ผลแห่งการทรงคบเพลิงไว้
ของพระอุกกาสติกเถระ
พระอุกกาสติกเถระได้กล่าวภาษิตคาถาว่า
“ในกัปที่ ๙๔ แต่กัปนี้ ข้าพระองค์ได้ทรงคบเพลิงใด ด้วยกรรมนั้น ข้าพระองค์ไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการทรงคบเพลิงไว้” เหตุที่มาของคำกล่าวนี้ เรื่องราวในอดีตกาลของท่าน มีดังต่อไปนี้
ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า โกสิกะ พระองค์ประทับอยู่ที่ภูเขาจิตตกูฏ พระองค์เป็นผู้เพ่งพินิจ ยินดีในฌาน เป็นผู้ตื่นแล้ว อภิรมย์ในวิเวก เป็นมุนี ครั้งนั้นพระอุกกาสติกเถระเกิดเป็นชายหนุ่ม พร้อมด้วยหมู่นารีแวดล้อม ได้เข้าไปในป่าหิมวันต์ ได้เห็นพระโกสิกะพุทธเจ้าผู้ปานดังพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ เกิดจิตเลื่อมใสในพระองค์ ได้ถือเอาคบเพลิงจำนวน ๑๐๐ ดวง ตามถวายแวดล้อมพระพุทธเจ้าอยู่ตลอด ๗ วัน ๗ คืน
ล่วงเข้าวันที่ ๘ พระสยัมภูพุทธเจ้าพระนามว่า โกสิกะ ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้อะไร ๆ ได้เสด็จออกจากสมาบัติ ชายหนุ่มนั้นจึงได้ถวายอาหารอย่างหนึ่ง ด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระองค์
บุญกุศล ๒ ประการที่ชายหนุ่มได้ทำไว้ในภพชาตินั้นก็คือ
การบูชาพระพุทธเจ้าด้วยคบเพลิงตลอด ๗ วัน ๗ คืน และการถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้าผู้ออกจากสมาบัติ ด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธา
ด้วยบุญทั้ง ๒ ประการดังกล่าว ได้ส่งผลแก่ท่านอย่างต่อเนื่องดังที่ท่านได้กราบทูลต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งสัตว์ เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านรชน ด้วยผลแห่งการถวายอาหารในครั้งนั้น ข้าพระองค์ได้ไปเกิดในหมู่เทพในสวรรค์ชั้นดุสิต แสงสว่างย่อมมีแก่ข้าพระองค์ทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ข้าพระองค์แผ่รัศมีไปได้โดยรอบ ๑๐๐ โยชน์
ในกัปที่ ๕๕ ข้าพระองค์ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่ในชมพูทวีป มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต เป็นผู้ชนะแล้ว ครั้งนั้นพระนครของข้าพระองค์เป็นเมืองที่มั่งคั่งเจริญ สร้างสรรค์อย่างสวยงาม ยาว ๓๐ โยชน์ กว้าง ๒๐ โยชน์ อยู่ในพระนครชื่อ โศภณ อันวิสสุกรรมเทพบุตรนิรมิตให้ นครนั้นสงัดจากเสียง ๑๐ อย่าง หากประกอบด้วยกังสดาลเสียงไพเราะ (ระฆังวงเดือน)
ในพระนครนั้นไม่มีเครือเถา ไม้ และดินเลย เพราะสำเร็จด้วยทองคำล้วน ๆ ที่เปล่งประกายแสงโชติช่วงอยู่ตลอดกาลเป็นเนืองนิตย์ รายรอบพระนครนั้นล้อมด้วยกำแพง ๔ ชั้น ๓ ชั้นจากรอบนอกสำเร็จด้วยแก้วมณี ส่วนตรงกลางวิสสุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตถ่องแถวต้นตาลไว้ สระโบกขรณีตั้งหมื่น ปกคลุมไปด้วยดอกปทุมและดอกอุบล ดารดาษไปด้วยบุณฑริก (บัวขาว) เป็นต้น หอมกรุ่นไปด้วยกลิ่นไม้หอมนานาชนิด
ในกัปที่ ๙๔ แต่กัปนี้ ข้าพระองค์ได้ทรงคบเพลิงใด ด้วยกรรมนั้น ข้าพระองค์ไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการทรงคบเพลิงไว้
ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลายแล้ว คำสอนทั้งหลายทั้งปวงของพระพุทธเจ้า ข้าพระองค์ได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว”
จากเรื่องราวดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในการสร้างบุญกุศลคราวหนึ่ง ๆ นั้น พระอุกกาสติกเถระได้กระทำเมื่อมีจิตเลื่อมใส อันเกิดจากการเห็นพระพุทธเจ้าผู้มีรัศมีแห่งธรรมแผ่ไปโดยรอบ งดงามดุจพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ การบูชาด้วยคบเพลิงจำนวน ๑๐๐ ดวงนั้นเป็นไปโดยต่อเนื่องไม่เสื่อมถอยศรัทธา แม้ไม่ได้มีโอกาสกราบบังคมพระพุทธองค์เนื่องจากกำลังเข้าสมาบัติ แต่พระอุกกาสติกเถระก็ยังคงบูชาโดยความเคารพ
จวบจนกระทั่งพระพุทธองค์ทรงออกจากสมาบัติ จึงได้ถวายอาหารอย่างเหมาะสมด้วยกาล ซึ่งการถวายอาหารแก่พระพุทธเจ้าหรือพระภิกษุที่เพิ่งออกจากสมาบัตินั้น เป็นทานที่ให้ผลอย่างไพศาล ดังนั้น เมื่อบุญใหญ่ทั้ง ๒ บุญมาบรรจบกันเข้า จึงได้ส่งผลบุญให้แก่ท่านอย่างต่อเนื่อง และทำให้ท่านมีเพียงสุคติเป็นที่ไปนับแต่บัดนั้น
หรือแม้แต่พระติณุกถธาริยเถระ ท่านได้กล่าวไว้ว่า ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ ท่านเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ชูคบเพลิงไว้ ๓ ดวงที่ไม้โพธิพฤกษ์ของพระปทุมุตตระ ซึ่งเป็นไม้สูงสุดกว่าไม้ทั้งหลาย ด้วยบุญที่ได้ชูคบเพลิงด้วยจิตเลื่อมใสนั้น ทำให้ท่านไม่ไปสู่ทุคติเลยเช่นกัน