[attachmentid=736]
มิ ต ร แ ท้ แ ม้ ชี วิ ต ก็ ใ ห้ ไ ด้
บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ ประเภท คือ มิตรมีอุปการะ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรแนะประโยชน์ มิตรมีความรักใคร่ ว่าเป็นมิตรแท้ ฉะนี้แล้ว พึงเข้าไปคบหาโดยเคารพ เหมือนมารดากับบุตรฉะนั้น
เราเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติ ล้วนเพื่อแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง แสวงหาสิ่งที่เป็นอมตะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นสุขได้ด้วยตัวเอง และเป็นตัวตนที่แท้จริง สิ่งที่เราปรารถนานี้รวมประชุมอยู่ในธรรมกายทั้งหมด ดังนั้นธรรมกายจึงเป็นแก่นของทุกๆ ชีวิต เป็นชีวิตในระดับลึก ที่มีอยู่ภายในตัวของเรา เมื่อเราเข้าถึงธรรมกาย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์ คือ มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะอันเกษม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สิงคาลกสูตร ว่า
บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ ประเภท คือ มิตรมีอุปการะ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรแนะประโยชน์ มิตรมีความรักใคร่ ว่าเป็นมิตรแท้ ฉะนี้แล้ว พึงเข้าไปคบหาโดยเคารพ เหมือนมารดากับบุตรฉะนั้น
การคบหาสมาคม เป็นสิ่งที่ทุกคนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระบรมศาสดาจึงทรงแนะนำ ให้รู้จักวิธีสังเกตคนรอบข้าง หรือผู้ที่เราคบหาสมาคมว่าเป็นบุคคลเช่นไร เป็นมิตรเทียมที่มาในรูปของศัตรูในคราบมิตร หรือมิตรแท้ที่แม้ชีวิตก็สละได้ ชีวิตเราจะได้ดำเนินไปบนเส้นทางที่ถูกต้อง
มิตรจึงเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ที่เราจะต้องรู้จักคบหาสมาคม เพื่อประคับประคองกันทำความดี ให้มีชีวิตที่รุ่งโรจน์ยิ่งๆ ขึ้นไป พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้จักมิตรแท้ มีลักษณะให้ความอุปการคุณ คอยป้องกันไม่ให้มีภัยอันตราย ทั้งทางด้านร่างกายและทรัพย์สิน เมื่อยามมีภัย ก็สามารถเป็นที่พักพิง ยินดีให้ความช่วยเหลือ ขอน้อยก็ให้มาก หรือแม้ไม่เอ่ยปากขอ แต่ถ้ารู้ว่าเพื่อนกำลังตกที่นั่งลำบาก ก็จะออกปากช่วยเหลือเราเอง มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีเรื่องอะไรก็ไม่ปิด ไม่มีความลับ แต่ให้ความไว้วางใจซื่อสัตย์ต่อกัน ในคราวมีอันตรายก็ไม่ทอดทิ้งกัน แม้ชีวิตก็พร้อมที่จะอุทิศให้ได้ เหมือนเรื่องของพญาหงส์ทองที่ไม่ทอดทิ้งกัน ในเวลาที่เพื่อนตกอยู่ในอันตราย
*ในอดีตกาล พระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาหงส์ทอง ชื่อ ธตรัฐ มีบริวารมากถึง ๙๐,๐๐๐ ตัว อาศัยอยู่ ณ ภูเขาจิตตกูฏ มีหงส์ที่เป็นเพื่อนรักชื่อ สุมุขะ พญาหงส์ได้ปกครองบริวารให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเรื่อยมา
วันหนึ่ง พระราชาทรงมีพระประสงค์จะจับพญาหงส์ทอง มาแสดงธรรมให้มเหสีฟัง จึงรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีขนาดใหญ่ไว้กลางป่า แล้วให้นายพรานคอยดักจับเฉพาะพญาหงส์ทองเท่านั้น ห้ามทำร้ายนกอื่นๆ ที่บินลงมากินเมล็ดข้าวที่ปลูก ทำให้ฝูงนกจำนวนมากบินมาหากินที่สระโบกขรณี
ครั้งนั้น พวกหงส์ได้ยินเสียงร่ำลือก็อยากจะไปหากินที่สระนั้นบ้าง จึงไปหาสุมุขหงส์ เล่าให้ฟังเพื่อให้ไปขอร้องพญาหงส์ให้อนุญาต แทนที่พญาหงส์จะยินดี กลับเตือนว่า ท่านอย่าได้ชอบใจสถานที่ใกล้มนุษย์เลย เพราะถิ่นมนุษย์มีแต่อันตรายรอบด้าน
แม้จะถูกคัดค้านเช่นนั้น เหล่าหงส์ทองก็รบเร้าให้พญาหงส์พาไป พญาหงส์ทนคำอ้อนวอนไม่ไหว จึงพาฝูงหงส์ทองทั้ง ๙๐,๐๐๐ ตัว บินจากเขาจิตตกูฏ ไปที่สระโบกขรณี
นายพรานได้สังเกตจุดที่พญาหงส์ลง แล้ววางบ่วงไว้ ขณะที่พญาหงส์กำลังร่อนลงสู่ขอบสระนั้น เท้าได้เข้าไปติดบ่วงของนายพรานโดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้ว่าติดบ่วง จึงคิดจะฉุดบ่วงให้ขาด ครั้นสะบัดขาครั้งแรก หนังได้ถลอก สะบัดครั้งที่สอง สายบ่วงได้บาดลึกเข้าไปถึงเนื้อ เลือดไหลไม่หยุด อีกทั้งบ่วงยังรัดแน่นเข้าไปถึงกระดูก ทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้
พญาหงส์ได้รับทุกขเวทนามาก แต่ครั้นจะบอกฝูงหงส์ ก็กลัวว่า ฝูงหงส์จะตกใจกลัวไม่ทันได้กินอาหารให้อิ่ม และจะไม่มีกำลังบินข้ามมหาสมุทรกลับที่อยู่ จึงตั้งสติข่มความเจ็บปวดไว้ รอจนกระทั่งหงส์ทุกตัวกินอาหารกันอิ่มแล้ว จึงได้ร้องบอกว่า ที่นี่มีอันตราย ให้หงส์ทุกตัวรีบบินหนีไป
เมื่อพวกหงส์ได้ยินดังนั้น ต่างรีบบินกลับเขาจิตตกูฏอย่างรวดเร็ว ซึ่งในขณะบินกลับนั้น สุมุขหงส์สังเกตเห็นว่า ไม่มีพญาหงส์ธตรัฐบินนำหน้าเหมือนทุกครั้ง ด้วยความเป็นห่วง จึงได้บินย้อนกลับไปยังสระโบกขรณี และได้เห็นพญาหงส์ติดบ่วงอยู่ ไม่อาจจะบินไปได้
พญาหงส์เห็นสุมุขหงส์บินกลับมา จึงได้ถามว่า ทำไมท่านไม่รีบกลับไป เราติดบ่วงอยู่เช่นนี้ ก็เป็นเหมือนผู้ไร้ประโยชน์ เสียแล้ว
สุมุขหงส์กลับตอบว่า ถึงข้าพเจ้าจะบินกลับไปก็ใช่ว่าจะมีความสุข เพราะการได้อยู่ร่วมกับท่านเป็นสิ่งประเสริฐ แม้จะตายพร้อมกับท่านก็ตาม แต่หากเลือกได้ ข้าพเจ้าขอยอมตายแทนท่าน เพื่อท่านจะได้กลับไปปกครองฝูงหงส์ให้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป
พญาหงส์กล่าวว่า ท่านจะมาชอบใจการตายทำไม ทำเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับคนตาบอด เหมือนทำงานในที่มืดจะหาประโยชน์ได้จากที่ไหน สู้ท่านกลับไปจะดีกว่า
สุมุขหงส์ตอบว่า ท่านเป็นผู้ทรงธรรม และข้าพเจ้าก็จงรักภักดีต่อท่าน ถึงข้าพเจ้าจะตายก็ไม่เสียดายชีวิต เพราะมิตรเมื่อระลึกถึงธรรม ก็ไม่พึงทอดทิ้งมิตรในยามคับขัน แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้
พญาหงส์ธตรัฐฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งในจิตใจที่งดงามของ สุมุขหงส์มาก จึงกล่าวว่า ธรรมนี้เรารู้ว่าท่านประพฤติปฏิบัติได้ดี และความจงรักภักดีที่มีต่อเรา เราก็รู้แล้ว บัดนี้เราขอให้ท่านกลับไป ท่านจงทำตามความประสงค์ของเราเถิด
ขณะที่หงส์ทั้งสองกำลังโต้ตอบกัน นายพรานได้สังเกตเห็นว่า หงส์ที่ติดบ่วงมีเพียงตัวเดียว แต่อีกตัวหนึ่งทำไมไม่บินหนี เมื่อเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้น จึงถามสุมุขหงส์ว่า ทำไมท่านถึงไม่บินหนีไป ไม่กลัวตายหรือ
สุมุขหงส์ตอบด้วยเสียงไพเราะว่า พญาหงส์ตัวนี้ เป็นราชาของเรา ทั้งยังเป็นมิตรที่เสมอด้วยชีวิต ฉะนั้นจะให้เราทิ้งไปได้อย่างไร
นายพรานเห็นสุมุขหงส์พูดจาภาษามนุษย์ไพเราะน่าฟัง ก็มีใจอ่อนโยน เกิดความรักประหนึ่งบุตรของตน เพื่อจะทดลองใจจึงถามว่า ถ้าเราจะเอาชีวิตของเจ้าแทนมิตรที่ติดบ่วงอยู่นี้ เจ้าจะยอมหรือไม่
สุมุขหงส์ตอบด้วยความองอาจทันทีว่า มิตรแท้แม้ชีวิตก็ให้ได้ โดยเฉพาะพญาหงส์นี้ เป็นยิ่งกว่าเพื่อน ท่านเป็นราชาแห่งหงส์ทั้งหมด การมีชีวิตอยู่ต่อไปของท่าน จะเกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อเหล่าหงส์ทองอีกหลายหมื่นตัว ข้าพเจ้ายินดีที่จะแลกชีวิตด้วยชีวิต
นายพรานได้ฟังถ้อยคำเช่นนั้น เกิดความศรัทธาเลื่อมใสยิ่งนัก รู้สึกซาบซึ้งในความรักและคุณธรรมของมิตร จึงตัดสินใจปล่อยพญาหงส์ทองทั้งสองให้เป็นอิสระ
เมื่อนายพรานแก้บ่วงออกแล้ว ก็ทำการเยียวยารักษาแผลให้พญาหงส์เป็นอย่างดี และด้วยอานุภาพของจิตที่เมตตา จึงทำให้แผลของพญาหงส์สมานกันสนิท หายเป็นอัศจรรย์ ไม่มีรอยบาดแผลหลงเหลืออยู่เลย
เราจะเห็นว่า คำว่า มิตร เป็นคำที่ทรงพลัง แฝงไว้ด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง กินใจ ซึ่งการจะมีเพื่อนแท้สักคนหนึ่ง ใช่ว่าจะหาได้ง่าย เพราะบุคคลที่จะมาคอยแนะนำสิ่งที่ดี ทั้งที่เป็นประโยชน์ในภพนี้ คือ แนะนำวิธีที่จะให้เรามีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ในธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน รวมไปถึงประโยชน์ในชาติหน้า ด้วยการบอกหนทางสวรรค์ หนทางไปสู่พระนิพพาน มาชักชวนให้ทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เป็นบุคคลที่หาได้ยาก
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ประโยชน์ทุกอย่างของผู้ถึงพร้อมด้วยกัลยาณมิตร คือมิตรแท้ที่ดีงาม ย่อมอำนวยผลเป็นความสุขอย่างเดียว
พระธรรมกาย คือ ยอดกัลยาณมิตรและมิตรแท้ภายใน เข้าถึงได้ด้วยใจหยุดนิ่ง เราสามารถคบหาท่านได้ ด้วยการหยุดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายอย่างเบาๆ สบายๆ ในไม่ช้าก็จะเห็นท่านปรากฏชัดใสสว่าง บังเกิดขึ้นเป็นองค์พระแก้วใส สะอาดบริสุทธิ์ นั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์ เกตุดอกบัวตูม สว่างไสว ไปไหนก็ให้ หมั่นตรึกระลึกถึงท่าน อาราธนาท่านไปด้วย ให้มีพระเป็นเพื่อน เห็นท่านชัดใสสว่างอยู่ตลอดเวลา ทำได้อย่างนี้ก็จะปิดประตูอบาย เพราะฉะนั้น ให้ทุกๆ ท่านหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง จนกว่าจะเข้าไปพบกับมิตรแท้ภายใน คือพระธรรมกายกันทุกๆ คน *มก. จุลลหังสชาดก เล่ม ๖๒ หน้า ๓๒๔