ไปที่เนื้อหา


รูปภาพ
- - - - -

สัมมาทิฏฐิ ( ๗ )


  • คุณไม่สามารถตั้งกระทู้ใหม่ได้
  • กรุณาลงชื่อเข้าใช้เพื่อตอบกระทู้
ไม่มีการตอบกลับในกระทู้นี้

#1 kuna

kuna
  • Members
  • 780 โพสต์
  • Gender:Male

โพสต์เมื่อ 27 January 2006 - 05:58 PM

[attachmentid=1653]

เรือของพ่อค้า บรรทุกสินค้าหนักเกินประมาณ ย่อมนำสินค้าอันหนักยิ่ง จมลงในมหาสมุทร ฉันใด นรชนสั่งสมบาปกรรมทีละน้อยๆ ก็ย่อมพาเอาบาปอันหนักยิ่ง ให้จมลงในนรก ฉันนั้น
การหมั่นฝึกฝนอบรมตนเอง เป็นรากฐานของการพัฒนาทั้งปวง ประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ถือเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมชีวิตของเราให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เหมือนเพชรกว่าจะฉายแสงแวววาว เป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจของผู้ได้พบเห็น ก็เพราะผ่านการเจียระไนครั้งแล้วครั้งเล่า
บนเส้นทางของการสร้างบารมีให้เป็นผู้สมบูรณ์พร้อมในทุกๆ ด้าน บางครั้งอาจต้องล้มลุกคลุกคลานบ้าง โดยที่เราไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร และไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ทุกอย่างดูมืดมนอนธการไปหมด การทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งใจสงบอยู่ภายใน จะทำให้เราพบทางออก และมองเห็นช่องทางแห่งความสำเร็จได้แน่นอน
มีธรรมภาษิตใน มหานารทกัสสปชาดก ว่า
“เรือของพ่อค้า บรรทุกสินค้าหนักเกินประมาณ ย่อมนำสินค้าอันหนักยิ่ง จมลงในมหาสมุทร ฉันใด นรชนสั่งสมบาปกรรมทีละน้อยๆ ก็ย่อมพาเอาบาปอันหนักยิ่ง ให้จมลงในนรก ฉันนั้น”
ปัจจุบันมีหลายคนที่ประมาทพลาดพลั้งไปทำบาปอกุศล ทั้งที่มีเจตนาและไม่มีเจตนา ที่ไม่เจตนาเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เมื่อทำบ่อยๆ ก็กลายเป็นความคุ้นเคย เหมือนแมลงวันที่คุ้นเคยกับของเน่าเหม็น ในที่สุดอาจกลายเป็นผู้เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชั่วเป็นดี เพราะไม่เห็นผลของการทำบาปเกิดขึ้นในทันที จนบางครั้งอาจกลายเป็น เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ที่เป็นเช่นนี้ เพราะไม่เข้าใจในเรื่องบาปบุญคุณโทษอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ได้ตระหนักถึงชีวิตหลังความตาย และกฎแห่งการกระทำว่า มีความสลับซับซ้อนเพียงไร จึงได้ประมาท โดยถือการกระทำที่ตนได้รับผลประโยชน์ในปัจจุบันเป็นหลัก นำสติปัญญาความสามารถไปทำเรื่องผิดศีลผิดธรรม ครั้นได้ทรัพย์สินเงินทองมามากมาย จึงเหมาว่าสิ่งที่ได้ทำไปนั้น ดีแล้ว ถูกต้องแล้ว ทำให้ยิ่งทำบาปอกุศลเพิ่มขึ้น โดยไม่รู้ว่า วันข้างหน้าสมบัติจะกลายเป็นวิบัติ เหมือนเรือที่บรรทุกของหนักเกินไป สุดท้ายย่อมต้องจมลงสู่ทะเลลึกฉะนั้น
การทำบาปที่ไม่หนักถึงขั้นเป็นอนันตริยกรรม ซึ่งเป็น ครุกรรม ก็ใช่ว่าจะส่งผลให้เห็นในภพชาตินี้ บาปอกุศลบางอย่างที่เราทำไป แม้จะยังไม่ส่งผลในชาตินี้ หรือชาติหน้ายังไม่ทันส่งผลก็มี เพราะบุญยังคุ้มอยู่ แต่จะส่งผลในชาติต่อๆ ไป การให้ผลของกรรม ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมจึงมีความซับซ้อนมาก ต้องอาศัยการทำใจให้หยุดนิ่ง จนได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย และอาศัยธรรมจักษุและญาณทัสสนะของพระธรรมกาย ตรวจตราดู จึงจะรู้ว่า วิบากที่เกิดในปัจจุบัน มาจากกรรมอะไร และกรรมที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลเป็นวิบากอย่างไรต่อไปในอนาคต
สำหรับตอนนี้ เรามาศึกษาเรื่องของสัมมาทิฏฐิกันต่อ ได้เล่าค้างไว้ถึงตอนที่พระราชธิดาแสดงปัญญาอันเฉียบแหลม เพื่อแก้ไขความเห็นผิดของพระราชบิดาให้หันกลับมาเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล แต่ดูเหมือนว่า พระราชบิดาจะยังไม่เชื่อทันที เพราะทรงมีพระทัยคล้อยตามคำสอนของคุณอเจลกะ

*พระเจ้าอังคติราชทรงแย้งว่า “ลูกหญิง แม้สิ่งที่ลูกพูดมานั้นจะถูกต้อง แต่พ่อได้เห็นตัวอย่างที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี อย่างทาสชื่อวีชกะคนนี้”
พระราชธิดาสดับเช่นนั้น ก็ระลึกชาติไปดูว่า ทาสวีชกะทำกรรมอะไรไว้ จึงได้มาเกิดเป็นทาสผู้รับใช้ พระนางพบว่าในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ทาสวีชกะนี้เคยเกิดเป็นนายโคบาล วันหนึ่ง เขาเที่ยวตามหาโคถึกที่หลงหายเข้าไปในป่า ขณะสอดส่ายสายตาหาโคด้วยความกระวนกระวายใจ มีพระเดินทางหลงป่าเข้ามาถามทางกับเขา แต่ด้วยความจดจ่อที่จะหาโคให้พบ จึงไม่ได้ใส่ใจที่จะตอบ เมื่อถูกพระถามซ้ำอีก จึงโกรธและด่าท่านว่า “ทำไมพระรูปนี้ชอบถามเซ้าซี้ สงสัยคงจะเคยเป็นทาสมาก่อน” ซึ่งปกตินายโคบาลเป็นคนใจบุญคนหนึ่ง เขาชอบทำบุญถวายทานแด่พระสงฆ์บ้าง ช่วยเหลือยาจกผู้ยากไร้บ้าง แต่ด้วยความหงุดหงิด ทำให้เขาพลั้งปากพูดไปเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ก่อนตายเขานึกถึงบุญกุศลที่เคยทำได้ บุญจึงส่งผลให้ได้เกิดเป็นลูกของเศรษฐีในเมืองสาเกต ด้วยความเป็นคนที่คุ้นกับการทำความดีอยู่แล้ว แม้ได้เป็นเศรษฐี ก็ยินดีในการทำทานเสมอมา มาในชาตินี้ กรรมที่เคยด่าพระตามมาทัน ทำให้ต้องเกิดเป็นทาส เมื่อทาสวีชกะไม่รู้ความจริงของชีวิตอย่างถ่องแท้ จึงเหมาว่า ทำความดีแล้วไม่ได้ดี หลังจากพระธิดาติเตียนอลาตเสนาบดีและทาสวีชกะแล้ว จึงตรัสสรรเสริญพระบิดาว่า “ขอเดชะ พระองค์มีพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ จะมาเป็นเช่นพวกคนพาลที่มีทิฏฐิเลวทรามได้อย่างไร ถ้าสัตว์จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ การบวชของคุณอเจลกะก็ไร้ประโยชน์ เมื่อการบวชไร้ประโยชน์ ทำไมคุณอเจลกะจึงต้องละกามคุณ ๕ ออกบวชเป็นชีเปลือยที่ไม่มีความละอายด้วยเล่า และการที่คุณอเจลกะมีความเห็นเช่นนี้ ก็เพราะถูกโมหะครอบงำ เหมือนแมงเม่า เห็นไฟลุกโพลงในเวลากลางคืน ไม่รู้ถึงทุกข์ใหญ่ที่มีอยู่ในกองไฟนั้น จึงร่าเริงยินดี กางปีกออกบิน มุ่งหน้าเข้าสู่กองไฟ คุณอเจลกะจะต้องประสบกับความทุกข์ใหญ่อย่างแน่นอน ขอพระองค์อย่าทรงเชื่อถ้อยคำของคนพาลเช่นนั้น เพียงเพราะได้ฟังวาทะของคุณอเจลกะ คนที่ไม่รู้เป็นอันมาก ต่างพากันปฏิเสธกรรมและ ผลของกรรม โทษคือความหายนะ ที่ยึดไว้ผิดในเบื้องต้น ก็ยากที่จะเปลื้องได้ เหมือนปลาติดเบ็ด ยากที่จะเปลื้องตนออกจากขอเบ็ดได้
ข้าแต่พระบิดา เรือของพ่อค้าที่บรรทุกสินค้าหนักเกินไป ย่อมสามารถจมลงในมหาสมุทรได้ ฉันใด นรชนสั่งสมบาปกรรม ทีละน้อยๆ ย่อมพาบาปอันหนักยิ่ง จมลงในนรกได้ ฉันนั้น บาปอกุศลอันหนักของอลาตเสนาบดียังรอคอยการให้ผลอยู่ แต่ที่เขาได้รับความสุขอยู่ในบัดนี้ เพราะผลบุญที่เคยทำไว้ บัดนี้ ผลบุญของอลาตเสนาบดีใกล้จะหมดแล้ว จึงทำให้ยินดีในอกุศล เมื่ออกุศลกรรมให้ผล เขาย่อมเข้าถึงทุคติอย่างแน่นอน ส่วนนรชนสั่งสมบุญไว้แม้ทีละน้อยๆ ย่อมไปสู่เทวโลก ผู้ยินดีในกุศลกรรม ย่อมไปสู่สวรรค์ เปรียบเหมือนตาชั่งที่กำลังชั่งของ ย่อมต่ำลงข้างหนึ่ง เมื่อเอาของหนักออกเสีย ข้างที่ต่ำย่อมจะสูงขึ้น วีชกทาสนี้ยินดีในกุศลกรรม มีความปราโมทย์ใจ เมื่อบาปกรรมที่เคยทำไว้สิ้นไป เขาจักเข้าถึงเทวโลก พระเจ้าข้า”
พระเจ้าอังคติราชสดับแล้ว ทรงนิ่งไปครู่หนึ่ง ส่วนพระองค์จะเปลี่ยนพระทัยหันมาประพฤติธรรม เพราะพระราชธิดา หรือจะมีใครมาช่วยแก้ทิฏฐิของพระองค์ให้คืนมาได้ เราจะมาติดตามกันในตอนต่อไป

เราจะเห็นได้ว่า การระลึกชาติย้อนหลังได้ ๑ ชาติ อย่าคิดว่าจะทำให้สัมมาทิฏฐิบริบูรณ์ เพราะเรื่องของกรรมมีความสลับซับซ้อนมาก ทั้งต่างกรรมต่างวาระ แต่ละคนได้ทำกรรมแตกต่างกันหลายรูปแบบ วิบากแห่งกรรมของแต่ละคน จึงไม่เหมือนกัน นี่ขนาดระลึกชาติของตัวเองได้ ยังไม่ค่อยเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ฉะนั้น ผู้ที่ยังระลึกชาติไม่ได้ ก็ต้องเชื่อผู้รู้ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ก่อน แล้วใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองกันให้เข้าใจ
เราจะเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องกฎแห่งกรรม ต่อเมื่อลงมือปฏิบัติธรรม จนได้เข้าถึงพระธรรมกาย และอาศัยพระธรรมกายไปศึกษาวิชชาธรรมกาย เมื่อนั้นจึงจะหายสงสัย เพราะฉะนั้น ให้ทุกท่านหมั่นทำใจหยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้ จะได้เข้าใจอย่างแจ่มชัดในกระบวนการ การทำงานของกรรมชนิดต่างๆ เมื่อรู้แล้ว จะได้ช่วยกันขยายสัมมาทิฏฐิเข้าไปในจิตใจของมวลมนุษยชาติทั้งหลาย ให้ชาวโลกได้หันมาประพฤติปฏิบัติธรรม จะได้มีสุคติเป็นที่ไปกันทุกคน

*มก. เล่ม ๖๔ หน้า ๒๑๕

ไฟล์แนบ

  • แนบไฟล์  MO1_27__.jpg   134.81K   14 ดาวน์โหลด