เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นธรรมกถึก พระธรรมทินนาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้เป็น
ภริยาของวิสาขเศรษฐี ผู้ซึ่งเป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งพระนครราชคฤห์นั้น
- ถูกสามีตัดเยื่อใยจึงออกบวช
วิสาขเศรษฐี ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้งแรกโดยการชักชวนของพระเจ้าพิมพิสาร
และได้ร่วมฟังพระธรรมเทศนาด้วยกัน เมื่อจบพระธรรมเทศนาลงแล้ว วิสาขเศรษฐีได้บรรลุ
โสดาปัตติผล ต่อมาภายหลังได้ไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์อีกและได้บรรลุเป็นพระอนาคามี
เมื่อกลับจากวัดมายังบ้าน โดยปกติทุก ๆ ครั้ง นางธรรมทินนาจะยืนคอยท่าอยู่ที่เชิง
บันได เมื่อวิสาขเศรษฐีมาถึงก็ยื่นมือให้เกาะกุมแล้วขึ้นบันไดไปด้วยกัน แม้วันนั้น
นางธรรมทินนาก็ยังปฏิบัติเช่นเดิม แต่ฝ่ายวิสาขเศรษฐีผู้สามีไม่เกาะมือ และไม่แสดงอาการยิ้ม
แย้ม ดังเช่นเคยทำมา แม้แต่เวลาบริโภคอาหาร ซึ่งนางคอยนั่งปฏิบัติอยู่ ท่านเศรษฐีก็ไม่ยอมพูด
จาอะไรทั้งสิ้น ทำให้นางคิดหวั่นวิตกว่า “ตนคงจะทำผิดต่อสามี” ครั้นวิสาขเศรษฐีผู้สามี
บริโภคอาหารเสร็จแล้วนางจึงถามว่า:-
“ข้าแต่นาย ดิฉันทำสิ่งใดผิดหรือ วันนี้ท่านจึงไม่จับมือและพูดจาอะไรเลย ?”
ท่านเศรษฐีกล่าวตอบว่า:-
“ธรรมทินนา เธอไม่มีความผิดอะไรหรอก แต่นับตั้งแต่วันนี้เราไม่ควรนั่งไม่ควรยืน
ในที่ใกล้เธอ ไม่ควรถูกต้องสัมผัสเธอ และไม่ควรให้เธอนำอาหารมาให้แล้วนั่งเคี้ยวกินในที่ใกล้
ๆ เธอ ต่อแต่นี้ไป ถ้าเธอประสงค์จะอยู่ที่เรือนนี้ก็จงอยู่ต่อไปเถิด แต่ถ้าไม่ประสงค์จะอยู่ก็จงรวบ
รวมเอาทรัพย์สมบัติตามความต้องการแล้วกลับไปอยู่ที่ตระกูลของเธอเถิด”
นางธรรมทินนา จึงกล่าวว่า “ข้าแต่นาย ดิฉันไม่ขอรับเอาขยะหยอกเยื่ออันเปรียบ
เสมือนน้ำลายที่ท่านถ่มทิ้งแล้วมาเดินบนศีรษะหรอก เมื่อเป็นเช่นนี้ขอท่านได้โปรดอนุญาตให้
ดิฉันบวชเถิด”
วิสาขเศรษฐี ได้ฟังคำของนางแล้วก็ดีใจ ได้กราบทูลพระเจ้าพิมพิสารขอพระราชทาน
วอทอง นำนางธรรมทินนา ไปยังสำนักของนางภิกษุณี เพื่อขอบรรพชาอุปสมบท
เมื่อนางธรรมทินนา ได้บรรพชาอุปสมบทสมดังความปรารถนาแล้ว อยู่ในสำนักของ
อุปัชฌาย์ (ภิกษุณีสงฆ์) เพียง ๒-๓ วัน ก็ลาไปจำพรรษาอยู่ในอาวาสใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง
บำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง
หลาย - พระเถรีถูกอดีตสามีลองภูมิ
ต่อมาพระนางธรรมทินนาเถรี คิดว่า “กิจของเราบรรลุถึงความสิ้นสุดแล้ว เราควรกลับ
ไปกรุงราชคฤห์ เพื่อหมู่ญาติได้อาศัยเราแล้วทำบุญกุศลให้กับตนเอง”
วิสาขอุบาสก ทราบว่านางกลับมาจึงไปหานางยังที่พัก มีความประสงค์ที่จะทราบว่านาง
ได้บรรลุคุณธรรมวิเศษอย่างใดหรือไม่ แต่มิกล้าถามตรง ๆ จึงเลี่ยงถามปัญหาว่าด้วยเรื่อง
เบญจขันธ์ พระนางธรรมทินนาเถรี ก็วิสัชนาอย่างคล่องแคล่วชัดเจนทุกประเด็นปัญหา
วิสาขอุบาสกก็ทราบว่า พระนางธรรมทินนาเถรี มีฌานแก่กล้า จึงถามปัญหาในลำดับของ
พระอนาคามีที่ตนได้บรรลุแล้ว เมื่อพระเถรีวิสัชนาได้อีก จึงก้าวล้ำถามปัญหาในวิสัย
พระอรหัตมรรค
พระเถรีทราบว่า อุบาสกมีวิสัยเพียงอนาคามีนั้นแต่ถามปัญหาเกินวิสัยของตน จึงกล่าว
เตือนว่า:-
“วิสาขะ ท่านยังไม่อาจกำหนดที่สุดแห่งปัญหาได้ ถ้าท่านยังหวังที่จะก้าวหยั่งลงสู่
ประตูพระนิพพานแล้ว ขอท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลถามข้อความนั้นเถิด เมื่อ
พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์อย่างไร ก็จงจำไว้อย่างนั้น”
วิสาขอุบาสก ทำตามคำแนะนำของพระเถรี ไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลเนื้อ
ความตามนัยแห่งปุจฉาและวิสัชนาถวายให้ทรงสดับทุกประการ - ทรงยกย่องเป็นผู้เลิศทางแสดงธรรม
พระผู้มีพระภาค ทรงสดับแล้วตรัสว่า:-
“ธรรมทินนาเถรีธิดาของเรานี้ ไม่มีตัณหาในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งในอดีตปัจจุบัน และ
อนาคต เธอเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ถ้าวิสาขอุบาสก ถามข้อความนั้นกับเรา แม้เราเองก็จะ
พยากรณ์ เหมือนอย่างที่ธรรมทินนาเถรีพยากรณ์แล้วนั้นทุกประการ ขอท่านจงจำเนื้อความนั้นไว้
เถิด”
ต่อมา เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร เมื่อทรงสถาปนาบรรดา
ภิกษุณีในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ ทรงพิจารณาความสามารถในการวิสัชนาปัญญาของพระนาง
ธรรมทินนาเถรี ในครั้งนั้นเป็นเหตุ จึงทรงสถาปนาพระเถรีนี้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศ
กว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้เป็นธรรมกถึก