ไอน์สไตน์ถาม พระพุทธเจ้าตอบ
โดย
ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของไอน์สไตน์กับภูมิปัญญาทางธรรมอันเป็นผลจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ผู้เขียนมีเหตุผลที่จะเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นคำถามเรื่องจุดคงที่ของจักรวาล (The absolute ruling point in nature) ที่อัลเบริต์ ไอน์สไตน์ได้ถามเป็นท่านแรกและต้องการค้นให้พบอันเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่บทสรุปของทฤษฎีสัมพัทธภาพ (The Theory of Relativity) หรือ ทฤษฎีสรรพสิ่ง (The Theory of Everything) ที่ไอน์สไตน์ได้ทุ่มเทชีวิตในช่วง ๓๐ ปีสุดท้ายเพื่อหาคำตอบ, คำถามที่ครอบจักรวาลของไอน์สไตน์เหล่านี้ล้วนชี้ไปสู่ความหมายเดียวกันคือ ไอน์สไตน์ต้องการค้นหาสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดที่มีอยู่ในธรรมชาตินั่นเอง ซึ่งคำตอบที่เป็นอมตะนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบแล้วเมื่อ ๒๕๙๔ ปีก่อน ซึ่งท่านใช้คำว่า พระนิพพาน หรือ การหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิง
จุดเด่นและจุดสำคัญยิ่งของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ตัวผู้เขียนที่กล้ายืนยันว่า “สัจธรรมอันสูงสุดในธรรมชาติมีอยู่” รวมทั้งกล้าประกาศให้ผู้อ่านรู้ว่า เธอรู้แน่ชัดแล้วว่าสัจธรรมอันสูงสุดหรือสภาวะพระนิพพานคืออะไร เป็นอย่างไร จึงทำให้เธอสามารถตั้งศัพท์ใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเพื่อคนยุคใหม่สามารถเข้าถึงสัจธรรมได้ง่ายขึ้น อันคือ ผัสสะบริสุทธิ์ และ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ การประกาศตนเป็นผู้รู้สภาวะสัจธรรมของผู้เขียนนี้เอง ตัวต่อตัวสุดท้ายที่ยังขาดอยู่หรือเป็น missing link ก็สามารถถูกวางลง ก่อให้เกิดภาพชัดเจนของชีวิตที่เชื่อมโยงกับจักรวาลทั้งหมดได้ และก่อให้เกิดการประสานเชื่อมต่อระหว่างภูมิปัญญาทางโลก โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาทางศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของชีวิต การเกิดแก่เจ็บตาย (บทที่ ๑) เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จึงตั้งอยู่บนรากฐานที่ผู้เขียนอ้างว่าเธอรู้สัจธรรมอันสูงสุด ซึ่งเธอได้อธิบายสภาวะสัจธรรมในฐานะที่เป็น “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” (บทที่ ๖) โดยใช้ข้อเปรียบเทียบของรถไฟสองขบวนที่วิ่งพร้อมกัน
เนื้อหาในบทที่ ๒, ๓, ๔ ของหนังสือเล่มนี้คือ การวิเคราะห์หัวข้อและคำถามที่มักถามกันบ่อยอันเกี่ยวข้องกับเรื่องชีวิต และ จักรวาล เช่น ตัวจริงของเราคืออะไร อยู่ที่ไหน จิตใจที่เป็นปกติคืออะไร และ พรมแดนสุดท้ายของจักรวาลอยู่ที่ไหน ซึ่งผู้เขียนได้พยายามประสานและขมวดหัวข้อที่ดูเหมือนแตกต่างกันมากเหล่านี้เข้าสู่เรื่องสัจธรรมอันสูงสุด หรือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับจุดคงที่ของจักรวาล อันเป็นเนื้อหาส่วนที่จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถมองพระพุทธศาสนาว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเองมากกว่าเป็นเรื่องไกลสุดกู่ และมองใหม่ว่า พระนิพพานไม่ใช่เป็นทางเลือก แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องไปให้ถึง เพราะ การไม่รู้จักพระนิพพานก็คือการไม่รู้จักตัวเอง คือการไม่รู้จักความปกติที่แท้จริงของจิตใจตัวเอง และคือการไม่รู้ว่าที่จริงแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นศูนย์กลางของจักรวาลของตนเอง
จุดเด่นอีกข้อหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนได้พยายามช่วยเหลือปัญญาชนที่บูชาการใช้ความคิดให้รู้จักจุดยืนของตนเองที่เนื่องกับจักรวาล โดยแยกแยะให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแตกระหว่างวิธีการหาความรู้ทางโลกที่ยังอิงกับความมืดบอดของอวิชชากับความรู้ทางธรรมที่จะช่วยให้รู้จักตนเองอย่างแท้จริงอันเป็นเนื้อหาของบทที่ ๔ และ ๕
ความสมบูรณ์ของหนังสือเล่มนี้คงจะอยู่ที่การบอกทางออกของชีวิต อันคือวิธีการที่จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถค้นพบจุดนิ่งของจักรวาลหรือสัจธรรมอันสูงสุดด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเนื้อหาของบทที่ ๗ ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า สติปัฏฐานสี่หรือวิปัสสนาเท่านั้นที่จะเป็นทางออกให้ชาวโลกได้พบกับความสุขและสันติภาพที่แท้จริง และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่านที่อยากเริ่มการเดินทางเพื่อแสวงหาตัวเองทันทีที่อ่านทั้ง ๗ บทจบ ผู้เขียนจึงได้นำเรื่อง “การพาตัวใจกลับบ้าน” อันคือวิธีการฝึกสติปัฏฐานสี่ที่ได้ประยุกต์ให้เหมาะสมกับคนยุคใหม่มาไว้ที่ภาคผนวกซึ่งทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์อย่างเต็มเปี่ยม
___________________________________________________.doc 30.5K 934 ดาวน์โหลด
____________.doc 77K 987 ดาวน์โหลด
thai_eb_ch01.doc 110.5K 1026 ดาวน์โหลด
thai_eb_ch02.doc 181K 852 ดาวน์โหลด
thai_eb_ch03.doc 121K 755 ดาวน์โหลด
thai_eb_ch04.doc 114.5K 813 ดาวน์โหลด
thai_eb_ch05.doc 113K 734 ดาวน์โหลด
thai_eb_ch06.doc 127K 646 ดาวน์โหลด
thai_eb_ch07.doc 43K 670 ดาวน์โหลด