[attachmentid=4666]
แม่น้ำทั้งหลายอันเป็นที่อยู่ของฝูงปลา ย่อมไหลไปสู่ทะเลอันเป็นที่รองรับน้ำใหญ่ เป็นที่ขังน้ำใหญ่ สุดที่จะประมาณได้ และเป็นที่กำเนิดแห่งรัตนะต่างๆ ฉันใด ท่อธารแห่งบุญ ย่อมหลั่งไหลไปสู่บัณฑิต ผู้ให้ทาน มีข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน ที่นั่ง และเครื่องปูลาด เป็นต้น ดุจแม่น้ำทั้งหลายไหลไปสู่ทะเล ฉะนั้น
ชีวิตของคนเรามีขึ้นมีลง มีดีใจ เสียใจ เต็มไปด้วยความผกผัน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก สภาพร่างกายและจิตใจภายใน ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุด คือ การรักษาใจของเราให้มั่นคงเข้มแข็ง มีอารมณ์ดี อารมณ์เดียว อารมณ์สบายให้ได้ตลอดเวลา แม้มีสิ่งภายนอกมากระทบ แต่ก็ไม่กระเทือนเข้ามาในจิตใจ เปรียบเสมือนภูเขาที่บางครั้งมีหิมะปกคลุม บางครั้งมีลมพายุพัดกระหน่ำ บางครั้งมีฝนตกฟ้าร้องฟ้าผ่า ทั้งๆ ที่ภูเขาได้รับความปั่นป่วนรอบด้าน แต่กลับนิ่งเฉย ไม่สะทกสะท้านใดๆ
ชีวิตของเราก็เช่นกัน ต้องหนักแน่นเหมือนดั่งภูผา ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาความยากลำบาก หรือเผชิญกับความวุ่นวายรอบด้าน แต่ถ้าจิตใจเราสงบ สะอาด สว่าง หยุดนิ่งอยู่ภายในตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เราย่อมไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใดๆ เหมือนภูเขาที่ไม่หวั่นไหวต่อแรงลมที่มาจากทิศทั้งสี่ ฉะนั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปฐมปุญญาภิสันทสูตร ว่า
“แม่น้ำทั้งหลาย อันเป็นที่อยู่ของฝูงปลา ย่อมไหลไปสู่ทะเล อันเป็นที่รองรับน้ำใหญ่ เป็นที่ขังน้ำใหญ่ สุดที่จะประมาณได้ และเป็นที่กำเนิดแห่งรัตนะต่างๆ ฉันใด ท่อธารแห่งบุญ ย่อมหลั่งไหลไปสู่บัณฑิต ผู้ให้ทาน มีข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน ที่นั่ง และเครื่องปูลาด เป็นต้น ดุจแม่น้ำทั้งหลายไหลไปสู่ทะเล ฉะนั้น”
ผู้ที่หมั่นสั่งสมความดีอยู่เป็นนิตย์ จิตจะร่าเริงเบิกบานแจ่มใส เพราะกระแสธารแห่งบุญที่หลั่งไหลมาสู่ตัวเรา ทำให้รู้สึกสดชื่นเบิกบาน จิตใจเกลี้ยงเกลาสะอาดบริสุทธิ์ เมื่อเราทำบุญด้วยการให้ทานชนิดต่างๆ รักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ และนั่งสมาธิเจริญภาวนาเป็นประจำ ดวงบุญในตัวย่อมกลั่น กาย วาจา ใจ ให้ใสบริสุทธิ์ จะสว่างไสวยิ่งๆ ขึ้นไป ดวงบุญนี้มีอานุภาพดึงดูดโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ดึงดูดสิ่งที่ดี คนดี เหตุการณ์ดีๆ ให้เกิดขึ้นในชีวิต หรือกระทั่งสมบัติอันเป็นโลกุตตระ คือ การบรรลุมรรคผลนิพพาน ย่อมต้องอาศัยกำลังบุญทั้งสิ้น อย่างอื่นเป็นเพียงสิ่งประกอบภายนอก ดังนั้นบุญจึงเป็นศูนย์รวม ของสิ่งที่ดีงามทุกอย่าง เป็นเสมือนมหาสมุทรซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำที่ไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ
ดังเรื่องของ พระสีวลี ผู้สั่งสมบุญไว้ในอดีต ทำให้เป็นผู้มีลาภมาก
*เมื่อครั้งที่พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปตามชนบท และเสด็จกลับมายังพันธุมดีนคร พุทธบิดาของพระพุทธองค์ทรงตระเตรียมอาคันตุกทานเพื่อภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข และพระองค์ยังทรงประกาศให้ชาวเมืองมาร่วมกันเป็นสหายถวายทานในครั้งนี้ แต่ชาวเมืองกลับปรึกษาหารือกันว่า
“พวกเราควรที่จะรวมกันถวายทานให้ยิ่งกว่าทานที่พระราชาทรงถวาย” เมื่อตกลงพร้อมใจกันแล้ว ชาวเมืองได้ส่งตัวแทนไปทูลนิมนต์พระบรมศาสดาให้มาฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น จากนั้นต่างช่วยกันจัดแจงทานด้วยความปีติยินดี และส่งข่าวไปทูลพระราชาให้มาดูการถวายทานของพวกตน
ครั้นพระราชาเสด็จมาทอดพระเนตรทานของมหาชนแล้ว ทรงดำริว่า “เราจะถวายทานให้ยิ่งกว่านี้อีก” รุ่งขึ้นจึงนิมนต์พระบรมศาสดาอีก ทั้งพระราชาและชาวเมืองต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้ สลับสับเปลี่ยนกันนิมนต์อยู่เช่นนี้ กระทั่งในครั้งที่ ๖ ชาวเมืองปรึกษากันว่า “วันพรุ่งนี้ พวกเราจะถวายทานชนิดไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า สิ่งนี้ไม่มีในทานของพวกเรา”
รุ่งขึ้น เมื่อจัดเตรียมของที่จะถวายแล้ว ต่างพากันตรวจตราดูว่า ยังขาดอะไรบ้าง ครั้นเห็นว่ายังขาดน้ำผึ้งและนมส้ม ชาวเมืองจึงส่งตัวแทนไปยืนอยู่ในเส้นทางจากชนบทจะเข้าพระนคร เพื่อหาซื้อน้ำผึ้ง
สมัยนั้น พระสีวลีเกิดเป็นกุลบุตรในบ้านสกุลหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองพันธุมดี เป็นชาวชนบทที่ขยันขันแข็ง วันหนึ่งจะต้องเดินทางเข้าเมือง ได้ถือหม้อนมส้มติดตัวไปด้วยระหว่างทางเห็นรวงผึ้งที่ไม่มีตัวผึ้งอาศัยอยู่แล้ว จึงตัดกิ่งไม้เดินถือ รวงผึ้งมุ่งหน้าเข้าเมือง
เมื่อชาวเมืองเห็นหนุ่มชนบทถือรวงผึ้งเดินมาก็ดีใจ รีบเข้าไปขอซื้อด้วยเงิน ๑ กหาปณะ พลางส่งเงินให้ทันทีด้วยความดีใจว่า จะได้สิ่งของตามที่ต้องการ หนุ่มชนบทฉุกคิดขึ้นว่า “น้ำผึ้งรวงนี้มีราคาไม่มากถึง ๑ กหาปณะ แต่บุรุษผู้นี้ยอมขอซื้อ เราควรสอบถามให้รู้ถึงต้นสายปลายเหตุก่อน” จึงแกล้งโก่งราคาว่า “ท่านให้ราคาเพียงกหาปณะ เดียว เราไม่ขายหรอก” ชาวเมืองรีบขึ้นราคาเป็น ๒ กหาปณะ แต่หนุ่มเจ้าปัญญาก็ยังไม่ยอมขาย บุรุษนั้นจึงรีบขึ้นราคาให้อีก กระทั่งถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ หนุ่มชนบทใคร่ครวญดูว่า เราไม่ควรรีบขาย ควรถามไถ่ให้รู้ความจริงก่อนว่า เขาต้องการซื้อด้วยราคาถึงเพียงนี้ เพื่อเอาไปทำอะไรกันแน่ เมื่อทราบแล้ว ท่านเกิดกุศลศรัทธา จึงถามว่า “การถวายทานครั้งนี้ เฉพาะเจาะจงแต่พวกชาวเมืองเท่านั้น หรือคนอื่นก็สามารถร่วมบุญได้” บุรุษนั้นอธิบายว่า “เรื่องการทำบุญนั้น ใครๆ ก็มีสิทธิ์ สามารถร่วมบุญได้ทั้งนั้น”
หนุ่มชนบทได้ฟังแล้ว รีบพูดว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงไปบอกพวกชาวเมืองทั้งหลายเถิดว่า มีกุลบุตรผู้หนึ่งไม่ยอมขายรวงผึ้งกับนมส้ม ไม่ว่าจะให้ราคาสูงเท่าไร ก็ไม่ยอมขายให้ เพราะเขาอยากถวายทานด้วยมือของตนเอง ขอท่านทั้งหลายจงให้เขามีส่วนในบุญใหญ่ครั้งนี้ด้วย” เมื่อชาวเมืองรู้ข่าวต่างพา กันอนุโมทนาสาธุการเป็นการใหญ่
ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์มาถึง ชาวเมืองพากันนิมนต์ให้นั่ง แล้วได้ถวายข้าวต้มและของเคี้ยว เมื่อถึงวาระของตน หนุ่มชนบทจึงเขยิบเข้าไปใกล้พุทธอาสน์ของพระบรมศาสดา พลางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สิ่งนี้เป็นเครื่องบรรณาการของคนยากเช่นข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงรับเครื่องบรรณาการ นี้ของข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”
พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้บาตรรับน้ำผึ้งผสมนมส้ม และทรงอธิษฐานว่า “อย่าให้น้ำผึ้งผสมนมส้มนี้หมดสิ้นไป จนกว่ากุลบุตรผู้นี้จะถวายแด่พระภิกษุสงฆ์จนครบหมดทุกรูป”
ด้วยพุทธานุภาพอันไม่มีประมาณ เหตุอัศจรรย์ได้บังเกิดขึ้น หนุ่มชนบทได้ถวายน้ำผึ้งผสมกับนมส้ม ใส่ลงไปในบาตรของพระภิกษุสงฆ์จนครบหมดทุกรูป หลังจากพระพุทธองค์ฉันภัตตาหารแล้ว ท่านได้ลุกไปทูลขอพรว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า วันนี้ข้าพระองค์ได้เห็นชาวเมืองพันธุมดี นำเครื่องสักการบูชามาถวายแด่พระองค์ ขอให้ ข้าพระองค์ได้มีส่วนในผลบุญนี้ และด้วยอานิสงส์ของการถวายน้ำผึ้ง ขอให้ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศด้วยลาภในอนาคตกาลด้วยเถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานพรว่า “จงสำเร็จสมดังปรารถนาเถิด” ทรงอนุโมทนาในทานของหนุ่มชนบทและชาวเมือง จากนั้นจึงเสด็จกลับพระวิหาร
ฝ่ายกุลบุตรนั้นได้ตั้งใจกระทำ บุญกุศลตลอดมาจวบจนสิ้นอายุขัย ท่านได้ท่องเที่ยวเสวยสมบัติ ในเทวโลกและมนุษยโลกตลอดกาลนาน
เราจะเห็นได้ว่า บุญเป็นสิ่งสำคัญ เป็นต้นเหตุแห่งความสำเร็จทั้งปวง สิ่งอื่นเป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้น ซึ่งทั้งบุญและบาปล้วนอยู่ในตัวเรา เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไกลตัวเรา คนส่วนใหญ่เหมือนคนสายตายาว มักมองไม่เห็นสิ่งที่ใกล้ตัว และมักคิดว่า เรื่องบุญบาปเป็นเรื่องไกลตัว จึงประมาท ไม่สั่งสมกุศลความดี อันที่จริงทั้งบุญและบาปเกิดขึ้นในใจเราตลอดเวลา และเกิดจากการกระทำด้วยกาย วาจา ใจของเรา อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ กระทั่งชาติสุดท้ายของชีวิตในสังสารวัฏ ถ้าเราสั่งสมแต่บุญกุศล เราจะมีแต่ ความปลาบปลื้มปีติยินดีไปทุกชาติจนถึงภพชาติสุดท้าย ดังนั้น ขอให้ทุกคนสั่งสมแต่บุญกุศลให้เต็มที่ ทั้งทาน ศีล ภาวนา เราย่อมจะมีแต่ความปีติปราโมทย์ใจไปทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน
*มก. สีวลิเถราปทาน เล่ม ๗๒ หน้า ๓๓๒