เว็บไซต์เดลินิวส์ 3 ม.ค.50
ปี 2549 ที่ผ่านไปนั้น ในแวดวงดาราศาสตร์ คงจะไม่มีเรื่องใดที่ได้รับความสนใจมากไปกว่าการที่ดาวพลู โตถูกจัดให้เป็นดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) ตามนิยามใหม่ของดาวเคราะห์ที่กำหนดโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ดียังมีข่าวดาราศาสตร์ที่แม้ว่าจะไม่เป็นที่สนใจของคนทั่วไปมากนัก แต่ก็มีนัยสำคัญในบางเรื่อง เช่น ข่าวการค้นพบร่องรอยการไหลของน้ำบนดาวอังคารในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะมีส่วนสำคัญในวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร หรือการค้นพบ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพิ่มขึ้นอีกหลายดวงนับรวมถึงปัจจุบันกว่า 200 ดวงแล้ว
หากมองไปข้างหน้าในปี 2550 ที่กำลังจะมาถึง เราลองมาดูกันบ้างว่ามีเรื่องใดที่น่าสนใจ รวมถึงจะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ใดที่เราน่าจะติดตามได้ในประเทศไทย
ดาวเคราะห์
ดาวศุกร์ ในช่วงต้นปี 2550 จะกลับมาปรากฏในท้องฟ้ายามเย็นหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ในช่วงเดือนมกราคม อาจจะสังเกตได้ยากสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง เนื่องจากดาวประจำเมืองนี้ เนื่องจากดาวศุกร์จะตกลับขอบฟ้าหลังดวงอาทิตย์ตกไม่นาน อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป ดาวเคราะห์สว่างสดใสดวงนี้ (โชติมาตร-3.9) จะปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้าหลังดวงอาทิตย์ตกมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด เมื่อสังเกตจากโลกในช่วง ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม จากนั้นจะค่อย ๆ ลดต่ำลงในแต่ละวันจนในที่สุดจะกลับไปขึ้นในช่วงเวลาเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นดาวประกายพรึกตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปจนกระทั่งสิ้นปี
ปี 2550 นี้จะเป็นปีที่เราสามารถติดตาม ดาวอังคาร ดาวเคราะห์สีแดงได้ตลอดทั้งปี โดยในช่วงต้นปี ดาวอังคารจะขึ้นในตอนเช้าก่อนดวงอาทิตย์ไม่นานมากนัก ในระยะนี้ ดาวอังคารจะมีขนาดเล็กและความสว่างไม่มาก (โชติมาตร 1.4) เมื่อเวลาผ่านไป ดาวเคราะห์สีแดงนี้จะเข้าใกล้โลกมากขึ้นและสว่างขึ้นเป็นลำดับโดยจะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม สว่าง (โชติมาตร -1.5) เห็นได้ทั้งคืนอยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ หากใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องจะเห็นดาวเคราะห์ดวงนี้มีขนาดปรากฏประมาณ 16 อาร์ควินาที
สำหรับ ดาวพฤหัสบดี ในปีนี้ จะสามารถติดตามชมได้ดีที่สุดในช่วงเวลากลางปีซึ่งตรงกับฤดูฝนในประเทศไทย ทั้งนี้ดาวพฤหัสบดีจะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในเดือนมิถุนายน เห็นได้ทั้งคืนโดยจะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวราศีพิจิก (แมงป่อง) มีค่าโชติมาตร -2.5 สว่างสุกใสมากกว่าดาวแอนทาเรส (หัวใจแมง ป่อง) ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน สิ่งที่น่าสนใจของดาวพฤหัสบดีในปีนี้ก็คือ การปรากฏของจุดแดงน้อย (Red Spot Junior) ซึ่งเดิมเป็นพายุหมุนสีขาวและเปลี่ยนกลายเป็นสีแดงในช่วงต้นปี 2549 ผู้ที่มีกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กจะสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของจุดแดงน้อยนี้ได้โดยใช้กำลังขยายภาพมากกว่า 150 เท่าขึ้นไป นอกจากนี้ การใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องส่องทางไกลจะช่วยให้เราติดตามการโคจรรอบดาวพฤหัสบดีของดวงจันทร์กาลิเลียนทั้ง 4 ดวงได้อีกด้วย
ในช่วงต้นปี 2550 ดาวเคราะห์ที่จะเป็นดวงเอกในการจัดกิจกรรมดูดาวจะเป็น ดาวเสาร์ เจ้าแห่งวงแหวนดวงนี้จะปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวราศีสิงห์ มีความสว่างพอสมควร (โชติมาตร 0.1) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของดาวเรกูลัส (หัวใจสิงห์) ซึ่งสว่างน้อยกว่า ผู้ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กจะสามารถเห็นวงแหวนได้ชัดเจนเมื่อใช้กำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป และอาจสังเกตเห็นช่องคาสสินี (Cassini division) ระหว่างวงแหวนได้หากใช้กำลังขยายภาพมากกว่า 150 เท่า นอกจากนี้ยังจะสังเกตเห็นดวงจันทร์บริวารไททัน (Titan) และดวงจันทร์บริวารดวงเล็กอื่น ๆ อีกด้วย
อุปราคา
ในปี 2550 เป็นโอกาสดีที่เราจะได้เห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคารวมกันทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยเป็นสุริยุ ปราคาบางส่วน 1 ครั้ง จันทรุปราคาเต็มดวง 1 ครั้ง และจันทรุ ปราคาซึ่งเห็นได้เพียงบางส่วนในประเทศไทยอีก 1 ครั้ง จันทรุปราคาเต็มดวง 4 มีนาคม 2550
อุปราครั้งแรกของปีจะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามืดของโลกในช่วงเช้าก่อนรุ่งสางของวันที่ 4 มีนาคม 2550 ตามเวลาในประเทศไทย ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามืดของโลกในเวลา 04.30 น. และเต็มดวงในเวลา 05.43 น. อย่างไรก็ดี ภายหลังจากเข้าสู่เงามืดเต็มดวงได้ไม่นาน ดวงจันทร์ก็จะตกลับขอบฟ้าไปในเวลาเดียวกันกับที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก แสงรุ่งอรุณอาจมีส่วนรบกวนทำให้เห็นจันทรุปราคาได้ไม่ชัดเจนมากนัก
สุริยุปราคาบางส่วน 19 มีนาคม 2550
เพียงแค่ 15 วันหลังจากอุปราคาครั้งแรกของปี บางส่วนของโลกก็จะโคจรเข้าสู่เงามัวของดวงจันทร์ สำหรับผู้ที่สนใจ ปรากฏการณ์นี้จะสามารถเห็นได้จากแทบทุกภาคของประเทศเว้นแต่เพียงภาคใต้ตอนล่างสุดเท่านั้น จากกรุงเทพมหานคร ปรากฏการณ์นี้จะเริ่มในเวลาประมาณ 07.50 น. โดยดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดประมาณร้อยละ 20 เหตุการณ์จะสิ้นสุดในเวลาประมาณ 08.55 น. อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์นี้จะไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าเนื่องจากดวงอาทิตย์มีความสว่างมาก จำเป็นต้องใช้แผ่นกรองแสง
จันทรุปราคาเต็มดวง 28 สิงหาคม 2550
(บางส่วนในประเทศไทย)
จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่สองของปีนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาบ่ายของประเทศไทย ทั้งนี้ดวงจันทร์จะเข้าสู่เงามืดของโลกจนเต็มดวงในเวลา 16.52 น. ซึ่งในขณะนั้นดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้าในประเทศไทย ขณะที่ดวงจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้า จะมีเพียงบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นที่จะได้เห็นจันทรุ ปราคาเต็มดวง ส่วนอื่นของประเทศจะเห็นเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในขณะที่ดวงจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ดวงจันทร์จะออกจากเงามืดทั้งหมดในเวลา 19.23 น.
ฝนดาวตก
แม้ว่าฝนดาวตกเลโอนิดส์จะเป็นฝนดาวตกที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุด แต่โอกาสที่จะมีพายุฝนดาวตกที่มีจำนวนมากนับพันดวงเกิดขึ้นอีกครั้งในระยะเวลาอันใกล้คงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้เนื่อง จากดาวหางเทมเปิล-ทัทเทิล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฝนดาวตกเลโอนิดส์อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มาก อย่างไรก็ดี ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจติดตามชมฝนดาวตกอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน หลายท่านคงได้เห็นดาวตกจำนวนนับร้อยดวงในฝนดาวตกเจมินิดส์เมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา
ในปี 2550 แม้ว่าโอกาสที่จะได้เห็นฝนดาวตกเลโอนิดส์จำนวนมากจะเป็นไปได้ยาก แต่ยังจะมีฝนดาวตกอื่นที่น่าสนใจได้แก่ ฝนดาวตกเปอร์สิดส์ ระหว่างวันที่ 12-15 สิงหาคม และฝนดาวตกเจมินิดส์ ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม ซึ่งสำหรับปี 2550 นี้ ความสว่างของดวงจันทร์จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการติดตามฝนดาวตกทั้งสองมากนัก อุปสรรคสำคัญต่อการติดตามฝนดาวตกเปอร์สิดส์ ในประเทศไทยคงจะเป็นเมฆฝน จะมีเพียงแค่ภาคใต้เท่านั้นที่อาจจะมีฝนดาวตกน้อยกว่าภาคอื่น ๆ ในระยะเวลาดังกล่าว ในส่วนฝนดาวตกเจมินิดส์ในเดือนธันวาคม ดวงจันทร์ข้างขึ้นจะตกลับขอบฟ้า ก่อนที่เรเดียนของฝนดาวตกจะขึ้นสูงทำให้มีโอกาสมากที่จะเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์จำนวนหลายสิบดวงต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ในปี 2550 ยังมีโครงการสำรวจอวกาศที่สำคัญ ๆ อาทิ...
โครงการนิวฮอไรซันส์
โครงการนี้เป็นโครงการส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวพลูโต ถูกส่งออกไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 และจะโคจรผ่านระบบดาวเคราะห์แคระคู่ พลูโต-แครอน ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ทั้งนี้ในการที่จะส่งยานไปให้ถึงดาวพลูโตในเวลาที่กำหนด ยานนิว ฮอไรซันส์จำเป็นจะต้องอาศัยแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีเพิ่มความเร็วให้กับยาน และในปี 2550 นี้ ยานนิวฮอไรซันส์จะโคจร ผ่านดาวพฤหัสบดีในระยะ 2.3 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่ยานจะได้ทดลองอุปกรณ์ต่าง ๆ กับดาวพฤหัสบดีและส่งภาพถ่ายที่มีความละเอียดสูงกลับมายังโลก นักดาราศาสตร์จะได้ติดตามศึกษาจุดแดงน้อยที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในช่วงต้นปี 2549 อีกด้วย
โครงการฟีนิกซ์
ในปี 2550 นี้ ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่จะส่งยานไปสำรวจ องค์การอวกาศนาซาร่วมกับหน่วยงานอื่นจากหลายประเทศ จะส่งยานฟีนิกซ์ไปลงจอดที่ใกล้กับขั้วเหนือ ของดาวอังคารซึ่งมีน้ำแข็งปกคลุมอยู่ ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของโครงการได้แก่ การศึกษาประวัติทางธรณีวิทยาของน้ำบนดาวอังคาร และค้นหาร่องรอยของการมีสิ่งมีชีวิตในอดีตหรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน ทั้งนี้ในปัจจุบันมียานอวกาศของนาซาโคจรอยู่รอบดาวอังคารแล้ว 2 ลำ ได้แก่ ยานโกลบอลเซอร์เวเยอร์และยานมาร์สโอดิสซี 2001 รวมถึงยานมาร์สเอ็กซเพรสขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งส่งภาพถ่ายที่มีรายละเอียดสูงกลับมามากมาย รถโรเวอร์สปิริตและออพพอทูนิที ที่ยังคงสำรวจลักษณะทางธรณีวิทยาของดาวอังคารมานานถึงเกือบ 3 ปีแล้ว ยานฟีนิกซ์จะถูกส่งจากโลกในเดือนสิงหาคม 2550 และคาดว่าจะลงจอดบนดาวอังคารได้ในเดือนพฤษภาคม 2551
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแค่สิ่งที่คาดการณ์หรือทำนายล่วงหน้าได้ ยังมีเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ เช่น การปรากฏของดาวหางสว่างใหญ่ หรือการค้นพบทางดาราศาสตร์ใหม่ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในแต่ละปี ผู้สนใจคงจะต้องติดตามกันต่อไป.
ศรัณย์ โปษยะจินดา
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี