[attachmentid=764]
ค บ บั ณ ฑิ ต
พิ ชิ ต ปั ญ ห า
พิ ชิ ต ปั ญ ห า
เมื่อรู้ว่า ใครเป็นอย่างเดียวกันกับตน ทั้งทางความประพฤติ ทั้งสติปัญญา และการศึกษา ก็ควรผูกมิตรไมตรีกับบุคคลเช่นนั้นไว้ เพราะการสมาคมกับสัตบุรุบ มีแต่นำประโยชน์สุขมาให้อย่างเดียว
การสร้างบารมีเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ และของพวกเราทุกๆ คน ที่จะต้องทำจนกว่าจะบรรลุจุดหมายปลายทาง ในระหว่างทางอาจจะมีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เกิดขึ้นบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์กำลังใจ บางปัญหาเราก็แก้ไขได้ บางปัญหาก็รอคอยการแก้ไข ปัญหาทุกๆ ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ถ้าใช้ปัญญาปัญหาก็จะหมดไป ถ้าใจสงบก็จะพบทางออก เพราะใจที่สงบจะเกิดปัญญารู้แจ้ง เป็นปัญญาความรอบรู้อันบริสุทธิ์ ที่จะทำให้ตัวเราและชาวโลก หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน การหมั่นฝึกฝนใจให้สงบหยุดนิ่งอยู่ภายใน จะทำให้เราเกิดปัญญาที่จะพิชิตปัญหา และยังแตกฉานในศาสตร์ทั้งปวง เราจะเข้าใจทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น และรู้ไปถึงต้นแหล่งที่มาของมัน พร้อมกับรู้วิธีการแก้ไขปัญหานั้น ดังนั้นการเจริญภาวนาจึงเป็นกรณียกิจสำคัญที่เราจะขาดไม่ได้
มีธรรมภาษิตบทหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้ใน สมานอินทโคตตชาดกว่า
เมื่อรู้ว่า ใครเป็นอย่างเดียวกันกับตน ทั้งทางความประพฤติ ทั้งสติปัญญา และการศึกษา ก็ควรผูกมิตรไมตรีกับบุคคลเช่นนั้นไว้ เพราะการสมาคมกับสัตบุรุบ มีแต่นำประโยชน์สุขมาให้อย่างเดียว
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ จำเป็นที่จะต้องพบปะพูดคุย คบหาสมาคมและทำงานร่วมกัน การคบหาสมาคม คือ มีความไว้วางใจ เชื่อมั่นซึ่งกันและกัน เชื่อมั่นว่า หากเอาใจของเราไปวางไว้ที่เขาแล้วจะไม่ผิดหวัง จะมีแต่ความสุขความเจริญอย่างเดียว บุคคลเช่นนั้นหากเราคบไว้เป็นเพื่อน เราจะได้เพื่อนแท้ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ยามมีภัยก็ร่วมกันต้าน มีปัญหาก็ร่วมกันคิดแก้ไข อีกทั้งคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ
ฉะนั้น เมื่อเราคิดที่จะคบใครสักคน ควรเลือกคบหาแต่บัณฑิตผู้ชี้ทางสว่างให้กับเราได้ นั่นคือเมื่อมองไปรอบทิศก็ให้มีแต่นักปราชญ์บัณฑิตอยู่รอบตัว นั่นแสดงว่าเรามีสิ่งที่ทรงคุณค่า มีสิริมงคลอยู่ใกล้ตัว อันจะทำให้ชีวิตของเรามีแต่ความปลอดภัย ความเจริญรุ่งเรืองทั้งหลายจะบังเกิดขึ้นกับตัวเราอย่างแน่นอน
บัณฑิต คือ ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัญญาอันประเสริฐ เป็นปัญญาที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและผู้อื่น ผู้ที่ชื่อว่าบัณฑิต คือผู้ที่ยึดเอาประโยชน์ทั้ง ๒ ประการไว้ได้ คือ ประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า คนไหนเป็นบัณฑิต เราจะสังเกตได้ว่า เขาจะคิดแต่เรื่องที่ดี ที่เป็นไปเพื่อบุญกุศล ไม่คิดพยาบาทเบียดเบียน คิดแต่เรื่องสร้างบุญบารมี เมื่อจะพูดก็พูดแต่ถ้อยคำที่ดี เป็นอรรถเป็นธรรม พูดแต่คำจริง ไม่เพ้อเจ้อ ไม่ส่อเสียด และเป็นถ้อยคำที่ไพเราะ เป็นไปเพื่อความสามัคคี คำพูดของบัณฑิตที่พูดออกไป เหมือนดอกมะลิที่ออกจากปาก ยังความชุ่มชื่นเบิกบานใจให้แก่ผู้ฟัง อีกทั้งบัณฑิตจะทำแต่สิ่งที่ดี ประพฤติกายสุจริตจนเป็นนิสัย ใครก็ตามที่คบบัณฑิตเช่นนี้ ชีวิตจะพบแต่แสงสว่างและรุ่งโรจน์เสมอ
นักปราชญ์บัณฑิตผู้มีความรู้คู่คุณธรรม มีความยุติธรรม ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง มุ่งประโยชน์สุขของมหาชนเป็นหลัก จะดำรงอยู่ในฐานะใดก็เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ น่าคบหา น่าเข้าใกล้ เป็นผู้ที่ทุกๆ คนต้องการในยามมีปัญหา เพราะยามมีปัญหาย่อมปรารถนาบัณฑิต เพื่อไขข้อข้องใจที่คั่งค้างในเรื่องที่เกิดขึ้น ดังเช่นเรื่องต่อไปนี้
*ในอดีตกาล ในกรุงอินทปัตต พระเจ้าธนัญชัย มีอำมาตย์ผู้เฉลียวฉลาด ชื่อ วิธุรบัณฑิต เป็นผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศ คอยให้คำปรึกษาในการบริหารบ้านเมือง ทำให้พระราชาทรงครองราชย์อย่างมีความสุข
สมัยนั้นมีสหาย ๔ คน ได้ช่วยกันอุปัฏฐากบำรุงดาบส ๔ ท่าน ซึ่งเป็นผู้มีอภิญญาสมาบัติ เหาะมาจากป่าหิมพานต์เข้ามาในเมือง สหายทั้งสี่จึงนิมนต์ดาบสคนละรูป ให้ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน แล้วเชื้อเชิญท่านพักอาศัยอยู่ที่สวนหลังบ้าน เพื่อตัวเองจะได้ทำบุญทุกวัน ดาบสทั้งสี่ต่างก็รับนิมนต์ที่จะเป็นเนื้อนาบุญให้ แต่ถึงเวลาจะพักผ่อน ดาบสรูปที่ ๑ ได้เหาะไปสู่ภพดาวดึงส์ รูปที่ ๒ ดำน้ำไปนาคพิภพ รูปที่ ๓ เหาะไปสู่ภพของพญาครุฑ และ รูปสุดท้ายเหาะไปสู่พระราชอุทยานของพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราช
เมื่อดาบสทั้ง ๔ รูป กลับมาพรรณนาถึงสมบัติของพระราชาในที่ทั้ง ๔ แห่ง ให้กับอุปัฏฐากของตนฟัง ทำให้กุฎุมพีทั้งสี่ ปรารถนาสมบัติเหล่านั้น จึงตั้งใจบำเพ็ญบุญ ทำทาน รักษาศีลมิให้ด่างพร้อย และอธิษฐานให้ได้ไปบังเกิดในภพที่ตนปรารถนา
ครั้นสิ้นอายุขัย เพื่อนคนแรกได้ไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช คนที่สองไปบังเกิดเป็นพญานาคในนาคพิภพ อีกคนหนึ่งไปเกิดเป็นพญาครุฑในฉิมพลีรุกขวิมาน ส่วนเพื่อนคนสุดท้าย ได้ไปบังเกิดในครรภ์ของอัครมเหสีของพระเจ้าธนัญชัย
สหายผู้เป็นโอรสของพระราชา เมื่อเจริญวัยขึ้น ได้ครองราชย์แทนพระบิดา และได้วิธุรบัณฑิตเป็นผู้คอยให้คำปรึกษาราชการ ทรงบำเพ็ญทาน รักษาศีล ๕ ไม่ขาดตกบกพร่อง และรักษาอุโบสถศีลเป็นประจำ
วันหนึ่ง หลังจากพระราชาสมาทานอุโบสถศีล ทรงดำริว่า จะปลีกตัวออกหาที่วิเวก จึงเสด็จพระราชดำเนินไปอุทยาน เพื่อทำสมาธิภาวนาตามลำพัง
ฝ่ายท้าวสักกเทวราชเมื่อสมาทานอุโบสถศีลเสร็จ ดำริว่า ในเทวโลกยังมีความกังวลหลายอย่าง จึงเสด็จลงจากเทวโลก มาบำเพ็ญภาวนาในอุทยาน แม้วรุณนาคราชและพญาครุฑ เมื่อสมาทานอุโบสถแล้ว ต่างปลีกตัวไปหาความวิเวกในบริเวณอุทยานนั้นเช่นเดียวกัน
ในเวลาเย็น ทั้ง ๔ ท่าน ต่างออกจากที่พักของตน และได้พบกันโดยบังเอิญ ด้วยบุญเก่าที่เคยเกิดเป็นเพื่อนกันมาก่อน ทำให้รู้สึกรักใคร่ชอบใจกันเป็นพิเศษ จึงพูดคุยสนทนากันอย่างถูกคอ ทั้ง ๔ ท่านได้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า การสมาทานอุโบสถศีลของพวกเรา ใครจะเป็นผู้มีศีลมากกว่ากัน ต่างฝ่ายต่างก็คิดว่า ตนมีศีลมากกว่าคนอื่น
วรุณนาคราช กล่าวว่า ข้าพเจ้าเห็นครุฑ ซึ่งเป็นศัตรูก็ข่มความโกรธไว้ได้ บุคคลใดไม่โกรธในบุคคลที่ควรโกรธ แม้ผู้อื่นมาทำให้โกรธ ก็ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ บัณฑิตทั้งหลายเรียกคนเช่นนั้นว่า เป็นผู้สงบในโลก
พญาครุฑ ได้สดับเช่นนั้น จึงพูดว่า นาคเป็นอาหารอย่างดีของข้าพเจ้า แต่แม้ข้าพเจ้าเห็นนาคแล้วอดกลั้นความอยากไว้ได้ ไม่ทำความชั่วเพราะเหตุแห่งอาหาร ฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าย่อมมากกว่า เพราะบุคคลใดมีท้องพร่อง แต่ทนความอยากไว้ได้ บริโภคข้าวน้ำพอประมาณ ไม่ทำความชั่วเพราะเหตุแห่งอาหาร บัณฑิตเรียกคนเช่นนั้นว่า เป็นผู้สงบในโลก
ฝ่าย ท้าวสักกะ ได้แสดงความเห็นของพระองค์ว่า ข้าพเจ้าอุตส่าห์สละสมบัติในเทวโลก มาสู่โลกมนุษย์เพื่อต้องการจะรักษาศีล ละความยินดีในกามคุณทั้งหมด เพราะฉะนั้น ศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า
พระเจ้าธนัญชัยทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า วันนี้ข้าพเจ้า ละราชสมบัติที่หวงแหน และพระราชวังที่พรั่งพร้อมด้วยหญิงนักฟ้อนหกหมื่น ศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า เพราะนรชนใดแล กำหนดรู้วัตถุกามและกิเลสกามด้วยปัญญา สละวัตถุกามและกิเลสกามทั้งปวงได้เด็ดขาด นักปราชญ์เรียกนรชนนั้นว่า เป็นผู้ฝึกตนดีแล้ว ไม่มีความอาลัยในสรรพสิ่งว่า เป็นผู้สงบในโลก
เมื่อตัดสินไม่ได้ว่าใครมีศีลดีกว่ากัน ทั้งหมดจึงพากันไปหาวิธุรบัณฑิตให้ช่วยตัดสิน วิธุรบัณฑิตสรรเสริญพญานาคว่า มีอธิวาสนขันติ คือ ไม่โกรธในบุคคลผู้ควรโกรธ สรรเสริญ พญาครุฑว่า ไม่ทำความชั่วเพราะอาหารเป็นเหตุ สรรเสริญท้าวสักกะที่ละความยินดีในกามคุณอันเป็นทิพย์ และสรรเสริญ พระเจ้ากุรุรัฐที่ไม่มีความกังวล โดยสรุปให้ฟังว่า ทุกๆ ท่านเป็นผู้มีศีลเสมอกัน น่าอนุโมทนาโดยแท้ เพราะคุณธรรม ๔ ประการนี้ ตั้งมั่นอยู่ในนรชนใด ก็เป็นประดุจกำเกวียนที่รวมกันอยู่ที่ ดุมเกวียน นรชนนั้นแหละเป็นผู้สงบในโลก
เราจะเห็นว่า การเข้าไปสนทนาพบปะกับนักปราชญ์บัณฑิต ยามเรามีปัญหาที่ข้องอยู่ในใจ ก็ย่อมได้รับการแก้ไข ให้กระจ่างแจ้งขึ้นมา การแสวงหาบัณฑิตเป็นกัลยาณมิตร จึงจำเป็นสำหรับชีวิตของเรา ที่จะทำให้ชีวิตรุ่งโรจน์
ฉะนั้น ให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าหาผู้ที่เป็นบัณฑิต ผู้เป็นกัลยาณมิตร คอยแนะนำเส้นทางบุญ ชี้ทางสวรรค์นิพพานให้เรา ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์หรือเพื่อนที่ดีของเรา ชีวิตจะได้พบแต่ความเจริญรุ่งเรือง
แม้ตัวของเราเองก็ควรฝึกฝนอบรมตนให้เป็นนักปราชญ์บัณฑิต ที่สามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับตนและคนอื่นได้ด้วย เพราะโลกนี้ยังขาดแคลนบัณฑิตที่แท้จริง ขาดแคลนกัลยาณมิตร ผู้คอยชี้เส้นทางสีขาว ให้เขาได้เดินทางในสังสารวัฏได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะบัณฑิตที่แท้จริง ซึ่งสถิตอยู่ภายในตัวของเรา คือ พระธรรมกายภายใน พระธรรมกายนี่แหละที่เป็นบัณฑิต เป็นที่พึ่งของพวกเราทั้งหลาย
ดังนั้น อย่าได้ขาดการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เพื่อดำเนินจิตเข้าไปพบกับบัณฑิตภายใน ต้องตั้งใจมั่นให้เข้าไปถึงบัณฑิตภายในให้ได้ ภายนอกเราก็คบหาสมาคมกับนักปราชญ์บัณฑิต ผู้จะทำให้เราประสบความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ภายในเราก็หมั่นทำใจให้หยุดนิ่ง เพื่อเข้าให้ถึงบัณฑิตที่แท้จริง ซึ่งซ้อนอยู่ในกลางกายของเราเอง ดังนั้นให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้ได้ทุกๆ วัน จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน
*มก. วิธุรชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๒๙๖