[attachmentid=1177]
ลดความเครียดโดยใช้สติ สมาธิ ปล่อยวาง
ลดความเครียดโดยใช้สติ สมาธิ ปล่อยวาง
โรคทางกายในปัจจุบันสำรวจพบได้ง่ายดายว่า โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดทั่วร่างกาย เป็นปัญหาของสังคมปัจจุบัน แต่ด้วยวิทยาการก้าวหน้าในทุกสาขา โรคต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการเยียวยา ผ่าตัดรักษาให้หายได้ไม่ยากนัก แต่โรคทางด้านของจิตใจ เช่น โรคจิตเภท โรคประสาท โรคซึมเศร้า อันมีสาเหตุมาจากความเครียด จากปัญหาของสังคม ทั้งสังคมทั่วไป เช่น การแข่งขันในด้านต่าง ๆ และปัญหาของสังคมครอบครัว ซึ่งมักจะมีความแตกแยก มีการทอดทิ้งหรือละเลยในการอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความอบอุ่น ความเมตตา ความเอื้ออาทรต่อกันในครอบครัว ปัญหาของสังคมที่ทำให้ประชาชนคนไทยเผชิญหน้ากับสภาวะเครียดเพิ่มมากขึ้น มีอาการหรือโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น มีการฆ่าตัวตายทั้งในวัยผู้ใหญ่ วัยกลางคน และเริ่มจะเข้ามาปรากฏในวัยรุ่นด้วย ซึ่งพบเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นระยะ ๆ
การหล่อหลอมหรือช่วยเหลือจากสังคมในสมัยนี้เห็นว่ามีอยู่ แต่ก็ช่วยได้ไม่มาก นักเพราะเรี่ยวแรงของความช่วยเหลือมีไม่ เพียงพอกับความต้องการ และดูว่าผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะเครียด ซึมเศร้าขั้นรุนแรงนั้นก็ไม่ทราบ เสียด้วยซ้ำว่า จะไปพึ่งพาขอความช่วยเหลือจากที่ใดได้บ้าง
ทางด้านครอบครัวปัจจุบันนี้ พ่อแม่อยู่ห่างกันพอสมควรในชีวิตประจำวันด้วยความจำเป็นทางด้านการงาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม รวมทั้งเด็ก ๆ ในครอบครัวเองก็ต้องแข่งขัน ต้องเรียนเช้าจรดเย็น และอาจยังต้องกวดวิชานอกเวลาอีกต่างหาก ทำให้ความรัก ความเอื้ออาทรต่อกันมีน้อย เวลาที่จะอบรมสั่งสอน ให้ความรัก ให้ความอบอุ่นต่อกันมีไม่มากเพียงพอ แม้แต่ในเด็กเล็กในปัจจุบันจะตกไปอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยอนุบาลของสถานที่ทำงาน หรือส่วนใหญ่จะถูกส่งเข้าโรงเรียนอนุบาลจึงห่างเหินพ่อแม่ไปพอสมควร เมื่อเติบโตขึ้นจะไม่เกิดความเข้มแข็ง ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจนั้นไม่สามารถมีสิ่งใดมาทดแทนได้
ในขณะนี้วงการแพทย์จึงมองว่า ผู้ใหญ่ในวัยทำงาน วัยพ่อแม่ วัยหลักของครอบครัวน่าจะต้องเป็นหลักหรือเป็นตัวตั้งให้กับสถาบันครอบครัวและสมาชิกในครอบครัวให้ได้ สามารถแก้ไขปัญหา แก้ไขความทุกข์ของตนเองและครอบครัวให้ได้ จึงจะต้องมีความเข้มแข็งทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ หาก ขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะส่งผลกระทบในทางลบสู่บุคคลในครอบครัวและบุคคลแวดล้อมในสังคมทันที
ข้อมูลจากข่าวสารกรมสุขภาพจิต ISSN 0125-6475 ให้คำแนะนำว่า ทางออกเบื้องต้นโดยไม่ต้องลงทุนแต่ได้ผลคุ้มค่าโดยยึดหลัก ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน โดยมีแนวทางประพฤติปฏิบัติให้เกิดความสุข ความราบรื่นในงาน ในครอบครัวและในสังคมรอบข้างอย่างครบถ้วน หลักของ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มีดังนี้
1. การมีสติ พุทธพจน์ที่ว่า ดูก่อนภิกษุ คถาคตกล่าวว่า สติช่วยในกิจทั้งปวง และสติสามารถฝึกและควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นตัวยับยั้งไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน การมีสติเป็นการพัฒนาฝีมือของเราขึ้นมาก หากแม้จะไม่สงบก็ลดความฟุ้งซ่านได้ เช่น ขณะกำลังพิมพ์งานความวุ่นวายของคนรอบข้างจะเข้ามา แต่เราอยู่ด้วยใจที่จดจ่อจับกับลมหายใจทุกอย่างจะดีขึ้นเอง
2. การใช้สมาธิ ลองคิดดูเมื่อรู้สึกเหนื่อยจากการทำงาน งานก็จะผิดพลาดเป็นประจำ คิดอะไร เขียนอะไร จำอะไรก็ไม่ดี จิตใจหวั่นไหว ใครมาพูดกระทบแสดงความไม่พอใจ กล่าวกันว่า หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ต้องใช้ความอดทน การนั่งเฉย ๆ แล้วเอาจิตมาผูกกับลมหายใจ เพียงแต่รับรู้ลมหายใจเข้าออก เข้าก็รู้ ออกก็รู้ ที่เป็นจริง ต่อเนื่อง ตามลมหายใจ ความคิดก็ค่อย ๆ ไตร่ตรองแล้วก็หายใจเงียบ ๆ ประมาณ 5-10 นาที
3. การอยู่กับปัจจุบัน คือการแผ่เมตตา ปรารถนาดี ซึ่งมีอยู่จริง ๆ ในจิตของเรา ทำให้น้อมจิตแผ่เมตตา แบ่งความสุขไปยังทุกคนในที่ทำงานทุกทิศทุกทาง โดยทำความรู้จักกับลมหายใจเข้าออกให้ชัดเจน ใครที่ทำให้ตนเองทุกข์ใจ ร้อนใจ ขัดเคือง เราก็ให้อภัยเขา ไม่เอามาคิด ที่จะทำให้ใจของเราเป็นสุข ไม่มีเวรและเป็นภัยต่อกัน
4. การปล่อยวาง คือ การไม่จมอยู่กับงานจนมั่นหมายเป็นบ้า ไม่หมกมุ่นอยู่กับอดีตที่ผ่านไป อนาคตที่ยังมาไม่ถึงและการสลัดตนให้พ้นจากความรู้สึก หรือภาพประทับใจเก่า ๆ ที่มาเกาะกุมจิตใจโดยไม่รู้ตัว
5. การสวดมนต์ กล่าวว่า จะทำให้จิตใจของเรายึดมั่นอยู่ในพระรัตนตรัยเป็นการฝึกจิตให้สงบ และมีสมาธิ จากการวิจัยของ นายแพทย์อีริค แลนเดอร์ ซึ่งเป็นแพทย์ทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกากล่าวว่า หากรู้จักปลีกเวลาสัก 1 ชั่วโมง หลาย ๆ ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อการสวดมนต์เชื่อว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงในร่างกายและสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
สิ่งที่แนะนำมาเบื้องต้นไม่ข้อใดข้อหนึ่ง สามารถกระทำเองได้โดยไม่ต้องลงทุนด้วยเงินทอง จะมีประโยชน์ 2 ส่วน คือ ตัวเราเองมีความสุข ความสัมพันธ์กับเพื่อนรอบข้างก็ดี งานก็สำเร็จ สัมฤทธิผล มีคุณค่าต่อสังคม เพราะว่ารู้จักนำธรรมะมาใช้กับงานอย่างถูกต้อง.
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
---------------------------------------------------------------
ที่มา
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (ออนไลน์) วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2548
ภาพจาก thaipetlover.com