ฝ่ายพระภิกษุมีคนรับบุญไปแล้ว ผมขอรับบุญฝ่ายพระภิกษุณีละกันนะครับ เพราะคิดว่า เราน่าจะรู้เรื่องราวของภิกษุณีสงฆ์บ้าง แม้ในปัจจุบัน ฝ่ายเถรวาทจะไม่มีพระภิกษุณีสงฆ์แล้วก็ตาม เริ่มกันเลยนะครับ
คำว่า “ภิกษุณี” มีปรากฏเป็นครั้งแรกจากพระดำรัสของพระพุทธเจ้าเอง โดยพระองค์ตรัสว่า
“อานนท์ คราวตรัสรู้แล้วใหม่ๆ เราพักอยู่ใต้ต้นอชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ อุรุเวลาประเทศ คราวนั้นมารผู้มีบาปได้เข้าไปหาเรา...แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตเจ้าจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว...เราได้กล่าวตอบว่า มารผู้มีบาป ตราบใดที่ภิกษุ...ภิกษุณี...อุบาสก...อุบาสิกา ผู้เป็นสาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับคำแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วยังบอก แสดง ปฏิบัติ เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมที่มีปาฏิหาริย์ ข่มขี่คำกล่าวให้ร้ายให้เรียบร้อย โดยชอบธรรมไม่ได้ ตราบนั้น เราจักไม่ปรินิพพาน”
จากพระดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เมื่อคราวตรัสรู้ใหม่ๆ นั้นแสดงว่า พระภิกษุณีจะต้องมีอย่างแน่นอน ในฐานะเป็นพระสาวิกาของพระพุทธเจ้าคู่กับพระภิกษุ พระพุทธเจ้าทรงได้พระภิกษุเป็นพระสาวกตั้งแต่ตรัสรู้ได้พรรษาแรก ต่อมาหลังจากพรรษาที่ ๕ ก่อนย่างเข้าพรรษาที่ ๖ ทรงได้พระภิกษุณีเป็นพระสาวิกา
ในพระวินัยปิฎก ตอนว่าด้วยภิกขุนีขันธกะ มีกล่าวถึงกำเนิดของพระภิกษุณีไว้ว่า
พระนางมหาปชาบดี พระน้านางของพระพุทธเจ้า ทรงมีพระประสงค์จะออกบวชในพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างเจ้าชายศากยะผู้เป็นพระญาติ ที่พระนางได้ทอดพระเนตรเห็น เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติที่เมืองกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ดังนั้นเมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปเมืองกบิลพัสดุ์อีกเป็นครั้งที่ ๒ เพื่อทรงเยี่ยมพระอาการประชวรหนักของพระพุทธบิดา ในการเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติครั้งแรก พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาให้ได้บรรลุพระอนาคามี และเมื่อเสด็จกลับไปครั้งที่ ๒ นี้ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาให้ได้บรรลุอรหัตผล และประทับอยู่จนกระทั่งพระพุทธบิดานิพพาน หลังจากถวายพระเพลิงพระศพแล้ว พระพุทธเจ้ายังคงประทับอยู่ที่นิโครธารามอีกระยะหนึ่งเพื่อทรงแสดงธรรมโปรดพระประยูรญาติให้หายเศร้าโศก ขณะประทับอยู่ที่นิโครธารามนั้น พระนางมหาปชาบดีได้เข้าไปเฝ้าแล้วทูลขอบวช โดยกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คงจะเป็นการดี หากสตรีได้ออกบวชในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว”
พระพุทธเจ้าตรัสห้ามว่า “อย่าเลย ท่านโคตมี สตรีอย่าอยากบวชในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย”
พระนางมหาปชาบดี ครั้นถูกตรัสห้ามอย่างนั้นแล้วทรงรู้สึกเสียพระทัยมาก ถึงขั้นกันแสงน้ำพระเนตรนองพระพักตร์ ทรงกราบลาพระพุทธเจ้าแล้วเสด็จกลับพระตำหนัก
ต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าทรงลาพระประยูรญาติแล้วพาพระสาวกไปประทับที่กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ก่อนเสด็จพุทธดำเนินต่อไปยังแคว้นโกศลนั้น พระนางมหาปชาบดีกับเจ้าหญิงศากยะจำนวนหนึ่ง ได้พร้อมพระทัยกันให้กัลบก (ช่างตัดผม) ปลงพระเกศาแล้วทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ จากนั้นจึงเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่าไปยังเมืองเวสาลี การเสด็จดำเนินทางไกลด้วยพระบาทเปล่าเช่นนั้น ทำให้พระนางมหาปชาบดีและเจ้าหญิงศากยะเจ็บระบมพระบาท พระวรกายต้องฝุ่นสกปรก พระอานนท์เห็นพระนางมหาปชาบดีประทับยืนกันแสงอยู่หน้าซุ้มประตูกูฏาคารศาลา อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าจึงเข้าไปทูลถามถึงเหตุผล เมื่อได้ทราบพระประสงค์เรื่องการขอออกบวชแล้ว ท่านจึงรับอาสาเข้าไปกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรีได้ออกบวชในพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างบุรุษ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธคำทูลขอของท่านเหมือนอย่างที่ทรงเคยปฏิเสธคำทูลขอของพระนางมหาปชาบดีว่า
“อย่าเลย อานนท์ เธออย่าพอใจให้สตรีออกบวชในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย”
ท่านได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “หากสตรีออกบวชแล้วสามารถบรรลุมรรคผลได้หรือไม่” เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “สามารถบรรลุได้” จึงกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรีโดยเฉพาะพระนางมหาปชาบดีได้ออกบวชในพระพุทธศาสนาได้อย่างบุรุษบ้าง
พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตตามที่พระอานนท์ทูลขอ แต่ทรงมีเงื่อนไขว่า พระนางมหาปชาบดีจะต้องถือปฏิบัติครุธรรม ๘ ประการ ตลอดพระชนมชีพ หากพระนางทรงถือปฏิบัติได้ ขอให้การถือปฏิบัติครุธรรม ๘ ประการนี้แหละ จงเป็นการอุปสมบทของพระนาง
พระอานนท์นำเงื่อนไขนั้นไปแจ้งให้พระนางมหาปชาบดีได้ทรงทราบ พระนางมหาปชาบดีทรงเต็มพระทัยรับเงื่อนไขนั้น โดยทรงกล่าวว่า ท่านอานนท์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอน้อมรับถือปฏิบัติครุธรรม ๘ ประการนี้อย่างเคร่งครัดตลอดชีวิต และนับแต่เวลาที่พระนางมหาปชาบดีทรงเปล่งวาจาขอถือปฏิบัติครุธรรม ๘ ประการต่อหน้าพระอานนท์นั้น ก็เป็นอันว่าพระนางได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุณีแล้ว
พระนางมหาปชาบดี ถือได้ว่าเป็นพระภิกษุณีรูปแรก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๕ พรรษา และเป็นระยะเวลาช่วงก่อนย่างเข้าพรรษาที่ ๖
ในวันที่พระนางมหาปชาบดีได้บวชเป็นพระภิกษุณีรูปแรกนั้น พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระภิกษุช่วยรับภาระอุปสมบทเจ้าหญิงศากยะที่เหลือเป็นพระภิกษุณีด้วย โดยตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้พระภิกษุอุปสมบทให้สตรีเป็นพระภิกษุณีได้”
การที่พระนางมหาปชาบดีและเจ้าหญิงศากยะได้บวชเป็นพระภิกษุณีรูปแรกและกลุ่มแรกหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๕ พรรษานั้น ถือว่าเป็นการก่อกำเนิดพระภิกษุณีขึ้นในพระพุทธศาสนาแล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เมื่อคราวประทับอยู่ใต้ต้นอชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ อุรุเวลาประเทศ และต่อมาได้มีสตรีจำนวนมากออกบวชเป็นพระภิกษุณีตามจนกระทั่งเกิดมีพระภิกษุณีแพร่หลายจนกลายเป็นพระภิกษุณีสงฆ์หมู่ใหญ่ในลักษณะเดียวกับพระภิกษุสงฆ์
ประวัติและการกำเนิดพระภิกษุณีสงฆ์
เริ่มโดย MiraclE...DrEaM, Feb 18 2006 12:21 PM
มี 4 โพสต์ตอบกลับกระทู้นี้
#1
โพสต์เมื่อ 18 February 2006 - 12:21 PM
#2
โพสต์เมื่อ 18 February 2006 - 12:43 PM
สาธุกับธรรมทานดีๆ ของพี่ด้วยนะครับ อย่างนี้ต้องบอกว่า เกิดเป็นหญิงนั้นฤๅ คือ ความผิด
หญิง (ก็) มีสิทธิ์บรรลุธรรมล้ำเลิศได้
หญิง (ก็) มีสิทธิ์บรรลุธรรมล้ำเลิศได้
#3
โพสต์เมื่อ 20 February 2006 - 06:13 PM
ตอนนี้พระพุทธองค์ก็ทรงห้ามไม่ให้หญิงบวชแล้ว
เศร้าเลย
แต่ก็ดีนะ เพราะหากไม่ห้ามแล้ว พุทศาสนาอาจเสื่อมไปแล้วก็ได้ เพราะผู้หญิงมีจิตใจที่ไม่เข้มแข็งอยู่แล้ว ตอนนี้มนุษย์มีกิเลสเพิ่ม รวมกันแล้วก็หายนะเลย
เศร้าเลย
แต่ก็ดีนะ เพราะหากไม่ห้ามแล้ว พุทศาสนาอาจเสื่อมไปแล้วก็ได้ เพราะผู้หญิงมีจิตใจที่ไม่เข้มแข็งอยู่แล้ว ตอนนี้มนุษย์มีกิเลสเพิ่ม รวมกันแล้วก็หายนะเลย
เมื่อไหร่หนอจะได้พบทหารหาญ
รอตั้งนานผู้ชาญศึกหายไปไหน
บอกจะพบกันครึ่งทางที่กลางใจ
อีกนานไหมจะให้พบช่วยบอกที
รอตั้งนานผู้ชาญศึกหายไปไหน
บอกจะพบกันครึ่งทางที่กลางใจ
อีกนานไหมจะให้พบช่วยบอกที
สุนทรพ่อ
muralath2@hotmail
#4
โพสต์เมื่อ 23 October 2006 - 05:36 PM
มันเศ้รา บวชทางใจเอาพี่วิวเห่อ
"ด้วยใจกล้าอาสา พัฒนาไม่หยุดยั้ง"
น้ำฝนลูกพระธัมฯ
#5
โพสต์เมื่อ 18 March 2007 - 03:25 PM
สาธุ