนสำคัญที่สุดที่จะเดินลงไปสู่ "ก้นตัว U" ได้ก็คือ ต้องไต่ไปตาม "ขาลงของตัว U" และขาลงของตัวยูนั้น จะต้องเริ่มต้นด้วย "การสังเกต สังเกต และสังเกต" ซึ่งออตโต ชาร์มเมอร์ ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎียูได้เขียนไว้ที่ขาลงตัวยูด้วยคำว่า "observe, observe and observe" ย้ำสามครั้งตามสไตล์เยอรมันของแท้
ตรงนี้เองที่คำว่า "สังเกต" ได้กลับเข้ามาในชีวิตของผมอีกครั้งหนึ่งว่า "การสังเกต" นั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของมนุษย์ธรรมดาๆ อย่างผมและท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านด้วย อาจจะไม่ต้องรอให้เป็น "นักวิทยาศาสตร์" เท่านั้นที่จะต้องมีทักษะของการสังเกต
ถึงตรงนี้ก็อาจจะมีคำถามนะครับว่า "สังเกตอะไรหรือ?" ก็คงจะตอบว่า "สังเกตทุกสิ่งทุกอย่าง" ที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ เวลานี้เดี๋ยวนี้ว่ามีอะไรบ้าง
สังเกตเพื่อการรับรู้เต็มร้อยกับสถานการณ์หนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นในตัวเราและรอบๆ ตัวเรา เช่น
สังเกตว่าขณะนี้ร่างกายของเราเป็นอย่างไร ส่วนไหนตึง ส่วนไหนปวดเมื่อย ส่วนไหนสบายๆ ลมหายใจของเราเป็นอย่างไร ช้าหรือเร็ว ลึกหรือตื้น เรากำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ เรากำลังรู้สึกอย่างไร อารมณ์ของเราเป็นอย่างไร
จากนั้นก็อาจจะสังเกตสิ่งรอบๆ ตัว อากาศเป็นอย่างไร ร้อนหรือหนาวหรือพอดีๆ มีลมพัดหรือไม่อย่างไร มองเห็นอะไรอยู่ ได้ยินเสียงอะไรอยู่ กำลังได้กลิ่นอะไรอยู่ รับรู้สิ่งที่เห็นพร้อมๆ กับสังเกตปฏิกิริยาที่ร่างกายของเราที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วินาทีหรือไม่กี่นาที
ลองสังเกตทุกอย่างในทุกกิจกรรมของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การนั่ง การกินอาหาร การขับรถ การประชุม หรืออื่นๆ เพราะ "การสังเกต" จะช่วยให้เรา "มองเห็น" สิ่งที่ "เราเคยมองไม่เห็น" มาก่อน ทำให้เราได้ "รับรู้" สิ่งที่เราไม่เคยได้รับรู้มาก่อน ช่วยทำให้ "จุดบอด" ในชีวิตของเราหายไป ผมมีสมมติฐานอยู่ว่า ปัญหาต่างๆ ของพวกเราแต่ละคนก็มักจะอยู่ใน "จุดบอด" ที่เรามองไม่เห็นนั่นเอง
"การสังเกต" ยังจะช่วยทำให้เราได้ "รับรู้ถึงความสดใหม่เสมอ" ของการมีชีวิตเพราะแต่ละวินาทีแต่ละนาที ร่างกายของเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ต่อเมื่อเราสังเกตเราจึงจะมองเห็น
ในเบื้องต้นนั้น เราเพียงฝึกสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่เป็นไปเท่านั้น ยังไม่ต้องพยายามที่จะไปทำอะไร เพราะการสังเกตเป็นเหมือนประตูเข้าไปสู่ก้นตัวยู เราจะสามารถคิดอะไรดีๆ ออก ต่อเมื่อเราสามารถดำดิ่งลงไปถึงก้นตัวยูได้เท่านั้น นอกจากนั้นที่ก้นตัวยู เราจะยังได้พบกับ "ความหมายที่แท้จริงของชีวิต" ของเราอีกด้วย
ทิม กัลเวย์ ผู้เขียนหนังสือที่เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญอีกท่านหนึ่งพูดถึง "การตื่นรู้เมื่อเราสังเกต" ไว้ว่า เหมือนกับการที่เราฉายแสงส่องไฟไปยังส่วนที่มืดของชีวิตของเรา
และเมื่อเรามองเห็นเราจึงจะสามารถเกิดความสนุก ความสุข และความเบาสบาย อย่างที่ควรจะเป็น อย่างที่มนุษย์ทุกคนจะสามารถสัมผัสได้
ต่อเมื่อเรา "สังเกตเป็น" เท่านั้นเราจึงจะสามารถ "ใช้ชีวิตได้เต็มร้อยจริงๆ"
ก่อนที่สิ่งต่างๆ รอบตัวของยุคสมัยใหม่จะทำให้เรากลายไปเป็นหุ่นยนต์ "ที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไร" กับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในตัวและรอบๆ ตัวเรา
ซึ่งจะค่อยๆ ทำให้เรากลายไปเป็น "สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีชีวิต" ไปได้อย่างน่าเสียดาย
***ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11103 , หน้า 6
สังเกต, สังเกต และสังเกต 'Observe, observe and observe'
เริ่มโดย kuna, Aug 03 2008 06:02 PM
มี 4 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้
#1
โพสต์เมื่อ 03 August 2008 - 06:02 PM
#2
โพสต์เมื่อ 04 August 2008 - 01:30 PM
ในพระพุทธศาสนาเรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาอย่างแยบคาย
#3
โพสต์เมื่อ 05 August 2008 - 09:00 PM
สาธุ
#4
โพสต์เมื่อ 11 August 2008 - 03:28 AM
ดีจัง ขอบคุณเจ้าของกระทู้คับ
#5
โพสต์เมื่อ 11 August 2008 - 12:30 PM
เป็นกระทู้ที่ดีมากครับ
ผมชอบประโยคนี้มากครับ
แต่คิดต่างในประเด็นที่ว่า
การสังเกต อาจทำให้เรามองเห็น จุดบอด ได้ก็จริง
แต่
เพียงแค่ช่วยให้เรา มองเห็น จุดบอด ที่มีอยู่ เท่านั้น
เพียงแค่ช่วยให้เรา มองเห็น จุดบอด ไม่เคยเห็น หรือไม่เคยมองมาก่อนเท่านั้น
ไม่ถึงกับช่วยทำให้ จุดบอด หายไป หรอกกระมังครับ
ไม่อย่างนั้น หากมนุษย์มองเห็นข้อผิดพลาด สาเหตุความทุกข์ สาเหตุของปัญหางานและสุขภาพ
ก็คงหมดปัญหา หมดทุกข์ ร่างกายก็แข็งแรง ได้แล้วสิ
ผมมองว่า
การสังเกต จนมองเห็นจุดบอด ( สาเหตุปัญหาและความทุกข์ ) ตามทฤษฎีของนักคิดนั้น
ในทางพระพุทธศาสนา คงเสมือน เห็นอริยสัจ แค่ ๒ คือ ทุกข์และสมุทัย เท่านั้น
แค่ ๒ อย่างนี้ยังไม่สามารถดับทุกข์ หรือ ทำให้จุดบอดในชีวิตหายไปได้หรอกครับ
เพราะยังขาดอริยสัจ อีก ๒ คือ นิโรธและมรรค ครับ
QUOTE
" การสังเกต" จะช่วยให้เรา "มองเห็น" สิ่งที่ "เราเคยมองไม่เห็น" มาก่อน
ทำให้เราได้ "รับรู้" สิ่งที่เราไม่เคยได้รับรู้มาก่อน ช่วยทำให้ "จุดบอด" ในชีวิตของเราหายไป
ทำให้เราได้ "รับรู้" สิ่งที่เราไม่เคยได้รับรู้มาก่อน ช่วยทำให้ "จุดบอด" ในชีวิตของเราหายไป
ผมชอบประโยคนี้มากครับ
แต่คิดต่างในประเด็นที่ว่า
การสังเกต อาจทำให้เรามองเห็น จุดบอด ได้ก็จริง
แต่
เพียงแค่ช่วยให้เรา มองเห็น จุดบอด ที่มีอยู่ เท่านั้น
เพียงแค่ช่วยให้เรา มองเห็น จุดบอด ไม่เคยเห็น หรือไม่เคยมองมาก่อนเท่านั้น
ไม่ถึงกับช่วยทำให้ จุดบอด หายไป หรอกกระมังครับ
ไม่อย่างนั้น หากมนุษย์มองเห็นข้อผิดพลาด สาเหตุความทุกข์ สาเหตุของปัญหางานและสุขภาพ
ก็คงหมดปัญหา หมดทุกข์ ร่างกายก็แข็งแรง ได้แล้วสิ
ผมมองว่า
การสังเกต จนมองเห็นจุดบอด ( สาเหตุปัญหาและความทุกข์ ) ตามทฤษฎีของนักคิดนั้น
ในทางพระพุทธศาสนา คงเสมือน เห็นอริยสัจ แค่ ๒ คือ ทุกข์และสมุทัย เท่านั้น
แค่ ๒ อย่างนี้ยังไม่สามารถดับทุกข์ หรือ ทำให้จุดบอดในชีวิตหายไปได้หรอกครับ
เพราะยังขาดอริยสัจ อีก ๒ คือ นิโรธและมรรค ครับ
ใจหยุดที่สุดแห่งบุญ มุ่งสู่ที่สุดแห่งธรรม