รูปทรงของบาตรและบาตรที่ตรงตามหลักพระธรรมวินัย
รูปทรงของบาตรพระที่นิยมใช้ในประเทศไทยนั้น ‘หิรัญ เสือศรีเสริม’ ช่างแห่งชุมชนบ้านบาตร ซึ่งสืบทอดการตีบาตร มาเป็นรุ่นที่ 6 ของตระกูล อธิบายว่า บาตรพระนั้นมีอยู่ 5 ทรงด้วยกัน คือ
1. ทรงไทยเดิม มีฐานป้าน ก้นแหลม จึงไม่สามารถวางบนพื้นได้ ต้องวางบนฐานรองบาตร
2. ทรงตะโก ฐานมีลักษณะคล้ายทรงไทยเดิม แต่ก้นมนย้อย สามารถวางบนพื้นได้
3. ทรงมะนาว รูปร่างมนๆ คล้ายกับผลมะนาวแป้น
4. ทรงลูกจัน เป็นบาตรทรงเตี้ย ลักษณะคล้ายทรงมะนาว แต่จะเตี้ยกว่า และ
5.ทรงหัวเสือ รูปทรงคล้ายกับทรงไทยเดิม แต่ส่วนฐานตัดเล็กน้อย สามารถวางบนพื้นได้
บาตรที่ตรงตามหลักพระธรรมวินัย
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการผลิตบาตรพระ หลายรูปแบบออกมาจำหน่าย แต่บาตรที่มีลักษณะตรงตามหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มี 2 ชนิดเท่านั้นคือ ‘บาตรดินเผา’ และ ‘บาตรเหล็กรมดำ’ โดยควรมีขนาด 7-11 นิ้ว อีกทั้งพระพุทธองค์ยังทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุใช้บาตรที่ทำจากโลหะหรือวัสดุที่มีมูลค่าสูง เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง ทองแดง อัญมณี และแก้วผลึกต่างๆ แม้แต่บาตรที่ทำจากดีบุก สังกะสี หรือไม้ ก็ใช้ไม่ได้
อย่างไรก็ดี ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน วัดบางแห่งจึงอนุโลมให้ใช้บาตรที่ทำจากสแตนเลส เนื่อง จากสะดวกในการดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย จึงเป็นที่นิยมในหมู่สงฆ์ ส่วนฝาบาตรนั้นในสมัยพุทธกาลจะทำจากไม้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ฝาสแตนเลสแทน เนื่องจากฝาบาตรที่ทำจากไม้มีปัญหาแตกหักง่าย แต่พระระดับเกจิ ในภาคอีสานบางรูปก็ยังใช้ฝาบาตรที่ทำจากไม้อยู่ โดยนำไม้มะค่าหรือไม้ประดู่มากลึงให้ได้รูปทรงเข้ากับตัวบาตร