กลไกของความฝัน (Dream Mechanism)
การจะเข้าใจความฝันได้ จะต้องเข้าใจกลไกของความฝันซึ่งมีหลายชนิด ดังนี้
การย่นย่อ (Condensation) เนื้อหาของฝันจะแสดงออกมาในเนื้อหาที่แฝงเร้นอยู่
แต่สามารถนำมาตีแผ่หาความหมายได้ ฝันที่เป็นลำดับคล้ายฟิล์มภาพยนต์
บางตอนก็ขาดหาย เพราะถูกย่นย่อ รวบรวมและสรุปสั้นเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลา หรือรูปแบบ
ลักษณะย่นย่อนี้ ส่วนมากปรากฏในฝันของผู้ใหญ่
แต่เรื่องราวที่ผู้ฝันเล่าเมื่อตื่นนั้น มักได้รับการต่อเติมในช่วงที่ขาดหาย
หรือสร้างเรื่องเชื่อมโยงให้ง่ายต่อการฟัง เมื่อมีสิ่งของมากขึ้นไป มารวมกันโดยกลไกการย่นย่อ
เนื้อหาทั้งหมดจะแปลกเหนือจริง มีลักษณะขัดกัน (Contamination) ดูเหมือนเป็นความคิดแบบง่าย ๆ ของเด็ก
การพาดพิง (Allusion) หมายถึงเนื้อหาของฝันที่พาดพิงถึงคนอื่น ถือเอาบุคลิก ท่าทาง ที่เด่น ๆ ที่เขาชอบ มาปรากฎในฝัน
ความฝันในทัศนะของคาร์ล กุสตาฟ จุง (Karl Gustav Jung : ค.ศ.1875 -1967)
Jung เป็นทั้งนักจิตวิทยา และแพทย์ชาวสวิสที่ได้รับอิทธิพลจากฟรอยด์ Jung เห็นว่า
ความฝัน เป็นเรื่องที่เปิดเผยของกิจกรรมทางจิตใจ หรือเป็นความในใจของมนุษย์ ค่อนข้างจะมีลักษณะที่เฉพาะ เข้าใจยาก มักแสดงออกมาเป็นภาพและสัญลักษณ์ จึงต้องมีการแปลความหมายของสัญลักษณ์
และตีความ ความหมายที่แฝงมาในความฝันนั้น
Jung แบ่งความฝันออกเป็น ๒ ชนิดคือ
๑. ความฝันของบุคคล (Personal Dreams) มาจากจิตไร้สำนึก หรือส่วนลึกของผู้ฝันเป็นสำคัญ เนื้อเรื่องมักโยงกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้ฝันเสมอ
๒. ความฝันของส่วนรวม (Collective Dreams) มาจากจิตไร้สำนึกรวมของผู้ฝันที่สั่งสมเหตุการณ์ทุกอย่างตั้งแต่บรรพบุรุษ
หรือบรรพกาล การจะรู้ความหมายต้องอาศัยการสืบสวนและวิเคราะห์ภูมิหลัง เพราะมีสาระเชื่อมโยงกับผู้อื่นด้วย
Jung เชื่อว่า ความฝันเป็นการชดเชยทางจิตใจของผู้ฝัน
ภาพที่ปรากฏเป็นการระบายความเก็บกดทางอ้อม (จากจิตไร้สำนึก) เช่น
พูด เขียน วาดภาพ และวิธี Free association เพื่อความเข้าใจสัญลักษณ์และภาพฝัน
จะต้องตีความภาพฝันให้สัมพันธ์กับลักษณะ ท่าที เจตคติของผู้ฝัน
สุดท้าย ความฝันเป็นพฤติกรรมสร้างสรรค์จากจิตไร้สำนึก
เราจะฝันเมื่อไร อย่างไร ?
คนเราจะฝันในช่วงหลับแบบ REM ถึงร้อยละ ๘๐ และฝันในช่วงที่หลับแบบ Non – REM
ดวงตาไม่กรอกเร็ว เพียงร้อยละ ๗ เท่านั้น
ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๑๓ ยังไม่แน่นอน
เราคงได้ยินบางคนบอกว่า ไม่เคยฝันเลยนั้น เป็นเพราะเขาลืม
ก็มีคำถามตามมาว่า เราจะจำความฝันได้นานไหม
ตอบว่า ถ้าฝันจากหลับแบบ REM จะจำได้นานสองชั่วโมงหลังจากฝันเสร็จ
ถ้าไม่ฝันจะเป็นอันตรายไหม
ถ้าไม่ฝันนั้น ไม่เป็นอะไรมากนัก แต่จะเกิดความเครียดและวิตกกังวล จริงหรือไม่
ในปี ๑๙๖๐ ได้มีการเผยแพร่ความคิดผ่านสื่อมวลชน ทำนองว่า
ตามปกติคนเราต้องฝัน ถ้าไม่ฝัน ในคืนก่อน คืนต่อมาจะฝันพิเศษขึ้น
เพื่อชดเชยกับที่ไม่ได้ฝันมาเลยนั่นเอง ฉะนั้น คนจะมีความผันแปร คือ เครียด วิตกกังวล สมาธิเสีย
อารมณ์ฟุ้งซ่านมีแนวโน้มที่จะประสาทหลอน
ซึ่งคล้าย ๆ จะเชื่อว่า ถ้าไม่ฝันจะทำให้เป็นบ้า
กล่าวโดยสรุปก็คือ เราฝันได้เสมอ ช่วงเวลาใดก็ได้ ในเวลาที่เราหลับ
แต่ในการหลับแบบ REM เราจะฝันมากที่สุด
ขณะเดียวกัน คนเราก็มีการฝันกลางวันอีกด้วย ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับฝันกลางคืน
ฝัน ๔ อย่างกับการหลับ ๔ ระดับ หรือทรานซ์ (Trance: สภาพที่ตกอยู่ในภวังค์)
ระดับแรก เกิดเมื่อหลับตาลงใหม่ ๆ คือ ศรีษะถึงหมอนได้ไม่นาน ประมาณ ๕ - ๑๐ นาที
เรียกว่า งีบ หรือ Nap หรือม่อยหลับ ซึ่งยังไม่หลับสนิท เป็นลักษณะหลับ ๆ ตื่น ๆ หูยังได้ยินเสียง ดวงตาภายใต้เปลือกตายังเคลื่อนอยู่อย่างเร็ว ที่เรียกว่า หลับแบบ REM ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
หลับเช่นนี้จะฝันมากมาย แต่ไม่สู้เป็นเรื่องเป็นราว สับสน เกินจริง มักเชื่อถือไม่ได้
ระดับที่ ๒ และ ๓ หลับลึกลงตามลำดับ หูมักไม่ได้ยินเสียง ดวงตาภายใต้เปลือกตาไม่เคลื่อนไหว คนสามารถหลับในระดับนี้ได้ถึงครึ่งของเวลาหลับทั้งหมด
สมมติว่านอนคืนละ ๘ ชั่วโมง เกือบ ๆ ๔ ชั่วโมงเป็นการหลับในระดับทั้ง ๒ นี้
บางครั้งอาจหวนกลับไประดับ ๑ แล้วกลับมาระดับนี้อีก
ซึ่งเป็นระดับที่คนฝันเรื่องราวต่าง ๆ และจำมาเล่าได้
ระดับสุดท้าย หลับลึกมาก หรือหลับเป็นตาย อาจเท่ากับระยะ โคม่าคือ
เกือบ ๆ จะหมดความรู้สึกตัว มักจะเป็นช่วงค่อนคืน หรือใกล้สว่าง
ถ้าฝันในช่วงนี้ ผู้ฝันจะจำได้ดี และบอกอะไร ๆ ในจิตใจของผู้ฝันได้ชัดเจน
คือส่วนที่อยู่ในจิตไร้สำนึกจะปรากฏขึ้นมาเต็มที่
อย่างไรก็ดี หากหลับลึกจริง ๆ แล้ว จะไม่ฝันอะไรเลย จิตหรือการทำงานของร่างกาย (สมอง) จะทำงานน้อยมาก เช่น การหลับของคนที่เหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลียจัด
หรือช่วงวัยของชีวิตที่ต้องการพลังงานเพื่อการเจริญเติบโตจำนวนมาก
เช่นวัยแรกรุ่น เขามีแนวโน้มที่จะหลับลึกได้อย่างรวดเร็ว ปลุกให้ตื่นก็ค่อนข้างยากด้วย
นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่า คนที่ฝันร้าย มักเป็นคนที่มีปัญหาทางจิตใจเช่น
ความรู้สึกผิด ความวิตกกังวล หรือมีจิตใจแตกแยก เสื่อมโทรม
ในคนที่เป็นโรคจิต โรคประสาท พวกนี้ได้รับทุกข์ทรมานอยู่ด้วย จึงฝันร้ายคืนแล้วคืนเล่า
จนบางคนไม่กล้าหลับก็มี ด้วยกลัวความฝันนั้น
เด็กที่ถูกข่มขู่ เข้มงวด หรือเขกศรีษะจากผู้ใหญ่เสมอ ๆ ก็มักจะฝันร้าย (ปัสสาวะรดที่นอน)
นักเรียน นักศึกษา ช่วงก่อนหรือหลังสอบที่ค่อนข้างหนัก และไม่สู้จะมั่นใจนัก ก็มักจะฝันร้าย แปลว่า เขาวิตกกังวลกับการสอบของตนมากพอสมควร
คนที่อยู่ในเหตุการณ์อันชวนให้วิตกกังวลว่า จะถูกทอดทิ้ง พลัดพรากจากกัน หรือไร้ที่พึ่ง มักจะฝันร้าย
แม้นักธุรกิจที่หวั่น ๆ ว่าจะต้องล้มละลายหรือหมดตัว ก็มักฝันร้ายเช่นกัน
คนที่ต้องจากครอบครัวไปไกล ๆ เช่น ไปต่างประเทศ และปรับตัวเข้ากับถิ่นใหม่ไม่ใคร่ได้ ก็ฝันร้าย
จนต้องกลับบ้านก็มีบ่อย ๆ
ทหารที่ต้องออกสู่แนวรบ ก็ฝันร้าย จนบางครั้งฝันร้ายนั้นกระตุ้นให้จิตใจผันแปรถึงขั้น
ประสาทสงคราม (Combat neurosis) ไปเลยก็มี
คนชราที่โดดเดี่ยวก็มักจะฝันร้าย
จะเห็นได้ว่า ฝันร้าย สะท้อนจิตใจที่ไม่สบายออกมาให้ปรากฏ
ฉะนั้น ฝันร้ายเมื่อใด ก็แปลว่า จิตใจของผู้ฝันต้องมีความกังวลอยู่
ต้องหาทางผ่อนคลายเร่งบำบัดเสียดีกว่าอย่าปล่อยให้ฝันเป็นจริงเลย
ส่วนดีของฝันนั้น ก็เพื่อจะหลับต่อนั่นเอง
นักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่า ฝันร้าย เป็นแรงขับมาจาก Masochism ของคน ๆ นั้นเอง
คือเขาเองชอบที่จะถูกทำให้เจ็บ (กลัว ตกใจ) เป็นความพอใจที่จะถูกทำให้เจ็บลึก ๆ
แม้ฝันนั้นจะทำให้ตกใจ ในระดับจิตสำนึก แต่ก็พอใจ ในระดับจิตใต้สำนึก / จิตไร้สำนึก
ถึงจะไม่จงใจให้ฝัน ก็เหมือนจงใจ บางคนเชื่อว่า ฝันร้ายไม่จงใจ ไม่ต้องการให้เกิด
แต่เกิดขึ้นเอง เนื่องมาจาก ความผิดพลาดของการทำงานของฝัน หรือ Dreams work
ซึ่งทำหน้าที่ปรับแต่ง ดัดแปลงหรืออำพราง หรือย่นย่อให้เหมาะกับสภาพจิตใจหรือนิสัยของผู้ฝัน
จะได้หลับต่อไปได้ ฝันดีจึงกลายเป็นฝันร้ายไปได้
ความฝันตามแนวคิดทางตะวันตก ให้ความสำคัญของความฝันไว้ ๔ ประการคือ
๑. ฝันที่สะท้อนความจริง ความฝันและความจริงต่างกันอย่างไร ?
นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ท่านเบอร์ทรัล รัสเซล (๑๙๘๒ - ๑๙๗๐) เขียนไว้ว่า
“เป็นไปอย่างชัดเจนว่า ชีวิตยามตื่น เป็นเพียงความไม่ปกติ และฝันร้ายเท่านั้น”
และกล่าวต่อไปว่า
“ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า ข้าพเจ้ากำลังฝันอยู่ในขณะนี้ แต่ข้าพเจ้าก็พิสูจน์ไม่ได้ว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ฝัน”
นักปราชญ์ทั้งหลายพยายามจะตอบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเวลาตื่นนั้น ดูเหมือนจะแจ่มชัดและเป็นเหตุเป็นผล
ดังที่นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสชื่อ เรอ เน เดส์การ์ท (๑๕๙๖ - ๑๖๕๐) กล่าวว่า
“ความจำไม่สามารถจะต่อเนื่องกับความฝันจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง หรือกับชีวิตของเราทั้งหมดได้เลย เหมือนกับที่มันรวมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเราขณะที่ตื่นอยู่”
หรือที่ รัสเซล กล่าวอย่างขวานผ่าซากว่า
“รูปแบบที่แน่นอนชัดเจน ขณะตื่นนั้น ต่อเมื่อปรากฏในฝัน มันแปรไปได้”
บางสังคมเชื่อว่า ความฝันและความจริงเป็นอันเดียวกัน เขาเชื่อว่า ระหว่างที่เขาหลับ วิญญาณจะออกจากร่าง และเข้าไปอยู่ในโลกของความฝัน และเขารู้ดีว่า จะเป็นอันตรายเพียงใด
หากปลุกคนที่หลับให้ตื่นโดยที่วิญญาณยังไม่กลับมา จึงมีการลงโทษรุนแรงต่อผู้ปลุกคนหลับ
บางสังคมก็พยายามจะทำฝันให้เป็นจริงให้ได้
๒. ฝันเพื่อการพยากรณ์ เป็นความฝันที่เรียก เทพสังหรณ์ หรือ Message dream
เป็นความเชื่อมานานแล้วว่า ฝันพยากรณ์เหตุการณ์ข้างหน้าได้ ในวรรณคดีโบราณเชิงศาสนามักจะแสดงความมั่นใจในการทำนายล่วงหน้าอย่างมาก
โดยเฉพาะตัวเอกและพระราชา อย่างพระมหาสุบินของพระพุทธองค์ เป็นต้น
๓. ฝันเพื่อการเยียวยา ในวัฒนธรรมเอเชียกลาง นอกจากจะใช้ฝันเพื่อการทำนายแล้ว
ยังใช้เพื่อการเยียวยาอีกด้วย ที่เรียกว่า วิธีอกให้ร้อนด้วยความฝัน
มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ของบาบิโลนและอียิปต์ โบสถ์ในกรีกไม่น้อยกว่า ๖๐๐ แห่ง
ให้การบริการเช่นนี้ ซึ่งจะมีป้ายหินอ่อนแขวนให้เห็นชัดเจน
๔. ฝันเพื่อเสริมชีวิตยามตื่น แม้ในยุคแรก ๆ ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็เชื่อว่า
ฝันเป็นตัวสะท้อนชีวิตยามตื่นของคนเรา สะท้อนประสบการณ์ อารมณ์ และความต้องการออกมา
นักปราชญ์อย่างอริสโตเติล (๓๘๔ - ๓๒๒ ก่อนคริสตกาล) ซิกมันด์ ฟรอยด์ (๑๘๕๙ - ๑๙๓๔) ก็เชื่อว่า ประสาทสัมผัสทำงานน้อยลงขณะหลับ
แพทย์ชาวฝรั่งเศสชื่อ อัลเฟรด มัวรี ได้ศึกษาความฝันของคนถึง ๓,๐๐๐ ความฝัน
และสรุปว่า ฝันเกิดจากแรงเร้าภายนอก ประสานกับความประทับใจ
ชนิดของความฝันตามแบบตะวันตก
ฝันถึงสิ่งที่ขาด เช่นฝันถึงอาหาร หรือฝันว่าสูบบุหรี่ มักเกิดในช่วงที่คุมน้ำหนัก หรืออดบุหรี่
ฝันวิตกกังวล เป็นฝันที่เกิดจากสูญเสียสิ่งสำคัญไป แม้สิ่งที่ฝันถึงอาจไม่ใช่ตัวที่ทำให้ผู้ฝันวิตก
ฝันเรื่องเซ็กซ์ กับใครบางคนที่ไม่รู้จัก หรือใครสักคนที่ต้องห้ามสำหรับคุณ ตัวอย่างเช่นการฝันเปียกของวัยรุ่น
ฝันทำนายอนาคตข้างหน้า ฝันถึงสิ่งหนึ่ง ต่อมาเกิดเป็นจริงตามนั้น
ฝันว่าได้บิน ได้เหาะดุจนก การบิน เหาะ หรือ ลอยไกลอย่างไร้จุดหมาย หมายถึงหนี
แต่ถ้าเหาะ ลอยอย่างตั้งใจใช้ความพยายาม หมายถึงความทะเยอทะยาน
ฝันร้าย แปลว่า ผู้ฝันถูกกดดันด้วยอะไรสักอย่าง ฝันแบบนี้อาจหมายถึงความก้าวร้าว หรือความปรารถนาทางเพศ
ฝันคล้ายจริง มีฝันคล้ายจริงชัด ๆ ๕ ชนิด คือ
๑. ฝันผวา (Night terror) ลักษณะสำคัญคือ ตกใจตื่นขึ้นโดยพลัน บางทีก็หวีดร้องด้วย
เด็กเล็กจะลุกขึ้นนั่งบนเตียงด้วยอาการตื่นตระหนก นัยน์ตาเบิกกว้าง ตัวแข็งทื่ออยู่หลายนาที
จำเรื่องที่ฝันไม่ได้ มักเกิดกับเด็กอายุ ๔ - ๗ ปี และร้อยละ ๑๐ เกิดในเด็กอายุ ๑๒ - ๑๔ ปี
๒. ฝันร้าย (Nightmare) มักจะตื่นขึ้นอย่างตกใจ รู้สึกยากลำบาก ช่วยตัวเองไม่ได้
รวมทั้งรู้สึกถูกบีบบังคับด้วย มักเกิดกับเด็กอายุ ๘ - ๑๐ ปี แรก ๆ เชื่อว่า
ฝันร้ายเกิดเพราะถูกเร้าด้วยเสียงรบกวนต่าง ๆ ขณะเด็กหลับ หรือเหตุการณ์ที่น่ากลัวต่าง ๆ ที่เด็กประสบ
จากของจริงบ้าง จากภาพยนต์บ้าง แต่ระยะหลังพบว่า ทั้งฝันผวาและฝันร้าย
เกิดเนื่องจากตื่นขึ้นโดยพลันจากการหลับลึก (ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ฝันอะไรเลย)
และความกลัวอย่างมากนั้นเกิดจากอารมณ์ที่แปรปรวน เนื่องเพราะการตื่นจากหลับลึกนั้น นั่นเอง
๓. ละเมอเดิน มักเกิดกับเด็กอายุ ๑๑ - ๑๔ ปี คือลุกจากที่นอนแล้วเดินลืมตา ซึ่งมักจะไม่กระพริบ
และจำเรื่องที่ฝันไม่ได้ จากการตรวจคลื่นสมองพบว่า ละเมอเดิน เกิดในช่วงหลับลึก ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ฝัน
๔. ฝันปัสสาวะรดที่นอน (Enuresis) ร้อยละ ๒๕ เกิดในเด็กอายุไม่เกิน ๔ ปี
และไม่เกิดในช่วงหลับแบบ REM แต่เกิดในช่วงหลับลึก และไม่อยู่ในช่วง D-State
๕. ฝันเปียก (Wet dream) จากการสอบถาม ผู้ชายร้อยละ ๘๕ เคยฝันเปียกมาแล้วทั้งนั้น
ประมาณเดือนละครั้งในช่วงอายุวัยรุ่น ถึง ๒๐ ปี
สำหรับในกลุ่มสตรี รอยละ ๓๗ เคยฝันเรื่องรักใคร่ ฝันทำนองนี้ ปีละ ๓ - ๔ ครั้ง
และไม่บ่อยนักที่จำฝันได้ รวมทั้งฝันหวานก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้
ประสบการณ์คล้ายฝันนี้ ถูกชักนำเหมือนการเข้าภวังค์ หรือเพ้อ หรืออาการประสาทหลอนเพราะยา ทั้งนี้ เพราะระดับประสาทส่วนกลางหย่อนประสิทธิภาพต่อการจัดกระบวนการรับรู้จากภายนอก เป็นการหนีจากสิ่งแวดล้อมภายนอกสู่ภายในที่พอใจกว่า
ความฝัน ในทางจิตวิเคราะห์เห็นว่า มีความหมายสำหรับผู้ฝันที่อาจจะเป็นความหวัง หรือความกลัวก็ได้ แต่การศึกษาในปัจจุบันพยายามอธิบายว่า ความฝันมีลักษณะพิเศษ มีสารชีวเคมีที่ซับซ้อน
และมีพื้นฐานจากระบบประสาทด้วย อย่างไรก็ดี เรื่องของความฝันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน ไม่สามารถอธิบายได้โดยอาศัยเพียงทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งได้
สภาพของความฝัน (State of Dream)
ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่นักคิดทั้งหลายแสดงทัศนะขัดแย้งกันอย่างหนัก เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ถูกต้องว่า สภาพของความฝันมีความสัมพันธ์อยู่กับสิ่งใด เหตุการณ์ที่ประสบขณะตื่นมีความสัมพันธ์อยู่กับความฝันหรือไม่ ? ประเด็นนี้พอสรุปทัศนะได้เป็น ๒ กลุ่มคือ
๑. สภาพของความฝันคือความอิสระ
ความฝันมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้เราเป็นอิสระจากการดำเนินชีวิตประจำวันเหล่านั้น
เพราะในชีวิตประจำวัน สมองเราถูกอัดแน่นด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งอาจประสบกับความเสียใจอย่างสุดซึ้ง หรือไม่ก็ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาปัญหาอย่างรอบคอบ แต่ในฝันเราไม่ต้องทำอะไร
นอกจากเดินไปสู่ความสุขสมบูรณ์แห่งอารมณ์…
Burdach กล่าวว่า
ความฝันช่วยเคลื่อนย้ายเราไปให้หลุดพ้นจากโลกของวิญญาณที่กำลังตื่น ในความฝัน
ความทรงจำของเราจะดับหายไป ใจของเราเกือบไม่มีความทรงจำ
เนื่องจากถูกตัดขาดไปจากเนื้อหาสาระและเรื่องราวของชีวิตที่กำลังตื่น ซึ่งเป็นของธรรมดา
๒. สภาพของความฝันสัมพันธ์อยู่กับเรื่องราวขณะตื่น
ความฝันคือตัวการที่สืบต่อชีวิตที่กำลังตื่น ความฝันของเราสัมพันธ์อย่างแน่นอนอยู่กับความคิด
ที่ฝังแน่นอยู่ในวิญญาณของเรามาก่อน ความฝันจึงไม่ใช่ตัวผลักดันให้เราเป็นอิสระจากชีวิตธรรมดาสามัญนั่นหรอก แต่ความฝันคือตัวผลักดันให้เรากลับเข้าหาชีวิตเหล่านั้นต่างหาก