[attachmentid=2171]
ผู้ใดรู้ขันธ์ที่เคยอาศัยในกาลก่อน เห็นสวรรค์และอบาย บรรลุพระอรหัตอันเป็นที่สิ้นชาติ อยู่จบแล้ว รู้ยิ่ง เป็นพระมุนี พึงให้ไทยธรรมในผู้นี้ ทานที่ให้แล้วในผู้นี้มีผลมาก ทักษิณาย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้บูชาอย่างนี้แหละ
ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นของละเอียดลึกซึ้งยากต่อการเข้าถึง แต่ก็ไม่ยากเกินไปสำหรับผู้มีบุญทั้งหลาย ที่น้อมไปในคำสอนของพระพุทธองค์ เมื่อคราวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงมีพระทัยขวนขวายน้อย น้อมไปทางที่จะไม่สอน เพราะพระพุทธองค์ทรงเห็นสรรพสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาครอบงำจิตใจโดยมาก แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพิจารณาเห็นว่า บัว ๔ เหล่านั้น ยังมีบัวพ้นน้ำที่เบ่งบานเมื่อได้รับแสงของอรุณ จึงน่าจะมีบุคคลสามารถตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้
เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ทรงเปิดเผยธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ยากต่อการเข้าถึง ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ดื่มรสอมตธรรมจนมาถึงทุกวันนี้ บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกของโลก ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ก็คงยังนำสันติสุขมาสู่มวลมนุษยชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมตาม คำสอนของพระพุทธองค์ ก็ยังได้ชื่อว่า เป็นการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครู ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม ยังเป็นที่สรรเสริญและอนุโมทนาของบัณฑิตผู้รู้ทั้งหลาย
ดังนั้น ทุกท่านควรตั้งใจทำใจหยุดใจนิ่งตลอดเวลา ให้เข้าถึงองค์พระธรรมกายให้ได้ แล้วเราจะได้ชื่อว่า บูชาพระพุทธองค์อย่างแท้จริง เป็นการปฏิบัติบูชาอันประเสริฐสูงสุด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เทวหิตสูตร ความว่า
“ผู้ใดรู้ขันธ์ที่เคยอาศัยในกาลก่อน เห็นสวรรค์และอบาย บรรลุพระอรหัตอันเป็นที่สิ้นชาติ อยู่จบแล้วรู้ยิ่ง เป็นพระมุนี พึงให้ไทยธรรมในผู้นี้ ทานที่ให้แล้วในผู้นี้มีผลมาก ทักษิณาย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้บูชาอย่างนี้แหละ”
การบูชา หมายถึง การทำสักการะด้วยสิ่งของ ด้วยความเคารพนบน้อม และด้วยการไหว้ การบูชาผู้ที่มีคุณธรรม และบูชาผู้มีพระคุณต่อเรา เช่น มารดาบิดา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น เป็นการแสดงออกถึงการยกย่องในคุณธรรมของท่าน จากใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแบ่งการบูชาไว้ ๒ ประการ ได้แก่ อามิสบูชา คือการบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ มีดอกไม้ธูปเทียน อาหาร สถานที่ เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นต้น และการปฏิบัติบูชา คือ การประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของท่านผู้มีคุณธรรม เพื่อขัดเกลาตนให้มีคุณธรรม ให้เป็นคนดีที่โลกต้องการเช่นเดียวกับท่าน ในการบูชาทั้งสองอย่างนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการปฏิบัติบูชาว่าดีที่สุด โดยเฉพาะการเจริญสมาธิภาวนา ขัดเกลาจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย บุคคลใดก็ตาม มีโอกาสศึกษาธรรมะของพระพุทธองค์ แล้วได้น้อมนำคำสั่งสอนนั้นมาประพฤติปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท ย่อมสามารถกำจัดกิเลสอาสวะในตัวให้หมดไปได้
*ดั่งในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ต่อแต่นี้ล่วงไปอีก ๔ เดือน เราตถาคตจะปรินิพพาน”
พวกภิกษุที่เป็นปุถุชนยังไม่ได้บรรลุคุณวิเศษอะไร ได้ฟังดังนั้น ก็ไม่อาจจะกลั้นน้ำตาไว้ได้ ต่างพากันเศร้าโศกเสียใจ ต่อการจะจากไปของพระพุทธองค์ ผู้เป็นบรมครูของโลก เพราะคิดว่าตนเกิดมาในยุคที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ แต่ก็ยังไม่มีคุณวิเศษอะไร แล้วนี่พระพุทธองค์จะดับขันธปรินิพพานแล้ว การกำจัดทุกข์ในสังสารวัฏของพวกตนคงจะเลือนลางเต็มที คิดดังนั้นแล้วภิกษุทั้งหลายก็ได้แต่แบ่งเป็นกลุ่มๆ นั่งปรึกษาหารือกันว่า พวกเราจะทำอะไรกันดี
ขณะเดียวกัน มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อ ติสสะ ท่านมีความคิดที่แปลกไปจากภิกษุทั้งหลาย คือ ท่านคิดว่า อีก ๔ เดือนจากนี้ไป บรมครูของเราก็จะปรินิพพานแล้ว ตัวเราเองยังเต็มไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ ยังไม่บรรลุคุณวิเศษอะไรสักอย่าง การมาบวชในชาตินี้คงจะเสียเปล่า อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องตั้งใจปฏิบัติธรรมให้บรรลุอรหัตตผลให้ได้ ในขณะที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นี้
เมื่อคิดเช่นนี้ ท่านจึงไม่เข้าไปร่วมปรึกษาหารือกับภิกษุทั้งหลาย แต่หามุมสงบ ไม่พูดสนทนากับใครๆ จะพูดก็พูดเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ท่านตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติธรรม สำรวมกาย วาจา ใจ มีสติสัมปชัญญะในอิริยาบถทั้งสี่ตลอดเวลา ฝ่ายภิกษุทั้งหลายได้เห็นพฤติกรรมของพระเถระ ต่างพากันไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระพุทธองค์จึงรับสั่งให้เรียกท่านมา และได้ตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด เมื่อทรงรู้ความเป็นมาทั้งหมด จึงทรงประทานสาธุการแก่พระติสสเถระพร้อมกับประทานโอวาทว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีความรักในเราตถาคต พึงถือเอาติสสภิกษุนี้เป็นแบบอย่างเถิด เพราะว่าชนเป็นอันมาก แม้จะทำการบูชาเรา ด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าบูชาเราอย่างแท้จริง ส่วนชนทั้งหลายเหล่าใดเป็นผู้ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรมอย่างสม่ำเสมอ ชนทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ ได้ชื่อว่าเป็นผู้บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง” แล้วจึงตรัสต่อไปอีกว่า “พระขีณาสพดื่มรสแห่งวิเวก รสแห่งความสุข และดื่มรส คือ ปีติในพระธรรมอยู่ ย่อมเป็นผู้หมดความกระวนกระวาย เป็นผู้ไม่มีบาป” เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเถระนั้นมีดวงตาเห็นธรรม ได้เข้าถึงกายธรรมอรหัต เป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนาในทันที
นี่เป็นแบบอย่างให้เราเห็นว่า การปฏิบัติบูชาด้วยการเจริญสมาธิภาวนา หมั่นทำใจหยุดใจนิ่งนั้น เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของเรา ถ้าทำการบูชาได้ถูกต้อง ผลที่ได้รับก็ถูกต้องตามพุทธประสงค์ มิฉะนั้นการบูชาที่ทำลงไปนั้นจะมีผลน้อย ผู้มีปัญญาต้องหัดมองว่า ทำอย่างไรการบูชาของเราจึงจะได้รับผลประมาณมิได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การบูชาด้วยอามิสไม่ได้รับผลมาก การบูชาด้วยอามิสบูชาก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน และต้องทำให้ดีด้วย เพราะเป็นสิ่งเกื้อหนุนในการปฏิบัติบูชา จะทำให้เราปฏิบัติบูชา ทำใจหยุดใจนิ่งได้สะดวก ไม่ต้องมากังวลกับสิ่งต่างๆ ใจของเราจะได้หยั่งลงสู่ศูนย์กลางกายได้อย่างง่ายๆ และเข้าถึงพระธรรมกายในที่สุด
*มีพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง ที่ท่านมุ่งถึงการปฏิบัติบูชาต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภิกษุรูปนี้ชื่อว่า พระธรรมารามเถระ แปลว่า ผู้ยินดีในการปฏิบัติธรรม เมื่อท่านรู้ว่า อีกไม่นานพระพุทธองค์จะปรินิพพาน ก็มีความคิดว่า ตัวเราเองยังไม่บรรลุคุณวิเศษอะไรเลย อีกไม่นานพระพุทธองค์ก็จะปรินิพพานแล้ว อย่ามัวเสียเวลาเลย เราจะบูชาธรรมพระพุทธองค์ด้วยการปฏิบัติธรรมให้บรรลุอรหัตให้ได้
ท่านคิดเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ได้หลีกเร้นออกจากหมู่อยู่รูปเดียว หมั่นตรึกระลึกถึงธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างบุคคลผู้ไร้กาลเวลา ไม่ให้มีความกังวลใดๆ แทรกซึมเข้ามาในใจของท่านได้ โลกทั้งโลกของท่านมีแต่การทำหยุดในหยุดอย่างเดียว ลมหายใจของท่านเป็นไปเพื่อการหยุดนิ่งเท่านั้น วันคืนจะผ่านล่วงไปนานแค่ไหน ท่านก็ไม่ได้เกิดความย่อท้อในการประพฤติปฏิบัติธรรม นับวันกำลังใจของท่านกลับยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปแม้แต่น้อย จนกระทั่งท่านสามารถทำใจหยุดใจนิ่งได้สนิท ได้เข้าถึงกายในกาย ดิ่งลงไปในเส้นทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ไม่ถอนถอย จนถึงวันแห่งความสมปรารถนาที่ท่านได้เข้าถึงพระธรรมกาย เป็นพระอรหันต์ในที่สุด
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบข่าวนี้ จึงทรงประทานสาธุการแก่ท่าน แล้วตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุผู้มีความรักในเราตถาคต พึงเป็นเช่นกับธรรมารามเถิด เพราะว่าการบูชาด้วยระเบียบและของหอมทั้งหลายนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นการบูชาตถาคตอย่างแท้จริง ส่วนผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มุ่งทำกิเลสอาสวะในตัวให้หมดสิ้นไป ผู้นั้นจึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติบูชาตถาคตอย่างแท้จริง ภิกษุผู้มีความยินดีในธรรม มีปกติใคร่ครวญธรรม และระลึกถึงธรรมอยู่เป็นนิตย์ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม”
เห็นไหมว่า การปฏิบัติบูชาถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะเป็นหนทางที่ทำให้เราเข้าถึงความบริสุทธิ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญว่า บรรดาการบูชาทั้งหลายในโลก การปฏิบัติบูชาเท่านั้น ที่สามารถดำรงพระธรรมคำสอนของเราตถาคตไว้ได้ตราบนานเท่านาน อามิสบูชาเป็นเพียงแค่การบูชาแบบทั่วๆ ไป ไม่สามารถที่จะดำรงพุทธศาสนาให้ยาวนานไว้ได้
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติบูชาโดยการฝึกฝนอบรมตน เหมือนอย่างพระติสสเถระ และพระธรรมารามเถระ จึงเป็นการปฏิบัติบูชาที่สมควรและถูกต้อง อีกทั้งได้รับการยกย่องสรรเสริญจากผู้รู้ทั้งหลาย สิ่งนี้ยังเป็นบุญใหญ่ที่จะติดตามตัวของเราไปข้ามภพข้ามชาติ เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว ที่ใครก็มาแย่งไปจากเราไม่ได้ เมื่อทุกท่านเข้าใจดีแล้ว ให้หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรม หมั่นทำใจหยุดทำใจนิ่งให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ แล้วพวกเราจะได้ชื่อว่า ทำการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติบูชาอย่างแท้จริง
*มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๓๘๑
*มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๓๕๗