น่าสนใจว่า ในขณะที่พระพุทธศาสนาหมดไปจากอินเดียอย่างรวดเร็วภายใต้การปกครองของกษัตริย์มุสลิมนั้น ศาสนาฮินดูกลับสามารถรักษาสถานภาพการเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ของอินเดีย อยู่ได้ตลอดระยะเวลา ๖๕๑ ปี ภายใต้การปกครองของมุสลิม ทั้งนี้เพราะศาสนาฮินดูได้เน้นให้ศาสนิกปฏิบัติตาม คำสอนอย่างเคร่งครัด ศาสนิกจึงมีความผูกพันกับศาสนาตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งพิธีกรรมในเวลาเกิด การเรียน การเป็นผู้ใหญ่ การแต่งงาน การมีบุตร การจาริกแสวงบุญ การตาย เทศกาลต่างๆ มีข้อกำหนดให้ศาสนิกปฏิบัติในวาระโอกาสต่างๆ อย่างละเอียด ศาสนาจึงไม่ได้ฝากอยู่กับนักบวชเพียงอย่างเดียว แต่เป็นศาสนาที่ประกอบรวมอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงเป็นเหตุให้ถูกทำลายได้ยาก
จากบทเรียนที่เกิดขึ้นในอินเดียดังกล่าว เราอาจสรุปได้ว่า ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา จะต้องประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญ คือ ชาวพุทธต้องเป็นชาวพุทธที่แท้จริง มีความรู้ ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง โดยต้องศึกษาทั้ง ปริยัติ และ ปฏิบัติ เพื่อให้เกิด ปฏิเวธ คือผลของการปฏิบัติ นำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตจริง และ ปัจจัยที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง ก็คือ ชาวพุทธจะต้องมีความสามัคคีกัน เว้นจากการให้ร้ายกัน พระพุทธศาสนาจึงจะมั่นคงอยู่ได้อย่างแท้จริง
กล่าวถึง สองกิจกรรมหลักค้ำพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้แก่ ๑.ประเพณีการบวชระยะสั้นของชายไทย และ ๒. การเรียนการสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียน
การที่พระพุทธศาสนายังดำรงมั่นอยู่ได้ระดับหนึ่งในประเทศไทยนั้น นอกจากจะเป็นผลมาจากการทุ่มเททำงาน อุทิศตนเพื่อ พระศาสนาของพระเถรานุเถระทั้งหลายในอดีต การอุปถัมภ์สนับสนุนอย่างใกล้ชิดจากสถาบันพระมหากษัตริย์ และภูมิปัญญา ความรักความหวงแหนในพระพุทธศาสนาของบรรพบุรุษไทยแล้ว ยังมีกิจกรรมสำคัญอีก ๒ ประการที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการค้ำจุนพระพุทธศาสนาในประเทศไทยคือ
๑. ประเพณีการบวชระยะสั้นของชายไทย ประเพณีการบวชระยะสั้นซึ่งริเริ่มโดยสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ มีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ชาวไทยเรามีความรู้สึกผูกพันในพระพุทธศาสนา มีความรู้สึกว่าพระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เพราะชายไทยส่วนใหญ่ก็เคยบวช เคยเป็นพระภิกษุสงฆ์ เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยมาแล้ว ฝ่ายหญิงแม้ไม่ได้บวชโดยตรง แต่ก็มีบิดา สามี พี่ชาย น้องชาย หรือบุตรได้เคยบวช ตนก็ได้อาศัยช่วงเวลานั้นทำบุญฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ มีความรู้สึกคุ้นเคย เคารพนับถือพระภิกษุสงฆ์ ไม่รู้สึกว่าพระภิกษุสงฆ์เป็นบุคคลที่แปลกประหลาด หรือเป็นสิ่งห่างไกล ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้ หาได้ยากในประเทศที่ไม่มีประเพณี การบวชอย่างไทยเรา แม้เป็นเมืองพุทธ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน
ในปัจจุบัน สภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ผู้คนมีภาระงานรัดตัวมากขึ้น ผู้ที่บวชอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน มีจำนวนน้อยลง บางท่านบวชระยะสั้นเพียง ๗ วัน ๑๐ วันก็มี จึงเป็นภารกิจสำคัญของสงฆ์อย่างหนึ่งว่า จะต้องทำให้ญาติโยมเห็นความสำคัญของการบวช บวชให้ได้ระยะเวลาที่นานขึ้น และ จัดโครงการอบรมให้สอดคล้องกับสภาพบ้านเมือง เช่น การบรรพชา อุปสมบทหมู่ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน สำหรับนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น
อนึ่ง การจัดหลักสูตรให้การอบรมแก่ผู้มาบวชระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็น ระยะเวลา ๗ วัน ๒ สัปดาห์ หรือ ๑ เดือนก็ตาม ก็เป็น สิ่งสำคัญมาก จะต้องให้เขาบวชแล้วได้เรียนรู้หลักธรรม ได้ประโยชน์กลับไป ถ้าบวชแล้วไม่มีผู้อบรมสั่งสอนอาจกลายเป็นการก่อให้เขาเกิดความเข้าใจผิดคิดว่า พระพุทธศาสนาไม่มีสาระประโยชน์อะไร
๒. การเรียนการสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียน การศึกษาภาคบังคับเป็นสิ่งที่เด็กไทยเกือบทุกคนต้องผ่าน ดังนั้นการสอนวิชาศีลธรรมในโรงเรียนทำให้เด็กไทยมีความรู้พื้นฐานในพระพุทธศาสนาในระดับหนึ่ง
ประเทศญี่ปุ่นหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ถูกกองทหารอเมริกันสั่งให้ถอดถอนวิชาศาสนาออกจากโรงเรียนทั้งหมด ให้การเรียนศาสนาเป็นเรื่องที่แต่ละคนขวนขวายศึกษาเอาเองตามความสมัครใจ ผลก็คือปัจจุบันชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธแต่เพียงชื่อเท่านั้น หากถูกถามว่า เจ้าชายสิทธัตถะคือใคร ก็ไม่รู้จัก ศีล ๕ ก็ไม่รู้จัก อริยสัจ ๔ ก็ไม่รู้จัก เป็นชาวพุทธโดยที่ว่า เมื่อตายแล้วนิมนต์พระไปสวดศพเท่านั้น จนมีคำเรียกพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นว่า โซชิขิบุคเคียว แปลว่า พระพุทธศาสนางานศพ
ดังนั้น การเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่เราชาวพุทธต้องหวงแหนช่วยกันดูแลรักษา อย่ายอมให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเพิกถอนออกไปได้เป็นอันขาด ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างใดๆ ก็ตาม ขณะเดียวกันต้องช่วยกันพัฒนาหลักสูตร อุปกรณ์การเรียน การสอนให้ทันสมัย ทั้งสื่อต่างๆ เช่น แผ่นใส สไลด์ วิดีโอ หนังสือ จัดกิจกรรมเสริมการเรียนการสอน เช่น การสอบแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ กระตุ้นให้เด็กตื่นตัวในการศึกษาธรรมะ ให้วิชาศีลธรรมเป็นวิชาที่สนุกน่าสนใจ มีประโยชน์ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ และ ช่วยกันพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์ผู้สอนวิชาศีลธรรม ให้มีความรู้ความสามารถและมีความประพฤติที่ดีเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์ได้ (ติดตามต่อในตอนหน้า).
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( ๑๐ มกราคม ๒๕๕๐ )
ปล.
ข้าพเจ้าขอ ขอบคุณ กับ ทุกๆท่าน สำหรับ ความร่วมมือ ในการทำแบบสอบถาม ในกระทู้นี้ นะครับ ด้วยการแสดงความร่วมมือ ของท่านทั้งหลาย ในครั้งนี้ ขอทุกๆท่าน จงได้รับความร่วมมือ ในทุกๆสิ่ง ที่จะ เป็นประโยชน์ เป็นบุญกุศล ต่อไปด้วยเทอญ สาธุ...สาธุ...สาธุ
ทำไมพระพุทธศาสนาถึงเสื่อมจากอินเดีย
รายละเอียด อุปสมบทหมู่บุคคลทั่วไป วัดพระธรรมกาย ปี 2550