[attachmentid=3548]
ผู้ให้ของชอบใจ ย่อมได้ของชอบใจ ผู้ให้ของเลิศ ย่อมได้ของเลิศ ผู้ให้ของดี ย่อมได้ของดี ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ
บุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จ เป็นเครื่องสนับสนุนให้เราได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของทุกๆ คน ไม่ว่าพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายจะเกิดมากี่ภพกี่ชาติ ท่านมุ่งสั่งสมบุญทุกอย่าง ตั้งแต่บารมี ๑๐ ทัศ จนเป็นอุปบารมีและปรมัตถบารมี เมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยมก็ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐ เราเองควรหาโอกาสสั่งสมบุญเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรม ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งเป็นมหัคคตกุศล จะเป็นเหตุให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันทุกคน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน มนาปทายีสูตร ว่า
“ผู้ให้ของชอบใจ ย่อมได้ของชอบใจ ผู้ให้ของเลิศ ย่อมได้ของเลิศ ผู้ให้ของดี ย่อมได้ของดี ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ”
การให้เป็นพื้นฐานของการทำความดี เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบารมี ๑๐ ทัศ อันก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตัวเราและมวลมนุษยชาติ การให้เป็นวิสัยของบัณฑิต เป็นวิธีการสั่งสมบุญที่ทำได้ง่ายที่สุด ที่จะนำไปสู่การได้ชีวิตอันประเสริฐ คือ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุข บุญจึงเป็นเครื่องอำนวยความสุข และความสำเร็จมาสู่ชีวิต
ทานบารมีเป็นบารมีประการแรกในบารมี ๑๐ ทัศ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องสั่งสมไว้ให้มาก เพราะการไปสู่ที่สุดแห่งธรรมนั้น ไม่ใช่ไปได้ง่าย ต้องอาศัยกำลังบุญบารมีมากๆ ต้องมีความบริสุทธิ์มากๆ จึงจะไปได้ บารมี ๓๐ ทัศต้องเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ จะครบถ้วนบริบูรณ์ได้ต้องสั่งสมบุญ เริ่มจากต้องมีโภคทรัพย์สมบัติให้มากๆ พอที่เราจะให้ทานได้โดยไม่เดือดร้อน อีกทั้งมีเหลือเฟือที่จะแบ่งปันให้กับเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์
ทานบารมีจะเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ให้เราได้สร้างบารมีประการอื่นๆ อย่างสะดวกสบาย บารมีประการอื่นจะเต็มเปี่ยมได้ ต้องเริ่มจากทานบารมี พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านจะสอนศิษยานุศิษย์ตลอดเวลา ตั้งแต่ ครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ว่า “จะสร้างบุญบารมีอะไรทำไปเถิด แต่อย่าขาดทานบารมี” แม้ตัวท่านเองก็ทำเป็นแบบอย่างให้เราดู นักปราชญ์บัณฑิต ท่านเริ่มก้าวเข้าสู่ความสมบูรณ์ของชีวิตด้วยการให้ทาน
*เหมือนในสมัยหนึ่งมีหนุ่มเข็ญใจชื่อ อันนภาระ รับจ้างเกี่ยวหญ้าให้ ท่านสุมนเศรษฐี วันหนึ่ง ระหว่างที่กำลังหาบหญ้ากลับบ้านด้วยความอ่อนเพลีย ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าบิณฑบาตผ่านมา เกิดกุศลจิตศรัทธาอยากจะทำบุญ จึงวางหาบหญ้าลง แล้วรีบขึ้นไปบนบ้าน เพื่อหาอาหารมาใส่บาตรพระ
แม้อันนภาระจนทรัพย์ แต่ไม่จนปัญญา เขาสอนตนเองว่า บางวันเราอยากจะทำบุญ ไทยธรรมที่จะถวายก็มีพร้อม แต่ไม่มีปฏิคาหกผู้รับทาน วันนี้มีทั้งปฏิคาหกและอาหารที่จะถวายก็พร้อม เราเองก็มีจิตเลื่อมใส จะต้องรีบทำบุญให้ทาน เพื่อตัดความตระหนี่ ออกจากใจ แม้เราจะอดข้าวมื้อนี้ แต่จะไม่ยอมสูญเสียโอกาสบุญที่มาถึง จากนั้นได้ถวายอาหารทั้งหมด พลางตั้งจิตอธิษฐานว่า “ด้วยอานิสงส์ที่ถวายทานขาดจากใจในครั้งนี้ ขออย่าได้เจอคำว่า ไม่มี อีกต่อไปเลย และขอให้พ้นจากความลำบากยากเข็ญนี้ด้วยเถิด”
พระปัจเจกพุทธเจ้าได้อนุโมทนาให้อันนภาระสมหวังใน สิ่งที่ปรารถนาทุกประการ เทวดาที่สิงสถิตอยู่บนฉัตรของสุมนเศรษฐี ได้ให้สาธุการเสียงดังกึกก้อง จนท่านเศรษฐีถึงกับเกิดความสงสัย จึงถามว่า “เราทำบุญมาทุกวัน ทำไมเทวดาถึงให้สาธุการเฉพาะในวันนี้ล่ะ”
เทวดาตอบว่า “เราไม่ได้ให้สาธุการแก่ท่าน แต่เราอนุโมทนาบุญกับอันนภาระ ที่ได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญอันเลิศ เพราะเขาได้ตัดใจถวายภัตตาหารที่ตนเองจะรับประทาน ให้แก่ทักขิไณยบุคคล ส่วนตนเองยอมอด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในโลก” เศรษฐีได้ฟังแล้วอัศจรรย์ใจเกิดมหาปีติ ได้อนุโมทนากับอันนภาระ อีกทั้งให้ทรัพย์จำนวนมากไปสร้างบ้าน และให้เขา ไม่ต้องมาเป็นคนรับใช้อีกต่อไป
ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายทานตัดขาดออกจากใจ ทำบุญชนิดทุ่มสุดใจ โดยไม่กลัวอด ทำให้กิตติศัพท์อันดีงามของอันนภาระขจรขจายไปทั่วทั้งเมือง
กระทั่งพระราชาได้สดับคุณความดีของเขาด้วย ทรงรับสั่งให้มาเข้าเฝ้าเพื่ออนุโมทนากับอันนภาระ และพระราชทานตำแหน่งเศรษฐี พร้อมทรัพย์สมบัติจำนวนมาก ทำให้อันนภาระได้ทำบุญใหญ่ไปจนตลอดชีวิต และพ้นจากความยากลำบากในชาตินั้น พลิกผันชีวิตจากคนจนเข็ญใจ มาเป็นมหาเศรษฐี มีสมบัติเกิดขึ้นเป็นอัศจรรย์ทันใช้ในชาตินั้น
เมื่อละโลกไปแล้ว บุญยังตามส่งผลอีก ทำให้ท่านไปเสวยสุขอยู่ในเทวโลก เป็นเทพบุตรที่มีรัศมีสว่างไสวรุ่งเรือง พรั่งพร้อมด้วยทิพยสมบัติ และความเป็นใหญ่อันเป็นทิพย์ เมื่อถึงคราวมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และเป็นมหาเศรษฐีอีกนับชาติไม่ถ้วน ไม่เคยตกไปในอบายภูมิเลย
จนกระทั่งมาถึงสมัยพุทธกาล ท่านได้เกิดในตระกูลกษัตริย์ มีพระนามว่า เจ้าชายอนุรุทธะ ครั้งหนึ่งท่านได้เล่นกีฬากับพระสหาย ด้วยการเอาขนมเป็นรางวัลสำหรับผู้ชนะ เมื่อท่านทรง พ่ายแพ้ ได้สั่งมหาดเล็กให้ไปขอขนมกับพระมารดา พระมารดาส่งขนมมาให้หลายครั้งจนหมด จึงฝากบอกว่า “ตอนนี้ขนมไม่มีแล้ว”
เจ้าชายอนุรุทธะทรงเข้าใจว่า คงจะเป็นชื่อของขนมชนิดหนึ่ง จึงให้มหาดเล็กไปเอาขนมไม่มีมาให้เสวย พระมารดาทรงดำริว่า ลูกของเราไม่เคยได้ยินคำว่า “ไม่มี” เพราะตั้งแต่เกิดมาอยากได้อะไรก็ได้ทุกอย่าง พระนางต้องการให้โอรสได้รู้จักคำว่า “ไม่มี” จึงส่งถาดเปล่า เอาฝาครอบไปให้
แต่เนื่องจากท่านสั่งสมบุญด้วยการให้ทานไว้มาก เทวดาจึงเนรมิตขนมทิพย์จนเต็มถาด เมื่อเจ้าชายเปิดออก กลิ่นหอมของขนมได้หอมฟุ้งไปทั่ว เมื่อเจ้าศากยะลองลิ้มรส ขนมทิพย์ รสได้แผ่ซ่านไปทั่วประสาทรับรสทั้ง ๗ พัน ต่างติดอกติดใจขนม “ไม่มี” ชนิดนี้ เจ้าชายอนุรุทธะจึงขอร้องให้พระมารดาส่งขนม “ไม่มี” อย่างเดียวเท่านั้นมาให้เสวย พระมารดาเข้าใจทันทีว่า “ลูกของเรามีบุญมาก เทวดาถึงมาเนรมิตขนมทิพย์ให้เสวย”
ตั้งแต่นั้นมาเจ้าชายอนุรุทธะได้เสวยขนมทิพย์ โดยที่พระองค์ก็ไม่รู้ว่าเทวดาเนรมิตให้ ต่อมาเมื่อถึงคราวออกผนวช ด้วยบุญกุศลที่ท่านสั่งสมมาดีแล้ว ส่งผลให้ท่านบรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์อย่างง่ายดาย และเป็นอริยสาวกผู้เลิศทางด้าน ทิพยจักษุ มีตาทิพย์เห็นแจ้งตลอดทั่วพันโลกธาตุ
เราจะเห็นว่า กว่าชีวิตจะดำเนินมาถึงจุดหมายปลายทางได้นั้น นักปราชญ์บัณฑิตท่านมีจุดเริ่มต้นมาจากการให้ทาน ให้เพื่อสละความตระหนี่ออกจากใจ แล้วสมบัติใหญ่จะตามมา การจะวัดว่าใครมีบุญมาก ไม่ได้มองกันที่ว่าได้ถวายทานในปริมาณมาก แม้มีทรัพย์น้อย แต่หากว่าทุ่มสุดหัวใจ โดยไม่เสียดายทรัพย์เลย อย่างนี้จะได้บุญมากมายมหาศาล เขาวัดการทำบุญกันตรงนี้ ถึงคราวบุญส่งผลจะให้ผลเกินควรเกินคาดเป็นอัศจรรย์
มหาเศรษฐีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยพุทธกาล ที่มีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่องหลายท่าน ล้วนแต่เคยทำบุญในยามยากทั้งนั้น อุปสรรคความยากลำบากนี่แหละ จะเป็นเครื่องวัดกำลังใจของแต่ละคน วัดกำลังสติปัญญาว่า ใครมีปัญญาที่จะดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จไปทุกภพทุกชาติ จนกระทั่งได้บรรลุจุดหมายปลายทางของชีวิต บางคนมองใกล้ๆ ก็เอาดีเฉพาะในภพชาตินี้ แต่คนมีปัญญาเขามองกันข้ามชาติ และมองข้ามไปอีกหลายๆ ชาติว่า ถ้าหากมีทรัพย์แค่นี้ ทำอย่างไรถึงจะทำบุญชาติเดียวแล้วใช้ได้หลายภพหลายชาติ ตายแล้วยังใช้ได้อีก เกิดใหม่ยังใช้ได้อีก คนมีปัญญาเขาจะคิดกันอย่างนี้ ถ้ามองกันอย่างนี้ จะได้ไม่ประมาท และทุ่มเทสั่งสมบุญอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เพื่อเป็นเสบียงติดตัวไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน
*มก. ประวัติพระอนุรุทธเถระ เล่ม ๓๒ หน้า ๓๐๔