คัดลอกมาบางส่วน
ภูเขาห้าเทือกที่แวดล้อมเมืองราชฤห์
เป็นป้อมปราการธรรมชาติรักษาเมืองราชคฤห์ไว้ได้จนถึงปัจจุบัน
เปรียบเหมือนพระราชาแคว้นมคธ ที่เพรียบพร้อมด้วยศีล ๕ ประการ
ได้น้อมนำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
ทำให้พระพุทธศาสนา
ตั้งมั่นพระพุทธศาสนามาโดยตลอด
เพราะได้รับการสนับสนุนจากพระราชา ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองราชคฤห์
ถึงแม้ว่า ราชคฤห์จะไม่ได้เป็นสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
แต่ก็นับเป็นพุทธสถานและมีความสำคัญไม่น้อยกว่าที่อื่นๆ เพราะพระพุทธเจ้าทรงเลือกเมืองนี้ให้เป็นศูนย์กลางเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก
วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาก็เกิดที่เมืองนี้
พระสาวกผู้ใหญ่ที่เป็นกำลังที่รักษาสืบต่อพระพุทธศาสนาก็มีภูมิลำเนาอยู่ในเมืองนี้
และที่สำคัญที่สุด ภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว พระพุทธศาสนาก็ได้แผ่กระจายไปทั่วโลก
ก็เพราะพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นมคธ
ซึ่งย้ายไปจากเมืองราชคฤห์นครแห่งพระราชผู้ทรงธรรมนี้เอง
ความสำคัญของเมืองราชคฤห์
๑. เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก
๒. วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา คือ วัดพระเวฬุวันเกิดขึ้นที่เมืองนี้
๓. เป็นสถานที่อุปสมบทของพระอัครสาวกทั้งสองรูป คือ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ
๔. เป็นสถานที่ทำการสังคายนาครั้งที่ ๑
ความหมายของชื่อเมือง
ราชคฤห์ เป็นคำไทย ส่วนภาษาบาลี คือ ราช+ คห แปลว่า
เมืองที่พระราชาครอบครอง
ในอรรถกถารถวินีตสูตร แห่งโอปมุขวรรค มูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย (ปปัญจสูทนี ๒) กล่าวไว้ว่า
เพราะเมืองนี้มีพระเจ้าจักรพรรดิปกครองมีพระเจ้ามันธาตุและมหาโควินทเป็นต้นปกครองสืบต่อกันมา
จึงชื่อว่า ราขคหะ (ภาษาไทย คือราชคฤห์)
(ตตฺถ ราชคเหติ เอวํนามเก นคเร, ตญหิ มนฺธาตุมหาโควินฺทาทีหิ ปริคฺคหิตตฺตา ราชคหนฺติ วุจฺจติ.)
และมีชื่อเรียกอีก ๒ ชื่อคือ คิริพพชะนคร และปัญจคีนคร
ฎีกาพระวินัย สมันตปาสาทิกา (สารัตถทีปนี ๔) ข้อ ๙๑ กล่าวไว้ว่า
คิริพพชะนคร เพราะมีภูเขาห้าเทือกล้อมรอบพระนครซึ่งภูเขาเหล่านี้ประดุจรั้วล้อมพระนคร
(นครคิริพฺพชนครนฺติ สมนฺตาปพฺพตปริกฺขิตฺตํ วชสทิสํ หุตฺวา ติฏฺฐตีติ คิริพฺพชนฺติ เอวํลทฺธนามํ ราชคหนครํ)
ส่วนคำว่า ปัญจคีรีนครนั้น เป็นเพราะมีภูเขาห้าเทือกห้อมล้อมไว้ คือ
อิสิคิลิ ปัณฑวะ คิชฌกูฏ วิปุละ และเวภาระ
อรรถกาธนัญชานีสูตร แห่งมัชฌิมนิกาย ปปัญจสูทนี กล่าวความยิ่งใหญ่ของเมืองราชคฤห์ไว้ว่า
เมือราชคฤห์มีประตูทางเข้าเมืองขนาดใหญ่ถึง ๓๒ ประตู และประตูเล็ก ๖๔ ประตู
แต่ปัจจุบันปรากฏเพียง ๒ ประตู คือ ตรงตโปทารามและทางไปพุทธคยาเท่านั้น
เมืองราชคฤห์ในปัจจุบัน
ปัจจุบันเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า ราชคีร์(Rajgir)
อยู่ในเขตอำเภอนาลันทา รัฐพิหาร
ห่างจากปัตนะเมืองหลวงรัฐพิหารประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตรและห่างจากคยาประมาณ ๗๐ กิโลเมตร
ภายในตัวเมืองเก่าไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ แต่ภายนอกด้านทางไปนาลันทา เป็นชุมชนใหญ่ และภายในเมืองราชคฤห์นั้นเต็มไปด้วยโบราณสถานต่างๆ มากมาย และอยู่ในสภาพที่ดี
เช่นพระคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกฏ คุกขังพระเจ้าพิมพิสาร โรงพยาบาลหมอชีวก
และวัดพระเวฬุวัน วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ฯลฯ
[color=#CC6600]
หลวงจีนฟาเหียนมาเมืองราชคฤห์
หลวงจีนฟาเหียนเดินทางมาถึงจากเมืองนาลันทา
ถึงเมืองราชคฤห์ที่พระเจ้าอชาตศัตรูสร้างขึ้น
(หลังจากปลงพระชนม์พระราชบิดา พระเจ้าอชาตศัตรูก็เกิดความเกรงกลัวไม่กล้าอยู่ในเมืองเก่า
จึงย้ายออกมาสร้างเมืองใหม่ ปัจจุบันอยู่ห่างจากวัดเวฬุ
ทางไปนาลันทา ประมาณ ๕๐๐ เมตร เหลือเพียงเนินดินสูงและกำแพงศิลาเท่านั้น)
ท่านฟาเหียนได้พบวัด ๒ แห่ง ได้พบเจดีย์ที่พระเจ้าอชาตศัตรูสร้างบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
(ปัจจุบันเหลือเพียงฐาน อยู่เยื้องกับวัดเวฬวัน)
แต่ภายในเมืองราชคฤห์เก่า ที่อยู่ในวงล้อมของภูเขาห้าเทือกนั้น เป็นที่ราบเวิ้งว่าง ไม่มีคนอาศัยอยู่
เหลือเพียงซากำแพงเท่านั้น ปรากฏซากวัดชีวกัมพวัน ที่หมอชีวกสร้างถวาย
ส่วนวัดพระเวฬุวันนั้น ปรากฏว่ายังมีภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมาก ช่วยกันปัดกวาดดูแลรักษาอยู่
หลวงจีนเฮี่ยนจัง นักเดินทางชาวจีนอีกท่านหนึ่ง แต่มาเมืองราชคฤห์ภายหลังท่นฟาเหียนประมาณ ๒๐๐ ปี ก็ได้บันทึกไว้อย่างเดียวกันกับท่านฟาเหียน
เมืองราชคฤห์ เคยเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่สมัยพุทธกาล
พระพุทธศาสนาได้ประดิษฐานตั้งมั่นที่พระนครแห่งนี้มาโดยตลอด
เพราะการอุปถัมภ์บำรุงของพระมหากษัตริย์พระราชาผู้ทรงธรรม
ถีงแม้ว่าปัจจุบันจะเหลือเพียงซากปรักหักพัง มีป่าไม้ขึ้นปกคลุม
ชวนให้สลดหดหู่ในความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง
แต่ตราบใดที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายยังปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างแคร่งครัด
พระพุทธศาสนาจะไม่มีวันเสื่อมสลาย ดุจดังภูเขาทั้ง ๕ เทือกที่แวดล้อมเมืองราชคฤห์
ที่ยังคงตระง่านท้าลมแดดมานานนับพันๆ ปี
“คนพาลแม้อยู่ใกล้พระพุทธองค์ก็ไม่ปรากฏ เหมือนลูกศรที่ยิงไปในวันคืนเดือนมืด
แต่บัณฑิตแม้อยู่ที่ไกล ก็ปรากฏ เหมือนภูเขาหิมพานต์ที่ปรากฎเหมือนอยู่ใกล้ๆ”
พระสูตรที่ควรสวดในเมืองราชคฤห์
บนเขาคิชฌกูฏ อาฏานาฏิยสูตร มหาปรินิพพานสูตร
คุกขังพระเจ้าพิมพิสาร อนิจจา วต สังขารา และบทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
วัดพระเวฬุวัน โอวาทปาติโมกข์, สีตัง อุณหัง ปฏิพาหติ, อทาสิ เม อกาสิ เม ฯลฯ
ถ้ำสัตตบรรณคูหา พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม
……