วิทยาศาสตร์กับศาสนา (จุดต่างหรือจุดเหมือน) Ep.1
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ศาสนา” (Religion) เป็นสิ่งหนึ่งที่คอยยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์เราตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้วไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตามที่มีอยู่ในโลกนี้ต่างก็พร่ำสอนให้คนเป็นคนดี ปฏิบัติตนอยู่ในทำนองคลองธรรมกันทั้งนั้นอาจจะมีส่วนน้อยที่แบ่งแยกตนออกไปเป็นลัทธิ มีความเชื่อผิดแผกไปบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็เน้นให้คนเห็นความสำคัญของการดำรงตนเป็นคนดีของทุกคนและสังคม แต่ในภาวะปัจจุบันที่โลกมีแต่เทคโนโลยีล้ำหน้าไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ล้ำหน้าเสียจนคนก้าวตามแทบไม่ทัน นำความเปลี่ยนแปลงหลากหลายประการมาสู่ชีวิตมนุษย์ โดยเริ่มตั้งแต่สมัยแรกๆ ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถล่วงรู้ว่า “ยีน” (Gene) หรือหน่วยพันธุกรรมเป็นหัวใจหลักของการควบคุมการแสดงออกของลักษณะต่างๆ ในสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ และมนุษย์ ทั้งยังสามารถวิเคราะห์ถึงโครงสร้างของยีนได้อย่างกว้างขวาง และสามารถสังเคราะห์ชิ้นส่วนยีนรวมถึงถ่ายฝากยีนของสิ่งมีชีวิตหนึ่งให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นได้หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “พันธุวิศวกรรม” (Genetic Engineering) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำการเคลื่อนย้ายยีนจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์หนึ่งไปสู่สิ่งมีชีวิตอีกสายพันธุ์หนึ่ง ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มในสร้างสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ที่มียีนลูกผสมแบบใหม่ ในคุณลักษณะแบบใหม่ซึ่งไม่เคยปรากฏในธรรมชาติมาก่อน ด้วยความมุ่งหมายที่จะปรับปรุงคุณลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ให้ดีกว่าเดิม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม สนองความต้องการของมนุษย์ในด้านการอุปโภคและบริโภคที่สูงขึ้น เช่น การพัฒนาพันธุ์สัตว์ การปรับปรุงพันธุ์พืชให้ต้านทานโรคและแมลง การพัฒนาพันธุ์พืชให้มีคุณภาพผลผลิตดี การพัฒนายารักษาโรคและวัคซีนที่ไม่เคยทำได้ในยุคก่อนหน้านี้
ทว่านักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนว่าการนำเทคโนโลยีชีวภาพเหล่านี้มาใช้ จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อาทิ ผลผลิตจะมีพิษภัยต่อสุขภาพคนและสัตว์หรือไม่ ยีนเหล่านี้จะมีโอกาสกลายพันธุ์เป็นยีนก่อโรคหรือไม่ ยีนเหล่านี้จะมีโอกาสหลุดรอดออกไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นได้หรือไม่ ฯลฯ เพราะฉะนั้นความเชื่อทางศาสนาจึงก้าวมามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้มุมมองผลกระทบทางเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นหลักสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยแสดงถึงมิติแห่งการรับรู้ และกำหนดขอบเขตการยอมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ของสังคม เพราะความเชื่อทางศาสนานั้นมักเป็นความเชื่อที่อยู่บนรากฐานของการยอมรับในกฎแห่งธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อที่เกี่ยวกับมนุษย์
ความรู้ในทางศาสนาแม้จะมีรากฐานอันเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ตั้งอยู่บนความเชื่อแบบ มนุษย์นิยมเหมือนกัน แต่ท่าทีที่ศาสนามีต่อธรรมชาติแตกต่างจากท่าทีของวิทยาศาสตร์ แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายจะไม่ประกาศท่าทีของเขาต่อธรรมชาติอย่างแจ้งชัด แต่จากลักษณะการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ เราก็พอมองเห็นได้ว่าคนเหล่านี้คิดเช่นไรต่อสิ่งต่างๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์บางแขนง เช่น ชีววิทยา สัตว์จำนวนหนึ่งจะถูกนำมาทรมานให้เจ็บปวด เคยมีคนเขียนหนังสือบรรยายสภาพของสัตว์ที่ถูกนำมาทดลองว่าน่าสมเพชเวทนาอย่างยิ่ง สัตว์เหล่านี้บ้างก็พิกลพิการ บ้างอยู่ในภาวะหวาดผวาจนเสียสติ บ้างก็ล้มตายลงด้วยโรคร้ายอันเกิดจากสารเคมีที่นักวิทยาศาสตร์ฉีดเข้าไปในร่างกายของมัน ที่นักวิทยาศาสตร์ทำเช่นนั้นอาจมีเหตุผลเพื่อความผาสุกของมนุษยชาติโดยส่วนรวม การทดลองเหล่านี้ล้วนเป็นไปเพื่อค้นหาสิ่งมาอำนวยความสะดวกสบายและการมีสุขภาพที่ยืนยาวสำหรับมนุษย์ ในที่นี้เราจะไม่อภิปรายกันว่าจุดประสงค์ดังกล่าวนี้มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ที่จะลบล้างบาปกรรมที่มนุษย์กระทำต่อสัตว์ที่ไม่มีทางสู้เหล่านั้น ประเด็นที่เราจะพิจารณากันก็คือ การที่คนเราสามารถทำทารุณกรรมต่อสัตว์ตาดำๆ เหล่านั้นได้สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ที่ทำการทดลองบนความเจ็บปวดทรมานของสัตว์พวกนั้นคิดว่าตนเอง คือ “นายของธรรมชาติ” เมื่อเป็นนายย่อมไม่แปลกที่เราจะทำอะไรก็ได้กับสิ่งที่เราครอบครองเป็นเจ้าของนั้น ความคิดที่ว่าคนคือนายของธรรมชาตินี่เอง ที่ผลักดันให้วิทยาศาสตร์ก้าวล้ำเข้าไปในอาณาเขตที่น่าวิตก ปัจจุบันวิชาชีววิทยาก้าวหน้าไปมาก มนุษย์สามารถควบคุมให้พืชหรือสัตว์เจริญเติบโตไปในทิศทางและรูปแบบที่ตนต้องการ มีคนคิดผสมพันธุ์แปลกๆ แปลกถึงขนาดมีการคิดผสมพันธุ์พืชและสัตว์เข้าด้วยกัน และด้วยพื้นฐานความคิดที่ว่าตนคือนายของธรรมชาตินี่เองที่ก่อให้เกิดโครงการที่น่าเกรงกลัวอย่างยิ่ง เช่น โครงการเพาะพันธุ์มนุษย์แบบไม่อาศัยเพศ หรือที่เรียกว่า “โครนนิ่ง” เป็นต้น
เป็นที่ทราบกันดีว่า การสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศ (sexual reproduction) อันเป็นวิธีการแบบธรรมชาติที่คนเรากระทำกันอยู่นี้ไม่สามารถคงคุณสมบัติบางประการที่เราต้องการไว้ได้ อัจฉริยะอย่างเช่นไอน์สไตน์เมื่อมีลูกก็ไม่จำเป็นว่าลูกของเขาจะเป็นอัจฉริยะด้วย นักวิทยาศาสตร์ใฝ่ฝันมานานว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถถ่ายทอดคุณสมบัติที่หาได้ยากของพ่อแม่ไปสู่ลูก หากเราค้นพบวิธีถ่ายทอดคุณสมบัติดังกล่าวนี้ อัจฉริยะบุคคลทั้งหลายจะมีชีวิตเป็นอมตะ
ความรู้ในโลกนี้แบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทหนึ่งรู้แล้วเป็นประโยชน์แก่ชีวิต ส่วนอีกประเภทหนึ่งรู้แล้วไม่เป็นประโยชน์ ความรู้ที่พุทธศาสนาเลือกนำมาสอนนี้ คือ ความรู้ประเภทแรกเท่านั้น ส่วนประเภทที่สองแม้จะรู้ก็ไม่นำมาสอนและหากจะเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่า ความรู้ที่เป็นประโยชน์นั้นมีน้อยมากความรู้ส่วนใหญ่ไม่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ ความเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์วัดจากอะไร คำตอบคือ ความรู้ใดไม่ส่งเสริมให้เราเข้าถึง “บิ๊กแบงภายในใจ” (ผู้เขียนเปรียบเทียบขึ้นมาเอง) นิพพาน หรือ ความสิ้นทุกข์ ความรู้นั้นถือว่าไม่เป็นประโยชน์ในแนวพุทธศาสนา
ดังนั้นในขณะที่เรากำลังชื่นชมวิทยาศาสตร์ว่ามีคุณอเนกอนันต์ เราต้องไม่ลืมว่าในขณะเดียวกันสิ่งนี้ก็มีโทษมหันต์ด้วย และก็เช่นเดียวกัน เมื่อเรากำลังวิพากษ์วิจารณ์ว่าวิทยาศาสตร์ คือ ต้นตอของปัญหาที่กำลังคุกคามสันติภาพในโลกคุกคามความสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้โลกเสียสมดุล ทำให้คนมีจิตใจเป็นเครื่องจักร ทำให้สะดวกสบายจน หลงใหลในสิ่งฉาบฉวยมากกว่าแก่นของชีวิตเป็นต้น เราต้องไม่ลืมว่าวิทยาศาสตร์ ก็มีคุณูปการอันไม่อาจประมาณได้แก่มนุษย์ด้วยเช่นกัน
วิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเรื่อง “สสารนิยม” เรื่องที่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส ดังนั้นรากฐานทางอภิปรัชญาของวิชาวิทยาศาสตร์จึงได้แก่ แนวคิดแบบ สสารนิยม เนื้อหาของวิชาวิทยาศาสตร์ทุกสาขาเกี่ยวข้องกับเรื่องของสสารเท่านั้น ไม่มีเนื้อหาของวิทยาศาสตร์ส่วนใดหรือสาขาใดที่กล่าวถึงสิ่งที่ไม่ใช่สสาร จริงอยู่ที่บางครั้งวิทยาศาสตร์อาจกล่าวถึงสิ่งเร้นลับที่วิทยาศาสตร์เองไม่สามารถอธิบายได้ว่ามาจากไหนในเบื้องสุด เช่น สนามแม่เหล็ก คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อิเล็กตรอน เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้วิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่ามีฐานะเป็นสสาร หรือไม่ก็เป็นการแสดงตัวของสสาร นักวิทยาศาสตร์บางคน เช่น นิวตัน เชื่อในสิ่งเร้นลับที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายได้ เช่น พระเจ้า , จิต , วิญญาณ เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์อาจมีความเชื่อส่วนตัวอย่างไรก็ได้ เพราะเขาคือมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมาท่ามกลางผู้คนและขนบธรรมเนียมประเพณี นิวตันเกิดมาในสังคมที่คริสต์ศาสนามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คน นิวตันไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวที่เชื่อในพระเจ้า เขายังเป็นมนุษย์ที่สามารถถูกหล่อหลอมด้วยแนวคิดทางศาสนา การเป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นิวตันจะเชื่อเรื่อง พระเจ้า แต่เมื่อนิวตันจะเสนอแนวคิดใดก็ตามในทางวิทยาศาสตร์เขาต้องพักความเชื่อส่วนตัวไว้ก่อน วิชาวิทยาศาสตร์ไม่อนุญาตให้เราใส่เรื่องที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยประสาทสัมผัสลงในเนื้อหาของวิชาวิทยาศาสตร์ ดังนั้นแม้ว่านิวตันจะเชื่อเรื่องพระเจ้า แต่เขาจะเอาเรื่องนี้มาปนลงในวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่นิวตันเสนอแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ออกมาก แนวคิดนั้นจะกลายเป็นของสาธารณะ และ มีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาวิทยาศาสตร์ รากฐานทางอภิปรัชญาของวิทยาศาสตร์คือแนวคิดแบบสสารนิยม ดังนั้นใครก็ตามหากต้องการเสนอความคิดทางวิทยาศาสตร์ออกมาเขาต้องเสนอในกรอบแนวคิดแบบสสารนิยมนี้เท่านั้น
ส่วนพุทธศาสนาเป็นที่ทราบกันดีว่ามีรากฐานทางอภิปรัชญาแบบ “จิตนิยม” พุทธศาสนาเชื่อว่าภายในจักรวาลนี้ นอกจากวัตถุยังมีสิ่งอื่นที่ไม่ใช่วัตถุรวมอยู่ด้วยแนวคิดแบบจิตนิยมของพุทธศาสนาอาจดูได้ง่ายๆ จากหลักคำสอนที่เรียกว่า “ขันธ์ห้า” พุทธศาสนาเชื่อว่าคนเราประกอบด้วย กาย (รูป) หนึ่ง กับอีกสี่อย่าง คือ ความรู้สึก (เวทนา) การจำ(สัญญา) การคิด(สังขาร) และการรู้ (วิญญาณ) สี่ขันธ์หลังนี้ไม่ใช่สสาร หากแต่เป็นนามธรรม ดังที่กล่าวไว้ตั้งแต่บทต้นๆแล้วมา ดังนั้นในทัศนะของพุทธศาสนา การที่คนเราคิดได้ มีอารมณ์ความรู้สึก มีจินตนาการ มีความรัก ความเกลียด ความโกรธ เป็นต้น ก็เพราะเรามีจิตซึ่งแยกต่างหากจากกาย คนไม่ใช่กลุ่มก้อนของสสารอย่างที่ลัทธิสสารนิยมเชื่อกัน
ติดตามต่อได้ในตอนถัดไป..
ที่มา http://bigbanginmymi...-post_9311.html